เวลามีคนถามถึงพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้น่าจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ชื่อพระธาตุสำคัญประจำจังหวัดหรือพระธาตุประจำเมือง น่าจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่ขึ้นมาในหัวของแต่ละคนแน่ ๆ ยิ่งถ้าเราเจาะจงภาคหรือจังหวัดลงไป คำตอบก็จะยิ่งแคบ อย่างเช่นถ้าพูดถึงทางใต้ หลายคนก็น่าจะถึงพระธาตุเมืองนครขึ้นมาก่อน แต่ถ้าพูดถึงภาคอีสาน ผมเชื่อว่าชื่อของพระธาตุพนมน่าจะอยู่ในใจหลายคนแน่ ๆ ครับ
พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งโขง
‘พระธาตุพนม’ เป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่บน ‘ภูกำพร้า’ เนินเตี้ย ๆ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม โดยที่มาของชื่อพระธาตุยังคงเป็นปริศนาว่า ‘พนม’ มาจากอะไร เคยมีคนสันนิษฐานว่า พนม อาจเพี้ยนมาจากคำว่า ‘ฟูนัน’ รัฐโบราณขนาดใหญ่ริมแม่น้ำโขงก็ได้ แต่ก็ยังเป็นแค่การคาดเดานะ ยังไม่ใช่ข้อสรุป
ส่วนประวัติของพระธาตุพนมองค์นี้พบอยู่ใน ‘ตำนานอุรังคธาตุ’ ซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช กษัตริย์องค์สำคัญของล้านช้าง ซึ่งเล่าถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมายังภูกำพร้าและมีพุทธทำนายว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะถูกบรรจุที่นี่พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าในอดีตที่บรรจุอยู่ก่อนแล้ว แล้วสุดท้าย หลังจากที่พระศาสดาปรินิพพาน พระมหากัสสปะก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนไหปลาร้า (อุรังคธาตุ) มายังภูกำพร้าจริง ๆ ในคราวนั้น พระยาทั้ง 5 จากแคว้นรอบ ๆ เสด็จมาและร่วมกับสร้าง ‘อูบมุง’ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมสิ่งของมีค่ามากมาย ดังนั้น ผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงจึงเชื่อกันว่าพระธาตุพนมแห่งนี้มีอายุเก่ากว่าตามตำนานอุรังคธาตุนั้น
นอกจากเป็นพระธาตุสำคัญของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงแล้ว พระธาตุพนมยังมีสถานะพิเศษอีกอย่าง นั่นก็คือ เป็นพระธาตุประจำปีวอก หรือที่ภาษาเหนือออกเสียงว่า ‘ปีสัน’ และเป็นพระธาตุเพียงองค์เดียวในภาคอีสานที่อยู่ในกลุ่มพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ แต่การที่พระธาตุพนมถูกเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคตินี้ อาจเป็นเพราะความสำคัญของพระธาตุองค์นี้ที่มากกว่าพระธาตุองค์อื่น ๆ ในกลุ่มวัฒนธรรมลาว-ล้านช้าง ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับล้านนา รวมถึงอยู่ในเครือข่ายวัฒนธรรมเดียวกันด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็น 1 ใน 8 จอมเจดีย์แห่งสยามประเทศที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คัดเลือกและนำมาเขียนลงบนฝาผนังของพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรฯ ร่วมกับเจดีย์สำคัญอีก 7 องค์ โดยคำอธิบายที่อยู่ใต้ภาพพระธาตุพนมนั้นระบุว่า “พระธาตุพนมที่เมืองนครพนม เก่าก่อนพระเจดีย์องค์อื่นหมดในแว่นแคว้นอีสาน” แสดงให้เห็นในมุมมองหรือความรู้เท่าที่มีในเวลานั้นว่า พระธาตุพนมคือเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน
ต่อเติม พังทลาย แล้วสร้างขึ้นใหม่
แน่นอนว่าสิ่งก่อสร้างที่เด่นที่สุดภายในวัดพระธาตุพนม ก็คือองค์พระธาตุพนมนั่นแหละครับ แต่ทราบกันรึเปล่าครับว่า พระธาตุพนมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่องค์ดั้งเดิม แต่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ 48 ปีก่อนหลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันที่พระธาตุพนมองค์นี้พังถล่มลงมา ชนิดที่ว่าอิฐแตกละเอียดเป็นผง ส่วนยอดหักลงมาเป็นท่อน ๆ แถมชิ้นส่วนของพระธาตุยังสร้างความเสียหายให้กับทุกอย่างที่อยู่โดยรอบ ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระธาตุพนมพังลงมาเกิดจากฝนที่ตกลงมาติดต่อกันหลายวัน แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจสำคัญมากกว่าก็คือ การต่อเติมพระธาตุพนมให้สูงขึ้นซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483
พ.ศ. 2483 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อตอบสนองการเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยในคราวสงครามอินโดจีน จึงเกิดการก่อเสริมพระธาตุพนมให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อให้มองเห็นองค์พระธาตุได้จากสองฝั่งแม่น้ำโขง ช่วยกระตุ้นความรู้สึกร่วมทางวัฒนธรรมของผู้คนทั้งสองฝั่ง โดยได้มีการก่อเสริมบริเวณยอดทรงบัวเหลี่ยมขององค์พระธาตุพนมให้สูงขึ้นทับลงบนยอดพระธาตุเดิม องค์พระธาตุจึงดูชะลูดมากยิ่งขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนลวดลายจากลายดอกไม้เป็นลายพรรณพฤกษา ซึ่งการก่อสร้างก็เป็นไปอย่างราบรื่น
พระธาตุพนมองค์ใหม่ที่มาพร้อมความสูง 57.5 เมตรโดดเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้จากระยะไกล โดยไม่มีใครรู้เลยว่าการก่อเสริมพระธาตุด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กลงบนฐานก่ออิฐแบบโบราณนั้น ทำให้ส่วนเรือนธาตุด้านล่างต้องรับภาระจากน้ำหนักของส่วนยอดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนในที่สุดก็พังลงมาอย่างไม่มีชิ้นดี
หลังจากพระธาตุพนมถล่มลงมาไม่นานก็มีการสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้นมาใหม่ โดยยึดรูปแบบที่ก่อเสริมใน พ.ศ. 2483 เป็นหลัก พระธาตุพนมองค์ใหม่นี้สร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด แต่เสริมรากฐานให้แข็งแรงขึ้นด้วยเสาเข็มมาถึง 45 ต้น พร้อมกับนำเอาชิ้นส่วนอิฐที่แตกหักกลับมาประกอบใหม่ในตำแหน่งเดิมเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับนำเอาพระบรมสารีริกธาตุที่พบหลังจากองค์พระธาตุพังทลายกลับไปบรรจุ ณ ที่เดิม ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในผอบทองคำเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522
จากปราสาทจามสู่พระธาตุล้านช้าง
สิ่งที่พระธาตุพนมองค์นี้แตกต่างจากพระธาตุเจดีย์หลาย ๆ องค์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยก็คือ พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นบนรากฐานของปราสาทในศิลปะจามปา เพราะถ้าสังเกตดี ๆ บริเวณเรือนธาตุหรือในตำนานอุรังคธาตุ เรียกว่า ‘อูบมุง’ มีลักษณะเป็นห้องทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ที่เสาติดผนังที่มุมทั้งสี่มีงานแกะสลักอิฐเป็นลวดลายพรรณพฤกษา และรูปบุคคลกำลังขี่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า พร้อมอาวุธในมือ ซึ่งภาพเหล่านี้เชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่า เป็นภาพของท้าวพระยาทั้ง 5 ที่สร้างอูบมุงนี้ขึ้นมา แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม การประดับตกแต่งลวดลายบนเสาที่มุมแบบนี้ไปคล้ายกับเรือนธาตุของปราสาทในศิลปะจามแบบฮัวล่ายที่พบในเวียดนามช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 15
สิ่งนี้กำลังบอกเราว่า พระธาตุพนมองค์นี้สร้างขึ้นโดยการดัดแปลงปราสาทในศิลปะจามให้กลายเป็นพระธาตุเจดีย์ ซึ่งในประเทศไทยมีพระธาตุเจดีย์อีกองค์หนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกัน นั่นก็คือพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร สร้างขึ้นโดยดัดแปลงปราสาทขอมให้กลายเป็นเจดีย์ รวมถึงยังพบในประเทศลาวที่พระธาตุอิงฮัง เมืองสะหวันนะเขต ด้วยเช่นกัน
แล้วการดัดแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ล่ะ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2233 – 2234 ภายใต้การนำของ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ หลวงพ่อขี้หอม พระสงฆ์องค์สำคัญที่ชาวบ้านริมฝั่งโขงนับถือเป็นอย่างมาก ในคราวนั้น มีการต่อเติมส่วนยอดที่ควรจะเป็นเรือนชั้นซ้อนแบบปราสาทแบบจามให้กลายเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยมป้อมเตี้ยตามแบบแผนที่นิยมในยุคนั้น พร้อมกันนั้นยังผนึกห้องเรือนธาตุให้ทึบตัน เพื่อช่วยในการรับน้ำหนักของยอดทรงบัวเหลี่ยมที่สร้างเสริมเพิ่มเข้าไป ก่อนถูกเสริมอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2483 นั่นแหละครับ
และจะว่าเป็นโชคดีในโชคร้ายก็คงได้ เพราะการพังทลายของพระธาตุพนมในครั้งนั้นเผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่สอดคล้องกับเนื้อความในตำนานอุรังคธาตุ เพราะมีการพบกล่องสำริดขนาดใหญ่หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ผอูบ’ อยู่ภายในเรือนธาตุของพระธาตุพนม รวมไปถึงยังได้พบชิ้นส่วนยอดบัวเหลี่ยมที่ทำจากสำริด ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนยอดดั้งเดิมในสมัยของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ยังไม่รวมบรรดาพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่พบร่วมกันอีกนะครับ กลายเป็นว่าการพังทลายของพระธาตุพนมในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดคุณูปการต่อวงการวิชาการอย่างมหาศาล และศิลปวัตถุทั้งหมดนี้ ปัจจุบันเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุพนมครับ
ต้นแบบเจดีย์ของชาวลาว
และด้วยความสำคัญของพระธาตุพนมที่มีต่อผู้คนสองฝั่งโขงนี้เอง ส่งผลให้เกิดความพยายามในการจำลองแบบของพระธาตุพนมไปสร้างไว้ตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดในบริเวณใกล้เคียง เช่น พระธาตุเรณู พระธาตุท่าอุเทน หรือแม้แต่พื้นที่ที่ไกลออกไป เช่น วัดพระพุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี ซึ่งนอกจากช่วยเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสถานที่เหล่านั้นแล้ว ยังเป็นการระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุอีกด้วย
และไม่ใช่แค่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น เพราะที่วัดประเสริฐสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า กรุงเทพมหานคร ก็เคยปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่าที่แสดงให้เห็นถึงพระธาตุเจดีย์องค์หนึ่งที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนก็เป็นพระธาตุพนมแน่ ๆ
แม้แต่ในยุคปัจจุบัน เราก็ยังเห็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่หลายองค์ที่มีต้นแบบมาจากพระธาตุพนม บ้างเป็นเจดีย์ภายในวัด บ้างเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระภิกษุสำคัญ หรือแม้แต่ชาวบ้านที่เป็นชาวลาวหรือชาวไทยอีสานที่เลือกบรรจุอัฐิของคนตายไว้ในพระธาตุพนมจำลองขนาดเล็กด้วยเช่นกัน ยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความสำคัญของพระธาตุพนมองค์นี้ก็ไม่เคยลดน้อยถอยลงไปเลย ดังจะเห็นได้จากงานนมัสการพระธาตุพนมที่เป็นหนึ่งในงานประเพณีสำคัญของภาคอีสานเลยทีเดียว