จากลุคหนุ่มเซอร์สุดฮอตสู่การเกิดใหม่ที่เจิดจ้าไร้กรอบจำกัด ฟูจิอิ คาเสะ (Fujii Kaze) ศิลปินและนักดนตรีชาวญี่ปุ่นยังคงเป็นที่รักและยืนหยัดในแนวคิดการทำเพลงที่ดีต่อหัวใจคนฟัง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลัง Manifest ความสุขให้เกิดขึ้นจริง มองหาวิธีรักตัวเองไปพร้อมกับรักคนอื่น ค้นหาความสำเร็จจากการลงมือทำ เรื่องราวของเขาในบทความนี้จะเป็นคำตอบให้คุณได้
คำแนะนำ : เพื่ออรรถรสและความอินในเรื่องราว โปรดกดฟังเพลงในเพลย์ลิสต์พิเศษนี้ก่อนเริ่มอ่าน (อย่าลืมเปิดซับภาษาไทยด้วยนะ)
- MO-EH-YO
- Nan-Nan
- Matsuri
- Shinunoga E-Wa
- Kirari
- Workin’ Hard
- Hana
- Garden
- Grace
- damn
- Mo-Eh-Wa
- Tabiji
- Kaerou
ปี 2010 ในซาโตโช เมืองเล็ก ๆ สงบงามในจังหวัดโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ราว 4,000 กิโลเมตร เด็กชายฟูจิอิ คาเสะ อายุ 12 ปี นั่งอยู่ในห้องขนาดกะทัดรัดภายในคาเฟ่ชื่อ Mitchum ซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้าน กำลังเตรียมอัดคลิปตนเองเล่นเปียโน ตั้งใจว่าจะโพสต์ลงใน YouTube ส่วนตัวที่เพิ่งสร้างขึ้นจากแรงเชียร์ของพ่อผู้รักในเสียงดนตรีและเพลงภาษาอังกฤษ ถ้าสังเกตให้ดี แว่นดำและเสื้อที่เขาสวมใส่วันนี้ดูคล้ายกับนักดนตรีวง Kobukuro ศิลปินเจ้าของเพลง
เมื่อโน้ตตัวแรกกดลงบนลิ่มเปียโน ปลายนิ้วของเด็กชายพลิ้วไหวต่อเนื่องอย่างหนักแน่นและแม่นยำ สีหน้ามุ่งมั่นสลับกับรอยยิ้มจาง ๆ ที่มุมปาก จากนั้นมือซ้ายและขวาก็รัวระวิง ผลัดกันผสานคอร์ดและเมโลดี้อย่างลื่นไหล แสดงถึงความสามารถที่น่าทึ่งเกินอายุ และเป็นความสามารถที่ไม่ควรเก็บไว้แค่ในห้องสี่เหลี่ยม
วินาทีที่คลิปความยาว 3 นาทีนั้นอัปโหลดโพสต์ นั่นคือครั้งแรกที่โลกภายนอกได้รับอนุญาตให้เข้าถึงและรับรู้ถึงการมีอยู่ที่แสนพิเศษของเขา
ลุกโชนขึ้นมา MO-EH-YO
“ต้องลองผิดลองถูกหาทางกันไป เราทุกคนต่างเป็นแบบนั้น”
จะเรียกว่าเป็นเรื่องโชคดีของยุคสมัยก็ว่าได้ คาเสะคือเด็กปี 1997 ที่เติบโตในช่วง YouTube กำลังแบ่งบาน และเป็นสื่อกลางให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์สาขาต่าง ๆ เชื่อมต่อเข้ากับโลกได้ง่ายดาย ส่งอิทธิพลให้วัฒนธรรมป๊อปไม่จำกัดอยู่แค่กระแสหลักอีกต่อไป เพราะไม่ว่าใครที่ ‘มีของ’ ก็มีโอกาสฉายแสงให้ผู้คนที่ไม่เคยรู้จักหรืออยู่ห่างกันนับหมื่นนับพันกิโลหันมาติดตามสนับสนุนพวกเขาได้ และแน่นอน วิสัยทัศน์ในการเล่นโซเชียลของครอบครัว โดยเฉพาะพ่อก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก
จาก YouTuber เยาวรุ่นในวันนั้น หลังเดบิวต์เพียง 4 ปี ตั้งแต่ปล่อยซิงเกิลแรก Nan-Nan (อะไรกันเนี่ย) (2019) ออกอัลบัมแรก Help Ever Hurt Never (2020) และอัลบัมที่ 2 Love All Serve All (2022) รวมทั้งปล่อยเพลงคัฟเวอร์ จัดทัวร์คอนเสิร์ตทั้งแบบออนไลน์และแสดงในสถานที่จริง ทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ ตอนนี้ ฟูจิอิ คาเสะ อายุ 26 ปี (แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นคุณลุงวัย 40) กลายเป็นศิลปินแถวหน้าของญี่ปุ่นที่มีผู้ติดตามบน YouTube 3.56 ล้าน Instagram 2 ล้าน และ Facebook ที่เพิ่งเปิดใช้ตอนต้นปีอีกเกือบครึ่งแสน
แม้ตัวเลขยังเทียบไม่ได้กับซูเปอร์สตาร์ระดับโลก แต่ในเชิงไดนามิกของศิลปินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกับวงการดนตรี ต้องถือว่าเป็นจังหวะก้าวที่กำลังไปได้สวย ชายหนุ่มคือเจ้าของเพลงดังที่สร้างปรากฏการณ์ไวรัลมากมายบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะท่ารำโบกสะบัดมือสุดไอคอนิกอย่าง Matsuri (เทศกาล) ได้รับการยกย่องว่า ‘เป็นสายลม’ (คาเสะแปลว่าลม) ที่พัดพาความหวังใหม่มาสู่อุตสาหกรรมดนตรีของญี่ปุ่น และยังเดินสายกวาดรางวัลระดับประเทศอีกล้นสองมือ
ในปี 2022 มีรายงานว่าบนโลกนี้มีเพลงถึง 38 ล้านแทร็กที่ไม่เคยมีใครกดฟังเลยสักครั้งในมิวสิกสตรีมมิง แต่ Shinunoga E-Wa (ฉันยอมตายดีกว่า) ของคาเสะกลับอยู่ยืนยงบน Spotify มาตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปีนี้ยังมีผู้ฟังรวมยอดแล้วถึงกว่า 450 ล้านครั้ง
นอกจากติดชาร์ตเพลงอันดับ 1 ใน 23 ประเทศไกลถึงอียิปต์ บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส ฯลฯ และอันดับอื่นในอีกหลายประเทศทั่วโลก ยังเคยติดเทรนด์ TikTok ซึ่งหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญคือแฟนเพลงชาวไทยที่จุดกระแสให้ ‘ชิโนะลูกรัก’ ดังสะพัดทั่วเอเชีย จนแม้แต่คาเสะเองยังเอ่ยขอบคุณหลายครั้ง โดยบอกว่าประเทศไทยนั้นพิเศษ และเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจจัด Fujii Kaze and the piano Asia Tour 2023 ทัวร์คอนเสิร์ตเดี่ยวเปียโนใน 7 เมืองใหญ่ทั่วเอเชียตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแสดงนอกประเทศครั้งแรกในชีวิต และเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาเข้าถึงตัวตนมากขึ้น ผ่านความรักและการเชื่อมโยงกับแฟนเพลงทั่วเอเชียที่เจ้าตัวรู้สึกสบายใจและเป็นอิสระ ถึงขั้นนั่งชันเข่าเท้าเปล่าบนเก้าอี้พร้อมอวดรองเท้าแตะคู่ใจ และไทยเป็นประเทศเดียวที่เขากล่าวบนเวทีก่อนร้องเพลงนี้ว่า “This song is for you”
นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นที่ไต่ขึ้นสู่อันดับต้น ๆ บนชาร์ตใหญ่หลายสำนัก แม้จะผ่านไปนับปี ก็ยังคงครองตำแหน่งแบบไม่หลุดผัง โดยเฉพาะ Kirari (เป็นประกาย) ที่ปล่อย MV มา 2 ปีแล้ว ก็ถึงเวลาทะลุยอด 100 ล้านวิวในปีนี้ ส่งผลให้ยอดวิวรวมของ Official MV จำนวน 14 เพลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ไม่นับคลิปอื่น) จากบัญชีหลักทาง YouTube พุ่งสูงถึงเกือบ 400 ล้านวิว 70,000 ที่นั่งในการแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้งครั้งแรก LOVE ALL SERVE ALL STADIUM LIVE 2022 ขายหมดเกลี้ยง และไปสตรีมผ่าน Netflix เปิดประตูให้ผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามารู้จักเขายิ่งขึ้น
อีกทั้งมีโอกาสคอลแล็บทำเพลง golden hour ร่วมกับ JVKE ศิลปินชาวอเมริกัน ในขณะที่ซิงเกิลระดับอินเตอร์อย่าง Workin’ Hard (ทำงานหนัก) ก็สู้ตายบนชาร์ตและสร้างแรงกระเพื่อมอย่างน่าสนใจ
รวมทั้ง Hana (ดอกไม้) เพลงใหม่ล่าสุดที่คาเสะแต่งแบบเร่งด่วนบนเครื่องบินระหว่างทริปเอเชียทัวร์ แบบไม่มีเครื่องดนตรีช่วย ใช้แค่ปลายปากกาเคาะจังหวะ เพื่อประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง Ichiban Suki na Hana (ดอกไม้ที่ฉันชอบที่สุด) ของฟูจิทีวี แค่ปล่อยทีเซอร์แรกพร้อมเพลงคลอสั้น ๆ ผู้คนก็จดจำเสียงของเขาได้ ภายในไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็มีคนนำไปถอดโน้ตและคัฟเวอร์ ส่วนคลิปเพลงที่โพสต์ทาง YouTube ก็แตะยอด 1 ล้านวิวภายใน 2 วัน ทั้งที่ยังไม่มี Official MV ด้วยซ้ำ
เรียกได้ว่าปี 2023 เป็นปีที่ชื่อเสียงและความสำเร็จของเขาลุกโชนเจิดจ้ายิ่งกว่าปีไหน ๆ เริ่มต้นจากโลกออนไลน์ และทำงานไป-กลับระหว่างออฟไลน์และออนไลน์อย่างอิสระและกล้าหาญ ไม่ต่างกับเพลงของเขาเองที่ชื่อว่า MO-EH-YO (ลุกโชนขึ้นมา)
ไม่มีอะไรต้องกลัว ให้สายลมพัดพาแล้วมุ่งไปข้างหน้า จุดไฟในตัวเธอให้ลุกโชนไปถึงฟ้า ลุกไหม้ให้เหมือนว่า จะไม่มีวันข้างหน้าอีกแล้ว
เชื่อในสิ่งที่ทำกันมา และกล้าหาญ – Workin’ Hard
“สิ่งที่เราจะทำ คือทำให้คุณได้รู้สึก อาห์~”
นอกจากความสามารถในการร้อง แต่งทำนองและเนื้อเพลงเองทั้งหมด ถนัดทั้งอาร์แอนด์บี ฮิปฮอป แจ๊ส คลาสสิก ร็อก เอ็งกะ (การผสมดนตรีแนวดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้ากับเพลงป๊อบญี่ปุ่น) เก่งกาจทั้งเปียโน อิเล็กโทน แซ็กโซโฟน และกีตาร์อีกเล็กน้อย รวมทั้งสไตล์เพลงที่ผสมผสานภาษาถิ่น (เหมือนคนไทยพูด อิหยังวะ) คำสแลงและการดีไซน์วิธีร้องแบบรวบคำเพื่อให้เกิดความหมายใหม่
เมื่อรวมกับบุคลิกย้อนแย้งซับซ้อนหลายมิติ เดี๋ยวอ่อนโยนขี้เล่น เดี๋ยวเท่ดุร้อนแรง เดี๋ยวสวยฉ่ำ Genderless (ไร้เพศกำหนด) บ้าบออย่างเป็นธรรมชาติ สนุก ตลก ใสสะอาดเหมือนเด็ก แต่ก็คิดอ่านลุ่มลึกเสียจนถูกแซวว่า เหมือนมีชีวิตอยู่มาร้อยปี ขนาดแฟนเพลงยังงงว่าที่พูดมานี่คนเดียวกันหรือเปล่า ยิ่งทำให้ ฟูจิอิ คาเสะ กลายเป็นบุคคลที่น่าค้นหา เต็มไปด้วยความหลากหลายและความเป็นไปได้ที่คาดไม่ถึง
แต่ทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายเลย หากไม่ได้นำมาบอกต่ออย่างถูกต้อง
“ผมอยากเป็นนักดนตรีที่แอคทีฟได้ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศมาตลอดเลยครับ” คือคำสัมภาษณ์ของคาเสะในสารคดี Artist on the Rise ตั้งแต่อัลบัมแรก จึงไม่น่าแปลกใจหากชายหนุ่มจะให้ความสำคัญกับการทำให้เพลงของเขาเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้กว้างไกลที่สุด โดยไม่จำกัดเพศ วัย หรือเชื้อชาติ และเพื่อจะซื้อใจผู้ฟังทั้งในบ้านเกิดและทั่วโลกให้ได้ การแสดงให้เห็นคุณสมบัติทั้งหมดที่คาเสะมีข้างต้นนั้นจึงสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
‘โซเชียลมีเดีย’ คือเครื่องมือสำคัญที่คาเสะ ทีมงาน และค่ายเพลงอย่าง Universal Music เลือกมาใช้อย่างชาญฉลาด
ในยุคที่โควิดปิดกั้นการพบเจอของผู้คน คาเสะผู้เคยถูกยกเลิกโชว์ไปก่อนหน้านั้น ทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ด้วยการจัดแสดงฟรีคอนเสิร์ตออนไลน์ Fujii Kaze “Free” Live 2021 ที่มีเพียงตัวเขาและเปียโน 1 หลังอยู่กลางสนามอันกว้างใหญ่ของ NISSAN Stadium ความจุกว่า 70,000 ที่นั่งแต่ว่างเปล่าไร้ผู้คน ด้วยเจตนาอยากปลอบโยนหัวใจของผู้คนให้เป็นอิสระ (Free) จากโรคภัยและความทุกข์ แม้ฝนจะโปรยลงมาซ้ำ คาเสะก็พาโชว์ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นและผ่อนคลาย เน้นย้ำถึงจิตใจที่ต้องไปต่อแม้ในวันที่ความผิดปกติเข้าแทรกแซงชีวิต การใช้สื่อออนไลน์สร้างอิมแพกต์ทั้งด้านภาพและอารมณ์ เทิร์นผลกลับมาเป็นยอดวิว ยอดขาย และยอดสตรีมมิงถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ และติดเทรนด์โลกอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ทันที
ในด้านอื่น เขายังเลือกใช้โซเชียลสื่อสารได้อย่างคุ้มค่าเน็ต นอกจากบ้านหลักอย่าง Facebook, Instagram, YouTube ยังมี TikTok, BiliBili, Weibo, FujiikazeTV, FujiiKaze Official APP และ c-rayon.com (แอปพลิเคชันแนว Staff Diary ที่ทีมงานเพิ่งเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าอ่านได้ในไม่นานนี้) และ Twitter ในนามแอคเคานต์ของทีมงาน (ที่แฟนคลับเชื่อว่าเจ้าตัวนั่นแหละชอบแอบมาเล่นเอง) นอกจากนี้ยังมีไลฟ์สด จัด Listening Party โพสต์สตอรี่ คลิปรีลสั้น ตอบคำถาม Q&A เล่นฟิลเตอร์ แถมหลายครั้งยังเป็นแอดมิน ตั้งสเตตัส เปลี่ยนรูปปก โพสต์แคปชันเองด้วย ครบ!
โดยในทุกความเป็นไป เบื้องหลังการทำงาน การซ้อมเต้น อัดเสียงในสตูดิโอ ปั่นจักรยาน เล่นบาสฯ ข้าวกล่องมังสวิรัติ นิสัยติดผ้าเน่า ชอบทำของหาย ชอบใส่เสื้อซ้ำ ๆ หรือแม้แต่ช่วยทีมแพ็กของส่งลูกค้าราวกับเป็นสตาฟท่านหนึ่ง ล้วนถูกเก็บบันทึกเป็นภาพนิ่งและคลิปฟุตเทจทั้งสั้นยาวจำนวนมาก กลายเป็น Digital Footprint หรือร่องรอยการใช้ชีวิตบนโลกอินเทอร์เน็ตอันล้ำค่าที่ค่อย ๆ สร้างความผูกพันในหัวใจแฟนเพลง และสร้างความรู้สึกในการเป็นศิลปินที่ ‘จับต้องได้’ โดยตัวเขาเองก็ให้ความเป็นกันเอง หยอกล้อและแกล้งปั่นแฟน ๆ ทางโซเชียลจนกลายเป็นมีมอยู่เสมอ ในขณะที่คนที่เพิ่งเริ่มสนใจฟังหรือติดตามคาเสะ ข้อมูลเหล่านี้ก็รออยู่ พร้อมให้ทุกคนทำความรู้จักเขาได้ทันทีตามช่องทางที่สะดวก
งานชาเลนจ์ก็ไม่พลาด ท่ามกลางข่าวลือถึงไอดอลสาวญี่ปุ่นที่นำ Garden (สวน) ของคาเสะมาเต้น แต่กลับถูกโจมตีจากชาวเน็ตว่าเพลงช้าจะเต้นทำไม เพียงเพราะแค่เธอหน้าตาน่ารัก ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน คาเสะก็โพสต์ชาเลนจ์เต้น Garden ทาง TikTok คล้ายเป็นกำลังใจว่าเพลงช้าก็เต้นได้นะ จนเกิดไวรัลการเต้นตามที่ส่งให้ยอดผู้ชมสูงถึง 12.9 ล้านวิว และยังช่วยลดแรงเสียดทานต่อไอดอลที่ถูกโจมตีลงด้วย
ส่วน Garden เองก็นำไปใช้เป็นเพลงประกอบโฆษณาน้ำยาปรับผ้านุ่ม Laundrin โดยคอนเซปต์ของโฆษณาคิดมาให้สอดคล้องกับเนื้อหาเพลงซึ่งพูดถึงการรักและดูแลตนเองไม่ต่างกับสวนดอกไม้ และพากย์เสียงโดยคาเสะ เรียกว่าไม่ได้แค่แปะเพลงประกบสินค้า แต่ตัวแบรนด์เองเป็นฝ่ายโอบรับแนวคิดของเพลงเอาไว้อย่างงดงาม ซึ่งงานนี้นำไปใช้ต่อทั้งในสื่อออนไลน์ จอโทรทัศน์ ป้ายโฆษณาที่ชิบูย่าและตามงานเทศกาลดนตรี ทำให้สินค้ากลายเป็นที่รักโดยอัตโนมัติ
“ผมอยากจะเป็นอิสระมากขึ้น อยากให้ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเรา”
คาเสะที่รักภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมและพูดได้ค่อนข้างดี จึงพยายามทลายกำแพงต่าง ๆ ระหว่างเขากับผู้ชม หนึ่งในนั้นคือการ ‘ลดกำแพงทางภาษา’ ด้วยการพูดสลับญี่ปุ่นและอังกฤษอยู่เสมอ รวมทั้งแปลซับเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษใน MV ทุกตัวด้วยตัวเอง ล่าสุดเพลง Workin’ Hard ซึ่งแรกเริ่มแต่งขึ้นเพื่อใช้เป็นธีมหลักในการแข่งบาสฯ FIBA ที่ญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพในปีนี้แปลซับบน YouTube ไว้ถึง 11 ภาษา (รวมภาษาญี่ปุ่น) เพื่อสื่อสารแนวคิดที่ไม่เน้นผลลัพธ์แพ้ชนะจากการแข่งขัน แต่เห็นคุณค่าและเคารพถึง ‘การทำงานหนักและความทุ่มเท’ ของนักกีฬา ต่อยอดไปถึงอาชีพผู้ใช้แรงงานและผู้คนที่กำลังพยายามใช้ชีวิตอย่างเต็มกำลัง
Workin’ Hard แต่งและอัดเสียงในสหรัฐอเมริกา แต่ MV ถ่ายทำในไต้หวัน ใกล้เคียงกับช่วงเอเชียทัวร์คอนเสิร์ต ช่วงแรกปล่อยทั้งคลิป Leak (คลิปหลุด) และคลิปพีอาร์สั้น ๆ ทั้งบีบจมูกตามจังหวะ เล่นบาสฯ กับเพื่อนใหม่ เต้นกับนักข่าว จนรอบฉายพรีเมียร์ MV วันแรกทาง YouTube มีผู้ชมรอดูสดทางหน้าจอถึง 7,000 วิว โดยคาเสะเองก็ร่วมแชตคุยแบบเรียลไทม์ ก่อนจะพุ่งสู่ 1 ล้านวิวภายใน 24 ชั่วโมงเศษ ยังไม่รวมนักร้อง นักเต้น อินฟลูเอนเซอร์ทั้งเอเชียและตะวันตกนำไปคัฟเวอร์ กดไลก์ และคอมเมนต์ จนคลิปที่คาเสะร้องและเล่นเปียโนสั้น ๆ บน TikTok มีคนดูมากถึง 8.1 ล้านวิว ก่อนจะปล่อยคลิปเสียงเดโม ภาพเบื้องหลัง แถมยังมี Easter Egg เป็นคุณป้าอินฟลูเอนเซอร์ชาวไต้หวันร่วมเต้นอย่างน่ารักในฉากไร่ชาจนเกิดการบอกต่อทางโซเชียล นับเป็นการลากต่อจุดเล็ก ๆ จำนวนมากให้เป็นภาพใหญ่ระดับสากลได้อย่างน่าทึ่ง
นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังใช้เป็นทางเลือกในการทำสิ่งที่ศิลปินญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ทำ
เช่น อนุญาตให้แฟนเพลงต่างชาติกดซื้อบัตรคอนเสิร์ตจากนอกญี่ปุ่นได้ อนุญาตให้ถ่ายคลิปและรูปในคอนเสิร์ต ทำให้คอนเสิร์ตของเขาเกิด Viral Buzz จาก User Generated Content ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้ผู้บริโภค (แฟนเพลง) ได้เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดเนื้อหาและบทสนทนาในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง การถ่ายทำคลิป Teaser ก่อนเริ่มทัวร์หรือสรุปจบไฮไลต์จากทีมงาน เช่น การเดินเที่ยวชมเมืองแต่ละประเทศ เพื่อสร้าง Engagement หรือความมีส่วนร่วมผูกพันตามท้องถิ่น รวมทั้งฟุตเทจถ่ายทอดความรู้สึกที่แน่นแฟ้นระหว่างคาเสะและ Kazetarian (คาเสะทาเรียน : ชื่อเรียกแฟนคลับของคาเสะ) ซึ่งอาจกระตุ้นไปสู่การเก็บสะสม Physical Product อย่างแผ่นบลูเรย์ ไวนิล สินค้าที่ระลึกอื่น ๆ หรือแม้แต่การรอคอยที่จะได้พบกันอีกในคอนเสิร์ตในอนาคต
ที่ผ่านมาคุณทำงานหนัก พยายามมาหนัก บางทีคุณอาจไม่เข้าใจ แต่ฉันรู้ว่าคุณทำงานหนัก ถ้าจะยกท่อนฮุคของเพลง Workin’ Hard นี้ให้ใคร เชื่อว่าคาเสะและทีมงานก็ควรเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่สมควรได้รับมันไปเช่นกัน
ดอกไม้ของผมอยู่ที่นี่ – Hana
“จะหาให้เจอให้ได้ เจ้าดอกไม้ข้างในใจผม”
แต่ถึงจะให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์ตัวเองบนโซเชียลมีเดียขนาดไหน รวมทั้งภาพลักษณ์ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงอย่างอิสระบ่อยครั้งจนเรียกได้ว่าเกิดใหม่เป็นว่าเล่น (1 ปีเปลี่ยนไปแล้ว 3 ลุค) แต่คาเสะก็ยังยืนหยัดอยู่ใน One Single Message หรือแก่นแท้หนึ่งเดียวของเขา นั่นคือการใช้ชีวิตอย่างอิสระและรักในตนเอง
ไม่น่าแปลกใจหากฟังเผิน ๆ ผู้คนมักเข้าใจว่าเพลงของคาเสะนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์คลั่งรัก โดยเฉพาะเมื่อเพลงเบอร์ต้น ๆ อย่าง Matsuri เปิดประโยคว่า อยากรู้สึกถึงรักเท่านั้น หรือ Shinunoga E-Wa ที่เต็มไปด้วยแพสชันร้อนแรง สายตาเย้ายวนลุ่มหลงกับท่อนฮุค เธอสำคัญกว่าอาหาร 3 มื้อ หรือ ฉันยอมตายดีกว่า
แต่แท้จริงแล้ว หากใกล้ชิดกับเพลงของคาเสะมากพอ จะเห็นได้ว่าเพลงรักของคาเสะนั้นแตกต่าง เขาแทบไม่เคยสื่อสารงานในเชิงโรมานซ์เลย แต่มักจะย้ำถึงการสร้าง Self-love หรือรักตัวเอง เพราะเชื่อว่าความสุขนั้นเกิดจากภายในจิตใจ ชีวิตเปลี่ยนแปลงเสมอ ทุกสิ่งมีขั้วตรงข้าม แม้จะร่วงโรย เหี่ยวเฉา ผิดพลาด หรือสับสน ก็ผลิบานและเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามว่า You (คุณ) ในเพลงคือใคร เขาตอบว่า “คนที่ผมรักที่สุด คนที่แข็งแรงที่สุดในตัวผม เป็นคนที่ผมยึดโยงอยู่กับตัวเขา” ซึ่งหมายถึง Higher Self (ตัวตนของเราในเวอร์ชันสูงส่งกว่า) นั่นจึงหมายความว่า เพลงรักของเขาไม่เคยหมายถึงใครอื่น นอกจากคาเสะอีกคนในตัวเขา และนอกจาก Kazetarian ที่รักและชื่นชมในตัวเขา เขาเองก็ประกาศตัวเป็น Kazetarian หรือแฟนคลับของตัวเองเช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม ไม่ใช่แค่ You แต่คาเสะยังเลือกใช้คำว่า Me (ตัวฉัน) มาสื่อในเพลงได้อย่างน่าสนใจ เช่น Grace (สง่างาม) เพลงแนวค้นหาจิตวิญญาณสไตล์ J-POP ที่ยกกองไปถึงอินเดีย กับท่อนที่ร้องว่า ยินดีเหลือเกินที่ได้พบตัวฉันเอง ใน MV เราจึงได้เห็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยอิสระ การค้นพบ และภาพคาเสะทั้งสองหันมาส่งรอยยิ้มให้แก่กันด้วยความปีติยินดี
หรือใน damn (บ้าจริง!) บทเพลงแห่งการรักตัวเองที่เล่าถึงการเผลอติดหล่มกับสิ่งที่ทำให้ชีวิตลำบากเพราะใส่ใจมากไป ทั้งที่ไม่จำเป็นต้อง Give a Damn (ไม่ต้องสนใจ) ก่อนขมวดจบอย่างคมคายด้วยเนื้อร้อง I love me, ฉันรักตัวเอง และฉันจะเก็บเขาไว้ ในที่ที่ปลอดภัย ดีที่สุด และสุขสุดใจ
หรือ Mo-Eh-Wa (มันจบแล้ว) ที่ตัดสินใจปล่อยวางจากสิ่งที่เคยยึดติด เพราะอยากให้ตัวเองเป็นอิสระ เพลงของคาเสะจึงได้รับความชื่นชมในฐานที่ช่วยเยียวยา ให้แง่คิดและการกลับคืนสู่ความสงบภายใน ซึ่งความน่าทึ่งคือแทบทั้งหมดแต่งขึ้นในวันที่เขามีอายุเพียง 22 – 25 ปีเท่านั้น
นี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่คุณอาจใช้เป็นไกด์ในการฟังเพลงของคาเสะให้สนุกและเข้าใจมากขึ้นต่อจากนี้ เราเชื่อว่าเมื่อเริ่มต้นฟังอย่างเข้าใจ เพลงจะเพราะและมีความหมายขึ้นอีกหลายเท่า มุมมองของคุณต่อโลกนี้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเคยฟังเพลงรักแล้วอยากหยิบยื่นให้คนอื่น ลองแทน ‘คนอื่น’ ด้วยคำว่า ‘ตัวเรา’ ดูบ้าง แล้วดอกไม้ของคุณจะผลิบานอย่างงดงามข้างในใจ โดยไม่ต้องถามหาคุณค่าจากที่อื่นใด เหมือนท่อนจบในเพลง Hana ที่ร้องย้ำ ๆ พร่ำบอกกับตัวเองอย่างรักใคร่
My flower’s here ดอกไม้ของผมอยู่ที่นี่แล้ว
เราคงจะหัวเราะให้กับทุกสิ่ง และรักมันไปหมดทุกอย่าง – Tabiji
“ที่ตาเราได้เห็น และมือเราได้สัมผัส ทุกสิ่งนั้นต่างมีความหมาย”
หากมองเรื่องราวตลอดมาเป็นการเดินทางที่ยังคงดำเนินต่อไป ในบรรดาเพลงของคาเสะมีเพลงที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่อยู่ 3 เพลงคือ Tabiji (การเดินทาง), Kaerou (กลับบ้าน) และ Kirari (เป็นประกาย) โดยแต่ละเพลงนั้นพูดด้วยมุมมองที่ต่างกัน
การเดินทางมุ่งไปการเป็นศิลปินระดับโลกก็เช่นกัน ยังเป็นเส้นทางที่ต้องอาศัยการฝ่าฟันและพิสูจน์ตนเองอีกมาก อาจไม่มีมุมมองหรือสูตรสำเร็จเพียงหนึ่งเดียว และไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยลำพังหากขาดแรงสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นแรงดึงดูดหรือโชคชะตา ทำให้คาเสะแวดล้อมไปด้วยยอดฝีมือโปรไฟล์แน่นมากมาย ทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ดีไซเนอร์ นักดนตรี นักออกแบบท่าเต้น ฯลฯ และมีทีมงานใกล้ชิดที่สนิทสนมและดูแลกันเหมือนครอบครัว จนกลายเป็นอีกเรื่องราวที่ผู้คนรักและติดตามบนโซเชียล อีกทั้งมีเพื่อนศิลปินที่รักใคร่กันอย่าง Vaundy ที่นับถือคาเสะเหมือนพี่ชาย คอยชื่นชมออกสื่ออยู่เป็นระยะ ในขณะที่ซูเปอร์สตาร์อย่าง จองกุก แห่งวง BTS ก็เคยโพสต์ว่ากำลังฟังเพลงของเขา
การได้เห็นพัฒนาการทางตัวตนและผลงานต่าง ๆ รวมทั้งการปรากฏตัวของคาเสะที่ค่ายเพลง Interscope Records ที่ดูแลแต่ศิลปินระดับโลกอย่าง Eminem, Lady Gaga, Billie Eilish, Gwen Stefani ฯลฯ และห้องอัด Westlake Recording Studio (ที่เดียวกับที่อัดเพลงให้ ไมเคิล แจ็กสัน!) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา น่าจะเป็นก้าวสำคัญทั้งต่อตัวคาเสะ และ Kazetarian ทั้งในแง่ผลงานมาตรฐานอินเตอร์ที่เริ่มทยอยออกมา ความหวังที่จะได้ฟังอัลบั้มที่ 3 และการเห็นศิลปินคนโปรดเขยิบเข้าใกล้ความฝันขึ้นอีกนิด
ความงดงามระหว่างการเดินทางนี้ คงเหมือนเนื้อร้องในเพลง Tabiji ที่ว่า หากจักรวาลนี้เป็นห้องเรียน เราก็จะยังคงนั่งเรียนเคียงข้างกันต่อไป ใน MV เราจึงได้เห็นสถานที่ในความทรงจำอย่าง Okayama Prefectural Joto High School โรงเรียนมัธยมปลายที่คาเสะเคยร่วมชมรมดนตรี ถนนหนทางในเมืองและวิวพระอาทิตย์ตกดินที่งดงามในซาโตโช บ้านเกิดอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คาเสะรู้สึกรักในทุกอย่าง และพร้อมจะค้นหาคำตอบพร้อมกับทุกคนต่อไป โดยไม่ลืมกล่าวกับตัวเองเหมือนทุกครั้งว่า
Be Happy and Be Free (ขอให้มีความสุขและเป็นอิสระ)
ข้อมูลอ้างอิง
- fujiikaze.com
- www.youtube.com/@FujiiKaze
- www.billboard.com
- tokion.jp
- www.bilibili.tv โดยคุณ pjyxsinnior
- www.youtube.com/MoEhyo
- www.musicbusinessworldwide.com
- Kazetarian ทั้งไทยและต่างประเทศที่แบ่งปันข้อมูลให้กันเสมอมา