หนังรักสามเส้า จดหมายรักจากแฟนเก่า คู่รักที่คบมานานจนจืดจาง ภาพสวย มู้ดดี เห็นแล้วอยากไปเที่ยว บางช่วงเข้าใจยาก แต่เพลงประกอบ Michi Teyu Ku (Overflowing) ที่แต่งโดย ฟูจิอิ คาเสะ (Fujii Kaze) ในช่วง End Credit ตราตรึงใจจนไม่มีใครยอมลุกออกจากโรงเพราะอยากฟังและอ่านคำแปลจนจบ 

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนแบบคร่าว ๆ จากผู้ชม เมื่อ April, Come She Will เมษายน พาใครบางคนกลับมา ภาพยนตร์รักสัญชาติญี่ปุ่นเข้าฉายในประเทศไทย

หนังจบแล้วแต่ใจอาจยังไม่จบ สำหรับคนที่กำลังมองหาเหตุและผลที่หนังซ่อนไว้ รวมทั้งคำอธิบายที่จะช่วยให้รู้จักและเข้าใจตัวละครหลักทั้ง 3 ได้ชัดเจนและลึกซึ้งขึ้น บทความนี้จะขออาสาเป็นส่วนขยาย พาคุณสำรวจจากนิยายต้นฉบับสู่หนัง ค้นความหมายของเดือนเมษายนแบบสายลึกไปด้วยกัน 

(ย่อหน้าต่อไปมีการเปิดเผยเนื้อหา)

มีครบทุกอย่าง แต่เหมือนไม่มีสักอย่าง

“ตัวละครที่ผมเล่นเป็นชายหนุ่มที่กำลังตามหา ‘ธรรมชาติของรักแท้’ ผมเองก็หวังให้เขาหาสิ่งนั้นพบ” ทาเครุ ซาโต้ นักแสดงหนุ่มผู้รับบทเป็น ฟูจิชิโระ ชุน ตัวละครหลักของเรื่องเคยกล่าวไว้ น่าแปลกไหมสำหรับจิตแพทย์หนุ่มหน้าตาดีที่ดูเหมือนจะมีพร้อมทุกอย่าง กำลังเตรียมงานแต่งกับ ยาโยอิ (รับบทโดย มาซามิ นากาซาวะ) คู่หมั้นสัตวแพทย์สาว ฉลาด ใจดี ศีลเสมอกัน ทั้งหน้าที่การงาน ไลฟ์สไตล์ จิบไวน์ ดูหนัง พูดคุยกันได้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ สัพเพเหระไปจนถึง Deep Talk Conversation อย่างทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตคู่และอายุขัยของความรัก แม้แต่ในขณะที่ฟูจิได้รับจดหมายจากคนรักเก่าอย่าง ฮารุ (รับบทโดย โมริ นานะ) ก็ยังกล้าเล่าให้ยาโยอิฟัง เช็กแล้วถูกต้องทุกอย่าง สุดแสนจะ Healthy Relationship แล้วอะไรที่เป็นปัญหาระหว่างพวกเขาถึงขั้นทำให้ยาโยอิหนีไป อะไรที่ทำให้ฟูจิกลายเป็นคนที่ไม่เข้าใจความรัก

April, Come She Will เป็นผลงานสร้างจากนิยายขายดีของ คาวามูระ เก็งคิ ผู้เขียน If Cats Disappeared From the World (ถ้าแมวตัวนั้นหายไปจากโลกนี้) ที่ซ่อนรายละเอียดไว้อย่างนุ่มนวล ตัวละครของเขาเก็บงำอารมณ์และระมัดระวังในการแสดงความรู้สึกอย่างมาก แม้บทสนทนาที่คุยกันอยู่จะดูลื่นไหล ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ช่างพูดช่างคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนรักและเปิดเผยกับเพื่อนสนิท แต่ก็ดูเหมือนฟูจิจะมีความในใจส่วนตัวซ้อนทับอยู่เสมอ บางครั้งไม่ได้พูดออกมา บางครั้งใจลอยไปที่อื่น (หนังตัดสลับภาพแทรกเข้ามาแบบกะทันหันบ่อย ๆ ทางหนึ่งเพื่อเล่าอดีต และอีกทางเพื่อสื่อถึงความทรงจำที่ฟุ้งกระจาย) ถึงสีหน้าจะปกติ แต่บ่อยครั้งคนข้างตัวก็ดูออกว่าปากไม่ตรงกับใจ

ด้วยความที่หนังไม่ได้เล่านิสัยใจคอหรือภูมิหลังของฟูจิให้คนดูเข้าใจมากนัก มีเพียงคำพูดถึงการหย่าร้างของพ่อแม่แบบสั้น ๆ จึงไม่แปลกหากคนดูจะอยากเข้าใจฟูจิมากขึ้น ในนิยายเล่าว่าการโตมากับพ่อที่ ‘รักใครไม่ได้’ จนแม่ต้องหย่าเพราะรู้สึกตัวเอง ‘ไม่เป็นที่รัก’ ทำให้ฟูจิหวาดกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองอาจเป็นแบบพ่อ รู้ตัวอีกทีก็ไม่กล้าคาดหวังและไม่เผยความรู้สึกจริงกับใครมากนัก 

เก็งคิไม่ได้เขียนให้เขาเติบโตเป็นเด็กเกเรอมทุกข์แบบละครทั่วไป ฟูจิปรับตัว รับได้ และยังมีชีวิตปกติ แต่ความรู้สึกที่ปิดกั้นก็ทำให้กลายเป็นคนที่ ‘ไม่สุด’ กับอะไรสักอย่าง ถึงยังรักเป็นแต่ก็รักแบบมีระยะ ไม่ผูกติดจิตใจ จะเสียอะไรไปก็ยอมปล่อย ไม่คว้าไว้ ทั้งวันที่ปล่อยฮารุจากไป และในวันที่ยาโยอิหายไปก็ไม่ได้ร้อนใจทุรุนทุรายนัก น่าเสียดายที่หนังตัดส่วนสำคัญจากนิยายออก ทั้งตัวตนสีเทา ความปรารถนาด้านเพศ โอกาสทำผิดพลั้งหากไม่ระวังให้ดี ใจที่เอาแต่มองหาความสุขอื่นนอกจากสิ่งที่มี ฯลฯ ซึ่งน่าจะทำให้ตัวละครมีมิติน่าสนใจและเข้ากับแก่นการตามหา มากกว่าเวอร์ชันหนังที่ปรับบทให้ฟูจิกลายเป็นคนซอฟต์ขาวสะอาด ทะนุถนอมตัวละครเกินไปจนมองไม่เห็นปมขัดแย้งภายใน (Internal Conflict) 

แต่อย่างน้อยหนังก็ยังเก็บเสน่ห์ในตัวละครของเก็งคิไว้ (เพราะทีมเขียนบทหนังก็มีคุณเก็งคิร่วมอยู่ด้วย) นั่นคือการออกแบบให้ฟูจิเป็น ‘มนุษย์’ มากกว่าเป็น ‘พระเอก’ ถึงจะเป็นจิตแพทย์แต่ก็ไม่ต้องเข้าใจทุกอย่าง เขาอยู่กับความไม่รู้ แก้ปัญหาไม่ถูกจนต้องปรึกษาคนโน้นคนนี้อยู่บ่อย ๆ แถมยังแย่งว่าที่เจ้าสาวของคนอื่น 

เขาไม่ได้สมบูรณ์แบบหรือบูชารักแท้จนถึงขั้นต้องดราม่าพลิกแผ่นดินตามหา เขาแค่ทำสิ่งที่คิดว่าควรทำ ไหลเรื่อยไปกับคืนวัน ถามว่าตั้งใจหายาโยอิไหม ก็ตั้งใจอยู่นะ แต่ถ้าถามว่าจริง ๆ ต้องการแบบนี้ไหม ก็ไม่ค่อยแน่ใจ บางครั้งชีวิตคนเราก็เป็นแบบนั้น ไม่ได้เศร้าถึงขั้นทุกข์ แต่จะพูดว่าสุขก็ไม่เต็มปาก ไม่ได้มีแต่วันแย่ ๆ วันเวลาที่ดีก็มีไม่น้อย ทั้งที่มีครบทุกอย่าง แต่กลับเหมือนไม่มีอะไรเลยสักอย่าง เป็นภาวะก้ำกึ่ง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ หาคำตอบไม่ได้ ยากจะสรุปหรือตัดสิน บางส่วนในตัวเขาไม่เต็ม และไม่รู้จะเติมให้เต็มได้อย่างไร 

ตลอดไปไม่มีอยู่จริง 

“จะทำยังไงให้รักไม่มีวันหมดลง” ด้วยพื้นนิสัยเดิมของยาโยอิเองที่หวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง กังวลว่าวันหนึ่งความสุขจะหมดไป จนทำให้ไม่กล้าเปิดรับความสุขเข้ามา แม้จะยอมลดกำแพงลง รับรักที่เกิดขึ้นกับฟูจิ แต่ด้วยจิตใจข้างในไม่มั่นคง บวกกับฟูจิเองที่แม้จะยังดีต่อกัน แต่ก็ดูคล้ายจะหลุดลอยไปตลอดเวลา ทำให้เธอมักถามคำถามคุยเล่นกึ่งลองใจบ่อย ๆ (ในนิยาย ทั้งคู่ถามกันผ่านหนังหลายเรื่องที่เปิดดูด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Eternal Sunshine of the Spotless Mind หรือ Her

แต่เมื่อถามจบ ฟูจิที่จับความรู้สึกไม่ได้และอาจไม่ทันคิดว่าอีกฝ่ายมีเจตนาอะไร (ถ้าเป็นข้อสอบทำนอง ‘ผู้พูดรู้สึกอย่างไร’ ก็สอบตกแน่นอน) ด้วยความที่คบกันมานาน คุยกันไปเรื่อยทุกเรื่อง บุคลิกของยาโยอิเองก็ทะมัดทะแมง ไม่ใช่สาวหวานแสนเปราะบาง ทำให้ฟูจิสบายตัว ตอบความจริงเสียจนลืมให้กำลังใจคนรัก หารู้ไม่ว่ายาโยอิไม่ได้ต้องการคำตอบ ‘ที่ถูกต้อง’ เธอต้องการคำตอบ ‘อะไรก็ได้ที่ให้ความมั่นใจ’ ทั้งที่ตอนรักกันใหม่ ๆ ถามไปก็เคยได้คำตอบที่ชื่นใจ วันนี้กลับไม่ได้อย่างที่หวัง ยาโยอิก็ทำได้แค่ยิ้มเบา ๆ ก่อนเปลี่ยนเรื่องพูด 

ในความสัมพันธ์ คนเรามักเป็นแบบนั้น ฝ่ายหนึ่งละเลยและหลงลืมในบางครั้ง อีกฝ่ายพยายามประคับประคองและหลีกเลี่ยงการปะทะที่ไม่จำเป็น แต่ระยะปลอดภัยนี้ก็ทำให้ยิ่งห่างเหินจากกันโดยที่ไม่มีใครตั้งใจทำร้ายใคร แน่นอนว่าฟูจิเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

จะรักกันตลอดไป ไม่มีวันจืดจางเสื่อมสลาย หนังให้คำตอบว่า ‘ต้องไม่ครอบครอง’ ฟังแบบนี้แล้วหลายคนอาจคิดถึงรักที่ไร้เงื่อนไข ความเสียสละที่จะประคับประคองความรักให้ยืนยาวตลอดรอดฝั่ง แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจปวดร้าวกว่านั้นมาก มนุษย์เรามักคิดถึงและต้องการสิ่งที่ ‘ไม่ได้มา’ หากอยากให้รักตลอดไปนั่นแปลว่าต้อง ‘ไม่สมหวัง’ 

ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึง ฮารุ คนรักเก่าของฟูจิ คนที่ยาโยอิกลัวว่าจะติดค้างอยู่ในใจเขา ถ้าอยากทำให้รักตลอดไปได้ ต้องทำให้ฟูจิรู้สึกว่าเธอเป็นสิ่งที่เขา ‘ครอบครองไม่ได้’ ได้หรือเปล่า การหายตัวไปอาจดึงให้ความรักกลับมาอีกครั้งได้ไหม การหายตัวจึงไม่ใช่แค่งอนหรือประชด แต่เป็นวิธีที่ยาโยอิออกเดินทางไปหาคำตอบเพื่อรักษาความรักไว้ และพร้อมทำทุกอย่างให้รักที่เคยมีกลับคืนมา

การแสดงส่วนนี้ ต้องชมว่านากาซาวะเล่นได้ละเอียดอ่อนและถ่ายทอดความอัดอั้นได้งดงามมาก
ไม่ใช่แค่ยาโยอิ หนังยังตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่ชื่อเรื่อง April, Come She Will ที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงของ Simon & Garfunkel เจ้าของเพลง The Sound of Silence (ที่ร้องขึ้นต้นว่า Hello darkness, my old friend – คุ้นไหม) 

เพลงนี้พูดถึงเดือนเมษายนที่เธอมา ความรักเปลี่ยนแปลงและจากไปในเดือนอื่น หนังยังสะท้อนการหมดอายุของความรักในอีกหลายคู่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของทั้งฟูจิและฮารุ หมอนานะ (จิตแพทย์ที่คอยรับฟังฟูจิ) ที่หย่าร้าง หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความเจ็บป่วย ความตาย คำสัญญาว่าเราจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป รวมทั้งสิ่งที่เคยตั้งใจจะทำ สถานที่ที่นัดว่าจะไปด้วยกันอีกครั้ง อาจไม่เคยเกิดขึ้นเลย ไม่ใช่เพราะเลวร้ายจึงเปลี่ยนแปลง แม้เคยรักที่สุดหรือดีที่สุดก็เปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า ‘รัก’

แด่เวลาชั่วพริบตา

ฮารุ รุ่นน้องในชมรมถ่ายภาพของฟูจิ ถึงจะไม่ใช่รักแรกของเขา แต่เขาเป็นรักแรกของเธอ ชีวิตปัจจุบันของฟูจิ หนังคุมโทนด้วยสีทึมเทา อึดอัด หม่นมืด ในขณะที่เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงฮารุ โทนของหนังกลับมาสว่างสดใส ระยิบระยับ เหมือนความทรงจำเหล่านั้นช่างสวยงามและเป็นประกายในใจของฟูจิ 

แม้ว่า โทโมคาซึ ยามาดะ จะกำกับหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แต่เขาเป็นมืออาชีพในฐานะช่างภาพ ผู้กำกับโฆษณาและมิวสิกวิดีโอมากมาย (ไม่เชื่อลองกดดู Seishun Sick และ Michi Teyu Ku ของฟูจิอิ คาเสะ รวมทั้ง Gold (Until We Meet Again) ของ อูทาดะ ฮิคารุ) การเล่าแนวหวนหาอดีต (Nostalgia) และวัยเยาว์เป็นแนวถนัดของโทโมคาซึ ทำให้พาร์ตอดีตของ April, Come She Will ค่อนข้างน่าประทับใจ รวมเข้ากับความอ่อนโยนของซาโต้ และความสดใสของ โมริ นานะ ก็เชื่อว่าหนุ่มสาวจะตกหลุมรักกันได้ไม่ยาก

‘สิ่งที่ถ่ายไม่ติด’ อย่างกลิ่นของสายฝน อากาศร้อนอบอ้าว เสียงเพลงเศร้า หรือแม้แต่รอยยิ้มที่คนถูกถ่ายก็ไม่เคยเห็นตัวเองแบบนั้น คือสไตล์ภาพของฮารุ อย่างน้อยเธอก็คิดว่า ถึงจะเลือนหายหรือจบไป แต่ ‘สิ่งนั้นก็มีอยู่จริง’ หลายสิ่งเกิดขึ้นทับซ้อนกัน เหมือนแสงของพระอาทิตย์ขึ้นเหลื่อมลาฟ้ามืด สุริยุปราคา นาฬิกาโบราณที่บอกเวลาปัจจุบัน ความรักของคน 2 คนที่รู้สึกรักในจังหวะเดียวกัน 

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันและอยู่เพียงชั่วพริบตา เราจึงได้เห็นฮารุบันทึกเหตุการณ์แสนสั้นนั้นให้คงอยู่ตลอดไปผ่านกล้องฟิล์ม รวมทั้งทริป 3 ประเทศ อูยูนีในโบลิเวีย ปรากในเช็ก เรคยาวิกในไอซ์แลนด์ ที่งดงามและเป็นหนึ่งในไฮไลต์หลักของเรื่อง เธอไม่ได้เดินทางตามลำพัง เพราะในทุกที่ที่ไปจะมีฟูจิอยู่ในความคิด เป็นเพื่อนร่วมทางด้วยตลอด

น่าเสียดายที่แม้งานภาพจะน่าประทับใจระดับเอคลาส แต่ไอเดียของ ‘ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงและคงอยู่ชั่วพริบตา’ กลับปรากฏในหนังแค่จาง ๆ โทโมคาซึ (และทีมเขียนบท) เลือกตัดทั้งตัวละครและความคิดที่ซับซ้อนของต้นฉบับออกไปหลายส่วน แล้วเล่าแบบละมุนละม่อม ปลอดภัย จนทำให้หนังออกมาสวยงามน่ารักแต่ก็ขาดน้ำหนัก แม้ยังเก็บโครงหลักและแก่นเรื่องไว้ครบ แต่คีย์เวิร์ดสำคัญหลายจุดกระจัดกระจาย ขาดชั้นเชิงในการเรียงร้อยในแบบที่นิยายเคยทำไว้ แถมยังเติมตัวละครที่ไม่ค่อยมีน้ำหนัก (เช่น พ่อที่ล่มทริปจนฟูจิและฮารุต้องเลิกกันไปกลายเป็นปมในใจ เป็นส่วนที่งงที่สุดของเรื่อง) เมื่อไม่รู้จักตัวละครมากพอ หลายช่วงจึงขาดเหตุผลและแรงดึงดูดที่จะตรึงผู้ชมให้คล้อยตาม แม้ว่าจะกลับมาเร่งทำคะแนนได้ดีในช่วง 20 นาทีสุดท้าย

แท้จริงแล้ว April, Come She Will จึงเป็นมากกว่าหนังรักสามเส้า ง้อแฟนเก่า หรือตามหาแฟนหาย แต่พาเราไปสำรวจจิตใจและความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวยุคใหม่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของชีวิต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีต่อตนเอง

“จะทำยังไงให้รักไม่มีวันหมดลง” สุดท้ายเราอาจได้รู้แล้วว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่ทำยังไงไม่ให้หมด แต่คือการยอมรับว่าวันหนึ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงและจบลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ฮารุที่เจ็บป่วยตัดสินใจออกเดินทางและเขียนจดหมาย ไม่ใช่เพื่อขอคืนดี แต่เพราะอยากเจอตัวเองที่กล้าแสดงความรู้สึกตรงไปตรงมาอีกครั้ง จดหมายและภาพถ่ายสุดท้ายของเธอทำให้ฟูจิกล้าทลายกำแพงออกมาไขว่คว้ารักษาสิ่งสำคัญ และทำให้ยาโยอิเลือกปกป้องปัจจุบันมากกว่าเอาแต่กังวลกับอดีตและอนาคต 

ทุกสิ่งอาจเปลี่ยนไปในที่สุด แต่ไม่เป็นไร ขอแค่เราช่วยกันเก็บรักที่เหลืออยู่มาประกอบใหม่ ค่อย ๆ ก้าวผ่านเคียงข้างกันไป ภายใต้ความคิดของฮารุ 

“ฉันได้รับความรักครั้งแรก เมื่อฉันรู้จักที่จะรัก” 

ฉากสุดท้ายหนังจึงเลือกเล่าให้เราเห็นฟูจิที่ใส่ใจกับสิ่งที่เกี่ยวพันกับยาโยอิมากขึ้น เขาพรั่งพรูข้อมูลของสัตว์หลากหลายชนิดอย่างกระตือรือร้น ยาโยอิตอบรับด้วยดวงตาเป็นประกาย คน 2 คนที่รู้สึกเต็มจากข้างในเดินเคียงข้างกันบนถนนที่ทอดยาว

Michi Teyu Ku (Overflowing)
เติมใจให้เต็ม เอ่อล้นด้วยรัก

ในเมื่อธีมหลักของเรื่องเกี่ยวพันกับการตามหาตัวเองในโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่จีรังยั่งยืน จะมีศิลปินคนไหนที่เหมาะกับการทำเพลงประกอบให้หนังยิ่งไปกว่า ฟูจิอิ คาเสะ (Fujii Kaze) หลังจากดูภาพยนตร์และพูดคุยกับ คาวามูระ เก็งคิ ผู้เขียนนิยายต้นฉบับ คาเสะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงออร์แกนไฟฟ้าในโบสถ์ที่ปรากฏในหนัง และอยากให้เพลงคงบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์ ก็ตัดสินใจเช่าโบสถ์เพื่อใช้เป็นสถานที่แต่งเพลงประกอบให้กับ April, Come She Will 

แค่ไม่ถึงชั่วโมงเขาก็แต่งทำนองเสร็จ แล้วจบเนื้อเพลงได้ภายในวันเดียว (โดยมีการเพิ่มท่อน Bridge ตามคำแนะนำของเก็งคิในภายหลัง) 

“เพลงนี้เป็นเพลงรักเพลงแรกของผม” คาเสะกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ แฟน ๆ รู้ดีว่าเพลงของเขาส่วนใหญ่เน้นถึงการรักตัวเองเป็นหลัก แต่ครั้งนี้แม้จะเป็นแนวรักโรมานซ์ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่คาเสะก็กลั่นกรองออกมาได้อย่างงดงามหมดจด 

เริ่มต้นจากการปล่อยมิวสิกวิดีโอของ Michi Teyu Ku พร้อมซับไตเติลแปลกว่า 10 ภาษาออกมาก่อนหนังเข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นเพียงไม่นาน โดยถ่ายทำทั้งในนิวยอร์กและร้านเปียโนเก่าแก่ที่นิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา แม้คาเสะจะบอกว่าเขาพร้อมแล้วที่จะทำงานแนว Love Story แต่โทโมคาซึ ซึ่งรับหน้าที่กำกับทั้งหนังและมิวสิกวิดีโอมองว่ายังเร็วไป พร้อมเสนอให้เป็นเรื่องราวของการสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รักแทน 

เราจึงได้เห็นช่วงเวลาก่อนหมดลมหายใจของโจ (ชื่อของคุณตาคาเสะในมิวสิกวิดีโอ) พนักงานขายสมุนไพรจีน ในวัย 25, 60 และ 80 ที่ต้องขมขื่นจากการสูญเสีย ความเสียใจที่ย้อนคืนหรือแก้ไขไม่ได้ และเต็มไปด้วยความว่างเปล่าภายใน ก่อนจะพบว่าจิตวิญญาณของแม่ยังคอยอยู่เคียงข้าง และนำทางให้เขากลับมาพบความรักในตัวเองเสมอ 

คาเสะมองว่าความรักไม่ใช่สิ่งที่ต้องออกตามหา แต่มีอยู่แล้วภายในใจเราทุกคน และเมื่อรักมากพอจนล้นเอ่อไหลออก เราจะรู้สึกเบา ปลดปล่อยตัวเองจากการยึดติด และหัวใจจะกลับมาเต็มอีกครั้ง 

Overflowing ในที่นี้จึงอาจหมายถึง Let it Go หรือมีรักมากล้นพอจนทำให้ปล่อยวางได้นั่นเอง แม้จะคนละเส้นเรื่อง แต่ก็สอดคล้องไปกับหัวใจหลักของภาพยนตร์ราวกับเป็นเนื้อเดียวกัน จึงไม่แปลกหากหลายคนจะประทับใจและเข้าใจหนังมากขึ้นเมื่อฟังเพลงช่วง End Credit จนเพลงได้รับคำชื่นชมอย่างต่อเนื่อง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์และชาร์ตเพลงใหญ่ ส่งให้มิวสิกวิดีโอแตะถึง 10 ล้านวิวได้ภายในแค่ 1 เดือน ไม่ใช่แค่ฟังเพราะ แต่เพราะเป็นเพลงที่อนุญาตให้ทุกคนที่เคยใช้คำว่ารักผิดความหมาย หรือกำลังแบกความรู้สึกหนัก ๆ แต่ต้องกลั้นน้ำตามาตลอด ได้ปลดปล่อยความเศร้าอย่างเข้าใจ พร้อมกับกลับคืนสู่ใจที่เบาสบายอีกครั้ง

รับชม Official MV Michi Teyu Ku (Overflowing) (อย่าลืมเปิดซับไตเติลภาษาไทย)

Writer

พิมพ์รัก ชัยกุล

พิมพ์รัก ชัยกุล

Thai Kazetarian ครีเอทีฟในเอเจนซี่แห่งหนึ่งย่านบรรทัดทอง เป็นนักซ้อมเปียโนเวลาว่าง รักการกินเต้าหู้และผักมากกว่าเนื้อ