สุดสัปดาห์นี้ คอลัมน์ Take Me Out ชวนคุณไปทำความรู้จักย่านและเมืองกับ ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567’ หรือ ‘Bangkok Design Week 2024’ ที่จัดเต็มความสร้างสรรค์มากถึง 15+ ย่านรอบกรุง ตลอด 9 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 มกราคม – วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ปีนี้จัดขึ้นในคอนเซปต์ ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ นอกจากกรุงเทพฯ จะเป็นเมือง ‘น่าเที่ยว’ และ ‘น่าลงทุน’ แล้ว คณะผู้จัดงานยังอยากชวนทุกคนมาสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยยกระดับและพัฒนาคน วัฒนธรรม และเมือง ด้วยการออกแบบ เราบอกเลยว่าปีนี้สนุก! เพราะมีคนที่อยากเห็นย่านและเมืองของตนเองน่าอยู่ขึ้น มาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ เพียบ ยกขบวนโปรแกรมมามากถึง 600+ โปรแกรม ทั้งนิทรรศการ อีเวนต์ ดนตรี-การแสดง เสวนา ทัวร์ เวิร์กช็อป และตลาด

แอบกระซิบนิดว่า ทัวร์ย่านน่าสนใจมาก เพราะนอกจาก Walking Tour ยังมีทัวร์โดยจักรยานและเรือด้วย สร้างสรรค์กว่านั้นด้วยทัวร์กินของอร่อย ทัวร์-ทริปถ่ายภาพ อดใจไม่ไหว น่าไปทุกย่าน

ที่สำคัญ นักสร้างสรรค์ทำให้เราเห็นว่าพวกเขาไม่ได้กำลังคิดโมเดลหรือหนทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เมืองน่าอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในเมือง คำนึงถึงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติในเมือง คำนึกถึงจิตใจของผู้คนในเมือง อีกทั้งคำนึงถึงคนทุกคนและทุกวัยในเมืองจริง ๆ

เราหวังว่า 22 ไฮไลต์ใน Bangkok Design Week 2024 จะทำให้คุณทำความรู้จักเมือง-ย่านรอบกรุงเทพฯ มากขึ้น และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่อยากจะสร้างเมืองของเราให้น่าอยู่

#1

Made in Hua Lamphong

โดย CEA X RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก

ได้เวลาปรับ Branding เขย่าภาพจำ

Bangkok Design Week 2024 ชุมชนและกิจการดั้งเดิมในพื้นที่หัวลำโพงจะมาสร้างภาพจำใหม่ให้กับ Branding (อัตลักษณ์) ของตัวเอง ด้วยการจับมือกับ 5 นักออกแบบ ให้ศิลปินตีความออกมาเป็นศิลปะ เพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดผลิตภัณฑ์ แนวคิด และเรื่องราวที่แต่เดิมก็เก่าแก่และมีคุณค่าในตัวอยู่แล้ว ให้กลายเป็นชวนนึกถึงและชูโรงได้ไม่แพ้ย่านอื่น ๆ

โดยประกอบไปด้วย 5 ธุรกิจ / กิจการ / ร้านค้า ผ่านแนวคิด New Presentation New Storytelling เพื่อให้เห็นว่า หัวลำโพงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางผ่านในการเดินทาง แต่ยังมีสินค้าจากทักษะงานฝีมือ ของกินจากสูตรอาหารดั้งเดิม ซึ่งมากด้วยคุณค่า เพราะสิ่งเหล่านี้ Made in Hua Lamphong

ร้านทำร่ม ศิลป์เมือง x ease studio

โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง x Ek Thongprasert

โรงงานกระดาษชัยกิจ x Likay Bindery

ร้านเหล็กตกแต่ง บ้านอิตาลี x COTH studioร้านอาหารดั้งเดิม (ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง, เบ๊โอชา) x witti.studio

#2

ปาจื้อ : คน/ดวง/เมือง

โดย GOR.GOR.NOR

ยงคนสู่เมือง ผ่านการรื้อ ‘ธาตุแท้’ รอบตัวคุณกลุ่มศิลปิน GOR.GOR.NOR ได้นำธาตุแท้ หรือระบบดวงจีนโบราณที่สัมพันธ์กับธาตุประจำตัว (ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และทอง ) อย่าง ‘ดวงปาจื้อ’ มาใช้สื่อสารผ่านย่านหัวลำโพง นำเอาโหราศาสตร์จีนมาทดลองสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมนิทรรศการ ปาจื้อ : คน/ดวง/เมือง สร้างความกลมกลืนกับทิวทัศน์ของเมือง เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับเมืองผ่านโหราศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงอีกหนึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมประจำย่านที่เป็นได้มากกว่าแค่ความงมงาย และที่สำคัญคือการแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของปาจื้อ

#3

ระบบป้ายนำทางจักรยาน

โดย conscious

จากหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือ ‘เดินทางดี’

โดยหวังให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย สู่หนึ่งในนักออกแบบเจ้าของสตูดิโอ conscious ที่มองเห็นว่า นอกจากปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพแล้ว งานออกแบบระบบป้ายสัญลักษณ์สำหรับสัญจรโดยจักรยาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะพัฒนาไปพร้อมกัน

สตูดิโอ conscious ทำงาน Way-finding และ Environmental Graphic ใช้พื้นที่ของเทศกาลจัดนิทรรศการเล็ก ๆ ชื่อ ‘ระบบป้ายนำทางจักรยาน’ แสดงภาพรวมข้อมูลเส้นทางจักรยาน ข้อเสนอรูปแบบป้ายที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่แต่ละรูปแบบ พร้อมทั้งรับความคิดเห็นจากผู้ชมไปพร้อม ๆ กัน

ในงานมีการให้ข้อมูลเส้นทาง ทำป้ายสัญลักษณ์จริงเพื่อชวนให้ผู้ใช้งานจักรยาน (ทั้งที่เอามาเอง และใช้ Bike Sharing ที่ กทม. กำลังจะติดตั้ง) เดินทางในพื้นที่ที่กำหนดภายในเทศกาล เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาต่อ โดยเฉพาะกับถนนในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายสูง การออกแบบระบบป้ายนำทางจึงเป็นสิ่งที่น่าทดลองใช้ไม่น้อยเลย ดีไม่ดีเราอาจได้รู้เส้นทางเข้าซอยที่ปลอดภัยจากถนนใหญ่ก็ได้

#4

Go Go Bus!

โดย Mayday!

โก โก บัส!

เกิดจากทีม Mayday! ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์การศึกษาความต้องการของผู้ใช้งานขนส่งสาธารณะ จนเกิดเป็นรถบัสเชื่อมย่าน หรือ Free Shuttle Bus ให้บริการตลอดทั้งงาน โดยทดลองเดินรถเชื่อมต่อ 5 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์รอบเกาะพระนคร ทั้งเจริญกรุง-ตลาดน้อย ย่านเยาวราช-ทรงวาด ย่านพระนคร-ปากคลองตลาด ย่านแม้นศรี และย่านนางเลิ้ง อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเดินทางระหว่างย่านในรูปแบบของรถบริการนำเที่ยวที่เพียบพร้อมด้วยข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยว

นอกจากพยายามให้ขนส่งสาธารณะกลายเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางของทุกคน ยังได้รับการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า 100% จาก ARUN PLUS ผู้พัฒนานิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อการเดินทาง เปิดรับความสร้างสรรค์ในนิทรรศการแบบปลอดภัย ไร้มลพิษต่อเมืองและโลกของเรา

#5

Sound of Bangkok Yai

โดย CROSSs

‘รู้จักย่านวังเดิมผ่านเสียงและบรรยากาศตั้งแต่อรุณรุ่งถึงย่ำค่ำ

ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่กิจกรรมอื่น ๆ ในเทศกาล อรุณ!สวัสดิ์’ 

ข้อความข้างต้นคือ คำโปรยของนิทรรศการ ‘Sound of Bangkok Yai’ ที่เปลี่ยนรูปสัมผัสของการทำความรู้จัก จากเดิมที่มักใช้การมองเห็นเพื่อทำความเข้าใจ ให้เป็นนิทรรศการที่ชวนทุกคนมาทำความรู้จักย่านบางกอกใหญ่ผ่าน ‘เสียง’ จากละแวกต่าง ๆ ทั่วบางกอกใหญ่ รวมทั้งสิ้น 4 ช่วงเวลา

อรุณรุ่ง : บรรยากาศการเริ่มต้นวันที่ความเงียบงันค่อย ๆ คลายลง

อรุณสวัสดิ์ : เสียงทักทายจากย่าน และการเริ่มต้นการเดินทาง

อรุณอัสดง : บรรยากาศของช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของดวงอาทิตย์และนีออน

ย่ำค่ำ : ความเงียบนิ่งก่อนหลับใหลที่ทำให้เราได้หยุดฟังเสียงความคิด (จากผู้มาเยือน)

งานนี้จัดตั้งแต่ยามอรุณรุ่งไปจนถึงยามอรุณลับ ยิงยาวตั้งแต่ 11 โมง ถึง 4 ทุ่ม!

#6

The Dragon of Soul

โดย บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด และ JINJER

สถานที่คือชีวิต มังกรคือจิตใจ

‘The Dragon of Soul’ นิทรรศการเดี่ยวของ ธนรัชต์ ทองสิมา จัดโดย JINJER เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการเล่าเมืองที่นำเสนอผ่านความร่วมสมัยและความผูกพันของศิลปินกับวัฒนธรรมไทย-จีน ทั้งศาลเจ้า วัตถุมงคล และมังกรจีน โดยเล่าแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของเขาได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการประกอบไปด้วย หนึ่ง โซนอดีต และสอง โซนมังกร 5 ธาตุ ทุกชิ้นงานเป็นกลิ่นอายความทรงจำชีวิตในวัยเด็กของศิลปินที่เติบโตมาในย่านคนจีน จัดขึ้นที่ PLAY art house แกลเลอรีย่านทรงวาด หากใครมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมชม อย่าลืมเล่นกิจกรรมตามหาฝาท่อ 3 ชิ้น 3 ลวดลายที่ออกแบบโดยศิลปิน ถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐาน แล้วรับของที่ระลึกกลับบ้านกันได้เลย

#7

2024 อัณฑะเหมียวครองเมือง by จรจัดสรร

โดย จรจัดสรร Stand for Strays

ว่ากันแบบไม่อ้อมค้อม นี่คืองานที่มี ‘ไข่แมว’ เป็นตัวชูโรง

นิทรรศการศิลปะ ‘2024 อัณฑะเหมียวครองเมือง by จรจัดสรร’ ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสื่อสารกับคนเมืองถึงปัญหาแมวจรครองเมือง สะท้อนปัญหาแมวจรจัดในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เพราะปัญหาแมวจรจสร้างผลกระทบแตกต่างจากปัญหาหมาจร ซึ่งรุนแรงกว่าในแง่ทรัพย์สินและความปลอดภัย นิทรรศการนี้จึงว่าด้วยการสร้างความตระหนักรู้ถึงจำนวนแมวจรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการไม่ได้รับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เหล่าไข่แมวในรูปแบบศิลปะจึงเปรียบเสมือนการขอความร่วมมือจากทุกคนในการหันมามองปัญหานี้อย่างใส่ใจ ก่อนที่อัณฑะเหมียวจะครองเมืองกันจริง ๆ

ถ้าใครกำลังอยากละเลงงานศิลปะ จรจัดสรรก็มีอัณฑะเหมียวมาให้เพนต์ด้วย

#8

I Flower You: Pak Khlong Collective Blooms

โดย 27 June Studio x Humans of Flower Market by Arch SU

27 June Studio กับ 3 โปรแกรมที่น่ารัก สวยงาม และเล่าเรื่องสถานที่ผ่านดอกไม้

หนึ่ง ‘I Flower You : Pak Khlong Collective Blooms’ เริ่มต้นกันตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดด้วยประสบการณ์ออกตามหาเมล็ดดอกไม้ดิจิทัล และนำมาสแกนผ่าน Collective Blooms Webapp ที่ค้นหาและนำทางผู้ร่วมกิจกรรม โดยเมล็ดดอกไม้จะซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ รอบ MRT สนามไชย ปากคลองตลาด ตลาดยอดพิมาน สวนสมเด็จพระปกเกล้า ไปจนถึงอาคารไปรสนียาคาร เมื่อพบแล้ว นำมาปลูกร่วมกันที่กระถางดอกไม้ ณ อาคารไปรสนียาคาร ผ่าน Interactive Projection Mapping บอกเล่าประวัติศาสตร์ย่านปากคลองตลาด และเพิ่มการมองเห็นให้ร้านค้าบางร้านที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ ผ่านเมล็ดที่เก็บมาได้

ยังมีอีก 2 โปรแกรมให้สนุก นั่นคือ ตลาดนัดสำหรับคนรักดอก! ครั้งแรกในย่านปากคลองตลาดที่ร้านขายดอกกว่า 16 ร้านมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนและสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบอนาคตในย่านปากคลองตลาดจากดอกไม้นานาชนิด และ I Flower You Postcard: แปะ ปั้ม โพสต์! ผลงานของนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (VABE) มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันส่งเสริมผู้ค้าดอกไม้ในพื้นที่และเกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้ในย่านปากคลองตลาด ด้วยการ DIY โปสต์การ์ดผ่านการแปะ ปั๊ม โพสต์ ด้วยสื่อสัญลักษณ์ของดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่หาได้ในย่าน

#9

ExperienceScape: The Legendary Scape

โดย DecideKit, Kor.Bor.Vor., Jeremy Oury, The FOX และ The Folks

‘สื่อสารถึงประวัติศาสตร์และความหวังสู่อนาคต นำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือพัฒนาพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ปิดร้าง พื้นที่มรดกทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น และพื้นที่ (นอกเวลา) ราชการทั่วไป ให้เป็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อย่างสร้างสรรค์สำหรับทุกคน’

นั่นคือแนวคิดของนิทรรศการ ‘ExperienceScape: The Legendary Scape’ จากการร่วมมือกันระหว่าง Urban Ally และ DecideKit ผ่านการใช้เทคนิค New Media Art และ Projection Mapping ฉายภาพขึ้นไปบนแทงก์น้ำประปา ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงผ่านเครื่องเลเซอร์โปรเจกเตอร์จาก EPSON และการติดตั้งเครื่องฉายภาพและระบบเสียงด้วยทีมงานมืออาชีพจาก PM CENTER เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่บนพื้นผิวของสถาปัตยกรรมใน 4 พื้นที่จัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ย่านพระนคร ได้แก่ ประปาแม้นศรี (หลังเก่า) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) สวนรมณีนาถ และป้อมมหากาฬ

อีกทั้งยังเป็นการร่วมมือกับศิลปินแนวหน้าของสาขา Moving Images อาทิ Kor.Bor.Vor, The Motion House, Yellaban Creative Media Studio, Yimsamer รวมถึงศิลปินชาวต่างชาติที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย อาทิ Jeremy Oury (ฝรั่งเศส), The FOX (อินโดนีเซีย), Shakir (มาเลเซีย) การออกแบบ Video Mapping จะสร้างอัตลักษณ์ของย่าน (Place Branding) สร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ สร้างภาพจำของย่านพระนครที่มีความร่วมสมัย และโอบรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อยู่เสมอ

#10

Livable Scape…For All

โดย Thailand Sport Center for Blind Athletes

งานเสวนาการออกแบบพื้นที่สำหรับคนตาบอด หัวข้อ Livable Scape…For All ในรูปแบบ Panel Discussion พร้อมแลกเปลี่ยนนวัตกรรมงานออกแบบ และกรณีตัวอย่างต่าง ๆ ผ่านการใช้ Texture, Light, Color, Tactile Cues, Sound และสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสาร เพื่อสร้างพื้นที่ที่ยกศักยภาพคนตาบอดให้รับรู้ถึงพื้นที่รอบตัว และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาตนเองในแบบที่ต้องการ โดยในงาน ทีมผู้จัดร่วมสนทนาผ่าน Video Conferencing มีนักออกแบบต่างประเทศ ทีมสถาปนิก ทีมผู้บริหาร และนักกีฬาคนตาบอด มาเปิดเผยถึงศาสตร์และศิลป์ของการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้พิการทางสายตาผ่านงานสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนและเมือง

#11

The Little Prince Planet

โดย The Cloud

The Cloud, โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร, Antoine de Saint Exupéry Youth Foundation, Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกันจัดงานพิเศษ เพื่อสื่อสารเรื่องราวความมหัศจรรย์ของวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก เจ้าชายน้อย ผ่าน Talk of The Cloud : The Little Prince Planet

หนึ่ง นิทรรศการหนังสือ เจ้าชายน้อย พบกับ เจ้าชายน้อย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ฉบับหายากของโลก และฉบับภาษาต่าง ๆ กว่า 100 ปก รวมถึงการแสดงและประมูลภาพวาดเจ้าชายน้อยจากศิลปินรุ่นเก๋า x รุ่นใหม่ จำนวน 10 คน ได้แก่ เกริกบุระ ยมนาค, พลอย จริยะเวช, Pomme Chan, นักรบ มูลมานัส, พุทธรักษ์ ดาษดา, Jiranarong, faan.peeti, TUNA Dunn, mig_mig และ Viput A.

สอง วงเสวนาเรื่องความลับและความรักของ เจ้าชายน้อย โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน, รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร, สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ และ ทรงกลด บางยี่ขัน

สาม กิจกรรมอ่านหนังสือเรื่อง เจ้าชายน้อย ต่อกันกว่า 20 ภาษา โดยแขกรับเชิญพิเศษ เช่น ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน อ่านภาษาไทย, พระมหาสมภพ สมฺภโว อ่านภาษาบาลี, คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ อ่านภาษาไทย, คุณแก้วสิริ เอเวอร์ริ่งแฮม อ่านภาษาลาว และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา อ่านภาษาจารึก ร่วมด้วยอาสาสมัครที่จะร่วมอ่านในภาษาต่าง ๆ

สี่ ตลาดศิลปะเกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย และหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาต่าง ๆ 

รายได้จากงานนี้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น เพื่อจัดพิมพ์หนังสือ เจ้าชายน้อยภาษาถิ่น ให้กับห้องสมุดและโรงเรียนในท้องถิ่นต่าง ๆ ต่อไป

#12

ลัดเลาะในซอย

โดย Saratta Space

Saratta ชวนเดิน ลัดเลาะในซอย สำรวจเกษมสันต์ 1 ซอยเล็ก ๆ ใกล้กับหอศิลปฯ กรุงเทพฯ

ร่วมเดินเท้าลัดเลาะตามหาของดีและงานศิลปะซ่อมแซมเมืองที่เติมเต็มรอยแตกของถนนหรือผนังที่ชำรุด ผ่านการสำรวจเสน่ห์ของเส้นทางซอกซอยในกรุงเทพฯ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเส้นทางนี้เองก็เดินได้นะ โปรแกรมนี้ถือเป็นการเชื่อมต่อผู้คนในพื้นที่และละแวกเพื่อนบ้านเข้าด้วยกัน

 โดยงานศิลปะจะมาในรูปแบบของ Painting, Mosaic Art, Art on Ground จากฝีมือของศิลปินมากหน้าหลายตา ได้แก่ JCCHR, TUNA Dunn, Lili Tae, Noppanan Thannaree, Dao Ruan, ทีมสารัตถะ และ Installation Art / Sculpture จาก Buddhaandz และ Pratchaya Charernsook 

#13

สำรับบ้านครัว : มา”มะ”มาทำอาหารที่บ้านครัว 01

โดย สถาบันอาศรมศิลป์

มามะ มาข้าครัวมาทำอาหารสูตรลับของชุมชนบ้านครัวกัน

ชุมชนบ้านครัวขอเชิญชวนมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ทางอาหารของชุมชน ผ่านเวิร์กช็อปครั้งที่ทางชุมชนเป็นผู้จัดขึ้น และสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าชุมชนบ้านครัวคืออะไร นี่ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะตอบรับคำเชิญชวนเพื่อมาร่วมทำความรู้จักถึงเรื่องราวผ่านอาหารของชุมชน

ขออนุญาตเปิดเผยเมนู 01 นั้น ได้แก่ แกงส้มเขมร นั่นเอง 

กระซิบว่ายังมีให้ประลองฝีมืออีก 2 จานเด็ด นั่นคือ กะหรี่ปั๊บ และ โรตี มะตะบะ

#14

เปิดบ้านศาลพระภูมิ

โดย People of Ari

People of Ari และ แก่น-สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ จาก Uninspired by Current Events ศิลปินเจ้าของเพจ 3D Art เสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองรายวันแบบเฉียบคมและเจ็บแสบ ร่วมกันจัดผลงานนิทรรศการ Spirit House Open House หรือ เปิดบ้านศาลพระภูมิ เปลี่ยนอาคารบ้านเก่าของ Yellow Lane ให้เป็นศาลพระภูมิขนาดยักษ์ พาผู้เข้าชมเข้าไปทำความรู้จัก ‘เจ้าที่ตัวท็อป’ แบบไทย ๆ ในหลากมิติ และหลายวัตถุ ควบคู่ไปกับการแสดงพิเศษโดยกลุ่มละคร AT Theatre ซึ่งในการแสดงนี้ ผู้ชมเลือกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและสวมบทบาทเป็นเจ้าของบ้านชั่วคราวของศาลพระภูมิขนาดยักษ์แห่งนี้ได้

People of Ari ขอเชิญทุกท่านมาประสบด้วยตนเอง ทั้งกิน ดื่ม วิ่งเล่น และเสพดราม่าของเจ้าที่ที่ไม่รู้ว่าจะให้โชคลาภหรือสาปใส่ผู้อยู่อาศัยกันแน่ เอาเป็นว่ามาพิสูจน์ด้วยตา รับรองว่าสนุก!

#15

ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ By Personality

โดย ILI.U

ทัวร์สุ่มแบบไม่มีไกด์

สำหรับคนที่ไม่รู้และสำหรับคนที่พลาดโอกาสเมื่อคราวที่แล้ว นี่คือ ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ By Personality: คนอย่างเธอ ต้องเจอเพื่อนใหม่แบบนี้! ซึ่ง ILI.U (ไอแอลยู) จะสุ่มเส้นทางเดินทัวร์ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ให้คุณและเพื่อนใหม่ ผ่านตัวช่วยเดินทางในย่านอย่าง ‘Self-guided Tour อารีย์-ประดิพัทธ์’

ไม่มีใครรู้ว่าไปไหนล่วงหน้า และแน่นอนว่างานนี้แตกต่างจากใครพวก ขอเพียงทำแบบทดสอบวัดความเป็นคุณ Ver. 2.0 (Personality Test) ของ ILI.U ออกแบบมาเป็นเครื่องมือในการจับคู่ตัวคุณกับเพื่อนรวมทางที่มีบุคลิกใกล้เคียงถึงตรงกัน พร้อมจะเดินหลงและทำกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน

งานนี้ฟรี แต่บอกก่อนว่ารับจำนวนจำกัดแค่ 100 คนเท่านั้น

#16

South Sukhumvit : รถแดงพาร์ค

โดย BHIRAJ BURI GROUP

รถแดงคันนี้สีเขียว

นิทรรศการรถแดงพาร์ค จากขนส่งสาธารณะที่ชาวสุขุมวิทใต้คุ้นเคย สู่บริการสวนเคลื่อนที่สำหรับคนเมือง หรือ ‘ธรรมชาติเคลื่อนที่’ ซึ่งเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับพื้นที่สีเขียว โดยไม่ทับซ้อนกับรถแดงที่ยังคงวิ่งอยู่ในสถานะขนส่ง และยังสร้างงานให้ชุมชนด้วยการนำรถแดงที่ไม่มีการใช้งานแล้วมาดัดแปลง

สร้างสรรค์โดยทีม SAMA Garden ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการใหม่ของกลุ่มบริษัท BHIRAJ BURI ที่อยากนำเสนอการเข้าถึงธรรมชาติผ่านรถแดงที่เข้าถึงชุมชนได้ในระดับตรอกซอกซอย

รถแดงพาร์คจะจัดนิทรรศการทั้งหมด 6 พื้นที่ ได้แก่ oneudomsuk, วัดบางนานอก, โรงเรียนพูนสิน, ร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาสุขุมวิท 101, ร้านซีเจ มอร์ สาขาลาซาล 50 และร้านฮั่วเซ่งฮง

นอกจากเป็นสวนเคลื่อนที่แล้ว ยังมี 6 กิจกรรมภายในรถแดง ไม่ว่าจะเป็นรถแห่งการเรียนรู้ รถแห่งนวัตกรรม รถแห่งความอร่อย รถแห่งความยั่งยืน รถแห่งความเชื่อ และรถแห่งชีวิต

#17

เทศกาลการแสดงในสวนสุขสันต์

Bangkok Street Performer

มาแล้ว! เทศกาลการการแสดงแห่งความสุขและรอยยิ้มของปี

เทศกาลที่จะมอบเสียงหัวเราะกับการแสดงไร้ภาษา ร่วมสนุกกับการแสดงมากมายของ เทศกาลการแสดงในสวนสุขสันต์ ที่อุทยานเบญจสิริ (BTS พร้อมพงษ์) จากศิลปิน Bangkok Street Performer ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย 16 โชว์ไม่ซ้ำจินตนาการที่ยกความสุขมามอบให้ทุกคนกันแบบฟรี ๆ

พิเศษยิ่งกว่านั้น เหล่าศิลปินอมอบของขวัญปีใหม่ให้กับชาวกรุงเทพฯ (เพราะยังไม่พ้นเดือนมกราคมอันแสนยาวนานสักที) เป็นเวิร์กช็อปแสนสนุก เช่น Hoola Hoop, ละครใบ้, ละครหุ่น, Juggling ฯลฯ เรียกว่ามางานเดียวได้ทั้งประสบการณ์ดี ๆ และความสุขกลับบ้านไปแบบเต็มอิ่มแน่นอน

เข้าร่วมฟรีตลอดทั้งงาน แต่กิจกรรมเวิร์กช็อปต้องลงทะเบียนก่อนเข้าร่วมนะ

#18

DUSIT CONNECTED

โดย Creative Soul Studio

Connected หรือ ‘การเชื่อมต่อ’ คือหลักใหญ่ใจความของเส้นทางจากถนนสายไม้บางโพสู่เขตดุสิต อันที่จริงควรใช้คำว่า ‘เชื่อมโยง’ เห็นจะเหมาะกว่า นั่นก็เพราะ DUSIT CONNECTED ใน Bangkok Design Week 2024 Creative Soul Studio เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะอย่างอาคารสงเคราะห์ กองทัพบก (ส่วนกลาง) เกียกกาย ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ในเขตทหารและหน่วยงานภาครัฐ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใช้งานได้ ผ่านการออกแบบด้วย 3 แนวคิด

Connect People Together : เปลี่ยนพื้นที่ด้วยงานออกแบบและสถาปัตยกรรมที่สร้างประโยชน์และเชื่อมโยงผู้คน

Connect The World Art : ร่วมมือกับ Lighting Artist และ Street Artist เพิ่มความน่าใช้งานของพื้นที่ผ่านงานศิลป์

Connect to Dusit Culture : สนับสนุน Local Economy ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในเขตดุสิต

ที่พลาดไม่ได้คือ PEOPLE THEATRE พื้นที่ที่จำกัดความได้ว่า ‘เปิดกว้าง’ สำหรับทุกคน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับเรื่องราวและการแสดง โดยเล่าผ่านงานสถาปัตยกรรมของบริษัท Plan Associates ที่ทำขึ้นในรูปแบบของโรงหนัง ให้คนได้มาแสดงออก พักผ่อน หรือพบปะกันตามต้องการ

#19

Walking Tour ริมคลองบางมด

โดย โครงการบวรธนบุรี : นายวันใหม่ นิยม

ริมคลองบางมดมีอะไรถ้าอยากรู้ ต้องไปเดินทัวร์ริมคลองบางมด ย่านที่มีสายน้ำเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน มากด้วยความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม ดำเนินกิจกรรมโดย อาจารย์วันใหม่ นิยม ที่จะมาเล่าเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนกับย่าน เดินกันตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิม สวนส้มคุณลุงสมจิตร ขนมไข่สูตรดั้งเดิมป้าลักษณ์ วัดพุทธบูชา สวนมะพร้าวลุงวิชัย มัสยิดนูรุลหุดา จนถึงตลาดมดตะนอย

ปิดท้ายด้วยงานเสวนาตำนานส้มบางมด ทะลุ 100 ปี โดย คุณลุงสมจิตร จุลมานะ ปราชญ์นักอนุรักษ์ส้มบางมด และ อาจารย์วาสนา มานิช จากศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

#20

Relearn Festival

โดย Mappa

ความเป็นเด็กคืออะไร

ถ้าอ่านประโยคด้านบนแล้วเกิดความสงสัย เราขอชี้ทางสว่างด้วยการพาไปร่วมวงสนทนาในงาน Relearn Festival 2024 ณ มิวเซียมสยาม ภายใต้ธีม ‘Redefine Childhood โตไปเป็นเด็ก’ ที่นอกจากจะร่วมแบ่งปันบทสนทนานิยามความเป็นเด็กอีกครั้งด้วยกระบวนการ Unlearn และ Relearn แล้ว ยังรวมไปถึงการทบทวนว่าเมืองของเราเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเติบโตของเด็กแล้วหรือยัง

ในงานประกอบไปด้วย 9 โซนกิจกรรม Unlearn และ Relaern มีตั้งแต่นิทรรศการ เวิร์กช็อป ตลาดงานคราฟต์ อาหาร-เครื่องดื่ม สนามเด็กเล่น ไปจนถึงกิจกรรม Policy Imagination 

งานยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์ นั่นคือ แขกรับเชิญผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ศานนท์ หวังสร้างบุญ, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ, วีรพร นิติประภา, ญารินดา บุนนาค, ณัฐยา บุญภักดี และ มิรา เวฬุภาค

งานนี้จัดวันที่ 27 – 28 มกราคม พ.ศ. 2567 และร่วมวงสนทนาได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

#21

GarDance

โดย Studio Dialogue

หนึ่ง เวิร์กช็อปนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย 

สอง ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการเต้น 

ขอแค่อยากมาขยับแข้งขยับขา โยกย้ายส่ายตัวสู้เมืองที่ไม่หยุดนิ่งไปกับงาน GarDance ที่สวนปทุมวนานุรักษ์ (ข้างเซ็นทรัลเวิลด์) นี่คือโปรแกรมที่ Studio Dialogue อยากเชิญชวนผู้คนทุกเพศทุกวัยมาเคลื่อนไหวร่างกาย ทำใจให้สบาย ท่ามกลางสวนสาธารณะกลางกรุง เชื่อมโยง กาย-ใจ-เมือง เข้าด้วยกัน โดยมี ครูเจน อดิเทพ เป็น Facilitator พาทุกคนเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของตัวเอง

งานนี้เปิด 2 รอบ วันเสาร์ที่ 27 และวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม รับจำกัดรอบละ 30 คนนะ

#22

สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด

โดย Everyday Architect & Design Studio

ชวนดูนิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด ของ ชัช-ชัชวาล สุวรรรสวัสดิ์ สถาปนึก เอ้ย สถาปนิกจาก Everyday Architect & Design Studio ชายหนุ่มผู้มีเรดาร์พิเศษ มองเห็นสถาปัตยกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามข้างทาง จะว่าไปก็เป็นการแก้ปัญหาสไตล์ไทย ๆ แต่บางอันดันมันมาก ๆ ด้วย

นิทรรศการนี้เป็นการจัดแสดงภาพสเกตช์จำนวน 365 รูปที่ชัชวาดเพื่อบันทึกสิ่งของและงานออกแบบสถาปัตยกรรมข้างทางในกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2019 – 2020 ทำให้เขามองเห็นถึงเงื่อนไขและปัญหาของเมืองที่ซ่อนอยู่อย่างคาดไม่ถึง และนั่นมักมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคที่เกินคาดเดา แถมยังท้าทายปัญญา มุมมอง และวิธีคิดของนักออกแบบและคนทั่วไปอยู่เสมอ (เราก็ชอบมาก!)

เหตุผลที่เขาตั้งชื่อว่า ‘สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด’ เพราะสิ่งของที่เขาพบเจอ มันดูเรี่ยราด วางกันเป็นกอง ๆ เหมือนหมู่คณะข้างทาง ดูเผิน ๆ อาจไม่น่าสนใจ แต่เราขอแนะนำว่า ‘มองให้ลึก’

งานจัดแสดงเล็ก ๆ ในสตูดิโอเล็ก ๆ ที่ Everyday Architect & Design Studio ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 1 ตลาดบ้านสมเด็จ แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

อ้อ มีวงเสวนาเล็ก ๆ ด้วยนะ เผื่อคุณสนใจ 

ดูโปรแกรม Bangkok Design Week 2024 ทั้งหมดได้ที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ