มีใครบ้างจะละสายตาจากอาคารไม้ 3 ชั้นรูปลักษณ์ครึ่งวงกลมทรงหกเหลี่ยมสวยคลาสสิกตรงหัวมุมถนนทหารและถนนศรีสะเกษ 2 ในย่านเก่าวารินชำราบได้โดยไม่แม้แต่เหลือบตามอง

นี่คืออาคารเก่าแก่ที่ยืนหยัดมายาวนานนับแต่ พ.ศ. 2482 หลังจากทางรถไฟสายอีสานสร้างต่อเนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา มาสิ้นสุดที่ ‘สถานีวารินทร์’ (ชื่อเดิมเมื่อแรกตั้งสถานีรถไฟ) ในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ราว 9 ปี

ไม่เพียงสวยสะดุดตาด้วยแนวระเบียงไม้และชายคาเรียงคลุมบนชั้น 2 และชั้น 3 ที่ได้รับการปรับปรุงโดยยังคงโครงสร้างดั้งเดิม บอกได้เต็มปากเต็มคำว่าคลาสสิกสมกาลเวลา อาคารหลังนี้ยังเป็นอาคารไม้ 3 ชั้นหลังแรกของอุบลราชธานีที่ผ่านกาลจากยุคสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพามาถึงวันนี้ในบทบาทที่แตกต่าง – โกดัง โรงแรม ร้านค้า สับเปลี่ยนจากความครึกครื้น ร่วงโรย ร้างไร้ แล้วกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในนาม ‘เวฬาวาริน’

เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก

จากโกดังสินค้าสู่โรงแรมเพื่อรอเดินทาง

การเกิดขึ้นของอาคารไม้สูงที่สุดของอุบลราชธานีใน พ.ศ. 2482 มีที่มาจาก ฮกต๋าย-วิชิต โกศัลวิตร พ่อค้าชาวจีนที่ตั้งหลักแหล่งเพื่อค้าขาย โดยเลือกทำเลใกล้แม่น้ำมูลและสถานีรถไฟวารินทร์เป็นพื้นที่รับส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ – อุบลราชธานี ก่อนกระจายสินค้าไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน รวมถึงข้ามพรมแดนสู่ลาว เขาออกแบบอาคารไม้ สถาปัตยกรรมผสมผสานจีน-ไทย โดยมีช่องรับลมเรียงรายตลอดทั้งอาคารในรูปแบบระเบียงไม้ฉลุลายและช่องลมในอาคาร กล่าวได้ว่าเป็นอาคารสวยเด่นที่ลมเย็นทุกฤดูกาล

ต่อมา วิชิตขายอาคารนี้ให้เพื่อนสนิท คือ ไพบูลย์ สินบุญญานนท์ ทำเป็นโรงแรมรองรับผู้ที่เดินทางโดยรถไฟ ซึ่งต้องมาพักค้างคืนก่อนขึ้นรถไฟในตอนเช้า เป็นที่รู้จักในนาม ‘โรงแรมสากล’

เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก

โรงแรมขนาดใหญ่ของวารินชำราบในเวลานั้น มีห้องพัก 21 ห้อง ห้องน้ำรวม ซึ่งตอบโจทย์ผู้คนที่รอการเดินทางในวันรุ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี นอกจากโรงแรมสากลแล้ว ยังมีอีก 3 – 4 โรงแรมในย่านถนนทหาร รวมทั้งมีโรงหนังและตลาดอยู่ใกล้ ๆ บ่งบอกถึงความเฟื่องฟูของเมืองวารินชำราบได้ชัดเจน

โรงแรมสากลรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 30 ปี จนกระทั่งเจ้าของเสียชีวิต ที่พักของคนเดินทาง ณ หัวมุมถนนทหารจึงปิดตัวลง เพราะไม่มีคนในครอบครัวรับช่วงธุรกิจ ก่อนกลายเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร ร้านขายของ ซึ่งมาเช่าทำกิจการภายในอาคารไม้เก่าแก่ที่เสื่อมโทรมลงตามกาล และต่อมาอาคารไม้ 3 ชั้นหลังแรกของอุบลราชธานีก็โดดเดี่ยวร้างไร้ผู้คนด้วยสภาพทรุดโทรมเหมือนคนป่วยร่อแร่รอวันจากไป

เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก
เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก

ชายผู้ชุบชีวิต ให้เวลาเพื่อเวฬาฯ

เด็กชายบี เคยวิ่งเล่นอยู่ในละแวกถนนทหารในช่วงวัยก่อน 5 ขวบ แม้ครอบครัวจะปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เขาก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนวารินฯ มีคุณตาคุณยายเป็นเจ้าของโรงแรมสากล และมีคุณแม่ซึ่งผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิด ตั้งใจจะกลับมาทำโรงแรมเล็ก ๆ เมื่อเกษียณแล้ว

ทว่าคุณแม่เสียชีวิตก่อนเกษียณเพียงปีเดียว และส่งมอบมรดกคืออาคารไม้อันเป็นความฝันในการกลับบ้านไว้ให้ บี-อภิวัชร์ ศุภากร

เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก

“ตอนนั้นผมยังเป็นสจ๊วตการบินไทย” เจ้าของเวฬาวารินย้อนเรื่องราวขณะที่แสงแดดอบอุ่นส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาในห้องอาหารเล็กแต่เนี้ยบ ให้บรรยากาศเหมือนนั่งฟังเพื่อนเล่าเรื่อง

“ผมได้โรงแรมนี้มา ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอะไรดี จนไปเจอหนังสือ เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล ที่ อาจารย์วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้เขียน ก็เริ่มเห็นทางไปต่อของโรงแรมแห่งนี้”

การไปต่อคือลงคอร์สเรียนเรื่องการปรับปรุงอาคารเก่ากับอาจารย์วรพันธุ์ เพื่อต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่านั้นคือผู้เขียนหนังสือที่จุดประกายในการชุบชีวิตอาคารเก่าแก่มาเป็นโรงแรม กลายมาเป็นสถาปนิก ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างโรงแรม ปรับสภาพอาคารทรุดโทรมผุพังเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลงเหลือเพียงโครงสร้างหลัก ๆ ให้กลับมาโดดเด่นมีชีวิตชีวาในย่านเมืองเก่าวารินชำราบอีกครั้ง

“ด้านในอาคารผุพังเกือบหมด เหลือเสาที่ยังอยู่ดี ตอนปรับปรุงอาคาร เราต้องลงเสาเข็มเสริมความแข็งแรง ซึ่งวางเสาคู่ไปกับเสาไม้เดิม”

แสงนวลตาในห้องอาหารส่องสว่างพอให้เราเห็นเสาใหม่-เก่ายืนต้นเคียงคู่สูงสู่ชั้น 3 

“ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับกับการปรับปรุงอาคารหลังนี้” บีเล่าต่อด้วยรอยยิ้มละไม 

“เพราะเราต้องการเก็บโครงสร้างเก่าไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องการเสริมความแข็งแรงให้อาคารอายุเกือบ 100 ปีด้วย นอกจากนี้เรายังเพิ่มความสูงให้แต่ละชั้นอีกต่างหาก”

เหตุนี้เองที่ทำให้เวฬาวารินมีเอกลักษณ์สุด ๆ ตรงที่ระดับพื้นเก่าและใหม่เหลื่อมหลั่นกัน

“ตรงระเบียงคือระดับพื้นเดิม ส่วนพื้นห้องคือระดับใหม่ มองจากในห้องออกไปที่ระเบียงจะเห็นชัดว่าพื้นห้องสูงกว่าระเบียง เหมือนเป็นทวิภพที่เหลื่อมซ้อนอยู่ในมิติเวลาเดียวกัน

“เราใช้เวลาปรับปรุงอาคารราว ๆ 2 ปีครับ พอปรับปรุงเสร็จก็เจอสถานการณ์โควิด-19 พอดี”

นั่นเองที่ทำให้เวลากับเวฬาฯ ต้องยืดขยายออกไปอีก หลังจากที่อาคารไม้โบราณหลังนี้ทรุดโทรมผ่านมานานราว 30 ปี

น้อยแต่มาก จากบ้านเพื่อมาอยู่บ้าน

เมื่อโควิด-19 ราแรงลง เวฬาวารินก็พร้อมเปิดรับนักเดินทางด้วยห้องพัก 11 ห้องที่ไม่มีห้องใดเหมือนกันเลย เห็นชัด ๆ กันตั้งแต่ประตูไม้ของแต่ละห้อง มีทั้งห้องประตูสูงผอม ห้องประตูร่องลายสวย ฯลฯ เคียงข้างป้ายไม้บอกเลขห้องที่ดูแล้วนึกถึงเวลาบนหน้าปัดนาฬิกา มี 3 ช่วงเวลา คือ 1, 2 และ 3 ตามแต่ละชั้น ส่วนหมายเลขห้องนั้นเป็นเลขนาที เช่น ห้อง 1:01 ห้อง 2:02 เป็นต้น

ในอาคารไม้ 3 ชั้นมีห้องพัก 6 ห้อง เรือน 2 ชั้นเคียงข้างกันมี 5 ห้อง รวมแล้ว 11 ห้อง กำลังดี เลือกพักได้ตามสไตล์การเดินทาง ถ้ามาเป็นครอบครัว มีเด็กเล็กวัยซน ห้องที่มีเตียง 2 ชั้นอยู่ข้างเตียงใหญ่ พักได้ 4 คน คือห้องที่ถูกเลือกเสมอ สำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงวัยหรือผู้ใช้วีลแชร์ ห้องพักชั้น 1 ในอาคาร 2 ชั้นนั้นถือว่าเหมาะสมและดีงาม มีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำเพื่อความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้สูงวัยด้วย

เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก
เวฬาวาริน โรงแรมน่ารักย่านวารินชำราบ อุบลราชธานี ที่คืนชีพอาคารไม้ร้อยปียุคสงครามโลก

ความอบอุ่นของห้องพักชั้น 1 ในอาคาร 2 ชั้น คือเมื่อก้าวพ้นประตูห้องจะพบสนามหญ้าเล็ก ๆ ให้อารมณ์ของการอยู่บ้านเป็นที่สุด และเมื่อยืนอยู่บนผืนหญ้านุ่มนี้ในยามค่ำคืน มองขึ้นฟ้าจะเห็นจันทร์ เห็นดาว ตามกาลของการหมุนของดวงจันทร์

สำหรับห้องพักในอาคารไม้ 3 ชั้น อันเป็นที่มาของการปรับปรุงพื้นที่อย่างยาก เพราะต้องการรักษาโครงสร้างเดิม มีเสน่ห์ตั้งแต่บันไดที่บางขั้นมีระดับไม่เท่ากับขั้นส่วนใหญ่ นับว่าเป็นขั้นฝึกสติได้อย่างดี ช่องแสงมากมายในอาคารนี้ยังทำให้ได้รับแสงธรรมชาติตั้งแต่เช้าจรดเย็นในระดับความนุ่มเข้มแตกต่างตามเวลา

อีกเสน่ห์หนึ่งที่เหมือนอยู่บ้าน คือเสียงเดินขึ้นลงบันได เสมือนเป็นการบอกให้รู้ว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ยังมีเพื่อนร่วมเรือนที่ใช้ชีวิตนอกบ้านตัวเอง แต่เหมือนอยู่บ้าน ในช่วงเวลาเดียวกัน ณ เวฬาวาริน

เวฬาฯ นี้มีอะไรอีก 

  • อาหารเช้าอร่อยมาก มีให้เลือก 4 เมนู คือกวยจั๊บญวน ไข่กระทะ ข้าวต้ม และ ABF ทั้ง 4 เมนูเสิร์ฟพร้อมกาแฟหรือชา และเซตปาท่องโก๋ (ขอบอกว่าอร่อยจัด ห้ามพลาดเชียว)
  • เรารักห้องน้ำกว้างสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งเจ้าของโรงแรมใจดี เพิ่มฝักบัวอาบน้ำสำหรับผู้ที่เช็กเอาต์แล้ว แต่รอเวลาเดินทางกลับหลังเวลาเช็กเอาต์ด้วย
  • ช่องแสง ระแนงไม้ รับแดด รับลม จากเช้าจรดเย็นอย่างละมุนละไม
  • กิจกรรมหลากหลายในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ตักบาตรหน้าโรงแรมในวันสำคัญทางศาสนา ส่วนกิจกรรมล่าสุด วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม คือบริการให้คำปรึกษาผ่านไพ่ทาโรต์ วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม คือบริการผู้ช่วยวางแผนสุขภาพล่วงหน้า ทั้งหมดนี้คือฟรี
  • เจ้าของโรงแรมและพนักงานใจดี ชี้พิกัดดีงามให้เราตามรอย เช่น แนะนำร้านในละแวกบ้าน อย่างร้านส้มตำน้ำโจ้กที่เคยเช่าพื้นที่ชั้นล่างทำกิจการ ตอนนี้ย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ส้มตำยังแซ่บ และอาหารอื่น ๆ ก็อร่อย หรือร้านชำเล็ก ๆ ที่มีคุณยายวัย 80+ มานั่งขายของแก้เหงาทุกวัน คุณยายความจำดี เล่าเรื่องเก่า ๆ ได้อย่างสนุก หรือร้านภันเต ถัดจากร้านของชำของคุณยาย มีของสะสมเก่า ๆ น่าชม ขนมก็อร่อยด้วย ฯลฯ
  • สบตาบาริสต้าของเวฬาบาร์ คาเฟ่ แล้วออร์เดอร์ เวฬาเดอร์ตี เวฬาแพสชัน หรือโคซีเลอบาร์ เมนูเด็ดของที่นี่ ให้บาริสต้ามือดีอันดับต้น ๆ ของอุบลฯ คนนี้แสดงฝีมือให้เราอร่อยไปเลย ที่สำคัญคืออย่าไปหลัง 5 โมงเย็น เพราะคาเฟปิดแล้วน่ะสิ

3 Things

you should do

at เวฬาวาริน

01

ตื่นเช้าไปเที่ยวดูผักดูปลาในตลาดสดเทศบาลเมืองวารินชำราบ ห่างไปราว 500 เมตร สีสันอยู่ที่ย่านแบกะดิน มีสารพันผักและปลาพื้นเมือง ส่วนในอาคารมีกวยจั๊บญวน ปากหม้อญวน ให้นั่งกินแบบ Chef’s Table เผชิญหน้ากับพ่อค้าแม่ค้า

02

ออกไปเดินเล่นหรือวิ่งในสวนสาธารณะทุ่งคำน้ำแซบ อยู่ห่างแค่ 200 เมตร เส้นทางรอบสวนประมาณ 600 เมตร ทุกเช้าและเย็นในสวนนี้คึกคักด้วยผู้คน เช้าวันเสาร์-อาทิตย์มีรถคลาสสิกจอดขายกาแฟบดสดข้างสวนด้วย

03

ข้ามถนนสายเล็กไปอิ่มอร่อยในร้านฝั่งตรงข้ามเวฬาวาริน มีให้เลือก 2 สไตล์ ได้แก่ ‘ส้มตำน้ำโจ้ก’ แซ่บหลาย และ ‘ภันเต’ ร้านกาแฟและขนมปังในตึกเก่าของโรงเรียนโบราณ ที่ร้านมีของสะสมที่คนวัย 40+ เห็นแล้วจะอดนึกถึงวัยเยาว์ไม่ได้จริง ๆ

เวฬาวาริน

Writer

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์

เป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวและนักพิสูจน์อักษรมานานเกือบ 30 ปี และยังรักจะทำอาชีพนี้ สลับกับการวิ่งเล่น เดินเล่น ตะลอน ๆ ในย่านเก่า ตามประสาฟรีแลนซ์วัยอิสระ