25 สิงหาคม 2022
27 K

ออกตัวไม่แรง แต่เราคือคนหนึ่งที่คิดว่า ชีวิตนี้อย่างไรก็อยากไปเยือนคำชะโนดให้คลายสงสัยสักครั้ง

คำถามก่อนออกเดินทางช่วงประมาณตี 4 นั้นมีมากมาย

‘เมื่อก้าวผ่านสะพานเชื่อมสองโลกที่ต่ออย่างไรก็ไม่ติด เราจะสัมผัสถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปไหม’

‘ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปกราบไหว้พญานาคเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวหรือเปล่า’

และ ‘สถานที่ที่หลอมรวมผู้คนทั้งท้องถิ่นและต่างถิ่น แต่มาด้วยศรัทธาเดียวกัน จะแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร’

เราเดินทาง 590 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร สู่บ้านหนองแข้ใต้ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อพักผ่อน 1 คืน ก่อนขับรถต่อไปอีกเกือบ 300 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง มุ่งสู่ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ปลายทางที่ถูกจารึกด้วยหลากหลายนาม ทั้งวังนาคินทร์ วังคำชะโนด ป่าคำชะโนด เมืองบังบด เมืองบาดาล ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และพรหมประกายโลก แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้จักและจดจำดินแดนลี้ลับแห่งนี้ได้คงหนีไม่พ้นเรื่องจากปากของชาวคณะแจ่มจันทร์ ภาพยนตร์ที่พวกเขาถูก ‘ผีจ้างหนัง’ เมื่อ พ.ศ. 2532

01 
ผีจ้างหนัง

จงเก็บของออกไปก่อนฟ้าสาง

บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย
บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย

เรื่องราวของผีจ้างหนังและวังคำชะโนดของพญาศรีสุทโธนาคราช เกิดขึ้นบนพื้นที่บริเวณเดียวกันซึ่งเรียกว่า ‘พรหมประกายโลก’

ตามความเชื่อที่เล่าต่อกันมา พรหมประกายโลกคือสถานที่ที่พรหม-เทวดา ลงมากินง้วนดินจนติดใจและไม่อาจกลับขึ้นสวรรค์ได้อีก ในอัคคัญญสูตร พระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเล่าว่า ง้วนดินมีรสชาติหวานฉ่ำ แต่เมื่อลิ้มลองแล้วจะทำให้รัศมีของเหล่าพรหมหายไปจนไม่อาจเป็นแสงให้โลกใบนี้ได้อีก 

ผลลัพธ์ของการกินง้วนดินยังทำให้พรหมบางพวกมีผิวพรรณผุดผ่อง ขณะที่บางพวกผิวพรรณเลวลง เกิดเป็นการทะเลาะกันครั้งแรก ทำให้พรหมขยับห่างจากความชอบธรรม หันกายเข้าชิดกิเลสมากขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นมนุษย์เดินดินธรรมดา

สำหรับผู้ศรัทธาพญานาค โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขง และผู้ที่ผูกพันกับตำนานพญานาคมาแต่โบราณอย่างชาวอีสาน ทางขึ้น-ลงระหว่าง 2 โลก คือโลกมนุษย์และโลกบาดาล มีทั้งหมด 3 แห่งบนโลก 

หนึ่ง คือ พระธาตุหลวงแห่งเวียงจันทน์ 

สอง คือ หนองคันแท พระธาตุดำ ซึ่งตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเช่นกัน 

สาม คือ พรหมประกายโลก มีพญาศรีสุทโธนาคราชมาตั้งบ้านเมืองจนกลายเป็นเมืองพญานาค

ก่อนจะเดินผ่านซุ้มประตูขนาดใหญ่ประดับด้วยงานประติมากรรมพญานาค 7 เศียร 2 ตน เราเดินสำรวจบรรยากาศร้านค้าที่มาเปิดร้านขายเครื่องสักการะบูชาอยู่รอบนอก นอกจากงานมือฝีมือชั้นยอดอย่างบายศรีใบตองหลากหลายขนาดและราคา ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพัน พญานาคเศียรเดียวจนถึง 9 เศียร ยังมีหมากพลู พวงมาลัย ควบคู่กับสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับผู้แสวงหาโชคลาภพร้อมสรรพ

“หนูลองเดินไปด้านขวานะ น่าจะมีคนมาทำพิธีบวงสรวง นางรำกำลังไปรำถวายที่ศาลเก่า รู้จักไหม ผีจ้างหนัง” แม่ค้าคนหนึ่งกระตุกต่อมความอยากรู้ของคนต่างถิ่น 

เราเดินเลาะตามทางดินเปียกแฉะลงไปยังสะพานไม้ ออกสู่บึงอุบลกลางน้ำ

บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย

เบื้องหน้าคือวิวป่าคำชะโนดความคมชัด 4K ความลึกลับ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้นชะโนดอันมีลักษณะเหมือนต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาลรวมกันสูงเด่นเป็นสง่าราว 20 – 30 เมตร เมื่อเดินตามทางไปเรื่อยพบกับศาลไม้เก่าที่มีรูปปั้นตายายคู่หนึ่งตั้งอยู่ด้านในพร้อมป้ายเขียนว่า ‘ศาลพ่อปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีปทุมมา’ ส่วนรูปปั้นด้านล่างและเครื่องบูชาที่อยู่รายล้อม คือสัญลักษณ์แห่งศรัทธาที่ผู้คนนำมามอบให้

“ขอโทษนะคะ ตรงนี้หรือเปล่าที่เกิดเหตุการณ์ผีจ้างหนัง” เราสุ่มถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง

“ตรงนี้เป็นศาลเก่าครับ ชาวบ้านแต่เดิมมีความเชื่อเรื่องพญานาคมาก่อน จึงตั้งศาลบูชาพ่อปู่และแม่ย่าขึ้น แล้วค่อยย้ายเข้าไปด้านใน ส่วนผีจ้างหนังก็เกิดในนั้น” เขาชี้ไปยังพงไพรสีเขียวเข้มทะมึนที่อยู่ห่างออกไป

บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2532 นายธงชัย แสงชัย เจ้าของแจ่มจันทร์ภาพยนตร์ ได้รับการว่าจ้างจาก นายจำปา คำแก้ว ให้ไปฉายภาพยนตร์ในราคา 4,000 บาท โดยมัดจำเอาไว้ก่อน 500 บาท เมื่อลูกน้องเดินทางไปถึงมีคนมารอรับเพื่อนำทางต่อไปอีก แต่จุดหมายที่ไปถึงกลับมีแต่ความเงียบงัน ไร้ซึ่งความครื้นเครงตามสไตล์หนังกลางแปลง

หนังเรื่องแรกเริ่มฉายเวลา 21.00 น. ระหว่างนั้นพนักงาน 7 คนสังเกตว่า บริเวณที่นั่งคนดูมีกลุ่มผู้ชายใส่เสื้อสีดำคอจีน และกลุ่มหญิงสาวนุ่งขาวห่มขาวนั่งชมภาพยนตร์อยู่คนละฝั่งอย่างเป็นระเบียบ 

วันนั้นมีฉายหนังทั้งหมด 4 เรื่อง คือ บ้านผีปอบ, ศาลปืน, ทองภาค 3 และ หนังฝรั่งอีก 1 เรื่อง หนังทั้งหมดผู้ว่าจ้างเป็นผู้เลือกเอง แต่น่าแปลกใจที่เมื่อหนังตลกอย่าง บ้านผีปอบ เริ่มฉาย กลับไม่มีเสียงหัวเราะเล็ดลอดออกมาแม้แต่น้อย ทุกคนนั่งดูด้วยความสงบโดยไม่ลุกไปไหน

เวลาผ่านไปจนถึงตี 4 ชายคนหนึ่งเดินมาเคาะประตูข้างรถเพื่อจ่ายเงินที่เหลืออีก 3,500 บาท โดยเงินที่จ่ายเป็นเงินจริงทุกบาททุกสตางค์ เมื่อรับเงินมา อีกฝั่งได้บอกกับพนักงานว่า 

“ให้รีบออกไปจากที่นี่ก่อนฟ้าสว่าง มิเช่นนั้นจะออกยาก” 

คณะแจ่มจันทร์ภาพยนตร์หยุดฉายหนังและเปิดไฟ แต่เบื้องหน้าที่เคยมีผู้คนมากมายกลับเหลือเพียงความว่างเปล่า

บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย

จากคำชะโนดขับรถออกมาถึงบ้านวังทอง ชาวบ้านต่างประหลาดใจที่เห็นคณะเดินทางมาแต่เช้าตรู่ เมื่อทราบความจริงว่า พวกเขาเข้าไปฉายหนังในป่า ชาวบ้านต่างก็อุทานว่า 

“เข้าไปตรงนั้นได้อย่างไร นั่นมันดงผี ดงชะโนด!”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับแจ่มจันทร์ภาพยนตร์กล่าวตามความเชื่อได้ว่า ‘ถูกผีบังบด’ ชาวบ้านหลายคนตามหาที่มาของเสียงภาพยนตร์ในคืนนั้น เพราะอยากไปนั่งชมด้วย แต่ก็ไม่อาจหาเจอ เนื่องจากพญานาคมีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลและเนรมิตสรรพสิ่งได้ดั่งใจ พวกเขาจึงบังบดชาวคณะเอาไว้

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าวันที่ 29 มกราคม ถือเป็นวันปีใหม่ของเมืองบาดาล ชาวคำชะโนดจึงยืมร่างของนายจำปา คำแก้ว ไปว่าจ้างแจ่มจันทร์ภาพยนตร์มาฉายหนังเพื่อเฉลิมฉลอง เช่นเดียวกับที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เหล่าพญานาคแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมาร่วมงานบุญผะเหวด หรือ บุญมหาชาติ ของชาวอีสาน

เรายืนชมพิธีบวงสรวงพ่อปู่ศรีสุทโธและแม่ย่าศรีปทุมมาอยู่สักพัก ก่อนจะเก็บภาพด้วยกล้องฟิล์มตัวโปรด Pentax Zoom 280-P กับฟิล์ม Tudorcolor XLX 200 ที่หมดอายุไปแล้ว

สองขาเริ่มก้าวออกจากศาลเก่า สองมือวุ่นวายกับการหาบัตรประชาชนเพื่อแลกบัตรเข้าคำชะโนด แต่หูเจ้ากรรมก็ถูกสกัดไว้ด้วยประโยคภาษาอีสานที่ฟังไม่ถนัดนัก

“ได้เลขโตได๋น้อ ท่าเบิ่งนำอยู่เด้” เราหันไปหาต้นเสียง เขาถามว่า ได้เลขตัวไหน รอตามด้วยอยู่นะ เราได้แต่หัวเราะ เพราะในใจก็อยากมีโชคมีลาภเช่นกัน แต่มันไม่มีนี่สิ

บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย

ศาลพ่อปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีปทุมมา (ดั้งเดิม)

เปิดให้สักการะและบวงสรวงทุกวัน เวลา 08.00 – 16.30 น.

พิกัด : goo.gl/maps/TYYaQB3FPW9L1sq29 

02
วังนาคินทร์คำชะโนด

สะพานเชื่อมสองโลก

“ป้าเข้าไปไหว้ทุกเช้าเลย ชาวบ้านเขาก็เข้าไปไหว้กันเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่จะเข้าไปก่อนที่นักท่องเที่ยวจะมา” แม่ค้าผู้แสวงหานักเสี่ยงโชคคุยกับเราหลังจากที่เดินกลับมา

เธอเองเป็นชาวอุดรโดยกำเนิด ไม่ต่างจากเจ้าของร้านถัด ๆ ไปที่เป็นคนในชุมชน ความเจริญที่นำพามาโดยความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่แม่ย่า ทำให้เธอเลี้ยงดูปากท้องของตนเองและครอบครัวได้จนถึงวัยเกือบ 60 เช่นเดียวกับชาวต่างถิ่นหลายคนที่ตั้งใจย้ายฐานที่มั่นมาเปิดร้านในสถานที่เดียวกัน เพราะพ่อปู่แม่ย่ามอบความสำเร็จให้สมดั่งใจ

บันทึกชีวิตและวิถีแห่งศรัทธา 'คำชะโนด' วังพญานาค อุดรธานี พรหมประกายโลกที่เดียวในไทย

“ที่นี่มีคนจากหลายถิ่น คนกรุงเทพฯ ทิ้งชีวิตในเมืองมาทำมาค้าขายก็มี คนต่างจังหวัด จากเหนือ จากใต้ กลาง อีสาน มากันหมด อยู่ที่ว่าใครขอแล้วได้ เขาก็มากัน”

หลังจากบอกลาคุณป้า เราเดินผ่านลานจอดรถที่เต็มไปด้วยป้ายทะเบียนหลากจังหวัด แม้กระทั่งหลากภาษา บางคันข้ามฝั่งโขงที่ไม่ใกล้ไม่ไกลมา บางคันมาจากใต้สุดหรือเหนือสุดของขวานทอง แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างอายุ ต่างถิ่นอาศัย ต่างศาสนา แต่คำชะโนดหลอมรวมพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวด้วยศรัทธาในพญานาค

เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิเสร็จก็เดินไปตามทาง ยื่นบัตรประชาชนพร้อมรับบัตรคิว สำหรับเด็กที่ไม่พกบัตรประชาชนมาก็เข้าได้ แต่หากพกไปด้วยจะดีกว่า

ด้วยความที่เราออกเดินทางตั้งแต่ตี 4 ขับผ่านแม่น้ำชีตอนตี 5 ไปถึงคำชะโนดประมาณ 9 โมง จึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก สิ่งที่มาก่อนเราคือฝน เนื่องจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้านในห้ามสวมรองเท้า ทุกคนจึงต้องจอดรองเท้าไว้ด้านนอกให้เป็นระเบียบ ถุงเท้าเราเริ่มเปียกเพราะพื้นหญ้าเทียมที่อิ่มน้ำฝน

บริเวณหน้าทางเข้าวังนาคินทร์คำชะโนดเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่ผู้ศรัทธาจะมายืนถ่ายภาพ พร้อมเครื่องสักการะที่จับจองไว้ตั้งแต่ด้านนอกหรือเพิ่งมาซื้อด้านใน

ด้วยการแต่งกายและดวงตาที่มองทุกอย่างด้วยความสนใจ คงทำให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาเยือนเป็นครั้งแรก

“เดินตรงข้ามสะพานไปเลย อย่าลืมก้มดูทางเชื่อมที่เชื่อมยังไงก็ไม่ติดด้วยนะ” เจ้าหน้าที่ยิ้มให้

หากเป็นช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้มาเยือนจะใช้มือลูบตัวพญานาคเพื่อสิริมงคลระหว่างเดินเข้า ส่วนเราก็แอบแตะเบา ๆ เพราะอดใจให้สัมผัสไม่ได้

“หากเดินข้ามตรงนี้ไป เราจะออกจากเมืองพญานาคกลับสู่โลกมนุษย์” ชายที่เดินสวนเรามาอีกฝั่งพูดให้ลูกหลานของเขาได้ยิน พื้นสะพานที่เดินมาตลอดทางเป็นพื้นทรายล้าง-กรวดล้างสีน้ำตาล ทางที่ทอดยาวต่อไปก็เป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่ขั้นอยู่ตรงหน้าคือแผ่นไม้และรอยร้าวที่ลำตัวพญานาคสองฝั่ง

แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'

“ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็เชื่อมสะพานไม่ติด แม้กระทั่งลำตัวพญานาคก็มีรอยปูนแตก สร้างอะไรก็มีแต่รอยร้าว ถ้าข้ามรอยต่อตรงนี้ไปจะเป็นพรหมประกายโลก ตอนนี้เรายังอยู่แดนมนุษย์” ชาวบ้านคนหนึ่งที่เดินนำอยู่ด้านหน้าเล่าให้เราฟัง

หลังก้าวขาข้ามมา เราไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อเดินลึกเข้าไป อุณหภูมิทุกอย่างเริ่มเย็นลงจนรู้สึกสบาย แดดร้อนถูกบดบังโดยต้นชะโนดสูงชะลูด ประกอบกับบึงน้ำที่อยู่โดยรอบทำให้อุณหภูมิภายในเย็นตลอดปี

จากป้ายข้อมูลป่าบรรพกาล ต้นชะโนดบนเกาะแห่งนี้มีจำนวน 1,869 ต้น สลับด้วยนานาพันธุ์ไม้ทั้งต้นหว้า มะเดื่อใหญ่ ประดงแดง แสมแดง ตับเต่า สมอพิเภก พญาสัตบรรณ แสงน้ำ ยางใหญ่ ไทรหิน พร้อมไม้ล้มลุก ไม้เถาอีกกว่าร้อยชนิด รวมแล้วมากกว่า 4,000 ต้น

ในทางวิทยาศาสตร์ พื้นดินที่เราเหยียบอยู่เกิดจากการสะสมของซากพืช ต้นไม้ที่ขึ้น ณ ที่แห่งนี้มีรากแผ่กระจายไปรอบข้างเพื่อพยุงลำต้น โดยทำให้ความดันของต้นไม้และภายนอกเกิดความสมดุล เมื่อต้นไม้ใต้พื้นสานทอต่อกันจึงกลายเป็นพื้นดินที่ยกตัวขึ้นลงได้ตามระดับน้ำ นั่นอาจเป็นที่มาของสะพานที่เชื่อมไม่ติด

“เขาว่าต้นชะโนดมีอายุเป็นพันปี สังเกตดี ๆ เหมือนมีเกล็ดที่ต้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบริวารของพ่อปู่ศรีสุทโธ น้องลองเอาผ้าปิดปากลงสักครู่สิ” 

เราถอดหน้ากากอนามัยลงเพื่อสูดลมหายใจให้เต็มปอด แต่ก็ต้องชะงักเมื่อได้กลิ่นฉุนบางอย่าง

“กลิ่นฉี่งู บริวารของพญานาค” เขาว่าก่อนจะเดินถือบายศรีพญานาค 5 เศียร นำไปยังจุดไฮไลต์สำคัญของวังนาคินทร์

แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'

03 
ศาลพ่อปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีปทุมมา

ไหว้ขอพร เดินท่องท้องพระคลัง ไปรอบเกาะ

แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'
แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'

“ใครที่ต้องการสักการะพ่อปู่ศรีสุทโธ แม่ย่าศรีปทุมมาเดินเข้ามาทางนี้ได้เลย รอบนี้ยังทัน ยืนตามจุดบนพื้น เว้นระยะห่าง ตั้งจิตและกล่าวตาม” 

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยืนอยู่หน้าศาล หันหน้าเข้าหาผู้มาเยือนมากหน้าหลายตาที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เขาถือไมโครโฟนพร้อมประกาศให้ผู้มาสักการะรอบใหม่เข้าประจำตำแหน่ง เพื่อท่องคาถาบูชาและขอพรไปพร้อมกัน

คนมือเปล่าพนมมือไว้แนบอก คนถือบายศรียกจรดที่ศีรษะ ทุกคนก้มหน้าอย่างพร้อมเพรียงท่ามกลางเสียงอธิษฐานดังระงมใต้เงาไม้ใหญ่ เมื่อเสร็จพิธี เจ้าหน้าที่ให้ทุกคนนำเครื่องบูชาไปวางไว้ที่โต๊ะด้านหน้า สักพักจึงลากลับไปเพื่อความเป็นสิริมงคล และอีกนัยหนึ่งคือการลดขยะของสถานที่

แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'

“รอบต่อไปประจำจุดได้เลย คนที่ไหว้เสร็จแล้วเดินไปชมต้นมะเดื่อยักษ์ได้นะครับ” 

ผู้ศรัทธารอบใหม่ทยอยข้ามสะพานมา เราเดินตามป้ายไปอีก 62 เมตร ระหว่างนั้นสัมผัสไอดินเย็นสบายเป็นการพักผ่อน

ตามความเชื่อ ใต้ต้นมะเดื่อยักษ์คือท้องพระคลังของพ่อปู่แม่ย่า หากใครต้องการขอพร-ขอโชคลาภไปที่ต้นมะเดื่อได้เช่นกัน แน่นอนว่าห้ามปีนป่ายและห้ามขูดหาเลข หลังเดินผ่านท้องพระคลัง พื้นไม้ก็พาเราเดินวนออกด้านนอกเพื่อชมวิวรอบคำชะโนดที่เต็มไปด้วยพืชพรรณสีเขียวขจีตัดกับท้องนภาสีขาว

แม้เป็นพื้นไม้ที่ไม่ได้อยู่สูงจากพื้นดินมาก แต่ระหว่างทางมีป้ายกำกับไม่ให้นักท่องเที่ยวหย่อนเท้าหรือลงเดินบนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หนึ่ง คงเพื่อรักษาความเป็นระเบียบ สอง เพื่อความปลอดภัย เพราะความอุดมสมบูรณ์ใต้เท้าของเราอาจแฝงไว้ซึ่งอสรพิษที่มองไม่เห็น

จุดต่อไปวนกลับมาใกล้สะพานที่เราเดินเข้ามา บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ขนาดประมาณ 5 เมตร ได้รับการปกปักษ์รักษาโดยพญานาค 7 เศียร ตั้งตระหง่านอยู่ด้านซ้ายของศาลพ่อปู่แม่ย่าบนพื้นที่คำชะโนด 20 ไร่ บ่อน้ำแห่งนี้มีน้ำผุดขึ้นมาตลอดเวลาและไม่เคยเหือดแห้ง ทั้งน้ำที่ไหลออกมายังใสสะอาด พร้อมให้ผู้ศรัทธาตักกลับบ้าน แต่นั่นคือกิจกรรมก่อนโควิด-19 ระบาด ทำให้ปัจจุบันตักน้ำไม่ได้แล้ว

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2562 น้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 108 แหล่งทั่วไทยเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการจัดทำน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก น้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ปัจจุบันยังชมโครงชักรอกอันเชิญน้ำร่วมงานพิธีได้ที่ด้านข้างบ่อ ส่วนใครที่ต้องการสรงน้ำองค์พญานาคราชต้องรอช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ตอนนี้ก็ทำได้เพียงตั้งเหรียญหรือธนบัตรอธิษฐานที่ริมบ่อไปก่อน

แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'

04
ชีวิตที่คำชะโนด

สำรวจศูนย์รวมแห่งศรัทธา

ใช้เวลาในดงชะโนดไม่ถึงชั่วโมงก็ได้ฤกษ์เดินจากประตูโลกบาดาลกลับสู่เมืองมนุษย์อีกครั้ง

บรรยากาศที่เย็นร่มรื่นหายไปแทบจะทันที แสงอาทิตย์บีบคั้นให้เราเดินหลบเข้าร่ม หยิบรองเท้า และมุ่งสู่ร้านค้าที่ขายของบูชามากมาย

“ถือขันนี้ไว้ หันหน้าไปทางคำชะโนด แล้วอธิษฐานครับ” เจ้าของร้านวางรูปหล่อพญานาคองค์เล็กลงในขัน เขาท่องคาถาบางอย่างและยกขันให้เราขอพร

“มีลูกค้าหลายคนที่กลับมาซื้อของเราอีก เพราะเขาสมหวังในสิ่งที่ขอ” เจ้าของร้านผู้หญิงเล่าให้เราฟัง เธอเป็นชาวกรุงเทพฯ ที่เจอเรื่องเดือดร้อนจึงหันมาพึ่งบารมีของพ่อปู่ศรีสุทโธ เมื่อความทุกข์ผ่านไป เธอขอให้ตนได้มาค้าขายที่คำชะโนดแห่งนี้ ซึ่งคำตอบรับก็เป็นจริง เราจึงยืนอยู่ในร้านของเธอ

“หลายร้านไม่ใช่คนพื้นที่ แต่เป็นคนต่างถิ่นที่ศรัทธาและย้ายกันมา”

ไม่ต่างจากที่คุณป้าคนแรกเคยบอก ด้านในคำชะโนดมีคนจากหลายพื้นที่มาจับจอง ส่วนด้านนอกที่เห็นขายเครื่องบูชารายทาง ตั้งแต่ริมถนนจนถึงร้านค้าด้านหน้าซุ้มทางเข้า โดยมากเป็นคนท้องถิ่นที่มาพึ่งการท่องเที่ยวเพื่อเลี้ยงปากท้อง

เราซื้อรูปหล่อขนาดเล็กกลับไปฝากสมาชิกครอบครัวที่ยังไม่มีโอกาสเดินทางมา ก่อนล้อจะเคลื่อนกลับสู่กรุงเทพฯ ชาวคณะบางคนยกมือไหว้ไปทางวังนาคินทร์อีกครั้ง บางคนบีบแตร 3 ครั้งเมื่อผ่านศาลเก่า ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพและขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

ท่ามกลางความหลากหลาย คำชะโนดทำหน้าที่ในการหลอมรวมผู้คนเข้าหากันผ่านความเชื่อและความศรัทธาอันเป็นหนึ่งเดียว สำหรับหลายคนที่แห่งนี้จึงไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งพักพิงและที่พึ่งทางจิตใจของคนทั้งท้องถิ่นและต่างถิ่น เราเชื่อว่าการทำให้ใครสักคนคลายทุกข์ได้ชั่วขณะหรือตลอดไป คือความศักดิ์สิทธิ์หนึ่งของวังนาคินทร์แห่งนี้

แบกกล้องเที่ยวตามศรัทธา สู่ 'ป่าคำชะโนด' เมืองสองโลกที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมาด้วยศรัทธาเดียวกันคือ 'พญานาค'

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า