19 มิถุนายน 2019
124 K

“เข้าป่าครั้งนี้ได้เจอเสือดำเป็นครั้งแรกในชีวิต” เขาเล่าอย่างตื่นเต้น

“ขณะที่นั่งในบังไพรที่ติดริมห้วย ตอนแรกผมเห็นเม่นวิ่งมาก่อน พอซูมหน้าจอกล้องดูเห็นว่า มันถูกกัดที่ก้นและหน้า ในใจคิดอยู่ว่าตัวอะไรกัดมันมา ผ่านไป 5 นาที เสือดำตัวโตเต็มวัยก็เดินออกมา และมีขนเม่นติดอยู่ที่ปากของมัน”

ข้อความด้านบนนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของบทละครหรือนิยายแนวผจญภัยในป่าใหญ่ แต่เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาที่เราถาม โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ ว่า การเข้าป่าครั้งล่าสุดของเขาเป็นอย่างไร

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

“ผมเห็นมันตอนกลางวันด้วย ปกติคนจะเห็นตอนโพล้เพล้ ตัวมันเท่ากับหมาลาบราดอร์”

ความตื่นเต้นที่แฝงในน้ำเสียงและท่วงทำนองในการเล่าประสบการณ์ที่ยังสดใหม่ กระตุ้นให้เราอยากรู้เรื่องในป่าดงพงไพรและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ที่ดูช่างเป็นโลกอีกใบที่เราหลายคนต่างไม่เคยไปสัมผัสด้วยตัวเอง

โน้ตเล่าว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าเขามีโอกาสเข้าไปชมผืนป่า ณ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยมดแดง พื้นที่ส่วนปลายของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บริเวณที่ติดกับเขื่อนศรีนครินทร์ ที่เดิมเป็นเพียงจุดสกัด ผืนป่าแห่งนั้นยังเงียบสงัดจากการย่างกรายของมนุษย์เข้าไปรบกวน

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

“คืนแรกผมนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะเสียงสัตว์ยั้วเยี้ยมากจริงๆ ช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง  สัตว์ต่างๆ จะมาอาศัยอยู่ใกล้ลำห้วย นอนแล้วได้ยินเสียงมันก้องอยู่ในหัว ตั้งแต่หัวค่ำได้ยินเสียงเก้งกวาง เสียงนกยูงร้อง เสียงนกตบยุง พอดึกๆ ก็ได้ยินเสียงนกเค้าเหยี่ยว และคืนนั้นช้างร้องทั้งคืน เพราะมันยกโขยงลงมาสองสามโขลง เจ้าหน้าที่บอกว่ามันมีลูกอ่อน แล้วมีเสือมากวน ตัวแม่หรือจ่าฝูงก็ร้องทั้งคืน มันแจ๋วมากๆ” เขายิ้มเปี่ยมสุขพลางเล่าต่อไม่หยุด

บ้านในป่า

“ที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือ ควายป่าซึ่งเป็นสัตว์สงวนที่เหลือแค่ 70 ตัวในเมืองไทย หากินอยู่ในห้วยขาแข้งส่วนปลายๆ มาปรากฏตัวให้เรารับรู้ได้จริงๆ ตอนกลางคืนเจ้าหน้าที่มาสะกิดให้ฟังเสียงพวกมันข้ามน้ำมา ผมนั่งเงียบๆ ท่ามกลางความมืดในเต็นท์กลางป่า ได้เห็นเงาตะคุ่มของพวกมันเดินมา ย่ำผ่านข้างเต็นท์ และได้ยินแม้แต่เสียงพวกมันกัดหญ้า โคตรไม่น่าเชื่อ ไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับมันขนาดนี้ แจ๋วจริงๆ เรียกได้ว่าการเข้าป่าครั้งนี้ประทับใจที่สุด”

มาถึงตรงนี้ หากสงสัยว่าทำไมเราจึงชวนเขามาเล่าเรื่องป่าดงพงไพรที่น่าตื่นตาตื่นใจ ก็ต้องขอเล่าเกริ่นไว้ก่อนว่า โน้ต วัชรบูล ที่คนรู้จักในฐานะดารา คือชายหนุ่มผู้หลงใหลธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างสุดหัวใจ หากจำกันได้ว่าช่วงหนึ่งเขาห่างหายไปจากละครและหน้าจอโทรทัศน์ นั่นเป็นเพราะเขามุ่งมั่นเดินเข้าป่าไปช่วยเจ้าหน้าที่ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์

ความหลงใหลก่อตัวกลายเป็นความหวงแหนและก่อร่างเป็นอุดมการณ์ จนเขาตัดสินใจเข้าร่วมเดินเท้าคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ร่วมกับ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ นักธรณีวิทยาผู้ลั่นวาจาพิทักษ์ผืนป่าแห่งนั้น

เวลา 10 ปีที่เขาเดินเข้าป่าเพื่อฟังเสียงเพรียกจากธรรมชาติ โอบกอดผืนป่าใหญ่ แฝงตัวอยู่เฉียดใกล้สัตว์ป่ามากมาย เขาจึงมีเรื่องราวที่อยากจะเล่าให้ผู้คนซึ่งไม่เคยออกไปผจญไพรได้ฟังและทำความเข้าใจว่า สิ่งมหัศจรรย์ในโลกนี้ไม่ได้ห่างไกลจากตัวเราทุกคน

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

เด็กชายในป่าคอนกรีต

โน้ตเป็นเด็กกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เติบโตมาในเมืองป่าคอนกรีตที่วุ่นวาย ห่างไกลจากป่าเขียวชอุ่มผืนใหญ่อันอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด น่าแปลกที่ความรักป่าดงพงไพรผลิดอกออกใบขึ้นในใจของเขาตั้งแต่จำความได้ แม้ไม่มีใครในครอบครัวสนใจหรือปลูกฝังเรื่องนี้มาเป็นพิเศษ

เมื่อเริ่มเติบโตอยู่ในวัยที่อ่านหนังสือได้คล่อง เขาก็เริ่มอ่านหนังสือแนวผจญภัยในป่าอย่าง เพชรพระอุมา ของ พนมเทียน และล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นความหลงใหลที่เติบใหญ่ในใจเรื่อยมา

“ผมชอบเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เหมือนเกิดแล้วฝังชิปมา เพราะรู้ตัวว่าชอบต้นไม้ ชอบป่ามากกว่าทะเล โตขึ้นอยากเข้าป่า หาหนังสือผจญภัยในป่ามาอ่านโดยที่ไม่มีใครบังคับ ผมไปค้นเจอในตู้หนังสือที่บ้าน ซึ่งน่าจะเป็นของคุณอาหรือคุณน้าผู้ชายที่อ่านแล้วเก็บไว้”

ความใฝ่ฝันที่อยากเข้าไปผจญภัยในผืนป่าใหญ่อยู่ในใจของเขาเสมอ ดินแดนเร้นลับที่นักเขียนต่างบรรยายถึงเสือบนคบไม้ โขลงช้าง หรือกระทิงที่ย่ำรอยตีนของตัวเอง คือสิ่งที่เขาอยากไปเห็นกับตา

ทว่าช่วงวัยเรียนที่ต้องคร่ำเคร่งกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทำให้เขาต้องพักเรื่องนี้ไว้ นานจนเรียนจบและเริ่มเข้าทำงานในวงการบันเทิง จนวันที่ทุกอย่างลงตัวคลี่คลาย จึงได้โอกาสเข้าป่าดูสัตว์อย่างที่ตั้งใจ

“กว่าจะได้เข้าป่าครั้งแรกก็อายุ 26 – 27 แล้ว เงินก้อนแรกที่เก็บได้ผมเอาไปซื้อกล้องและเลนส์เทเลเลย แบบตั้งใจไปส่องนก ไปส่องสัตว์ โดยเฉพาะ”

โน้ต วัชรบูล

ล่องไพรเพื่อสลายตัวตน

ป่าผืนแรกที่โน้ตได้เข้าไปเยี่ยมเยือนเพื่อชื่นชมคือ ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

การล่องไพรครั้งแรกของเขาและน้องชายช่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่สุดท้ายป่าในความเป็นจริงกลับไม่เหมือนที่เล่าขานไว้ในนิยายผจญภัยที่อ่าน เขาไม่ได้สัมผัสความเร้นลับของป่าใหญ่เหมือนกับ รพินทร์ ไพรวัลย์ หรือ ศักดิ์ สุริยัน ตัวเอกในนิยาย

“เป็นคนละเรื่องกันเลย พอยิ่งโต ยิ่งอ่านหนังสือมากขึ้น ศึกษามากขึ้น จะรู้สึกว่าเมื่อก่อนป่าเป็นเหมือนวัตถุดิบในการสร้างเรื่องผจญภัย มีสัตว์ป่าที่น่ากลัว แต่ความจริงแล้วป่ามีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในระบบนิเวศ มีหน้าที่และวิวัฒนาการของมันมาเป็นแสนๆ ปี เราแค่เข้าไปชื่นชมมัน

“ครั้งแรกที่เข้าป่าก็สนุกนะ แต่เรารู้ว่ามันยังไม่สุด แก่งกระจานมีเสือดาว เสือโคร่ง แต่ก็หาเจอยาก ถึงแรกๆ ผมจะเป็นเหมือนคนที่เริ่มศึกษาธรรมชาติทั่วไปคือ เริ่มจากดูนก ถ่ายภาพนกก่อน แต่ลึกๆ ในใจผมอยากดูสัตว์ใหญ่ นั่นคือความฝัน ผมอยากเห็นมัน อยากรู้สึกว่าในธรรมชาตินี้มนุษย์เราอ่อนแอ เราวิ่งช้า หนังก็บาง เวลาไปยืนอยู่กับผู้ล่าอันดับหนึ่งของห่วงโซ่อาหารจะรู้สึกยังไง เราจะทลายตัวตนที่ปรุงแต่งได้มากขนาดไหน เราจะกลายเป็นแค่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งบนโลกเท่านั้น”

ต่อมาในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เขามีโอกาสได้ไปช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trap) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยประเมินความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การทำงานครั้งนั้นเขาได้เห็นเสือโคร่ง กระทิง และวัวแดง ด้วยสองตาของตัวเอง ความประทับใจกลายเป็นความรักและหวงแหน และกลายเป็นแรงดึงดูดให้เขาเดินเข้าผืนป่าแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง

“ในความรู้สึกของผม ห้วยขาแข้งเป็นเหมือนจูราสสิค พาร์ค เป็นสถานที่ที่วิเศษมาก เป็นป่าดิบแล้งที่เหมือนไม่มีอะไร ฤดูแล้งมีไฟป่าจนไม่น่ามีสัตว์อยู่ได้ ไม่มีน้ำตก ไม่มีดอกไม้ แต่กลับเป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่มากมาย มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตามวัฏจักรของมันจริงๆ โดยไม่มีมนุษย์เข้าไปยุ่ง มันโคตรมหัศจรรย์ ผมคิดว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีที่ไหนเด็ดกว่านี้อีกแล้ว”

จากอาคันตุกะแปลกหน้า กลายมาเป็นคนคุ้นเคย

คุยมาได้สักพัก เราเริ่มสงสัยว่าทำไมเขาจึงมีโอกาสเข้าไปในผืนป่าจนรู้จักกับเจ้าหน้าที่หลายคนในนั้น เขาตอบทำนองว่า ที่ผู้ใหญ่เมตตาคงด้วยเพราะความเป็นดารา และความเป็น ‘ไอ้บ้า’ ที่หลงใหลเรื่องป่าๆ ไม่เหมือนกับคนรุ่นเดียวกันทั่วไป

“ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่มีใครสนใจว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำอะไร ทีมวิจัยเสือโคร่งทำอะไร ไม่มีใครรู้ว่าเสือโคร่งในประเทศไทยมีเหลือประมาณ 80 – 100 ตัว ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าเสือโคร่งไทยเป็นเสือโคร่งอินโดจีน ไม่ใช่เสือโคร่งเบงกอลที่อยู่ในสวนเสือ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะสูญพันธุ์และมีอยู่เฉพาะที่ห้วยขาแข้ง และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก แล้วมีไอ้บ้าคนหนึ่งรู้

“ผมไปงานคุณสืบ นาคะเสถียร ทุกปี ไปตั้งแต่ไม่รู้จักใครทั้งนั้น ไปทุกปีจนเจ้าหน้าที่คุ้นหน้าคุ้นตา เขาคงว่าไอ้นี่มันบ้าๆ บอๆ พอมีอะไรเขาก็เลยชวนไป เพราะเห็นว่าผมสนใจจริงนะ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่คุณจะมาไม่รู้เรื่องราวธรรมชาติรอบตัวแล้ว”

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขารู้เรื่องราวของผืนป่าและสัตว์ป่ามากมาย เพราะเวลาว่างส่วนใหญ่เขาหมกมุ่นอยู่กับการศึกษาหาความรู้จากหนังสือมากมายหลายประเภท

“ผมอ่านหนังสือของทุกคน หนังสือของพี่เชน (ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า) ผมมีทุกเล่ม หนังสือของต่างประเทศก็อ่าน ตำราวิชาการเกี่ยวกับเสือก็ซื้อมา คนอาจมองว่าเราเป็นช่างภาพถ่ายสัตว์ป่า แต่ผมไม่ใช่ ผมเป็นเพียงคนที่หลงใหลเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอื่นในโลก ผมชอบจะดูมัน และอยากจะเห็นมัน แบบที่ไม่เบียดเบียนพวกมันมากจนเกินไป”

ความสุขของความเป็นมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ

“ร้อน เหนื่อย เมื่อย รำคาญผึ้งด้วย” เขาบรรยายความรู้สึกขณะที่นั่งในบังไพรรอเก็บภาพสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่เดินผ่าน

“ขณะเดียวกันตอนที่นั่งนิ่งรออยู่อย่างนั้น ผมคิดอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ มันเป็นเกม เราไปในที่ของเขา เราไม่มีโอกาสไปตั้งกฎเกณฑ์อะไรได้ อย่างที่สองคือ เราอยู่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ร่างกายและความรู้สึกแปรไปตามอุณหภูมิ ร่างกายปรับตัวได้ดีพอสมควรนะ อยู่ในบังไพร ตอนเช้าหนาวก็ใส่เสื้อ ร้อนก็ถอดออก เช็ดเหงื่อ เอาน้ำลูบหน้าลูบตัวให้หายเหนียว เย็นกลับไปอาบน้ำที่ลำห้วยหรือที่พักก็สดชื่นดี กินข้าวเสร็จอากาศเริ่มเย็นสบาย เราก็นอน ใช้ชีวิตไปตามวัฏจักรจริงๆ เวลาของเราเดินไปพร้อมกับธรรมชาติ กลางคืนป่าน่ากลัว เราก็อยู่ตามปกติวิสัยในที่แคบๆ ไม่ออกไปเพ่นพ่านที่ไหน ชีวิตเรียบง่ายและมีความสุขที่สุด สำหรับผมนะ”

ชีวิตที่ดำเนินไปตามวัฏจักรธรรมชาติ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไร้สิ่งเร้ายวนใจ สภาพอันปกติเรียบง่ายดึงให้ตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

“มันเป็นการบำบัดอาการติดโซเชียล ในป่าไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอะไรมารบกวน ผมรู้สึกมีสมาธิมากขึ้น ไม่ถึงขั้นปฏิบัติธรรม แต่ก็ใกล้ๆ อย่างน้อยรู้สึกหิวเราก็กิน โดยเราทำอาหารเอง ได้เห็นวัตถุดิบตรงหน้าที่เราทำ ปรุง และกินเข้าปาก เราอยู่กับสิ่งที่ทำ อยู่กับมือ อยู่กับตาของเรา แต่ถ้าอยู่ในเมืองเราก็จิ้มมือถือสั่ง เวลากินก็เปิดมือถือดูไปด้วย กินไปด้วย นี่มันไม่ใช่ความเป็นมนุษย์นะ”

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

เสียงสะท้อนแทนสัตว์ป่าและพงไพร

ย้อนไปในปี 2556 ที่มีการเดินเท้าของอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ จากจังหวัดนครสวรรค์ถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเขื่อนแม่วงก์ โน้ตเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมเดินด้วย รอยเท้าการก้าวเดินไปตามเส้นทางสายอนุรักษ์ทำให้คนรู้จักเขาในบทบาทใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงนักแสดงหนุ่มหน้าตาดี และมีสื่อนอกสายบันเทิงให้ความสนใจไม่น้อย

“ตอนนั้นถ้าผมไม่ออกมาทำอะไรจะรู้สึกเสียดายไปตลอดชีวิต” น้ำเสียงของเขาแสดงถึงความรู้สึกในเวลานั้นได้

“ตอนแรกที่เขาเดินประท้วงกัน ผมไม่กล้านะ ไปปรึกษาทางช่องก่อนว่าจะไปได้ไหม ทางผู้ใหญ่ก็ขอปรึกษากัน เพราะว่าตอนนั้นมีการโยงเรื่องนี้เข้าไปเกี่ยวกับการเมือง แต่ผมไปด้วยใจรักสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น สุดท้ายก็ไป ไม่สนใจอะไรแล้ว ตอนไปก็ยังไม่รู้จักกับอาจารย์ศศิน แต่ไปเพราะไม่อยากรู้สึกผิดกับตัวเอง ถ้าเกิดเขื่อนขึ้นมา อย่างน้อยเราก็ได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้อง อย่างน้อยก็ไม่เป็นตราบาปในใจ”

การย่ำไปตามอุดมการณ์เป็นเวลา 3 วันที่พอหาได้จากการทำงานรัดตัว กลายเป็นบทเรียนอันมีค่า การรวมพลังของคนตัวเล็กๆ กระตุกให้คนส่วนใหญ่ในสังคมหันมาสนใจ และมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ห่างไกล อีกทั้งไม่ทิ้งให้นักอนุรักษ์ทำงานอย่างเดียวดายท่ามกลางกระแสที่ชักโยงใยไปถึงการเมือง

“ผมรู้สึกดีมากที่คนในสังคมรู้สึกว่าเขื่อนในยุคนี้ไม่น่าจะเป็นคำตอบแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นในการจัดการน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง และผมก็ได้เรียนรู้ว่าบางทีเราพูดก็ไม่เกิดประโยชน์ เราต้องเสียสละบางอย่าง ต้องยอมแลก หรือแสดงให้สังคมเห็นว่าเราเชื่อมั่นในเรื่องนี้จริงๆ เหมือนที่อาจารย์ศศินเดิน เขาก็เหนื่อยจริงๆ เดินจริงๆ เอาเหงื่อ เอาแรงกายตัวเองในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เชื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสอนผมว่า พูดไปก็เท่านั้น ทำดีกว่า

“ช่วงจังหวะเวลานั้นเราได้แสดงความคิดเห็นแล้วมีคนฟัง เรื่องพวกนี้ทุกคนพูดมาก่อน แต่ถ้าไม่มีประเด็นการเมืองมาเกี่ยวข้องก็ไม่มีคนสนใจให้เป็นข่าว เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องพูดไปเรื่อยๆ รอจังหวะว่าจะมีคนฟังหรือไม่ ฟีดแบ็กที่ได้ในตอนนั้นผมรู้สึกว่าถ้ามีคนด่าเพราะโยงเรื่องนี้ไปถึงความเชื่อทางการเมืองที่เป็นยุคของสีเสื้อ ว่าคุณออกมาเพราะสีเสื้อนี้ใช่ไหม ผมก็ป่วยการที่พูด แต่ทำในสิ่งที่ควรทำดีกว่า”

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น โน้ตได้อุทิศตัวในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจนเหมือนจะหายหน้าหายตาจากวงการบันเทิงไปพักใหญ่ ความเอาจริงเอาจังของเขาเป็นเหตุให้อาจารย์ศศินชักชวนมาช่วยทำงานเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเขาตอบรับอย่างเต็มใจและช่วยงานมูลนิธิเรื่อยมา

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

ปัญหาใหญ่ไม่ใช่เรื่องบันเทิง

โน้ตออกตัวว่าตัวเองเป็นคนประเภทเก็บตัว เขาไม่ใช่คนชอบท่องเที่ยว ไม่มีโปรเจกต์ทำรายการทำนองพาไปเข้าป่า ไม่มีทีท่าว่าจะใช้ไลฟ์สไตล์ในการต่อยอดหารายได้ให้ตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างทำลงไปเพราะความชอบ เหมือนเป็นงานอดิเรกเล็กๆ ที่อยากทำเรื่อยไป แต่หากมีประเด็นที่น่าสนใจก็พร้อมจะออกมาพูดให้สังคมตระหนักเช่นกัน

“ถ้าผมจะพูดอะไร ผมจะพูดตามที่ผมรู้สึก สมมติว่าป่าอยู่ในภาวะไม่ค่อยดี ก็พูดไม่ได้ว่ามันดีมาก สมบูรณ์มาก และประเด็นที่อยากจะพูดก็ไม่ค่อยบันเทิงเท่าไหร่ ออกแนวจริงจังมากกว่า”

ประเด็นปัจจุบันที่เขาสนใจคือ การใกล้สูญพันธุ์ของนกเงือกและนกชนหินแห่งผืนป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย

“นกชนหินทุกวันนี้กำลังถูกล่า เพราะตลาดค้าชิ้นส่วนสัตว์ป่าจะใช้โหนกของมันไปแกะสลักอย่างงาช้าง นกชนหินจึงกลายเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่นำความซวยมาให้นกมากจริงๆ

“ผมรู้สึกเศร้าทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องสัตว์ถูกล่าตามความเชื่อต่างๆ นี่มันปีอะไรแล้ว ข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีมากมาย นี่ไม่ใช่ยุคที่มีความเชื่อว่ากินสัตว์นี้แล้วดี หรือมีมันแล้วประดับบารมี นี่มันไม่ใช่ยุคแล้ว”

ในผืนป่าไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่การลักลอบทำลายต้นไม้หรือทำร้ายสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เท่าที่เราทราบคือความยากลำบากในการทำงานและปัญหาสวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า ฐานะที่เขาได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตผู้พิทักษ์ เราจึงลองถามโน้ตในเรื่องนี้

“คนน้อย งานเยอะ แล้วไม่ค่อยมีคนอยากทำ คนที่เก่งและชอบจริงๆ เขาก็แก่และต้องหยุดไป บางทีเด็กรุ่นใหม่ก็อยู่ไม่ไหว ทักษะการใช้ชีวิตในป่า ในการแกะรอยสัตว์ก็หายไป พวกเขาทำงานกันเหนื่อย เพราะพื้นที่เยอะ คนน้อย ไม่มีผลัด ต้องเดินกันทุกวัน ตอนนี้ก็ดีกว่าแต่ก่อนเยอะนะ เพราะมีคนในสังคมให้ความสนใจพวกเขา แต่อย่างเรื่องการทำประกันชีวิตให้ ไม่รู้ว่าติดขัดอะไร”

เมื่อถามหาทางออกให้กับปัญหา เขามีสีหน้าจริงจังขึ้น

“มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน” เขาถอนใจ “ถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ คนต้องพลิกนโยบายทั้งประเทศ สิ่งที่เราทำกันได้คือเอาวัสดุอุปกรณ์ไปให้เขา ซึ่งเดี๋ยวมันก็หมดไป นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร เพราะผมคนเดียวก็ทำไม่ได้ มูลนิธิสืบฯ เพียงองค์กรเดียวก็ทำไม่ได้”

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า
โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

เรื่องราวในป่าออกมาสู่เมือง

ปัจจุบันเขายังคงทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายถึงความมหัศจรรย์ของป่าเมืองไทย และงานที่เขานิยามว่าเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและชีวิตสัตว์ป่าให้กับคนเมืองอย่างถูกต้อง

“ทุกคนเข้าป่า ถามว่าเสือจะมากินต้องยิงหรือเปล่า” เขาเริ่มเล่าในประเด็นที่พบเจอบ่อย พลางส่ายหน้าคล้ายไม่เข้าใจ

“เสือไม่ได้เกิดมาเพื่อฆ่าคนหรือกินคนเป็นอาหาร มันอาศัยอยู่ในป่าของมันดีๆ เดินหากินของมันอยู่ดีๆ กลับโดนยิง เวลาเสือมันเจอคนมันก็วิ่งหนีแล้ว เพราะมันโดนล่ามาจนเมโมรีในสมองว่าถ้าเป็นกลิ่นมนุษย์ต้องหนีก่อน ไม่อย่างนั้นชีวิตจะไม่ปลอดภัย ถ้ามันเป็นอันตราย ช่างภาพสัตว์จะไปหมกตัวในบังไพรเงียบๆ ห้ามเปิดกลิ่นตัวเองออกไปทำไม แค่เสือมันได้กลิ่นคนมันก็กลัวแล้ว แต่บางทีมันเป็นจังหวะที่ไม่มีทางหนี วิ่งมาที่เรายืนอยู่ ก็แย่ไป”

แล้วทำไมคนเราถึงต้องเข้าป่า-เราโยนคำถามทิ้งท้าย

“การเข้าป่าเป็นการเปิดหูเปิดตา ให้รู้ว่าโลกมีมากกว่ากรุงเทพฯ โลกไม่ได้มีแค่แยกพญาไท เพลินจิต เราเป็นคน เราต้องสัมผัสธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราก็สัมผัสมาตลอด เพียงแต่ในยุคสมัยนี้เองที่เราห่างจากมัน สำหรับผมการเข้าป่าคือการผ่อนคลาย ไม่มีเรื่องให้วุ่นวายใจ เราทำทุกอย่างไปตามสัญชาตญาณจริงๆ”

สุดท้ายโน้ตยังคงเข้าป่าไปโอบกอดธรรมชาติที่เขารักและหวงแหนต่อไป พร้อมส่งต่อเรื่องราวให้ ‘คนนอกป่า’ ได้รับรู้ เพื่อหวังว่าทุกคนจะเก็บรักษาขุมทรัพย์แห่งธรรมชาติที่มีค่าเอาไว้

“ผมอยากให้คนรู้ว่ามีสิ่งที่เจ๋งมากอยู่ในโลกใบนี้ เป็นที่อาศัยของสรรพสัตว์ชีวิตมากมายที่เหลือรอดอยู่บนโลก ซึ่งมีกำลังคนรุกล้ำเข้าไปเรื่อยๆ แต่ผมอยากเก็บมันไว้ให้คนอื่นที่ไม่มีโอกาสได้รู้ ได้สัมผัส ได้เจอ ได้มารับรู้บ้าง เผื่อเขาอยากจะเก็บสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ไว้เหมือนกัน”

โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงผู้มุ่งเดินเข้าป่ามา10ปีเพื่อฟื้นความเข้าใจคนต่อผืนป่า

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ