เราเป็นหนึ่งในหลายคนที่โตมากับมะขามกวนซองเหลืองแดงของร้าน ‘แก้ว’ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คนกาญจนบุรี และแล้วก็ถึงวันที่ร้านแก้วเดินทางมาอยู่ในมือทายาทรุ่นสอง ซึ่งมีกันถึง 3 คน ทั้งหมดร่วมกันเป็นหัวเรือหลักและนำความสมัยใหม่มาเติมเต็มธุรกิจครอบครัว จนเกิดเป็นแบรนด์ขนมไทยหน้าใหม่ที่แม้จะเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วย Concept Store ในจังหวัดกาญจนบุรีไปเมื่อไม่นาน แต่มีเรื่องราวการเดินทางที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ทั้งที่อายุยังน้อย แต่ ลูกแก้ว-เจกิตาน์, พลอย-พิรดา และ เพชร-เมธัส ชัยมงคลานนท์ ทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างบทพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ร้านแก้วไม่ควรเป็นเพียงแค่ร้านขายของฝากชื่อดังจากจังหวัดกาญจนบุรีอีกต่อไป แต่มีศักยภาพในการเป็นแบรนด์ขนมไทยหน้าใหม่ร่วมสมัย เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ สีสัน และความน่าสนใจภายใต้แนวคิดใหม่กับแบรนด์ ‘แก้วบูทีค’

ธุรกิจ : ร้านแก้ว และ แก้วบูทีค 

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2532

ประเภท : ของฝาก

ผู้ก่อตั้ง : เมธา ชัยมงคลานนท์

ทายาทรุ่นสอง : ลูกแก้ว-เจกิตาน์ ชัยมงคลานนท์, พลอย-พิรดา ชัยมงคลานนท์, เพชร-เมธัส ชัยมงคลานนท์ และ แวน-วิวรรณ ล้อศิริ 

มะขามกวนแก้วซองเหลืองแดง

กาญจนบุรีมีมะขามเปรี้ยวเป็นสินค้าชื่อดัง เมธา ชัยมงคลานนท์ จึงเห็นช่องทางว่าสินค้านี้น่าจะเป็นที่สนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยว เพราะคนซื้อติดไม้ติดมือกลับไปทานได้ เขาจึงเริ่มนำมะขามกวนมาขายตามตลาดและงานเทศกาลต่าง ๆ ในจังหวัด พอทําไปได้ระยะหนึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนคิดว่าคงต้องติดแบรนด์ให้เจ้ามะขามกวนตัวนี้ และเมื่อเหลือบไปเห็นกระดาษแก้วใส ๆ สีส้ม คุณเมธาจึงตัดสินใจเลือกใช้ชื่อ ‘แก้ว’ ซึ่งทั้งกระชับและแสดงถึงความเป็นไทยแท้มาแปะไว้บนถุง และขยายกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน และมีมะขามกวนในซองเหลืองแดงเป็นสินค้าชูโรง

ในทุกเทศกาลสำคัญ คุณเมธามักกระโดดขึ้นโต๊ะพร้อมโทรโข่งคู่ใจในมือ เพื่อประกาศเชิญชวนลูกค้ามาซื้อขนมไทยหลากหลายจากร้านแก้ว ซึ่งยังมีทั้งทองม้วนสด หม้อแกง วุ้นมะพร้าว และขนมสดอีกมากมายที่เข้ามาสร้างสีสันและทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก และเป็นร้านขายของฝากประจำจังหวัดกาญจนบุรีภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

เพราะเป็นทายาทธุรกิจใหญ่ประจำจังหวัด ชีวิตของ ลูกแก้ว พลอย และเพชร จึงแตกต่างจากเด็กทั่วไปอยู่ไม่น้อย 

“ตอนเด็ก ๆ เราเรียนกันอยู่ที่กาญจนบุรี พอโตขึ้นก็ย้ายเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เราจะกลับเมืองกาญจน์ตลอด พวกเราก็โตมากับร้านแก้ว คุณพ่อเขาพาไปที่ร้านเป็นประจำ เราไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนเพื่อน ๆ เพราะวันเสาร์-อาทิตย์คือวันที่มีลูกค้าเยอะที่สุด ทั้งบ้านจึงมาช่วยกันขายของ ดูลูกค้า เรียกลูกค้า ซึ่งสนุกนะ เราเคยช่วยคุณพ่อพูดผ่านโทรโข่งเพื่อเรียกลูกค้าด้วย เราได้เจอลูกค้า พบปะผู้คนกันมาตั้งแต่เด็ก บางทีก็เข้าไปช่วยทําขนมและได้เรียนรู้เรื่องขนมด้วย” ลูกแก้ว พี่สาวคนโตเล่า

และความผูกพันกับกิจการครอบครัวนี้เอง ทั้งสามจึงไม่ลังเลที่จะกลับมาช่วยกิจการที่บ้านทันทีหลังจากเรียนจบทั้งที่คุณพ่อไม่ได้บังคับแต่อย่างใด “มันเป็นความอินตั้งแต่เด็กที่อยากสานต่อสิ่งที่คุณพ่อสร้างขึ้นมา เพราะมันเจ๋งมาก เราอยากดูแลต่อ” ลูกแก้วยืนยัน

แก้วบูทีค

การสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์อาจเป็นข่าวดีสำหรับหลายคนที่จะได้สัญจรไปยังจังหวัดต่าง ๆ รวดเร็วและสะดวกสบายขึ้นหลายเท่า แต่สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กลับเป็นปัญหาทางธุรกิจให้กับทายาทร้านของฝากอย่างพวกเขา

“ร้านแก้วอยู่ในเส้นทางหลักที่จะกลับกรุงเทพฯ ทางเก่า เพราะฉะนั้น ถ้ามอเตอร์เวย์เสร็จ ลูกค้าจะเริ่มเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง ทางผู้ใหญ่จึงมองหาทำเลใหม่ โดยโจทย์แรก ๆ คือต้องการเปิดร้านของฝากอีกสาขาหนึ่งเพื่อรองรับลูกค้าในเส้นทางนี้ แต่ตอนนั้นมีปัญหาโควิด-19 เข้ามา และพวกเราก็ยังเรียนไม่จบ โปรเจกต์นี้ก็เลยพับไปชั่วคราว แต่พอทุกคนเรียนจบ ประจวบเหมาะกับมอเตอร์เวย์ที่กลับมาสร้างต่อ เราเลยเอาโปรเจกต์นี้ออกมากางใหม่” ลูกแก้วเล่าถึงที่มาของโจทย์แรกที่ทั้ง 3 ได้รับ

แต่หากจะเปิดร้านขายของฝากเหมือนเดิม คนรุ่นใหม่อย่างลูกแก้ว พลอย และเพชร ก็มีคำถามคาใจมากมาย

“มันจะเป็นร้านของฝากเหมือนเดิมหรือ เพราะเราว่าคนโดยเฉพาะรุ่นพวกเราอาจไม่ได้ตื่นเต้นกับร้านของฝากแล้ว เช่น เวลาเพื่อน ๆ จะมากาญจนบุรี เขาก็จะโทรถามว่าอยู่ร้านหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่เขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องแวะมาที่ร้านเราเลย ร้านของฝากอาจไม่ได้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต้องมาแวะแล้ว คิดคอนเซปต์ของร้านกันใหม่”

โดยพลอย ลูกสาวคนกลางผู้เรียนจบทางด้านการตลาดโดยตรงเห็นด้วยกับพี่สาว

“พลอยเห็นว่าสินค้าเรามีดีและมีช่องทางการเติบโต ขนมเราดีเพราะเป็นนโยบายจากทางผู้ใหญ่ตลอดมาว่าของที่ใช้ต้องเป็นของดี คนที่ได้รับต้องประทับใจในรสชาติ ร้านแก้วเป็นได้มากกว่าแค่ร้านของฝาก แต่การจะปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะคนส่วนใหญ่จดจำเราแบบนั้นไปแล้ว 

“เราอยากปรับภาพลักษณ์แก้วให้เป็นแบรนด์ขนม โดยเริ่มจากพัฒนาสินค้าภายใต้ชื่อ แก้วบูทีค เอามาต่อยอดให้เป็น Top of Mind ของคนว่า ถ้าพูดถึงขนมไทย ก็ต้องนึกถึงแบรนด์แก้วด้วย

“แก้วบูทีคเป็นขนมไทยที่มีความร่วมสมัยด้วยรสชาติที่ใหม่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่เราได้เพชรซึ่งเรียนจบด้านธุรกิจอาหารจากประเทศฝรั่งเศสมาช่วยพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ แพ็กเกจจิงก็ใหม่ การนำเสนอขนมก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม พลอยว่ามันคือความแตกต่างที่เอามาชูได้ เลยเกิดเป็นแก้วบูทีคที่มีความแตกต่างจากแก้วเดิม” พลอยเสริม

ด้วยสาเหตุนี้ ปัจจุบันในจังหวัดกาญจนบุรีจึงมีร้านแก้วอยู่ทั้งหมด 2 สาขา ร้านดั้งเดิมเน้นขายของฝาก ส่วนร้านแก้วบูทีคเป็น Concept Store ที่ทั้ง 3 อยากให้เป็นจุดมุ่งหมายของคนมาเที่ยวเมืองกาญจน์เป็นที่ที่คนตั้งใจจะมา ไม่ใช่แค่จุดแวะสุดท้ายก่อนสิ้นสุดเขตจังหวัด เพราะแก้วบูทีคจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่าง 

“กลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่าง คือการเก็บความดั้งเดิมของขนม ทั้งความหอมจากกะทิสดและใบเตยเอาไว้ พร้อมกับเติมความคิดสร้างสรรค์ในรสชาติและหน้าตาที่ทันสมัยขึ้น เช่น ทองม้วนสดใส่ไส้ ที่นอกจากไส้สังขยาใบเตย ยังมีไส้นูเทลล่าและมีครัมเบิลช็อกโกแลตมะพร้าวคั่ว ได้ฟีดแบ็กที่ดี พี่พลอยที่ดูฝั่งการตลาดก็จะออกแบบแพ็กเกจจิงและอาร์ตเวิร์กให้ดูมินิมอลขึ้น ไม่ไทยจนเกินไป เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์ขนมไทยทั่วไป” เพชร น้องชายคนเล็กช่วยเสริม

ด้วยเหตุนี้ การขยายจากร้านแก้วมาสู่แก้วบูทีคนั้นไม่เพียงดักลูกค้าเก่าที่ออกไปใช้เส้นทางใหม่ตามโจทย์ที่ครอบครัวตั้งไว้ แต่ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าและต่อยอดให้กิจการเติบโตอย่างที่ทายาททั้ง 3 ตั้งใจ

“ลูกค้าของแก้วเดิมเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเมืองกาญจน์ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มากับรถทัวร์ รถตู้ มากับตารางทัวร์ว่าเขาต้องมาแวะที่นี่เป็นจุดสุดท้ายก่อนกลับ ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในร้านไม่นาน ประมาณ 10 – 15 นาที รีบซื้อรีบไป ส่วนลูกค้าของแก้วบูทีคเป็นนักท่องเที่ยวที่มาด้วยรถยนต์ส่วนตัวและตั้งใจมาแวะร้านของเราเอง”

สร้างบทพิสูจน์

กว่าจะมาเป็นแก้วบูทีคนั้น บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่าทายาทต้องฝ่าด่านสำคัญ นั่นก็คือผู้ใหญ่ของครอบครัว เพราะสิ่งที่ลูกแก้ว พลอย และเพชร เห็นดีเห็นงามนั้น ผู้ใหญ่กลับไม่เห็นด้วย เพราะไม่ตรงตามโจทย์แรก คือการทําร้านของฝากขึ้นมาอีกร้านหนึ่ง 

เพื่อให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวเห็นถึงช่องทางการเจริญเติบโตของธุรกิจ ทั้ง 3 จึงเริ่มจากการทำ Pop-up Store เล็ก ๆ โดยไม่ได้ใช้เงินลงทุนมาก เพื่อดูผลตอบรับจากลูกค้าและพิสูจน์ความเป็นไปได้

“ถ้าเราแค่ทำลอย ๆ ขึ้นมาแล้วไปอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟัง เขาก็อาจจะยังไม่ซื้อไอเดียเราเท่าไหร่ เลยลองทำเป็น Pop-up Store ขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินทุนมากนัก ทำอยู่เป็นปีเพื่อดูการตอบรับจากลูกค้า ปรากฏว่าผลออกมาน่าพอใจ เขายังจำได้ว่าเราเป็นแก้ว แต่เป็นแก้วในรูปแบบใหม่ ผู้ใหญ่จึงเริ่มเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร และเราก็ได้ขยับขยายจนกลายเป็นแก้วบูทีคในปัจจุบัน”

บทเรียนทายาทรุ่นสอง

แน่นอนว่าการเป็นทายาทธุรกิจมีข้อดีมากมาย ข้อสำคัญคือการมีต้นทุนที่ดีมาจากคนรุ่นก่อนหน้า 

ทั้งในเรื่องธุรกิจ ทรัพยากร และความรู้จากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะในเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่แค่ไหนก็ตาม 

“อย่างเช่นการก่อสร้างร้าน เราไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้ ถ้าไม่มีผู้ใหญ่จึงอาจจะยาก พวกเขาจึงเข้ามาช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี ถ้าเราขาดตกบกพร่องตรงไหน พวกเขาก็ยังคอยสนับสนุนอยู่เสมอ” พลอยเล่า

มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียที่ตามมาเช่นกัน พลอยเล่าต่อว่า “เราต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมากในการทำธุรกิจกับคนในครอบครัว เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง คุณพ่อสอนตลอดว่าให้ฟังคนรุ่นเก่าเข้าไว้ และพยายามอธิบายในสิ่งที่เรามองด้วยเหตุผลที่ชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นเก่าเข้าใจและอยากทำไปร่วมกับเรา ไม่ใช่ว่าจะดันทุรังทำโดยที่คนรุ่นก่อนไม่เห็นด้วย” 

ทายาททั้ง 3 จึงเห็นตรงกันว่าสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจร่วมกับครอบครัว คือความจริงใจและความตรงไปตรงมา โดยเพชรมองว่า “หลายคนในธุรกิจครอบครัวอาจติดกับความเกรงใจ ความเป็นญาติพี่น้อง กลัวว่าไปกระทบความรู้สึก จนกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่ได้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา และไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที”

ซึ่งพลอยมองว่าสิ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหานี้คือการเปิดใจคุยกันอย่างหมดเปลือก “ถ้ามีอะไรควรพูดคุยกันบนโต๊ะได้ ถ้าเราเก็บเพราะกลัวแตกหัก มันจะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น การพูดคุยกันด้วยความเข้าใจแก้ปัญหาได้ดีที่สุด พูดตรงนี้ให้จบตรงนี้ มันก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป”

“ทุกคนรักร้าน รักแบรนด์ ยังไงเป้าหมายทุกคนก็เหมือนกัน แม้ว่าระหว่างทางจะไม่เข้าใจกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่ถ้ามีความจริงใจให้กันและมีเป้าหมายเดียวกัน ยังไงเราก็จะผ่านทุกอุปสรรคและฝ่าฟันจนไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุด” ลูกแก้วสรุปไว้อย่างสวยงาม

Instagram : kaewboutique

Website : www.kaew.co.th

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

หฤษฎ์ หอกเพ็ชร์

ถ่ายภาพตั้งแต่อยู่ปี 1 รู้ตัวอีกทีก็เป็นงานประจำไปซะแล้ว