เวลาพูดคำว่า ‘วัดฝ่ายอรัญวาสี’ ภาพในหัวหลาย ๆ ท่านอาจนึกถึงวัดที่อยู่ในป่า มีอาคารใหญ่น้อยกระจายตัวกันอยู่ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของวัดป่าที่สร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน แต่กับบรรดาวัดป่ารุ่นเก่าส่วนใหญ่กลับเปลี่ยนแปลงไปมาก อันเนื่องมาจากเมืองที่ขยายตัวเข้าไปในเขต ซึ่งครั้งหนึ่งยังเป็นป่าหรือเป็นพื้นที่นอกเมือง ทำให้วัดฝ่ายอรัญวาสีรุ่นเก่าส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นวัดในเมืองมากขึ้น
แต่ใช่ว่าวัดป่ารุ่นเก่าทุกวัดจะเป็นเช่นนี้เสมอไป เพราะมีวัดป่าโบราณอยู่แห่งหนึ่งที่ยังรักษาความเป็นวัดป่าเอาไว้ได้มาก และวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง ‘วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)’ นั่นเองครับ
วัดโบราณครั้งพญามังรายในเขตอรัญญิกของเมืองเชียงใหม่

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในวัดยุคแรก ๆ ของเมืองเชียงใหม่ เพราะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์ของล้านนา แต่ ณ เวลานั้นไม่ได้ชื่อวัดอุโมงค์นะครับ เพราะชื่อแรกสุดคือ ‘วัดเวฬุกัฏฐาราม’ หรือ ‘วัดไผ่สิบเอ็ดกอ’ เนื่องจากทำเลที่ตั้งวัดนั้นอยู่บริเวณป่าไผ่เชิงดอยสุเทพ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเชียงใหม่
ก่อนที่ต่อมาในรัชกาลของ พญากือนา พระองค์ได้อาราธนา พระมหาเถรจันทร์ ภิกษุที่พระองค์นับถืออย่างมาก เนื่องจากท่านเป็นผู้ปราดเปรื่องในเรื่องธรรม แต่เดิมจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในเมือง ทว่าต่อมาพระมหาเถรจันทร์มีอาการสติไม่สู้ดี จึงมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้แทน ไม่เท่านั้น พระองค์ยังสร้างสถานที่วิปัสสนากรรมฐานที่ดูคล้ายอุโมงค์ขึ้นที่วัดแห่งนี้ ส่งผลให้วัดไผ่สิบเอ็ดกอ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดอุโมงค์’
ในช่วงเวลาที่เชียงใหม่ปกครองโดยพม่า วัดอุโมงค์กลายสภาพเป็นวัดร้าง ไม่มีภิกษุจำพรรษา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2492 จึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งภายใต้การนำของ เจ้าชื่น สิโรรส เริ่มจากการตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นมาก่อน โดยได้แรงบันดาลใจจากสวนโมกขพลารามของ ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันแก่เจ้าชื่น ด้วยเหตุนี้ วัดอุโมงค์จึงถูกเรียกว่า ‘วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)’ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายคล้ายกับสวนโมกขพลาราม และกลายเป็นวัดเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ยังรักษาบรรยากาศความเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสีเอาไว้ได้เป็นอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน
เจดีย์ประธานเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่
อาจเพราะวัดแห่งนี้เคยผ่านช่วงเวลาที่เป็นวัดร้างมาก่อน ทำให้โบราณสถานในวัดเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่สิ่งที่เหลืออยู่กลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือเจดีย์ประธานองค์ใหญ่ของวัด เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนเนิน จึงต้องมีบันไดขึ้นเพื่อไปนมัสการ เป็นบันไดหัวพญานาคซึ่งแม้โครงสร้างดั้งเดิมถูกซ่อมไปแล้ว แต่ส่วนหัวนาคยังเป็นของดั้งเดิม


เอกลักษณ์สำคัญของเจดีย์ประธานองค์นี้ก็คือการที่เจดีย์ตั้งอยู่บนอุโมงค์ ไม่ใช่อุโมงค์ธรรมชาตินะครับ เป็นอุโมงค์ที่มนุษย์สร้างขึ้น มีทางเดินประทักษิณภายใน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่บริเวณใต้เจดีย์พอดี สิ่งนี้ถือเป็นของที่พบได้น้อยมาก อีกแห่งหนึ่งที่น่าจะเข้าข่ายคล้ายกับวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ก็คือเจดีย์ประธานวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีทางเดินประทักษิณด้านในเหมือนกัน (แต่ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้เข้าไปชมแล้วครับ)
สิ่งที่ทำให้อุโมงค์ของวัดอุโมงค์พิเศษกว่าคือหน้าที่การใช้งานครับ เพราะอุโมงค์นี้ออกแบบขึ้นเพื่อให้ภิกษุใช้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหรือศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนได้ ซึ่งในประเทศไทยพบเพียงแค่ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น สันนิษฐานว่าผู้สร้างอาจได้แรงบันดาลใจจาก ‘อู่มิน’ หรืออาคารจำพวกถ้ำวิหารในศิลปะพม่าสมัยพุกาม เช่น จ๊อกกูอูมิน (Kyauk Gu U Min)

ความพิเศษยังไม่หมดเท่านี้ เพราะเจดีย์ประธานวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เป็นเจดีย์ที่ฐานประดับลูกแก้ว 3 ชั้นและมีแถวช่องสี่เหลี่ยมโดยรอบ ลักษณะนี้พบในศิลปะพุกามมาก่อน กับเจดีย์ทรงระฆังสายลังกา เช่น เจดีย์ฉปัฏ ที่เมืองพุกาม สร้างโดยภิกษุที่มีชื่อเดียวกับเจดีย์ เป็นภิกษุชาวพุกามที่เคยไปศึกษาพุทธศาสนายังลังกา ความเป็นลังกานี้ยังสะท้อนผ่านองค์ระฆังขนาดใหญ่ของเจดีย์องค์นี้ด้วย และงานประดับบริเวณก้านฉัตรของเจดีย์ที่เป็นรูปเทวดายืนเรียงกัน ซึ่งการประดับเทวดาบนก้านฉัตรนี้พบแค่ที่เจดีย์ของวัดอุโมงค์องค์เดียวในประเทศไทย

จิตรกรรมโบราณเก่าแก่ที่สุดในเมืองเหนือ
ความสำคัญของเจดีย์ประธาน วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะเจดีย์องค์นี้มีจิตรกรรมฝาผนังอยู่ด้วย แถมยังเก่าแก่เป็นพิเศษ โดยจิตรกรรมฝาผนังชุดแรกอยู่ภายในกรุเจดีย์ของวัดอุโมงค์ครับ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ที่สุดที่พบในดินแดนล้านนา
จิตรกรรมฝาผนังภายในกรุเจดีย์อยู่ที่ผนังทั้ง 4 ด้านของกรุ เป็นภาพลายเส้นสีแดงบนพื้นสีทอง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยังไม่เคยพบที่อื่น ภาพที่เขียนคือภาพพระอดีตพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิแสดงปางมารวิชัยใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เรียงแถวซ้อนกันหลายแถว ซึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในพุทธศตวรรษที่ 20 ก็ปรากฏภาพพระอดีตพระพุทธเจ้าในลักษณะนี้ทั้งในศิลปะสุโขทัย เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว หรือศิลปะอยุธยา เช่น วัดมหาธาตุหรือวัดพระราม น่าเสียดายว่ากรุเจดีย์ของวัดอุโมงค์ฯ นั้นชำรุด ภาพก็ลบเลือนไปหมดแล้ว แต่โชคดีที่เคยมีนักวิจัยเข้าไปถ่ายภาพเอาไว้ได้ ทำให้รู้ว่าภาพที่ผมพูดมานี้มีอยู่จริง


แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถึงแม้เราจะสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังภายในกรุเจดีย์ไปแล้ว แต่ยังเหลือจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์อยู่ครับ ซึ่งถึงแม้จะลบเลือนอย่างมาก แต่ถ้าลองสังเกตดี ๆ ก็จะพบว่าตามผนังหรือบนเพดานของอุโมงค์นี้มีภาพของนก ใบไม้ และลายดอกโบตั๋น ที่เขียนด้วยสีสด เช่น สีแดงหรือสีดำ ซึ่งเป็นลายประดับแบบเดียวกับที่พบในศิลปะล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นอิทธิพลจากศิลปะจีน และด้วยอายุที่เก่าแก่กว่า 500 ปี ทำให้จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์แห่งนี้กลายเป็นจิตรกรรมเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลือในดินแดนล้านนาอีกด้วย


เมื่อกาลเวลากัดกร่อนอดีต
วัดอุโมงค์แห่งนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกกับเราว่า กาลเวลาที่หมุนไปนำพาความเสื่อมถอยมาสู่ทุกสิ่ง แม้แต่จิตรกรรมโบราณซึ่งเก่าแก่ที่สุดในดินแดนล้านนายังสูญหายไปด้วยผลของกาลเวลา และแน่นอนว่าจิตรกรรมภายในอุโมงค์ก็ไม่เว้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันจะลบเลือนและหายไปอย่างแน่นอน หน้าที่ของเราก็คือการบันทึกสิ่งเหล่านี้เอาไว้ ทั้งในรูปแบบของความทรงจำและภาพถ่าย เพื่อให้เราไม่ลืมว่าสิ่งนั้นเคยมีอยู่ และส่งต่อไปยังคนในรุ่นหลังจากเราว่าสิ่งสิ่งนั้นเคยมีตัวตนอยู่จริง ๆ
ดังนั้น มาถ่ายภาพกันไว้เถอะครับ อย่ามัวแต่กังวลว่าคุณภาพของกล้องเราไม่ดี กล้องมือถือเราถ่ายภาพไม่ชัด จะมาก จะน้อย ก็ถ่ายเก็บไว้เถอะ เพราะช่วงเวลาที่ดี บางครั้งอาจมีแค่ครั้งเดียวก็ได้นะครับ
เกร็ดแถมท้าย
- วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่ตีนดอยสุเทพฟาก มช. เลยครับ หากสนใจจะไปชม แนะนำให้ใช้รถส่วนตัว เผื่อจะได้แวะไปชมวัดอื่น ๆ ที่อยู่ไม่ห่างกัน เช่น วัดป่าแดงหลวง วัดตโปทาราม หรือวัดสวนดอก
- สำหรับใครที่ชอบจิตรกรรมฝาผนัง เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่มีจิตรกรรมฝาผนังอยู่หลายวัดเลยครับ ถึงจะไม่เก่าเท่าวัดอุโมงค์แห่งนี้ก็ตาม ถ้าในตัวเมืองเชียงใหม่ก็มีทั้งที่วัดพระสิงห์หรือวัดบวกครกหลวง
- ไหน ๆ ไปดูวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) หรือวัดอุโมงค์นอกเมืองแล้ว ก็อย่าลืมไปดูวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์หรือวัดอุโมงค์ในเมืองด้วยนะครับ วัดนี้มีทั้งเจดีย์รุ่นเก่าที่สุดอีกองค์หนึ่งในเชียงใหม่ หรือพระพุทธรูปสำคัญอย่างหลวงพ่อสมใจนึก พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ในอุโบสถ หรือวิหารหลวงที่มีรูปพานรัฐธรรมนูญอันเล็ก ๆ บนหน้าจั่วด้วย