“มันไม่มีเรื่องใหม่แล้ว จะมาเอาอะไรกับเรา เราก็เล่าเรื่องเดิมๆ อีก” ม่อน-อุทิศ เหมะมูล ออกตัวเมื่อเราพบเจอกัน

“หรือว่าถ้าเราเสือกพูดไม่เหมือนเดิมก็น่าเกลียดอีก” แหม่ม-วีรพร นิติประภา สำทับก่อนที่เสียงหัวเราะของเราจะดังขึ้น

ตรงหน้าผมคือ 2 นักเขียนที่น่าจะให้สัมภาษณ์บ่อยที่สุดแล้วในช่วงไม่กี่ปีหลัง

วีรพร คือดับเบิลซีไรต์เจ้าของผลงาน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

ส่วน อุทิศ คือเจ้าของผลงานนวนิยายไตรภาคอย่าง ลับแล, แก่งคอย ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลซีไรต์มาครอง ลักษณ์อาลัย และ จุติ นอกจากนั้นเขายังมีผลงานอื่นๆ อีกหลักสิบเล่ม และครั้งหนึ่งเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารที่ว่าด้วยเรื่องราวในแวดวงวรรณกรรมอย่าง WRITER

เมื่อย้อนมองชีวิตของบุคคลทั้งสองผมพบจุดร่วมบางประการที่น่าสนใจ หนึ่งคือ ทั้งคู่เริ่มต้นเขียนด้วยแรงผลักดันส่วนตัว หาได้ร่ำเรียนมาโดยตรง คนหนึ่งเรียนจบด้านเลขานุการ อีกคนเรียนจบจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สองคือ ทั้งคู่เป็นนักเขียนที่ยึดอาชีพนี้เป็นหลัก หล่อเลี้ยงปากท้องด้วยการนั่งลงเขียนงานวรรณกรรม ซึ่งเราก็ต่างรู้กันดีว่าเป็นหมวดหนังสือประเภทที่ขายได้ยากยิ่งในบ้านเรา และสามคือ ผลงานของทั้งคู่ล้วนสั่นสะเทือนผู้อ่านด้วยพลังของตัวอักษรและชะตากรรมของตัวละคร

“กูว่าชีวิตกูแย่แล้ว ตัวละครของพวกพี่สองคนนี่ระยำกว่ามาก” ประโยคนี้ของวีรพรเรียกเสียงหัวเราะในเรื่องตลกร้ายได้ครืนใหญ่

สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรกันที่ผลักดันให้ทั้งสองเป็นอุทิศและวีรพรแบบที่เราเห็น อะไรกันทำให้เขาและเธอสามารถสร้างงานแบบที่เราได้อ่าน

“ในวัยปัจจุบัน ผมคิดว่าเราถูกทำให้มองเห็น ‘ผล’ ของการเขียน และละเลย ‘รากฐาน’ แห่งการก่อเกิดการงาน” – บางประโยคในหนังสือ หัวใจนักเขียน ของ อุทิศ เหมะมูล ว่าไว้อย่างนั้น

และในวาระที่เทศกาลหนังสือ LIT Fest ครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันที่ 18 – 20 มกราคม ณ มิวเซียมสยาม ผมจึงถือโอกาสนี้นัดนักเขียนทั้งสองมาสนทนากันแบบล้อมวง เพื่อคุยกันถึงแรงผลักดันในการทำงานวรรณกรรม

ส่วนรากฐานแห่งการก่อเกิดการงานของทั้งสองจะเป็นเช่นไร ผมหวังว่าบรรทัดถัดๆ ไปจะมีคำตอบ

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

ค้นลึกลงไป อะไรคือเชื้อสำคัญที่ทำให้พวกคุณมาเป็นนักเขียน

อุทิศ : เพราะงานศิลปะมั้ง ก่อนเราจะมาเป็นนักเขียนเราเรียนศิลปะมาก่อน ประมาณ ป.5 ป.6 เราเริ่มมีความสุขกับความสงบตอนที่วาดรูป เราไม่ต้องไปหวังว่าเพื่อนๆ จะคิดถึงเรามั้ย จะชวนเราไปเล่นปีนต้นไม้หรือเปล่า คือเราไม่สนใจกิจกรรมแบบเด็กผู้ชายทั่วไปที่เขาเล่นๆ กันแล้ว ซึ่งอันนี้เป็นการค้นพบที่เราว่ามันทำให้เราไม่ต้องเป็นที่สนใจของใครแต่อยู่กับตัวเองได้ อยู่กับภาวะนิ่งๆ เงียบๆ ได้

ภาวะการอยู่กับตัวเองได้ สำคัญอย่างไรกับการเป็นนักเขียน

อุทิศ : มันเหมือนกับการเตรียมพื้นที่มั้ง เพราะว่าการทำงานเขียนมันเป็นเวลาหรือพื้นที่ที่ต้องใช้ความสงบและก็สันโดษมากๆ เพื่อที่จะคิดกับตัวเองหรือคิดกับเรื่องที่ตัวเองกำลังทุรนทุรายกับมันอยู่ สนใจกับมันอยู่ ถ้าเราไม่มีพื้นที่เงียบๆ หรือความสันโดษแบบนี้ เราไม่สามารถที่จะเข้าไปแตะตรงนั้นได้เลย

พอเรามีเวลาที่นิ่งมากพอ มันก็เลยกลายเป็นพื้นที่ของการเข้าไปสู่ตัวเอง ตัวตนข้างในตัวเอง มันก็คือการคุยกับตัวเอง ถ้ามันมีเสียงอื่น ไม่มีความเงียบ เราจะคุยกับตัวเองไม่ได้ ถึงคุยได้มันก็จะฉาบฉวย

วีรพร : นั่นเพราะคุณม่อนทำงานวรรณกรรม วรรณกรรมคือการเดินทางข้างในอยู่แล้ว มันจะต่างจากนักเขียนแนวอื่นๆ เราต้องมีเวลามากพอที่จะผ่านตัวเองออกไปหาคนอื่น ผ่านคนอื่นเข้ามาหาตัวเอง คือมันเป็นวิธีคิดแบบนั้นตั้งแต่ต้น

ส่วนเรา เราไม่ค่อยขุ่นข้องหมองใจมากพอที่จะเป็นนักเขียน แต่ก่อนเราไม่มีแรงผลักดันมากพอที่จะยึดเป็นอาชีพ เพราะอาชีพนี้เงินก็ได้น้อย ทำโฆษณาได้ A4 ละหมื่นห้า แต่เขียนวรรณกรรมนี่แม่ง A4 ละ 250 (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ตอนสาวๆ เราชอบแต่งตัว ชอบใช้ชีวิต ชอบแอ๊วผู้ชาย ชอบนั่นชอบนี่ ถ้ามานั่งเขียนเรื่องจะเหลืออะไร อยากกินก็คงไม่ได้กิน ระหว่างนั้นเราก็เลยทำอย่างอื่น เป็นเมีย เป็นแม่ เป็นบรรณาธิการนิตยสาร สนุกกับการ Express ตัวเองออกไปในแง่ต่างๆ

จนกระทั่งปี 2553 ความขุ่นข้องหมองใจทำให้เรารู้สึกว่า กูจะเขียน กูต้องเขียน เพราะว่าเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา เกิดอะไรขึ้นกับความเป็นมนุษย์ของเรา ของคนอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองหรือประเทศ แต่มันลงไปลึกถึงขนาดว่า เฮ้ย เรายังคงเป็นมนุษย์อยู่ไหม แค่ไหน ในการอยู่ในประเทศที่มีการฆ่ากันขนานใหญ่ คือเราสามารถตื่นเช้ามาแล้วทำเป็นเฉยๆ ได้ยังไง ตอนนั้นที่เราเริ่มเขียนจริงจัง แล้วก็เขียนอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้เขียนแบบสายลมแสงแแดดแบบตอนสาวๆ คือเขียนเอาตาย

คำถามของเราก็คือการตั้งสมมติฐานหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราทำอย่างที่เราทำ ตื่นเช้าได้อย่างที่เราตื่น แล้วปล่อยให้มีคนตายได้ 100 คนโดยโลกของกูไม่แตก สามัญสำนึกของกูไม่พัง หรือพังไปแล้วไม่รู้ตัว คือเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจผ่านสมมติฐาน ซึ่งแน่นอน ในโลกนี้มันไม่มีสมมติฐานเดียว ด้วยเหตุนี้เราจึงมีเล่มสอง และด้วยเหตุนี้เราจึงมีเล่มสาม หรือเล่มสี่ เล่มห้า

สุดท้ายเขียนแล้วได้คำตอบไหม

วีรพร : ไม่ (เสียงสูง) เราก็แค่งม แล้วเราไม่ได้ต้องการคำตอบ เราต้องการแค่ถามว่า “คุณไม่สงสัยเหรอคะ” หน้าที่เรามีแค่นี้เว้ย หน้าที่ของนักเขียนคือถามว่า คุณไม่สงสัยเหรอว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เกิดอะไรขึ้นกับตัวคุณเอง

การเขียนของเราคือการประนีประนอมสิ่งเหล่านี้ คือการทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ว่าทำไมมนุษย์สามารถน่าเศร้าได้ขนาดนั้น หรือว่าทำไมคนที่เป็นคนที่ดีที่สุดก็สามารถเป็นคนเลวที่สุดได้พร้อมๆ กันในตัวคนเดียว อันนี้น่าสนใจ เราเห็นว่าในบางครั้งคนที่ยินดีกับการยิงผู้คนทิ้งก็เป็นคนธรรมะธัมโมและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเรา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เราสนใจว่า เฮ้ย อะไรผลักดันคุณ นี่ใช่คุณหรือไม่ใช่คุณ อันไหนคือคุณวะ ระหว่างคนที่บอกว่าฆ่ามันๆ กับคนที่ช่วยหมาตาบอดข้างถนน แต่มันเป็นคนคนเดียวกันนะ อันนี้ต่างหากที่น่าสนใจ

หรือว่าในขณะที่คุณดีใจกับการตายของคนที่คุณไม่รู้จักกันที่ราชประสงค์ กับการจอดรถช่วยหมาตาบอด คุณไม่สามารถเชื่อมโยงสองสิ่งนี้ได้เหรอ นี่คือคนหนึ่งคนนะเว้ย 1 ชีวิตนะเว้ย อะไรทำให้คุณเลือกว่ากูจะช่วยหมาตาบอด แล้วก็ปล่อยให้มีการตายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นพ่อ เป็นผัว เป็นสามี เป็นคนรัก ของคนอีกมากมาย คุณประนีประนอมสิ่งนี้ในหัวของคุณยังไง คุณใช้ชีวิตต่อยังไง

อุทิศ : นั่นแหละ นักเขียนก็คือการสำรวจกลับไปสู่คำถามตั้งต้นว่าทำไมคุณเอนจอย ทำไมคุณไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับอันนี้ แต่อีกอันกลับจะเป็นจะตาย โลกจะถล่มลงมา แล้วจากภาพนั้น มันทำให้นักเขียนย้อนกลับไปถามว่าคนคนนี้โตมาแบบไหน ถึงทำให้เกิดกระบวนการความคิดแบบนี้เกิดขึ้นได้ ถูกหล่อหลอมมาแบบไหน

วีรพร : นั่นคือเราไม่ได้มองแค่สิ่งที่คนคนหนึ่งทำ เรามองสิ่งที่ผลักดันเขาให้ทำสิ่งนั้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวด้วยนะ มีเป็นล้านๆ อย่างที่ผลักดันคนหนึ่งคนให้ทำสิ่งที่เขาทำ

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

ทำไมสนใจสิ่งที่ผลักดันเขา มันสำคัญยังไง

วีรพร : Life itself. เราสนใจชีวิต จริงๆ เราสนใจคนน้อยกว่าชีวิตด้วยซ้ำ ถ้าเราสนใจคนมันก็จะจบอยู่แค่ตรงนั้น แต่เราสนใจชีวิต ชีวิตไม่น่าสนใจเหรอ ที่คนอ่านอ่านหนังสือก็เพราะว่าเขาสนใจชีวิต

คือคุณเริ่มเขียนด้วยความสงสัย

วีรพร : เรามีชีวิตเดียว เราจำเป็นที่จะต้องมองเห็นมันมั้ย อาจจะเพราะเราเป็นแม่ด้วย ในช่วง 20 เกือบจะ 30 ปีหลังของชีวิต เรามีความรู้สึกว่าจะต้องตอบคำถามลูกเวลาเขาถาม แม่ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมโลกถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกไปยังตะวันตก บางครั้งเราก็บอกไม่รู้

การเอาเขาเข้ามาเกิดอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ยากแก่การเข้าใจ มันก็เลยทำให้เขาสงสัยนั่นนี่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เฮ้ย เราจะหาคำตอบได้ เปล่า เราไม่ได้ทำงานเพื่อคำตอบ เราทำงานเพื่อที่จะมองสิ่งนั้น แล้วก็ตั้งสมมติฐานว่ามันเป็นอย่างนี้มั้ย แล้วอย่างนั้นล่ะ หรืออาจจะอีกล้านอย่างที่ทำให้โลกมันเป็นแบบที่มันเป็น

แต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเขารู้จักโลก โดยการตัดสินมันว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ อาจจะเป็นตรงนี้ก็ได้ ในฐานะนักเขียนเรารู้จักมากกว่า รู้จักมากพอที่จะรู้ว่ามันไม่เป็นอะไรเลย แต่เราก็ทำงานของเรา

แล้วนักเขียนเข้าใจชีวิตกว่าคนในอาชีพอื่นๆ ไหม

อุทิศ : ถามว่าเข้าใจมั้ย ถ้าคำว่าเข้าใจผลสุดท้ายของมันคือกระบวนการเรียนรู้และการไม่ทำซ้ำ ถ้าเป็นแบบนั้น เราจะไม่ใช้คำว่าเข้าใจ นักเขียนไม่ได้เข้าใจ เพราะถ้าบอกว่าเราเข้าใจ เช่นสมมติว่าเราเข้าใจความชั่ว แสดงว่าเราก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจแล้วก็ต้องไม่ทำ แต่เฮ้ย เราทำ เราโคตรชั่ว เรารู้ว่าความชั่วคืออะไร และไปถึงได้ขนาดไหน

เราแค่ผ่านเรื่อง เราซึมซับ เรากลืนกินสิ่งเหล่านี้ ไอ้ตัวชีวิตเหล่านี้ เข้ามาสู่ตัวเรา เราก็จะไม่บอกว่าเราเข้าใจ แต่เรารู้ว่าสัมผัสมันคือแบบไหน รูปร่างหน้าตา รูปพรรณสัณฐานเป็นแบบไหน สภาวะแบบนี้ ชีวิตมนุษย์แบบนี้ มันเป็นแบบไหน เราบอกฟอร์มมันได้ผ่านคำของนักเขียนที่เขียนขึ้น

ที่จะตอบคือ ไม่เข้าใจหรอก ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นศาสดาแล้วสิ เราก็ลอยอยู่ข้างบนแล้วสิ

วีรพร : ไม่อย่างนั้นเราจะย่อยยับหรอ เราก็ยู่ยี่อยู่

คือในทุกเรื่องคุณก็คุ้ยชีวิตของคุณทั้งชีวิต คุ้ยมันอยู่นั่น คุณต้องผ่านมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเจ็บปวดเดิมๆ ความเศร้าเดิมๆ ความเบื่อหน่ายเดิมๆ คุณก็ผ่านมันเข้าไป แล้วก็พยายามที่จะทำความเข้าใจมันอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่ายขนาดนั้น แต่ว่าอภิสิทธิ์หนึ่งที่เราคิดว่านักเขียนมีคือเรารู้จักตัวเองมากกว่าคนอื่น แล้วเราก็รู้จักคนอื่นมากกว่าคนอื่น เราให้อภัยคนอื่น เราโอบกอดคนอื่น เพราะเราเห็นว่าชีวิตมันไม่ง่ายว่ะ เราก็เคารพคุณม่อนเสมอจากสิ่งที่เราทำ เราก็สามารถเข้าใจงานของเขาได้เลยว่า เขาคงต้องเอาหัวโขกข้างฝาหนักมาก

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

เห็นว่าในเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเขียนที่คุณจัด คุณเริ่มต้นด้วยการถามคนที่มาว่า “อะไรกันที่กัดกินคุณ” คำถามนี้สำคัญยังไง

วีรพร : ครึ่งหนึ่งหรือค่อนของคนที่มาส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้ทำงานเขียนเต็มตัว ซึ่งมันจะมีสองสามอย่างของคนที่เริ่มต้นจะเขียน

หนึ่ง จะเขียนเรื่องอะไรดี ไม่มีพล็อต เพราะฉะนั้น ทันทีที่ผ่านคำถามนี้คุณมีแล้ว 12 พล็อต เป็น 12 พล็อตที่คุณเองมองข้าม หรือ 12 พล็อตที่บางครั้งมันไม่อิงกับคุณ แต่เรื่องนั้นมันกัดกินคนนี้ หรือเรื่องนี้กัดกินคนนั้น

และสอง คุณต้องกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองก่อน ซึ่งอันนี้สำคัญสำหรับนักเขียน คือคุณต้องแก้ผ้า เหมือนที่คุณเห็นคุณม่อนกับวีรพรนั่งแก้ผ้าอยู่ ทันทีที่คุณอ่านนิยายของเราคุณก็จะเห็นเรานั่งโป๊อยู่ คุณจำเป็นจะต้องเปลือยตัวออกมาให้ได้ถึงระดับนั้น เพราะฉะนั้น บทเรียนแรกหรือสิ่งแรกๆ ที่คุณต้องทำคือบอกมาว่าอะไรที่กัดกินคุณ คุณกล้าพูดมั้ย กล้าพูดมั้ยว่าคุณแม่งไม่แฮปปี้กับสิ่งนี้ในชีวิต ซึ่งครึ่งหนึ่งก็เป็นความโง่ของคุณ เวลาที่คุณเฟลคุณจะรู้สึกว่าคุณโง่ แล้วเวลาที่คุณต้องเล่าถึงมันคุณจะรู้สึกว่ากูโคตรโง่ แต่กูต้องเล่าใช่มั้ยคะ และนี่คือพล็อต เมื่อคุณรู้แล้วว่าคุณอยู่ตรงไหน คุณสามารถเริ่มจากตรงนี้ได้แล้ว แต่คุณจะเริ่มหรือเปล่าเป็นเรื่องของคุณ

ในฐานะผู้ซึ่งนั่งอยู่ตรงนั้นเราไม่สามารถบอกว่าคุณจะเขียนเรื่องอะไรหรอก แต่เราบอกได้แค่ว่า เฮ้ย คุณมีตรงนี้แล้ว คุณมีความขุ่นข้องหมองใจนี้อยู่ คุณรู้ว่าอะไรกัดกินคุณ ความเปลือยเปล่าของคุณ ความทุกข์ของคุณ คุณรู้มันแล้ว คุณมีเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะมีแล้ว เปิดคอมพิวเตอร์สิวะ

คุณทั้งสองต่างเคยพูดถึงเรื่องการเปลือยของนักเขียน การเปลือยสำคัญอย่างไร

อุทิศ : สำหรับเรามันคือความสัตย์ซื่อจริงใจ เปลือยตัว เปลือยหัวใจ เปลือยวิญญาณ คือการเสนอภาพเสนอตัวเองต่อคนอื่นๆ เปลือยในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องเปลือยเนื้อหนังมังสา แต่หมายถึงเรื่องสภาวะอารมณ์ความรู้สึก

วีรพร : หมายความว่าคุณสามารถมองเห็นตัวเองโดยปราศจากสิ่งประทินต่างๆ เช่น ฉันเป็นผู้หญิงสวย เฮ้ย นั่นมายา เอาออกไปๆ ฉันมีชีวิตที่ดี เอาออกไปๆ ฉันเป็นนักเขียนรางวัล เอาออกไปๆ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น ที่เหลืออยู่คือการเป็นมนุษย์หนึ่งคน นี่คือการเปลือยที่สุดแล้ว คุณเป็นผู้หญิงอย่างไร คุณเป็นมนุษย์อย่างไร คุณอิจฉาอย่างไร คุณเร่าร้อนอย่างไร คุณหิวโหยอย่างไร คุณเศร้าอย่างไร นั่นคือสภาวะที่แท้สุดแล้ว ใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มจากตรงนี้ ที่เราจะเห็นคนอื่นในลักษณะเช่นเดียวกันผ่านภูมิหลังของเขา ผ่านความ Propaganda ของบริษัทโฆษณาและรัฐทหาร ผ่านการเติบโตในโรงเรียนที่สังคายนาแบบเรียนโดยรัฐทหารตลอดเวลา แล้วเราก็จะเริ่มเห็นคนหนึ่งคนในฐานะคนหนึ่งคน

สังเกตจากงานพวกคุณดูสนใจความเจ็บปวดรวดร้าวเป็นพิเศษ สิ่งนี้มันดึงดูดคุณยังไง

วีรพร : เราอาจจะเป็นพวกชอบความผุพังหรือเปล่าวะ เมื่อเช้านั่งรถไปกับสามีเห็นบ้านร้างอยู่หลังหนึ่งยังบอกว่า สวยจังเลย แล้วก็บอกสามีว่า เฮ้ย เราเป็นพวกเห็นความงามในความวินาศวิสันตะโรหรือเปล่านะ เราชอบว่ะ

มันเป็นความเป็นมนุษย์มั้ง มันเป็นชีวิตมั้ง มันก็เป็นความงามในแบบของมันนะคุณ ในยามที่เศร้าที่สุดคุณไม่คิดว่ามันงามเหรอ คุณเป็นมนุษย์แล้วคุณสามารถรู้สึกสิ่งนี้ได้ คุณรู้สึกได้เว้ย ในขณะที่เราอยู่ในโลกที่มีหนังโฆษณาที่ดื่มน้ำอัดลมแล้วกระโดด ฟิ้ว คำถามคือคุณรู้สึกอย่างนั้นได้ยังไง แล้วโลกมันก็เต็มไปด้วยคนที่เก็บทุกอย่างเอาไว้ในบ้านของตัวเองแล้วก็เดินออกมาทำท่ามั่นใจ I’m so cool. So alright. แต่ความจริงไม่มีอะไร Alright เลย ทุกอย่างฉิบหายหมด ทำไมคนถึงอยู่กันแบบนี้ ทำไมเราไม่พูดว่า นี่ หัวใจฉันเป็นยังไง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่คุณเชื่อมโยงด้วยกันได้ คุณก็เละประมาณฉันแหละ นี่คือสิ่งที่เราเชื่อมโยงกัน แต่เราไม่ใช้ เราเกทับกัน ฉันสบายดี แกต่างหากเน่า

อุทิศ : แรงขับของมนุษย์เรา ของคนเรา มันก็ออกมาจากความผิดหวัง พลาดพลั้ง เจ็บปวด การทนทุกข์ การไม่ได้อย่างที่อยากได้ มันก็ทั้งหมดนั่นแหละ ในโลกอันสวยงาม ในสิ่งที่สงบสุข บางทีเวลาที่เรามีเวลาอยู่กับมัน เราไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นเวลาแห่งความสุขหรอก จนต่อเมื่อเรามาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นความทุกข์ เราถึงมองเห็นมันว่า ช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่เป็นความสุข

เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามเราเรื่องทำไมเสพติดความทุกข์ เราคิดว่ามันคงเป็นวิธีอีกแบบหนึ่งในการฟอร์มความสุขของเรามากกว่า หมายความว่า เราพยายามจะรู้ทุกมิติ ผนังทุกด้าน สิ่งที่สร้างขึ้นมาจากความล่มสลายหรือความทุกข์เศร้าของมนุษย์ เพื่อที่จะมองเห็นหรือมองหาฟอร์มที่ล่องหนอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของมัน นั่นก็คือความสุข

เหมือนกับเวลาที่เราเขียนรูปสี่เหลี่ยมบนกระดาษ เราเห็นชัดว่าในความว่างทั้งหมด เราเห็นเส้นที่เป็นสี่เหลี่ยมขึ้นมา แต่สิ่งที่เราอยากให้เห็นนอกจากเส้นที่ปรากฏขึ้นมา คือสิ่งที่อยู่ข้างในและสิ่งที่อยู่ข้างนอกสี่เหลี่ยม อากาศของพื้นที่ที่มันอยู่รอบๆ นั้นด้วย มันเป็นองค์ประกอบของกันและกันทั้งหมด เราเขียนถึงความล้มเหลว พินาศย่อยยับ เพราะว่าเรากำลังหาฟอร์มที่ชัดเจนของความสุข หรือความสงบ สันติสุข

วีรพร : อย่างคุณม่อนก็อาจจะมีเป้าหมายหนึ่ง ส่วนเราก็มีอีกเป้าหมายหนึ่ง ตอนเราเขียนงานเล่มสอง เราสาบานเลยว่าจะไม่มีใครที่จะออกจากนิยายของกูโดยอยู่ในสภาพเดิม คือมึงจะต้องแหลกลาญ

เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร เรื่องความเหลื่อมล้ำ พูดถึงเรื่องลูกที่พ่อแม่ไม่รัก เราต้องการให้คุณรู้ว่ามันฉิบหายแค่ไหนสำหรับคนคนหนึ่ง ในความเหลื่อมล้ำนั้นๆ ในความไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น เราสาบานเลย คุณจะต้องออกมาแบบยับเยิน

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

ไม่เห็นใจคนอ่านเหรอ

วีรพร : เขาอาจจะรู้สึกดีก็ได้ว่ากูไม่ได้ Alone in the universe กูว่าชีวิตกูแย่แล้ว ตัวละครของพวกพี่สองคนนี่ระยำกว่ามาก มันก็เวิร์กแบบนั้นเหมือนกัน ในบางครั้งเราคิดว่าคนมันสิ้นหวังเพราะว่าเขาคิดว่ากูแย่สุดแล้ว

อุทิศ : เออ ใช่ มีเพื่อนๆ (หัวเราะพร้อมกัน) นักอ่านหลายๆ คนที่เจอหน้าเราก็ตอบอย่างที่เราอยากได้นะ ในความเป็นมาโซคิสต์เราก็เป็นซาดิสต์ด้วย หลายคนก็บอกว่า อ่านงานพี่จบแล้วว่างๆ โหวงๆ ไปเป็นสัปดาห์ มันรู้สึกว่าเป็นภาวะที่อธิบายไม่ได้ แต่มันรู้สึกว่ากดหนัก กดต่ำ ทึบๆ หม่นๆ มัวๆ เคว้งๆ รู้สึกว่าถูกปล่อยทิ้งไว้กลางทาง แล้วจะต้องรับมือตรงนี้ยังไงต่อในชีวิตนี้

แหม่ม : แต่ระหว่างการเขียนเราก็ไม่ได้แฮปปี้ดี๊ด๊าอะไรนะคะ เราก็เขียนไปร้องไห้ไป สะอึกสะอื้นไป บางช่วงก็มีเหมือนกันที่เขียนไม่ได้เลย นอนซม คือกูก็รู้สึกเท่าๆ กับตัวละคร เราก็ผ่านไปด้วยกัน

อุทิศ : เราก็ถ่ายทอดสภาวะที่มันเกิดขึ้นกับเรานั่นแหละ ผ่านตัวเรา ผ่านเรื่องเล่าออกไป

ทุกวันนี้พวกคุณยึดอาชีพนักเขียนเพียงอาชีพเดียวหรือเปล่า

อุทิศ : ตอนนี้ก็จะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้

วีรพร : เป็นงานหลัก แต่หมายถึงว่าคุณม่อนก็ยังเพนต์ใช่มั้ย เราก็มีเปิดคลาสเวิร์กช็อป ซึ่งแตกต่างจากการเขียน ก็รู้ๆ อยู่ว่าเราเป็นอาชีพรายได้ต่ำที่สุดในโลก เราทำงานเยอะมาก ถ้านับเป็นชั่วโมงแล้ว รายได้เราต่ำมาก กรรมกรได้เยอะกว่า

อุทิศ : เป็นชีวิตมนุษย์ที่สาบสูญเนาะคนทำอาชีพนี้ เราต้องทำตัวสาบสูญเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ (หัวเราะ)

ขนาดทั้งคู่เป็นนักเขียนมือรางวัลยังพูดแบบนี้

อุทิศ : ถึงบอกไงว่าเรารู้สึกเห็นใจนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมา คือเขาไม่ควรจะต้องคิดว่า เฮ้ย อันนี้คือการงานที่เรารัก เราจะทำทุ่มเทเพื่อมัน เฮ้ย ชีวิตมึงฉิบหายนะ ฉิบหายแน่ๆ กูโตมาแล้วกูรู้ แต่ว่ากูก็ชื่นชมด้วย เพราะว่ามันก็เป็นภาพสะท้อนของเราในวัยเด็ก ตอนนั้นถ้ามีใครมาบอกเราว่าให้ทำอย่างอื่นด้วย หรือบอกให้ไปทำอย่างอื่นก่อน อย่าเพิ่งมาเขียนหนังสือ ตอนนั้นเราก็คงบอก เฮ้ย ไม่ นี่ดูถูกกูนี่ ใจกูใหญ่มาก กูจะต้องเอาชนะอะไรสักอย่าง

วีรพร : แต่กูหิวน่าดูนะ ท้องร้องนะ หนี้สินพะรุงพะรังนะ

อุทิศ : ยังไงมันก็เป็นหนทางที่ยากลำบากแหละ

วีรพร : เหมือนอย่างที่เราพูดเสมอว่า ถ้าเกิดว่าอยากได้ตังค์ก็ไปขายหมูปิ้ง หมูปิ้งคือโคตรรวยเลยนะ ขายวันละ 2,000 ไม้ คิดดูกำไรไม้ละ 2 บาท คือหมายถึงว่าถ้าพูดถึงเรื่องเงินคุณมีทางเลือกเสมอ เพราะฉะนั้น นักเขียนอย่างเราก็ได้แต่ก้มหน้าไปว่ากูจะบ่นก็ใช่ที่ เสือกเลือกเอง

เราสามารถเป็นนักเขียนที่รวยได้ไหม

วีรพร : ไม่ ถ้าคุณทำวรรณกรรม แต่ถ้าคุณทำนิยายวายก็รวยค่ะ เรารู้จักนักเขียนนิยายวายอายุ 25 ซึ่งเขียนนิยายพาฝันแล้วมีบ้านราคา 10 ล้าน คือเส้นทางของเราต่างหากที่ไปทางอื่นก็ไม่เป็น

อุทิศ : มันตลกกว่านั้น คือถ้าเราอยากจะทำนิยายวาย ต่อให้เขียนได้เขาก็ไม่เอา เขาไม่รับ มันไม่ใช่ อันนี้ปลอม เขาจับน้ำเสียงได้ แต่ถามว่าเราอิจฉาริษยามั้ย เราคิดว่าเราโตพอที่จะไม่อิจฉาริษยาแล้ว เพราะถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เรามองว่าเขาก็สมควรได้ เพราะจะให้กูทำ กูก็ทำแบบเขาไมได้ไง จะเอาอะไรล่ะ

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

แต่คุณไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละใช่มั้ย ทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย

วีรพร : อาจจะเพราะเราได้มากมั้ง แล้วเราก็ไม่ได้อยากทวงบุญทวงคุณใคร เพราะเขาก็จ่ายเล่มละ 180 คือคุณจะบอกว่า “ฉันทำให้พวกเธอ” ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคุณต้องแจกฟรี แต่ว่าแน่นอน เราหวังว่ามันจะทำให้คุณเห็นว่าความเหลื่อมล้ำคืออะไร พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันไง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นสามัญสำนึกที่คุณสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ แล้วเมื่อคุณสามารถเข้าใจเรื่องเล็กๆ ได้ คุณก็เข้าใจเรื่องใหญ่ได้ เราหวังว่าคุณจะร้องไห้กับทุกคนที่ได้รับความอยุติธรรม คุณจะร้องไห้กับทุกคนที่อยู่ในความเหลื่อมล้ำนั้น เช่นเดียวกับที่ร้องไห้ให้จงสว่าง (ตัวละครใน พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ)

จะว่าไปมันก็เป็นอาชีพที่มีความสุขดี อย่างน้อยๆ เราก็ไม่บ้าเงินนักนะ เพราะว่าเราเรียนรู้ที่จะอยู่โดยไม่มีมัน เราอาจจะสนใจสิ่งอื่นๆ มากกว่า เห็นคุณค่าของอะไรแบบนี้ ฝนในหน้าหนาวก็จะมีพวกเราเห็นก่อนคนอื่น เราจะรู้ว่าฤดูฝนมาถึงแล้วในขณะที่คนอื่นยังไม่รู้อะไรเลย

เราดีใจที่ได้ทำงานนี้ มันทำให้เราเติบโต คนมักลืมว่างานมันทำให้เราเติบโตได้นะ ไม่ได้หมายถึงตำแหน่งหน้าที่ แต่หมายถึงข้างในเรา แม้แต่ในอายุเท่านี้ เราคิดว่าชีวิตคือการเติบโต เบ่งบาน เหมือนต้นไม้ เติบโตไปเรื่อยๆ แม้ว่าคุณจะอายุ 50 60 70 คือถ้าคุณไม่มองมันในลักษณะนั้นคุณจะอยู่ทำไมวะ

ทั้งในแง่ความเป็นมนุษย์หนึ่งคน การเป็นผู้หญิงหนึ่งคน การมองเห็นโลก วันนี้เราไม่ได้เป็นคนอย่างที่เราเป็นก่อนหน้าจะเขียนนิยาย เราไม่ได้เดินออกมาจากนิยายของตัวเองในสภาพเดิม จากการทำ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต หรือ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ เราก็พบว่าฉันเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น เห็นอกเห็นใจผู้คนมากขึ้น ให้อภัยผู้คนมากขึ้น เข้าใจผู้คนมากขึ้น แล้วก็มีคนที่เดินเข้ามาขอบคุณเรานะ บอกว่าหนูรักหนังสือเล่มนี้เหลือเกิน มันก็มีพลังบางแบบ เราเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนคนบางคนได้ ทำให้เขาเติบโตไปพร้อมๆ กับเราได้ แล้วเขาจะเปลี่ยนคนอื่นอีกมั้ย หรือว่าเขาจะทำอะไรที่ดีกว่าเดิมได้มั้ย อันนั้นก็น่าจะได้บ้าง นั่นก็คือส่วนหนึ่งของ 3 ปีที่เราทุ่มเทไปกับนิยายบางเล่ม คือลำพังเราจะทุ่มเทว่า เฮ้ย ฉันจะเขียนเพื่อรางวัล หรือฉันจะเขียนเพื่อได้เงิน หรือฉันจะเขียนเพื่อโด่งดัง มันไม่พอหรอก จนกว่าคุณจะคิดได้ว่า หน่านะ มันน่าจะมีใครสักคนเมื่ออ่านเล่มนี้แล้วเขาจะเติบโตขึ้นหมือนกับเราเมื่อผ่านนิยายเล่มนี้ นั่นดีที่สุดแล้ว

นอกจากทำอย่างอื่นไม่ได้ เขียนอย่างอื่นไม่เป็น อะไรที่ทำให้พวกคุณยังเขียนงานวรรณกรรมอยู่

วีรพร : มันจะมีเช้าวันหนึ่งนะคะที่คุณเขียนทุกอย่างเสร็จ แล้วคุณก็จะจุดบุหรี่ตัวหนึ่ง แล้วคุณก็กด Enter แล้วความรู้สึกแม่งเหมือน After sex ดีๆ คือมันเหมือนเกือบๆ จะซาโตริน่ะ มันเกือบๆ จะเป็นอะไรอย่างนั้น เป็นรางวัลของคนทำงานศิลปะ ของคนแต่งเพลง ของศิลปินทั่วๆ ไป มันเป็นอภิสิทธิ์ของพวกเรา

อุทิศ : บางทีมันก็เล็กน้อยเแค่นี้เองเนาะ แต่ภาวะมันเทียบเท่าอย่างนั้นแหละ เหมือนออกัสซั่มอย่างที่เราก็เคยบอก

วีรพร : เป็นออกัสซั่มดีๆ ด้วย ไม่ใช่ออกัสซั่มทั่วๆ ไป

อุทิศ : ถ้าเขียนหนังสือได้ดี ถ้าเขียนได้ดีทุกวัน มันก็ออกัสซั่มทุกวันแหละ

มีความคิดประเภทว่าจะเขียนไปจนตายอะไรแบบนั้นไหม

อุทิศ : โอ้ย ไม่ได้คิดขนาดนั้นหรอก ก็คิดไปวันต่อวันนั่นแหละ ยิ่งโตขึ้นยิ่งไม่รับปากกับอนาคตมากขึ้น

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

ทำไมยิ่งโตยิ่งไม่รับปากกับอนาคต

อุทิศ : ก็สบายตัวดี จะไม่สัญญา เพราะว่าจะไม่รักษาคำสัญญา เคยรักษา แต่ว่าจะไม่ทำแล้ว จะไม่วางเป้าหมายไปไกล จะไม่รับผิดชอบอะไร อยู่เฉยๆ เวลาจะไปมันจะได้ไปง่ายๆ จะได้สบายๆ ไม่ต้องมีห่วงว่าสัญญากับคนนั้นไว้ว่าจะต้องอยู่นะ ตรงนี้รับปากเอาไว้ว่าจะต้องทำ เราไม่รับปากไม่อะไร เราอยู่ในช่วงเวลาที่ปลดออก คือยังเข้มงวดเหมือนเดิม แต่ไม่จำเป็นที่ใครต้องมารับรู้ว่ากูเข้มงวด เข้มงวดกับตัวเองพอแล้ว แล้วก็ยังทำอยู่ ทำให้เสร็จเป็นเรื่องๆ สบาย จบ

วีรพร : วีรพร 50 กว่าแล้วค่ะ พรุ่งนี้เช้าตื่นได้ก็ดีใจแล้ว อย่าคิดอะไรมาก จะเขียนจบไม่จบก็ยังไม่แน่ใจ เล่ม 3 จะเสร็จมั้ยก็ไม่รู้ จะไปรู้ได้ยังไง ของยังมาไม่ถึง เกิดคุยกันเสร็จเดินตกบันไดตายล่ะ ชีวิตแสนเปราะบาง

สุดท้าย เท่าที่ฟังมาตั้งแต่ต้นพวกคุณไม่ค่อยพูดถึงเรื่องความสุขในชีวิตเลย ฟังดูหดหู่สิ้นหวัง เอาจริงๆ พวกคุณสนใจมันบ้างไหม

อุทิศ : เฮ้ย งานเราไม่สิ้นหวังนะเว้ย งานเรามีความหวังจะตาย คนที่เขาสิ้นหวังเขาสิ้นหวังจริงๆ หวดหนัก แบบตายจมดินนี่เยอะแยะมากมายบนโลกใบนี้ ถ้าคุณไปอ่านเจอ แต่ประเภทของเรา เราไม่ใช่คนสิ้นหวังนะ

วีรพร : หรือความสุขมันฉาบฉวย เราหมายถึงว่านิยามของความสุขในโลกสมัยใหม่มันก็ถูกบิดเบือนโดยมาร์เก็ตติ้งค่อนข้างเยอะ เช่นว่าคุณควรจะมีความสุขกับการมีคอนโดฯ ในย่านเก๋ๆ แล้วมันก็ทำให้ทุกคนวิ่งไปเพื่อที่จะไปอยู่ตรงนั้น โดยลืมไปว่าละแวกบ้านซอมซ่อที่คุณเติบโตทุกคนรักกันรู้จักกันเว้ย แต่ในคอนโดฯ ที่ว่าเก๋ไก๋ไม่รู้จักกันเลย มันก็เป็นความเดียวดายอีกอย่างหนึ่ง

แต่แน่นอน เราเขียนถึงความสุข เขียนถึงความรัก ความสุขของเราก็จะเป็นตอนที่จงสว่างเดินกับยี่สุ่นไปตามเมือง แน่นอนเราเขียนถึงมัน แต่พวกคุณไม่รู้สึกต่างหาก เพราะว่าพวกคุณอยู่ในยุคที่มาร์เก็ตติ้งบอกคุณว่าคุณต้องนั่งชูคออยู่บนรถไฟฟ้า แล้วก็เล่นอินเทอร์เน็ต คุณต้องมีแบรนด์เนม คุณต้องมีการศึกษาจบปริญญาตรี เราตั้งค่าในสิ่งที่ฉาบฉวย เราไม่สามารถที่จะบอกคนว่า เฮ้ย แค่หายใจได้ ความรักเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องหวือหวา ไม่ต้องมีดอกไม้ให้ เดินตามกันไปในเมือง นั่นดีมากแล้ว

เราเขียนถึงความสุขเยอะมาก แต่ว่าเราเขียนถึงมันในอีกระนาบหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคุณไม่ร้องไห้หรอกตอนจงสว่างเสียรัก คุณร้องไห้เพราะว่าคุณมองเห็นความรักของเขาแล้ว คุณเห็นวันชื่นคืนสุขของเขาคือการขี่สกูตเตอร์ มีผู้หญิงซ้อนท้ายไปในเงาแดด แล้วก็ไปปิกนิกกันริมน้ำ แค่นั้นเอง แต่จริงๆ ชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ ชีวิตเราก็ต้องการแค่นี้ ใครสักคนซึ่งอาจจะไม่ต้องคุยอะไรกันลึกด้วยซ้ำ แต่เป็นความหวังซึ่งกันและกัน

วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan