หลังจากไปอยู่เชียงใหม่มาครบ 30 วัน ในโปรเจกต์ Happy City แทนที่ผมจะได้ไส้อั่ว แคบหมู หรือสตรอว์เบอร์รีมาเป็นของฝากเหมือนทุกครั้ง คราวนี้ผมกลับได้ 20 เรื่องเล่าของบางผู้คน ของบางสถานที่ ซึ่งได้ไปพบเห็นตั้งแต่ประตูท่าแพ จนถึงป่าเขาในบ้านแม่แสะ อำเภอป่าแป๋ มาเป็นของฝากแทน 

สำหรับผม จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีหน้าตาหลากหลาย จนกระทั่งบางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า เหตุผลที่ตนเองชอบไปเชียงใหม่นั้นมาจากแรงดึงดูดของหน้าตาชนิดไหนของเมืองแห่งนี้กันแน่ 

20 เรื่องเล่า ในคอลัมน์ Take Me Out นี้ กำลังบอกเล่าบางหน้าตาของเมืองล้านนาแห่งนี้ ซึ่งทำให้ผมเห็นมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นจึงสะกิดให้ผมรู้ว่าเราทุกคนล้วนกำลังค้นหาอีกหลากหลายหน้าตา และจะค้นพบมุมมองที่เปลี่ยนไปในทุกครั้ง เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนจังหวัดเชียงใหม่ 

#1

ร้านหนังสือเล็กๆ

ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ที่สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้ผู้คน

ตัวอำเภอสารภีแม้อยู่ใกล้ชิดจนแทบติดเมืองเชียงใหม่

แต่สารภีกลับเป็นสถานที่หลับใหลที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของจังหวัดนี้  บ่ายคล้อยขณะที่ผมขี่รถซอกแซกเข้าไปในถนนเล็ก ๆ สายหนึ่งในตัวอำเภอสารภี พลันสายตาก็เปะปะไปเจอเข้ากับบ้านสวยในสวนร่มรื่นหลังหนึ่ง เห็นประตูรั้วสีฟ้าเปิดไว้จนสุดทั้ง 2 บาน

ขณะที่ผมกำลังลังเลว่าจะเดินเข้าไปชมภายในบ้านที่อยู่หลังประตูนั้นดีหรือไม่

เสียงทักทายจากสุภาพสตรีคนหนึ่งก็แว่วออกมาจากตรงหลังรั้วนั้นว่า

“มาร้านหนังสือหรือคะ” – เธอคือ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน เธอคงรู้ว่าผมกำลังลังเลไม่แน่ใจเรื่องอะไรอยู่ และผมดีใจเมื่อทราบว่าที่นี่คือร้านหนังสือ ด้วยแอบคิดในใจว่าจะได้เดินเข้าไปชมถึงภายในตัวบ้านหรือภายในร้านหนังสือนั้นได้ชนิดไม่ต้องเคอะเขิน

แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำให้ผมทั้งแปลกใจระคนกับความตื่นเต้นได้มากที่สุด คือการได้รู้ว่า เจ้าชายน้อย (The Little Prince) ที่ออกเดินทางมาจากดาว B612 จนมาพบเข้ากับโลกมนุษย์ใบนี้ตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้ว อยู่ดี ๆ เขาก็ลอยมาหล่นตุ้บ! แล้วมาขออาศัยอยู่ใน ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ กลางเมืองสารภีแห่งนี้นี่เอง 

ป.ล. เอ๋ อริยา คือผู้แปลหนังสือ เจ้าชายน้อย จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย

ร้านหนังสือเล็กๆ : สารภี เชียงใหม่
#2

Walk Camp

แคมป์และสถานอนุบาลช้างที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์

ในเชียงใหม่มีช้างเลี้ยงทั้งหมดอยู่ราว 1 พันเชือก เกือบครึ่งหนึ่งอาศัยกันอยู่ในอำเภอแม่แตง 

ช้างแต่ละเชือกกินอาหารประมาณ 200 – 400 กิโลกรัมต่อวัน หรือราว 1 ใน 10 ของน้ำหนักตัวมันเอง นั่นหมายความว่าอำเภอแม่แตงจะต้องมีอาหารอันอุดมสมบูรณ์หรือมีป่าสมบูรณ์พอที่จะเลี้ยงดูช้างเหล่านั้นได้ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมปางช้างหลายแห่งจึงไปตั้งเรียงรายกันอยู่ในอำเภอแม่แตง 

ปางช้างทั้งหลายในเชียงใหม่ไวต่อกระแสของโลกและไวต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้เราจึงเห็นว่าปางช้างหลายแห่งได้ยกเลิกกิจกรรมขี่ช้างหรือใช้งานช้าง ซึ่งทำให้เกิดภาพการใช้ขอสับแบบเดิม ๆ แต่เปลี่ยนไปเป็นกิจกรรมเชิงประสบการณ์ เช่น ให้อาหาร เดินเล่น หรืออาบน้ำกับช้างแทน

การไปพบเจ้าพวกตัวโตจมูกยาวในครั้งนี้ ผมเจาะจงเลือกไปสถานอนุบาลช้างแห่งหนึ่ง ชื่อว่า ‘Walk Camp’ ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของภูเขาในตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง ก็เพราะผมไม่ได้มีเหตุผลแค่อยากจะไปเลี้ยงช้าง แต่สิ่งที่ทำให้การไปพบกับเจ้าตัวโตเหล่านี้มีความหมายมากขึ้น คือการได้รับรู้และสัมผัสกับผู้คนที่ใกล้ชิด จนแทบจะกลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกับพวกมันเลยทีเดียว

Walk Camp
  • อยู่ภายในบริเวณไร่อ้อมกอดภูเขา ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • 08 3433 1478
  • Walk Camp
#3

กาดนัดจีนยูนาน

ตลาดนัดพหุวัฒนธรรมที่ขายอาหารท้องถิ่นและผลผลิตปลอดภัย

สำหรับคนทั่วไปอาจรู้กันดีว่าทุกเช้าวันศุกร์ที่ซอยเจริญประเทศ 1 แถวไนท์บาซาร์มี ‘ตลาดนัดจีนยูนาน’ หรือกาดบ้านฮ่อ เป็นตลาดที่อยู่ตรงข้ามกับมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ จำหน่ายพืชผักและผลไม้ที่ขนลงมาจากบนดอย จนถึงอาหารและเครื่องปรุงรส จากพ่อค้าแม่ค้าหลากหลายชาติพันธุ์ทั่วเชียงใหม่

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชมชอบตามรอยประวัติศาสตร์ และเผอิญอยู่เชียงใหม่ในเช้าวันศุกร์ด้วยแล้ว นอกจากบรรยากาศและของขายแปลกตาซึ่งหาดูที่ไหนไม่ได้ เรื่องราวและที่มาของเรือนไม้เก่าแก่ที่อยู่ในมุมหนึ่งของตลาดจะเป็นอาหารอันโอชะอย่างคาดไม่ถึงที่ได้ติดไม้ติดมือกลับไปจากกาดบ้านฮ่อแห่งนี้ 

กาดนัดจีนยูนาน
  • ซอยเจริญประเทศ 1 ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวันศุกร์ เวลา 05.00 – 12.00 น.
  • กาดนัดจีนยูนาน
#4

Harvest Moon Valley

หมู่บ้านที่แบ่งปันวิธีพึ่งพาตนเองตั้งแต่ปลูกผักยันเลี้ยงไก่

ตั้งแต่ เจมส์ ฮิลตัน สถาปนาดินแดนยูโทเปียของเขาขึ้นไว้ในหนังสือ Lost Horizon เมื่อปี 1933 ผู้คนก็เริ่มตั้งคำถามว่า หากดินแดนที่เขากล่าวถึงมีอยู่จริง มันจะเร้นกายอยู่ส่วนไหนของโลกใบนี้

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หนุ่ย-กฤศ เล้ารัตนานุรักษ์ เริ่มเข้าไปตามฝันของเขาในบ้านแม่แสะ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง สร้าง ‘Harvest Moon Valley’ หมู่บ้านในจินตนาการที่ยืนหยัดด้วยตนเอง ปลูกพืชผักตามวงโคจรของพระจันทร์ และเกื้อกูลความรู้กับประสบการณ์นั้นให้กับผู้อื่น ไม่ว่าผู้อื่นที่ว่านั้นจะเป็นใคร 

แม้ว่าหนุ่ยไม่เคยเอ่ยปากว่าเขากำลังสร้างดินแดนยูโทเปียให้เกิดขึ้นใน Harvest Moon Valley แต่เมื่อมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านกับเขา ผมรู้สึกได้เต็มหัวใจว่าเขากำลังเดินไปสู่หนทางนั้น ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และสิ่งสวยงามอาจไม่ใช่การที่ใครสักคนมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนยูโทเปีย แต่ความงดงามที่แท้จริงอาจเป็นจิตใจของคนบางคนที่แผ้วถางทางไปสู่ดินแดนยูโทเปียอย่างหนุ่ยก็เป็นได้

Harvest Moon Valley
#5

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

วัดเก่าแก่ของเชียงใหม่ที่อยู่ตรงจุดตัดแกนกลางจักรวาลแห่งล้านนา

เวลาเดินอยู่ภายในคูเมืองเชียงใหม่ บางคนอาจถูกแกนกลางจักรวาลของเมืองเชียงใหม่ดึงดูดให้เข้าไปหาอย่างไม่รู้ตัว สถานที่ที่ว่านั้นเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือก็คือเสาหลักเมือง พอได้ฟังอย่างนี้ หลายคนคงจับได้ว่าผมกำลังพูดถึงวัดเจดีย์หลวง

สิ่งควรค่าไปตามหาภายในวัดเจดีย์หลวง ที่แค่เห็นก็อาจปิติกำซาบถึงภายในใจนั้น อาจเป็นเสาอินทขีล อาจเป็นพระอัฏฐารส หรืออาจเป็นความมหึมาของเจดีย์หลวงที่ตรึงตาและขาเราไว้ 

แต่ครั้งนี้สิ่งที่ทำให้ผมลิงโลดได้มากกว่าทุกครั้งในการไปเยือนวัดเจดีย์หลวง คือการได้ฟังเรื่องเล่าที่ไขปริศนา และรับรู้ความแยบยลของปัญญาแห่งบรรพชนจากปากของพระอดิสร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสหนุ่มไฟแรงมากอารมณ์ขัน ที่ท่านกรุณาอธิบายทุกเรื่องราวเชิงลึก ผสมเสียงหัวเราะของคนฟังอย่างผมที่กึกก้องสะท้อนไปถึงยอดเจดีย์

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
#6

Cochet de Nimman

ที่พักในสวนเล็ก ๆ ที่รักษาป่าผืนสุดท้ายย่านนิมมานฯ

ถ้าคุณเห็นไก่ป่าสักตัวสองตัวเดินเล่นอยู่หน้าห้างเมญ่า แถวนิมมานเหมินท์ อย่าได้ตื่นเต้นตกใจไป เพียงแค่ช่วยพามันกลับบ้าน โดยพิมพ์คำว่า ‘Cochet de Nimman’ ลงในแอปพลิเคชันแผนที่ในโทรศัพท์ สถานที่ซึ่งใช้เวลาเดินเพียง 3 นาทีจากตรงนั้น ใครจะไปนึกว่านิมมานฯ ย่านที่คึกคักจอแจที่สุดของเชียงใหม่จะยังมีพงไพรและไก่ป่าหลงเหลืออยู่ จนบางคนสมญาที่นี่ให้เป็นป่าผืนสุดท้ายแห่งนิมมานฯ 

แพร-อาจรีย์ จุลาสัย หญิงสาวที่มีคุณพ่อเป็นสถาปนิกและคุณแม่เป็นมัณฑนากร เธอเริ่มคิดทำที่พักแห่งนี้เมื่อ 5 ปีก่อน แรกเริ่ม Cochet de Nimman ไม่ได้มี 15 ห้องเหมือนอย่างตอนนี้ แต่เป็นการสร้างเพิ่มทีละห้องสองห้อง จากเดิมที่ตั้งใจทำเป็นที่พักให้บรรดาลูกศิษย์ของพ่อ ซึ่งบางคนก็ทำงานศิลปะ

ระหว่างที่ผมพักอยู่ที่นี่เป็นเวลาแรมเดือน มักต้องออกไปเที่ยววุ่นวายอยู่ข้างนอก แต่เมื่อไรก็ตามที่ได้กลับเข้ามายังที่พัก โดยเฉพาะเมื่อได้ไปนั่งอยู่ที่ระเบียงนอกห้องของตัวเอง ซึ่งแวดล้อมไปด้วยไม้ใหญ่ และไม้เลื้อยที่ขึ้นตามรั้วระแนง มองดูกระรอกไต่กระโจนจากต้นสักที่ขึ้นอยู่ตรงหน้าห้องไปยังต้นฉำฉาที่ด้านหลัง พลางเงี่ยหูฟังสรรพเสียงของนกนานาพันธุ์ ผมจะรู้สึกว่าเหมือนได้กลับเข้าไปในอ้อมกอดของอะไรสักอย่างที่มันคอยอ้าแขน โอบกลืนเราให้หายเข้าไปในอุโมงค์ท่ามกลางป่าโบราณแห่งนี้

Cochet de Nimman
  • 137/2 ถนนสุเทพ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • 09 3576 6888
  • Cochet De Nimman
#7

คลองแม่ข่า

พื้นที่สาธารณะเลียบคลองโบราณที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เป็นเรื่องแปลกสำหรับหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้ความเข้าใจต่อเรื่องนั้น ๆ เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยวิธีที่เราใช้พูดถึงมัน เช่นถ้าใครพูดว่าไปอ่าง คนฟังส่วนใหญ่คงเข้าใจว่าเขาไปเที่ยวอ่างเก็บน้ำที่ไหนสักแห่ง แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นว่าไปลงอ่าง ความเข้าใจแบบแรกคงใช้ไม่ได้เป็นแน่ 

ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวข้างต้น

ที่ที่ว่าคือกำแพงดินกับ ‘คลองแม่ข่า’ ซึ่ง 2 สิ่งนี้มีหลายจุดที่บรรจบพบกันในบริเวณเดียวกัน

เวลาพูดคำว่ากำแพงดิน คนสมัยก่อนจะมีสักกี่คนที่ไร้เดียงสาจนไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ขณะที่คลองแม่ข่าที่หลายคนรู้จักกันในเวลานี้ แทนที่จะหมายถึงคลองทั้งสาย แต่กลับหมายถึงบริเวณที่ตั้งอยู่ในระยะ 750 เมตรที่มันไหลผ่านเท่านั้น และมีคนไปขนานให้บริเวณ 750 เมตรนั้นเป็นโอตารุเมืองไทย 

พอเรียกขานว่าโอตารุ เรื่องเดิมของคลองแม่ข่าที่เคยพูดคุยกันอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องชุมชนริมคลอง เรื่องสภาพน้ำในคลอง จนเรื่องการถือครองที่ดินบริเวณริมคลอง กลับกลายเป็นอีกเรื่อง พร้อมกับได้ระฆังพักยกอย่างโอตารุมาเป็นตัวช่วย บางทีการท่องเที่ยวก็ไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไปเสียหมดอย่างที่มักพูดกัน ในกรณีของโอตารุเมืองไทย อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่อิทธิฤทธิ์ของการท่องเที่ยว เข้ามาช่วยแก้ปัญหาบางเรื่อง ถึงแม้ใครจะมองว่าโอตารุเป็นอีกกรณีที่เราแก้ปัญหากันด้วยวิถีแบบไทยแท้ ๆ 

คลองแม่ข่า
  • ถนนศรีดอนไชย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 15.00 – 22.00 น.
#8

Aeeen

ร้านอาหารญี่ปุ่นเพื่อสุขภาพที่สร้างสมดุลให้ร่างกาย-จิตใจ

ราว 12 ปีที่แล้ว ยูกิ และ เคโกะ มากิโนะ คู่สามีภรรยาชาวญี่ปุ่นจากเมืองโอซาก้า ตัดสินใจขายทุกสิ่งอย่างภายในบ้าน จากนั้นเอาเป้ขึ้นหลัง โอบอุ้มลูกชายวัยไม่ถึงขวบไว้ในอ้อมอก พวกเขาหลบหนีภัยที่เห็นอยู่ว่ากำลังคืบคลานใกล้เข้ามาถึงหน้าประตูบ้าน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างชีวิตครอบครัวกันใหม่ไกลถึงอีกฟากฝั่งในประเทศที่ผู้คนพูดกันคนละภาษา เขาและเธอเลือกเชียงใหม่เป็นที่พักพิงและเป็นเซฟโซนสำหรับลูกน้อย เขาทั้งคู่บอกกับตัวเองว่าต้องรอด เพราะถ้าบ้านเมืองที่มีผู้คนอัธยาศัยเช่นคนเชียงใหม่ ธรรมชาติที่งดงามเช่นเชียงใหม่ แล้วอยู่ไม่ได้ คงไม่ต้องคิดไปอยู่ที่ไหนอื่นอีก 

วันนี้ยูกิและเคโกะเปิดร้านอาหาร ‘Aeeen’ ขึ้นในย่านวัดร่ำเปิง เมนูในร้านมาจากวัตถุดิบออร์แกนิกไม่มีเนื้อสัตว์ วัตถุดิบอาหารทุกชนิด ยูกิบอกว่าหาได้ในละแวกนี้ ข้าวหอมมะลิจากเชียงราย ถั่วเหลืองจากแม่ริม ผักจากแม่วาง โชคดีที่ในเชียงใหม่มีตลาดอาหารอินทรีย์เกิดขึ้นเยอะ เลยมีตัวเลือกมากขึ้น 

สิ่งสำคัญ คือร้าน Aeeen ไม่ใช่ร้านที่ทำอาหารให้กลายเป็นสิ่งสวยงามเพื่อแสดงอวดใคร แต่เป็นร้านที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าอาหารที่พวกเรากินกันทุกวันต้องมีความปลอดภัยและสร้างคุณค่าแก่เรา ซึ่งไม่ใช่ความงามฉาบฉวยเฉกเช่นเครื่องประทินโฉม แต่ต้องสร้างความงามให้เราตั้งแต่ภายใน จนท้ายที่สุด อาหารนั้นจะเป็นดั่งความงดงามของศิลปะที่บ่มให้จิตวิญญานของเรางดงามตามไปด้วย 

Aeeen
  • 4/13 หมู่ 5 ซอยวัดร่ำเปิง ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 17.00 น.
  • 09 7943 7039
  • Aeeen
#9

เกษียณมาร์เก็ต

กาดนัดที่เปิดพื้นที่ให้คุณลุง-คุณป้า อายุ 60+ มาออกร้านขายของ

ตลาดนัดทุกประเภทเท่าที่รู้จักในเมืองไทย ดูเหมือนเคยไปมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดงานศิลปหัตถกรรม ตลาดนัดอาหารทั้งปกติ ทั้งอินทรีย์ ตลาดนัดของมือสอง ตลาดนัดต้นไม้และสัตว์เลี้ยง ตลาดนัดของเก่า ตลาดนัดทอย ตลาดนัดหนังสือ จนถึงตลาดประมูลรถก็เคยไป อย่างหลังนี่ไปทำไมก็ไม่รู้ ทั้งที่ไม่ได้อยากได้รถมาขับสักหน่อย จากตลาดที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่เคยเห็นว่ามีตลาดไหนที่จำกัดคุณสมบัติของคนขาย ขอเพียงมีสินค้า มีเงินจ่ายค่าเช่า ก็เป็นอันเอาสินค้าไปวางขายกันได้ทั้งนั้น 

ไม่นานมานี้ ในเชียงใหม่ได้ยินว่ามีตลาดแปลกประหลาดที่จำกัดคุณสมบัติของคนขายว่าต้องเป็นคณลุงคุณป้าวัยเกษียณเท่านั้น จนทำให้ผมสงสัยรีบวิ่งไปดู ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าใครหนอช่างคิดตลาดแบบนี้ออกมาได้ ซึ่งเธอคือ ขิม-มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ทายาทรุ่นสามของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ หรือ Old Chiangmai (ในปัจจุบัน) เธอเห็นว่ากลุ่มคนที่เคยมาใช้ Old Chiangmai ในอดีต เวลานี้ต่างเริ่มทยอยกันเกษียณ หลายคนยังมีศักยภาพ มีความฝัน แต่ไม่มีโอกาสได้ทำขณะอยู่ในวัยทำงาน

จึงเป็นที่มาของ ‘เกษียณมาร์เก็ต’ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ขิมเรียกว่าคุณลุงคุณป้าได้ออกจากบ้าน มาแสดงตัวตน แสดงความสามารถ และแสดงความฝันของตัวเองที่ Old Chiangmai นั่นเอง

เกษียณมาร์เก็ต
  • 185,3 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน เวลา 08.00 – 14.00 น.
  • เกษียณมาร์เก็ต – The Senior Market
#10

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาลาด

เดินตามพระบนเส้นทาง Monk’s Trail ที่ต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิต

แต่เดิมวัดผาลาดที่ตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสนใจกันมากนัก หรือถึงจะเห็นป้ายก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเสียเวลาแวะดู เนื่องจากยังมีอีกหลายรายการใหญ่รออยู่ข้างหน้า

แต่วันนี้วัดผาลาดกลับเป็นที่รู้จักกันดี ด้วยความที่มันคล้ายเป็นสถานที่ลึกลับหลบซ่อนตัวอยู่ภายในป่าโบราณ ซึ่งไม่เพียงเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะชมให้ได้สักครั้งเมื่อมาถึงเชียงใหม่ แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักวิ่งสายเทรลทุกคนที่จะต้องปีนขึ้นไปให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ทางเดินขึ้นเขาเป็นทางดินสลับหิน บางช่วงเลาะเลี้ยว บางช่วงสูงชันจนมองเห็นแต่เท้าตัวเอง ดีที่ทางเดินส่วนใหญ่ถูกต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นบดบังหนาแน่น จนแดดแทบจะส่องลอดลงมาถึงพื้นไม่ได้

บ่ายคล้อยเมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยออกจากวัดผาลาด เสียงจักจั่นป่าก็เริ่มกลับมากรีด เสียงของมันบางครั้งก้องกังวานไปทั้งป่า บางครั้งก็เล็กแหลมคล้ายใครกำลังเป่าสังข์ในพิธีกรรมทางศาสนา

ในตอนนี้นี่เอง ไม่แน่นักว่าที่บริเวณวิหารปูนโบราณตรงริมน้ำ ปลากั้งกับเต่าปูลูอาจจะเริ่มออกมาแหวกว่าย เพื่อทักทายป่ารอบตัวของมันบ้างแล้วก็เป็นได้

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาลาด (Monk’s Trail)
  • ทางขึ้นอยู่สุดถนนสุเทพ บริเวณสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แผนที่)
#11

Studio Horjhama

ร้านอาหาร-ร้านชำที่เชื่อว่าการกินดีเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

ตามสถิติ คนส่วนใหญ่ใช้เงิน 90% ที่หามาได้ทั้งชีวิตไปกับ 20 ชั่วโมงสุดท้ายที่เหลือ 

คนที่พูดประโยคนี้ให้ผมฟังคือหมอคนหนึ่ง พอได้ฟังเท่านั้น ผมเริ่มรู้สึกว่าหมอนี่หรือจะหมอไหน ชักไม่น่าคบเสียแล้ว เมื่อไม่อยากคบกับหมอ ผมเลยเดินทางไปไกลถึงอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตามหาสาวหน้าตาคมเข้มคนหนึ่ง ที่เธอบอกกับผมเป็นประโยคแรกเมื่อพบกันว่าเธอเป็นคนไทเขิน 

สาวไทเขินคนนี้ก่อบ้านดินขึ้นบนทุ่งข้าวสีตอง มีต้นชงโคที่ออกดอกบานสะพรั่งทำตัวเป็นร่มกางกั้นแดดที่หน้าบ้าน มีแมวลายหินอ่อนหน้ามึนเป็นทั้งเพื่อนและเป็นทั้งผู้คอยติดตามเรื่องเล่าชีวิตของเจ้านายมัน ผ่านอาหารที่เธอเรียกว่า ‘อาหารชนเผ่า’ ซึ่งเธอใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล คืออะไรมีเมื่อไรก็กินอย่างนั้น วัตถุดิบมาจากในท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายที่ผลิตวัตถุดิบปลอดภัยทั้งในเชียงใหม่ และเพื่อน ๆ เครือข่ายจากจังหวัดอื่นด้วย อาหารมีให้เลือกหลากหลาย เช่น เกี๊ยววัชพืช ซุปฟักทองจากฟักทองพื้นบ้านของปกาเกอะญอ ขนมปังหมักยีสต์ธรรมชาติ เคสดิญ่าไก่บ้านต้มน้ำปลา เบนโตะอาหารอาข่า ฯลฯ

ที่นี่ยังขายเครื่องปรุง-ผลผลิตแปรรูป เช่น น้ำปลา เครื่องเทศยูนนาน น้ำตาลโตนดแท้ น้ำหวานดอกมะพร้าว น้ำส้มหมักจากกล้วย น้ำส้มโหนด สาคูต้นยายดุย น้ำผึ้งหลวงบ้านหินลาดใน ฯลฯ

เธอทำให้ครัวและโต๊ะอาหารของเธอกลายเป็นเวทีของการแสดง เพื่อให้ตระหนักว่าเราทุกคนเลือกที่จะกินอาหารเพื่อสุขภาพของตัวเอง เพื่อเพื่อนมนุษย์ และเพื่อโลกที่เรามาขออาศัยกันอยู่

Studio Horjhama 
#12

Sher Maker

สตูดิโอสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ก่อนที่ ตุ๋ย-พัชรดา อินแปลง สถาปนิกสาวผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Sher Maker’ จะนำพาผลงานและแนวความคิดของตังเองไปพิชิตรางวัลระดับโลกมาในปี 2023 เธอไม่รู้มาก่อนเลยว่าความเป็นคนช่างบันทึก และชอบเดินทางของเธอตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ มันจะก่อให้เกิดเป็นอะไรได้บ้างในวันข้างหน้า

หลายคนรู้จักตุ๋ยและ Sher Maker จากงานการออกแบบปั๊ม ปตท. อำเภอสารภี ที่ใช้กระเบื้องเซรามิกมาสร้างฟาซาดห่อหุ้มอาคาร เพื่อแสดงมิติของแสงในแต่ละเวลา เบื้องหลังผลงานชิ้นนั้นมาจากประสบการณ์และความสนใจของเธอต่อวัสดุใกล้ตัว เช่นเดียวกับ โอ๊ต-ธงชัย จันทร์สมัคร ที่ทำงานกับเธอตั้งแต่ต้น เขาสนใจงานคราฟต์ วัสดุ และเป็นคนแรกที่ทำจักรยานไม้ไผ่จนกลายเป็นตำนาน 

น่าดีใจที่วันนี้ในเชียงใหม่มีสถาปนิกเฉพาะทางเกิดขึ้นมากมาย แต่เรื่องการบันทึกผลงานตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนจบมักไม่มีใครทำ ตุ๋ยพูดได้ว่า Sher Maker เป็นคนแรกที่ทำเช่นนั้น เธอบันทึกจนถึงกระทั่งแหล่งที่มาของวัสดุ และผลของการทดลองก่อนจะนำไปใช้จริง ไม่ว่าไม้ กระเบื้อง วัสดุปูพื้น

ใต้หลังคาลานอิฐในออฟฟิศ ผมเห็นเรือคายัคลำหนึ่งแขวนอยู่ ขณะที่อีกลำกำลังขึ้นเป็นโครงอยู่บนโต๊ะ ตุ๋ยบอกว่าโอ๊ตกำลังทำคายัค 2 ลำ พอเสร็จแล้วจะเอามันไปล่องลำน้ำกกที่เชียงรายด้วยกัน 

ผมนึกในใจว่าการจะไปล่องเรือในลำน้ำกกสักที ถึงขนาดต้องทำเรือขึ้นเองเลยหรือ

แต่ผมต้องลบความคิดนั้นออก เมื่อเธอพูดว่า

“งานที่ทำ ต้องผสานกับสิ่งที่สนใจและสนุกด้วย ไม่งั้นชีวิตของเราจะดำเนินไปเพื่ออะไรเล่า” 

Sher Maker
  • 122/164 หมู่ 6 หมู่บ้านเชียงใหม่เลคแลนด์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน 07.00 – 16.00 น.
  • 08 9175 7004
  • SHER MAKER
#13

Raya Heritage

โรงแรมที่ตั้งใจรักษาวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเสน่ห์ริมน้ำของล้านนา

เพราะเชียงใหม่เป็นชุมทางการค้าทางบกตั้งแต่อดีต ทำให้ผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งเดินทางมากับขบวนม้าต่างวัวต่างได้มาพบกัน ขณะเดียวกันก็นำวัฒนธรรมของตนเข้ามาคลุกเคล้าปนเป

เนิ่นนานจนที่สุด เกิดเป็นวัฒนธรรมร้อยเผ่าพันธุ์ขึ้นในเชียงใหม่

มีหลายคนพยายามเล่าเรื่องวัฒนธรรมอันหลากหลายซึ่งมากับขบวนม้าต่างวัวต่างเหล่านี้ และการจะแสดงให้เห็นจนกระทั่งจับต้องหรือสัมผัสได้ ต้องทำให้ผู้คนเข้าใจและซาบซึ้งกับวัฒนธรรมอันงดงามของอดีตได้ชัดเจนที่สุด อย่างเช่นที่ ‘Raya Heritage’ กำลังทำอยู่ ซึ่งที่นี่เป็นโรงแรมเลียบริมน้ำปิง ในอำเภอแม่ริม ที่นำเสนอวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของเชียงใหม่ ตลอดจนวิถีชีวิตริมน้ำของคนล้านนา

ก้าวแรกที่เดินเข้าไปในรายา เฮอริเทจ ผมสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของอดีตกาลได้จากต้นเหียงและต้นสะเดาอินเดียที่ยืนสูงตระหง่านคอยต้อนรับอยู่ตั้งแต่บริเวณล็อบบี้เลยทีเดียว ขณะที่ดอกสีม่วงของต้นโคลงเคลงเลื้อยที่แต้มแต่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของมัน คล้ายกำลังกระซิบกับผู้มาเยือนว่า

‘ความงามอันประณีตอัศจรรย์ที่สรรสร้างโดยมนุษย์นั้นกำลังจะเริ่มขึ้นจากตรงนี้’

Raya Heritage
  • 157 หมู่ 6 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • 05 311 1670 – 73
  • Raya Heritage
#14

โหล่งฮิมคาว

บ้านที่กลายเป็นพื้นที่และชุมชนสร้างสรรค์ของคนรักงานคราฟต์

ร้านค้าขนาดใหญ่ซึ่งเคยขายงานหัตถกรรมชนิดทัวร์ลง บนริมถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ล้มหายตายจากไปนานหลายปี อธิบายถึงความสนใจต่อรูปแบบการซื้อของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป 

สิ่งที่มาแทนคือกาดมั่ว-กาดชุมชนที่นำเสนอทางเลือกกับเรื่องเล่าที่มากกว่า และเปิดรอบทิศในเมืองเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นที่โดดเด่นและเป็นตัวอย่างของการพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืนคือ ‘โหล่งฮิมคาว’

พี่ชัช-ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คนเดือนตุลา ผู้บุกเบิกการทำงานเพื่อชุมชนในเชียงใหม่มาตั้งแต่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 40 ปี ในวันนี้พี่ชัชยังคงเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ เป็นทั้งผู้ขับเคลื่อนและผู้ประสานให้กับเครือข่ายต่าง ๆ ที่ร่วมกันพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืนในเชียงใหม่ 

แม้แต่การหาที่ดินเพื่อปลูกบ้านสักหลังให้กับตัวเองแท้ ๆ พี่ชัชก็ยังไม่พ้นที่จะพ่วงการพัฒนาชุมชนเอาไว้ด้วย จนสิ่งหลังกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ โดดเด่นกลบเรื่องบ้านของตนเองจนหมดสิ้น 

โหล่งฮิมคาว คือหมู่บ้านที่พี่ชัชกับเพื่อน ๆ ก่อตั้งขึ้นที่สันกำแพง ไม่เพียงแต่เป็นชุมชนที่น่าไปเดินดูงานคราฟต์หรือนั่งจิบกาแฟในหมู่บ้านสวย ๆ ใต้ร่มเงาของแมกไม้ใหญ่ แต่ที่นี่แฝงเรื่องใหญ่ไว้ให้เราเรียนรู้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานนั้น เราควรคิดและควรเดินกันอย่างไร

โหล่งฮิมคาว
  • บ้านมอญ หมู่ 2 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 17.00 น., ฉำฉา market เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 14.00 น.
  • 06 5397 4465
  • โหล่งฮิมคาว
#15

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

โรงเรียนสอนภูมิปัญญาล้านนาที่มีครูเป็นพ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย

เสียงค้อนลงเหล็กตอกดังโป๊ก ๆ ที่เคยก้องกังวานไปทั้งหมู่บ้านย่านถนนวัวลาย มาวันนี้เสียงนั้นค่อย ๆ เบาบางจางหายไป จน พ่อครูดิเรก สิทธิการ ออกปากว่า ตอนนี้จะเหลือถึง 10 หลังคาบ้านไหมหนอที่ยังคงทำเครื่องเงินอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น คนหนุ่มสาวที่ดั้นด้นไปตามหาบ้านพ่อที่ข้างวัดศรีสุพรรณ เพื่อเรียนดุนโลหะกลับมีไม่ขาดสาย จนพ่อครูเปิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้นภายในบ้านตัวเองตั้งแต่ 20 ปีก่อน

สิ่งที่พ่อครูดิเรกทำคือการถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ พ่อครูไม่ได้ทำโดดเดี่ยวลำพังคนเดียว เพราะในเชียงใหม่มีผู้คนและเครือข่ายขององค์กรต่าง ๆ ที่ทำเรื่องนี้มาช้านาน อย่าง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543 มี พี่ชัช-ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรวบรวมและเชิญชวนพ่อครูแม่ครูมาทำงานร่วมกัน ปัจจุบันได้ แอน-เมธาวี เจริญวรารัตนา มาดูแลในฐานะผู้จัดการโรงเรียน ซึ่งโฮงเฮียนสืบสานฯ ทำหน้าที่เสมือน Match Maker ประสานระหว่างพ่อครู-แม่ครู กับผู้อยากเรียนรู้วัฒนธรรมและงานช่างได้มาพบกัน เปิดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนทั้งหลักสูตรระยะยาวและหลักสูตรระยะสั้น ตามแต่ความสะดวกของผู้เรียนและผู้สอน ขณะที่พ่อครูแม่ครูบางคนก็เปิดบ้านของตนเองเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสวิถีชุมชนและเพิ่มพูนประสบการณ์ให้ลึกซึ้งมากขึ้น

ในเชียงใหม่ยังมีพ่อครูแม่ครูอีกหลายคนที่ทำเฉกเช่นเดียวกันกับพ่อครูอดิเรก น่าสนใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พวกเขาจะสืบสานภูมิปัญญาให้อยู่ต่อไปได้อย่างไร คำถามและคำตอบนี้อาจไม่สำคัญเท่าความชุ่มชื่นหัวใจที่ได้จากการให้ ซึ่งก่อให้เกิดความผูกพันไม่ขาดสายขึ้นระหว่างคนรุ่นสู่รุ่น 

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา
#16

9292.studio

ร้านโปสเตอร์-ของที่ระลึกที่เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ผ่าน Illustration

ถนนท่าแพเป็นถนนที่เก็บงำเรื่องเล่าของเชียงใหม่ไว้มากที่สุดสายหนึ่ง อีกทั้งมีส่วนอย่างสูงที่นำพาเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ และยิ่งชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ที่รถไฟขบวนแรกเดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อราวร้อยปีที่ผ่านมา และถ้าอยากเห็นภาพของเชียงใหม่เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา หนังสือ ภาพถ่ายฟิล์มกระจก ของ หลวงอนุสารสุนทรกิจ เป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการไปตามหา 

ขณะที่ Arthur Vergne (อาเธอร์ แวร์ญ) หนุ่มชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เปิดร้านขายภาพโปสเตอร์เมืองเชียงใหม่ผ่านลายเส้น Illustration บนถนนท่าแพ ผสานโลกความเป็นจริงกับโลกความฝันเข้าไว้ด้วยกันชนิดไร้รอยต่อ อาเธอร์บอกว่าในฝรั่งเศสไม่ว่าเมืองไหน ๆ ก็มีภาพโปสเตอร์ประจำเมืองนั้น ๆ เรียกว่า Travel Poster จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนฝรั่งเศสที่เมื่อเดินทางท่องเที่ยวก็มักซื้อเป็นของที่ระลึก เขาเห็นว่าในไทยก็น่าจะมีสิ่งนั้นได้เหมือนกัน จนถึงแผนที่เมืองที่สวย ๆ จนน่าเก็บสะสม 

อาเธอร์ แวร์ญ อาจไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ในวันนี้อาจกลายเป็นเรื่องเล่าอันงดงามของเมืองเชียงใหม่ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งหลวงอนุสารสุนทรกิจได้เคยทำเอาไว้ 

9292.studio
  • 90 ถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน (ปิดวันพุธ) เวลา 10.00 – 18.00 น.
  • 09 7989 3594
  • 9292.studio
#17

อ่างแก้ว

อ่างเก็บน้ำในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน

สารภาพมาซะดี ๆ ว่าคุณก็เป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่เวลาไปเชียงใหม่ทีไรต้องเข้าไปเช็กอินที่ ‘อ่างแก้ว’ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกที อย่าตกใจกับคำถามนี้ เพราะใคร ๆ ก็ทำอย่างที่คุณทำทั้งนั้น

เพียงแต่เราอาจไม่เคยถามตัวเองว่าทำไมต้องเข้าไปเช็กอินที่อ่างแก้วด้วย 

อ่างแก้วที่ความจริงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าของ แต่ทุกคนกลับรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่สาธารณะแสนกันเอง ซึ่งใคร ๆ ก็เข้าไปใช้งานหรือเข้าไปชื่นชมมันได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างภาษา ก็มีความรู้สึกและสำนึกรับรู้เช่นนั้น นี่จึงเป็นเสน่ห์พิเศษของอ่างแก้วที่ยากจะหาได้จากที่ไหน 

เวลาไปเดินรอบอ่างแก้ว ลองแหงนหน้าขึ้นดูสักนิด แล้วจะแปลกใจว่าดอยสุเทพนั้นอยู่ใกล้ชิดกับเรามากขนาดไหน จนหากได้เห็นนกยูงสักตัวออกมาเดินเล่นรอบอ่างแก้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีน้ำใช้จากอ่างแก้ว ซึ่งน้ำในอ่างแก้วไหลมาจากห้วยแก้ว ขณะที่ห้วยแก้วเกิดจากน้ำในป่าในเขาบนดอยสุเทพ ดังนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงผูกพันและถูกหล่อเลี้ยงให้มีชีวิตจากดอยสุเทพ ด้วยเหตุนี้ และจากนี้ไป เวลาที่เราไปเช็กอินหรือถ่ายรูปคู่กับอ่างแก้วเสร็จแล้วต้องอย่าลืมที่จะพนมมือขึ้นสูง ๆ และโค้งศีรษะให้กับดอยสุเทพด้วย 

อ่างแก้ว
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00 – 22.00 น.
#18

Kalm Village

หมู่บ้านศิลปะที่รวมงานศิลปะ หัตถกรรม และภูมิปัญญาจากทั่วประเทศ

จนถึงตอนนี้ ผมก็ยังหาคำนิยามให้ ‘Kalm Village’ ไม่ได้ว่าที่นี่จะเป็นสถานที่แบบไหน

นอกจากแน่นขนัดไปด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอดประสานกับการออกแบบ เสมือนการพบกันระหว่างเก่ากับใหม่ ซึ่งถูกจับไขว้กันไว้ในงานคราฟต์แล้ว ผมคล้ายหลงเข้าไปในนิทรรศการของพวกรหัสวิทยาขนาดใหญ่ ซึ่งปล่อยให้ผู้เข้าชมเข้าไปตามหาปริศนา หรือสัญลักษณ์ที่ซ่อนไว้ในทุกแห่งกันเองตามชอบใจ – เต่า ปลา นกยูง กา พรรณไม้นานา ลายสานของสาดเสื่อ แอบข้าว จนถึงกุบกะเหรี่ยง

สิ่งที่ว่ามาถูกออกแบบ จับวาง และแอบซ่อนไว้ในที่ต่าง ๆ ภายในและภายนอกอาคาร

ช่างยั่วเย้าให้ผู้ที่เผอิญพบเห็น อดไม่ได้ที่จะต้องตีความหาคำตอบ 

ข้าวของสิ่งแสดงของ Kalm Village ที่ทำให้ผมตะลึงที่สุด คือการจับเจดีย์ขนาดมหึมาของวัดเจดีย์หลวงมาตั้งแสดงไว้ เขาทำได้อย่างไร นี่เป็นอีกรายการใหญ่ที่ต้องหาคำตอบให้ได้เมื่อไปถึงเชียงใหม่ 

Kalm Village
  • 14 ถนนประชาธิปก ซอย 4 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน (ปิดวันพุธ) เวลา 09.30 -18.30 น.
  • 09 3320 9809
  • Kalm Village
#19

โจ๊ะ IDEE

แบรนด์คราฟต์ ๆ ที่ขายเซรามิกและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านสบลาน

และแล้วราตรีก็แปรผัน 

ตะวันขานรับกับวันใหม่ 

โลกที่มืดมัวระรัวไป

ก้องอยู่ในใจไม่รู้ตัว….

นี่เป็นบทเริ่มต้นของกลอนที่ นิด-อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ เด็กหญิงวัย 15 ปี เขียนขึ้นแล้วยื่นให้กับแม่ของเธอ มันเป็นเสมือนคำร้องจากส่วนลึกที่สุดของหัวใจ เพื่อแสดงเจตนาว่าเธอต้องการที่จะลาออกจากโรงเรียน ซึ่งในเวลานั้นเป็น พ.ศ. 2528 ขณะที่เธอเพิ่งผ่านการขึ้นชั้น ม.5 มาได้เพียง 2 เดือน 

เมื่อแม่อ่านจบ จากที่เคยปฏิเสธมาหลายครั้ง แน่ใจแล้วว่าคราวนี้ไม่มีเหตุผลที่จะรั้งลูกอีกต่อไป จึงแก้เชือกแห่งพันธนาการนั้นออก แล้วปล่อยให้นิดได้เดินไปตามเส้นทางที่หัวใจเธอจะปราถนา

จากนั้นเป็นต้นมา เส้นทางเดินของนิดก็ช่างคล้ายกับอลิซที่พลัดตกลงไปในโพรงของกระต่าย ต่างกับอลิซก็เพียงแต่เธอเป็นคนเลือกที่จะกระโดดลงไปในโพรง และเลือกเส้นทางเดินภายในโพรงนั้นเอง 

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัย นิดทำงานเซรามิกอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งมีลูก ตอนนั้นเธอคิดจะให้ลูกเรียนโฮมสคูล แต่พอไปถึง นอกจากสมัครเรียนให้ลูกได้แล้ว ครูที่นั่นกลับเสนอให้เธอมาเป็นครูในโรงเรียนด้วยกัน นิดจึงเป็นครูสอนศิลปะของโรงเรียนรุ่งอรุณตั้งแต่นั้นมา เธอรับผิดชอบสอนในห้องเรียนของเด็กพิเศษ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าการศึกษาไม่เคยมีรูปแบบตายตัว แต่จะต้องเอาชีวิตของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง จากนั้นนิดเริ่มสร้างโรงเรียนทางเลือก มุ่งเน้นการเรียนรู้วิถีชีวิตให้เด็กเกิดทักษะและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้ทุกอย่างบนวิถีชีวิตจริง ไม่ใช่จากตำรา

หลังเปิดโรงเรียนได้ 2 ปี นิดชวนเด็ก ๆ ทำงานมือที่ตัวเองถนัด เช่น งานผ้า สมุด จักสาน แล้วนำลงไปออกร้านขายในงานต่าง ๆ นำรายได้จากการขายกลับไปเกื้อหนุนกิจกรรมการเรียนรู้อีกที

ขณะเดียวกันนิดก็เอาผ้าทอและน้ำผึ้งป่าที่ชาวบ้านในบ้านสบลานผลิตลงไปขายด้วย 

ทั้งนิดและเด็กมีความคิดตรงกันว่าจะนำสินค้าซึ่งผลิตในบ้านสบลานไปขายในช่องทางออนไลน์ให้จริงจังมากขึ้น จึงร่วมกันสร้างแบรนด์ขึ้นมาในชื่อ ‘โจ๊ะ IDEE’ ซึ่งย่อมาจากคำว่าโรงเรียนแห่ง Identity Education Environment โดยส่วนใหญ่นิดให้เด็กมีบทบาทในการตัดสินใจและดูแลกันเอง

JOA IDEE ยังขายงานเซรามิกฝีมือนิด ซึ่งเป็นงานที่เธอถนัดและสนุกกับมันที่สุด

JOA IDEE
  • 169/3 หมู่ 5 ตำบลบ่อน้ำหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • 08 1648 3264
  • JOA IDEE
#20

Zinmè Teahouse

ร้านชาสไตล์พม่าที่เล่าวัฒนธรรมพม่าผ่านชาและอาหารพม่าแท้ ๆ

ฟิลลิปส์ เรย์ ชายหนุ่มพม่าวัย 25 ปี ผู้เกิดในเมืองโมก๊ก (Mogok) เมืองเล็ก ๆ ในรัฐฉานเหนือมัณฑะเลย์ขึ้นไปราว 200 กิโลเมตร เมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งกำเนิดทับทิม พลอย และมรกตที่ดีที่สุดของโลก แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ายังมีอีกสิ่งที่ทับซ้อนอยู่บนผืนแผ่นดินอัญมณี นั่นคือโมก๊กเป็นแหล่งปลูกชาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของพม่าด้วยเช่นกัน ถึงขนาดเคยเป็นชาที่ใช้ถวายเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

ฟิลลิปส์เดินตามพ่อไปชิมชาแทบทุกร้านในย่านตลาดยามเช้าตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จนลิ้นและจมูกของเขาแบ่งแยกประเภทชาได้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ แต่ฟิลลิปส์ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่พ่อได้ปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็ก จะก่อให้เกิดเป็นร้านชาของตัวเองขึ้นมา ซึ่งข้ามจากบ้านเกิดในเมืองโมก๊กไปไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่ในย่านวัดเกตการาม ทั้งยังได้กลายมาเป็นทางเดิน และสิ่งที่ช่วยสมานแผลในใจให้กับเขาในวันนี้

พอเข้ามาใน ‘Zinmè Teahouse’ คล้ายหลงเข้ามาในสวนชาอันกว้างใหญ่ ฟิลลิปส์กางเมนูชาให้ผมดู แล้วถามว่าต้องการชาแบบไหนในจำนวน 9 รสที่เขานำเสนอ มีตั้งแต่ชาขมเข้มไร้รสหวานอย่างเกซอน (Gate Sour) ขมและหวานด้วยนมกำลังดีอย่างโปงแม่ะ (Poue Mhan) หวานจัดอย่างโชเซง (Cho Saint) ที่เหมาะกับการกินพร้อมกับปาท่องโก๋ จนถึงรสขมบาง ๆ หวานน้อย ๆ อย่างโปะเซง (Pot Saint) 

พอพูดจบ เขาเงยขึ้นเห็นสีหน้าของผมก็รู้ว่าที่จริงเขาควรเลือกให้ผมเสียเองตั้งแต่แรก สุดท้ายผมได้ดื่มเจ้าโปงแม่ะที่รสขมหวานกำลังดี แค่จิบแรกเท่านั้น ผมก็แทบเห็นเจดีย์ชเวดากองลอยลงมาอยู่ต่อหน้า มันเป็นรสและอารมณ์เดียวกันกับชาที่ผมเคยไปนั่งจิบอยู่ที่ข้างถนนในเมืองย่างกุ้งไม่มีผิดเพี้ยน

Zinmè Teahouse
  • 62 ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
  • 09 5696 2938
  • Zinmè Teahouse

Happy City เป็นแคมเปญในความร่วมมือของ The Cloud, สถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายในการสื่อสารความสำคัญของการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ

ความพิเศษของแคมเปญนี้ คือทีมงานก้อนเมฆไม่ได้เป็นคนเล่าเอง แต่เฟ้นหาผู้สนใจ 5 คน มาทำหน้าที่ ‘นักเขียนพิเศษ’ แทนพวกเรา ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ผู้ได้รับเลือกทั้ง 5 ต้องไปใช้ชีวิต ทำความรู้จักผู้คน กิจการ อาณาบริเวณต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ระยอง เชียงใหม่ อุบลราชธานี และสงขลา แล้วเขียนถ่ายทอด 20 เรื่องราวสุขภาวะของจังหวัดนั้น ๆ ออกมาเป็นหนังสือคนละ 1 เล่ม และบทความคอลัมน์ Take Me Out อีกคนละ 1 บทความ

บทความด้านบนเป็นเพียง 1 ใน 5 บทความของแคมเปญ Happy City เท่านั้น เราหวังว่าคุณจะติดตามอ่านจนครบ 5 จังหวัดด้วยความเพลิดเพลิน 

ถ้าอ่านแล้วอยากลุกขึ้นมาร่วมสร้างเมืองน่าอยู่อีกแรง พวกเราและเหล่านักเขียนพิเศษก็จะดีใจที่สุด!

Writer

สมพงษ์ งามแสงรัตน์

สมพงษ์ งามแสงรัตน์

สเก็ตเชอร์ และคนเขียนหนังสือ ภายหลังเมื่อลองมาเป็นไบค์เกอร์ดูด้วย ค้นพบว่าการเขียนหนังสือในหัวขณะขี่มอเตอร์ไซค์ไปด้วย สนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย