รับน้องขึ้นดอยที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แต่อย่างใด
น้องที่ว่านี้เป็นเฟรชชี่ที่ไม่ใช่คน และแน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าเราเล่าเรื่องนี้น้องใหม่ที่ว่าก็คือรถไฟ
เรื่องมีอยู่ว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติกันจะเป็นระเบียบแล้ว หากมีการสร้างหรือผลิตรถไฟขึ้นมาใหม่ จะต้องเอารถไฟน้องใหม่ไปทดสอบสมรรถนะในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ถ้าทดสอบสมรรถนะแล้วไม่ผ่าน ก็ถือว่าน้องใหม่ไม่ได้ไปต่อ ต้องไปปรับปรุงตัวใหม่ให้ผ่านด่านทดสอบไปให้ได้

แล้วทำไมต้องเป็นสายเหนือ
เพราะเส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยถือได้ว่าเป็นด่านความโหดที่สุด ทรหดกว่าทุก ๆ สาย ด้วยทางโค้งรัศมีแคบที่มีกันอย่าง Non stop หลายจุด บวกกับความลาดชันของทางรถไฟที่มากที่สุดในประเทศ แถมด้วยสถานีที่ตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 500 กว่าเมตร และไม่ว่ายังไงแล้วทางรถไฟสายเหนือคือด่านทดสอบของน้องใหม่ที่เข้ามาประจำการในประเทศ
การออกแบบต้องคำนึงถึงการใช้งานในระดับสูงสุด และดอยขุนตาลก็ดูเหมือนว่าจะเป็นขอบเขตที่สุดที่ใช้ในการออกแบบเพื่อได้มาซึ่งรถไฟที่มีคุณภาพการใช้งานที่ดี สเปกรถทุกอย่างจะมีค่าสูงสุดที่กำหนดไว้เพื่อใช้ในการผลิตเสมอ รวมถึงการทดสอบหลังจากผลิตแล้ว ทางรถไฟสายเหนือกับดอยขุนตาลคือด่านสำหรับการทดสอบสมรรถนะ และการนำขบวนรถไฟเข้ามาทดสอบในเส้นทางนี้ก็ถูกเรียกชื่อกันลำลองว่า ‘รับน้องขึ้นดอย’


พ.ศ. 2565 รถจักรน้องใหม่ชื่อว่า ‘QSY’ จะมาประจำการที่ประเทศไทย หลังจากรุ่นพี่ที่ชื่อว่า CSR Qishuyan ที่เป็นพี่ใหญ่ลากรถสินค้าเดินทางนำหน้ามาก่อน 7 ปี ถ้าเรียกให้ถูกคือ ‘คิว เอส วาย’ ถ้าเรียกเอาง่ายก็ ‘คิวซี่’ แต่ก็มีชื่ออื่นถูกเรียกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘อุลตร้าแมน’ เพราะสีสันเหมือนอุลตร้าแมน หรือแม้กระทั่งบางคนก็เรียก ‘แพนด้าแดง’ เพราะเป็นรถจักรที่สั่งผลิตจากบริษัทของจีนและมีสีแดง อะ ก็จินตนาการและว่ากันไป ใครใคร่เรียกแบบไหนตามสะดวก
รถจักร QSY มีสมาชิก 50 หัว
20 หัวแรกข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงไทยแล้ว และจะเข้าคลาสทดสอบพร้อมรับน้องขึ้นดอย ก่อนที่ทีมถัดไปอีก 30 หัวจะเดินทางตามมา
รถจักร QSY มีหน้าตาที่แตกต่างจากรถจักรรุ่นอื่น ๆ ที่วิ่งกันขวักไขว่ หน้าตาของมันมีส่วนโค้งมนไม่เหลี่ยมเหมือนรุ่นพี่ ๆ เรือนร่างที่ใหญ่โตกำยำ หน้าตาที่จะดุดันก็ไม่ใช่ บ้องแบ๊วก็ไม่เชิง แถมเป็นรถจักรรุ่นแรกในช่วงหลัง พ.ศ. 2530 เลยก็ว่าได้ที่หน้ารถไม่ได้เป็นสีเหลือง รถก่อนหน้านั้นเกือบทั้งหมดของไทยถูกเพนต์หน้ารถเป็นสีเหลืองเป็นหลัก ด้วยเหตุผลว่าสีเหลืองมองเห็นได้จากระยะไกลในทุกสภาพสายตา ทั้งตาปกติ ตาบอดสี และตาฝ้าฟาง ตัวบอดี้ของเจ้าน้องใหม่ยืนหลักที่สีเงินและมีแถบสีแดงสดพาดทั้งหน้าและข้าง พร้อมตัวอักษร SRT ขนาดจัมโบ้ ย่อมาจาก State Railway of Thailand (การรถไฟแห่งประเทศไทย) เป็นการบอกว่า ‘ฉันเป็นรถจักรของการรถไฟนะ’

อีกหนึ่งความพิเศษที่เจ้าน้องใหม่นี้มี คือการติดตั้งระบบการควบคุมรถไฟแบบยุโรป (European Train Control System Level 1: ETCS lv.1) มากับรถเลย ซึ่งรุ่นอื่น ๆ ไม่มี ต้องติดตั้งเพิ่ม ความพิเศษของระบบ ETCS lv.1 คือช่วยให้การเดินรถไฟมีความปลอดภัยมากขึ้น ควบคุมและหยุดขบวนรถได้หากสูญเสียการควบคุม วิ่งความเร็วเกินที่ Speed Target กำหนด หรือแม้แต่การฝ่าสัญญาณไฟ ซึ่งวิ่งร่วมทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เพราะเขาคุยกันรู้เรื่องด้วยภาษา ETCS lv.1 เหมือนกัน
สำหรับพละกำลังของน้อง QSY ก็ไม่เบา ด้วยพลังขนาด 3,218 แรงม้า มากกว่ารถจักรรุ่นพี่ที่ลากรถโดยสารอยู่เป็นนิจอย่างฮิตาชิที่และยีอีเอมีกำลัง 2,500 แรงม้า แต่ก็ยังเป็นรอง CSR Qishuyan ที่มีพลัง 3,800 แรงม้า รวมถึงความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มากกว่ารถจักรอื่น ๆ ที่สปีดสุด ๆ แค่ 100
ด้วยพละกำลังมหาศาลขนาดนี้ จึงเป็นขุมพลังสำคัญที่จะใช้ลากขบวนรถไฟได้ยาวขึ้น ลดการใช้หัวรถจักร 2 คันลากขึ้นเขาได้ หรือแม้แต่อัตราการขัดข้องระหว่างทางก็ที่ต่ำกว่ารถจักรที่ใช้งานมาก่อนหน้า
แต่น้องใหม่จะออกทำงานไม่ได้จนกว่าจะผ่านบททดสอบ และการขึ้นดอยคือหนึ่งในบททดสอบนั้น

ก่อนวันรับน้อง
ตั้งแต่น้อง QSY เดินทางถึงไทย (เราจะเรียกรถไฟว่าน้อง แม้ว่าจะแก่แค่ไหนตาม) น้องพักผ่อนอยู่ที่สถานีชุมทางศรีราชา เพื่อทดสอบสมรรถนะตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ไปจนถึงระดับการวิ่งด้วยหัวเดียวด้วยความเร็วสูงสุด การทดสอบลากตู้โดยสารจำนวนสูงสุด 26 ตู้ ซึ่งการทดสอบบนทางราบนั้นผ่านฉลุยอย่างไม่มีข้อสงสัย ด่านต่อไปคือการรับน้องขึ้นดอยขุนตาล และทดสอบการลากจูงในเส้นทางที่เต็มไปด้วยภูเขาอย่างสายเหนือ
การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 เงื่อนไข
เงื่อนไขแรกคือการทดสอบวิ่งหัวเดียวที่ภาษารถไฟเรียกว่า ‘ตัวเปล่า’ ขึ้นทางลาดชัน รวมถึงการทดสอบหยุดระหว่างทางบนทางลาดชัน เงื่อนไขที่สองคือการลากตู้รถพ่วงในหน่วยลากจูงที่เต็มพิกัดแบบเต็มเมตรเต็มหน่วยด้วยหัวเดียว ซึ่งโดยปกติแล้วขบวนรถไฟที่ปุเลง ๆ ขึ้นดอยขุนตาลจะต้องบวกหัวรถจักรเพิ่มมาอีกหนึ่งเสมอสำหรับรถที่มีหน่วยลากจูงสูง (ตู้ยาว น้ำหนักเยอะ) ด้วยค่าความลาดชันของดอยนี้ที่มีค่าสูงสุดอยู่ที่ 26 เปอร์มิล (ระยะทาง 1 กิโลเมตร ยกสูงขึ้น 26 เมตร) ถือว่าลาดชันมากเกินกว่าหัวเดียวจะลากรถหนัก ๆ ขึ้นได้ แม้แต่ด่วนพิเศษอุตราวิถีที่วิ่งอยู่ประจำก็ต้องต่อหัวอีก 1 หัวลากขึ้นดอยเหมือนกันเพื่อแรงส่งที่ดี ไม่ติดทางลาดชันหรือภาษาบ้าน ๆ ที่เรียกว่าติดเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าฝนที่ติดเขากันเป็นว่าเล่น
ก่อนวันรับน้อง เจ้า QSY สองหน่อหมายเลขรถ 5207 จับมือกับ 5217 ลากตู้โดยสารสำหรับการทดสอบความยาว 17 คันเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครลำปาง เพื่อทดสอบการลากขบวนรถจริง ๆ ผ่านเส้นทางสายเหนือไปลำปาง จากนั้นก็จะแยกออกเป็น 2 ทีม
ทีมแรกคือขบวนเต็มลากด้วยรถจักรหมายเลข 5217 เดินทางจากนครลำปาง-ขุนตาน-ทาชมภู สำหรับทีมที่ 2 เป็นรถจักรหมายเลข 5207 ทดสอบแบบบินเดี่ยวบนทางลาดชันในเส้นทางเดียวกัน ก่อนจะผลัดให้รถจักรหมายเลข 5207 ลากทั้งขบวนทดสอบในเส้นทางเดิมมุ่งหน้ากลับไปลำปาง แล้วให้รถจักรหมายเลข 5217 ทดสอบตัวเปล่าตามกลับไป เหมือนผลัดกันทำข้อสอบชุดเดียวกันคนละรอบ เมื่อทั้ง 2 ทีมถึงลำปางแล้ว ก็จะวิ่งเป็นขบวนเต็ม ๆ ไปนอนค้างที่เชียงใหม่
ญาติสนิทมิตรสหายคนรักรถไฟเดินทางมาพร้อมกันที่สถานีกรุงเทพโดยนัดหมายบ้างไม่นัดหมายบ้าง ทุกคนพกกล้องกันมาด้วยเพราะอยากเห็นน้อง QSY ตัวเป็น ๆ เจ้าน้องเลยเหมือนเป็นดาราหน้าปกหนังสือมีคนรายล้อมพร้อมถ่ายรูปก่อนที่แสงตะวันยามเย็นจะหมดลง
พอค่ำขบวนพิเศษทดลองก็ออกจากสถานีกรุงเทพ ด้วยความที่เราเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของการรับน้องขึ้นดอยด้วย เลยจับรถไฟไปขุนตานขบวนที่ออกตามหลัง ด้วยความที่อยากเห็นน้องแบบชัด ๆ เลยนั่งรถไฟสายสีแดงไปดักรอดูที่สถานีรังสิต เพราะคิดว่าคนน่าจะไม่เยอะ

ผลคือผิดคาด มีชาว Railfan (แฟนรถไฟ) ตั้งกล้องรออยู่เพียบ สถานีรังสิตก็คับคั่งไปด้วยคนที่มารอดูเจ้าน้องใหม่ ไม่นานนัก ไฟหน้าสีขาวสว่างจ้าก็ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นจากฝั่งดอนเมือง เจ้า QSY ค่อย ๆ วิ่งเข้ามาเทียบชานชาลาสถานีรังสิต
เหล่า Railfan ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียงเครื่องเงียบมาก”
ใช่ มันเงียบจริง ๆ ไม่แผดคำรามจนหนวกหูเหมือนรถจักรรุ่นพี่ มีเสียงคำรามต่ำ ๆ ดังหึ่ง ๆ ผสมกับเสียงวี้ ๆ ของพัดลมระบายอากาศขนาดยักษ์เท่านั้น เอาจริง ๆ เสียงเครื่องแอร์ของรถนอนรุ่นเก่า หรือเสียงล้อบดรางยังดังกว่าเลย วิศวกรของรถไฟเคยเล่าให้ฟังว่า ที่ออกแบบห้องเครื่องมีขนาดใหญ่ มีตะแกรงระบายอากาศกว้าง พร้อมพัดลมขนาดยักษ์ช่วยให้การระบายความร้อนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม
เสียงหวีดดังกังวาน ไฟหน้าสาดแสงจนสว่างไปทั่วชานชาลา เสียงเครื่องเริ่มดังขึ้นอยู่ในระดับสบายหู ขบวนรถพิเศษทดลองค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากสถานีรังสิต ด้วยความเร็วที่รู้สึกได้ว่าการออกตัวต่างจากของเดิมมาก ท้ายยังไม่ทันพ้นชานชาลาก็วิ่งฉิวก่อนจะค่อย ๆ ลับสายตาไปในความมืด ไม่นานนักขบวนรถด่วนพิเศษ 13 กรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่เราต้องเดินทางก็ตามมาเทียบที่ชานชาลาเดียวกัน คืนนี้ขอนอนไปกับรถไฟบนเตียงนุ่ม ๆ กับผ้าอุ่น ๆ ให้เต็มที่ก่อนใช้พลังงานเยี่ยงช้างสารกับการดูกิจกรรมรับน้อง QSY ขึ้นดอยในวันถัดไป ซึ่งรถของเราแซงขบวนทดลองไปตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ มารู้อีกทีตอนเช้าว่าขบวนทดลองตามหลังขบวนของเรามา


วันรับน้องขึ้นดอย
รถด่วนพิเศษขบวน 13 จอดเทียบชานชาลาสถานีขุนตาน พร้อมกับเหล่าน้องหมาที่อยู่กันเต็มดอยออกมารับผู้โดยสารกันหน้าสลอน
สถานีขุนตานคือการปักหลักแรกในวันนี้ พรายกระซิบบอกมาว่าขบวนรถทดลองถึงนครลำปางแล้ว กำลังจะแยกร่างออกมาเตรียมการทดสอบ ตัวขบวนเต็มจะออกมาก่อนแล้วตามมาด้วยหัวรถจักรเปล่าไล่กันมา ในหัวเราต้องคอยหามุมถ่ายรูปและคลิปที่คิดว่าสวยที่สุด เพราะไม่ใช่โอกาสบ่อยนักที่จะเห็นรถไฟขบวนยาวขึ้นเขามาด้วยหัวเดียว และซ้ำยังเป็นน้องใหม่เครื่องแรงนี่อีก คนน่าจะตื่นเต้นกันน่าดูถ้าโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
มุมแรกที่เราเลือกเป็นมุมโคตรมหาชน นั่นคือหน้าอุโมงค์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นที่หมายปองของเหล่า Railfan ที่มารับเจ้าน้องใหม่ เราทุกคนตกลงกันว่าใครจะอยู่มุมไหนหรืออยากได้ภาพแบบไหนเพื่อไม่ให้แย่งมุมกันหรือบังกัน ซึ่งเป็นมารยาทของ Railfan ที่เราต้องถ่ายรูปกันด้วยความเคารพและไม่รบกวนกัน พอประจำจุดก็จะตะโกนถามกันเป็นระยะ ๆ ว่าตรงนี้บังไหม ตรงนี้เข้าไปในเฟรมไหม จะได้หลีกเลี่ยงเพื่อไม่ต้องขวางกันให้ภาพเสีย


สัญญาณจากสถานีดังขึ้น เป็นนิมิตหมายอันดีว่ารถพิเศษออกจากสถานีแม่ตานน้อยซึ่งเป็นสถานีก่อนหน้ามาแล้วหลังจากที่รอกันมาเป็นชั่วโมง สายตาของทุกคนจับจ้องไปที่ต้นไม้หน้าอุโมงค์ หากต้นไม้หน้าอุโมงค์ไหวเอนเหมือนยืนกลางลมพายุ นั่นหมายความรถไฟเข้ามาในอุโมงค์แล้ว ยิ่งลมแรงเท่าไหร่แสดงว่ารถใกล้ถึงหน้าอุโมงค์มากขึ้น อึดใจเดียวแสงสว่างจากไฟหน้ารถก็ชัดขึ้นแล้วน้อง QSY ก็ปรากฏตัวมาจากความมืดนั้น
เสียงชัตเตอร์ระรัวยิ่งกว่าเสียงล้อกระทบราง น้องหยุดนิ่งสนิทบนสถานีที่สูงที่สุดในประเทศไทยเพื่อเช็กระบบเบรก ก่อนจะได้สัญญาณให้เดินทางต่อไปปลายทางแรกของการทดสอบคือสถานีทาชมภู น่าทึ่งที่นะหัวเดียวลาก 17 ตู้ขึ้นทางลาดชันได้อย่างสบาย ๆ แรงไม่ตก แถมสัมผัสได้ถึงความชิลล์ ๆ ในการลากอีกต่างหาก



สถานีบอกเราว่ารถด่วน 51 จะมาถึงก่อนแล้วรอหลีกกับรถท้องถิ่น 408 เชียงใหม่-นครสวรรค์ หัวรถจักรตัวเปล่าถึงจะตามมา ช่วงนี้ก็จะได้พักเบรกกันหน่อย เหล่า Railfan เริ่มตั้งวงสนทนากัน เพื่อนบางคนรู้จักกันมานับสิบปี และบางคนที่เพิ่งได้มาเจอหน้ากัน บทสนทนาทั่วไปก็ไม่พ้นเรื่องรถไฟ เรามีความเห็นเหมือนกันว่าอยากเห็นรถโดยสารใหม่ ๆ เข้ามาประจำการแล้ว โดยเฉพาะรถนั่งที่ส่วนใหญ่ตอนนี้มีแต่รถพัดลมหัวโกรกฟู แถมลงจากรถไฟแล้วต้องตัวเหม็นกลิ่นเหล็กอีก
จริง ๆ แล้วรถไฟมันได้เปรียบมากกับการเดินทางระยะกลางที่ไม่ยาวมาก ถ้ามีรถนั่งแบบชั้นประหยัดกับแบบเอนได้พร้อมระบบปรับอากาศ ที่นั่งที่รองรับกายภาพของคนนั่งไม่ต้องหลังตรง 90 องศา มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ และระบบแจ้งเตือนข้อมูลที่ดี แค่นี้คนก็เลือกใช้รถไฟกันมากโขแล้ว
รถไฟเจ้าถิ่น 2 ขบวนผ่านไป ก็ถึงเวลาไปตั้งป้อมถ่ายเจ้าหัวเปล่า ต่างคนต่างแยกย้ายไปประจำมุมของตัวเองเพื่อเก็บภาพเจ้าน้องขึ้นดอย เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วเราก็ไปหามุมใหม่สำหรับรอขบวนขากลับ ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายบนขุนตานก่อนที่จะไปสถานที่ต่อไป

เราเลือกไปที่ปลายสุดของสถานีด้านทิศเหนือซึ่งไม่เคยใช้มุมตรงนี้ถ่ายรูปมาก่อน มุมนี้ถือว่าดีเพราะเป็นทางโค้งขึ้นเนินมา และอย่างน้อยมุมก็จะไม่จำเจกับรอบแรก พระพิรุณโปรยฝนลงมาบาง ๆ สถานีส่งสัญญาณมาอีกครั้งว่ารถเที่ยวกลับขึ้นดอยมาแล้ว เราปักหลักรออยู่ตรงหัวโค้งพอดี พร้อมระรัวชัตเตอร์ต้อนรับน้องใหม่ด้วยมุมที่ไม่เคยถ่ายมาก่อน
เวลาผ่านไประยะหนึ่งพร้อมกับความเงียบ มีเพียงเสียงฝนเปาะแปะและเสียงลมหวีดหวิวเท่านั้น ใจหนึ่งอยากเดินกลับไปไปถามที่สถานีว่ารถมันขึ้นดอยมาได้ใช่ไหม กับอีกใจหนึ่งก็กลัวว่าถ้าเดินไปแล้วจังหวะรถมาพอดีก็จะสูญสิ้นทุกอย่างที่ตั้งใจไว้
“แป๊น!” ราวกับตอบคำถาม เสียงหวีดของน้องดังผ่านเหลี่ยมเขามา หันหน้าไปอีกที เห็นน้องตีโค้งเข้ามาเสียงคำรามของเครื่องยนต์ที่เรียกได้ว่าเบากว่าที่คิดมาก สำหรับความเร็วนั้นถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว การที่หัวรถจักรหัวเดียวลากรถยาว 17 ตู้ด้วยความเร็วในระดับแรงไม่ตกมาเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรจากตีนดอย ถือได้ว่าการทดสอบครั้งนี้มีแนวโน้มความสำเร็จสูง


สถานที่ต่อไปที่เราจะเดินทางไปเพื่อรอถ่ายภาพขบวนทดสอบรอบบ่าย นั่นคือ สะพานทาชมภู
จากสถานีขุนตานไปสะพานทาชมภู ไม่มีขนส่งสาธารณะใด ๆ นอกจากมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนที่ต้องขับลงจากดอยผ่านเขตอุทยาน หมู่บ้าน เพื่อมุ่งหน้าไปที่จุดหมายที่สอง
Tetris Cafe คือสถานที่ปักหลักการรับน้องประจำวันนี้ คาเฟ่ที่นี่เป็นตึกสูง 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟน่ารัก ๆ พร้อมสวนให้นั่งพักผ่อน ชั้นที่สองเป็นแกลเลอรี่ศิลปะ และชั้นที่สามเป็น Rooftop ที่เหมาะเหม็งกับการส่องรถไฟเป็นอย่างมาก ภาพทางรถไฟเข้าโค้งเป็นตัว S มีสะพานทาชมภูสีขาวอยู่ตรงกลางสีตัดกับทุ่งหญ้าและขุนเขาสีเขียวที่เป็นฉากหลังพร้อมปอยหมอกจากฝนที่ลอยตัวเอื่อย ๆ อยู่บนยอดดอย ลองนึกภาพว่าถ้ารถไฟเลื้อยผ่านมามันจะสวยขนาดไหนกัน

ที่เลือกสะพานทาชมภูเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพการทดสอบรถจักรฮิตาชิเมื่อ พ.ศ. 2536 และภาพรถไฟในการ์ดชุดความรู้วันเด็กของธนาคารออมสิน อีกอย่างสะพานทาชมภูเองเป็นจุดสุดท้ายของดอยขุนตาลที่เรียกได้ว่าอยู่ตีนดอยพอดี เหมือนกับเส้นชัยของน้อง QSY ที่ถ้าผ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็เท่ากับน้องได้เข้าเส้นชัยแล้ว
จากลำปางกลับมาทาชมภูใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ๆ การฆ่าเวลาของชาว Railfan ที่ยึดทาชมภูเป็นป้อม คือการนั่งไขว่ห้างจิบกาแฟดูวิวทางรถไฟสวย ๆ พร้อมกับส่องรถขนปูนซีเมนต์กับรถท้องถิ่นวิ่งผ่านมา บ้างก็นั่งคุยกัน บ้างก็งีบหลับเอาแรง อากาศดี มีฝนปรอย ๆ ลงมาให้คลายร้อน จะว่าไปแล้วร้าน Tetris Cafe เหมือนสร้างมาเพื่อสนองนี้ดคนรักรถไฟเลยก็ว่าได้ ด้วยโลเคชันอยู่ตรงโค้งรูปตัว S แบบพอดิบพอดี แถมถ่ายรูปขบวนรถไฟได้มุมสวยอีกต่างหาก เอาจริง ๆ ถ้าเป็นขาจรที่แวะมาเที่ยวสะพาน ก็น่าจะเป็นอีกที่หนึ่งที่พักแรงชมวิวชมรถไฟได้สบาย ๆ

แต่จะว่าไปการรอดูรถไฟนอกเขตสถานีก็ทำให้พวกเราคลาดสายตาไม่ได้เหมือนกัน ไม่มีใครบอกกล่าวล่วงหน้าได้เลยว่า ขบวนพิเศษทดลองจะโผล่มาตอนไหน นอกจากการใช้ประสาทสัมผัสที่ไวกับรถไฟเป็นพิเศษของพวกเราแทน ตาคอยจับจ้องตรงหัวโค้งที่มีต้นไม้บังทางรถไฟ หูคอยฟังเสียงเครื่องหรือเสียงล้อบดรางที่อาจจะดังก้องสะท้อนในป่า
เหมือนน้องรู้งานว่ามีคนคอย จู่ ๆ เสียงดัง “แป๊น!” ก็ดังมาจากในป่า ทุกคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เด้งตัวขึ้นมาประจำที่ หัวรถจักรสีเทา/แดง ค่อย ๆ ปรากฏตัวผ่านแผงต้นไม้ของดอยขุนตาล สาดโค้งเบา ๆ ข้ามสะพานสีขาว แล้วค่อย ๆ ผ่านโค้งสุดท้ายที่ด้านหน้าคาเฟ่เป็นรูปตัว S สวยงาม
มันสวยจริง ๆ สวยขนาดเรารัวชัตเตอร์ไม่หยุด และคนข้าง ๆ ก็เช่นกัน อารมณ์ตอนนี้เหมือนกับเรากำลังรอน้องใหม่ที่ผ่านพิธีกรรมรับน้องที่มีด่านทดสอบสารพัดระหว่างทาง และน้องใหม่ก็ผ่านด่านนั้นมาได้อย่างฉลุยจนอยากจุดพลุฉลองการเข้าเส้นชัย



ความอิ่มเอมของภาพที่เห็น (ซึ่งสวยกว่าในภาพถ่ายมาก) ทำให้พวกเรายืนคุยกันอยู่นานมาก ต่างคนต่างแชร์ความรู้สึกของตัวเองที่ได้เห็นเจ้าน้องใหม่ ก่อนที่จะแยกย้ายกัน โดยเราต้องรีบเข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อไปอาบน้ำ หาของกิน และไปสนามบินเพื่อบินกลับกรุงเทพฯ ในค่ำวันนี้เลย
จากการถามไถ่ข้อมูลนั้น จะมีการทดสอบที่สำคัญที่สุดอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม นั่นคือการทดสอบเดินรถจักร QSY บนทางเดียวกับรถไฟสายสีแดงเพื่อทดสอบระบบ ETCS lv.1 ซึ่งเป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้การเดินรถไฟจากสถานีกลางบางซื่อร่วมกับสายสีแดงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย
ในขณะเดียวกัน ตามที่มีการอัปเกรดทางรถไฟเดิมให้กลายเป็นทางคู่ก็จะมีการติดตั้งระบบ ETCS นี้เข้าไปด้วย เพื่อให้การเดินรถไฟของไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากเจ้า QSY ที่มีระบบ ETCS แล้ว รถจักรและดีเซลรางรุ่นก่อนหน้าที่ยังไม่มีแผนปลดระวาง ก็ต้องติดตั้งระบบนี้เข้าไปด้วยเพื่อให้การเดินรถมีความคล่องตัว และปลอดภัยภายใต้ระบบป้องกัน เหลือเพียงแค่รอรถโดยสารใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเสริมกำลังในวันที่โครงสร้างพื้นฐานของรถไฟอัปเกรดเป็นทางคู่ที่มีระยะทางมวกกว่าเดิม รวมถึงทางสายใหม่ที่จะไปเชียงราย เชียงของ และไปมุกดาหาร นครพนม เสร็จเรียบร้อย หวังว่าเราจะได้มารับน้องรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นดอยบ่อยขึ้น
ขอฝากน้องใหม่ไว้ในอ้อมใจด้วย

ภาพ : นราธิป แสงน้อย
เกร็ดท้ายขบวน
1. รถจักร QSY จะใช้งานกับขบวนรถโดยสารเป็นหลัก และจะวิ่งในทุกเส้นทางหลักทั่วประเทศไทย
2. รถโดยสารที่จะใช้รถจักร QSY ลากก่อนเป็นพวกแรก ๆ คือรถด่วนพิเศษซีรีส์ชื่อยาว ทั้งอุตราวิถี (เชียงใหม่) อีสานวัตนา (อุบลราชธานี) อีสานมรรคา (หนองคาย) และทักษิณารัถย์ (หาดใหญ่)
3. รถจักร CSR Qishuyan เป็นรถจักรเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่ได้ทดสอบบนเส้นทางขุนตาน เพราะมีบางสะพานยังไม่รองรับน้ำหนักของน้องที่มีแรงกด 20 ตัน ต่อเพลา