งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ที่ผ่านมา เป็นการจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ครั้งแรกหลังปรับปรุงใหม่ ขาประจำที่ผูกพันกับที่นี่มานานต่างก็พากันมาเดินด้วยใจตื่นเต้น

นอกเหนือไปจากบูทหนังสือต่าง ๆ และโซนอีเวนต์ที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนแล้ว ยังมี ‘Stray Cat Tarot’ บูทเบ้อเริ่มที่คนตบเท้าเข้าไปหยิบสินค้าดูอย่างไม่ขาดสาย

ส่วนสินค้าก็มีทั้งไพ่แมวจรตามป้าย ไพ่หมา ไพ่กระต่าย และสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ สวยสดไปทั้งบูท มีโปรดักต์อย่างกระเป๋า สมุด รวมไปถึงคู่มือไพ่หน้าตาเป็นมิตรกับมือใหม่วางขายอยู่ด้วย มารู้ทีหลังว่าทุกอย่างที่ว่ามานั้นเป็นงานวาดของ ช้าง-คณิตศาสตร์ เสมานพรัตน์ นักวาดภาพประกอบฝีมือดีคนเดียวไม่แบ่งใคร

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ
Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

โอ้โห ออกแบบไพ่เป็นสัตว์คงจะสนุกน่าดูเลย – เราคิดถึงขั้นตอนการตีความต่าง ๆ นานาที่คงเกิดขึ้น แล้วติดต่อไปทันที

ไม่นานเราก็ได้การตอบรับจากนักออกแบบ จนได้มานั่งคุยกันที่ Caturday Cat Cafe ราชเทวี เขาไม่ได้มาคนเดียว แต่ปิดบ้านพาภรรยาและลูกสาวในรถเข็นเด็กมาด้วย

ท่ามกลางบรรยากาศที่แมวขนฟูกระโดดข้ามหัวไม่หยุดหย่อน ช้างจะมาเล่าถึงก้าวแรกของการออกแบบไพ่โดยที่ยังไม่มีความรู้ มาจนถึงตอนนี้ที่ศึกษาเพื่อวาดจนเข้าใจซึมลึก แบบเจาะให้ฟังเน้น ๆ ทีละสำรับ

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

เดบิวต์เป็นนักออกแบบไพ่

เราเริ่มทำความรู้จัก พี่ช้าง คณิตศาสตร์ จากข้อมูลแรกเริ่มว่า เขาเรียนจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุ้นเคยกันดีกับ พี่หมี-จิรณรงค์ วงษ์สุนทร แห่ง The Cloud ของเรามาตั้งแต่ร่วมคลาสเรียน (คลาสนี้เขามีสิงสาราสัตว์กี่ชนิดกันนี่) เขาเป็นนักวาดภาพประกอบ หากไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ บางครั้งก็ทำกราฟิก สติกเกอร์ไลน์ บางครั้งก็ทำของที่ระลึกหลากหลายไปตามความสามารถที่รอบด้าน

ตอนแรกเริ่ม ช้างทำ ‘สำนักพิมพ์มะลิ’ โดยมีหน้าที่ทั้งออกแบบหนังสือ ภาพปก ภาพประกอบ จัดรูปเล่ม ไปจนถึงขั้นตอนส่งโรงพิมพ์

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

พอถามว่าสำนักพิมพ์นี้ทำหนังสือเกี่ยวกับอะไร เขาตอบว่า “ทำไปเรื่อยเปื่อย” ไม่ได้มีธีมชัดเจน หากเขาและเพื่อน ๆ สนใจอะไรก็จะทำสิ่งนั้น “ช่วงที่ธุรกิจหนังสือพลิก สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ก็พลิกหมดเลย พี่เองก็ไม่รอดเพราะไม่มีนักเขียนใหญ่ แต่พองานหนังสือครั้งสุดท้ายก่อนศูนย์ฯ สิริกิติ์ จะปิดปรับปรุง พี่ก็ได้วาดไพ่ชุดนี้ให้ a ดวง”

ช้างเอื้อมไปหยิบไพ่หมาแมวสไตล์สีน้ำมันสำรับแรกในชีวิตให้เราดู ‘a ดวง’ คือแอปพลิเคชันดูดวงของ Ookbee ตอนนั้นเขาเป็นเพียงนักวาดภาพประกอบที่วาดตามที่รับงานมา ไม่ได้เป็นหมอดู ไม่ได้เป็นแม้แต่คนที่สนใจการดูไพ่เป็นพิเศษ งานเสร็จสมบูรณ์ก็ขอไพ่มาขายที่บูทสำนักพิมพ์มะลิด้วย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ
Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

จนกระทั่งเกือบ 3 ปีให้หลัง ช้างก็ครึ้มฟ้าครึ้มฝน อยากวาดไพ่แมวขึ้นมาเป็นโปรเจกต์ของตัวเองอีกสักสำรับ

“กลายเป็นว่ามีคนจำงานพี่ได้ เขาก็กลับมาซื้อชุดนี้อีก ดีใจมากเลย!” นักวาดภาพประกอบยิ้มกว้างให้กับเหตุการณ์ที่ทำให้เส้นทางการวาดภาพของเขาในวัยนี้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

หลังจากนั้นเขาก็เริ่มโฟกัสงานไพ่เป็นจริงเป็นจัง โดยขอให้ แม่หมอพิมพ์ฟ้า ช่วยแนะนำและคุมเมสเซจทั้งหมดของไพ่ สเกตช์อะไรก็ให้พิมพ์ฟ้าช่วยดู ตกหล่นตรงไหนพิมพ์ฟ้าก็ช่วยบอก จากที่ดูดวงไม่เป็น สำรับต่อ ๆ มาความรู้ของช้างก็เพิ่มพูนเรื่อย ๆ จนเริ่มทำเองได้ และเมื่อรู้ความหมายไพ่ ก็เริ่มดูไพ่เองได้บ้างไปตามลำดับ จนตอนนี้ไปถึงขั้นเขียนคู่มือดูไพ่ทาโรต์เบื้องต้นได้แล้ว

จริง ๆ แล้วพี่เชื่อเรื่องดูไพ่มั้ย – เราไขข้อข้องใจ

“โห! คำถามนี้” ช้างหัวเราะ “เชื่อไหมไม่รู้ แต่พี่ดูแม่นนะ ถึงจะไม่ใช่หมอดู อย่างนี้เรียกเชื่อไหม”

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

3 ปีนี้เขาวาดไพ่สัตว์ออกมาหลายชุดแล้ว ปกติคนเห็นไพ่แล้วจำได้ว่าเป็นงานของเขาก็จริง แต่ถ้าเกิดมาดูจริง ๆ ลายเส้นแต่ละสำรับต่างกันไม่น้อย แมวดูเป็นกราฟิก หมาเป็นเส้นขน ส่วนกระต่ายเป็นนิทานเด็ก ถ้าถามว่าคนจำได้จากไหน ก็คงเป็น ‘จริต’ และการสื่อสารอารมณ์ในงาน

ไพ่ทาโรต์ 78 ใบ แบ่งเป็น Major Arcana (สำรับใหญ่) กับ Minor Arcana (สำรับเล็ก) และแบ่งเป็น 4 หมวดย่อย ได้แก่ ไม้เท้า เหรียญ ถ้วย และดาบ ซึ่งการออกแบบไพ่ต้องเก็บเมสเซจต่าง ๆ ของสัญลักษณ์และไพ่แต่ละใบเอาไว้

นอกจากทาโรต์ ช้างยังใส่ออราเคิลแทรกเข้าไปในสำรับด้วย ซึ่งไพ่ออราเคิลคือศาสตร์ใหม่ที่คนออกแบบจะใส่ไพ่ที่คิดเองลงไปได้ ส่วนหมอดูก็จะตีความไพ่เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง

“ปกติไพ่ทาโรต์ 78 ใบมีบัญญัติความหมายเดิมอยู่แล้ว อ่านมาร้อยปีก็เป็นอย่างนั้น แต่พอมีออราเคิลเพิ่มเข้ามา แม้จะแค่ 5 ใบ บุคลิกของไพ่จะเปลี่ยนไป หมอดูต้องทำความเข้าใจความหมายใหม่”

เปิดไพ่ 5 สำรับไม้ตาย

01 STRAY CAT TAROT

ไพ่แมวเป็นสำรับแรก หลังจากที่ช้างตัดสินใจฮึดกลับมาวาดไพ่ทาโรต์อีกครั้ง และทำให้สตูดิโอของเขาได้ชื่อเท่ ๆ ว่า Stray Cat Tarot

ไอเดียแรกของไพ่แมวคือการวาดให้ต่างจากสำรับเดิมที่เคยวาด ทั้งลายเส้นที่แข็งแรงขึ้น ดูเป็นการ์ตูน เป็นสีโปสเตอร์ และสไตล์ที่ดูดาร์กขึ้น กวนขึ้นกว่าเดิม

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ
Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

“แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประหลาด บางอารมณ์น่ารัก บางอารมณ์ก็กวนประสาทมาก แต่นี่จะเน้นใส่ความกวนในสีหน้าของแมวแต่ละตัวไปค่อนข้างเยอะ”

เพราะแม่มดและแมวดำเป็นของคู่กัน ความเป็นแมวเลยสอดคล้องกับหมอดู ต่างประเทศเองมีไพ่แมวออกมาเยอะแยะนับไม่ถ้วน (แต่ที่ไทยยังไม่เคยมี) หากช้างไม่ได้กังวลว่าจะต้องออกแบบให้ต่างออกไปจากไพ่แมวอื่น ๆ ของต่างประเทศ เขาแค่วาดในสิ่งที่อยากวาด วาดแบบที่เขาสบายใจ เมื่อออกมาแล้วก็คนจำงานเขาได้มากมาย และเริ่มจำชื่อ ช้าง คณิตศาสตร์ ได้ภายหลังจากที่ไพ่เริ่มบูม

พิมพ์ครั้งแรก ไพ่แมวมีแค่ 78 ใบตามมาตรฐาน แต่ครั้งต่อมาช้างเพิ่มออราเคิลเข้าไป 5 ใบ ซึ่งทำให้สำรับนี้มีความเป็น Black Magic ลึกลับมากขึ้น ซึ่งแม้จะเพิ่มมาแค่ไม่กี่ใบ แต่แฟน ๆ นักสะสมหลายคนก็ซื้อซ้ำอย่างไม่ลังเล

Stray Cat Tarot นักออกแบบไพ่ทาโรต์สัตว์คนแรกของไทย ไม่ใช่หมอดู แต่ความรู้แน่นเป๊ะ

02 LUNALAPIN 

ไพ่แมวมีกระแสตอบรับที่ดี แต่ก็ปล่อยออกมาในช่วงโควิดเริ่มต้นที่ทุกธุรกิจหงายหลัง ช้างจึงต้องคิดหนักว่าจะขายไพ่แมวต่อหรือเสี่ยงทำชุดใหม่ แต่ในที่สุดเขาก็เลือกทางหลัง และให้กำเนิดไพ่กระต่ายแสนน่ารักออกมาอีกชุด

“พี่เคยมียุคที่เขียนภาพประกอบนิทานเด็ก เราก็อยากกลับไปทำแบบนั้นบ้าง” นักวาดกล่าว “นิทานเด็กคือการมีความสุข เด็กชอบรอยยิ้ม เราวาดให้ภาพยิ้ม เด็กเขาก็ยิ้มตาม ตอนพี่วาดนิทานเด็กก็รู้มาว่าเด็กจำอารมณ์มากกว่าเรื่องราว เพราะฉะนั้นการสื่อสารสำคัญมาก”

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่
เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

จากไพ่แมวสไตล์ดิบ ๆ ก็มาสู่ไพ่กระต่ายบุคลิกมุ้งมิ้ง เต็มไปด้วยความสุขและสนุกสนานแบบเทพนิยาย แต่ยังไงความโหดของกระต่ายก็แฝงอยู่ในสำรับ ตามความหมายไพ่ที่นักออกแบบจำเป็นต้องเก็บไว้ให้ครบถ้วน

“ด้วยความที่คลุกคลีกับกระต่ายที่เลี้ยงไว้มาร่วม 10 ปี บางทีเราก็ใส่บุคลิกตลก ๆ ของมันเข้ามาด้วย อย่างอันนี้คือกระต่ายมันนอนสบายนะ แค่คนก็สงสัยว่านอนตายรึเปล่า” ช้างหยิบไพ่กระต่ายนอนให้เราดู ท่านี้คนไม่เลี้ยงกระต่ายคงไม่เคยเห็น

เซอร์ไพรส์มาก หลังจากที่เริ่มจำหน่าย ด้วยความน่ารักและเป็นสัตว์มงคลก็ทำให้ชุดนี้ไวรัลไปไกลถึงประเทศจีน ขายดีชนิดที่ว่าโรงงานพิมพ์ไม่ทัน 

และเช่นเดียวกันกับไพ่แมว เมื่อพิมพ์ซ้ำ ไพ่ออราเคิลก็เข้าไปเสริม โดยออราเคิลในชุดนี้จะมีความ Negative เพื่อเติมรสชาติให้ไพ่กระต่ายที่เต็มไปด้วยความสุขนั้นกลมกล่อมมากขึ้น

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

03 AIBO 

“วาดสัตว์ ยังไงก็เลี่ยงหมาไม่ได้หรอก” ช้างหัวเราะดังเมื่อเริ่มเล่าถึงไพ่ชุดถัดไป

สำหรับช้างแล้ว หากแมวเรียกว่านิ่ง หยิ่ง หมาก็คงเรียกว่า Alert และโง่ (ขออภัยน้องหมาทุกตัวที่บังเอิญผ่านมาอ่านด้วย พี่เขาหมายถึงคาแรกเตอร์น่ะ) ฉะนั้น การเลือกหมามาทำให้เขามีโอกาสวาดภาพประกอบใน Mood & Tone ที่ต่างออกไป

เขาบอกว่า “ไพ่ใบแรกเป็นตัวกำหนดทิศทาง” และชัดเจนมากในชุดหมา ไพ่ใบแรกที่ช้างวาดในชุดนี้คือ Six of Wands ซึ่งมาในสไตล์ Realistic เห็นเส้นขนละเอียด ๆ 

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

“ไพ่หมาเราทำแบบไม่มีขอบขาว บางคนก็ชอบแบบไม่มีขอบ แต่บางคนก็บอกว่าไม่เหมือนไพ่” ปกติไพ่ทาโรต์ในภาพจำของหลาย ๆ คนคือชุด Rider Waite ที่กลายเป็นรุ่นสาธารณะไปแล้ว “แต่ถ้าเกิดมานั่งดูจริง ๆ ไพ่ทั่วไปมีทั้งมีขอบและไม่มีขอบ และบางทีเราทำไพ่ ถ้ามีการอัปเดตรุ่นใหม่ก็อาจจะใส่ขอบ-เอาขอบออกเหมือนกัน”

แปลกแต่จริง เพราะไพ่มีขอบนั้นเป็นที่คุ้นเคยกันทั่วไป แค่เห็นไพ่แบบไม่มีขอบเราก็จะรู้สึกถึงความสมัยใหม่ขึ้นทันทีแล้ว

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

04 INTO THE WILD 

หลังจากที่เลือกสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งมาวาดโดยตลอด ช้างตัดสินใจว่าชุดที่ 4 จะขนมาทั้งป่า และไม่กำหนดด้วยว่าเป็นป่าไหน จะเขตหนาว เขตร้อน หรือทวีปไหน ก็มาโผล่ในชุดนี้ได้

INTO THE WILD ยังเก็บความ Realistic จากชุดหมาไว้ และเลือกสัตว์ให้เข้ากับบุคลิกของไพ่ใบนั้น ๆ โดยอิงจากความรู้สึกของนักวาดเป็นหลัก (ช้างสารภาพว่า บางอันก็ไม่มีเหตุผลนักหรอก แต่ฟีลมันได้) ถ้าเล่าให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็อาจจะเป็นไพ่ธาตุไฟที่ทำให้นึกถึงสีส้ม แล้วก็นึกต่อมาถึงเสือดาว

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

“อย่าง Strength เนี่ย ยังไงก็สิงโต” เขาว่า “ไพ่เดิมคือผู้หญิงเอามือแหย่เข้าไปในปากเสือ มันคือรูปของคนไม่กลัว พอเป็นสัตว์พี่ก็วาดเป็นสิงโตกับหนูให้เชื่อมโยงกัน คนดูไพ่ก็จะเข้าใจไม่ยาก เห็นแล้วก็ เออ ใช่เลย มันเป็นแบบนี้แหละ”

“ส่วน Queen of Cups เป็นธาตุน้ำ ไพ่เดิมเป็นผู้หญิงนั่งอยู่บนบัลลังก์แล้วก็มีทะเลอยู่รอบ ๆ เราก็วาดเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ดูหนักแน่น มีหมีขาวนั่งอยู่”

เมื่อฟังช้างพูดว่าวาดชุดนี้สนุกเพราะการเลือกสัตว์มาลงในแต่ละไพ่ เราก็คิดว่าคนที่ซื้อไปก็สนุกกับการตีความของนักวาดเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่เคยใช้ไพ่ทาโรต์ทั่วไปอย่าง Rider Waite มาก่อน

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

05 ARI (On Process!)

ถ้าไม่นับที่เคยทำกับ a ดวง เขาเพิ่งปล่อยไพ่ออกมา 4 ชุด แต่ชุดที่เขากำลังทำและกำลังส่งเข้าโรงพิมพ์ก็น่าสนุกมากจนต้องขอเอามาเล่าสักหน่อย 

อาจดูเหมือนว่าช้างจะชอบวาดสัตว์ และคนจำลายมือเขาได้จากการวาดสัตว์เป็นพิเศษ แต่ในที่สุดก็หลุดธีมเป็นครั้งแรก เพราะไพ่เด็กกำลังจะมาเยือน Stray Cat Tarot

“เรามีลูก แล้วไพ่หลาย ๆ อันมันน่ากลัว เลยอยากมีไพ่สำรับหนึ่งที่ซอฟต์ แล้วคนก็ชอบเยอะด้วยนะ” เขาพูดจบเราก็หันหน้าไปมอง น้องอารี ที่กำลังมองพี่แมวอย่างสนอกสนใจ คงจะตื่นเต้นที่ได้เจอสัตว์อื่นนอกจากกระต่ายที่บ้านบ้าง ช้างบอกว่าลูกสาวนี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจในการวาดไพ่แต่ละใบ

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

“อย่างไพ่ Devil มีการใช้พละกำลัง มีความเถื่อนนิดหนึ่ง เลยวาดเป็นดึงหูตุ๊กตากระต่าย” เขาเปิดไพ่ให้เราดู “ส่วน The Lover เป็นการโอบอ้อมอารี ทะนุถนอมกัน ก็จะเป็นการกอดกระต่ายเอาไว้”

แน่นอนว่าวาดไพ่เด็กก็ไม่ง่ายเลย ไพ่ที่มีความรุนแรง หากเป็นสัตว์ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นเด็ก ขั้นตอนตีความจะซับซ้อนขึ้นไปอีก เช่น The Tower ที่เดิมเป็นฟ้าผ่าเปรี้ยงจนทุกอย่างพังทลายไปหมด ก็ต้องคิดหาทางวาดให้เข้ากับเด็กให้ได้

“ไอ้ตอนนี้เริ่มไม่สนุกแล้ว” เขาเล่ายิ้ม ๆ แต่ฉายแววจริงจัง 

สิ่งที่เขาทำเมื่อคิดไม่ออกก็คือการหาแรงบันดาลใจ ดู Netflix บ้าง ดู Pinterest บ้าง สุดท้ายแล้ว The Tower ก็ออกมาเป็นภาพเด็กน้อยพลาดทำบล็อกที่ต่อจนสูงทลายลงมา

เหมาะเหม็ง

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่
เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

งานช้าง

ในเมื่อไพ่เป็นเรื่องของการสื่อสารเรื่องราว ดีไซน์ของไพ่ก็อาจส่งผลกับสิ่งที่หมอดูจะพูดไม่มากก็น้อย

The Tower เป็นใบหนึ่งที่วาดแล้วสนุก ซึ่งอาจสนุกด้วยคอนเทนต์อย่างของไพ่เด็ก หรือสนุกเพราะได้ใช้สกิลล์การวาดจนบ้าคลั่ง อย่างสำรับ INTO THE WILD ที่พิมพ์บนไพ่ว่าสวยแล้ว พอซูมดูในแอปฯ วาดภาพ Procreate ยิ่งสวยตาแตกไปเลย

“พี่ชอบ The Fool ที่สุด มันคือคนที่ไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่คิดอะไรเลย จะออกไปโลกภายนอกอย่างเดียว แค่เนื้อหาก็สนุกแล้ว” เขาบรรยาย “พี่ชอบของไพ่แมวมาก ส่วนเทคนิคไม่ได้มีอะไร แต่การสื่อสารมันสนุก ดูหน้ามันสิ”

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

จบจากชุดเด็ก เขาก็จะออกแบบไพ่ต่อไป โดยมีเป้าหมายหนักแน่นว่าจะทำให้ครบ 20 ชุด ก่อนอายุ 60 ปี

“อยากฝากถึงเด็ก ๆ ในฐานะที่พี่เคยทำอะไรมาหลายอย่าง” คณิตศาสตร์ ผู้ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์พูด

“พี่อยากให้คนโฟกัสงานที่ตัวเองทำให้นาน ๆ พี่เคยทำอันนู้นนิด อันนี้หน่อย มันไม่เห็นผลนะ ตอนนี้พี่มาทำไพ่ทาโรต์ แล้วก็ต่อยอดไปเรื่อย ๆ มันถึงโดดเด่นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“มันตอบโจทย์ทุกอย่างเลย งานก็แข็งแรงขึ้น คนก็จำเราได้ พี่แค่ให้เวลากับมันแค่นั้นเอง”

เบื้องหลังการออกแบบไพ่ทาโรต์-ออราเคิล ของ ช้าง คณิตศาสตร์ นักวาดภาพประกอบพ่อลูกอ่อนผู้สนุกสนานกับการตีความไพ่

ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Stray Cat Tarot

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ