คลื่นและลมทะเลคงเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร นวมศิริ แข็งแกร่ง และเป็นนักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นอยู่เป็นชีวิต 

กว่า 20 ปี คนชุมชนริมคลองบางบ่อ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ประสบปัญหาแผ่นดินถูกกัดเซาะจากน้ำทะเล บ้านเรือนหลายสิบหลังต้องถอนเสาเรือนและย้ายครอบครัวหนี 

ในฐานะผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่แดงจึงเป็นแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลน เขาพาลูกบ้านฟื้นฟูนากุ้งร้างและที่ดินสาธารณะประโยชน์กว่า 200 ไร่ โดยการโน้มน้าวให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมปลูกป่าและพัฒนา จนกลายสภาพมาเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ 

เขาสร้างกำแพงไม้ไผ่เพื่อให้กำเนิดป่าชายเลนระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร ช่วยชะลอคลื่นลมและลดแรงปะทะกัดเซาะชายฝั่งที่ผู้ใหญ่แดงไปเรียนรู้จากที่อื่นๆ และนำมาทดลองทำในชุมชนของตัวเอง ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือ ดินเลนค่อยๆ สะสมหลังแนวไม้ไผ่ เขาจึงลงมือปลูกป่าชายเลนอย่างเป็นระบบ โดยให้ต้นแสมเป็นด่านหน้า และให้โกงกางเป็นด่านใน 

ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กลับคืนมา ทำให้สัตว์น้ำที่เคยหายไป อย่างหอยปากเป็ดหรือหอยราก ไปจนถึงตัวนากและเสือปลากลับมาอาศัยในพื้นที่ สร้างรายได้ให้ประมงพื้นบ้านพื้มขึ้นกว่าเท่าตัว 

กลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลนยังกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคน 3 วัย ทั้งวัยเด็ก วัยกลางคน และผู้สูงวัย โดยให้เข้ามาทำกิจกรรมด้วยกันที่โรงเพาะชำกล้าไม้ จัดตั้งธนาคารปูม้าและเขตคุ้มครองปูแสม พัฒนาทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเป็นพื้นที่ห้องเรียนธรรมชาติ

เราเดินทางมุ่งสู่อ่าวไทย สู่โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน ที่ผู้ใหญ่แดงก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความตระหนัก ผูกพันระหว่างคนและป่าชายเลนให้กับทุกคน พูดคุยถึงความกล้าคิดนอกกรอบและอุดมการณ์ที่จะยืนหยัดปกป้องสิ่งแวดล้อมตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาของเขา

01 

เมื่อชายฝั่งพังทลาย

“ก่อนมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมก็หากินในทะเล ค่ำนอนเช้าก็ออกจับกุ้งหอยปูปลา ผมไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะปกป้องท้องทะเลของเราให้อยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน สิ่งที่จะปกป้องเราชาวบ้านเมื่อมีพายุใหญ่ คือป่าชายเลน ผมไม่ได้ตระหนักจนกระทั่งได้มาเป็นผู้นำ ชาวบ้านเดือดร้อนหนักจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง จนเราต้องเร่งหาทางแก้ไข และเพิ่งมาเข้าใจระบบการปกป้องของธรรมชาติ

ผู้ใหญ่แดงเล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่อดีตชาวบ้านบริเวณนี้ต้องย้ายบ้านหนีกันมาแล้วหลายสิบหลังคาเรือน วันที่ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เมื่อ พ.ศ. 2551 ผู้ใหญ่แดงจึงตัดสินใจจะแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

“ผมก็ชวนชาวบ้านว่าจะต่อสู้ไหม ถ้าจะต่อสู้เราก็ต้องศึกษากับธรรมชาติ เราเดินทางไปศึกษาเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในหลายๆ ที่ บางที่ทำเป็นแนวหินทิ้ง บางที่ทำไส้กรอกทราย บางที่เอาเสาคอนกรีตปัก ผมไปเห็นการปักไม้ไผ่ คิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่เข้ากับบริบทหมู่บ้านเราที่สุด 

“พวกแนวหินทิ้งหรือโครงสร้างแข็งอื่นๆ สมมติเราทำหนึ่งกิโลเมตร พลังของคลื่นลมที่ปะทะเข้ามา บริเวณที่มีโครงสร้างแข็ง มันอยู่ แต่พลังน้ำก็จะกินอีกข้างหนึ่ง ยิ่งไปทวีความรุนแรง เลยไปของบประมาณปักไม้ไผ่จากหลายส่วนแต่ก็ไม่ได้ จนผู้ว่าราชการจังหวัดรู้เรื่อง ท่านเลยให้เงินตั้งต้นมาห้าหมื่นบาท เพื่อทดลองทำ

“การปักไม้ไผ่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ปลายทางของเราคือการฟื้นคืนผืนป่าชายเลน เพราะถ้าอยู่ดีๆ ไปปลูกไม้ชายเลนเลยดื้อๆ คลื่นลมแรงจะซัดถล่มกล้าไม้แน่นอน เราต้องปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นไว้ แล้วปลูกป่าข้างในให้สมบูรณ์ แนวป้องกันที่แท้จริงคือป่าชายเลน หัวใจคือป่า แม้เราจะปักไม้ไผ่ลงไป ปักหนาแน่นแค่ไหน ไม่กี่ปีไม้ไผ่ก็จะผุพังหักไปตามกาลเวลา แต่ป่าคงอยู่ตลอดไป ไม่มีวันโรยรา มีแต่จะเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขา”

จากการศึกษาและลงมือทำมาตลอด 10 ปี ผู้ใหญ่แดงอธิบายว่า พันธุ์ไม้ชนิดไหนควรเป็นแนวปะทะอยู่ด้านหน้าสุด และแนวต่อๆ มาจะต้องเป็นต้นอะไร เพราะถ้าสักแต่ปลูก โดยไม่ดูรูปแบบของธรรมชาติพันธุ์ไม้ สิ่งที่เกิดขึ้นหรือผลกระทบอาจยิ่งรุนแรง “เราปลูกสามแนว ใช้ต้นแสมดำปลูกรุกออกไปด้านนอกทะเล ชั้นที่สองคือโกงกางใบใหญ่ ชั้นสุดท้ายเป็นโกงกางใบเล็กและแสมขาวผสมผสานกัน

“โกงกางใบใหญ่และเล็ก คุณลักษณะพิเศษคือเป็นไม้ที่มีรากค้ำยัน ถ้าเป็นต้นแสมจะเป็นรากคลุมดินไว้ ในเลนอ่อนๆ ควรปลูกแสมไว้ เพราะรากจะแผ่กว้างและมีรากอากาศหายใจ พอน้ำทะเลท่วมราก มันจะบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติไปในตัว หน่อรากต่างๆ ก็เป็นที่ซุกซ่อนตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน ต่อไปแนวไม้ไผ่ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมีรากสาขาของต้นไม้เหล่านี้เป็นแนวกันชะลอคลื่นลมอยู่แล้ว”

สุดท้ายแล้วไม่มีเครื่องมือชนิดใดจะปกป้องแนวชายฝั่งไว้ได้ดีเท่าต้นไม้ 

mangrove-forest-school-51

02

ผืนป่าฝีมือมนุษย์

ผู้ใหญ่แดงอธิบายว่า พื้นที่บริเวณนี้เดิมมีป่าชายเลนอยู่ สมัยผู้ใหญ่ยังเด็ก แนวป่าลึกออกไปไกลในทะเลถึง 200 เมตร แต่ต่อมาถูกรุกรากจนเหลือพื้นที่อยู่ไม่มาก แถมยังไม่สมบูรณ์หนาแน่น ดังนั้นเวลามีคลื่นลมแรงพัดมา เลยทำให้ต้นไม้ล้มตายได้ง่าย ช่วง 6 ปีแรกของการทำงาน จึงเน้นฟื้นฟูสภาพป่าที่หลงเหลืออยู่ให้กลับมามีสุขภาพดี แข็งแรง และแน่นทึบ

“ก่อนจะเริ่มปลูกข้างนอกตรงที่ดินเลนโล่งว่าง เราคิดว่าต้องทำให้ข้างในตรงป่าเดิมที่ยังเหลือหนาแน่นก่อน เราจึงปลูกต้นแสมและโกงกางแซมเข้าไป มองดีๆ จะเห็นแนวเรือนยอดที่ไม่เท่ากัน ต้นเก่าแก่ที่อายุนับร้อยปีสูงที่สุด ส่วนต้นที่เพิ่งปลูกเมื่อสิบปีที่แล้วจะสูงลดหลั่นกันลงมาตามอายุ”

จากนั้นผู้ใหญ่แดง ชาวบ้าน เยาวชน และอาสาสมัครหลายรุ่นก็ช่วยกันปลูกแนวป่าถอยร่น ซึ่งอยู่ด้านหลังแนวป่าเดิม พื้นที่บริเวณนี้เมื่อก่อนเป็นบ่อกุ้งที่เมื่อทำการเพาะเลี้ยงไปนานๆ ก็เสื่อมโทรมและถูกทิ้งร้าง โชคดีที่เจ้าของที่เห็นในสิ่งเดียวกับผู้ใหญ่แดง จึงยกพื้นที่ให้ปลูกป่าชายเลนเป็นป่าแนวถอยร่น เพื่อเสริมความแข็งแรงให้แนวกำแพงธรรมชาตินี้ รวมๆ แล้วเป็นพื้นที่หลายร้อยไร่

ปกติเด็กๆ ในชุมชนกลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลนมีหน้าที่ดูแลเพาะชำกล้าโกงกางและแสม เพื่อนำลงปลูกในดินเลน แต่หลังจาก 6 ปีแรกของการฟื้นฟูป่าชายเลนที่นี่ ก็เริ่มมีอาสาสมัครจากนอกพื้นที่หมุนเวียนกันเข้ามาช่วยปลูกปักเช่นกัน 

ถึงอย่างนั้นการปลูกป่าชายเลนก็ไม่ใช่งานง่ายๆ ผู้ใหญ่แดงอธิบายว่า เพราะคลื่นลม ลักษณะดิน และปัจจัยอื่นๆ อย่างขยะทะเล ก็มีส่วนทำให้กล้าไม้ที่นำลงปลูกมีโอกาสรอดน้อยลง ยิ่งปีแรกๆ ยิ่งยาก เพราะรากของต้นไม้ยังไม่หยั่งลึก ต้องรอ 3 – 4 ปีเป็นต้นไป จึงจะเบาใจได้ว่าต้นไม้ต้นนั้นจะอยู่สืบลูกหลานไม่ล้มตายลงง่ายๆ ที่เห็นเรือนยอดป่าลดหลั่นเพราะปลูกแล้วบางต้นตาย ต้องซ่อมปลูกแซม เลยมีต้นไม้หลายขนาดผสมผสานกันไป

“แรกๆ มีแต่คนหาว่าบ้า ไม่มีใครเชื่อเลยไม่มีใครให้งบประมาณ ผมไปบอกหน่วยงานส่วนท้องถิ่น บอกว่าพื้นที่ตรงนี้มันวิกฤตแล้ว น้ำกัดเซาะรุนแรงมาก ผมไปศึกษามาแล้ว ต้องใช้กระบวนการแบบนี้ พอจะมีงบประมาณอะไรมาช่วยได้ไหม เขาบอกว่าไม่มี ผมก็หมดคำจะพูดต่อ คนแรกที่เชื่อมั่น คือ ท่านผู้ว่าโอภาส เศวตมณี ให้เงินก้อนแรกมาห้าหมื่นบาท ไปทำแนวไม้ไผ่ ชาวบ้านก็มาร่วมด้วยช่วยกัน 

“ทำแนวไม้ไผ่เสร็จ ต่อมาเราต้องการทำสะพานไม้ไผ่ไว้สำหรับเดินปลูกป่า เพราะจุดหมายของเราคือผืนป่ายั่งยืน ไม่ใช่แค่แนวไว้ไผ่ชั่วคราว กว่าจะหางบมาลงได้แต่ละก้อน บางครั้งผมก็ใช้งบ งกอ. ย่อมาจากงบกูเองยังไงล่ะ” ผู้ใหญ่แดงเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

03

เปลี่ยนคำปรามาสเป็นพลัง

“แต่ก่อนมีแต่คนปรามาสว่าไม่ทางทำสำเร็จ คำสบประมาทพวกนั้นแหละที่ทำให้ฮึดสู้ คำพระเขาบอกว่า เจอมารมาผจญ จะชนะมารได้ใจเราต้องนิ่ง จนกระทั่งออกมาเป็นกลอนประจำใจ”

ใครชั่ว ใครชัง ช่างเธอ 

ใครชู ใครเชิด ช่างเขา 

ใครว่า ใครบ่น ทนเอา 

ใจเราร่มเย็นเป็นพอ 

“จริงๆ ตั้งแต่เริ่มผมไม่ได้ทำงานคนเดียว มีชาวบ้านผลัดกันมาช่วยเพราะจะให้เขาช่วยตลอดก็คงไม่ได้ ทุกคนยังต้องทำมาหากิน ส่วนของการวางแผนก็มีที่ปรึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยมาช่วย คือเรามีการวางผังแม่บทเอาไว้ตั้งแต่เริ่มว่าจะทำอะไรบ้าง ปีไหนจะปลูกป่า ทำทางเดิน หรือสร้างศาลาการเรียนรู้ 

“เหมือนมีไกด์ไลน์ไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะทำอะไรบ้าง จากนั้นค่อยๆ ดำเนินไปตามแผน เมื่อได้งบประมาณมาแต่ละก้อนๆ หลังปีที่หก นอกจากอาสาสมัครจากข้างนอกที่เข้ามาช่วยงานปลูกป่าแล้ว ก็เริ่มมีหน่วยงานเอกชนใหญ่ๆ เข้ามาให้เงินสนับสนุน

“ตอนนี้คนที่เคยปรามาสเราไว้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานส่วนท้องถิ่นท้องถิ่นหรือใคร กลับลำมาสนับสนุนเราหมด เรารู้ว่าที่เรามุ่งมั่นทำ มันส่งผลไปถึงลูกหลานของคุณด้วย ป่าชายเลนตรงนี้ที่เห็นต้นเล็กต้นน้อย อีกสิบปีมันจะหนาแน่นขนัดไปด้วยเรือนยอดไม้ ถ้ายิ่งมีคนรุ่นที่สองเข้ามาดูแล บำรุงรักษาต่อ มันก็จะเสื่อมสลายยาก ป่าดี เลนดี ช่วยชุบชีวีชายฝั่ง เมื่อก่อนคนมองไม่ออก เพราะต้นไม้ในป่าชายเลนมันกินไม่ได้ มันไม่เหมือนสวนผลไม้ที่มีผลผลิตให้เก็บกิน”

ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร รวมศิริ ชายที่คนหาว่าบ้า ผู้สร้างแนวกันคลื่นจนกำเนิดป่าชายเลนยาว 9 กม.
ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร รวมศิริ ชายที่คนหาว่าบ้า ผู้สร้างแนวกันคลื่นจนกำเนิดป่าชายเลนยาว 9 กม.

การพัฒนาต้องเริ่มที่การพัฒนาคน ผู้ใหญ่แดงจึงเอาตัวเองเดินนำเป็นต้นแบบ ทำทุกอย่างให้ประจักษ์เห็น จากนั้นจึงชวนมาร่วมกันลงมือต่อยอด “เมื่อก่อนคนก็ให้ฉายาผู้ใหญ่บ้าๆ บอๆ เราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นอดทนมาได้อย่างไร อาจด้วยความที่เราอยากเห็นมันเป็นรูปธรรม ตอนนั้นค่ำๆ ยังไม่ได้ออกจากป่าชายเลนเลย”

ผู้ใหญ่แดงบอกว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นก็เมื่อความรู้ความเข้าใจถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลนจึงก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงความสำคัญของป่าชายเลน

“ผมบรรยายดิบๆ ในพื้นที่นี้ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีจออะไรทั้งสิ้น มีแต่ภาพของจริงตรงหน้า นี่คือโกงกางใบใหญ่ ลักษณะมันเป็นแบบนี้ ต้นแสมมีลักษณะเป็นแบบนี้ เห็นไหมมันมีรากหายใจโผล่มา คลุมดินเอาไว้หมดเลย มันมีประโยชน์อะไร มันเป็นรากระบายคายอากาศหายใจ เป็นแหล่งบำบัดน้ำเสียไปด้วย ในขณะที่ต้นไม้ทุกชนิดมันดูดซับสารพิษ สารตะกั่วที่ล่องลอยมากับน้ำได้ น้ำที่ผ่านป่าชายเลนจึงถูกบำบัดจนเป็นน้ำดี

“ทีนี้พอน้ำดีตกไปหลังป่าชายเลน ชาวบ้านทำนาเกลือ ก็ได้น้ำดีที่กลั่นกรองแล้วไปทำนาเกลือ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเราต้องกินเกลือ เราก็ได้เกลือที่บริสุทธิ์ หัวใจคือต้องพยายามบอกให้เด็กรู้ว่าป่าที่ดูเหมือนไกลตัว มันเชื่อมโยงไปถึงคนในเมืองยังไง”

ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร รวมศิริ ชายที่คนหาว่าบ้า ผู้สร้างแนวกันคลื่นจนกำเนิดป่าชายเลนยาว 9 กม.

04

ป่าชายเลนมีคุณค่าตามธรรมชาติ ทำหน้าที่ดักตะกอนและสะสมแร่ธาตุสารอาหารจากที่ราบบนแผ่นดิน ตะกอนเหล่านี้มีประโยชน์มหาศาลต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ในพื้นที่ป่าชายเลน ใบไม้ที่เน่าเปื่อยอยู่ใต้น้ำเป็นอาหารของแบคทีเรียและแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์น้ำวัยอ่อน

เราพบเห็นพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดได้ในป่าชายเลน รากของต้นโกงกางและพันธุ์ไม้ป่าชายเลนชนิดอื่นๆ เรียงตัวแน่นทึบ กลายเป็นหลังคาธรรมชาติที่ช่วยบังแสงอาทิตย์ และเป็นแหล่งอนุบาลและคุ้มภัยให้เหล่าสัตว์น้ำวัยอ่อน

นอกจากนี้ รากพันธุ์ไม้ป่าชายเลนยังมีโครงสร้างซับซ้อน ทั้งทำหน้าที่พยุงลำต้นและเป็นรากอากาศที่ดูดซับออกซิเจนสู่รากที่อยู่ใต้ดิน แถมยังเป็นที่แหล่งที่อยู่อาศัยของเพรียงและหอยชนิดต่างๆ อีกทั้งเป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิดอีกด้วย

ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร รวมศิริ ชายที่คนหาว่าบ้า ผู้สร้างแนวกันคลื่นจนกำเนิดป่าชายเลนยาว 9 กม.

“นี่คือโกงกางใบใหญ่ ส่วนต้นนี้โกงกางใบเล็ก ใบจะแหลมกว่า” ผู้ใหญ่แดงว่าพลางหยุดชื่นชม “ต้นไม้ชนิดนี้จับสารตะกั่วได้ดีที่สุด มันจะทิ้งรากไว้ข้างบนเหมือนรากไทรเลย ตอนนี้เรายังต้องใช้ไม้ไผ่ปักชะลอคลื่น ต่อไปพอต้นไม้ที่เราปลูกโตขึ้น ยี่สิบปี ห้าสิบปี ร้อยปีจากวันนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่อีกต่อไป เพราะรากสาขาจะกลายเป็นกำแพงที่มีชีวิตสำหรับชะลอคลื่นน้ำลมเอง”

ผู้ใหญ่แดงชี้ชวนให้แหงนหน้าดูนกหลายชนิดที่บินเข้าๆ ออกๆ แมกไม้ทั้งนกน็อทใหญ่ไปจนถึงนกอีก๋อย 

“ที่นี่เป็นแหล่งดูนกด้วยนะ นกในนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบสี่สิบชนิด เฉพาะนกประจำถิ่นไม่รวมนกอพยพ ถ้าอยากเห็นนกอพยพมาช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม พวกมันบินมาจากไซบีเรียเพื่อหนีหนาวไปออสเตรเลีย มีกระเต็นและกระเต็นหัวดำ เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดว่า ระบบนิเวศชายฝั่งได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูมากแค่ไหน พอป่าดี น้ำดี เลนดี นกอพยพก็รู้ว่ามันต้องแวะเติมน้ำมันที่ไหน”

ป่าชายเลนคือแกล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นดี ผู้ใหญ่แดงอธิบายว่าเพราะพืชพรรณในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง จึงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าป่าบกถึง 20 เท่า สิ่งที่ตามมา คือปริมาณออกซิเจนในอากาศที่หนาแน่น เพียงแค่ก้าวเท้าเข้าสู่บริเวณป่าชายเลนก็รู้สึกได้ว่าอากาศชื้นบริสุทธิ์

“แสมหลายต้นในป่าผืนนี้มีอายุเป็นร้อยปี ดูสิ นี่ดอกของมันกลิ่นหอมหวานดีนะ เดี๋ยวพอมันออกเม็ดมา เราก็จะเอาเม็ดไปเพาะเป็นกล้าไม้ต่อ แถวนี้มีผึ้งด้วยนะ ทุกปีเวลาต้นแสมออกดอก ผึ้งหลวงจะบินมาผสมเกสรและทำรังอยู่ในป่าชายเลน พอหมดฤดูมันจะจากไปและกลับมาใหม่ในปีต่อๆ ไป แต่ละปีเราเก็บน้ำผึ้งได้หลายขวด บางปีเก็บได้ถึงสี่สิบขวดเลยนะ น้ำผึ้งป่าชายเลนอร่อยนะ ไม่เชื่อมาชิมได้เลย” 

05

ปลูกต้นไม้ในใจคน

“ตรงนี้แต่ก่อนล้านเลี่ยนเตียนโล่ง เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมปลูกตั้งแต่ยังเป็นกล้าไม้เล็กๆ จนตอนนี้เรือนไม้แน่นขนัดไปหมด สำหรับคนรักธรรมชาติมองยังไงก็งดงามเสมอ สัจธรรมที่ผมเรียนรู้ถ่องแท้คือถ้าเราไม่ทำให้เห็น พิสูจน์ว่าให้ดูกับตา คนก็ปรามาสเราอยู่ร่ำไป ทั้งที่เจตนาของเราก็เพื่อทุกคน 

“เมื่อก่อนกว่าจะของบประมาณสักก้อนมาได้ช่างยากเย็น ตอนนี้งบประมาณไม่ต้องขอเลย ปีหนึ่งได้มาหลายสิบล้าน เพราะทุกคนต่างเห็นแล้วว่าชาวบ้านธรรมดาๆ ก็พลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาได้ มันเป็นตลกร้ายที่น่าเหลือเชื่ออยู่เหมือนกัน” ผู้ใหญ่แดงเอ่ยขึ้นยิ้มๆ

“นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน ผมอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เพราะถึงเราจะทำให้ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ แต่ถ้ามีแค่ป่า ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกส่งทอด ในอนาคต ป่าก็อาจจะถูกทำลายไปอีกได้”

นอกจากโรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลนที่เปิดให้คนทั่วไปและเยาวชนจากทั่วโลกเข้ามาเรียนรู้เรื่องป่าชายเลน ที่นี่ยังมีเครือข่ายอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลนที่แข็งแรง ประกอบไปด้วยเหล่าลูกทะเลในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจแน่นจนเป็นมัคคุเทศก์ (เด็ก) ช่วยผู้ใหญ่แดงบรรยายได้อย่างคล่องแคล่ว พวกเขาเหล่านี้แหละที่จะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลปกปักรักษาป่าชายเลนผืนนี้ต่อไปในอนาคต 

“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันมหาศาลจากที่ลงมือ ลงแรงไปมาก สำหรับผมมันคืนทุน กำไรไม่รู้กี่ร้อยเท่าแล้วด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดแค่นี้ เมื่อป่ากลับมา สัตว์ก็กลับมา อย่างลิงแสมที่มันอยู่ของมันแถวนี้มาตั้งแต่แรก พอป่าน้อยลงมันก็ต้องบีบอัดพื้นที่หากินอยู่อาศัยของมันลงมา ปริมาณมันก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะมันไม่รู้จะไปหาอะไรกิน พอป่าอุดมสมบูรณ์ ตอนนี้ก็เห็นพวกมันออกลูกหลานเพิ่มปริมาณมากขึ้น 

“ตัวนากและเสือปลาก็เริ่มกลับมาเช่นกัน ทั้งหมดคือตัวชี้วัดว่าผืนป่ากำลังจัดระเบียบซ่อมแซมตัวเองอย่างเป็นระบบและยั่งยืน”

ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร รวมศิริ ชายที่คนหาว่าบ้า ผู้สร้างแนวกันคลื่นจนกำเนิดป่าชายเลนยาว 9 กม.

ที่นี่ยังเป็นที่เพาะเลี้ยงปูแสมและหอยจุ๊บแจง ซึ่งชาวบ้านที่นี่จะจับกันเป็นฤดูและไม่ตะบี้ตะบันจับจนหมดทะเล เมื่อสัตว์น้ำมีพื้นที่อนุบาล มีเวลาให้เติบโต ระบบนิเวศชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ก็กลับคืนมา

“การทำงานก็เหมือนการเดินของเข็มนาฬิกา เข็มสั้นคือผลลัพธ์ เข็มยาวคือแรงกายแรงใจที่เราลงไปกับงาน เข็มสั้นจะเริ่มเดินให้เห็น ก็ต่อเมื่อเข็มยาวเดินไปแล้วตั้งรอบหนึ่ง พอผมพูดแบบนี้ก็มีคนบอกว่า อย่างลุงน่ะคือเข็มวินาที (หัวเราะ) เดินเยอะและเดินเร็วสุด แถมถ้าเข็มวินาทีหยุด เข็มสั้นยาวหยุดหมด ผมเลยยังไม่หยุดเดินจนถึงตอนนี้ แม้จะเกษียณอายุราชการ ผมวาระการเป็นผู้ใหญ่บ้านมาสองสามปีแล้ว แต่ก็ยังจะทำต่อไปเรื่อยๆ”

ผู้ใหญ่แดง-วิสูตร รวมศิริ ชายที่คนหาว่าบ้า ผู้สร้างแนวกันคลื่นจนกำเนิดป่าชายเลนยาว 9 กม. จังหวัดสมุทรสงคราม

ภาพ : ธนบัตร ชาวนาฟาง

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographers

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ