6 มกราคม 2021
4 K

ค.ศ. 2020 เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะงานบริการอย่างร้านอาหาร โรงแรม ไปจนถึงแหล่งเรียนรู้อย่างพิพิธภัณฑ์ ล้วนได้รับผลกระทบกันไม่มากก็น้อย สถานการณ์นี้ชวนให้เรานึกถึง ปาร์คนายเลิศ ที่เข้าข่ายทุกธุรกิจที่ว่ามา 

หลังจากที่เราเคยนำเสนอเนื้อหาจากที่นี่ไปแล้วหลายวาระ วันนี้เราจึงถือโอกาสแวะเวียนมาในพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงแห่งอีกครั้ง เพื่อพูดคุยและถอดบทเรียนจาก คุณเล็ก- ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ทายาทรุ่นที่ 4 ของ นายเลิศ หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ ว่าด้วยการปรับใช้วิสัยทัศน์ของท่านทวด มาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างสวยงาม โดยเฉพาะตัวพิพิธภัณฑ์เอง ที่คุณเล็กให้นิยามว่าเป็นพระเอกของกิจการปาร์คนายเลิศทั้งหมด 

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

คิดแบบนายเลิศ คิดแบบ Visionary

เราเริ่มพูดคุยกันเรื่องคุณทวดของคุณเล็กก่อน เธอเล่าให้ฟังว่าคุณทวดเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมด้านวิสัยทัศน์ล้ำสมัยไม่เหมือนใครตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว เห็นได้จากประวัติการทำงานของท่านที่ต่อยอดไปหลายแขนง 

ตั้งแต่กิจการน้ำหวานโซดาหรือน้ำมะเน็ด โรงน้ำแข็งแห่งแรงของสยาม การสร้างอาคารพาณิชย์ 7 ชั้นสูงที่สุดแห่งแรกและเปิดกิจการเป็นห้างนายเลิศบนถนนเจริญกรุง โรงแรม Hotel de la paix โรงแรมแห่งแรกที่เจ้าของเป็นคนไทยไม่ใช่ฝรั่ง 

ไปจนถึงธุรกิจคมนาคมที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักอย่างรถเมล์ขาวที่วิ่งในพระนคร และเรือเมล์ขาวที่วิ่งบริการในคลองแสนแสบ

 “นายเลิศเป็นคนที่เจ๋ง มีความสร้างสรรค์ แล้วก็รู้จักตัวเองด้วย คือบางคนเห็นคนอื่นทำบางอย่างแล้วประสบความสำเร็จ ก็เลยเลียนแบบ ทำบ้าง แต่มันไม่ใช่ไงคะ เราต้องดูความชอบ จุดแข็งของตัวเองก่อนว่าคืออะไร จุดอ่อนของเราคืออะไร แล้วก็พัฒนาต่อยอดจากตรงนั้น แล้วถ้าเกิดว่าทำแล้วล้มเหลว คุณจะคัมแบ็กได้อย่างไร อันนั้นสำคัญกว่า” คุณเล็กเล่า 

“คุณทวดไม่ได้ประสบความสำเร็จตลอด อย่างอู่ต่อเรือสมันเตา ธุรกิจนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากในการต่อเรือเพื่อส่งไปยังประเทศอื่นๆ คุณทวดก็เสียดายไม้ ไม่อยากทิ้งไม้สักที่ใช้ต่อเรือ ก็เลยนำมาสร้างบ้านทั้งหลังที่เรานั่งอยู่นี่เอง มันเป็นการต่อยอด ยังไงก็คิดว่าเราจะไม่ล้ม”

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

อย่างที่คุณเล็กเกริ่นไป แนวคิดการสร้างอู่เรือนำมาสู่การซื้อที่ดินหลายแปลง นายเลิศได้ซื้อที่ดินริมคลองแสนแสบฝั่งตรงข้ามกับตลาดเฉลิมโลก ตลอดแนวคลองข้ามทางรถไฟต่อไปจนถึงเพลินจิต (ตั้งแต่ซอยชิดลมไปจนถึงทางรถไฟสายตะวันออก ต่อไปจนถึงสุขุมวิทซอย 7) ในราคาตารางวาละ 8 สตางค์ เมื่อ พ.ศ. 2454 

ต่อมาจึงสร้างเรือนไม้สักกลาง ‘ปาร์ค’ ซึ่งเรือนไม้สักนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2458 โดยใช้เป็นเรือนพักผ่อนของครอบครัวในวันหยุดสัปดาห์ อีกทั้งเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเที่ยวหย่อนใจได้ในทุกเช้าวันอาทิตย์ ถือเป็นสวนสาธารณะเอกชนแห่งแรกๆ คนทั่วไปจึงเรียกว่า ‘ปาร์คนายเลิศ’ ส่วนเรือนไม้สักก็ถูกเรียกว่า ‘บ้านปาร์คนายเลิศ’ มาจนถึงปัจจุบัน 

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

น้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วยความภูมิใจ

บ้านหลังนี้ถูกใช้เป็นที่พักอาศัยของครอบครัวถึง 3 รุ่น จากสมัยนายเลิศและภรรยา คือ คุณหญิงสิน ภักดีนรเศรษฐ จากนั้นสืบต่อโดยลูกสาวคนเดียวของท่านคือ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ผู้เป็นคุณยายของคุณเล็กนั่นเอง

“คุณยายของเล็กเป็นคนเดียวที่อยู่ตั้งแต่เกิด จนท่านเสียชีวิตเมื่อสิบปีที่แล้ว แล้วแม่เล็กอยู่เป็นรุ่นที่สาม ที่อยู่จนก่อนท่านแต่งงาน เมื่อแต่งงานก็ย้ายออกไป บ้านหลังนี้จึงถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในรุ่นของเล็กค่ะ ด้วยเจตนารมณ์ของคุณยาย คืออยากจะเปิดบ้านปาร์คนายเลิศ ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส ได้เห็น ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่สืบมา” 

อย่างที่เล่าไปว่า การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อยอดนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับครอบครัวนี้ โดยเฉพาะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่มีการประกาศแบ่งขายที่ดิน อีกทั้งกิจการโรงแรมบางส่วนที่ดำเนินกิจการมากว่า 3 ทศวรรษ ทำให้การประกาศเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในปีที่ผ่านมาดูเป็นข่าวเล็กไปเลย 

ถึงกระนั้น เราก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า คุณเล็กรู้สึกลำบากใจไหมในการเปิดบ้าน ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของครอบครัวเป็นแหล่งเรียนรู้

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19
คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

“เล็กรู้สึกภูมิใจ ไม่ยากเลย คำว่ายากคงเป็นสิ่งที่เล็กไม่อยากทำ แต่นี่เล็กอยากทำ มันเลยไม่ยาก เราคิดว่าของเราดีเราเลยอยากแชร์ แค่นี้เองค่ะ มีหลายคนที่ว่าให้คนมานั่งแบบนี้เลยเหรอ อันนี้ของเก่า Antique นะ ให้คนจับได้เหรอ น่าจะเอาอะไรกั้นไว้นะ แต่มันไม่ใช่เรา เราตั้งใจจะเป็น Living Museum ถ้าเกิดคุณอยากจะหวงของ อย่าเปิดดีกว่า เราไม่ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ทำอะไรก็ทำให้สุดไปเลย”

เรื่องราวในบ้านของนายเลิศนั้นพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศเราไม่น้อย เนื่องด้วยนายเลิศเกิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และมีชีวิตอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย มีการน้อมรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก ห้างของนายเลิศก็นำเข้าสินค้าและวัฒนธรรมฝรั่งหลายอย่าง อาทิ จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ ซุปกระป๋องแคมเบลล์ รวมไปถึงการเสิร์ฟวิสกี้ ออน เดอะร็อค เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในส่วนจัดแสดงที่โชว์ห้องครัวของคุณหญิงสิน เราก็ได้เห็นชุดเครื่องจานชามที่ประยุกต์เอาความสวยงามแบบตะวันตกมาแมตช์กับสำรับอาหารไทย

“เล็กคิดว่านายเลิศ คุณยาย หรือรุ่นเล็กเอง มีความเป็นตะวันตกและตะวันออกผสมอยู่ในตัวคนเดียวกัน ด้วยวิธีคิด ด้วยการใช้ชีวิต เราเอาข้อดีของเมืองนอกมาใช้ แต่เล็กยังไหว้ ไม่จับมือ โดยเฉพาะตอนนี้ต้องระวัง” คุณเล็กหัวเราะ “หรืออย่างการแต่งตัวด้วยแบรนด์เนมทั้งตัว เล็กว่ามันไม่ทำให้คุณโก้นะ แต่มารยาทที่ดีทำให้คุณโก้ได้”

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

ใส่ใจในทุกรายละเอียดด้วยรัก

นอกจากตัวนายเลิศเองแล้ว เราสังเกตว่าในการจัดแสดงยังมีเรื่องราวของคุณยายของคุณเล็ก (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ) เยอะมาก ซึ่งคุณเล็กให้เหตุผลว่า “บ้านหลังนี้มาจากสายนายเลิศ มีความเป็นคุณตาคุณยายค่อนข้างมาก จึงจัดแสดงไลฟ์สไตล์ของท่านในอดีต ว่าผู้หญิงคนนี้ใช้ชีวิตอย่างไร มีความเรียบง่าย แต่ลงรายละเอียด เป๊ะมาก” เธอต่อเล่าว่าสิ่งที่เธอจดจำได้ดีจากคุณยายและยังนำมาใช้อยู่ทุกวันนี้คือกาลเทศะ และการที่คุณยายไม่เคยดูถูกคน 

“ท่านคุยและจับต้องคนทุกระดับ แนะนำตัวเองทุกครั้งกับทุกคน ท่านไม่ถือตัว เป็นคนที่รสนิยมดีมาก สิ่งนี้มาพร้อมกับความเป็นคนละเอียด เจ้าระเบียบ” 

ตอนเด็กๆ คุณเล็กยอมรับว่าไม่ได้ใช้เวลากับคุณยายบ่อยนัก เพราะตอนนั้นไม่อยากให้ผู้ใหญ่มานั่งจู้จี้ เมื่อตนกลับมาจากการศึกษาที่อังกฤษถึงได้อยู่กับท่าน และซึมซับตัวตนของท่านหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการใส่ใจกับรายละเอียด ซึ่งเธอนำมาใช้ในการเลือกจัดแสดงสิ่งของทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

“ใครๆ ก็สร้างตึกสวยๆ บ้านสวยๆ ได้ แต่ประสบการณ์และความทรงจำ สิ่งพวกนี้เป็น Small touches that last a lifetime.” คุณเล็กบอกว่า ดีเทลบางอย่างเธอจงใจที่จะใส่ไป แม้คนหลายคนอาจจะมองว่าแปลก 

“อาทิ หวี คือของใช้ส่วนตัวบางคนเขาก็ไม่อยากให้โชว์นะคะ ใช้ยี่ห้ออะไร สภาพอย่างไร ฯลฯ แต่เราเปิดพิพิธภัณฑ์นี้เป็น บ้าน ดังนั้น เพื่อความเป็นบ้าน มันต้องคงอยู่ ถ้าโต๊ะเครื่องแป้งโชว์แค่โต๊ะสวยๆ อย่างเดียว แต่ไม่มีของใช้ที่คุณยายเคยใช้มา มันก็ไม่ใช่บ้านของท่าน” 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงของกระจุกกระจิกไปจนถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่บ่งบอกถึงประวัติของท่านในฐานะ ผู้หญิงไทยคนแรกๆ ที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น จนถึงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย 

ขณะที่เราชื่นชมของเหล่านี้ เราชวนคุณเล็กคุยว่า คุณยายจะภูมิใจไหมนะ ถ้าท่านได้เห็นพิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศในวันนี้ 

“She’s seeing it! (ท่านกำลังเห็นมันแน่นอนค่ะ) ถ้าเจ้าของบ้านเขาไม่ดีใจที่เราทำแบบนี้ มันทำไม่ได้หรอกค่ะ” เธอตอบทันควันพร้อมรอยยิ้ม

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

ความสำคัญของการกิน อยู่ หลับ นอน ที่ดี

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณเล็กเน้นย้ำ คือประสบการณ์การเรียนรู้ที่นี่ไม่ได้อยู่แค่ในตู้จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ แต่เรียนรู้ได้จากต้นไม้ในสวน ไปจนถึงเมนูที่เสิร์ฟในร้านอาหารด้วย 

“เล็กอยากทำให้ครบวงจร ทั้งการกิน อยู่ หลับ นอน เจตนารมณ์ของคุณยายคือท่านอยากให้ปาร์คนายเลิศเป็นสถานที่ที่ครบการใช้ชีวิตของมนุษย์ พอมีบ้านให้ชมเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว คนที่มาก็อาจจะอยากกินน้ำกินข้าว เราก็เปิดร้านอาหาร ซึ่งตอนแรกมีแค่ร้านเดียวคือร้านอาหารไทยที่เป็นเมนูโบราณของคุณหญิงสิน แต่ต่อมาคนที่เป็นลูกค้าประจำของเราค่อนข้างเยอะ เพราะคนมาแล้วชอบก็มาอีก เขามักจะถามว่า ได้ข่าวว่าคุณพินิจ (คุณพินิจ สมบัติศิริ สามีของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ) ชอบกินอาหารฝรั่งไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่เปิดร้านอาหารฝรั่งบ้าง

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

“เล็กก็เลยคุยให้คุณแม่ฟังว่า ลูกค้าที่เป็น Return Customer เกือบหกสิบเปอร์เซ็นต์เขาสนใจ เราเปิดอีกร้านหนึ่งไหม ก็เลยเป็น Lady L จนล่าสุดเปิดสมันเตาด้วย เป็นร้านกาแฟโบราณ เปิดในศาลาเก่าของคุณตาพินิจด้วย”

การกิน อยู่ หลับ นอน ที่ดี คือหัวใจของสิ่งที่ปาร์คนายเลิศต้องการนำเสนอ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นปัจจุบันที่อาจอยู่ในโลก Virtual ค่อนข้างเยอะ คุณเล็กยอมรับว่า เธออาจเป็นคนรุ่นเก่า แต่อยากให้คนที่มาปาร์คนายเลิศได้ดื่มด่ำกับทุกผัสสะในนี้ “ไม่ใช่ถ่ายรูปจนแกงขี้เหล็กเย็น” เธอหัวเราะ 

“การถ่ายรูปจริงๆ แล้วดี ดีมาก มันดีในแง่การตลาดสำหรับเรา ก็ขอบคุณมากๆ แต่อย่าลืมทานให้อร่อยด้วยค่ะ” 

เมื่อเราถามถึงเมนูที่คุณเล็กประทับใจ เธอบอกว่าต้องเป็น ‘หมี่น้ำปาร์คนายเลิศ’ จานนี้มีที่มาจากสมัยที่บริเวณนี้เคยเป็นอู่จอดรถเมล์ขาว พนักงานพักอาศัยอยู่จำนวนมาก คุณหญิงสินเคยทำหมี่กรอบเลี้ยงทุกคน แล้วเมื่อหมี่เหลือ ท่านก็ทำน้ำแกงที่คล้ายกับต้มยำแต่รสไม่เผ็ดมากมาราดบนหมี่กรอบ เกิดเป็นเมนูประจำบ้านปาร์คฯ แต่นั้นมา ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างน่ารักๆ ของการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในบ้านหลังนี้ 

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19
คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

มองเห็นโอกาสในทุกวิกฤต

หลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์แบบเต็มรูปแบบได้ไม่นาน การระบาดของ COVID-19 ทำให้บ้านหลังนี้ต้องงดรับแขกเหรื่ออย่างกะทันหัน 

“COVID-19 ส่งผลกระทบกับทุกคนแหละค่ะ แต่เราก็ต้องดิ้นรนและปรับตัวไปให้ได้ ตัวมิวเซียมก็ถือโอกาสบูรณะ ทำวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้” 

การซ่อมแซมบ้านไม้สักหลังนี้จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากการบูรณะครั้งใหญ่ไปเมื่อ พ.ศ. 2556 โดยใช้วิธีดีดบ้านขึ้นทั้งหลัง ส่วนครั้งนี้ปรับปรุงพื้น ซึ่งบางส่วนเป็นปาร์เกต์ที่สามารถระบุชนิดและอายุของไม้จากวิธีการเข้าไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นนอกจากจะได้ฤกษ์ซ่อมแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ยังร้อยเรียงข้อมูลออมาเป็นนิทรรศการชั่วคราวชื่อ ‘เล่าเรื่องผ่านไม้’ ด้วย

ส่วนกิจการร้านอาหารนั้น คุณเล็กก็ยังคงดำเนินต่อในช่วง COVID-19 แต่เปลี่ยนเป็นแบบ Take Away ลูกค้าบางรายที่ติดใจการบริการชั้นเยี่ยมของที่นี่ก็จ้างทีมบัตเลอร์ไปจัดดินเนอร์ให้ที่บ้านก็มี 

“ต้องบอกว่าช่วง COVID-19 ร้านอาหารเราก็ยังไปได้ดี คนยังกลับมาซื้อ Take Away นะ เขาชอบธรรมชาติของตรงนี้ ไม่ต้องเดินผ่านล็อบบี้หรือขึ้นลิฟต์ไปตรงไหนที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เขารู้สึกปลอดภัยที่นี่ค่ะ” 

“คุณทวดเป็นคนที่ไม่ Take himself too seriously. ไม่เครียดเกินไปว่าฉันต้องแบบนั้นแบบนี้ อย่างบ่อบัวเป็นหลุมระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สอง คือถ้าเป็นเรามีหลุมระเบิดใหญ่ขนาดนี้คงเครียดมาก แต่ท่านเลือกที่จะไปต่อกับมัน ทำบ่อบัวซะเลย” คุณเล็กย้ำว่า นายเลิศนั้นเป็นคนที่ทำวิกฤตให้เป็นโอกาสเสมอ ซึ่งตัวเธอเองก็พยายามแบบนั้นอยู่ 

“โลกใบนี้มันมีแต่ปัญหาอยู่แล้ว ทุกคนก็ต้องเจอปัญหาไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ แต่เราก็ต้องคิดและดิ้นรน รู้จักตัวเอง รู้จักวิสัยทัศน์ที่เราจะพาบริษัทนี้ต่อไปข้างหน้าได้อีกหลายรุ่น”

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

คงอัตลักษณ์ไว้ แล้วไปต่อ

พิพิธภัณฑ์และกิจการต่างๆ ของปาร์คนายเลิศ เริ่มกลับมาเปิดบ้าง อีกทั้งประเพณีต่างๆ ที่สืบมาก็ยังคงดำเนินต่อไป อาทิ วันที่ 15 ธันวาคม ที่เป็นวันนายเลิศ หรือครบรอบวันอสัญกรรมของคุณทวด คุณเล็กก็ยังคงทำบุญบนบ้าน ต่อยอดเจตนารมณ์เรื่องการให้ทุนกับมูลนิธิต่างๆ ที่บรรพบุรุษก่อตั้งไว้ อาทิ โรงพยาบาลเลิดสิน หรือโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญที่หนองจอก เป็นต้น ถือเป็นอีกหลักการดำเนินชีวิตของนายเลิศได้ส่งผ่านทายาทจากรุ่นสู่รุ่น ตามที่ปรากฏในตราสัญลักษณ์ขนมกงของนายเลิศ อันหมายถึงพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา 

ในอนาคตอันใกล้ ปาร์คนายเลิศกำลังจะมุ่งหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งกับโครงการ Aman Nai Lert Bangkok คาดการณ์ว่าโครงการจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2566 ซึ่งโครงการนี้คุณเล็กได้ทุ่มเงินกว่า 6 พันล้านบาท ในการพัฒนาที่พักและโรงแรมมาตรฐานระดับ Luxury ตามเอกลักษณ์ของเครืออมันซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก ทั้งนิวยอร์ก ไมอามี่ เซี่ยงไฮ้ นิเซโกะ ฯลฯ โดย Aman Nai Lert Residences Bangkok จะเป็นที่พักแห่งแรกและแห่งเดียวของเครือนี้ในกรุงเทพฯ 

“เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์อมัน เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ Flagship ของอมันในกรุงเทพฯ นายเลิศกรุ๊ปภาคภูมิใจในงานด้านการบริการและการโรงแรมของเราเสมอมา เรายินดีที่จะสร้างตำนานบทใหม่ที่จะสืบสานเกียรติภูมิของนายเลิศกรุ๊ปไปพร้อมกับแบรนด์อมัน” 

คุณเล็กยืนยันกับเราว่า ไม่ว่าสิ่งก่อสร้างรอบข้างจะเปลี่ยนไปอย่างไร พิพิธภัณฑ์บ้านไม้สักหลังนี้จะยังคงอยู่ และสืบสานเรื่องราวเรื่องราวและอัตลักษณ์ของนายเลิศ ให้เป็นแรงบันดาลใจกับทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่บริเวณ 20 ไร่ใจกลางกรุงนี้เสมอ

อย่างที่เขาว่ากันว่า “If you don’t know where you came from, you don’t know where you’re going”

คุยกับ คุณเล็ก ณพาภรณ์ เรื่องการบริหาร Living Museum ‘ปาร์คนายเลิศ’ ในยุค COVID-19

บ้านปาร์คนายเลิศ 

ซอยสมคิด ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ (แผนที่)

เปิดให้เข้าชมในวันพุธถึงอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) ค่าเข้าชมท่านละ 250 บาท รอบเข้าชมเวลา 9.30 น. 11.30 น. 14.30 น. และ 16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0 2253 0123 หรือ Facebook : Nai Lert Park Heritage Home

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)