“Tha มาจากฐานิต ส่วน Homemade คือสินค้าที่ทำจากคนในชุมชนและครอบครัวของเรา”
ฐานิต เจริญพจน์สถาพร หญิงสาววัย 27 ปี จากอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นลูกสาวของครอบครัวผลิตผ้าบาติกที่ดำเนินกิจการมากว่า 20 ปี ปัจจุบันฐานิตเป็นเจ้าของแบรนด์ Tha Homemade ที่เธอตั้งใจทำเสื้อผ้าสวมใส่ง่ายให้ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ด้วยสารพัดเทคนิค ทั้งบาติก มัดย้อมสีธรรมชาติ และอีโคพรินต์ติ้ง
เราชวนเธอย้อนคุยสมัยคุณแม่ยังสาว ในวันที่สาวสงขลามาปักหลักที่ดินแดนล้านนา

“คุณแม่เป็นคนใต้ มาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบคุณแม่ก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อย จนสุดท้ายมาลงเอยที่ผ้าบาติก ทำทั้งผ้าบาติกผืนยาวและตัดเย็บเป็นชุด มีผ้าใยกัญชงและผ้าไหม สไตล์ชุดก็เป็นแนวผู้ใหญ่หน่อย การทำงานก็ช่วยกันทำทั้งครอบครัว คุณพ่อทำหน้าที่ออกแบบและเขียนลาย มีลายเขียนเทียน ลายกราฟิก ลายดอกไม้”
ลูกสาวเล่าความทรงจำที่เธอซึบซับมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเปรยจุดเริ่มต้นที่ก้าวเท้าเข้าวงการคราฟต์ ฐานิตบอกว่าวันนั้นเธอเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 มีช่วงว่างจากการปิดภาคเรียน 6 เดือน จึงคิดลองหาอะไรทำ จนเกิดผลลัพธ์เป็นกระเป๋าผ้ามัดย้อม ซึ่งเธอตั้งร้านขายที่ถนนคนเดินท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ งานของเธอขายได้และได้รับความสนใจ

“เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว คนทำงานคราฟต์เป็นคนที่ทำมานานอยู่แล้ว ยังไม่มีหน้าใหม่ แล้วในตลาดก็ยังไม่ค่อยมีใครทำกระเป๋าด้วย ซึ่งสามสี่ปีให้หลังจากเราเริ่มทำ ก็เริ่มมีการทำเสมือนเกิดขึ้น เสมือนผ้าย้อมครามแต่ไม่ใช่ย้อมคราม เขาทำเพื่อขายนักท่องเที่ยว แต่คนที่เริ่มสนใจสีธรรมชาติก็มีเยอะเหมือนกันในช่วงนั้น” ฐานิตเล่า
จากกระแสตอบรับกระเป๋าผ้าย้อมครามของเธอที่ดีเกิดคาด นำพาเด็กสาวไปสู่การเรียนรู้และการทดลองใหม่ ๆ เธอเกิดความคิดอยากพัฒนาสินค้า จากกระเป๋าผ้ามัดย้อมก็ขยับขยายเข้าสู่หมวดเสื้อผ้า ฐานิตเปิดโลกทัศน์ตัวเองด้วยการหาความรู้เกี่ยวกับเทคนิคสีธรรมชาติกับผู้เชี่ยวชาญ ที่เปิดศูนย์การเรียนรู้อยู่ในอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
สีธรรมชาติที่เธอลองใช้คือมะเกลือ ให้สีน้ำตาล ดำ ฮ่อม ให้สีน้ำเงิน และเปลือกประดู่ ให้สีน้ำตาล เธอกระซิบว่ามะเกลือมาจากการรับซื้อจากชาวบ้าน ต้องซื้อตุนแล้วมาดองไว้ที่บ้าน เพราะมะเกลือออกผลผลิตแค่บางฤดูกาล


แน่นอนว่าเทคนิคบาติก เธอมีโค้ชฝีมือดีอยู่กับตัวถึง 2 คน ส่วนอีโคพรินต์ติ้ง ฐานิตหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต และเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มผู้สนใจอีโคพรินต์ติ้งในเฟซบุ๊ก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้-เทคนิคกัน ซึ่งเธอก็สำรวจดอกไม้-ใบไม้ละแวกบ้าน แล้วหยิบใบบ้าง ดอกบ้าง มาพิมพ์ลงบนผ้า มีทั้งดอกดาวเรือง ดอกอัญชัน ดอกกุหลาบ ใบเพกา ใบสัก ซึ่งกรรมวิธีกว่าจะได้สีถูกใจก็ทดลองแล้ว ทดลองอีก แถมเธอยังเล่นสนุก เอาสนิมมาสร้างสรรค์งานผ้าด้วย
เมื่อเธอมีเทคนิคอยู่กับตัว ก็ถึงคราวแปลงภาพในหัวให้ออกมาเป็นเดรสตัวโคร่ง กางเกงยีนส์สุดเท่ และสารพัดเสื้อผ้าสวมใส่ง่าย ฐานิตบอกว่าการเป็นศิษย์เก่าสาขาสหศาสตร์ศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยในการรังสรรค์งานของเธอมาก โดยเฉพาะการคิดคอนเซ็ปต์ เราเลยถามเธอถึงวิธีการทำงานฉบับ Tha Homemade

“เราแปลงจากคอนเซ็ปต์เป็นเรื่องเล่า เพราะอยากให้งานแต่ละครั้งที่ทำมันมีเรื่องราว การคิดงานของเราจะเริ่มจากทดลองบนผืนผ้าด้วยเทคนิคต่าง ๆ ก่อน ส่วนแพตเทิร์นเสื้อผ้าก็อิงมาจากแนวที่เราอยากใส่ ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนที่แต่งตัวผู้หญิงมาก พอได้แพตเทิร์นไปคุยกับช่าง ลองปรับกันจนลงตัว ก่อนตัดเย็บเป็นแบบที่เสร็จสมบูรณ์”
เสื้อผ้าแต่ละคอลเลกชันเธอตั้งใจทำให้ใส่ได้ทุกเพศ โดยรูปแบบของเสื้อผ้ามาจากความสนใจของฐานิตในแต่ละช่วง อย่างช่วงที่เธออินกับงานวินเทจสไตล์อเมริกา เธอทำผ้า Bandana อเนกประสงค์ออกมาด้วยลวดลายสุดเท่ ทั้งลาย Smiley Face ลาย Thunder Bird และลาย Paisley ด้วยเทคนิคเขียนเทียนและย้อมคราม
หรือกางเกงยีนส์สีขาวพิมพ์ลายอีโคพรินต์ติ้ง ก็มาจากตอนที่เธอสนใจเทคนิคนี้ จนถึงการเกิดรอยยับเป็นผ้า สร้างผิวสัมผัสใหม่ที่เกิดจากการทดลอง ซึ่งเป็นผลจากความร้อนระหว่างกระบวนการทำงาน ส่วนอีกหนึ่งชิ้นงานที่เราชอบมาก ลบภาพบาติกจากเดิมไปเลย! เป็นเสื้อยืดบาติกขนาดพอดีตัว ที่ตวัดลายพู่กันเป็นสีพระอาทิตย์ตกดิน

“เราได้แรงบันดาลใจจากภาพฟิล์มที่เป็นภาพพระอาทิตย์ตก ประกอบกับเราได้ผ้ายืดมาพอดี ซึ่งเป็นผ้าที่เส้นใยผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาแล้ว เนื้อผ้าสีธรรมชาติออกหม่นหน่อย ๆ เราเลยลองเอามาจับกับเทคนิคของที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เราจะลงมือเพนต์เอง ซึบซับและเรียนรู้มาจากตอนเด็ก ๆ ถ้างานเขียนเทียนก็จะมีช่างที่ชำนาญกว่ามาช่วย”
แม้ตอนแรกเธอตั้งใจทำเสื้อยืดบาติกขนาดพอดีตัวสาวไซส์เล็ก แต่ถ้าหนุ่มสาวไซส์อื่นสนใจก็สั่งตัดพิเศษได้
“ทีมงานมีไม่เยอะเลยค่ะ” เธอพูดยิ้ม ๆ
“มีป้าทำแพตเทิร์นหนึ่งคน มีป้าอีกคนช่วยตัดเย็บ” ฐานิตเฉลยตัวเลขที่เรารอลุ้น
หากนับรวมเธอด้วยก็มีทีมงานทั้งหมด 3 คน ฉะนั้น เสื้อผ้าจึงผลิตออกมาน้อยชิ้น เน้นเป็นการพรีออเดอร์และทำตามออเดอร์ของลูกค้า แต่รับรองว่าคนน้อย แต่งานเนี้ยบแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์
“เราไม่อยากให้เสื้อผ้าค้างสต็อก เพราะการผลิตครั้งละมาก ๆ มันเปลืองทรัพยากร อย่างการย้อมสีผ้าหนึ่งครั้งก็ต้องใช้น้ำเยอะมาก เราเลยไม่อยากทำสินค้าออกมาเยอะ ถ้าสุดท้ายแล้วขายไม่ได้ ก็ต้องลดราคา เรารู้สึกว่างานของเรากว่าจะทำออกมาได้มันผ่านกระบวนการเยอะมาก มันมีคุณค่าอยู่ในนั้น อีกอย่างเราเลือกทำตามออเดอร์เพื่อให้ลูกค้าได้ใส่เสื้อผ้าที่ขนาดพอดีกับตัวเขาจริง ๆ ถ้าลูกค้าได้รับแล้วเล็กไปหรือใหญ่ไป เราก็ยินดีให้เขาส่งมาแก้”
ลูกค้าของแบรนด์ไม่เพียงแต่เป็นคนใจเย็นที่ต้องรอสินค้าถึง 1 สัปดาห์ แต่ต้องเป็นคนที่ ‘เข้าใจ’ กระบวนการผลิตที่มาจากความตั้งใจของเธอและทีมงานต่างวัยอีก 2 คน นี่แหละ เสน่ห์และคุณค่าของงานฝีมือ


ส่วนปลายปีนี้เธอวางแผนจะรีสต็อกเสื้อแขนยาวย้อมครามพิมพ์ลายที่บรรดาลูกค้าเรียกร้อง กระซิบว่าคูลมาก ใส่ได้ทั้งชายและหญิง เหมาะกับหนาวนี้ที่สุด ส่วนนักทดลองสาวเผยว่า เธอกำลังมีความคิดอยากทดลองเทคนิคตีเกล็ดบนผ้า ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากงานผ้าไหมตีเกล็ดของคุณแม่ แต่ฐานิตจะประยุกต์ให้เขากับคนวัยเธอซึ่งน่าสนใจมาก และจะชวนป้าช่างเย็บที่ถนัดงานตีเกล็ดมาทำงานด้วยกัน เป็นการแชร์การทำงานกันระหว่างคนสองวัยที่เก๋าคนละอย่าง งานนี้เธอบอกว่าการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันสำคัญมาก เพราะช่างเย็บละแวกบ้านมีแต่รุ่นเดอะมากประสบการณ์
ฐานิตต่อยอดและพัฒนาเทคนิคบาติกของครอบครัวมาเป็นเวลา 7 ปี จนเธอเปิดหน้าร้านพบปะผู้มาเยือนทั้งแขกไทย-แขกเทศมาแล้ว 4 ปี บนถนนย่านท่าแพ ในบ้านตึกเก่าแก่ของหลวงอนุสารสุนทร เธอว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ก่อนสถานการณ์โควิด-19) ทั้งชาวยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ส่วนคนไทยเพิ่งเริ่มทำความรู้จัก Tha Homemade ได้ไม่นาน จากสื่อโซเชียลอย่างอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก แถมมีลูกค้าที่น่ารัก แวะเวียนมาเที่ยวเชียงใหม่และจำแบรนด์ของเธอได้ก็มาเยี่ยมเยียนกันถึงหน้าร้าน ซึ่งมีตั้งแต่ลูกค้าวัยรุ่นจนถึงวัยเก๋า และเธอยังแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในร้าน วางสินค้าทำมือจากพรรคพวกเพื่อนฝูง เรียกว่ามาที่เดียว ครบตั้งแต่หัวจรดเท้าและของกุ๊กกิ๊ก


“การเจอลูกค้าทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น ได้เจอคนใหม่ ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ที่เราหยิบความคิดของเขามาปรับใช้และพัฒนากับงานของเราได้ ความสนุกอีกอย่างของเราคือการทดลอง พอเอาสิ่งที่อยู่ในหัวมาลองทำ ได้เห็นมันเป็นรูปเป็นร่าง ได้เห็นผลลัพธ์มัน เราก็ยิ่งเซอร์ไพรส์และสนุกเข้าไปอีก” สาวที่สุขกับการทดลองเล่า
เราอดสงสัยไม่ได้ว่าคุณแม่ของเธอที่เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เริ่มต้นทำแบรนด์ผ้าบาติกขึ้นมา ซึ่งอายุไล่เลี่ยกับที่ลูกสาวสนใจหยิบบาติกของครอบครัวมาพัฒนาต่อยอด จนกิ๊บเก๋เจอแนวทางของตนเอง จะรู้สึกอย่างไร
“เราเป็นคนเอาไปเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็จะไปเล่าให้พ่อฟังอีกที พ่อก็ชอบส่งไลน์ให้คนอื่นอีกที แล้วก็ชอบแชร์โพสต์เราตลอดเวลา พ่อกับแม่ก็ใส่แบรนด์ของเรา แต่บ้านนี้เป็นบ้านที่ไม่ค่อยชมกันเท่าไหร่” ลูกสาวเล่าเขิน ๆ
“เขาก็น่าจะดีใจเหมือนกัน” เธอยิ้ม “เพราะส่วนหนึ่งมันก็เป็นฝีมือของเขาด้วย ไม่ใช่แค่ฝีมือของเราคนเดียว เราช่วยกันทำทั้งบ้าน เราขอให้ช่วยอะไร พ่อกับแม่ก็จะยินดีเสมอ ซึ่งงานที่เขามาช่วยก็เป็นรูปแบบที่ต่างจากงานที่เขาต้องทำ เช่น เพนต์ลายเยอะ ๆ เราก็ให้พ่อลดทอนลงหน่อย ส่วนมากเราเอาเทคนิคจากพ่อมาใช้ เพราะเขาเก่งว่า”
“งานทุกชิ้นที่เรา เราอยากให้งานมีฝีมือมีคุณค่ามากขึ้น” เจ้าของแบรนด์ตั้งเป้าหมาย
“ตอนนี้เราอยากพูดเรื่องความยั่งยืน อยากให้คนที่ใส่เสื้อผ้าของเรารู้ที่มาและคุณค่า ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อีกอย่างเราอยากส่งเสริมอาชีพคนในชุมชน เพราะกระบวนการทั้งหมดมาจากคนในชุมชนหมดเลย ซึ่งหากพูดตามตรง กำไรของเราไม่เยอะ แต่เรายินดีที่จะให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและยุติธรรมกับช่างฝีมือด้วยเหมือนกัน”
Tha Homemade สะท้อนตัวตนของตัวเองออกมาผ่านเทคนิคและรูปแบบที่ทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมภูมิปัญญาดั้งเดิมของครอบครัว และเลือกที่จะก้าวเดินอย่างช้า ๆ พร้อมกับช่างฝีมือและชุมชนบ้านเกิด

Tha Homemade
ที่อยู่ : ถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : วันจันทร์ เวลา 13.00 – 17.00 น. วันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00 – 17.00 น. (ปิดทุกวันอาทิตย์)
โทรศัพท์ : 09 3305 8211
Facebook : Tha Homemade
Instagram : Tha Homemade