นักเขียนมีบ้านได้อย่างไร?
คำถามนี้ผมสงสัยเหมือนกัน ผมบอกตัวเองว่า ในเมื่อประสบโอกาสที่จะค้นหาคำตอบเพื่อตอบคำถามที่ไม่ใช่เฉพาะสำหรับผม นี่จึงเป็นบทความเฉียดๆ เกี่ยวกับนักเขียนเรืองนามและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้วายชนม์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กับบ้านของเขา ตามด้วยเรื่องราวบ้านพักหลังใหม่ใจกลางสวนทูนอินที่เพิ่งจะเปิดให้บริการเช่าพักผ่อนในรังนอนสุดท้ายของพญาอินทรีแห่งสวนอักษร และนักอ่านอยากนอน…
คาราวะเหยี่ยวฮิปปี้ไว้บนถ้อยบรรทัดนี้
01
นักเขียนมีบ้านได้อย่างไร
สวนทูนอินไม่ใช่บ้านหลังแรกของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนผู้หวังจะมีบ้านให้ทันก่อนอายุ 30 ตามคำพ่อสอน เหตุนี้ช่วงชีวิตในวัยหนุ่มเขาจึงทุ่มทำงานหนักกว่าการเป็นเสเพลบอย เพียรปั่นคอลัมน์วันละ 3 – 4 ชิ้นเพื่อซื้อซีเมนต์และอิฐ เปลี่ยนบทความเลือกสีลิปสติกเป็นแม่บันได พลางต่อเติมโครงสร้างบนเนื้อที่ 100 ตารางวา ทุลักทุเลเอาการ แต่ก็สามารถปลูกบ้านของตัวเองแถวบางซ่อนได้ตอนอายุ 23 ปี
หลังจากสมรส ’รงค์ชักชวนคนรักย้ายมาอยู่เรือนหอหลังใหม่ ‘บ้านริมคลอง’ คือชื่อของบ้านหลังที่ 2 ที่ทั้งครอบครัวและมิตรน้ำหมึกติดปากเรียกอย่างรู้กันด้วยทำเลที่ตั้งเคียงคลองบางตลาด จังหวัดนนทบุรี จนราวปี 2523 ยุคตั้งไข่ของนิตยสาร BR (Bangkok Readers) ในฐานะบรรณาธิการหนุ่ม เขาก็สบโอกาสเดินทางพร้อมภรรยาขึ้นมาทำงานยังตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมดีงามชนิดที่ศูนย์กลางความสะดวกของประเทศนี้ก็หามาทดแทนให้ไม่ได้ จุดประกายให้ทั้งคู่เริ่มมองหาที่ทางสำหรับบั้นปลายชีวิตอันรื่นรมย์
แล้วก็เป็นไร่กาแฟและสวนเหมี้ยงทิ้งร้างผ่านวันเวลาจนดกครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ กอไผ่ เถาวัลย์ และดอกไม้ป่า หรืออาจเป็นการง่ายกว่าที่จะอธิบายว่าผืนป่าขนาดย่อมอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้มีกรรมสิทธิ์ และดันเข้าตา หน้าผาหินวางตัวเป็นแนวยาวมีน้ำรินไหลผ่าประทับใจนักเขียน ส่วนภรรยาบอกกับเขาว่า หลงรักบรรยากาศชุ่มชื้นและสายน้ำแร่ธรรมชาติเย็นฉ่ำของที่นี้ไม่แพ้กัน พ่อเลี้ยงเจ้าของแปลงไม่ปล่อยให้ช่องว่างแห่งความลังเลทับถมอยู่นาน หยอดเรื่องราวสมัยยังสะพายกระบุงเก็บใบชาว่าตนมักแวะมาดื่มน้ำบ่อนี้เป็นประจำและรสชาติของมัน ‘ล้ำลำ’ เกินบรรยาย แน่นอน สิ่งนี้ทำให้การตัดสินใจง่ายยิ่งขึ้น
บ้านหลังที่ 3 ดำเนินการวางแปลนทันทีภายในปีเดียวกัน ’รงค์จัดสรรพื้นที่อย่างเคารพต่อธรรมชาติ ฝ่าความยากลำบากในขั้นตอนก่อสร้างเพราะปราศจากถนนหนทาง ไฟฟ้า หรือแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ กระนั้น เขาก็เชื่อมั่นว่าบ้านหลังนี้คงเป็นหลังสุดท้ายที่เขาจะเหนื่อยหน่ายอย่างมีความสุข
02
บ้านที่มีความรู้สึกและความคิด (ถึง)
“17.57 สามนาฑีรถด่วนกรุงเทพฯ – เชียงใหม่กำลังจะออกจากสถานี ผมกำลังเดินทางไปถึงความสูงเหนือระดับน้ำทะเลหลายพันฟิท (feet) บนภูเขา
ขอโทษ – ผมไม่อยากเขียนว่า – ฟิต (ต.เต่าสะกด)
ผมมีภาระต้องปลูกบ้านให้ผู้หญิงที่ผมรักในชีวิต!
หล่อนเป็นใคร?
ขออนุญาตไม่พูด!”
(จากหนังสือ พูดกับบ้าน : ’รงค์ วงษ์สวรรค์)
แม้ไม่มีคำตอบ แต่ผู้อ่านหลายท่านก็คงพอคาดเดาออกว่าหมายความถึง สุมาลี วงษ์สวรรค์ หรือ ‘ป้าติ๋ม’ สตรีผู้อยู่เคียงข้างนักเขียนหนุ่มตลอดกาลทั้งในงานเขียนเจ้าของบทบาท ‘มาดามวารินชำราบ’ และในชีวิตจริงที่ร่วมเผชิญทุกข์ สุข รวมถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อตัดสินใจย้ายมาอยู่อาศัยในบ้านบนดอย
“เราเคยสะดวกสบายที่กรุงเทพฯ เนอะ แล้วพอตอนนั้นที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าเหมือนกำลังถอยกลับไปใช้ชีวิตแบบสมัย 20 ปีก่อนเลย แต่ป้าติ๋มกับคุณ ’รงค์ก็ไม่ได้รู้สึกว่าคิดผิดนะ เพราะอุปสรรคพวกนี้มันเล็กน้อยมาก ก็แค่ต้องปรับตัวให้ได้ เราตกลงกันว่าจะสร้างบ้านโดยไม่โค่นต้นไม้ใหญ่ ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้ตะเกียงให้แสงสว่าง มีเตาปิกนิกสำหรับทำครัว จากเคยหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้าเสียบปลั๊กเดี๋ยวเดียวก็สุกให้ได้ทาน เปลี่ยนมาใช้หม้อตั้งบนเตาหุงข้าวไม่เช็ดน้ำ มีแฉะบ้าง ดิบบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ชิน”
ค่อยๆ จูน ค่อยๆ อิน เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเข้าใจในวิถีธรรมชาติ ไม่แน่ว่าสิ่งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หยิบเสี้ยววลี ‘Tune in’ อันหมายถึงการร้อยสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจบริสุทธิ์และเชื่อมโยงโลกภายนอกอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งจากคาถาของเหล่าฮิปปี้ “Turn on, tune in, drop out” ของ Timothy Leary มาตั้งชื่อให้บ้านป่าหลังนี้ว่า ‘สวนทูนอิน’
รอบรั้วอันร่มรื่นของสวนทูนอิน นอกจากเรือนพักอาศัยของครอบครัวแล้ว ที่นี่ยังมีลานอนุสาวรีย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และบ้านมิวเซียม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ ’รงค์ตั้งใจสร้างไว้เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ที่เขายกให้ “เป็นครูและพ่อโดยนิสัยและจิตใจ” รวมถึงห้องทำงานส่วนตัวของพญาอินทรี สถานที่ทิ่มแทงความครุ่นคิดเพื่อสร้างสรรค์งานเขียนมากมายจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งป้าติ๋มและลูกชายยังคงดูแลรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือกองพะเนินเรียงรายล้อมโต๊ะทำงาน หรือเครื่องพิมพ์ดีดที่ปลดระวางไปตั้งแต่ปี 2552 สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญสำหรับนักเขียนคนหนึ่ง และมีความหมายลึกซึ้งสำหรับคนรักและครอบครัว
03
ล้มตัวลงนอนที่สวนทูนอิน
ปัจจุบันสวนทูนอินแห่งนี้ไม่เพียงแต่ต้อนรับญาติมิตรวงการน้ำหมึกที่ยังระลึกถึงนักเขียนที่พวกเขาเคารพรัก ทว่าเร็วๆ มานี้ยังได้เปิดให้บริการบ้านพักในนาม ‘Tune In Home and Garden’ ต้อนรับนักทัศนาจรผู้อยากหลีกหนีความวุ่นวายในป่าคอนกรีต มาปรับจูนความรู้สึกนึกคิดท่ามกลางธรรมชาติเงียบสงบของป่าเขา
ในอดีตบ้านพักหลังนี้เคยเป็นเรือนรับรองแขกส่วนตัวของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และเดิมทีมีชื่อเรียกว่า ‘Cicadas’ ที่หมายความถึง ‘จักจั่น’ สัตว์ที่มีชีวิตเพียงไม่กี่วันก็ลาลับ เช่นนักเดินทางที่รอนแรมมาแวะพักเพียงครู่ยามแล้วโบกมืออำลา
“หลังจากที่คุณ ’รงค์ไม่อยู่แล้วแขกส่วนตัวเราก็น้อยลงมาก ป้าติ๋มเลยคิดว่าน่าจะเปิดให้คนทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อน ดีกว่าปล่อยให้บ้านมันทรุดโทรมไร้ชีวิตชีวา” ป้าติ๋มเกริ่นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจปรับโฉมเรือนรับรองให้กลายเป็นบ้านพักขนาด 2 ห้องนอน ที่ให้อารมณ์แบบ English Cottage
ภายในบ้านมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบเท่าพึงมี ทั้งทีวี ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น มุมนั่งเล่นและตั่งเอกเขนกริมชั้นหนังสือสูงท่วมศีรษะที่ผู้เข้าพักสามารถหยิบอ่านเท่าอ่านไหว ขาดเพียงเครื่องปรับอากาศที่ถึงมีก็คงไม่ได้ใช้ เพราะยากที่เปลวแดดจะฝ่าปอดของป่ามาทำลายบรรยากาศเย็นสบายตลอดปี
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ใหญ่และธารน้ำใสไหลริน สวนทูนอินในอ้อมกอดธรรมชาติยังแต่งแต้มงดงามด้วยสีสันของดอกไม้
“แขกที่มามักบอกป้าติ๋มว่า ที่นี่มีแต่ดอกไม้แปลกๆ อย่างตรงนั้นก็มี ‘อโศกสปัน’ สีชมพูหวานที่กำลังบานในช่วงฤดูหนาว ‘เล็บมือนางสีขาว’ แย้มกลีบเฉพาะช่วงหน้าร้อน ส่วนต้นนี้เกิดเองตามธรรมชาติในสวนทูนอิน กลิ่นหอมระรื่นคล้ายดอกมะลิแต่เป็นเถาเลื้อย ป้าติ๋มไม่รู้ว่าเขาคือดอกอะไรก็เลยเรียกกันกับคุณ ’รงค์ว่า ‘มะลิป่า’ พอตกเย็นป้าติ๋มจะเก็บไปบูชาพระบ้าง เอาไปวางเตียงนอนคุณ ’รงค์บ้าง หรือบ้างเก็บใส่จานไปวางบนหัวเตียงให้แขก เพราะมะลิป่ากลางคืนจะหอมชื่นใจ ป้าติ๋มมีความสุขมากเวลาเขาบาน แล้วก็อยากแบ่งปันความสุขนี้ให้แขกที่มาพักบ้านเราด้วย”
ความสุขอีกอย่างที่จะพลาดไม่ได้หากมาเยือนยังสวนทูนอิน ก็คือการได้ลิ้มลองอาหารรสมือป้าติ๋มที่อร่อยสมคำร่ำลือ โดยอาหารของที่นี่ถูกบรรจุไว้ในหนังสือ เมนูบ้านท้ายวัง ซึ่งทุกเมนูเป็นสูตรลับเฉพาะที่ตกทอดมาจากแม่ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ป้าติ๋มรับช่วงสืบสานและทำให้ครอบครัวทานมาตลอด
สำหรับลูกค้าที่มาเป็นครั้งแรกทางร้านจะมีเมนูอาหารสำรับโบราณเสิร์ฟให้เปิดประสบการณ์ความอร่อยเป็นพื้นฐาน ประกอบด้วยเมนูเรียกน้ำย่อยประจำครอบครัววงษ์สวรรค์อย่าง ‘ม้าฮ่อ’ ก่อนตามมาด้วย ‘หน้าปลาแห้งแตงโม’ หวานฉ่ำสดชื่นที่ส่วนเปลือกยังถูกนำไปปรุงเป็น ‘แกงส้มเปลือกแตงโม’ พร้อม ‘ปลาตะเพียนทอดกับน้ำปลายำ’ เมนูปลาชนิดโปรดของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่นักเขียนชื่นชอบจนถึงขั้นนำมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ‘หมี่กะทิอุบล’ ‘ซี่โครงหมูอบกะหล่ำปลี’ ก่อนจบที่ ‘ข้าวเหนียวเปียกข้าวโพด’ ของหวานละมุนลิ้น
ให้ผู้มาพักได้ล้มตัวลงนอนที่สวนทูนอินอย่างอิ่มหนำและสำราญ
หมายเหตุ
ล้มตัวลงนอนที่สวนทูนอิน ที่เป็นชื่อบทความได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทเพลง ‘ทูนอิน’ ของศิลปินวง Sleepy Eye ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดเมื่อคราวได้มาละเลียดวันเวลาในบ้านสวนแห่งนี้อย่างคมคาย บทเพลงดังกล่าวถูกนำมาขับขานเป็นครั้งแรกในพิธีเปลี่ยนแว่นหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช งานสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงหนึ่งในปูชนียบุคคลของประเทศและเจ้าของบ้านเคารพนับถือ อีกทั้งยังเป็นวาระโอกาสที่ญาติมิตรน้ำหมึกของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะได้มาพบปะ สังสรรค์ ตำจอกกัน ณ สวนทูนอิน
Tune in Home and Garden
ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านพักในรังนอนสุดท้ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของไทย พร้อมให้มาสัมผัสกับบรรยากาศรื่มรมย์ในอ้อมกอดขุนเขาและลิ้มลองสารพัดอาหารรสเลิศตำรับบ้านท้ายวัง สำรองห้องพักและที่นั่งได้ โทร 053879251, 0871852951