วันนี้…เป็นวันสงกรานต์…หนุ่มสาวชาวบ้าน…เบิกบานจิตใจจริงเอย…

ก่อนจะลุกขึ้นรำวงตามทำนองเพลงสุนทราภรณ์ที่ติดหู ขอกราบสวัสดีวันปีใหม่ไทยประจำพุทธศักราช 2566 ขออาราธนาพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรดดลบันดาลให้ผู้แวะเข้ามาอ่านทุกท่านเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยความสุขสำราญใจตลอดปีและตลอดไปนะครับ

เราคนไทยต่างรู้กันมาแต่เล็กว่า ‘สงกรานต์’ คืออีกชื่อหนึ่งของ ‘วันปีใหม่ไทย’ เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องขยายให้ยืดเยื้อ เพราะแม้แต่ฝรั่งต่างชาติก็ยังรู้จัก Songkran ควบคู่กับสมญา ‘Water Splashing Festival’ บ่งบอกว่าเทศกาลและวิธีเฉลิมฉลองปีใหม่ของคนไทยเป็นที่แพร่หลายมากเพียงใดในสังคมโลก

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
ภาพ : Lost Boy Memoirs

แต่จะว่าไปแล้ว การเคลมว่า ‘สงกรานต์’ เป็นวันปีใหม่ของคนไทยเพียงชาติเดียวก็คงไม่ถูก เพราะเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบประเทศของเราต่างถือเอากลางเดือนเมษายนเป็นวันฉลองปีใหม่ มีการเข้าวัด ทำบุญ รวมถึงเล่นน้ำคลายร้อนด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เขาจะเรียกเทศกาลนี้ว่าอะไรนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

ไทยเราเรียก ‘สงกรานต์’ ลาวเรียก ‘สงกาน’ แบบไม่กระดกลิ้น ส่วนพม่าเรียก ‘ดะจาน’ (Thingyan) ซึ่งคงเพี้ยนมาจากภาษาสันสฤตหรือบาลีคำเดียวกัน โดยรากศัพท์ของคำเหล่านี้คือ ‘สํกฺรานฺติ’ มีความหมายว่า การเปลี่ยนผ่าน ในที่นี้ก็คือการเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่

การฉลองสงกรานต์ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา ศรีลังกา ไปจนถึงจีนตอนใต้ และบางส่วนของอินเดีย ซึ่งถ้าดูดี ๆ ทุกชนชาติที่ร่วมฉลองเทศกาลนี้มีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมร้อยกันอยู่ นั่นคือความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่รับมาจากอินเดียโบราณ

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
ภาพ : Discoverydmc.com

แต่เดิม วันปีใหม่ไทยดั้งเดิมคือวันเริ่มต้นเดือนอ้าย แปลตรงตัวว่า ‘เดือน 1’ ตามปฏิทินจันทรคติ ตรงกับประมาณเดือนธันวาคมตามปฏิทินสุริยคติของสากล เพราะเป็นเดือนน้ำนอง ประเพณีการฉลองปีใหม่ไทยสมัยเก่าคือการลอยกระทงจุดประทีป (หมายความว่าแต่ก่อนนี้ลอยกระทงเคยเป็นงานฉลองปีใหม่ของคนไทยมาก่อนนะครับ)

ส่วนวันสงกรานต์ที่ทุกวันนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘ปีใหม่ไทย’ แท้จริงอยู่ในช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติไทย เป็นเทศกาลเปลี่ยนราศีตามตำราพราหมณ์ในอินเดีย พระอาทิตย์จะย้ายจากราศีมีนเข้าราศีเมษในช่วงนี้ ถือเป็น ‘มหาสงกรานต์’ (การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่) ตามแนวคิดของพราหมณ์ ทว่าสาเหตุที่บรรพบุรุษของเราได้นำเทศกาลนี้มายึดเป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น เป็นผลจากการซึมซับรับความเชื่อจากศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาใช้ในสังคมชนชั้นสูงอย่างราชสำนัก

คนยุคพวกเราอาจมีภาพจำต่อเทศกาลสงกรานต์ว่าจะต้องมีการเล่นสาดน้ำ ฉีดน้ำใส่กัน และพลอยคิดว่าชาวสยามหรือไทยในอดีตก็คงฉลองสงกรานต์ด้วยวิธีการเหล่านี้มาแต่โบราณนานเนิ่น หากในความเป็นจริง อินเดียซึ่งเป็นต้นเค้าของสงกรานต์ไม่เคยมีการสาดน้ำใส่กันมาก่อน และบรรยากาศเหล่านี้เพิ่งมาปรากฏตามท้องถนนเมืองไทยเมื่อราว 100 ปีมานี้

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
จิตรกรรมภาพเดือน 5 พระอุโบสถวัดเสนาสนาราม
ภาพ : กรมศิลปากร

ในสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ สงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของราชการ พิธีการและพิธีกรรมต่าง ๆ ยังจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นปกครองในราชสำนัก ใน พระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวถึงสงกรานต์ว่าเจ้านายในวังจะทำบุญเลี้ยงพระ สรงน้ำพระพุทธรูป ส่วนวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ เล่าว่าราษฎรเพียงแค่แต่งกายสวยงาม ทำอาหารทั้งคาวหวาน เข้าวัดฟังธรรม และเล่นสนุกกันไปตามเรื่อง

ที่สงกรานต์เริ่มทวีบทบาทขึ้นมาในสังคมไทย อาจเป็นเพราะเมื่อ พ.ศ. 2432 ในยุครัชกาลที่ 5 มีการกำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ และใช้เรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2483 สมัยรัชกาลที่ 8 วันสงกรานต์ซึ่งอยู่ในเดือนเมษายนจึงพลอยได้รับการจดจำมากขึ้นในฐานะวันปีใหม่ที่มีมาก่อน ส่วนการสาดน้ำเล่นกันในวันสงกรานต์ก็เพิ่งเพิ่มขึ้นมากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อันเป็นยุคที่ประเพณีหลวงได้รับการส่งทอดมาสู่ไพร่ฟ้าประชาชนมากขึ้น

บางคำอธิบายระบุว่าการสาดน้ำใส่กันในวันสงกรานต์นี้มีที่มาจากพม่า

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
ภาพ : Rove.me

เมียนมา (Myanmar) ที่เมื่อก่อนใช้ชื่อว่า พม่า (Burma) เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใกล้ชิดกับอินเดียมากที่สุด และเป็นชาติเดียวในภูมิภาคของเราที่มีพรมแดนติดกับแดนภารตะ เป็นเหตุให้ชาวพม่าโอบรับอารยธรรมอินเดียได้มากกว่าใครเพื่อน

ดะจาน หรือสงกรานต์ในพม่าก็คล้าย ๆ กับสงกรานต์ของไทยในอดีต คือรับมาพร้อมกับศาสนา เพื่อใช้ในราชสำนักเป็นสำคัญ ในขณะที่ราษฎรคนธรรมดานิยมสระผม อาบน้ำ ทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อชำระล้างมลทินออกไปให้สิ้น กษัตริย์พม่าในสมัยก่อนจะทรงประกอบพระราชพิธีชำระพระเกศา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมดวงพระชะตาของพระองค์เอง และขจัดโพยภัยแก่บ้านเมือง

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
วันบรมราชาภิเษก เป็นโอกาสสำคัญที่กษัตริย์พม่าจะได้ชำระพระเกศาของพระองค์
ภาพ : Wikipedia

พระราชพิธีชำระพระเกศาของกษัตริย์พม่ายังแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามความสำคัญ ที่สำคัญที่สุดจะจัดขึ้นในวันบรมราชาภิเษกหรือวันเถลิงศกสงกรานต์ เรียกว่า ‘ดะจานด่อ-ข่อ’ แปลไทยคือพิธี ‘เรียกพระสงกรานต์’ ที่จะต้องมีรับสั่งให้บรรดาเชื้อพระวงศ์ เจ้าฟ้า เจ้านาย ตลอดจนผู้มีอำนาจปกครองในแผ่นดินทั้งมวลมารวมตัวกันที่ราชสำนัก กษัตริย์จะทรงเรียกพระสงกรานต์พร้อมกับทรงบูชาดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ดวง ซึ่งในวันเดียวกันนี้ โหรหลวงจะทำการพยากรณ์ดวงชะตาบ้านเมือง ก่อนประกาศ ‘ดะจาน-ส่า’ หรือ ‘สารสงกรานต์’ ให้พสกนิกรได้รับรู้ผลทำนายในพระราชอาณาจักรว่าปีนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้ง เกิดโรคระบาด อากาศแปรปรวน เพาะปลูกดี ฯลฯ ซึ่งฟัง ๆ ดูแล้ว ดะจานของพม่าสมัยก่อนน่าจะคล้ายกับวันสงกรานต์ผสมกับวันพืชมงคลของไทยอย่างไรอย่างนั้น

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
จิตรกรรมการเล่นน้ำดะจานในสมัยพุกาม
ภาพ : Wikipedia

ส่วนการเล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งภาษาพม่าเรียกว่า ‘เหย่-แปะก์-ผยาน’ เป็นงานรื่นเริงที่มักกระทำกันในวันที่พระเจ้าแผ่นดินทรงชำระพระเกศา เป็นกิจกรรมที่ทำกันในพระราชสำนักพม่ามาแต่โบราณนานมาก อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัยพุกามเมื่อกว่า 700 ปีก่อน มีจารึกว่า พระเจ้านรสีหบดี กษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์พุกาม โปรดฯ ให้สร้างพลับพลาชั่วคราวไว้ใกล้พระราชวังเพื่อประทับเล่นน้ำดะจาน ส่วนหนังสือเรื่อง กลอนสิบสองราศีบทกวีแห่งเมืองอังวะ ซึ่งบันทึกขึ้นในยุคปลายราชวงศ์ตองอูเมื่อ 300 ปีมาแล้ว กล่าวถึงการเล่นน้ำดะจานว่า “ต่างเล่นน้ำดะจานแบบอย่างแต่กาลก่อนเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้”

แม้ว่าอินเดียจะไม่เคยมีธรรมเนียเล่นน้ำในวันสงกรานต์มาก่อน แต่ทางพม่าก็ได้ให้คำอธิบายถึงการเล่นน้ำของพวกเขาว่ามาจากพุทธประวัติ ว่าเหล่ากษัตริย์ศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ (ตระกูลของพระพุทธเจ้า) มีสระน้ำขนาดใหญ่ที่ไขน้ำเข้ามาในเขตพระราชฐาน การเล่นน้ำของพวกเขาจึงอ้างอิงตามการผันน้ำจากสระน้ำของเหล่ากษัตริย์ศากยวงศ์

หากจะว่ากันตามหลักฐานที่พบ การสาดน้ำเล่นสงกรานต์ของฝั่งไทยเรานับว่ามีน้อยกว่า และระบุความเก่าแก่ไม่ได้เท่าฝั่งพม่า นอกจากจารึกของชาวพม่าเมื่อหลายศตวรรษก่อน ชาวตะวันตกที่เดินทางไปเยือนพม่าเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วก็ได้บันทึกและเขียนภาพการเล่นน้ำในเทศกาลดะจานไว้หลายภาพ ซึ่งแต่ละภาพมีลักษณะใกล้เคียงกับการเล่นน้ำในยุคสมัยใหม่เสียเหลือเกิน ภาพหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นภาพจากหนังสือพิมพ์ The Illustrated London News เมื่อปี 1852 เป็นภาพชาวบ้านในพม่ากำลังรุมฉีดและสาดน้ำใส่ชาวตะวันตกที่กำลังขี่ม้า

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
ภาพ : Lost Footsteps

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เคยเดินทางไปพม่าช่วงเทศกาลดะจานเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เล่าไว้ว่า “ในเมืองพม่าเมื่อวันสงกรานต์มีสาดน้ำกัน ชาวต่างชาติก็ไม่ขัดข้องอะไร เว้นแต่ชาวอินเดียที่ถือว่าเป็นผู้ดีชั้นสูงนั้นแหละขัดข้อง ไม่เห็นสนุกด้วย แต่พวกจีนตรงกันข้าม พลอยสนุกสาดน้ำไปกับเขาด้วย ถึงกับลงทุนจ้างเขาตักน้ำไว้ให้สาดกัน ที่ก็คล้ายกับกรุงเทพฯ เมื่อก่อน…” พร้อมทั้งกล่าวว่าใน พ.ศ. 2338 ทูตอังกฤษในกรุงอังวะได้สาดน้ำเล่นกับชาวพม่าอย่างสนุกสนาน

นอกจากนี้ เสฐียรโกเศศยังกล่าวถึงบรรยากาศการเล่นน้ำเทศกาลดะจานในกรุงย่างกุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2490 ที่มีสภาพคล้ายยุคปัจจุบันมากว่า

“เห็นพวกหนุ่ม ๆ รวมทั้งเด็กด้วย นั่งรถยนต์กระบะรวมกันไปในรถคันหนึ่ง หลาย ๆ คน ในรถมีน้ำบรรทุกไปด้วย เมื่อแล่นไปตามถนนร้องรำทำเพลงไปตลอดทาง ตามวิสัยของคนหนุ่มที่คะนองและสนุกร่าเริง เมื่อมีรถอื่นผ่านมาตลอดจนคนเดินถนนก็ถูกพวกหนุ่ม ๆ เหล่านี้ เอาน้ำสาดอย่างไม่ปรานี สาดกันเป็นขันใหญ่ ๆ… เห็นพวกที่มารถกระบะ หยุดรถทำสงครามสาดน้ำกันกับพวกที่อยู่ประจำท่อประปา สาดรดกันอย่างสนุกสนาน…”

ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย
นายกรัฐมนตรี อู้นุ เล่นน้ำร่วมกับประชาชน

ตั้งแต่ยุคที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษเรื่อยมาจนได้รับเอกราช ดูเหมือนว่าเทศกาลดะจานหรือสงกรานต์จะเป็นวาระพิเศษที่ทุกคนปลดปล่อยความรู้สึกที่ฝังลึกในใจตนเองได้เต็มที่ ลำดับชนชั้นหรือสถานะทางสังคมที่เคยวางไว้อย่างเข้มข้น ล้วนชะล้างไปกับน้ำเป็นการชั่วคราวในช่วงวันเถลิงศกใหม่นี้ ดังเห็นได้จากภาพวาดชาวตะวันตกที่มักวางตัวเป็นนายเหนือชนพื้นเมือง ถูกชาวบ้านตาดำ ๆ สาดน้ำใส่อย่างไม่บันยะบันยัง ราวจะระบายความอัดอั้นด้วยแรงอัดของน้ำ บรรดานักการเมืองตั้งแต่ อู้นุ นายกรัฐมนตรีคนแรก หลายคนก็ลดตัวลงมาเล่นน้ำกับประชาชนคนในชาติ เพื่อสร้างความสนิทสนมกลมเกลียวกับผู้อยู่ใต้ปกครอง พร้อมกันนั้นก็เป็นการเรียกคะแนนความนิยมจากพวกเขาไปในตัวด้วย

นางอองซานซูจี ขณะพรมน้ำดอกคูนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาล
ภาพ : Frontier Myanmar

ยุคนี้ดะจานกลายเป็นวันหยุดยาวที่สุดในรอบปีของประเทศเมียนมา ขณะที่ไทยเราหยุดสงกรานต์ได้เพียง 5 หรือ 6 วันเป็นอย่างมาก รัฐบาลเมียนมาประกาศวันหยุดดะจานไว้ราว 10 วันเป็นประจำทุกปี แต่จะมีการเล่นน้ำและทำกิจกรรมเนื่องในเทศกาลไม่เกิน 5 วัน ได้แก่วันที่ 13 – 17 เมษายน

ทั้ง 5 วันนี้มีชื่อเรียกเฉพาะวันนั้น และมีกิจกรรมที่ต้องทำต่างกันไป ได้แก่

‘อะโจ่-เน่ะ’ วันที่ 1 วันสุกดิบเตรียมรับสงกรานต์ ต้องจัดเตรียมทุกอย่างให้พร้อม

‘อะจ๊ะ-เน่ะ’ วันที่ 2 วันตกสงกรานต์ น่าจะเป็นวันที่สนุกที่สุด

‘อะแจ๊ด-เน่ะ’ วันที่ 3 วันคราสสงกรานต์ พระอินทร์จะประทับราชยานเสด็จลงมาบนโลกเพื่อจดบันทึกความดีความชั่วของมนุษย์ ทุกคนต้องรักษาความประพฤติทั้งกาย วาจา ใจ ให้สะอาดหมดจดที่สุด

‘อะแต๊ะก์-เน่ะ’ วันที่ 4 วันขึ้นสงกรานต์ ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเต็มตัว พระอินทร์เสด็จกลับขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปแล้ว ทุกคนจะเล่นน้ำส่งท้าย

‘หฺนิ๊ดซัน-ตะแยะก์-เน่ะ’ วันที่ 5 วันปากปี หรือวันขึ้นปีใหม่วันแรก ชาวพม่าจะเดินทางคารวะผู้ใหญ่พร้อมกับขอขมาลาโทษที่เคยได้ล่วงเกินต่อท่าน จากนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตร อุทิศส่วนกุศลให้สัมภเวสีผีสาง ปิดท้ายด้วยการนำข้าวสาร ทราย และน้ำที่ผ่านการสวดพระปริตรมาซัดรอบ ๆ บ้าน เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร เป็นการเสริมสิริมงคลรับปีใหม่

ที่ว่า อะจ๊ะ-เน่ะ เป็นวันที่สนุกที่สุด เพราะคนพม่าจะเริ่มเล่นน้ำกันวันนี้วันแรก หลังจากตักบาตรทำบุญในช่วงเช้าเสร็จ เมื่อเข้าสู่ช่วงบ่าย พวกเขานิยมไปรวมตัวกันยังเวทีสงกรานต์ของชุมชนหรือ ‘ดะจาน-มัณดะป์’ ประธานผู้มาเปิดงานจะนำกิ่งหว้าจุ่มน้ำในขัน แล้วประพรมให้ทุกคนบนเวที เป็นเสมือนการตัดริบบิ้นเริ่มต้นเทศกาลสาดน้ำอย่างเป็นทางการ

เท่าที่เคยเห็นมา วิธีการเล่นน้ำของพม่าเดี๋ยวนี้ก็เหมือน ๆ กับไทย มีใช้ทั้งขัน ปืนฉีดน้ำ ไปจนถึงเครื่องสูบน้ำอันใหญ่ ทั้งฉีดทั้งสาดดับความร้อนกันจนเพลินอุรา แต่ดูเหมือนหลายแห่งจะชอบใช้สายยางฉีดน้ำมากเป็นพิเศษ ตามเวทีจะมีสายยางนับสิบ ๆ สายเลยทีเดียว

ถึงจะยังสรุปไม่ได้ว่าการสาดและฉีดน้ำเล่นสงกรานต์ของไทยสมัยนี้มีที่มาจากชาวพม่าจริงไหม แต่ไหน ๆ ก็ได้หยุดยาวหลายวันแล้ว ลองเปลี่ยนบรรยากาศจากเล่นสงกรานต์เมืองไทย ไปเล่นดะจานที่เมียนมาเพื่อเทียบความเหมือนและแตกต่าง ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยนะครับ

ภาพ : Myanmar Now
ข้อมูลอ้างอิง
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ และคณะ. (2559). สาดน้ำสงกรานต์ วัฒนธรรมร่วมรากเอเชีย. กรุงเทพมหานคร: สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
  • aagreenillafood.com/myanmar-thingyan-water-festival
  • bestpricetravel.com/travel-guide/thingyan-festival-2461.html
  • sonasia-holiday.com/sonabee/thingyan-festival-myanmar-new-year

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย