จังหวัดกาญจนบุรี หรือ ‘เมืองกาญจน์’ เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันตกของไทย หากมองจากแผนที่ประเทศไทย จะพบว่ามีอาณาเขตใหญ่เป็นอันดับ 3 ใกล้กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคกลาง ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ เพียง 100 กิโลเมตร จึงเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่คนกรุงเดินทางไปเช้าเย็นกลับได้
นอกจากนี้ หลายคนในสังคมไทยก็คงมีภาพจำว่า กาญจนบุรีเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยป่าเขา มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะแหล่งน้ำตก ภูเขา ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม่น้ำใหญ่หลายสาย หรือแม้แต่เขื่อนขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำมหาศาล ราวกับเป็นทะเลและมหาสมุทรอยู่ภายในจังหวัด
และหลายคนอาจคิดถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดนี้ เช่น การล่องแพบนลำน้ำแคว หรือการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ภาพจำเหล่านี้นับเป็นภาพหนึ่งที่หลายคนในสังคมไทยพอรู้จักมักคุ้นเวลาพูดถึงเมืองกาญจน์

แต่สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของเมืองไทย กาญจนบุรีเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทยมาเกือบทุกยุคทุกสมัย อาจกล่าวได้อย่างไม่เกินจริงว่า หากมีจังหวัดในประเทศไทยใดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ครอบคลุมช่วงเวลาในอดีต นับตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยใหม่ กาญจนบุรีนับเป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดนั้น
ดังเช่นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ่งชี้ว่ามีวัฒนธรรมของผู้คนยุคหินจนถึงยุคโลหะ โบราณสถานพงตึก แสดงให้เห็นการติดต่อและการค้าระดับโลกในสมัยทวารวดี เพราะพบตะเกียงโรมันจากเมืองอเล็กซานเดรียที่นี่ หรือแหล่งอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณที่ปราสาทเมืองสิงห์ ไล่เรียงมาจนถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเมืองกาญจน์มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านในช่วงที่ไทยรบกับพม่า ดังปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารไทย เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ ทุ่งลาดหญ้า และท่าดินแดง
สมัยรัชกาลที่ 5 กาญจนบุรีก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของราชสำนัก จนเป็นจุดกำเนิดเพลง เขมรไทรโยค และท้ายที่สุดจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่ก็ยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลกด้วย เป็นต้นว่า สะพานข้ามแม่น้ำแคว เส้นทางรถไฟบริเวณถ้ำกระแซ และสุสานทหารสัมพันธมิตร ปัจจุบันกลายเป็นประจักษ์พยานว่า กาญจนบุรีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิรบสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man ปี 2013 นำแสดงโดย Colin Firth ได้ฉายให้เห็นถึงความสำคัญของกาญจนบุรีกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้อย่างน่าสนใจ

ภาพ : majorcineplex.com
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาถ่ายทำ รวมถึงใช้พื้นที่และตัวอาคารภายในกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหนึ่งในพื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องก็คืออาคารและสถานที่บริเวณ ‘ถนนปากแพรก’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองกาญจนบุรีมายาวนานหลายยุคสมัย

ภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี
‘ถนนปากแพรก’ ตั้งชื่อตามตำบลที่ตั้งของถนน คือ ตำบลปากแพรก มีความหมายว่า เป็นบริเวณทางแยกของแม่น้ำ เพราะบริเวณตำบลนี้เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการสบกันระหว่างแม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่ ก่อนจะไหลลงอ่าวไทยที่สมุทรสงคราม ทำให้บริเวณนี้เกิดเป็นทางแยกของแม่น้ำถึง 3 สาย ในเอกสารภาษาพม่าเรียกบริเวณนี้ว่า ‘เมี้ยโส่ง’ หมายถึง แม่น้ำสบกัน

ภาพ : แดนสวรรค์ตะวันตก
ถนนปากแพรก แม้ว่าเป็นถนนสายเล็ก ๆ มีระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร แต่กลับมีเรื่องราวยาวนานเทียบเท่ากับอายุของตัวเมืองกาญจนบุรีที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2374 ทั้งนี้สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ย้ายเมืองจากบริเวณบ้านท่าเสา ที่เขาชนไก่ ลงใต้มาตั้งเมืองใหม่บริเวณตำบลปากแพรก ซึ่งเป็นตำบลที่มีแม่น้ำไหลมาบรรจบกัน เหมาะเป็นชัยภูมิของเมืองหน้าด่าน ทั้งสอดคล้องกับที่ตั้งกรุงเทพฯ ราชธานีแห่งใหม่ที่ได้ย้ายร่นลงมาทางทิศใต้จากอยุธยา
โดยเมืองกาญจนบุรีที่เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เมื่อเกือบ 200 กว่าปี มีการตั้งเจ้าเมืองในชื่อราชทินนามว่า พระยาประสิทธิสงครามรามภักดีศรีวิเศษ เป็นเจ้าเมืองสืบตำแหน่งนี้มาถึง 12 คน จนกระทั่งมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5

กำแพงเมืองบริเวณถนนปากแพรก สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ถนนปากแพรก เป็นถนนที่อยู่บริเวณรอบกำแพงเมืองเก่า ทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ โดยเริ่มต้นที่วัดเหนือหรือวัดเทวสังฆาราม พระอารามหลวง และสิ้นสุดลงที่วัดใต้หรือวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง ซึ่งทั้งสองเป็นวัดเก่าแก่ ทั้งยังมีศิลปกรรมที่สวยงามและน่าชมอย่างยิ่ง
ดังเช่นที่วัดเทวสังฆาราม พระอารามหลวง อยู่ที่ต้นทางของถนนปากแพรกด้านทิศเหนือ พบศิลปกรรมสำคัญ ๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถหลังเก่า เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ โดยมีจุดเด่นคือภาพบุคคลกำลังเอื้อมมือดึงแถบสีระหว่างผนังสองด้านอยู่ภายในพระอุโบสถหลังเก่า ทั้งนี้เกิดจากเมื่อวาดจิตรกรรมเสร็จแล้ว ช่างวาดประกบแถบทั้งสองด้านเข้าด้วยกันไม่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการวาดภาพตัวบุคคลให้เอื้อมมือมาดึงให้ประกบกัน นับเป็นการแก้ปัญหาที่สร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้มาชม

นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีตราสัญลักษณ์ของคณะราษฎรประดับอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์ทางการเมืองประดับไว้ที่พระอุโบสถ เนื่องจาก พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 เชิญชวนคณะราษฎรและประชาชนเดินทางมาทอดกฐินที่วัดแห่งนี้ ท่านและผู้มีจิตศรัทธาในครั้งนั้นจึงร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ พระยาพหลฯ มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองนี้ เพราะท่านมีภริยาเป็นชาวกาญจนบุรีถึง 2 คน

ภาพ : ปฏิวัติ สุขประกอบ
ดังนั้น หากเดินทางมาที่ถนนปากแพรก ก็ไม่แปลกที่จะพบกับบ้านพักขนาดใหญ่หลังหนึ่งซึ่งเป็นเรือนหอของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ชื่อว่า ‘บ้านนิวาศแสนสุข’ ตั้งอยู่บริเวณไม่ไกลจากวัดเหนือ เพราะถนนปากแพรกเปรียบได้กับถนนหลักและถนนแห่งการค้าของเมือง ด้วยเหตุนี้ บ้านคหบดี ขุนนาง และบุคคลสำคัญของจังหวัด จึงตั้งทอดยาวไปเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในนั้นคือบ้านที่ประสูติของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระองค์ทรงใช้ชีวิตและศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่ปากแพรกนี้ก่อนบรรพชา ปัจจุบันบ้านหลังเดิมได้ถูกรื้อลงแล้ว แต่ตัวบ้านหลังใหม่ของลูกหลานของพระองค์ยังตั้งอยู่ในบริเวณที่ประสูติดังเดิม

ภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี

ภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี
นอกจากนี้ยังมีบ้านของบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือ บ้านสิริโอสถ ของ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี และวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยท่านมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งให้ยารักษาโรค อาหาร และการติดต่อสื่อสารแก่เชลยศึกตลอดช่วงสงคราม และเมื่อสงครามจบลง คุณบุญผ่องจึงได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักรและประเทศเนเธอแลนด์ รวมถึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันโทแห่งกองทัพอังกฤษ จาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทย

ภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี
และยังมีบ้านอีกหลายหลังบนถนนปากแพรกที่คงลักษณะของสถาปัตยกรรมเก่าไว้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านตึกแบบจีนของตระกูลแต้มทอง สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 นับว่าเป็นบ้านตึกหลังแรกบนถนนปากแพรก ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยของตึกให้เห็นอยู่ และมีบ้านสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียนที่นิยมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ดังเช่นบ้านของตระกูลสิทธิสังข์ ของ ขุนขจิตระบิน (พร้า สิทธิสังข์) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2463 ปัจจุบันกลายเป็นร้านกาแฟและอาหารในชื่อ ร้านสิทธิสังข์

ภาพ : กลุ่ม Facebook ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์ โดยสมชาย แสงชัยศรียากุล

ภาพ : บ้านสิทธิสังข์
นอกจากมีบ้านพักของคหบดีและขุนนาง บนถนนปากแพรกยังประกอบไปด้วยสถานที่แห่งแรก ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นในจังหวัด เช่น สุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของจังหวัด มักเป็นที่พักของพ่อค้ามอญและข้าราชการจากสังขละบุรี ทองผาภูมิ และไทยโยค ที่เข้ามาค้าขาย ปัจจุบันเป็นร้านขายอาหารสัตว์


และยังมีสถานที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของจังหวัด ที่ตั้งจวนเจ้าเมืองและจวนผู้ว่าราชการ และโรงเรียนวิสุทธรังษี โรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของจังหวัด ตั้งอยู่บริเวณวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ซึ่งนับเป็นสุดทางของถนนปากแพรกทางทิศใต้ ปัจจุบันโรงเรียนนี้ย้ายที่ทำการไปที่อำเภอท่าม่วง คงเหลือเพียงตัวอาคารเรียนบางส่วน และคงมีเพียงวัดใต้ที่ยังตั้งเด่นอยู่บนปากแพรกมาเกือบสองร้อยกว่าปี ภายในวัดใต้มีพิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้และภาพถ่ายเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นบริเวณปากแพรกและในกาญจนบุรี

กล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้ถนนปากแพรกจะเป็นเพียงถนน 2 เลนที่ทอดตัวยาวจากวัดหนึ่งไปสู่อีกวัดหนึ่งจากเหนือลงใต้ แต่กลับมีเรื่องราวที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ผู้คน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของกาญจนบุรี ทั้งในบริบทของสงครามจารีตแบบไทยรบพม่า หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์โลก หากท่านไม่มีเวลามากพอจะเดินทางไปทั่วจังหวัด การได้เที่ยวและเดินบนถนนปากแพรกในระยะทางเพียง 2 กิโลเมตร ก็เสมือนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกาญจนบุรีจากอดีตแบบจารีตถึงยุคสมัยใหม่ได้อย่างรวบรัดทีเดียว
ปัจจุบันนี้ถนนปากแพรกยังคงเป็นเช่นเดิม บ้านบางหลังยังคงเป็นบ้านของทายาทและมีคนอาศัยอยู่สืบต่อกันมา ยังคงเป็นสายธารและถนนที่ทอดยาว เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจน์ที่มีอายุเกือบสองร้อยกว่าปี และรอให้มาเยี่ยมชมได้อยู่ในปัจจุบัน