2 พฤศจิกายน 2018
38 K

คนเมืองเหนือเปิ้นฮ้องพื้นที่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ว่า ‘เก๊าไม้’ ส่วน ‘เก๊าไม้ล้านนา’ คือชื่อรีสอร์ตในอำเภอสันป่าตอง อยู่ระหว่างเส้นทางที่เชื่อมตัวเมืองเชียงใหม่สู่ดอยอินทนนท์

หลายคนจดจำรีสอร์ตแห่งนี้ได้ดีจากพื้นที่ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ (สมชื่อ) ราวกับป่าขนาดย่อม และอาคารห้องพักที่ดัดแปลงมาจากโรงบ่มยาสูบเก่า เขียวขจีไปด้วยต้นตีนตุ๊กแกที่ฝังรากลงบนผนัง ราวกับจะกลืนกินไปทั้งอาคาร สวยจนใครก็อดใจถ่ายรูปเก็บไว้ไม่ได้

นอกจากการเป็นรีสอร์ตที่มีอาคารเป็นเอกลักษณ์ และเป็นโลเคชันยอดฮิตสำหรับคู่รักที่กำลังมองหาสถานที่ถ่าย Pre Wedding ล่าสุด เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท ก็ได้ปรับภูมิทัศน์ด้านในให้กลายมาเป็น Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่รวมเอาคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และลานอเนกประสงค์กลางแจ้งที่รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน เป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ที่แม้คุณจะไม่ใช่แขกของรีสอร์ตก็สามารถเข้ามานั่งทอดอารมณ์ยามเช้าจรดบ่ายให้สุกกรอบพอดีคำได้อย่างรื่นรมย์

และล่าสุด Kaomai Estate 1955 เพิ่งได้รับรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จาก UNESCO เอเชีย-แปซิฟิก ในสาขาการออกแบบใหม่ในบริบทมรดก

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่โครงการจากประเทศไทยได้รับรางวัลในสาขานี้จาก UNESCO เอเชีย-แปซิฟิก โดยรางวัลสาขานี้จะมอบให้กับโครงการที่มีสิ่งปลูกสร้างใหม่ผ่านการออกแบบอันโดดเด่นให้กลมกลืนกับบริบทในอดีต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่
เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

เราจึงอยากชวนคุณอ่านเรื่องราวความตั้งใจของ Kaomai Estate 1955 ในการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม จากโครงอาคารโรงบ่มใบยาสูบเก่าดั้งเดิม ไปพร้อมๆ กับต้นไม้ใหญ่และธรรมชาติในพื้นที่ให้คงอยู่ให้นานที่สุด

1
ประวัติศาสตร์ย่อของอาคารก่อนที่ต้นตีนตุ๊กแกจะฝังรากลงบนผนัง

ต้นตีนตุ๊กแกหาใช่ไม้เลื้อยเพียงพันธุ์เดียวที่ปกคลุมอาคารของเก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท จนเกิดเป็นอัตลักษณ์คุ้นตา เพราะหากสังเกตดีๆ นอกจากใบจิ๋วๆ ของตีนตุ๊กแก ยังมีต้นพริกไทยและผลสีแดงจากต้นดีปลีแซมขึ้นมาอย่างกลมกลืน ซึ่งความกลมกลืนบนผนังอาคารนี้ (จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ก็ช่วยสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ทางผลหมากรากไม้ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ที่เหลื่อมซ้อนกันในภาพใหญ่ของพื้นที่แห่งนี้ได้ดีเลยล่ะ

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

ทั้งนี้การจะไล่เรียงถึงเก๊าไม้ เอสเตท 1955 ให้เห็นภาพมากที่สุด คือการต้องย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ณ จุดเริ่มต้นบนที่ดินขนาด 44 ไร่ ริมถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ถูกครอบครองโดยต้นจามจุรีและต้นมะขามสูงใหญ่ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่มาตั้งแต่ต้น ก่อนจะมีการก่อสร้างกลุ่มอาคารโครงสร้างไม้ไผ่สานแตะฉาบด้วยดินโคลนแบบบ้านๆ สำหรับเป็นโรงบ่มใบยาสูบของบริษัท แม่ปิงยาสูบ ขึ้นทีละหลัง

บริษัท แม่ปิงยาสูบ ก่อตั้งโดย เจ้าชื่น สิโรรส ผู้ริเริ่มและส่งเสริมให้ปลูกใบยาสูบในภาคเหนือของประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจยาสูบท้องถิ่นอันเฟื่องฟูอยู่หลายทศวรรษ ก่อนจะค่อยๆ ซบซาไปตามกาลเวลา

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่
เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

“ในแต่ละโรงบ่มจะมีการวางคานต่อๆ กันเป็นชั้น พอถึงเวลาบ่มจะใช้คน 6 คนยืนต่อกันบนคาน ส่งใบยาที่ขึ้นไปวางซ้อนกันจากข้างบนลงมาข้างล่าง พอวางเสร็จก็จะทยอยออกมาสุมไฟจากเตาฟืนที่อยู่นอกโรงบ่ม ความร้อนจะส่งผ่านท่อที่ต่อเข้าไปในอาคาร ด้วยวิธีการนี้ทำให้สามารถบ่มใบยาโดยไม่มีควันเข้าไปปนกับกลิ่นยาสูบ พอบ่มพ้นหนึ่งวันหนึ่งคืนเต็ม ก็จะมีการจัดเก็บเข้าโรงคัด ส่งไปขายที่โรงงานยาสูบในตัวเมืองเชียงใหม่พ่อหลวงอาทิตย์ วรรณเรือน ย้อนความจำเมื่อครั้งสถานที่แห่งนี้ยังคงอวลไปด้วยกลิ่นใบยาสูบ

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

พ่อหลวงอาทิตย์ วรรณเรือน เกิด พ.ศ. 2499 หนึ่งปีให้หลังที่โรงบ่มยาสูบแห่งนี้เปิดทำการ พ่อหลวงเป็นลูกชายของคนงานบ่มยาที่นี่ เขามีบ้านอยู่ด้านหลังโรงบ่มยา (ซึ่งปัจจุบันเขายังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิม) และแม้พ่อหลวงจะไม่เคยทำงานที่เดียวกับพ่อ แต่ความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับขั้นตอนการบ่มยาสูบจากการติดตามพ่อไปทำงาน รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านในยุคสมัยต่างๆ ภายในพื้นที่ยังคงแจ่มชัด

“ความที่ต้องทำงานกับไฟ จึงจำเป็นต้องมีนายสถานีคอยดูแลพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง นายสถานีจะมีบ้านประจำอยู่ที่นี่ (ปัจจุบันบ้านของนายสถานียังถูกรักษาไว้อย่างดี และปรับเปลี่ยนเป็นอาคารสปาของรีสอร์ต-ผู้เขียน) ต่อมาบริษัทก็เปลี่ยนอาคารโรงบ่มเป็นอาคารก่ออิฐมอญ และภายหลังค่อยเปลี่ยนมาเป็นอาคารอิฐบล็อกที่สามารถควบคุมอุณหภูมิการบ่มได้ดีกว่า” พ่อหลวงคนเดิมกล่าว

แต่แม้จะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุเพื่อรองรับการบ่มยาให้ปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพอยู่เสมอ ก็ใช่ว่าจะป้องกันอุบัติเหตุได้ทั้งหมด เพราะในระหว่างการบ่มครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2512 ใบยาที่ถูกอบแห้งเกิดร่วงตกลงมาโดนท่อส่งความร้อนที่กำลังแดง จึงเกิดไฟไหม้จนทำให้กำแพงภายในอาคารที่เกิดเหตุและอาคารข้างเคียงอีกหลังทลายลงมา ต่อมาจึงมีการบูรณะดังกล่าวโดยการสร้างโรงบ่มใหม่ควบรวมอาคารที่เสียหายทั้งสองหลังเป็น ‘อาคารแฝด’ เพียงหลังเดียว

ซึ่งนั่นล่ะค่ะ แม้แต่ผู้บูรณะในยุคนั้นเองก็ไม่อาจจินตนาการได้เลยว่า อีกเกือบ 50 ปีต่อมาเจ้าของรุ่นหลังจะเปลี่ยนโรงบ่มแฝดดังกล่าวให้กลายมาเป็นคาเฟ่สุดชิค ศูนย์กลางของโครงการเก๊าไม้เอสเตทฯ ในยุคปัจจุบัน

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

2
เรื่องของฟาร์มทุ่งเสี้ยว การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรม

พ้นจากเรื่องเล่าของพ่อหลวงอาทิตย์ คนต่อมาที่จะมาบอกเล่าการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่แห่งนี้ได้ดีคือ คุณธวัช เชิดสถิรกุล นักธุรกิจการเกษตรที่เข้ามาซื้อกิจการโรงบ่มใบยาสูบแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2529 ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟาร์มทุ่งเสี้ยว (ตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของโรงบ่ม)

คุณธวัชเข้ามาดำเนินกิจการโรงบ่มยาสูบต่อจากบริษัท แม่ปิงยาสูบ เปลี่ยนอาคารโรงบ่มเป็นอิฐบล็อกเพื่อความทนทาน และขยายกำลังการผลิตจากโรงบ่มเดิมที่มีอยู่ 35 หลัง เป็น 50 หลัง ปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นร้านอาหาร รวมทั้งเปลี่ยนพื้นที่ภายในอาคารโรงบ่มเป็นที่พักตากอากาศของครอบครัวและเพื่อนฝูง เขาบริหารโรงบ่มจนถึง พ.ศ. 2538 เมื่อกิจการยาสูบในประเทศถูกบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ประกอบกับปัจจัยหลายอย่าง จึงตัดสินใจเลิกกิจการ

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

กระนั้น ด้วยความที่เขาเคยได้ปรับเปลี่ยนภายในอาคารโรงบ่มเป็นที่พักมาก่อนแล้ว สิ่งนี้จุดประกายให้เขาเปลี่ยนอาคารโรงบ่มเป็นอาคารที่เหมาะสำหรับการหลับค้างอ้างแรมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 18 หลัง ปลูกตีนตุ๊กแก พริกไทย และดีปลี ให้ขึ้นปกคลุมผิวอาคาร และเปิดพื้นที่เป็น ‘เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท’ รีสอร์ทแห่งแรกของประเทศที่ดัดแปลงมาจากโรงบ่มยาสูบ เปิดทำการ 2 ปีให้หลังจากกิจการบ่มยาสูบลาโรงไป

“จริงๆ พ่อผมเขาแค่อยากมีมุมสำหรับนั่งดื่มกับเพื่อนๆ ของเขาอยู่นอกเมืองเท่านั้น แต่พอเปลี่ยนพื้นที่เป็นที่พักและพบถึงความเป็นไปได้ เก๊าไม้ล้านนาเลยกลายเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรม” คุณจักร์ เชิดสถิรกุล Project Manager ของโครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 กล่าวถึงต้นเหตุสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากโรงบ่มใบยาสูบเจ้าใหญ่ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่สู่การเป็นบูทีกรีสอร์ทที่ถือได้ว่ามาก่อนเทรนด์ Renovation หรือ Up-cycling ทั้งหลายที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

คุณจักร์เป็นลูกชายของคุณธวัช เขาเติบโตทันในช่วงที่พ่อของเขาบริหารโรงบ่มยาสูบ ที่ซึ่งในเกือบทุกสุดสัปดาห์ พ่อจะพาแม่ เขา และพี่สาวของเขา ขับรถมานอนค้างยังโรงบ่มที่มีชื่อว่า ‘ฟาร์มทุ่งเสี้ยว’ แห่งนี้

ชายหนุ่มเล่าว่า ควบคู่ไปกับการบ่มยาสูบ พ่อเขายังใช้พื้นที่ดังกล่าวเพาะพันธุ์ต้นไม้เพื่อจำหน่าย รวมถึงเป็นที่เพาะครั่งดิบสำหรับส่งออกต่างประเทศ โดยกิจการที่พ่อของเขาทำควบคู่ไปเหล่านี้ ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่ของรีสอร์ตจึงเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ร่มรื่นและหลากหลายมากกว่า 100 สายพันธุ์ แถมต้นไม้เหล่านี้ยังกลายเป็นบ้านของนกที่หมุนเวียนมาพักอาศัยกว่า 50 สายพันธุ์ และเหล่านี้คือมรดกที่ไม่อาจประเมินค่าได้ซึ่งตกทอดมาสู่เขา หลังจากที่พ่อจากเขาไปเมื่อ 2 ปีก่อน

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

3
ถนนสายเก่าตัดใหม่ที่ชื่อเก๊าไม้

เก๊าไม้ เอสเตท 1955 คือโครงการที่คุณจักร์ก่อตั้งร่วมกับพี่สาวของเขา คุณขัตติรัตน์ เชิดสถิรกุล เป็นโครงการต่อขยายด้านหลังของเก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท ประกอบด้วย ‘พิพิธภัณฑ์เก๊าไม้’ ที่ปรับพื้นที่ภายในโรงบ่มให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ‘คาเฟ่โรงบ่ม’ คาเฟ่ที่พัฒนาจากโรงบ่มแฝด และ Amphitheater หรือลานอเนกประสงค์ที่จัดกิจกรรมทางตลาดนัดสินค้าทำมือ การแสดงดนตรี หรือกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีการผัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เสมอ

ที่แห่งนี้ถือเป็นการต่อยอดครั้งล่าสุดของพื้นที่ การต่อยอดที่คุณจักร์ตั้งใจจะรื้อฟื้นคุณค่าที่เป็นมาแต่ดั้งแต่เดิม ผ่านประจักษ์พยานทางสถาปัตยกรรมและวัตถุที่ยังคงมีการอนุรักษ์ให้เห็นจริง สู่สถานะของพื้นที่เปิดกึ่งสาธารณะในปัจจุบัน…

เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่
เก๊าไม้ล้านนา, Kaomai Estate 1955 จากโรงบ่มยาสูบเก่าสู่ที่พักและคาเฟ่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่

นั่นล่ะค่ะ เป็นเหตุผลว่าทำไมการจะเขียนถึงสถานที่แห่งนี้ คนเขียนจึงต้องเล่ายาว ย้อนไปตั้งแต่ปี 1955 ด้วย

“ส่วนใหญ่คนจะรู้จักเก๊าไม้รีสอร์ทว่าเป็นพื้นที่ปิด หรือรู้จักแต่อาคารที่มีต้นตีนตุ๊กแกเท่านั้น ผมจึงคิดว่าจริงๆ แล้วข้างในพื้นที่ยังมีเรื่องน่าสนใจกว่านั้น ทั้งการเป็นอาคารโรงบ่มเก่า ไม้ใหญ่ในพื้นที่อีกหลายสายพันธุ์ หรือพื้นที่ที่สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ๆ ท่ามกลางบริบทดั้งเดิมได้อีกมาก นั่นทำให้เราคิดถึงการเปิดพื้นที่ส่วนนี้ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับชม แต่ก็ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวแก่แขกที่มาพักในรีสอร์ตไว้อยู่” คุณจักร์ กล่าว

เก๊าไม้ เอสเตท 1955 ตั้งอยู่บนถนนสายเก๊าไม้ ถนนสายเล็กๆ ที่คนงานโรงบ่มเคยใช้สัญจรเพื่อทำงานประจำวัน หากขับรถเข้ามาจากประตูหน้าโรงแรม ตรงผ่านทิวอาคารห้องพักที่ตั้งเรียงกันทางด้านขวา ถนนสายนี้จะตั้งอยู่สุดทางด้านขวามือ สองข้างทางเรียงรายไปด้วยโรงบ่มเก่าแก่ซึ่งมีโรงบ่มเวอร์ชันต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ยืนประชันโฉมเรียงกัน สอดแซมด้วยแนวต้นไม้น้อยใหญ่

การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์

อาคารโรงบ่มที่ตั้งอยู่บริเวณปากถนนฝั่งซ้ายถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าช่วงเวลาต่างๆ ของพื้นที่ ขณะที่อาคารปากถนนฝั่งขวาคงโฉมทั้งภายในและภายนอกของโรงบ่มไว้ ที่ซึ่งคานไม้สำหรับวางใบยา และท่อส่งความร้อนเข้าไปในโรงบ่มถูกจัดแสดงพร้อมป้ายอธิบายกระบวนการถ่ายเทความร้อนระหว่างบ่มใบยาในอดีต วัตถุจัดแสดงถูกกำกับโดยป้ายบอกข้อมูลที่สรุปเรื่องได้อย่างกระชับ อ่านง่าย ดีไซน์สวย (คุณจักร์เล่าให้ฟังภายหลังว่า เป็นผลงานออกแบบของ PAVA architects กลุ่มสถาปนิกที่หลงใหลในการออกแบบพิพิธภัณฑ์เป็นพิเศษ)

การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์

คาเฟ่โรงบ่มตั้งอยู่ถัดจากโซนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นอาคารกล่องกระจกใสที่แต่เดิมคืออาคารโรงบ่มแฝดหลังเดียวของพื้นที่ (อาคารที่เคยเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้จนถล่มลงมา ก่อนจะมีการซ่อมแซมโดยการสร้างอาคารฟิวชันดังที่กล่าวไว้ตอนต้น) ทั้งนี้เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ ก็ยังคงเหลือผนังของอาคารโรงบ่มแฝดทั้งสองฝั่งเอาไว้ คาเฟ่มี 2 ชั้น ชั้นบนนอกจากเป็นที่นั่งแล้ว ยังมีนิทรรศการเสริมที่แสดงภาพถ่ายเก่าๆ ในพื้นที่เล่าต่อมาจากส่วนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอีก ขณะที่ผนังด้านในยังมีตัวอย่างของ ‘พื้นผิว’ โรงบ่มในแต่ละยุค ไล่เรียงเป็นไทม์ไลน์ ตั้งแต่ยุคไม้ไผ่สาน อิฐมอญ อิฐบล็อก และผนังที่ปกคลุมด้วยต้นตีนตุ๊กแกอันเป็นสถานะของเก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท ในปัจจุบัน รวมไปถึงผนังเปล่าๆ ที่ชวนตั้งคำถามถึงอนาคตของพื้นที่แห่งนี้

การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์
การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์
การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์

ด้านหลังของคาเฟ่คือลานสนามหญ้ากว้างขวางมีอัฒจันทร์กลางแจ้งขนาดย่อม ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาของต้นจามจุรีใหญ่ยักษ์ ต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ ที่นี่คือ Amphitheater ที่คุณจักร์ตั้งใจจะใช้เป็นทั้งสวนพักผ่อน ลานอเนกประสงค์จัดดนตรีในสวน รวมไปถึงตลาดนัดสินค้าทำมือ เป็นอาทิ

4
พื้นที่ที่ต้นไม้ยังคงเป็นเจ้าถิ่น

ความพิเศษของเก๊าไม้ เอสเตทฯ ไม่ได้อยู่ที่คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ หรือลานสนามหญ้า อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นการทำงานร่วมกันด้านทัศนียภาพของพื้นที่สามส่วนนี้ รวมไปถึงภูมิทัศน์ของต้นไม้น้อยใหญ่ที่มีอยู่ก่อนเดิมรวมไปถึงเพิ่งล้อมมาลงใหม่ตลอดตลอด 63 ปีที่พื้นที่นี้ได้รับการพัฒนา ทั้งต้นมะขามเอย จามจุรีเอย มะขามเทศ (ที่ใหญ่เสียจนผิดแผกมะขามเทศทั่วไป) กาสะลอง กัลปพฤกษ์ ไทรย้อย พะยูง ยอป่า มะเดื่อ ไล่เรียงไม่หวาดไหว (อันนี้ไม่ใช่ชื่อต้นไม้นะคะ) ไหนจะแปลงผักผลไม้ออร์แกนิก และอาคารเก่าอย่างโกดังที่แต่เดิมคือโรงรับซื้อใบยา และอาคารรีสอร์ตที่ปกคลุมด้วยไม้เลื้อย ซึ่งล้วนตระหง่านอยู่อย่างนอบน้อมกับต้นไม้เจ้าถิ่นอย่างน่ารัก ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้ทีมภูมิสถาปนิก Shma SoEn ที่คุณจักร์ชักชวนให้มาร่วมกันไฮไลต์ต้นไม้ให้เฉิดฉาน

การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์
การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์

นอกจากนี้ความน่ารักอีกอย่างก็คือต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นล้วนมีป้ายเล็กๆ ที่ระบุชื่อ สายพันธุ์ และแหล่งที่มา ของต้นไม้เหล่านั้นไว้ครบถ้วน (จัดทำข้อมูลโดยนักวิจัยจากสำนักหอพรรณไม้) ทำให้การเดินเล่นและถ่ายรูปในสวนยังทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังอยู่บนเวทีประกวดนางงามต้นไม้โลกไปกลายๆ (นี่ก็เพิ่งรู้จากการได้มาที่นี่แหละค่ะว่าต้นจามจุรีที่เราคุ้นเคยและเข้าใจไปว่าคือไม้พื้นถิ่นมีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้นู่นเลย)

“เครดิตส่วนสำคัญต้องยกให้คุณพ่อ ที่ท่านริเริ่มในการเปลี่ยนโรงบ่มเป็นรีสอร์ต รวมไปถึงการกำชับไม่ให้เราตัดต้นไม้ต้นใดในพื้นที่ออกเลย นั่นทำให้เราตระหนักว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องรื้อทำลายสิ่งเก่า และคิดถึงการรักษาสมดุลระหว่างสิ่งปลูกสร้างกับต้นไม้ ให้สองส่วนนี้สอดคล้องไปด้วยกัน” คุณจักร์กล่าว

เก๊าไม้ เอสเตท 1955 เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ขณะที่ในปัจจุบันคุณจักร์ยังคงมีแผนการร่วมกับ PAVA architects ในการขยายพื้นที่พิพิธภัณฑ์ โดยเน้นไปที่นิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมยาสูบแต่ดั้งเดิมในเชียงใหม่ รวมไปถึงการปรับโรงบ่มเก่าในพื้นที่ให้เป็นโรงงานช็อกโกแลตในอนาคต

ค่ะ, ถ้าถึงเวลานั้นจริง คิดว่านี่คงจะเป็นโรงงานช็อกโกแลตที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้

การเปลี่ยนผ่านจากโรงยาสู่โรงแรมและคาเฟ่ในโครงการ Kaomai Estate 1955 พื้นที่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ได้อย่างร่มรื่นและรื่นรมย์
 

รางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จากองค์การ UNESCO ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Awards For Cultural Heritage Conservation) มีจุดประสงค์หลักเพื่อยกย่องโครงการภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างอันเป็นมรดกทรงคุณค่าในภูมิภาค

รางวัลนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้เจ้าของพื้นที่ร่วมดำเนินโครงการอนุรักษ์ร่วมกับภาคชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอิสระหรือเป็นรูปแบบการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยโครงการที่ได้รับรางวัลจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักเกณฑ์ต่างๆ และมีการใช้ปฏิบัติ เช่นการเข้าใจและคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่นั้น การประสบความสำเร็จด้านเทคนิคในการอนุรักษ์ และการสร้างผลกระทบที่ดีทางสังคมและนโยบาย

หมวดรางวัลการออกแบบใหม่ในบริบทของมรดกทางวัฒนธรรม (Awards For New Design In Heritage Contexts) ได้ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2005 รางวัลพิเศษในหมวดนี้เน้นการให้รางวัลกับโครงการที่มีการก่อสร้างใหม่ แต่มีการแสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่มีความโดดเด่นและมีความสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมโดยรอบได้ดี

Writer

Avatar

ไข่มุก แสงมีอานุภาพ

เลี้ยงแมวเป็นอาชีพ โดยมีงานอดิเรกคือรับออกแบบกราฟิก วาดภาพประกอบ และทำ Food Styling อ่อ… แล้วก็เขียนหนังสือด้วย ล่าสุดยังมีเวลาไปทำแบรนด์เสื้อผ้า ชื่อ www.instagram.com/wearfingerscrossed

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'