เพราะเป็นเด็กเชียงใหม่ที่เคยขี่รถเครื่องก๋าย (ผ่าน) ถนนวัวลายบ่อย ๆ เราตื่นเต้นกับทายาทรุ่นสองตอนนี้เป็นพิเศษ

จำได้ว่าบนถนนเส้นนั้นที่ตรงดิ่งเข้าหาคูเมืองและตลาดประตูเชียงใหม่ Chiang Mai Cultural Center หรือ ‘ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่’ คือสถานที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางจนเห็นชินตา 

และต้องขอสารภาพแบบเขิน ๆ ไว้ตรงนี้เลยว่าความทรงจำของเรา (รวมถึงคนอื่นที่น่าจะเคยขี่รถก๋ายแบบเราเมื่อราว 10 ปีก่อน) ที่มีต่อที่แห่งนี้ คือหมึกทอดข้างหน้าศูนย์ฯ นั้นหอมอร่อยมากกก แต่ข้างใน โอลด์ เชียงใหม่ นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามิอาจล่วงรู้ ด้วยเพราะมิใช่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมายของเขา

เท่าที่ได้ยินมา ที่นี่มีบริการจัดเลี้ยงขันโตกดินเนอร์ มีการแสดงฟ้อนแบบล้านนาให้ชม มีร้านขายของที่ระลึกให้ช้อป และบางครั้งบางคราวก็จัดอีเวนต์พิเศษที่เชื่อมโยงกับพี่น้องชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ โอลด์ เชียงใหม่ โด่งดังจากการเป็นสถานที่จัดเกษียณมาร์เก็ต ตลาดนัดยามเช้าที่เปิดให้คนวัย 60+ มาขายของแสดงพลัง กลายเป็นหมุดหมายใหม่ให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ได้ไปเดินแอ่วกันจอย ๆ

พอมีโอกาสได้คุยกับ ขิม-มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ทายาทรุ่นสามของ โอลด์ เชียงใหม่ ผู้มารับช่วงธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อแม่กับพี่ชาย เราจึงรู้ว่าธุรกิจนี้มีอายุเข้าหลักเลข 5 ได้แล้ว และนอกจากเป็นสถานที่ที่ให้บริการขันโตกดินเนอร์ ที่นี่ยังมีพื้นที่อเนกประสงค์ให้เช่า แถมล่าสุดกำลังจะมีอีเวนต์ Chiang Mai Food Festival ที่ไม่ใช่งานมหกรรมอาหารธรรมดา แต่ยังอยากชวนทุกคนมารู้จักวัฒนธรรมล้านนาและความหลากหลายทางเชื้อชาติผ่านของกิ๋นบ้านเฮา

ขี่รถก๋ายมาก็หลายที ขอถือโอกาสนี้ชวนคุณไปรู้จัก โอลด์ เชียงใหม่ ในวันนี้ที่บริหารโดยมือของทายาทรุ่นสามพร้อม ๆ กัน 

สปอยล์ไว้นิดว่า เหมือนคนวัยอิสระหลายคนที่ยังสนุกกับชีวิตและมีพลังล้นเหลือ โอลด์ เชียงใหม่ วันนี้ไม่ยอม Old เหมือนชื่อแน่ ๆ

ธุรกิจ : บริษัท รักษ์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จำกัด

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2514

อายุ : 53 ปี

ประเภท : ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงและให้เช่าพื้นที่

ผู้ก่อตั้ง : บวร ชุติมา และ อุณณ์ ชุติมา

ทายาทรุ่นสอง : จุมพล ชุติมา และ รศนา ชุติมา

ทายาทรุ่นสาม : วรพรรธน์ ชุติมา และ มนัสวัฑฒก์ ชุติมา

โอลด์ เชียงใหม่ ในวันเก่า

‘รักษา สืบทอด ต่อยอด เผยแพร่วัฒนธรรมล้านนา’ 

คือความตั้งใจที่สืบสานกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า

ต้นตระกูลของขิมคือ หลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) อดีตคหบดีชาวเชียงใหม่และกรมการพิเศษเมืองเชียงใหม่ หากนับกันจริง ๆ ขิมคือรุ่นที่ 5 แต่ถ้านับจาก คุณย่าอุณณ์ ชุติมา ผู้ก่อตั้ง โอลด์ เชียงใหม่ เธอคือทายาทรุ่นสามที่มาสืบทอดธุรกิจครอบครัว

“โอลด์ เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในยุคที่เชียงใหม่กำลังอยู่ในอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ตอนนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 กำลังเริ่มใช้ คุณย่าเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดเยอะพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องประเพณีวัฒนธรรม เช่น ที่เคยเห็นคนใส่ชุดพื้นเมืองไปไหนมาไหนกันตลอด แต่ยุคหลัง ๆ ก็มีชุดไทยสากลมากขึ้น คุณย่ารู้สึกเหมือนวัฒนธรรมอันดีงามกำลังจะหายไป จึงอยากช่วยรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านั้นไว้” ขิมเท้าความ

ธุรกิจขันโตกดินเนอร์ที่แรก

ไม่เพียงแค่เสื้อผ้า แต่คุณย่าอุณณ์อยากสร้างสถานที่ที่ช่วยเก็บวัฒนธรรมล้านนาไว้ในทุกมิติ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม อาหาร ไปจนถึงประเพณีที่ถ่ายทอดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ 

เริ่มจากสถาปัตยกรรม คุณย่าอุณณ์เติบโตมาบนถนนท่าแพในยุคที่ถนนทั้งสายเต็มไปด้วยบ้านทรงเรือนแถวและเรือนแพ จนถึงจุดที่บ้านเหล่านั้นถูกรื้อแล้วสร้างอาคารปูนทดแทน คุณย่าอยากเก็บรักษาภาพในอดีตตรงนั้นไว้ จึงออกแบบสถาปัตยกรรมของ โอลด์ เชียงใหม่ ให้เหมือนบ้านเรือนของท่าแพในอดีต 

ที่นี่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ให้บริการขันโตกดินเนอร์เป็นที่แรก เพราะได้ไอเดียมาจาก ไกรศรี นิมมานเหมินท์ พี่ชายของคุณย่าอุณณ์ ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมขันโตกดินเนอร์ขึ้นมา มากกว่านั้น ที่นี่ยังเป็นคอมมูนิตี้มอลล์รุ่นเดอะที่เปิดพื้นที่ให้ร้านค้ามาเช่า โดยเน้นขายสินค้าของฝากจากภูมิปัญญาให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก

ไฮไลต์คือหมู่บ้านชนเผ่าและการแสดงประจำชุมชน คล้ายเป็นการจำลองวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อตั๋วเข้ามาดู และบางครั้งก็มีกิจกรรมพิเศษ เช่น การจัดงานปีใหม่ม้ง ปีใหม่อาข่า ซึ่งคุณย่าอุณณ์ได้แรงบันดาลใจจากการไปเยือน Polynesian Cultural Center ที่เกาะฮาวาย ซึ่งมีรูปแบบกิจกรรมคล้ายกัน

“แต่เรามาก่อนกาลไปนิดหนึ่ง ไอเดียนี้คนเชียงใหม่ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ จึงเกิดกระแสโจมตีว่า นี่คือสวนสัตว์มนุษย์ เมื่อมีกระแสโจมตีแรง คุณปู่คุณย่าจึงเลิกทำไป เลยเหลือแค่ขันโตกดินเนอร์อย่างเดียว”

ของดีประจำหัวเมืองเหนือ

อาจเรียกได้ว่ามาถูกเวลามาก เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เชียงใหม่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ และกิจกรรมขันโตกดินเนอร์ได้รับความนิยมสูง พื้นที่ห้องหับทั้งหมดจึงปรับให้เป็นห้องขันโตก ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น

เป็นที่เดียวที่ให้บริการขันโตกดินเนอร์ก็เหตุผลหนึ่ง อีกเหตุผล คือเมื่อราว 50 ปีก่อนเชียงใหม่แทบไม่มีสถานบันเทิงที่ให้บริการตอนกลางคืนเลย ทำให้นักท่องเที่ยวต้องมาที่นี่เท่านั้น

ที่ตั้งของ โอลด์ เชียงใหม่ ก็มีคุณูปการสำคัญต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ด้วยเพราะ (สมัยนั้นยังถือว่า) ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ การเดินทางมาจึงต้องใช้ยานพาหนะและมัคคุเทศก์นำเที่ยว บูสต์เศรษฐกิจเมืองให้เฟื่องฟูขึ้นไปอีก 

“ตอนนั้นไม่ได้มีคู่แข่งเลย แต่พอการท่องเที่ยวเชียงใหม่บูมขึ้นมา ทำให้มีหลายคนลงทุนทำธุรกิจขันโตกดินเนอร์ เกิดขันโตกที่นั่นที่นี่ขึ้นมา”

ประสบความสำเร็จแค่ไหน ขิมย้อนความให้ฟังว่าภาพที่เห็นคือทุกห้องกลายเป็นห้องขันโตก มี 7 – 8 ที่รับคนได้เป็นพัน ๆ คนต่อคืน ประกอบกับช่วงนั้นละครเรื่อง เจ้านาง และ เพลิงพระนาง ได้รับความนิยม ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจความเป็นล้านนาได้มากขึ้นไปอีก โอลด์ เชียงใหม่ จึงถูกใช้เป็นพื้นที่ถ่ายภาพ ถ่ายละคร มากไปกว่านั้นคือสถาบันฟูมฟักเด็กนาฏศิลป์ไปโดยปริยาย

เธอแอบกระซิบว่า อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ เคยเป็นช่างฟ้อนที่ โอลด์ เชียงใหม่ ก่อนจะไปประกวดนางสาวไทยด้วยล่ะ

คล้ายเดิม แต่ไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว

จาก พ.ศ. 2514 โอลด์ เชียงใหม่ ดำเนินธุรกิจมาอย่างแข็งแรงกว่า 15 ปี แล้ว คุณพ่อจุมพล ชุติมา และ คุณแม่รศนา ชุติมา ก็เข้ามารับไม้ต่อใน พ.ศ. 2530 

เพราะเคยได้รับความนิยมมาก อีกทั้งไม่ได้เรียนด้านการท่องเที่ยวมา ความกดดันจึงกลายเป็นน้ำหนักบนบ่าของทั้งสอง แต่ด้วยความอินเรื่องประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนาเป็นทุนเดิม คุณพ่อจุมพลและคุณแม่รศนาจึงมุ่งมั่นหาความรู้และเซตระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ธุรกิจไปได้ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่การเสิร์ฟไปจนถึงการแสดง

จากการแสดงที่เป็นการฟ้อนรำธรรมดาก็มีการสอดแทรกเรื่องราวและใช้ท่าฟ้อนรำดั้งเดิม ซึ่งถ่ายทอดโดยครูฝึกจากคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงจากราชวงศ์ทิพย์จักรผู้มีบทบาทสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ขิมและ วรพรรธน์ ชุติมา ผู้เป็นพี่ชายก็วิ่งเล่นเตาะแตะอยู่ใน โอลด์ เชียงใหม่ หยอกล้อกับช่างฟ้อนและเด็กชนเผ่าเป็นประจำทุกวัน ทายาทรุ่นสามในตอนนั้นมองว่าที่นี่เป็นสนามเด็กขนาดใหญ่ ไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจที่ต้องมารับช่วงต่อเลย

“พอโตมาจนถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่าต้องมาทำต่อแล้ว ถ้าคุณพ่อทำคนเดียวไม่น่าจะไหว ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องการเงินที่สะสมมานานด้วย ทำให้เรากับพี่ชายต้องกลับมาช่วยเคลียร์ ซึ่งพี่ชายเขาก็จะเป็นสายการเงินมากกว่า ไม่ได้ลงลึกเรื่องวัฒนธรรมเท่าเรา” 

ปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทเรื่องการจัดการศิลปวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเน้นวัฒนธรรมล้านนาเพื่อมารับช่วงต่อธุรกิจนี้โดยเฉพาะ คือความ ‘ลงลึก’ ที่เธอว่า

อย่างไรก็ดี หญิงสาวออกปากว่าเธอไม่ได้เป็นสายอนุรักษนิยมสุดโต่ง และไม่ได้ชอบความโมเดิร์นจนอยากโละของเก่าทิ้งไปเสียหมด 

“เราอยากอยู่ตรงกลาง คล้ายผู้สังเกตการณ์ระหว่างช่วงเวลา เพราะตั้งแต่เด็กเรามีโอกาสได้เห็นยุคเปลี่ยนผ่านของเชียงใหม่ก่อนที่เมืองจะเปลี่ยนแปลงไป ยังเคยนั่งสามล้อไปตลาดประตูเชียงใหม่เพื่อใส่บาตร เคยเห็นภาพหมอกที่ลงบนถนน หรืออาคารไม้เก่าที่เป็นคุ้มเจ้า เรามีโอกาสเห็นภาพเหล่านี้ 

“ในขณะเดียวกัน เราคิดว่าเราหยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก การรักษาวัฒนธรรมไว้แบบเดิมมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว สำหรับเรา วัฒนธรรมพัฒนาแบบขดสปริงน่ะ มันคล้ายเดิมได้ แต่จะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว แต่เราจะทำยังไงให้แก่นของวัฒนธรรมส่งต่อไปให้คนรุ่นต่อไปได้สัมผัสสิ่งที่เราเคยเจอ” เธอย้ำ

“การรักษาวัฒนธรรมสำคัญกับเรา ในแง่ที่ว่าวัฒนธรรมเป็นต้นทุนของธุรกิจครอบครัวด้วย โจทย์คือจะทำยังไงในการรักษาคุณภาพของต้นทุนนี้ไว้ได้อยู่ และเป็นต้นทุนที่ในอนาคตก็ยังขายได้” 

ภารกิจส่งต่อวัฒนธรรม

ในรุ่นของเธอกับพี่ชาย เธอออกปากว่าโจทย์ยากที่สุดที่ต้องเจอคือ ‘การหาตัวตน’

“ช่วง พ.ศ. 2552 ที่ต้องมารับช่วงต่อ มีธุรกิจขันโตกเกิดขึ้นหลายที่ ซึ่งบางที่ได้รับความนิยมสูงมาก ทั้ง ๆ ที่เขามาทีหลังเรา อาจเพราะเขามีแผนการตลาดที่ดีกว่า เชียงใหม่ในยุคนั้นกลายเป็น Red Ocean หลายคนแข่งขันด้วยการตัดราคาและกดต้นทุนให้ต่ำ เพิ่มส่วนแบ่งให้กับบริษัททัวร์ให้ได้มากที่สุด”

แต่ถึงที่สุดแล้ว ขิมก็ค้นพบว่าตัวตนที่เธอมองหาคือดีเอ็นเอของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ที่อยู่มาแล้วเนิ่นนาน นั่นคือความจริงใจในการให้บริการและการสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมล้านนาให้นักท่องเที่ยวได้รู้

“เราไม่ได้ตั้งเรื่องรายได้เป็นปัจจัยหลัก เราทำธุรกิจเราก็อยากได้รายได้แหละ แต่มากกว่านั้น เราจะโฟกัสคุณภาพสินค้าและบริการที่ลูกค้าได้รับ เพราะสำหรับคนบางคน เขามาเที่ยวที่นี่แค่ครั้งเดียวในชีวิต เป็นครั้งเดียวที่เขาจะได้เข้าใจว่าวัฒนธรรมเชียงใหม่เป็นแบบไหน เช่นเรื่องการแสดง สถานที่บริการขันโตกอื่นเขาอาจไม่ได้จริงจังเรื่องนี้ แต่เราจัดเต็มไปกับการใช้คน ท่ารำ และการเล่าเรื่องราว”

“เราพยายามรักษาคุณภาพเหล่านี้ ทำให้บางครั้งเรากดต้นทุนให้ต่ำไม่ได้เท่ากับคู่แข่ง แน่นอนว่าสิ่งที่เราให้กับบริษัททัวร์ทั้งหลายอาจเท่ากับคนอื่นไม่ได้ แต่ก็มีบริษัททัวร์หลายแห่งที่รักเราและเชื่อว่าลูกค้าควรจะได้รับสิ่งที่เรานำเสนอ”

ผูกสัมพันธ์กับคนเชียงใหม่ + รุ่นใหม่

พอขึ้นชื่อว่าเป็นของเก่า คนรุ่นใหม่หลายคนอาจเบือนหน้าหนี

นั่นคือความท้าทายอีกข้อที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่แห่งนี้ต้องเจอ 

“น้อยคนจะรู้ว่า โอลด์ เชียงใหม่ ทำอะไร บางคนไม่รู้เลยว่าอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดโจทย์ตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่ แนวโน้มในอนาคตจะไปในทิศทางไหน”

ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ภายใต้การดูแลของเธอและพี่ชายจึงพยายามให้น้ำหนักกับการ R&D ธุรกิจมากขึ้น ความแตกต่างจากรุ่นปู่ย่าและพ่อแม่ คือพวกเขาไม่ได้โฟกัสกับบริการขันโตกเป็นหลักอีกแล้ว ทว่าขยับขยายบริการมาสู่การเพิ่มพื้นที่ให้เช่าสำหรับงานแต่งงาน คอนเสิร์ต และอีเวนต์อื่น ๆ มากกว่านั้นคือแตกไลน์ธุรกิจออกมาเป็นร้านอาหาร ‘เอื้องคำสาย’ ซึ่งเป็นร้านอาหารเหนือที่หาทานได้ยาก 

ไม่เพียงเท่านั้น โอลด์ เชียงใหม่ ในวันนี้ยังอยากผูกสัมพันธ์กับคนในชุมชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม

“เราพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้คนทั่วไปและคนรุ่นใหม่รู้จักเรา แต่เราก็ต้องไปทำความรู้จักกับเขาก่อนไหม ต้องเริ่มจากการไปแนะนำตัวกับโลกภายนอกและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น ถ้าเราทำธุรกิจขันโตกอย่างเดียว ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับคนข้างนอก วันหนึ่งธุรกิจขันโตกก็ต้องตายไป แล้วกลายเป็นเราจะไม่รู้จักใครเลย เราอาจจะเหนื่อย” เธอยิ้ม

การจัดงานอีเวนต์อย่างเกษียณมาร์เก็ตก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพยายามดึงคนในชุมชนรอบ ๆ มามีส่วนร่วมด้วยกัน หรือบางครั้งบางคราว โอลด์ เชียงใหม่ ก็จัดอีเวนต์พิเศษ เช่น ชวนพี่น้องชาติพันธุ์เผ่าลีซูมาจัดงานปีใหม่ลีซูขึ้นมา นั่นเพราะพวกเขานำเสนอเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ อาหาร และประเพณี 

ตอบแทนเมืองที่รักและเติบโต

เมื่อเราถามถึงการทำงานร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว ขิมบอกว่าเธอกับพี่ชายโฟกัสงานคนละอย่าง พี่ชายดูแลเรื่องการเงิน “ส่วนเราคนเขียนโครงการไปขอทุนเขา” หญิงสาวหัวเราะ ส่วนคุณพ่อท่านให้คำปรึกษาบ้าง และดูว่ามาตรฐานที่เซตไว้เป็นยังไงมากกว่า” 

แน่นอนว่ามาตรฐานนั้นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการที่พวกเขาอยากส่งต่อให้ลูกค้า แต่มากกว่านั้น คุณค่าที่ขิมมองว่าควรเป็นมาตรฐานของธุรกิจ คือการรับผิดชอบต่อสังคม

“ไม่เพียงแต่เอาสิ่งที่ดีมาให้ลูกค้า แต่เราต้องเคารพต่อชุมชนที่นำวัฒนธรรมของเขามาเผยแพร่ด้วย ยกตัวอย่าง ร้านเอื้องคำสาย เราพยายามใช้ผักออร์แกนิกจากเกษตรกรในพื้นที่ และใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่อยู่ในรัศมีไม่ไกล มีการใช้รถไบโอดีเซลในการขนส่ง เพราะเราอยากช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด้วย 

“เพราะเราโตที่เชียงใหม่ และอย่างน้อยนี่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เราโตมา เราอยากทำให้คนทำธุรกิจเห็นว่าเราจริงจังกับมันได้” ทายาทรุ่นสามย้ำเสียงหนักแน่น

หมุดหมายใหม่ของ โอลด์ เชียงใหม่

อีเวนต์เกี่ยวกับอาหารอย่างเกษียณมาร์เก็ต เทศกาลดนตรี Chiang Mai Street Jazz Festival ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ และแน่นอนว่า Chaing Mai Food Festival ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้

“ในบรรดาสินค้าภูมิปัญญาทั้งหมด เราสนใจเรื่องอาหารมากที่สุด อย่างบ้านเราเองมีสูตรอาหารโบราณที่เรียกว่า สูตรบ้านตึก ไหนจะขันโตกดินเนอร์ ตัวตนของเราผูกกับอาหารมานานอยู่แล้ว” หญิงสาวเล่าเบื้องหลัง

“อาหารเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน นอกจากรสชาติ อาหารยังเล่าเรื่องความคิด ความเชื่อ ศาสนา หรือแม้แต่สภาพภูมิศาสตร์ได้ หรืออาหารเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น เช่น งานคราฟต์ก็ได้เหมือนกัน”

เธอยกตัวอย่างว่า ในงาน Chiang Mai Food Festival ที่จะถึงนี้ มีชาวบ้านจากชุมชนตำบลเหมืองกุงที่จะมาขายงานปั้นจานอาหาร รวมถึงสตูดิโอต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งหยิบยกไปใช้ในกิจกรรม Chef’s Table ของศูนย์วัฒนธรรมฯ

ขิมยังสปอยล์ให้ฟังว่า ในงานนี้ไม่ใช่แค่เทศกาลอาหารที่รวมบูทอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายชาติพันธุ์ไว้ ยังมีทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลอาหาร ทั้งเวิร์กช็อป การนำเสนอนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเวทีเสวนาโดยนักคิดนักเขียนดัง ทั้ง ธเนศวร์ เจริญเมือง และ กฤช เหลือลมัย

“เราอยากให้คนที่มาเที่ยวงานเราได้คิดต่อว่ามันมีอาหารแบบนี้ต่อ ไม่ใช่แค่มากินแล้วก็จบ” นั่นคือปณิธานที่เธอตั้งไว้ 

“ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้งานนี้กลายเป็นเทศกาลประจำเชียงใหม่ที่สร้างมูลค่าให้กับเชียงใหม่ได้เรื่อย ๆ อยากยกระดับให้เป็นเทศกาลสเกลอินเตอร์ ให้คนต่างถิ่นอยากมาเที่ยวงานนี้ และคนเชียงใหม่อยากมาขายของตัวเอง มากกว่านั้น เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมเชียงใหม่ผ่านอาหาร เครื่องดื่ม และดนตรี ในอนาคตอาจไม่ได้จัดแค่ในพื้นที่ของเรา อาจไปจัดจุดอื่นก็ได้ เราแค่เป็นคนเริ่มต้นให้เท่านั้น”

ส่วนอนาคตของศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เธอยังยืนยันคำเดิมว่า ‘รักษา สืบทอด ต่อยอด เผยแพร่วัฒนธรรมล้านนา’ และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สนใจวัฒนธรรมมากขึ้น

“การได้มารับช่วงต่อศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่มีความหมายกับเราในแง่ที่ว่า เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รักษาวัฒนธรรม เป็นแหล่งวัฒนธรรมให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นและสัมผัส และถ้าหากเขาอยากส่งต่อหรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับเขาแล้ว” หญิงสาวระบายยิ้ม

คำแนะนำจากทายาทที่จะรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว
จากทายาทรุ่นสาม โอลด์ เชียงใหม่

“3 คำที่จะให้คือ รัก ซึม ลึก ไม่ใช่ชื่อหนังนะ (หัวเราะ) แต่หมายความว่า เวลาเราจะทำอะไร ต้องเกิดจากความรักก่อน ถ้าเราไม่มีความรักกับมัน เราจะทุ่มเทให้กับมันไม่ได้ หลังจากรักแล้ว เราจะค่อย ๆ ซึมซับสิ่งที่ทำ และเข้าใจมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ทำให้เราคิดทิศทางในอนาคตได้ ส่วน ลึก คือการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจว่าธุรกิจนี้เกิดขึ้นเพื่ออะไร มีที่มาที่ไปยังไง บริบทของมันคืออะไร ยิ่งเรารู้ลึกมากเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะเกิดไอเดียต่อยอดก็จะมากขึ้นตาม”

Facebook : Old Chiangmai – โอลด์ เชียงใหม่ 

Website : oldchiangmai.com

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย