เราเห็น ‘บ้านสุขอรุณ’ ครั้งแรก ทางเพจของผู้ออกแบบ Chan Studio Architects ของ ชาย-ศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และ แอน-อรพิมพ์ ตันติพัฒน์

แม้จะมีแค่รูปเดียว แต่ภาพของเงาต้นไม้ที่พาดบนกำแพงและเลยไปถึงในบ้านที่มีคอร์ตตรงกลางก็ทำให้ติดอกติดใจอย่างบอกไม่ถูก

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปจนได้คุยกับสถาปนิกอย่างชาย ก็พบว่าเจ้าของบ้านสวย ๆ หลังนี้คือ โจ้-ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ เพื่อนร่วมรุ่นที่จุฬาฯ ของชาย โจ้เรียนออกแบบอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ แถมยังใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่เกาหลีใต้ น้านนานทีถึงจะกลับมา เพราะภรรยาชาวเกาหลีกลับไปเปิดคาเฟ่ที่บ้านเกิด

ถึงตรงนี้แล้วอาจสงสัยว่า เราจะมาฟังเรื่องราวของบ้านที่เจ้าของไม่ (ค่อย) ได้อยู่ทำไม

แต่ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้คือหลักคิดที่ไม่เหมือนใครของโจ้

แม้จะเป็นคนที่สนใจการจัดฟังก์ชันบ้านให้ลงตัวมาก ๆ แต่เขารู้ตัวอยู่แล้วว่าตัวเองเป็นคนอยู่ไม่ติดที่ ไม่ยึดติด และเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เสมอ เขาจึงตั้งใจออกแบบบ้านให้ยืดหยุ่นกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งยังตั้งใจทำให้บ้านหลังนี้ เป็น ‘บ้านกลาง’ ของครอบครัว ทั้งในแง่กายภาพที่ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพี่สาวทั้ง 2 คน และในแง่การเป็นศูนย์รวมจิตใจของญาติพี่น้อง

แม้สถานการณ์ชีวิตในตอนนี้จะทำให้ตัวเขาไม่ได้อยู่ไทยเป็นหลัก แต่บ้านก็ทำหน้าที่เชื่อมครอบครัวไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์

บางทีบ้านอาจไม่ได้สร้างมาเพื่อตอบโจทย์เจ้าของบ้านอย่างเดียวก็ได้

เมื่อบ้านคือพื้นที่ของทุกคน

พี่เคยอยู่ที่ไหนมาบ้าง – เราเริ่มบทสนทนา

“เมื่อก่อนอยู่บ้านตึกแถวย่านเสาชิงช้า แล้วก็ได้ไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก กลับมาจากนิวยอร์กก็มาอยู่คอนโด จริง ๆ ไปอยู่วัดมา 2 ปีด้วย” เขาไล่ประวัติการอยู่อาศัยของตัวเอง “แต่จังหวะ 2 – 3 ปีมานี้จะอยู่เกาหลีเป็นหลัก”

ที่สะดุดหูที่สุดก็เป็นพาร์ตอยู่วัดนี่แหละ โจ้บอกว่าตัวเองไม่ใช่คนเคร่งศาสนา แต่ชอบศาสนาพุทธในเชิงปรัชญาและการปฏิบัติมาก ๆ หลังจากเรียนจบจากสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ใหม่ ๆ แล้วพบว่าโลกไม่มีอะไรน่าสนใจ ก็ตัดสินใจไปบวชอยู่ 2 ปี นานจนคนเริ่มสงสัยว่าเขาจะไม่สึก

แต่ถึงจะไปอยู่มาหลายที่ บ้านสุขอรุณนี้ก็เป็นหนึ่งในบ้านที่สำคัญที่สุดของชีวิตเขา เพราะเป็นพื้นที่ของครอบครัว พ่อแม่พี่น้องที่เมืองไทย

ที่ดินกว้าง 15 เมตร ยาว 60 เมตรนี้ แม่ของโจ้ซื้อไว้นานมากแล้ว ซื้อไว้เฉย ๆ อาจเรียกว่าซื้อไว้เก็งกำไรก็ยังได้ ไม่เคยคิดว่าจะเตรียมไว้ให้ลูก ๆ อยู่กันพร้อมหน้าแต่อย่างใด แต่ด้วยลักษณะที่ดินที่ลงล็อกพอดีก็ทำให้พ่อแม่ ครอบครัวลูกชาย และครอบครัวลูกสาว 2 คน ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันได้

หากยังอยู่ที่เสาชิงช้าก็คงไม่มีโอกาสนี้ เพราะตึกแถวตรงนั้นเล็กเกินไปสำหรับทุกคน

ที่ดินยาว ๆ ผืนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ปลายทั้ง 2 ด้านกลายเป็นบ้านของลูกสาว 2 คน ส่วนตรงกลางเป็นของน้องชายคนเล็กอย่างโจ้

“จริง ๆ เราก็ไม่ค่อยได้คุยกับใครหรอก แต่เราอาจมีบุคลิกที่เชื่อมคนไว้ด้วยกันได้ เราอยู่ตรงกลางดีแล้ว” เขาอธิบายด้วยท่าทีสบาย ๆ “แล้วพี่สาว 2 คนก็ไม่ได้จบออกแบบ เขาไม่ได้ซีเรียสเรื่องความสวยงามเท่าเรา บ้านเราอยู่ตรงกลางก็ทำให้ทั้ง 2 ฝั่งมีวิวได้”

และเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่ามาก็กลายเป็นคอนเซปต์ในการออกแบบบ้านสุขอรุณ ซึ่งพอรวมกับภาพบ้านในหัวที่มีธรรมชาติรายล้อม โจ้ก็นึกถึงสไตล์ของสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งในตอนนั้น ชาย เพื่อนร่วมรุ่นของเขายังทำงานที่นั่นอยู่ แล้วเขาก็ได้ชายมาช่วยออกแบบบ้านให้เขาสมใจ แม้ว่าสุดท้ายบ้านนี้จะไม่ใช่บ้านที่เขาได้ใช้ชีวิตในทุกวันก็ตาม

“เรารู้อยู่แล้วตอนทำว่าเราเป็นคนแบบนี้ ค่อนข้างจะเป็น Global Citizen” เขาบอก “ถ้าให้เราไปอยู่นิวยอร์กตอนนี้เราก็ไปได้ ไม่ได้ติดอะไร เราชอบ เราหาทางที่เป็นตัวเองได้ เรามาอยู่เกาหลีเราก็ชอบ แต่เราจะไม่ชอบถ้าจะบอกให้เราอยู่ที่นี่ตลอดไป ห้ามไปไหน

“เพราะฉะนั้นบ้านนั้นเลยเป็นบ้านที่ตั้งใจออกแบบให้ยืดหยุ่น ถึงสุดท้ายแล้วจะสร้างขึ้นมาแล้วไม่ได้อยู่เอง แต่มันก็มีประโยชน์ของมันและมีคนใช้ตลอดเวลา”

เมื่อบ้านคือความชอบ

“สิ่งสำคัญอย่างแรกคือเราต้องการให้บ้านเป็นพื้นที่ที่คนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันได้

“ไฮไลต์ของบ้านนี้คือการกิน พี่โตมากับอาหารของอาโกวเลย แกชอบทำอาหาร เราก็ชอบกินมาตั้งแต่เด็ก” โจ้ยิ้มกว้าง “พี่ว่าคนไทยที่โตแล้ว ถ้าไม่มีเรื่องกินก็เอามาอยู่ด้วยกันยาก นึกภาพดูมันจะมีอะไรอีก บอร์ดเกมก็เล่นไม่ได้ทุกวัย ก็ต้องกินนี่แหละ”

สำหรับครัว ที่นี่ก็ไม่ได้ทำครัวให้เท่ราวกับหลุดออกมาจากแมกาซีน กลับกันคือเขาและสถาปนิกพยายามออกแบบ Circulation ให้คนทำกับข้าวและคนล้างจานยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่นั่งคุยกันอยู่ ไม่ถูกตัดออกจากบทสนทนา ซึ่งความสำเร็จคือหลาน 2 คนมาบอกเขาว่า บ้านอากู๋ล้างจานสบายจัง

 นอกจากเรื่องอาหารการกิน โจ้ก็ตั้งใจให้ที่นี่เป็นที่นั่งคุยกัน แม้ว่าผู้สูงอายุจะชอบดูทีวีมาก ๆ แต่เขาก็ไม่ซื้อทีวีมาไว้ในบ้านกลางหลังนี้ แม่ของโจ้ผู้ยังทำงานอยู่ก็ชอบชวนเพื่อน ๆ มาประชุมที่โต๊ะอาหาร หรือบางทีก็มีหลาน ๆ ลูกพี่สาวมานั่งเล่นกัน 

โจ้ชอบคิดว่าที่นี่เป็น ‘ส่วนกลางคอนโด’ เพราะศูนย์รวมกิจกรรมของทั้ง 3 ครอบครัวอยู่ที่บ้านหลังนี้ 

“พอเราคิดว่ามันเป็นพื้นที่สาธารณะ เราก็ลงทุนเลย ทำน้ำตก ทำบ่อปลา ปลูกต้นไม้ เอาให้เต็มที่! ผู้ใหญ่เขาไม่รู้หรอกว่าสเปซที่ดีเป็นยังไง แต่เราก็ทำให้เห็น เขาก็บอกว่าบ้านนี้มันโล่งดีเนอะ อยู่สบายดีจัง”

และเมื่อเป็นบ้านที่มีผู้ใหญ่ สถาปนิกก็ช่วยออกแบบให้เป็น Universal Design มีทางลาดและห้องน้ำที่ประตูใหญ่ เหมาะสมกับการใช้งานวีลแชร์

จุดเด่นอีกอย่างของบ้านนี้คือคอร์ตตรงกลาง ด้วยความที่ที่ดินค่อนข้างแคบ โจ้ซึ่งชอบบ้านเก่าที่มีคอร์ตในหลาย ๆ ประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็สร้างคอร์ตไว้ที่บ้านสุขอรุณบ้าง เพื่อให้บ้านมีวิว มีแสง มีลมผ่าน

“ผมชอบปลูกต้นไม้มาก เอาเป็นว่าไม่ต้องปลูกบ้าน แล้วปลูกต้นไม้อย่างเดียวก็ได้”

ในคอร์ตนี้มี ‘ต้นสาละ’ ต้นไม้ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา ย้อนเวลากลับไปหลายปีที่แล้วตอนที่พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นเพียงที่ดินเปล่า ๆ ของคุณแม่ โจ้ซึ่งกำลังบวชเรียนอยู่ก็ไปซื้อต้นกล้าสาละมาปลูกด้วยตัวเองเป็นสิบต้น น่าเสียดายที่ตอนนี้ต้นสาละเหลืออยู่ต้นเดียวแล้ว

“การปลูกต้นไม้เป็นการลงทุนที่ขาดทุนยาก” โจ้เล่าพลางหัวเราะ “เราใช้ชีวิตไปเป็นปี ๆ มันก็โตของมันตลอดเวลา ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของเราดี เราเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่งและชอบพัฒนาตลอด พอเราเห็นต้นไม้ก็รู้สึกว่ามันเป็นพลังให้กับเรา”

ซึ่งระหว่างที่ครอบครัวนั่งเล่นหรือทานอาหารร่วมกันก็ทอดสายตามาชมต้นไม้ที่คอร์ตตรงกลางได้ สบายตาสบายใจไปตาม ๆ กัน

ในห้องทำงานที่เราเห็น จริง ๆ แล้วไม่ใช่ห้องทำงาน แต่ออกแบบให้เป็นห้องพระและห้องที่ภรรยาของโจ้เข้าไปเต้นบัลเลต์ได้ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นห้องทำงานที่มีโปสเตอร์แขวนไว้ ด้วยความที่จบด้านออกแบบมา โจ้จึงชอบความงามของกราฟิก และซื้อไว้เป็นที่ระลึกจากการไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด

นอกจากนี้ ห้องนี้ยังมีบานเปิดด้านหน้า มองเห็นสวนดาดฟ้า โจ้วางแผนไว้ว่าแก่ตัวไปจะชวนเพื่อน ๆ มานั่งจิบเบียร์กันชิลล์ ๆ (ถ้าไม่ร้อนตายไปเสียก่อน)

ส่วนห้องทำงานหลักเป็นห้องหนังสือ โจ้ชอบอ่านหนังสือ รวมถึงเคยแปลหนังสือเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้อยู่ 2 เล่มด้วยกัน คือ ปาจิงโกะ ที่กลายเป็นซีรีส์ใน Apple TV และ Korea: The Impossible Country ซึ่งพูดถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลี

“เป็นคนชอบทำงานมาก เราสนุกกับงาน” โจ้เผยความชอบอีกอย่าง “ทำคาเฟ่ของเมียที่เกาหลีก็สนุกกับงานมาก เรายืนล้างจานอยู่ชั่วโมงหนึ่งก็พยายามออกแบบระบบให้มันเวิร์ก

“พอสะท้อนมาที่บ้าน เราก็มองว่าจริง ๆ เราไม่ได้ต้องการอะไรจากบ้านมากเท่าไหร่ ไม่ต้องการให้สวยหรือหรูหรา เราต้องการให้มันเบสิกที่สุด ที่เหลือก็ให้เป็นเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ เรื่องของธรรมชาติ พี่เป็นคนไม่ค่อยมีสัมภาระ มีเครื่องเคราอะไรมาก อาจจะเป็นเพราะเราชอบบรรยากาศตอนไปบวชรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ

“เราไม่ชอบอะไรยุ่งยาก การออกแบบที่ไม่ได้ฟังก์ชันก็ทำให้ความยุ่งยากเกิดขึ้นแล้ว ประตูที่เปิดเข้าแทนที่จะเปิดออกก็ทำให้เราเสียสมาธิได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่มันตรงฟังก์ชันก็ทำให้เราโฟกัสกับวันนั้นได้ดีขึ้น”

จะเรียกว่าเป็นบ้านของคนขี้รำคาญได้มั้ยนะ

เมื่อบ้านคืออิสระในใจ

“สถาปนิกเขาจะมีสไตล์ในการคิดที่ Outside In (จากนอกสู่ใน) กว่าพี่ที่เรียน ID (Industrial Design)

“เขาจะต้องทำให้มั่นใจก่อนว่ารูปทรงของอาคารมันได้ แต่พอลงไปละเอียดกว่านั้นจะเป็นงานที่เราสนใจมากกว่า อย่างเช่น เราจะจัดการห้องยังไงให้มีประสิทธิภาพ”

เจ้าของบ้านตอบคำถามที่ว่า การสร้างบ้านสุขอรุณมีความท้าทายยังไงบ้าง ซึ่งการจัดการนั้นก็รวมไปถึงระบบในห้องซักล้างด้วย ถึงจะดูเป็นเรื่องเทคนิคมาก ๆ แต่เห็นได้ชัดว่าเขาสนุกที่จะได้ออกแบบ

“บ้านที่ออกแบบง่าย ๆ แล้วจบเร็ว ๆ มันเหมือนกับคนที่ไม่ได้มีอะไรในใจมาก แต่ถ้ามีอะไรในใจ เราต้องก้าวข้ามความยุ่งยากในการคุยกันนิดหนึ่ง อย่างของพี่ก็ใช้เวลานานพอสมควร เพราะคิดว่าคนเราต้องเจริญเติบโต เราจะสร้างบ้านยังไงให้รองรับได้

“สุดท้ายแล้ว คุณต้องลองอยู่ก่อนแล้วใส่ไอเดียเข้าไปเพิ่ม ตอนนั้นแหละมันถึงจะเป็นบ้านจริง ๆ สถาปนิกเขาคิดให้ได้ระดับหนึ่ง แต่คนที่อยู่ตรงนั้นต้องไปต่อเอง ซึ่งพี่ก็คิดว่าพี่ทำต่อพอสมควรเลย”

โจ้บอกว่า ถึงตอนนี้แล้วเขาชอบทุก ๆ ส่วนของบ้าน ตั้งแต่ประตู ที่จอดรถ กำแพงบ้านที่มีต้นไม้เลื้อยจนเขียว บ่อน้ำ ที่นั่งริมบ่อน้ำ ห้องนอน ห้องน้ำ บันไดที่แสงพาดผ่าน แม้แต่ห้องที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์ เพราะทำให้เขาจินตนาการไปถึงอนาคตเจ๋ง ๆ ของห้องนั้น

มากไปกว่านั้น คนชอบฟังก์ชันอย่างโจ้ก็ชอบ ‘ห้องเก็บของ’ ที่ภายนอกดูสวยงาม แต่ภายในเก็บของได้เยอะมาก ๆ เขาเชื่อว่าบ้านไหนมีห้องเก็บของที่ดี บ้านนั้นจะเรียบร้อย

และที่สำคัญที่สุดคือการปฏิสัมพันธ์ นอกจากคนกับต้นไม้แล้วก็เป็นสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน โจ้ชอบที่บ้านหลังนี้ที่ทำให้ครอบครัวมองเห็นกันและกันได้เยอะ โดยไม่ได้บังคับให้เห็น ถ้าอยากเห็นเมื่อไหร่ก็ชะโงกไปสบตากันได้ง่าย ๆ “จากที่เราต้องการให้ครอบครัวมาคอนเนกต์ได้ในตอนแรก ก็ประสบความสำเร็จแล้ว” เขาว่าอย่างนั้น

พี่รู้สึกยังไงที่ได้กลับมาใช้เวลาในบ้านหลังนี้บ้าง – เราถาม กลับมาคราวนี้เขาก็ได้กินข้าวฝีมืออาโกวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวอีกตามเคย

“รู้สึกเป็นบ้าน” เขาตอบ “ฟังดูเหมือนเป็นคำประหลาด แต่บางคนรู้สึกว่าบ้านตัวเองไม่ใช่บ้านนะ

“มันเป็นที่ที่เรากลับมาแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ทางของเรา ไม่ต้องเซอร์ไพรส์เยอะ ถ้าอยู่ที่ไหนแล้วเราต้องพยายามเป็นคนอื่น นั่นก็ไม่ใช่บ้านแล้ว”

Global Citizen อย่างโจ้บอกว่า เขาอาจมีหลายที่ในโลกที่รู้สึกเหมือนว่าเป็น ‘บ้าน’ แต่ที่นี่ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่เขาออกแบบมาให้รู้สึกแบบนั้น แล้วก็ออกมาอย่างที่ตั้งใจจริง ๆ 

“ถ้าเป็นคนที่ต้องอยู่หลาย ๆ ที่แบบนี้ ไม่ค่อยดีถ้าเราต้องกลับไปบ้านหลังใดหลังหนึ่งแล้วถึงจะรู้สึกสงบปลอดภัย มันอาจทำให้ไม่มีความสุขได้ สำหรับพี่คืออยู่ที่ไหนก็ต้องมีสักที่ที่ทำให้รู้สึกแบบนั้นได้

“แนะนำว่าทำที่ที่เรานอนให้เป็นบ้าน ถ้าเรามีสภาวะจิตใจที่สบาย ไร้กังวล เราจะมีความคิดสร้างสรรค์และทำงานได้เต็มที่”

และนั่นคือความหมายของบ้านในมุมมองของโจ้

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน