อุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทย ทั้งยังเป็นตำบลที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศ ที่ละติจูด 105 องศาตะวันออก เป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย 

ในฐานะนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวสายผจญไพร-ผจญภัย ซึ่งยึดเป็นอาชีพมายาวนานเกือบ 30 ปี ดิฉันไม่เคยไปถึงเมืองนี้เลยสักครั้ง เป็นเพียงแค่แตะ ๆ แล้วเดินทางต่อไปที่อื่น โดยไม่เคยแม้แต่จะค้างคืนในเมืองนี้

จนกระทั่งได้โอกาสดี สมัครเป็นนักเขียนพิเศษในแคมเปญ Happy City จึงเลือกจังหวัดอุบลราชธานีโดยไม่รีรอ และเดือนธันวาคม พ.ศ.​ 2566 ก็เป็นครั้งแรกกับการอยู่ในจังหวัดใหญ่ ชายแดนไทย-ลาว แถมอยู่ยาวถึง 30 วัน

เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้ความหลากหลายอย่างดีในอุบลฯ ในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ชุมชนต้นแบบ ฟาร์มสเตย์ของแท้ โรงแรมสีเขียวที่เห็นคุณค่าของวิถีชาวบ้าน ฯลฯ

รวมทั้งยังได้เปลี่ยนบรรยากาศไปร้านหนังสือที่มีเสน่ห์ตรงแนวคิดชัดเจน เข้าคาเฟ่ที่รวมพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ กินของอร่อยในร้านอาหารอายุกว่าครึ่งศตวรรษ รวมทั้งได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมเด่น อย่างการทำเทียนพรรษา เดินทางสู่วัดป่าที่รวมศรัทธาในพุทธศาสนาของผู้คนหลายเชื้อชาติ ไปคุยกับผู้ที่ยึดแนวทางธรรมชาติบำบัดดูแลตน และที่สนุกที่สุด คือการวิ่งชมเมืองไปกับทีมนักวิ่งที่น่ารักที่สุดเท่าที่เคยพบมา

พื้นดินอาจแล้งน้ำเพราะแดดร้อนร้าย แต่ความเป็นมิตรที่ได้รับนั้นดับร้อนได้อย่างชะงัด อุบลฯ ที่ดิฉันรู้จัก จึงเป็นเมืองที่คู่ควรกับการเป็น Happy City อย่างที่สุด

#01

กินสบายใจช็อป

ร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกจากจังหวัดอุบลราชธานี

‘กินสบายใจช็อป’ เป็นร้านเล็ก ๆ อยู่ที่ชั้น 1 ของห้างสุนีย์ทาวเวอร์ นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิก สินค้าธรรมชาติ สินค้าแห่งความยั่งยืน Sustainability จังหวัดอุบลราชธานี’ นับเป็นร้านเล็กแต่มากคุณค่า และเปี่ยมคุณภาพสำหรับคนที่ต้องการพืชผักและอาหารปลอดสารเคมี

ผักสด ไข่ไก่ ข้าวสาร สลัด ผลผลิตแปรรูป ฯลฯ ล้วนเป็นความสบายใจของผู้ซื้อเสมอ เพราะมั่นใจได้ในกระบวนการที่ดีมาตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์ซึ่งเป็นสมาชิกโครงการกินสบาย อันมีกฎการทำเกษตรอินทรีย์ระบุไว้ชัดเจน โดยมีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS : Participatory Guarantee Systems) เป็นแนวทางควบคุม

เข้ามาในร้านนี้จึงหยิบจับหรือเลือกซื้ออะไรก็สบายใจไปทุกสิ่ง

กินสบายใจช็อป
  • ห้างสุนีย์ ทาวเวอร์ 512/8 ถนนชยางกูร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 21.00 น.
  • 09 3102 5290
  • กินสบายใจช็อป
#02

อุบลฯ – วารินฯ 

เส้นทาง City Run ในย่านเก่า พร้อมร้านเด็ดรายทาง 

ย่านเก่าเมืองอุบลราชธานีซึ่งวางตัวเคียงขนานไปกับลำน้ำมูลนั้นสงบงามแทบทุกยาม และอีกฝั่งแม่น้ำคืออำเภอวารินชำราบ ก็เป็นเมืองเก่าน่าเที่ยว สองฝั่งถนนของทั้ง 2 ย่านเรียงรายด้วยตึกเก่าแก่ เรือนไม้โบราณ ตลาดแสนคึกคัก เหมาะแก่การวิ่งชมเมืองในยามเช้าเป็นที่สุด

เริ่มต้นจากหน้าศาลหลักเมือง ฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี แล้วข้ามสะพานเหนือลำน้ำมูลไปยังฝั่งอำเภอวารินชำราบ ผ่านโรงแรมเวฬาวาริน ไปชมหัวรถจักรไอน้ำที่สถานีรถไฟอุบลราชธานี ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำเภอเมือง แล้วเลยไปยังตลาดสดเทศบาลที่ละลานตาด้วยผักและปลา ก่อนวิ่งข้ามสะพานกลับเข้าเมืองเก่าอุบลฯ ชมตึกเก่าสวย ๆ ริมสองฝั่งถนนที่ขนานกับแม่น้ำมูล มีร้านอาหารอร่อยมากมาย เช่น ร้านเจียวกี่ ร้านอาหารเช้าแบบจีนเก่าแก่เกือบร้อยปี ส่วนสายมังสวิรัติต้องไปที่อุทยานบุญนิยม ถนนศรีณรงค์ อร่อยและราคาไม่แพง ออกนอกเมืองเก่าไปหน่อยมีอุบลโอชา ขายกวยจั๊บ โจ๊ก ฯลฯ ที่คนพื้นที่แนะนำว่าไม่ควรพลาด

เจียวกี่
  • 307-315 ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 05.30 – 13.00 น.
  • 04 525 4017
อุทยานบุญนิยม
  • 57 ถนนศรีณรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 06.00 – 14.00 น.
  • 04 524 0950
อุบลโอชา
  • 250 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 14.30 น. ยกเว้นวันเสาร์ เปิดถึงเวลา 21.00 น.
  • 06 3434 2242
  • อุบลโอชา
#03

ทุ่งศรีเมือง

สวนสาธารณะที่เป็นดั่งศูนย์รวมใจผู้คน

ทุ่งศรีเมืองเปรียบได้กับสนามหลวงของกรุงเทพมหานคร ทั้งด้วยที่เคยเป็นทุ่งนาของเจ้าเมือง รวมทั้งเป็นสถานที่เผาศพบุคคลสำคัญของจังหวัด ซึ่งรวมถึง พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ หรือ ท้าวคำผง เจ้าเมืองคนแรกด้วย

ปัจจุบันทุ่งศรีเมืองเป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ราว 40 ไร่ มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ตั้งแต่เช้าจนค่ำมืด ครบครันด้วยเส้นทางวิ่ง / เดิน รวมระยะทาง 850 เมตร สนามบาสเกตบอล สนามฟุตบอล ลานสเกตบอร์ด สนามเด็กเล่น ฯลฯ นักท่องเที่ยวที่ต้องการนั่งมองความเป็นไปของชาวเมืองอุบลฯ มาที่นี่ที่เดียวก็ได้เห็นความหลากหลายและภาพผ่านตาไม่ซ้ำกันเลย

ความครบครันเช่นนี้ทำให้ทุ่งศรีเมืองเป็นดั่งศูนย์รวมของทั้งผู้อยู่และผู้เยือน โดยเฉพาะช่วงเย็นย่ำที่มีรถเข็นขายของกินรายรอบ ถัดไปไม่ไกลยังมีตลาดโต้รุ่ง เพิ่มความคึกคักให้ทุ่งแห่งนี้มีชีวิตชีวาอย่างที่สุด

ทุ่งศรีเมือง
  • ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • 05.00 – 21.00 น.
  • 04 524 6060 (เทศบาลนครอุบลราชธานี)
#04

ส่งสาร

ร้านกาแฟในตึกเก่ากับบทบาท ‘ชุมชน’ ของผู้มีอุดมการณ์

เป็นความย้อนแย้งที่น่ารัก เมื่อเดินเที่ยวชมย่านเมืองเก่าอุบลราชธานี แล้วพบเจอร้านกาแฟของคนรุ่นใหม่ ซึ่งปรับแปลงตึกเก่าแก่มาเป็นคาเฟเท่ ๆ ดึงดูดให้เดินเข้าไป

‘ส่งสาร’ ของ เป็ด-ยุทธนา ดาวเจริญ คือคาเฟที่มีความชัดเจนตรงที่เจ้าของร้านเลือกสื่อสารแนวคิดทางการเมืองอย่างเปิดเผย และเปิดใจรับผู้คนที่คิดต่าง

สำหรับเมนูกาแฟนั้น เจ้าของร้านอารมณ์ดีบอกว่ามีไม่มากนัก แต่ทำให้ดีที่สุด กาแฟหลักของร้านใช้เมล็ดคั่วกลางจากผาฮี้ ปางขอน และขุนลาว มาเบลนด์จนได้รสขมเจือเปรี้ยว กลิ่นหอมกรุ่น ไม่ว่าจะชงร้อนหรือชงเย็นก็ถูกใจนักดื่มทั้งนั้น

ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟ แต่ส่งสารยังเป็น ‘ชุมชน’ ของคนที่รักในแนวคิดเดียวกัน รวมทั้งชื่นชอบกิจกรรมเหมือน ๆ กันอีกด้วย

SongSarn Coffee & Home Roaster (สาขาในเมือง)
  • 154/1-2 ถนนพรหมเทพ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ปิดเวลา 17.00 น.
  • 08 2225 6466
  • Songsarn
Songsarn x Railway Station Coffee and Home Roaster (สาขาวารินชำราบ)
  • 168 ถนนเกษมสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.30 – 16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00 – 17.00 น.
  • 08 2891 5479
  • Songsarn X Railway Station
#05

ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่

แหล่งเรียนรู้เรื่องเรื่องศิลปะเทียนพรรษาแห่งสำคัญของเมืองอุบลฯ

เทศกาลเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่เมืองอุบลราชธานีคึกคักขึ้นหลังจากอยู่ในความสงบมาตลอดทั้งปี บ้านเลขที่ 6 ริมถนนสรรพสิทธิ์ อันเป็น ‘ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่’ ก็เช่นกัน นับตั้งแต่ 1 เดือนก่อนถึงวันแห่เทียน ทั้งวันทั้งคืนจะมีผู้คนรวมตัวกันอยู่ในบริเวณกว้างชั้นล่าง ง่วนอยู่กับการพิมพ์ลายเทียนบ้าง ตัดลายเทียนบ้าง เพื่อรวบรวมพิมพ์เทียนทั้งหมดส่งให้ฝ่ายติดลายเทียนทำงานใหญ่ในโรงเก็บรถแห่เทียนที่วัดศรีประดู่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร

ในพื้นที่สูงโปร่งของศูนย์เรียนรู้ฯ มีข้อมูลการทำต้นเทียนทั้งเรื่องและภาพ อีกด้านหนึ่งมีงานติดพิมพ์เทียนขนาดเล็กเป็นตัวอย่างให้เห็นลวดลายประณีตไหวพลิ้ว นอกจากนี้ รางวัลมากมายในตู้ยังเป็นสิ่งบ่งบอกว่าที่นี่เหมาะสมยิ่งนักกับการเป็นศูนย์เรียนรู้ เพราะเป็นบ้านที่ ครูสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทย พ.ศ. 2546 ด้านศิลปกรรมช่างติดพิมพ์เทียนพรรษา อาศัยอยู่ และเปิดต้อนรับผู้สนใจทุกวัน

ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่
#06

หมก

ร้านอาหารมิชลินที่ยกระดับของกินอีสานให้เป็นจานศิลป์

แม้จะหมกตัวอยู่ริมถนนที่สงบเงียบ แต่รสชาติและคอนเซปต์ในการปรุงก็เจิดจ้าจนได้รับสัญลักษณ์บิบ กูร์มองด์ หมวดร้านอาหารอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา จากมิชลินไกด์ ประจำปี 2023 และ 2024 ถึง 2 ปีซ้อน

มิชลินไกด์กล่าวถึง 2 เมนู คือหมกปลากะพงพื้นบ้าน ใช้ปลากะพงจากจังหวัดตราดมาปรุงแบบอีสาน ได้กลิ่นรสของน้ำปลาร้านัว ๆ หอมสมุนไพรเข้มข้น และหลนเค็มบักนัดใส่ไข่ เครื่องจิ้มที่ผสานเค็มบักนัดรสชาติเปรี้ยวหวานเค็มเข้ากับไข่และเครื่องเทศได้อย่างหอมมัน

ยังมีอีกหลากหลายความอร่อย เช่น แสร้งว่าปลากริมไข่เต่า ใช้เห็ดตาโล่มาเนียนกรุบ ๆ อยู่ในน้ำกะทิหอมมัน สร้างสรรค์ความเป็นพื้นบ้านที่หายากมาให้กินได้น่าประทับใจที่สุด

นอกจากรสชาติเยี่ยม ทุกเมนูยังจัดสวยราวกับงานศิลป์ สร้างสรรค์มาในคอนเซปต์การใช้วัตถุดิบอีสานเพื่อพรีเซนต์แบบสากล โดย ป้าเชฟ-ศิโรรัตน์ เถาว์โท และทีมงานอารมณ์ดี

หมก
  • 113 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • วันพุธ-ศุกร์ เวลา 11.00 – 14.30 น. และ 17.00 – 22.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 22.00 น. หยุดวันจันทร์-อังคาร
  • 09 6740 9616
  • ห ม ก
#07

อินโดจีน

ร้านอาหารญวนเก่าแก่ประจำเมืองของผู้มีเชื้อสายเวียดนาม

‘อินโดจีน’ คือร้านอาหารเวียดนามอายุกว่า 50 ปี ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความอร่อยแบบเวียดนามกลาง ที่ปรับรสให้ถูกลิ้นคนไทย และได้รับสัญลักษณ์บิบ กูร์มองด์ หมวดร้านอาหารอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา จากมิชลินไกด์ มาเป็นเครื่องยืนยัน

ของเด่นคือแผ่นเมี่ยง นำข้าวที่ปลูกเองมาโม่ หมัก ตาก ตามสูตรคุณยายแท้ ๆ ของ ขยันวิทย์ ศรีสกุลวรรณ เจ้าของร้าน แป้งมีรสชาติออกเปรี้ยวเพราะกระบวนการหมัก ทำเป็นเปาะเปี๊ยะทอดแล้วกรอบเหนียว เคี้ยวกรุบ ๆ ห่อแนมเหนือง (ที่มักเรียกกันว่า แหนมเนือง) ก็เคี้ยวหนึบอร่อยเป็นเอกลักษณ์

อีกเมนูห้ามพลาด คือขนมถ้วยญวน แป้งข้าวเจ้าโม่เนียนนึ่งมาเหนียวนุ่ม เติมหมูสะเต๊ะและโรยหมูหย็อง ตักจากถ้วยเป็นคำ ๆ กินง่าย กินดี เป็นเมนูที่มิชลินเขียนถึง มาถึงร้านแล้วไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

อินโดจีน
#08

Anna Coffee Roasters

ร้านกาแฟพิเศษที่เมล็ดมาจากเชียงใหม่ แต่มาสร้างชุมชนกาแฟที่อุบลฯ

จุดเริ่มต้นของ Anna Coffee Roasters เกิดขึ้นจากความรักของ แอน-มานิตา จารุกขมูล และ เทน-อุเทน สมบูรณ์ค้ำชู ผู้เป็นเจ้าของสวนกาแฟ Lica coffee estate ที่บ้านแม่แดดน้อย อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

‘เจอกันเพราะกาแฟ’ เป็นเรื่องเล่าโรแมนติกของผู้สาวอุบลฯ และผู้บ่าวเชียงใหม่ ที่ร่วมกันพัฒนากาแฟและทำให้ลูกค้าได้รู้จักกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ซึ่งแต่เดิมชาวอุบลฯ นิยมกาแฟคั่วเข้ม แต่แอนและเทนช่วยกันทำให้กาแฟพิเศษที่คั่วระดับอ่อนและกลางนั้นเป็นความแปลกใหม่และดีงาม

นอกจากการเป็นร้านน่ารักน่านั่ง ในเมืองเป็นแนวมินิมอล ส่วนที่สาขาบ้านหัวเรือเป็นสวนสีเขียวสบายตา Anna Coffee Roasters ยังมีดีครบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง กาแฟจากสวนที่เชียงใหม่ถูกส่งมายังโรงคั่วของตัวเอง ผ่านการคิวซี คัปปิง แล้วส่งเข้าร้านแอนนาฯ เพื่อบด-ชงเป็นเครื่องดื่มร้อน-เย็น บ่งบอกคุณภาพที่แฝงมาในความรักอย่างชัดเจน

Anna Coffee Roasters (สาขาในเมือง)
  • สาขาในเมือง 85 ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 06.30 – 17.00 น.
  • 09 1835 7841
Anna Coffee Roasters Huaruea (สาขาบ้านหัวเรือ)
  • ซอยตำบลหัวเรือ ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • วันจันทร์-ศุกร์ (ปิดวันพุธ) เวลา 08.30 – 17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.30 น.
  • 09 1835 7841
  • Anna Coffee Roasters
#09

Impression Sunrise

ตึกร้าง 30 ปี สู่พื้นที่สร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ

ตึกเก่าแก่ริมถนนพโลชัยเคยถูกปล่อยร้างนานถึง 30 ปี ก่อนปรับปรุงและทาสีนวลกลายเป็นมัลติสเปซ นาม ‘Impression Sunrise’ โดยแบ่งพื้นที่ 3 ชั้นเป็นร้าน Sunrise to Midnight คาเฟสไตล์เรโทร มีดีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งรับผู้มาเยือนอยู่ด้านล่าง ชั้น 2 เป็นสตูดิโอทำเวิร์กช็อป อ้วนแลนด์ ที่พร้อมให้ทุกคนเพลินไปกับการร้อยลูกปัดและปั้นดินญี่ปุ่น ชั้น 3 คือร้านกู๋หว่าไจ๋ 古惑仔 1991′ และไคฟงบาร์ – 开封 บรรยากาศจีนจ๋าแบบย้อนยุค ส่วนบนดาดฟ้าจะมีชีวิตชีวาในช่วงเย็นย่ำจนดึกดื่นในฐานะร้านกินดื่มยามราตรี

สำหรับลานด้านหน้าตึก ในตอนกลางวันมีร้านตัดผมเท่ ๆ เปิดอยู่เคียงข้างร้าน Sunrise to Midnight ครั้นแดดร่มลมเย็น บาร์โอเพนแอร์ก็พร้อมเปิดให้ครึกครื้นกันจนถึงดึกดื่น 

มัลติสเปซนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี อ้วนแลนด์-วัชราภรณ์ สมบูรณ์, โจ๊ะ-ปกรณ์พศ คณานุรักษ์ และ มิ้นท์-กิ่งกาญจน์ รองทอง ที่เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองในวัยหนุ่มสาว และเลือกที่ทางได้อย่างพอดิบพอดีสำหรับทั้งตัวเองและผู้มาเยือน

Impression Sunrise
  • 30/1 ถนนพโลชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน Sunrise to Midnight เปิดเวลา 08.00 – 23.59 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เปิดเวลา 08.30 น.
    อ้วนแลนด์ เปิดเวลา 10.00 – 18.00 น. (หรือตามนัดหมาย)
    โซนร้านอาหารกู๋หวาไจ๋ เปิดเวลา 17.00 – 24.00 น.
  • 09 8983 9496
  • Impression Sunrise
#10

ฟิลาเดลเฟีย

ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ที่สะท้อนแนวคิดของผู้เป็นเจ้าของ

“ผมไม่มีความคิดในการเปิดร้านหนังสือเลยนะ ร้านนี้เป็นความฝันของผู้หญิงของผม” เจี๊ยบ-วิทยากร โสวัตร หนุ่มใหญ่ผู้วางหน้าที่ตัวเองว่าเป็น ‘คนดูแลร้าน’ เล่าถึงที่มาของร้านด้วยรอยยิ้ม

ฟิลาเดลเฟีย’ เป็นร้านหนังสือที่มีรูปทรงคล้ายดินสอ มีดอกไม้หลากสีสันรายรอบเปิดหน้าต่างรับลมและแสงธรรมชาติ บนช่องชั้นข้างผนังทุกด้านวางแน่นด้วยหนังสือที่คัดสรรมาวางโดยวิทยากร นักเขียนเจ้าของรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด พ.ศ. 2552 จากเรื่องสั้น ฆาตกร

หนังสือนับร้อยที่วางเรียงบนชั้นสะท้อนแนวคิดและความเชื่อของผู้เป็นเจ้าของร้าน มีทั้งหนังสือปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา และที่แตกต่างจากร้านหนังสืออื่นอย่างเด่นชัด คือวรรณกรรมอีสาน ที่หลายเล่มจัดว่าหายาก พิเศษกว่านั้นอีก คือมีหนังสือของ วิทยากร โสวัตร ซึ่งหายากกว่า วางเด่นอยู่บนชั้นหนังสือข้างประตูสู่สวนดอกไม้ ซึ่งเจ้าของร้านยินดีให้เปิดอ่านและจิบชา กาแฟ ในร้านไปพร้อมกัน

ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย
#11

วัดป่านานาชาติ 

วัดป่าสายวัดหนองป่าพงที่มีภิกษุสามเณรส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

วัดป่านานาชาติเป็นวัดป่าสายวัดหนองป่าพง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจาก พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) ก่อตั้งวัดหนองป่าพงแล้ว 21 ปี และอยู่ห่างกันราว 18 กิโลเมตรตามเส้นทางถนน

ทุกเช้า ราว 6 โมงครึ่ง หน้าวัดป่านานาชาติจะมีพุทธศาสนิกชนมาเข้าแถวใส่บาตรพระภิกษุและสามเณรที่เดินกลับจากการบิณฑบาตในชุมชนใกล้วัด จากนั้นหลายคนมักเข้าไปฟังธรรมที่ฐิตะธรรมศาลา รวมถึงกราบพระในวิหารพีระมิด ซึ่งเคยเป็นอุโบสถของวัดมาก่อนจะมีการสร้างอุโบสถหลังใหม่

แม้พระสงฆ์สามเณรส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แต่หลายรูปก็พูดภาษาไทยได้ ญาติโยมคนไทยที่มาใส่บาตรฟังธรรม โดยเฉพาะแม่ออกพ่อออกจากชุมชนใกล้วัด ซึ่งมาช่วยงานในโรงครัว รวมทั้งทำบุญกันอยู่เสมอ จึงได้ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นภาษาไทยด้วยความเข้าใจ

ภายใต้ร่มเงาของแมกไม้ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาโดยไม่แยกเชื้อชาติปรากฏให้เห็นตลอดมา

วัดป่านานาชาติ
  • บ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.
  • www.watpahnanachat.org
#12

เวฬาวาริน

โรงแรมไม้เล็ก ๆ ที่ทายาทเจ้าของแปลงโฉมตึกเก่ายุคสงครามโลกให้ร่วมสมัย

มีใครบ้างที่จะละสายตาจากอาคารไม้ 3 ชั้นรูปลักษณ์ครึ่งวงกลมทรงหกเหลี่ยมสวยคลาสสิกของโรงแรมเวฬาวารินได้โดยไม่แม้แต่เหลือบตามอง นี่คืออาคารเก่าแก่ที่ยืนหยัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2482 หลังจากสถานีรถไฟอุบลราชธานีสร้างเสร็จได้ราว 9 ปี

อาคารไม้ 3 ชั้นนั้นสวยสะดุดตาด้วยแนวระเบียงไม้และชายคาเรียงคลุม มีห้องพัก 6 ห้อง ส่วนเรือน 2 ชั้นที่เคียงข้างกันมี 5 ห้อง รวมแล้ว 11 ห้อง เลือกพักได้ตามสไตล์การเดินทาง ถ้ามาเป็นครอบครัว ห้องที่มีเตียง 2 ชั้นอยู่ข้างเตียงใหญ่ พักได้ 4 คน คือห้องที่ถูกเลือกเสมอ

เสน่ห์ของห้องในอาคาร 3 ชั้นคือการผสานความเก่าใหม่ของระดับชั้นและเพดาน เห็นความเหลื่อมซ้อนของ 2 กาลเวลา ส่วนความอบอุ่นของห้องพักชั้นหนึ่งในเรือน 2 ชั้น คือเมื่อก้าวพ้นประตูห้องก็จะพบสนามหญ้าเล็ก ๆ ให้อารมณ์เหมือนอยู่บ้านเป็นที่สุด

อาหารและเครื่องดื่มก็ดีงาม อย่าพลาดการลิ้มรสกาแฟซึ่งชงโดยบาริสตามือต้น ๆ ของจังหวัด

เวฬาวาริน
  • 2-6 ถนนทหาร ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • โรงแรมเปิดทุกวัน หากเช็กอินหลังเวลา 17.00 น. ควรโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้า
  • 08 0369 7639
  • VelaWarin เวฬาวาริน
#13

อาศรมสร่างโศก 

สถานที่จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาพตามแนวทางธรรมชาติบำบัด

เกือบ 20 ปีที่ สดใส สร่างโศรก ใช้ชีวิตในแนวทางธรรมชาติบำบัด และเห็นผลชัดจากร่างกายตนเอง เธอจึงเอื้ออารีให้คนที่สนใจมาร่วมคอร์สที่เธอจัดให้ตัวเอง 5 วันในแต่ละเดือนด้วย

เริ่มวันด้วยการดื่มน้ำด่าง จากนั้นจึงฝึกโยคะ ซึ่งเป็นท่าพื้นฐานง่าย ๆ แล้วต่อด้วยการคุยกันเรื่องกระบวนการดูแลตัวเอง เรียนรู้เรื่องอาหารและแนวปฏิบัติเพื่อกลับไปทำที่บ้าน

ส่วนตอนบ่ายเป็นช่วงผ่อนพักตระหนักรู้ มีกิจกรรมน้ำเยียวยาตัวเอง เช่น แช่หลัง แช่สะโพก เพราะแนวทางของธรรมชาติบำบัดคือปฏิเสธยาทั้งเคมีและสมุนไพร จึงต้องเรียนรู้เรื่องดินและน้ำในการรักษาร่างกาย พอตกเย็นก็มีกิจกรรมสันทนาการ เพราะสดใสเชื่อว่าเสียงหัวเราะและความสนุกสนานรักษาอาการป่วยได้

“เราไม่มีสวัสดิการจากการทำงาน การดูแลตัวเองในวิถีธรรมชาติบำบัดนี่ล่ะ คือการสร้างสวัสดิการให้ตัวเอง” เจ้าของอาศรมสร่างโศกสรุปด้วยรอยยิ้มสดใสสมชื่อของเธอ

อาศรมสร่างโศก
  • 33 หมู่ 17 บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เช็กเวลาเปิดปิดจากเพจ เนื่องจากบางเวลาเจ้าของอาศรมอาจออกเดินทาง
  • 09 4423 4695
  • อาศรมสร่างโศก
#14

แก่งสะพือ

แหล่งท่องเที่ยวแห่งพิบูลมังสาหารที่งดงามต่างกันในแต่ละฤดูกาล

นานมาแล้ว ‘แก่งสะพือ’ เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของอำเภอพิบูลมังสาหาร มากกว่านั้นคือเป็นพื้นที่ประมงพื้นบ้านและเกษตรริมน้ำมูล ความงามราวประติมากรรมธรรมชาติของแก่งหินแห่งนี้เสริมอยู่ด้วยสายน้ำใสสะอาดไหลเอื่อยอ่อนในช่วงแล้ง บางช่วงแก่งที่เป็นหลุมหลุบ สายน้ำก็จะหมุนวนเป็นวงพลิ้ว ก่อเกิดความงามตามธรรมชาติที่ไม่ธรรมดาสำหรับผู้มาเยือน

จนกระทั่งเขื่อนปากมูลสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2537 การกักเก็บน้ำได้ทำให้แก่งสะพือตกอยู่ใต้ผืนน้ำท่วมทับ จนถึง พ.ศ. 2566 คณะทำงานบริหารจัดการน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี ก็ประสบความสำเร็จในการยื่นมติให้เขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำในช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน บรรยากาศม่วนซื่นหวนคืนสู่แก่งสะพืออีกครั้งอย่างน่าชื่นใจ

และทุกกลางเดือนเมษายน ผู้คนริมแก่งก็หวังว่างูใหญ่ (ชาวบรูซึ่งอาศัยอยู่ริมน้ำเรียกแก่งนี้ว่า ‘กะไซผึด’ แปลว่างูใหญ่ แล้วเพี้ยนมาเป็น แก่งสะพือ) จะปรากฏอีกครั้งกลางลำน้ำมูล

แก่งสะพือ
  • ถนนบำรุงราษฎร์ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงที่แก่งโผล่พ้นน้ำคือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูล
  • 04 544 1349 (เทศบาลพิบูลมังสาหาร)
  • เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร
#15

ไร่พี่บุญอุ้มน้องบุญอ้น 

ไร่เกษตรอินทรีย์ที่ปรับตัวตามการเป็นเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ

ลึกจากถนนสายหลักในเขตอำเภอพิบูลมังสาหารเข้าไปในพื้นที่ชนบท มีท้องไร่ท้องนาและสวนยางพาราสลับเรียงกันอยู่ในหย่อมย่านชุมชนเป็นแนวกว้าง และ ‘ไร่พี่บุญอุ้มน้องบุญอ้น’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ไร่นี้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นศูนย์เครือข่ายเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อยู่ในเครือข่ายกินสบายใจ เป็นไร่ตัวอย่างที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผักอินทรีย์ ซึ่งนอกจากแปลงผักและไร่มันสำปะหลังแล้ว ปื๊ด-สมาน วงไตร และ จุก-ประภาพร สีบัว ยังทำนาข้าวปลอดสารเคมี ทำสวนยางพารา รวมถึงขุดบ่อเลี้ยงปลาแบบปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ด้วยเหตุผลของคนมองการณ์ไกล คือปลูกหลายอย่างก็ขายได้หลายอย่าง รวมทั้งลดความเสี่ยงในการถูกศัตรูพืชทำลายทีเดียวหมดทั้งแปลง

“ทำเกษตรอินทรีย์ ต้องใจเย็น อดทน เพราะเราต้องพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด” คือคำสรุปของสองเกษตรกรเจ้าของไร่ ซึ่งปิดท้ายว่ายินดีต้อนรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เกษตรวิถีอินทรีย์เสมอ

ไร่พี่บุญอุ้มน้องบุญอ้น
(ศูนย์เครือข่ายเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร)
#16

Mekong Nomad Organic Farm

ไร่เกษตรอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์และความมั่นคงทางอาหาร

เมื่อหญิงสาวที่เดินทางตะลอนมาแล้วหลายประเทศ เลือกกลับบ้านที่อำเภอศรีเมืองใหม่ เธอตั้งใจว่าจะทำการเกษตร เพราะครอบครัวมีที่ทางและปลูกพืชผักอยู่แล้ว การกลับมาอยู่บ้านจึงเป็นจุดกำเนิดของ Mekong Nomad Organic Farm

เน้ตติ้ง-จารุวรรณ สุพลไร่ ให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ว่าเป็นปัจจัยการผลิตและเป็นต้นทุนของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นอาหารปลอดภัย จึงคัดสรรเมล็ดจากพืชพันธุ์ออร์แกนิกมาลงดินดี ทั้งเพื่อเก็บกิน ขาย และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ส่งต่อ

ในฟาร์มพื้นที่ 18 ไร่ ปลูกพืชพรรณหลากหลาย จึงเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ตามวิถีที่ Mekong Nomad Organic Farm ยืนยันว่าดีต่อต่อโลกใบนี้และดีต่อผู้บริโภคทุกคน

สำหรับคนที่สนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์และนัดหมายเข้ามาที่ฟาร์มในวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ควรพลาดพิซซ่าแป้งอบสดใหม่ ใช้วัตถุดิบดีและมีผักปลอดสารจากฟาร์มเป็นส่วนประกอบ กินอร่อยและปลอดภัย

Mekong Nomad Organic Farm
  • 56 หมู่ 2 ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • โทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้า
  • 08 1072 2714
  • Mekong Nomad Organic Farm
#17

ทอแสง เฮอริเทจ โขงเจียม

โรงแรมเก่าแก่ริมโขงที่อยู่คู่โขงเจียมด้วยความรัก

กว่า 30 ปีแล้วที่ ทอแสง เฮอริเทจ โขงเจียม วางตัวกลมกลืนอยู่ริมโขงท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ หน้าโรงแรมมีแม่น้ำโขงไหลเรื่อยริน โดยมีผาชันและทิวเทือกเขาของลาวเป็นฉากหน้า ถัดไปอีกราว 4 กิโลเมตร ยังเป็นจุดพบเจอของแม่น้ำโขงและมูลที่เรียกขานกันว่า แม่น้ำสองสี อันเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของโขงเจียม

ทุกห้องพักหันหาวิวแม่น้ำ มีทั้งแบบอยู่ในอาคารและแบบวิลล่า ในอาคารมี 2 แบบ คือตึกคลาสสิก ตกแต่งสไตล์ไทย ส่วนตึกอินดิโก ดีไซน์ใหม่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและสดใส ห้องพักใน 2 ตึกเหมือนกันตรงการตกแต่งด้วยผ้าฝ้ายทอมือ นำมาจาก ทอแสง คอตตอน วิลเลจ รวมถึงใช้งานจักสานไม้ไผ่มาเป็นของใช้ในห้องพัก สำหรับโซนวิลล่า มีให้เลือก 3 แบบ คือแม่โขงวิลล่า ริเวอร์วิลล่า และพูลวิลล่า ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวและมีพื้นที่กว้างขวาง

ดีขึ้นไปอีก เมื่อที่นี่เป็น Green Hotel ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอยู่ในชุมชนด้วยความรักษ์

ทอแสง เฮอริเทจ โขงเจียม
#18

ทอแสง คอตตอน วิลเลจ

จากฝ้ายริมโขง สู่สองมือทอ

ห่างจาก ทอแสง เฮอริเทจ โขงเจียม ริมสายน้ำโขงเพียงข้ามทางลูกรังสายเล็ก คือที่ตั้งของหมู่บ้านฝ้าย หรือ ทอแสง คอตตอน วิลเลจ ศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเรื่องฝ้าย ที่นี่ทุกคนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเป็นเมล็ดฝ้ายที่เริ่มปลูก ขั้นตอนในกระบวนการผลิต จนผ่านการสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่นุ่มมือและนวลตา

ทอแสง คอตตอน โขงเจียม ไม่ได้สร้างมาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทว่าเป็นพื้นที่ทำงาน ‘จริง’ ที่ไม่ว่าใครจะมาวันไหนก็พบเจอชาวบ้านนั่งทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติเป็นปกติทุกวัน

ความชัดเจนของกระบวนการต่าง ๆ เห็นได้จากการลงมือทำ แต่ถ้าอยากรู้รายละเอียดด้านข้อมูลโดยไม่อยากขัดจังหวะการทำงานของชาวบ้าน ก็มีป้ายข้อมูลพร้อมอุปกรณ์การทำงานบอกเล่าอย่างกระชับ ช่วยให้เข้าใจภาพรวมได้เป็นอย่างดี

ทอแสง คอตตอน วิลเลจ
  • 68/1 หมู่ 7 บ้านห้วยหมากใต้ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น. วันเสาร์และวันจันทร์ ปิดเวลา 21.00 น. วันพฤหัสบดี ปิดเวลา 17.00 น.
  • 04 521 0324
  • Tohsang Cotton Village
#19

บ้านผาชัน

หมู่บ้านที่เคยกันดารที่สุด สู่รางวัลชนะเลิศด้านการจัดการน้ำ

“เราเคยเป็นหมู่บ้านกันดารที่สุดในอำเภอโพธิ์ไทร”

ผู้ใหญ่บ้านคำพัน เชิดไชย เล่าว่านานมาแล้วที่คนในหมู่บ้านผาชันอาศัยน้ำจากแม่น้ำโขงเท่านั้น ไม่เคยมีการสำรวจแหล่งน้ำอื่น ๆ เลย เมื่อถึงฤดูแล้ง ปัญหาขาดแคลนน้ำจึงเกิดขึ้นโดยตลอด แต่แล้ววันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรทำงานวิจัยเรื่องแหล่งน้ำ แล้วร่วมมือกันหาแหล่งน้ำอย่างจริงจัง จนสร้างฝายผันน้ำเข้าหมู่บ้านสำเร็จ และส่งโครงการฝายเข้าประกวดการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ

และหมู่บ้านผาชันก็ได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดประจำ พ.ศ. 2551 จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่เป็นรางวัลจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งหลังจากนั้นแล้ว บ้านผาชันก็ได้ทุนมาดูแลจัดการฝายทุกปี

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังจัดตั้งกองทุนปลาเพื่อรับซื้อปลาด้วยราคาเป็นธรรม และยังต่อยอดไปถึงการรับจัดทำอาหารจากปลาให้นักท่องเที่ยวที่มาชมเสาหินและผาชัน เพียงโทรแจ้งล่วงหน้าเท่านั้น

‘รวมกันเราอยู่’ จึงเป็นภาพชัดในการรวมพลังอย่างจริงจัง อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม

บ้านผาชัน
  • หมู่ 7 ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
  • โทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้า
  • 09 5473 3191 (ผู้ใหญ่คำพัน เชิดไชย)
#20

The Goose Farm Stay & Cafe’

ฟาร์มสเตย์ที่ผู้มาเยือนจะได้ใช้ชีวิตวิถีอีสานในฟาร์มจริง ๆ

ฟาร์มของครอบครัวชิณกะธรรมเป็นฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกปรับแต่ง แล้วเติมบ้านไม้ยกพื้นสูงโปร่งเข้าไปให้เป็นฟาร์มสเตย์น่ารัก น่าพัก ชื่อ The Goose Farm Stay & Cafe’

บนบ้านยกพื้นมี 3 ห้องนอนให้เลือกพัก คือห้องไข่ห่าน (Goose Egg) ห้องอีแม่ห่าน (Goose Mommy) และห้องลูกห่าน (Goose Baby) ทุกห้องมีเครื่องปรับอากาศและมีห้องน้ำในตัว นอนคนเดียวก็ไม่เหงา เพราะมีตุ๊กตาน้องห่านตัวเบ้อเริ่มเป็นเพื่อนบนฟูกแน่น ๆ ที่วางบนพื้นไม้

ส่วนฟาร์มนั้นเป็นฟาร์มจริง ไม่มีกิจกรรมที่เซตเพื่อนักท่องเที่ยว เพราะเจ้าของบ้านอยู่กินกันตามปกติในบ้านอีกหลังที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน เช้า ๆ จะเห็นพ่อแม่ตื่นมาให้อาหารสัตว์ในฟาร์ม ถ้าอยากออกไปเดินเล่นก็มีทางเดินชัดเจนเข้าไปในป่าเบญจพรรณหลังบ้าน ช่วงฤดูฝนมีเห็ด หน่อไม้ ซึ่งเก็บกลับมาให้พ่อครัวแม่ครัวประจำบ้านลงมือปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านให้ก็ได้

มาแล้วจะพบว่าเสน่ห์ของที่นี่คือเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และเป็นอย่าง ‘ดี’ ในแบบของตน

The Goose Farm Stay & Cafe’
  • 100/12 บ้านนาอาลอน ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
  • ติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าพัก
  • 06 5163 5964
  • The Goose Farm Stay & Cafe’

Happy City เป็นแคมเปญในความร่วมมือของ The Cloud, สถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายในการสื่อสารความสำคัญของการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ

ความพิเศษของแคมเปญนี้คือ ทีมงานก้อนเมฆไม่ได้เป็นคนเล่าเอง แต่เฟ้นหาผู้สนใจ 5 คน มาทำหน้าที่ ‘นักเขียนพิเศษ’ แทนพวกเรา ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ผู้ได้รับเลือกทั้ง 5 ต้องไปใช้ชีวิต ทำความรู้จักผู้คน กิจการ อาณาบริเวณต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ระยอง เชียงใหม่ อุบลราชธานี และสงขลา แล้วเขียนถ่ายทอด 20 เรื่องราวสุขภาวะของจังหวัดนั้น ๆ ออกมาเป็นหนังสือคนละ 1 เล่ม และบทความคอลัมน์ Take Me Out อีกคนละ 1 บทความ

บทความด้านบนเป็นเพียง 1 ใน 5 บทความของแคมเปญ Happy City เท่านั้น เราหวังว่าคุณจะติดตามอ่านจนครบ 5 จังหวัดด้วยความเพลิดเพลิน 

ถ้าอ่านแล้วอยากลุกขึ้นมาร่วมสร้างเมืองน่าอยู่อีกแรง พวกเราและเหล่านักเขียนพิเศษก็จะดีใจที่สุด!

Writer

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

เป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวและนักพิสูจน์อักษรมานานเกือบ 30 ปี และยังรักจะทำอาชีพนี้ สลับกับการวิ่งเล่น เดินเล่น ตะลอน ๆ ในย่านเก่า ตามประสาฟรีแลนซ์วัยอิสระ