ถ้าผมพูดถึงวันรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกท่านจะนึกถึงอะไรบ้างครับ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พานรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะราษฎร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2475 หรืออาจจะมีคำอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย เกริ่นมาขนาดนี้คงรู้แล้วใช่ไหมครับว่าบทความวันนี้จะต้องเกี่ยวกับวันรัฐธรรมนูญแน่นอน วันนี้ผมจะพาไปชมศิลปกรรมในวัดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญครับ สิ่งนั้นก็คือ ‘พานรัฐธรรมนูญ’ นั่นเอง

แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับพานรัฐธรรมนูญกันดีกว่า

พานรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเสมอภาคและระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดของ นายจำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ที่เสนอให้อัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่ง 

จึงมีการสร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น 70 ชุด โดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยประสานกับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในเรื่องการออกแบบ จนได้มาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทองวางบนพาน 2 ชั้น เป็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดความเป็นของบูชา เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะพาน 2 ชั้นนี้มีชื่อเรียกว่า พานแว่นฟ้า ซึ่งปกติจะใช้รองรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นต้น

และพานรัฐธรรมนูญก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เป็นที่นิยมที่สุดแบบหนึ่ง พบทั้งในอนุสาวรีย์ ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหรียญ สลากลอตเตอรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ หรือแม้แต่ในวัดก็ตามที และไม่ใช่เจอแค่ในภาคกลางนะครับ เราสามารถพบรูปพานรัฐธรรมนูญในทุกภาคของประเทศไทย แถมมีอยู่ในหลายจุดของวัดซะด้วย ทั้งหน้าบัน เพดาน ธรรมาสน์ และงานประดับตกแต่งอื่นๆ ก็มีรูปพานรัฐธรรมนูญตกแต่งอยู่เช่นเดียวกัน ไม่เชื่อใช่ไหมครับ งั้นเราไปชมกันเลยดีกว่า

เริ่มจากในภาคกลางก่อน ไม่สิ เริ่มจาก กทม. ก่อนเลยดีกว่า ผมขอแนะนำให้รู้จักกับวัดตลิ่งชันครับผม คนส่วนใหญ่รู้จักวัดแห่งนี้ผ่านตลาดน้ำตลิ่งชัน เพราะตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดนี้ แต่ที่วัดตลิ่งชันแห่งนี้มีรูปพานรัฐธรรมนูญอยู่บนหน้าบันเก่าของศาลาการเปรียญของวัด ที่ต้องใช้คำว่า ‘หน้าบันเก่า’ ก็เพราะว่าปัจจุบันหน้าบันนี้ไม่ได้ถูกใช้งานแล้วและถูกวางเอาไว้ 

หน้าบันรูปพานรัฐธรรมนูญนี้มีอยู่ 2 ชิ้น ซึ่งทั้งสองชิ้นมีจุดร่วมที่เหมือนกัน นั่นก็คือตรงกลางจะมีรูปเทวดาแบบไทยท่าทางกำยำแข็งแรงทูนพานรัฐธรรมนูญขึ้นเหนือหัว โดยบนสมุดไทยเขียนว่า “พ.ศ. ๘๔” ซึ่งหมายความว่า หน้าบันนี้น่าจะทำเสร็จใน พ.ศ. 2484 นั่นเองครับ แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ หน้าบันชิ้นหนึ่งมีพื้นหลังเป็นลายก้านขดซึ่งทำจากคอนกรีตแบบเดียวกับตัวเทวดาเลยครับ 

พานรัฐธรรมนูญ วัดตลิ่งชัน

ทว่าอีกชิ้นหนึ่งกลับมีพื้นหลังเป็นลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งหน้าบันชิ้นหลังนี้แหละที่ถือเป็นชิ้นสำคัญ เพราะรูปเทวดาทูนพานรัฐธรรมนูญนั้นดูแปลกแยกจากพื้นหลังอย่างชัดเจน เหมือนกับเอามาแปะไว้ทีหลัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หน้าบันชิ้นนี้เป็นหน้าบันดั้งเดิมของศาลาการเปรียญหลังนี้ที่น่าจะสร้างขึ้นมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของหน้าบันในสมัยหลัง ที่อาจเกิดจากไอเดียของเจ้าอาวาสในสมัยนั้นเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยนั่นเองครับ

พานรัฐธรรมนูญ วัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี

คราวนี้ย้ายไปที่จังหวัดลพบุรีกันบ้าง ลายพานรัฐธรรมนูญของวัดนี้อยู่บนพนักพิงธรรมาสน์ของวัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี แต่ธรรมาสน์นี้ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วนะครับ เขาจัดแสดงธรรมาสน์องค์นี้เอาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด พนักพิงธรรมาสน์นี้เป็นไม้แกะสลักทรงใบเสมา ภายในแกะสลักเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญมีประกายแสง 7 แฉกอยู่ข้างหลัง พร้อมข้อความจารึกระบุว่า “สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ซ่อมปิดทอง พ.ศ. ๒๔๘๒” โดยช่างที่เป็นคนทำธรรมาสน์นี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นช่างจีน เพราะบนธรรมาสน์มีทั้งลายดอกโบตั๋น ซึ่งผมเพิ่งพูดถึงไปเมื่อไม่นานมานี้ว่านิยมอยู่ในศิลปะจีน รวมถึงลายมังกรด้วยครับ

พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย
พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย

เพชรบุรีเองก็มีเหมือนกันนะครับ อยู่ที่หน้าบันของวิหารวัดรัตนตรัย วัดเล็กๆ ที่อยู่บริเวณตีนเขาวัง โดยหน้าบันนี้ทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญที่มีแสงส่องออกมา โดยมีเครื่องหมายอุณาโลมอยู่ด้านบน และบนคัมภีร์มีการระบุปีที่สร้างเอาไว้ด้วยครับ นั่นก็คือ พ.ศ. 2482 นั่นเองครับ

พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย

เราข้ามฟากไปทางเหนือกันต่อครับ โดยจะขอเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อนเลย โดยอยู่ที่ ‘หน้าแหนบ’ หรือหน้าบันของวิหารวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ หรือวัดอุโมงค์อารยมณฑล วัดเก่าแก่ที่อยู่ในเขตเวียงเชียงใหม่ครับ ซึ่งวิหารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 แต่หน้าแหนบนี้น่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยหลังแล้ว เพราะนอกจากรูปพานรัฐธรรมนูญที่ส่องแสงล้อมรอบด้วยรูปเทวดา ยังมีจารึกภาษาไทยและภาษาจีนว่า “พ.ศ. 2486 นายฮะเสง นางคำปัน โต๋วถ่ายลัง” ซึ่งแสดงว่าผู้อุปถัมภ์การบูรณะหน้าแหนบนี้ในปีดังกล่าวมีทั้งชาวเชียงใหม่และชาวจีนเลยครับ

พานรัฐธรรมนูญ วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ หรือวัดอุโมงค์อารยมณฑล เชียงใหม่

เราข้ามมาที่จังหวัดลำปางกันบ้างกับวัดดังอีกแห่งของเมืองลำปางอย่างวัดปงสนุกเหนือ วัดที่ได้รับรางวัล Award of Merit จาก UNESCO เมื่อ พ.ศ. 2551 โดยสัญลักษณ์รูปพานรัฐธรรมนูญนี้ปรากฏอยู่บนภาพเขียนกรอบกระจกซึ่งประดับอยู่บนคอสองของวิหารพระเจ้าพันองค์ วิหารที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 24 โดยทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญสีเหลือง มีรูปอุณาโลมอยู่ด้านบนและมีรูปวงกลมสีเหลืองอยู่ด้านหลัง พร้อมกับพื้นหลังสีน้ำเงินและมีคำจารึกว่า “พ.ศ. ๘๒” ซึ่งหมายถึง พ.ศ. 2482 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีการบูรณะวิหารหลังนี้และทำสัญลักษณ์นี้ขึ้นนั่นเอง

พานรัฐธรรมนูญ วัดลำปาง วัดปงสนุกเหนือ วัดที่ได้รับรางวัล Award of Merit จาก UNESCO เมื่อ พ.ศ. 2551

ไม่หมดเท่านั้น ในจังหวัดลำปางยังพบรูปพานรัฐธรรมนูญนี้ได้ที่วัดเชียงราย วัดที่สร้างโดยครอบครัวที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงรายมาอยู่ที่จังหวัดลำปางด้วยครับ โดยอยู่บนลายคำของพระอุโบสถของวัดซึ่งทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญที่มีคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เขียนอยู่บนสมุดไทย พร้อมจารึกสำคัญที่ระบุข้อความว่า “พระอุโบสถนี้สร้างคราวเปลี่ยนการปกครองสยาม ๒๔๗๕” ซึ่งเป็นการบอกอย่างชัดเจนถึงช่วงเวลา และระบุถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศในเวลานั้นอีกด้วย

พานรัฐธรรมนูญ พระอุโบสถนี้สร้างคราวเปลี่ยนการปกครองสยาม ๒๔๗๕
ภาพ : ชาญคณิต อาวรณ์

ข้ามไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานกันบ้างครับ เริ่มกันด้วย ‘สีหน้า’ หนือหน้าบันของสิม วัดโพธิ์ชัยนางัว จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสิมญวนที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2487 โดยทำเป็นรูปเทวดาเหาะ 2 องค์กำลังถือดอกไม้และร่วมกันถือพานรัฐธรรมนูญซึ่งมีการเขียนว่า ‘ธรรมนูญ’ อยู่บนสมุดไทย เป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งนี้คือพานรัฐธรรมนูญจริงๆ ไม่ใช่พานพระรัตนตรัยแต่อย่างใด

พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย
ภาพ : www.silpa-mag.com

นอกจากบนสีหน้าแล้ว บนเพดานของสิมก็มีเหมือนกัน เช่นที่วัดท่าคก จังหวัดเลย ซึ่งสิมหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2395 ก่อนได้รับการบูรณะในระหว่าง พ.ศ. 2500 – 2508 ปรากฏหลักฐานเป็นจารึกของวัดเองที่กล่าวถึงชื่อผู้บูรณะ ช่วงเวลาที่ทำการบูรณะ ค่าใช้จ่ายในการบูรณะ และความปรารถนาของผู้บูรณะที่ขอให้เป็นปัจจัยสู่พระนิพพาน ซึ่งลายเพดานของวัดนี้ทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญสีเหลืองบนพื้นสีฟ้า ล้อมรอบด้วยลายกนกและดอกไม้กลม โดยอยู่คู่กับเพดานรูปธรรมจักร

พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย
ภาพ : isan.tiewrussia.com

นอกจากหลักฐานงานสถาปัตยกรรมและงานประดับตกแต่งอาคารแล้ว เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่ในผ้าห่อคัมภีร์ก็มีเหมือนกันนะครับ มีหลักฐานอยู่ที่วัดยอดลำธาร จังหวัดสกลนคร ซึ่งผ้านี้ทอเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญพร้อมกับรูปธงไตรรงค์ 5 แถบ และข้อความว่า “๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญของไทย” เห็นไหมครับว่า แม้แต่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในวัดอย่างผ้าห่อคัมภีร์ยังมีการทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญเลยครับผม

พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย
ภาพ : ปกรณ์ ปุกหุต

มาปิดท้ายกันที่ภาคใต้ครับ ขอแนะนำให้รู้จักกับวัดท่านางหอม วัดเล็กๆ ในจังหวัดสงขลา ซึ่งแม้จะเป็นวัดเล็กๆ แต่ก็ยังมีพานรัฐธรรมนูญประดับอยู่บนหน้าบันของศาลาวัดครับ เป็นงานปูนปั้นฝีมือช่างท้องถิ่นทำเป็นรูปเทวดาเทินพานรัฐธรรมนูญ ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาคล้ายกับของวัดตลิ่งชันเลยครับ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือหน้าบันด้านหลังครับ เพราะทำเป็นรูปชาวบ้านกำลังทำงาน พร้อมจารึกระบุว่า “๒๔๘๐ ปีฉลู” ซึ่งรูปชาวบ้านกำลังทำงานก็สอดรับกับแนวคิดประชาธิปไตยที่เป็นแนวคิดใหม่นี้พอดี

พานรัฐธรรมนูญ วัดท่านางหอม สงขลา
ภาพ : twitter.com/arch_kidyang/status
พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย
ภาพ : twitter.com/arch_kidyang/status

นอกเหนือจากที่ผมนำมาให้ชมแล้ว ยังมีอีกหลายวัด หรือแม้แต่ที่ว่าการอำเภอบางแห่งก็ยังปรากฏสัญลักษณ์นี้กระจายตัวอยู่ทั่วเลยครับ ดังนั้น เราจะเห็นว่าในช่วงเวลาที่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้นและยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ เพื่อให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วกัน รัฐบาลในเวลานั้นจึงต้องกระจายความคิดและความเชื่อนี้ออกไปให้ได้กว้างขวางที่สุด ผ่านสิ่งที่มีรูปลักษณ์ จับต้องได้ พานรัฐธรรมนูญจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการนี้ และเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็น ได้รับรู้หรือเข้าถึงสิ่งนี้ การนำเอาลวดลายนี้ไปประดับในวัดก็ถือเป็นไอเดียที่ดีทีเดียวเลยครับ

อนึ่ง ระวังอย่าสับสนระหว่างรูปพานรัฐธรรมนูญและพานพระไตรปิฎกนะครับ เพราะรูปร่างหน้าตาคล้ายกันมากจนชวนสับสนแบบสุดๆ ไปเลยเหมือนกัน ซึ่งพบได้ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ที่แม้จะหน้าตาคล้ายกับพานรัฐธรรมนูญ แต่ดูแล้วน่าจะเป็นรูปพานพระไตรปิฎกมากกว่า ซึ่งหน้าบันในลักษณะนี้ของประเทศกัมพูชาพบมาในช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 5 หรือ 6 ของไทย เช่น หน้าบันวัดก็อนดึง (วัดระฆัง) จังหวัดพระตะบองครับผม

พานรัฐธรรมนูญ & วัด หลักฐานแลนดิ้งแรกของรัฐธรรมนูญจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นในวัดทั่วไทย
ภาพ : Sirang Leng

เกร็ดแถมท้าย

  1. ใครอยากอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องพานรัฐธรรมนูญในวัดไทย มีบทความหลายชิ้นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น พานรัฐธรรมนูญ : การช่วงชิงอำนาจหลังปฏิวัติบนสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ในศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกับประติมานวิทยาทางการเมืองไทยในเขตวัฒนธรรมล้านนา พ.ศ. 2475 – 2490 ของชาญคณิต อาวรณ์ หรือ พุทธศิลป์อีสานกับนัยอุดมการณ์ สังคมการเมืองและรัฐชาติ ของติ๊ก แสนบุญ 
  2. แต่ถ้าใครสนใจงานศิลปกรรมโดยคณะราษฎร อ่านได้ในบทความเรื่องวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน ที่ผมเคยไว้ก่อนหน้านี้ หรือจะเป็นหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ของชาตรี ประกิตนนทการ ก็ได้เหมือนกันครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ