ผมเกิดวันที่ 5 ม.ค. พ.ศ. 2528 

อาม่าเคยบอกว่าเป็นวันดี แต่ไม่ได้บอกว่าดียังไง

วันหนึ่งระหว่างวิ่งเล่นในบ้าน ผมเจอแผ่นกระดาษที่ฉีกจากปฏิทินกระดาษประจำบ้าน หุ้มซองพลาสติกอย่างดี วันที่ในกระดาษคือวันเกิดผม มีข้อมูลเป็นภาษาไทยและจีนที่เด็กอย่างผมอ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ

ถ้าคุณมีเชื้อสายจีน มีครอบครัวและมีลูกประมาณช่วงยุค 80 การตัดปฏิทินกระดาษที่เรียกว่า ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ หน้าที่เป็นวันเกิดของลูกถือเป็นธรรมเนียมปกติ หลายครอบครัวเก็บรักษาไว้ประหนึ่งเป็นเอกสารสำคัญ 

หลายสิบปีต่อมา ผมถึงรู้ว่าปฏิทินนั้นไม่ได้บอกแค่เวลา แต่ยังบอกข้อมูลสำคัญทางโหราศาสตร์ โดยเฉพาะภาษาจีน 4 แถวเรียกว่า ‘ปาจื๊อ’ เราสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ ‘ขึ้นดวง’ เพื่อดูว่าเด็กที่เกิดวันนี้เป็นคนธาตุไหน ลักษณะเป็นอย่างไร 

ประหนึ่งเป็นเหมือนพิมพ์เขียวของชีวิต ช่วยแนะนำพ่อแม่ว่าควรเลี้ยงลูกให้ดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด

ปฏิทินน่ำเอี๊ยง คือของที่ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนต้องมีติดบ้าน น่ำเอี๊ยงไม่ได้เป็นแค่ชื่อปฏิทิน แต่ยังเป็นชื่อสำนักโหราศาสตร์จีนที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 80 ปี สถาบันแห่งนี้เป็นเสาหลักทางจิตใจของคนจีนที่อพยพมาในประเทศไทยหลายทศวรรษ 

พ.ศ. 2566 น่ำเอี๊ยงยังคงยืนหยัดภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่สาม กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล พาธุรกิจครอบครัวฝ่าคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้อย่างสง่างาม 

ทายาทรุ่นสาม ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ กับภารกิจสร้างแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย

ล่าสุด เขากำลังนำเทคโนโลยีปรับธุรกิจให้กลายเป็นแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย เตรียมเปิดตัวในเทศกาลตรุษจีน พ.ศ. 2566 ที่กำลังจะถึงนี้

ภารกิจของทายาทรุ่นนี้ท้าทาย ไม่ต่างจากที่อากงของเขาเคยทำเมื่อหลายทศวรรษก่อน 

สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย มีบางเหตุการณ์ในบางช่วงเวลาที่สำคัญ ควรค่าแก่การเน้นย้ำ เราจึงอยากเล่าเรื่องการเดินทางของน่ำเอี๊ยงผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น ทั้งการฉกฉวยโอกาสในยามโชคดี และการหลีกเลี่ยงโชคร้ายในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ

ธุรกิจ : โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2499 (นับจากปีที่ตั้งสำนักถาวร)

ประเภท : สำนักโหราศาสตร์

ผู้ก่อตั้ง : ซินแสเฮียง แซ่โง้ว

ทายาทรุ่นสอง : ธงชัย และ ชาญชัย นำพิทักษ์ชัยกุล

ทายาทรุ่นสาม : กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล

เฮียง แซ่โง้ว เดินทางจากจีนถึงไทย ลงเรือที่จังหวัดสงขลา

เด็กหนุ่มวัย 18 ปีไม่ได้จากบ้านมาทำงานเฉกเช่นคนจีนในวัยเดียวกัน เขามาตามหาพ่อที่หายตัวไป 

หลายปีก่อนหน้า พ่อของเฮียงจากบ้านมาทำงานแล้วส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูครอบครัวที่ประเทศจีน วันหนึ่งพ่อขาดการติดต่อ ลูกชายจึงเดินทางมาตามหา สุดท้ายเขาพบข่าวร้ายว่าพ่อเสียชีวิตกะทันหันในประเทศไทย จึงขาดการติดต่อกับครอบครัวที่ประเทศจีน 

แม้โศกเศร้า แต่นายเฮียงก็ไม่กลับบ้านเกิด ตั้งใจสืบปณิธานทำงานที่เมืองไทยส่งเสียครอบครัวแทนพ่อผู้ล่วงลับ

ด้วยความสนใจทางโหราศาสตร์ตั้งแต่เด็ก นายเฮียงศึกษาและพัฒนาจนสามารถใช้ความรู้โหราศาสตร์เป็นอาชีพ ซินแสเฮียง แซ่โง้ว หรือ ‘เหล่าซินแส’ กลายเป็นที่รู้จักในชุมชนคนจีนอย่างรวดเร็ว งานหลักของเหล่าซินแสคือการดูฤกษ์งามยามมงคลให้กับธุรกิจชาวจีนที่เปิดใหม่ในเมืองไทย และรับทำนายดวงชะตาด้วยวิธีหลายรูปแบบ 

ทายาทรุ่นสาม ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ กับภารกิจสร้างแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย

การทำงานช่วงแรกหนักหน่วงไม่น้อย ซินแสพูดไทยไม่ได้ ต้องอาศัยให้เพื่อนช่วยเป็นล่ามแปล ไม่มีหน้าร้านหรือสำนักถาวร เขารับงานแบบไม่หวั่นงานหนัก เดินทางช่วยผู้คนทั่วหล้าแบบถึงไหนถึงกัน

โหราศาสตร์จีนมีหลายแขนง หลากความเชื่อ สำหรับเหล่าซินแส เขาเชื่อว่าทฤษฎีการดูดวงชะตามิได้ทำขึ้นเพื่อให้คนงมงาย แต่เพื่อให้เรามีหลักในการตัดสินใจ 

ชีวิตคนย่อมมีขึ้นมีลง เมื่อเราโชคดี ทำอย่างไรจึงจะฉวยโอกาสเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อเผชิญปัญหา ทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงโชคร้ายไม่ให้เป็นอันตรายกับเรามากที่สุด

หากเราเข้าใจโชคชะตาของตัวเอง ย่อมรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 

นี่เป็นหลักการที่เหล่าซินแสมอบให้คนจีนที่มาเผชิญโชคในต่างแดน ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มั่นคงทั้งทางกายและจิตใจ

ทายาทรุ่นสาม ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ กับภารกิจสร้างแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย

ชื่อเสียงของเหล่าซินแสแพร่กระจายไปทั่วสงขลา ได้รับเชิญให้เดินทางไปดูฤกษ์ยามทำนายชะตาชีวิตในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

วันหนึ่งเขาได้รับเชิญจากผู้ใหญ่ที่เคารพให้มาตั้งสำนักโหราศาสตร์เป็นหลักเป็นฐานในกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2499 โดยใช้ชื่อว่า ‘น่ำเอี๊ยง’ แปลว่า แสงจากดวงอาทิตย์ทางทิศใต้ (ทิศมงคลตามความเชื่อของโหราศาสตร์จีน) เป็นความหมายที่ดีงามและเหมาะสมกับภารกิจของซินแสในตอนนั้น 

ยุคนั้นคนจีนรู้จักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงเป็นอย่างดี เป้าหมายต่อไปของซินแส คือการแพร่ความรู้เหล่านี้ให้กว้างขึ้น ปัญหาแรกที่ต้องแก้คือกำแพงภาษา 

แม้เป้าหมายแรกคือทำให้คนจีนมีชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตคนไม่มีพรมแดน เส้นเขตแดนและสัญชาติเป็นเพียงสิ่งสมมติที่แบ่งแยกผู้คน เหล่าซินแสจึงเริ่มใส่ภาษาไทยเข้าไปในผลงาน เปิดกว้างให้ความรู้ทางโหราศาสตร์เข้าถึงผู้คนยิ่งขึ้น

อีกปัญหาที่ซินแสอยากแก้คือ คนจีนในไทยยุคนั้นไม่รู้ว่าต้องจัดงานตามเทศกาลเมื่อไหร่ ปฏิทินที่ใช้ในไทยไม่ได้บอกว่าช่วงตรุษจีน สารทจีน หรือช่วงที่เทพเจ้าตามความเชื่อของคนจีนมาเยือนในทิศใด วันที่เท่าไหร่

ประเพณีเหล่านี้ทำสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ เปรียบเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวเสริมสร้างกำลังใจตลอดปี น่ำเอี๊ยงจึงทดลองนำความรู้ทางโหราศาสตร์มาใส่ในปฏิทิน ผลิตและจำหน่ายครั้งแรกใน พ.ศ. 2518

ปฏิทินน่ำเอี๊ยงรุ่นแรกมีแต่ภาษาจีน เป็นตำราปฏิทิน มีข้อมูลโหราศาสตร์ที่บอกว่าแต่ละวันควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร วันธงไชยหรือวันดีที่เหมาะกับการทำงานใหญ่คือวันไหน เทพเจ้าอยู่ทางทิศไหน ควรกราบไหว้บูชาเมื่อไหร่ ลูกหลานจะได้ดำเนินชีวิตตามเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ เป็นเหมือนอาวุธข้างกายในการฝ่าฟันอุปสรรคระหว่างดำเนินชีวิต บนแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง

ทายาทรุ่นสาม ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ กับภารกิจสร้างแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย

ปฏิทินกลายเป็นสินค้าพลิกชีวิตของซินแส นอกจากจะขายดียังเปลี่ยนแนวการดำเนินธุรกิจสำนักโหราศาสตร์ไปไม่น้อย หลายทศวรรษผ่านไป ปฏิทินน่ำเอี๊ยงยังคงมีขาย ครอบครัวคนจีนยังนิยมซื้อไว้ติดบ้าน กลายเป็นสินค้ามงคลที่ผู้คนซื้อไว้ทั้งใช้งานเองและซื้อให้คนที่เคารพเพื่ออวยพรให้มีโชคดีทั้งปี 

นอกจากปฏิทิน ซินแสยังพยายามส่งต่อความรู้ทางโหราศาสตร์ให้คนรุ่นหลัง ด้วยการเขียนเป็นตำราชื่อว่า ตำราทงจือน่ำเอี๊ยง เนื้อหาจะสอนการใช้โหราศาสตร์ มีทั้งภาษาไทยและจีน นอกจากนี้ยังมีการทำตำราฉบับตัดทอนให้สั้น เข้าใจง่าย เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้นและนำไปประกอบเป็นอาชีพได้

ความจริงการบริหารสำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงที่กรุงเทพฯ ไม่ง่าย ต้องเผชิญปัญหาสารพัด ซินแสสู้ทำสำนักจนยืดหยัดได้มั่นคงขึ้นกว่าแต่ก่อน เขาไม่เคยทิ้งวิสัยทัศน์ที่ว่า ต้องทำโหราศาสตร์ให้เข้าใจง่าย อย่ามองเป็นแค่การค้า แต่คือทางเลือกที่ช่วยให้คนฉวยโอกาสเป็น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้จริง

ทายาทรุ่นสาม ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ กับภารกิจสร้างแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย

เมื่อถึงช่วงทายาทรุ่นสองเข้ามาสืบต่อ ธงชัย และ ชาญชัย นำพิทักษ์ชัยกุล เริ่มขยายธุรกิจออกไปให้กว้างขึ้น รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยที่ยังไม่ทิ้งหลักการของสำนักโหราศาสตร์ที่เหล่าซินแสสร้างไว้ บริการดูฤกษ์ยามมงคลให้บริษัทและองค์กรยังมีเหมือนเดิม เริ่มตั้งโรงงานผลิตปฏิทินอย่างจริงจังเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมหาศาล

ตัวปฏิทินก็มีการพัฒนาผลิตออกเป็น 2 แบบ คือสมุดฉีกก้อนสีแดง อัดแน่นด้วยข้อมูลโหราศาสตร์ตลอด 365 วัน ออกแบบให้ใช้วางบนโต๊ะหรือเก็บในลิ้นชัก เป็นเหมือนคู่มือการดำรงชีวิต หยิบใช้งานง่าย แบบที่สองคือเป็นแผ่นกระดาษขนาดใหญ่รายเดือน ปฏิทินแบบนี้ออกแบบให้ใช้แบบแชร์กันในครอบครัว เหมาะกับการแขวนไว้กลางบ้านให้ทุกคนได้ดู ไหว้เจ้าวันไหน สารทจีนเมื่อไหร่ เดินมาดูได้สะดวก

มีนวัตกรรมน่าสนใจสองอย่างที่น่ำเอี๊ยงริเริ่มขึ้นในยุคนี้ หนึ่งคือการขายโฆษณาบนตัวปฏิทิน ช่วงหลังมีหลายองค์กรนิยมสั่งปฏิทินเพื่อเป็นของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่หรือวาระพิเศษ น่ำเอี๊ยงจึงปรับรูปแบบปฏิทินให้มีพื้นที่ว่าง สามารถประทับตราบริษัทหรือใส่โฆษณา เป็นการเพิ่มรายได้ขยายโอกาสไปในตัว ในขณะเดียวกันก็ยังมีปฏิทินที่ไม่มีโฆษณาสำหรับคนทั่วไปได้เลือกซื้อ

ทายาทรุ่นสาม ‘ปฏิทินน่ำเอี๊ยง’ กับภารกิจสร้างแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุคสมัย

สองคือการขายแบบของปฏิทินให้โรงพิมพ์อื่น ๆ ได้พิมพ์ปฏิทินของตัวเอง ยุคนั้นโรงพิมพ์หลายเจ้าได้รับโจทย์จากลูกค้าให้ทำปฏิทิน โรงพิมพ์ก็มาจ้างน่ำเอี๊ยงทำให้ ช่วงหลังโรงงานผลิตปฏิทินไม่ทัน จึงเกิดการร่วมมือแบบที่สมัยนี้เรียกว่า Collaboration น่ำเอี๊ยงจะขายแบบปฏิทินในลักษณะเป็นกระดาษที่มีวันที่และข้อมูลโหราศาสตร์ครบถ้วน เว้นช่องว่างด้านบนและล่าง ให้โรงพิมพ์ไปพิมพ์ตราโลโก้ของบริษัทคู่ค้าเอง เพิ่มความเร็วในการผลิตโดยไม่ต้องเหนื่อยทำเองทุกชิ้นเหมือนเมื่อก่อน 

ปฏิทินน่ำเอี๊ยงที่เราเห็นทุกวันนี้จึงมีความหลากหลายสูงมาก มีทั้งของที่น่ำเอี๊ยงผลิตเอง และของที่โรงพิมพ์อื่นผลิตจนดูเหมือนเป็นสินค้าคู่แข่ง แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการผลิตส่งออกขายไปยังต่างประเทศ ถ้าแวะไปบ้านครอบครัวชาวจีนในพม่า เวียดนาม ลาว และสิงคโปร์ เราจะได้เห็นปฏิทินน่ำเอี๊ยงหน้าตาไม่ต่างจากของไทยเราเลย

ค้นชื่อโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงวันนี้ เราจะได้เห็นทั้งหน้าและชื่อของ กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล บ่อยขึ้น 

เขาคือลูกชายคนโตของชาญชัย ตั่วซุงของตระกูลผู้รับตำแหน่งทายาทรุ่นสามของสำนักโหราศาสตร์อายุกว่า 80 ปีแห่งนี้ 

เมื่อคนรุ่นใหม่รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะคิดค้นวิธีการที่ทันสมัยมาพัฒนาธุรกิจ บางครั้งก็มีความขัดแย้งระหว่างวัยเกิดขึ้น กิตติธัชโชคดีที่ไม่ค่อยมีเรื่องนี้ แม้การทำงานช่วงแรกเมื่อ 4 ปีก่อนจะมีเรื่องต้องพิสูจน์บ้าง แต่การทำงานโดยรวมถือว่าค่อนข้างราบรื่นและไปได้ดี

ถ้าดูอย่างละเอียด สิ่งที่กิตติธัชทำมีความน่าสนใจใหญ่ ๆ อยู่ 2 ข้อ 

หนึ่ง เขามีทัศนคติที่ดีมากกับครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องโหราศาสตร์ 

คนอื่นอาจมองว่าการดูดวง ดูฤกษ์ยาม เป็นเรื่องงมงาย แต่กิตติธัชมองว่านี่คือ Data เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ที่ผกผันตามการเคลื่อนของดวงดาว ถูกรวบรวมและวิเคราะห์มาเป็นพันปี

ช่วงเวลาสำคัญตลอด 80 ปีของ ‘สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง’ เจ้าของปฏิทินสุดคลาสสิก และการปรับตัวต่อยุคสมัยโดยทายาทรุ่นสาม

“ความจริงโหราศาสตร์คือ Data อยู่แล้ว มันคือสถิติที่บันทึกมาเป็นพันปี คนจีนในวังสมัยก่อนจะบันทึกว่าเมื่อดวงดาวกลุ่มนี้เคลื่อนมาถึงตรงนี้ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่อยู่ในเมืองบ้าง คำนวณ วิเคราะห์ แล้วก็เอามาใส่ในปฏิทิน เพื่อบอกว่าเมื่อถึงช่วงเวลาที่ดวงดาวเคลื่อนไหว เหมาะกับการทำและไม่ทำอะไร ทิศมงคลอยู่ด้านไหน นี่คือที่มาของหลักโหราศาสตร์จีน เนื้อหาในปฏิทินจึงเป็นเหมือนเข็มทิศชีวิตของเรา”

กิตติธัชยังมองว่า คุณค่าของแบรนด์คือการมองโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง การรักษาหลักการของมัน ก็เท่ากับรักษาวัฒนธรรมจีนที่สืบทอดกันมาช้านานด้วย

“เราพยายามจะสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามและมีมานาน เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ทำยังไงให้วัฒนธรรมเหล่านั้นยังคงอยู่ เพราะคนในสังคมนำโหราศาสตร์มายึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้ครอบครัวมีความสุข ทำให้แต่ละคนรู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ผมว่าตรงนี้มันอยู่ในวัฒนธรรมของเราอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้ถูกนำออกมาให้เห็น ผมคิดว่าโหราศาสตร์จะทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุขได้” ทายาทรุ่นสามเล่า

ช่วงเวลาสำคัญตลอด 80 ปีของ ‘สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง’ เจ้าของปฏิทินสุดคลาสสิก และการปรับตัวต่อยุคสมัยโดยทายาทรุ่นสาม

เรื่องที่สองที่กิตติธัชโดดเด่น คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เล่าเรื่องธุรกิจ 

นอกเหนือจากการทำเว็บไซต์ใหม่ให้สวย ใช้งานง่าย การเปิดบริการของน่ำเอี๊ยงทาง Line Official Account ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ แม้ฟังดูเป็นเรื่องที่ใครก็ทำกัน แต่มันเป็นวิธีที่ได้ผลมากสำหรับน่ำเอี๊ยง เพราะลูกค้าของน่ำเอี๊ยงต่างถามถึงการให้บริการทางมือถือ หลายคนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนในต่างประเทศ ไม่สะดวกเดินทางมาที่สำนัก

ตอนนี้บริการปกติของสำนักสามารถทำผ่านออนไลน์ได้เกือบทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งระบบซินแสคอยให้คำปรึกษาเป็นพิเศษสำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากใช้บริการโดยเฉพาะ

การทำคอนเทนต์ผ่าน Social Media ก็เช่นกัน กิตติธัชไม่อยากให้น่ำเอี๊ยงเป็นสำนักโหราศาสตร์แบบปิด เมื่อจุดแข็งของที่นี่คือความรู้ เขาก็พยายามเปิดสำนักให้คนมาเรียนรู้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อคนเข้าใจโหราศาสตร์ในเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น คนก็จะกลับมาใช้บริการด้วยความคิดว่าเขายึดสิ่งนี้เป็นที่ปรึกษาให้ชีวิตได้

เทศกาลตรุษจีน พ.ศ. 2566 น่ำเอี๊ยงจะเปิดบริการใหม่ นำหลักโหราศาสตร์มาทำเป็นแอปพลิเคชัน ซึ่งผู้บริหารหนุ่มก็มีเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงเลือกทางนี้

“หลายคนซื้อปฏิทินน่ำเอี๊ยงมา เจอข้อมูลเป็นภาษาจีนค่อนข้างเยอะ เราพออ่านคำจีนได้จะเข้าใจ แต่คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่อยู่ด้านหลัง โจทย์ของเราคือทำยังไงให้ข้อมูลเข้าใจง่ายมากขึ้น 

“แอปฯ ของน่ำเอี๊ยงไม่ใช่ปฏิทินทั่วไป แต่สามารถใส่วันเดือนปีเกิดของเราลงไป จะมีระบบหลังบ้านของสำนักโหราศาสตร์นำมาขึ้นดวงให้แต่ละคนได้ดู ได้ใช้ เขาสามารถนำดวงนี้มาคำนวณเวลามงคล ทิศมงคล เรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงในแต่ละวันให้กับผู้ใช้งานแต่ละคน ทำให้โหราศาสตร์จีนผสมผสานเข้าไปในชีวิตคนมากขึ้น” 

ฟังกิตติธัชเล่าก็เบาใจ แผ่นปฏิทินวันเกิดผมหายไปนานแล้ว นี่คือข้อดีของเทคโนโลยีในการช่วยเก็บรักษาข้อมูลบนอากาศ เขานำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ยุคนี้โหราศาสตร์กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ของยุคสมัย ใคร ๆ ก็หาวอลเปเปอร์เสริมดวงแปะหน้าจอมือถือ กิตติธัชบอกว่าเขาค่อนข้างระวังในการเลือกสื่อที่จะใช้ในการสื่อสาร มันต้องตอบโจทย์สิ่งที่เขาคิดไว้ ความรู้ของน่ำเอี๊ยงเป็นก้อนสถิติชุดใหญ่ มีกลุ่มผู้ใช้กว้างมาก การพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันที่เก็บข้อมูลได้มากน่าจะตอบโจทย์การใช้มากที่สุด

อันที่จริง หากวันหนึ่งน่ำเอี๊ยงไม่ทำปฏิทินกระดาษอีก ผมก็เชื่อว่าสำนักโหราศาสตร์แห่งนี้จะยังคงยืนหยัดต่อไป เพราะสิ่งที่ทายาทหนุ่มรุ่นสามทำไม่ใช่แค่การทำปฏิทินให้เป็นดิจิทัล แต่เป็นการสานต่อวิสัยทัศน์ของเหล่าซินแสที่เคยให้ไว้ในวันแรกของการทำธุรกิจ ชี้ช่องทางสว่างให้ผู้คนเห็นช่องทางการพัฒนาชีวิตด้วยหลักโหราศาสตร์ 

ยิ่งทำให้ความรู้นี้เข้าใจง่าย ยิ่งช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น สมกับเป็นแสงอาทิตย์ที่ฉายแสงสว่างในใจคนมากว่า 80 ปี

ช่วงเวลาสำคัญตลอด 80 ปีของ ‘สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง’ เจ้าของปฏิทินสุดคลาสสิก และการปรับตัวต่อยุคสมัยโดยทายาทรุ่นสาม
ข้อมูลอ้างอิง
  • www.numeiang.com
  • www.theguardian.com

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล