The Cloud x Designer of the Year
ป้ายรถเมล์ที่คุณคุ้นเคยบอกอะไรได้บ้าง
หากคุณอยู่ในกรุงเทพฯ ฟังก์ชันหลักของป้ายรถเมล์อาจไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่ารถเมล์ (อาจ) จะจอดตรงนี้ หรืออย่างมากก็บอกสายรถที่จะวิ่งผ่านด้วย เอ๊ะ ว่าแต่สายนี้ยังผ่านป้ายนี้อยู่รึเปล่านะ นี่อาจเป็นประสบการณ์ที่หลายคนเคยเจอเข้าสักครั้ง
กว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีกลุ่มคนชื่อว่า เมล์เดย์ (MAYDAY!) ที่เชื่อและพยายามผลักดันให้ขนส่งสาธารณะเป็นมิตรขึ้นต่อคนทุกคน ทำให้การใช้รถเมล์ในกรุงเป็นมิตรขึ้นไม่มากก็น้อย
เมล์เดย์หยิบเอาสกิลล์การสื่อสารผ่านการออกแบบกราฟิก บวกค้นคว้าหาข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน พ่วงด้วยการฟังเสียงความต้องการของคนหลายกลุ่ม ออกมาเป็นป้ายรถเมล์แบบใหม่ ที่แม้จะติดอยู่บนโครงเดิม เพิ่มเติมคือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทางมากขึ้น ทั้งบอกสายรถเมล์ที่อัพเดต บอกจุดสำคัญที่รถสายนั้นๆ วิ่งผ่าน หรือป้ายบางแบบก็ช่วยบอกสายจากการระบุปลายทางที่ต้องการจะไปได้

แม้ป้ายรถเมล์คือผลงานหลักที่จับต้องได้ แต่เมล์เดย์ไม่ได้และไม่อยากเป็นแค่นักทำป้ายในตำนาน เมล์เดย์ยังทำข้อมูลในศาลารถเมล์ ชวนคนมาออกแบบศาลารถเมล์ ไปจนถึงการทำเพจเฟซบุ๊ก MAYDAY! ที่ให้ข้อมูลหรือเกร็ดความรู้เกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ ผ่านการใช้กราฟิกที่สะดุดตา หยอดมุกล้อเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่สำคัญ ยังเป็นประโยชน์ นอกจากนี้ เมล์เดย์ยังจัดกระบวนการมีส่วนร่วมในประเด็นขนส่งสาธารณะมานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้คนมาร่วมระบุปัญหาและลองคิดหาทางออกด้วยการออกแบบ
ทุกความพยายามที่ทำไปก็เพราะอยากเห็นขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกของทุกคนได้ในสักวันหนึ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกแบบคือหนึ่งในสกิลล์สุดจำเป็นของเมล์เดย์ และในวาระที่เมล์เดย์ได้รับรางวัล Designer of the Year สาขา Social, Environment and Culture Contribution แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย และ วิช-กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ สองนักออกแบบประจำเมล์เดย์ จึงมาแอบบอกกระบวนการทำงาน บทบาทของนักออกแบบ และความฝันของพวกเขาที่มีต่อเมืองแก่เรา

ขนส่งสาธารณะ เพื่อสาธารณะ โดยสาธารณะ
ทั้งแวน วิช และคนอื่นๆ ในทีม ต่างปันใจให้ประเด็นขนส่งสาธารณะเป็นการส่วนตัว พอจะทำงานออกแบบเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะแต่ละที พวกเขาจะกางตำราและหยิบประสบการณ์ตัวเองมาทำเลยก็คงจะใช้การได้และไม่ผิดอะไร แต่กับทุกงาน พวกเขาเลือกที่จะคุยและถามความเห็นคนก่อนที่จะลงมือทำ
“เราอยากรู้ว่าปัญหาขนส่งมวลชนมีอะไรบ้าง ในทีมเราสี่ห้าคนก็ตอบได้หมดแหละ แต่มันจะใช่ปัญหาของทุกคนจริงรึเปล่า” แวนเล่าให้ฟังว่า จากความสงสัยนี้จึงขยายกลายเป็นการจัดเวิร์กช็อปที่เริ่มจากการเก็บรวบรวมปัญหาของขนส่งสาธารณะแต่ละประเภท จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความเป็นไปได้ในการแก้ไขแต่ละจุด
นับแต่นั้นมากระบวนการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กลายมาเป็นส่วนผสมหลักของงานเมล์เดย์ทุกชิ้น โดยงานออกแบบของเมล์เดย์คือการผสมทุกอย่าง
เช่นเดียวกับการออกแบบป้ายแต่ละครั้ง พวกเขาเลือกที่จะชวนคนมาเสนอความเห็น แจกจ่ายอุปกรณ์ง่ายๆ ให้ลองออกแบบ ลองวางจับปรับขยาย เพื่อให้ป้ายนั้นตอบโจทย์ได้ดีที่สุด ก่อนที่เมล์เดย์จะผลิตชิ้นงานจริง

“พออยากรู้ว่าป้ายจะตอบโจทย์คนได้ยังไง เราก็ชวนคนมาบอกว่าอะไรจะดีต่อเขา แล้วก็เอานักออกแบบที่รู้ทฤษฎีว่าจะทำยังไงให้สิ่งที่มันดีกับคนใช้ สวยและเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมที่ตั้งอยู่ เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคนใช้งานก็เหมือนลูกค้า บางคนขอให้ตัวอักษรใหญ่อีกๆ ส่วนดีไซเนอร์ก็อาจจะอยากให้มันมินิมอลที่สุด เรียบที่สุด สุดท้ายมันก็ต้องประนีประนอมกันให้แฮปปี้ที่สุดทุกฝ่าย” แวนเล่าถึงกระบวนการออกแบบแต่ละครั้ง
แน่นอนว่ามากคนก็ย่อมมากความ การเอาความคิดของทุกคนมารวมกันให้กลายเป็นชิ้นงานหนึ่งชิ้นไม่น่าใช่เรื่องง่าย
“เราไม่ได้เอารูปแบบงานจากเวิร์กช็อปมาใช้เป๊ะๆ แต่เราเก็บการใช้งานบางอย่าง เก็บรายละเอียด มาจัดกลุ่มดูว่าเขาอยากได้แบบนี้เพราะอะไร แล้วสุดท้ายก็ลองเอามาวางรวมกันและเช็กว่ามันยังเล่าสิ่งที่ผู้เข้าร่วมอยากได้รึเปล่า โดยทุกอย่างต้องมีเหตุมีผลรองรับ” วิชขยายความ
การออกแบบโดยยึดผู้ใช้งานเป็นสำคัญเคยทำให้เมล์เดย์และที่ปรึกษาด้านการออกแบบต้องอึ้งมาแล้ว

ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2561 หนึ่งในงานใหญ่ งานร้อน งานด่วน ของเมล์เดย์คือการช่วยแปลงโฉมป้ายย่านแผ่นยักษ์ ป้ายที่เคยเดือดในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องข้อมูลมากไปไม่อ่าน ตัวหนังสือเล็กไป ไม่เห็น หรือป้ายต่ำไป ก้มไม่ไหว
เมล์เดย์ไม่รอช้าวิ่งไปปรึกษา วีร์ วีรพร และ เตชิต จิโรภาสโกศล สองนักออกแบบที่ปรึกษา
จากน้ันทีมออกแบบก็เตรียมยึดแผนที่เป็นหลัก และตั้งใจพัฒนาแผนที่ให้ครบใจความและงามที่สุด


“ตัดภาพมาในเวิร์กช็อป สิ่งที่คนอยากรู้คือ จะไปถึงที่ที่หนึ่งได้ยังไง ต้องขึ้นสายไหน มาดูแผนที่แค่ใช้ประกอบจุดที่จะขึ้นรถทีหลัง” แวนเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ผู้เข้าร่วมต้องการพลิกจากสิ่งที่คิดไว้ ยังไม่รวมเรื่องสีที่ตอนแรกทีมออกแบบตั้งใจใช้สีเข้มๆ ดูเท่ๆ แต่ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทดลองนำสีนั้นไปวางในที่มืด สุดท้ายพบว่าพื้นหลังสีขาวรอด นักออกแบบจึงต้องปรับตามข้อสรุปที่ได้จากเวิร์กช็อป
“แก่นการทำงานของเราคือการให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-Centric) แล้วเอาการออกแบบมาจับให้ชีวิตดีขึ้น” แวนบอกว่า การออกแบบของเมล์เดย์หมายถึงการผสมทุกอย่าง ทั้งความต้องการของผู้ใช้งาน ข้อมูลมหาศาล และความสวยงาม ให้ลงตัวที่สุด
งานที่ไม่มีวันจบ
สิ่งที่เมล์เดย์ทำอยู่เสมอกับทุกชิ้นงานออกแบบ คือการเก็บเสียงตอบรับ ทั้งจากผู้ใช้งานจริงและจากแบบทดสอบความเข้าใจออนไลน์ นี่จึงเป็นเหตุผลให้งานของเมล์เดย์แต่ละตัวมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เช่น จากอักษรมีหัว เป็นอักษรไม่มีหัว เพิ่มสี เพิ่มจุด เป็นต้น
“อย่างป้ายเซ็ตแรกที่เราทำ หนึ่งร้อยยี่สิบป้าย ตอนแรกก็ทำเป็นเท็มเพลตเดียว แต่ละจุดก็ใส่ข้อมูลที่มีลงไป ซึ่งบางอันก็มีที่ว่างเยอะ เราเริ่มเห็นแล้วว่ามันล่อตาล่อใจ เห็นแล้วว่าถ้ามีที่ว่างคนจะเขียนกราฟฟิตี้ลงไป เฟสถัดมาเราก็เลยออกแบบเท็มเพลตให้มีหลายเวอร์ชันมากขึ้น หรือบอกข้อมูลมากขึ้นด้วย เช่นป้ายไหนมีสายน้อย ป้ายนั้นอาจจะบอกจุดจอดเยอะหน่อย” แวนเล่าย้อนไปให้ฟังแบบขำๆ ว่า ตอนนี้ต่อให้ใช้ที่เต็มป้ายก็อาจจะถูกขีดเขียนอยู่ดี ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหม่ให้คิด

“หรืออย่างบางครั้ง เราก็เก็บฟีดแบ็กจากการสังเกตคนที่ป้ายรถเมล์ เวลาเจอคนมองป้ายดูหลงๆ งงๆ เราก็เข้าไปถามเขาว่า หาอะไรอยู่ครับ แล้วก็ค่อยๆ ตะล่อมหาวิธีถามว่าทำไมเขาถึงหาสิ่งที่เขาอยากหาไม่เจอ แล้วเราก็เก็บมาปรับปรุง” แวนเล่าต่อ

ไม่เพียงแค่เรื่องนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่งานเมล์เดย์ยังไม่จบลงง่ายๆ คือย้อนกลับไปตั้งแต่เวิร์กช็อปครั้งแรกที่ชวนคนมานั่งถกนั่งลิสต์ปัญหาขนส่งมวลชนแต่ละประเภท ยังมีอีกหลายอย่างที่เมล์เดย์โน้ตเก็บไว้และหาจังหวะลงมือทำ
หรือแม้แต่ความต้องการของผู้ใช้รถเมล์ เรื่องการให้ข้อมูลบางอย่างที่เมล์เดย์อาจจะยังตอบโจทย์ได้ไม่ครบ พวกเขายืนยันว่ายังคงครุ่นคิดกับมันอยู่
ออกแบบเพื่อสังคม
ทั้งวิชและแวนต่างก็ข้องเกี่ยวอยู่กับการออกแบบทั้งคู่
แต่เกือบ 3 ปีที่ผ่านมาของทั้งแวนและวิช เมล์เดย์พาเขาออกมาจากภาพแรกที่มีต่อการออกแบบไม่น้อย
“ตอนแรกๆ ที่มาทำเมล์เดย์เราแค่อยากออกแบบให้สวยขึ้น แต่พอมาทำจริงๆ แล้วเราได้เข้าใจผู้ใช้งานที่ต่างกันในหลายระดับ การออกแบบของเราเลยเปลี่ยนเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงคนที่หลากหลาย ออกแบบยังไงให้ตอบโจทย์คนที่ต้องการข้อมูลในระดับที่ต่างกัน” วิชเล่า
สำหรับแวน การทำงานอย่างมีส่วนร่วมเปิดโลกเขาให้ไปเจอแขนงของการออกแบบที่กว้างขวางกว่าเดิม

“งานกราฟิกดีไซน์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบที่ได้รับบรีฟมา ทำไม่ดีก็แก้ไป พอมาอยู่ที่นี่ มาทำงานเมือง มันต้องออกแบบกระบวนการเพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริงของเขา ว่าเขาอยากได้อะไร ต้องออกแบบกระบวนการการคุยงานระหว่างชุมชน ระหว่างผู้ใช้ ระหว่างหน่วยงานรัฐ ทำให้เราเห็นว่าการออกแบบเป็นมากกว่านั้น

“การออกแบบไม่ใช่การออกแบบแค่กราฟิก มันหมายถึงการออกแบบประสบการณ์ ออกแบบกระบวนการด้วย หรืออย่างการออกแบบตารางเวลาเดินรถ ออกแบบการเดินทาง ออกแบบว่าชีวิตคนกรุงหนึ่งวันไม่ควรใช้เวลาบนถนนเกินกี่ชั่วโมง ไม่ควรใช้เงินกี่บาท ทุกอย่างคือการออกแบบหมดเลย ส่วนการออกแบบกราฟิกมันก็คือส่วนเล็กๆ ที่ทำให้มันสุนทรีย์ขึ้น” แวนอธิบาย
เครื่องมือการออกแบบหลากหลายทั้งหมดที่ว่ามา คือสิ่งที่แวนอยากใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายใหญ่ของเมล์เดย์ ที่ว่าด้วยการ “อยากให้ขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกของทุกคน”
เริ่มที่ป้ายรถเมล์ แต่จะไม่จบที่ป้ายรถเมล์
สโลแกนในการทำงานของเมล์เดย์ คือ Small Change, Big Move
“ขนส่งสาธารณะมีปัญหาเยอะมาก เมล์เดย์เลือกแก้สิ่งเล็กๆ ก่อน แต่มันสร้างอิมแพ็ค บางคนบอกว่าป้ายรถเมล์เป็นอะไรที่ปลายทางมาก ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ทำแล้วมันก็เกิดผล Small ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าโปรเจกต์มันเล็กเสมอไป แต่คือการไม่ทิ้งเวลาไปเฉยๆ แล้วรอการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทีเดียว เพราะถ้าอะไรที่เราทำได้ แล้วก็ทำได้ดี ก็ทำไปก่อนไหม” วิชเล่า

“มีคนบอกว่า ทำไมไม่รอทำป้ายดิจิทัลเลย เราก็รอนะ ไม่ใช่ไม่รอ แต่ถ้ารออย่างเดียว เราจะปล่อยให้คนหลงทางไปทุกวันไม่ได้ เราเชื่อว่าที่ทำมันก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย มันอาจจะไม่ใช่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็อาจจะเป็น Big Move ได้”
มาถึงวันนี้ สโคปความสนใจของสองนักออกแบบเมล์เดย์ขยายกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ
“ทุกการออกแบบของเรา เรามองภาพกว้างขึ้น แล้วก็มองละเอียดขึ้น เราดูทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเดินทางจากต้นทางไปถึงปลายทาง ว่ามีตรงไหนที่จะหยิบจับทำอะไรได้บ้าง หรือการทำป้าย บางครั้งเราก็รู้สึกฝืนใจมาก เพราะทางเท้ามันแคบ แต่มันต้องทำแบบนั้น เพราะถูกกำหนดมา ถ้ามีโอกาส เราก็อยากทำประเด็นอื่นๆ อยากทำฟุตปาทให้ดีขึ้นด้วย หรืออยากออกแบบข้อมูลให้ถูกบริบทการใช้งานบริเวณนั้นๆ มากขึ้น มากกว่าที่จะทำแบบเดียวกันหมดแล้วจบไปเลย และอีกมุมหนึ่ง พอมาอยู่ตรงนี้แล้วกลายเป็นว่าใช้ชีวิตในเมืองนี้ลำบากขึ้นหน่อยๆ จากเดิมที่เราใช้ชีวิตปกติ ตอนนี้เราก็ชอบคิดว่าถ้าทำอันนี้ให้ดีกว่านี้นะ” วิชเล่า

“เรายังอินขนส่งมวลชนเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอมาทำตรงนี้ เรานึกถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งขนส่งมวลชนมีบทบาทสำคัญมาก แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด คนหนึ่งคนควรใช้เวลากับการเดินทางให้น้อยที่สุดด้วยซ้ำ แล้วอีกสิบ ยี่สิบกว่าชั่วโมงที่เหลือล่ะ อะไรคือส่วนประกอบที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นบ้าง เราเลยมองเห็นภาพกว้างขึ้น สนใจมันมากขึ้น เราเห็นถนน เห็นท่อ เห็นสายไฟ แล้วมันเป็นปัญหาหมด มันคิดถึงคนอื่นมากขึ้น บางทีเห็นทางเท้ากว้างแล้ว แต่มันก็มีหลุม มีบ่อ ไม่สว่าง มีกลิ่น เราเห็นบาดแผลเต็มไปหมด แต่ทุกบาดแผลมันก็คือโอกาสด้วยนะ โอกาสที่จะแก้มัน” แวนทิ้งท้าย
ป้ายรถเมล์ที่คุณคุ้นเคยบอกอะไรได้บ้าง
วันนี้ ถ้าสังเกตดูดีๆ คุณอาจจะเริ่มเห็นรายละเอียดที่มากขึ้นบนป้ายรถเมล์
ด้วยพลังในการสร้างสรรค์และผลักดันของกลุ่ม MAYDAY! ทำให้เราเชื่อเหลือเกินว่า วันที่ขนส่งมวลชนจะเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ อาจจะไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

