เราเริ่มต้นบทสนทนากับ กฤช เหลือลมัย ในบ่ายวันหนึ่ง ด้วยการชวนเขาย้อนคิดถึงรสชาติอาหารบ้านเกิด ณ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ก่อนนักเขียนสารคดีสายอาหารมือวางอันดับต้น ๆ ของไทย จะไล่เรียงให้เห็นภาพ ‘พลวัตของรสชาติ’ ที่เขาพยายามสื่อสารผ่านตัวอักษรมานานนับสิบปี ด้วยการเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ที่มีแบกกราวนด์เป็นจังหวัดราชบุรี พื้นที่ที่เขาบอกว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะทักษะและประสบการณ์ ซึ่งขยายกลายเป็นมุมมองที่มีต่ออาหารจนถึงทุกวันนี้

ด้วยราชบุรีนั้นอุดมไปด้วยความหลากหลาย ในระดับที่มีอย่างน้อย 8 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน มากกว่านั้น ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ยังฟูมฟักให้เกิดวัตถุดิบเฉพาะถิ่นนานาชนิด และยังไม่นับรสมือของพ่อครัวแม่ครัวแต่ละบ้านที่อาจทำให้เกิดตำรับประจำครอบครัว ซึ่งต้องเรียกว่า ‘อาหารราชบุรี’ เช่นเดียวกัน

“รสชาติอาหารไม่เคยเป็นเรื่องตายตัว ถ้าคนยังเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่ รสชาติอาหารก็เปลี่ยนแปลงตลอดเช่นกัน อย่างพริกกะเหรี่ยงที่เรารู้จักว่าเป็นพริกเมล็ดป้อมทุกวันนี้ ในอดีตก็ไม่ใช่พริกพันธุ์นี้ ชุมชนกะเหรี่ยงในราชบุรีแต่เดิมปลูกพริกเมล็ดยาวรี แต่พอมีคนเอาพริกเมล็ดสั้นป้อมเข้าไปปลูกจนแพร่หลาย ต่อมาสังคมก็เรียกพริกแบบนี้ว่าพริกกะเหรี่ยง นี่คือตัวอย่างที่บอกว่าเรื่องอาหารมันไม่มีอะไรตายตัว”

ฉะนั้น เพียงคำถามสั้น ๆ อย่างอาหารแบบราชบุรีเป็นอย่างไร

หากถาม กฤช เหลือลมัย เขาอาจใช้เวลาตอบมากกว่าที่คิด

กฤช เหลือลมัย นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และวงการอาหารไทยควร ‘ซ้าย’ กว่านี้

ถ้าใครติดตามงานเขียนเรื่องอาหารของเขาผ่านคอลัมน์ ทั้งในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, มติชน และ เทคโนโลยีชาวบ้าน รวมถึงผลงานรวมเล่มอ่านสนุก อย่าง ต้นสาย ปลายจวัก, โอชากาเล, อร่อยริมรั้ว ๑๐๐ สูตร ต้ม ยำ ทำ แกง และอีกหลายชิ้น คงทราบว่าเอกลักษณ์จากปลายปากกาของเขาอยู่ที่ ‘ความจริง’ ทั้งการใช้ภาษาจริงใจและใช้ข้อเท็จจริงมาปรุงใส่ประสบการณ์ จนกลายเป็นงานเขียนรสชาติกลมกล่อม ซึ่งมีต้นทางมาจากห้องครัวเมืองราชบุรี

“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่ครัวประจำบ้าน” เขายิ้ม

“แม่กับย่าทำอาหารกินเอง เป็นอาหารง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ใช้วัตถุดิบที่หาได้ละแวกนั้น แต่เป็นรสมือเฉพาะของแต่ละคน อาจจะเพราะแบบนี้ เลยทำให้ผมเป็นคนกล้าลอง ชอบลอง เพราะแม่กับย่าสอนให้กินของหลากหลายมาตั้งแต่เด็ก และครูพักลักจำทักษะการทำอาหารมาด้วย

“ประกอบกับอีกหลายอย่าง ทำให้มุมอาหารที่เราสนใจเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์และศิลปะ เชื่อมโยงกับมิติสังคมและมานุษยวิทยา เพราะจริง ๆ แล้ว พื้นที่ราชบุรีมีลักษณะเป็นเมืองโบราณ อย่างจอมบึง มีการขุดค้นพบว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นไซต์งานทางโบราณคดี ครั้งหนึ่งตอนเป็นเด็ก ผมเคยบังเอิญขุดเจอขวานหินยุคโบราณด้วยนะ (หัวเราะ) แล้วพ่อกับแม่เป็นครู โดยเฉพาะพ่อเป็นครูสอนศิลปะ ที่บ้านเลยมีของเก่า ของโบราณ สะสมไว้เห็นตลอด สิ่งแวดล้อมเหล่านี้สร้างความประทับใจ ทำให้เราสนใจศึกษาหาความรู้ทางนี้ต่อมา”

เมื่อถึงคราวต้องเรียนต่อ กฤชจึงตัดสินใจไม่ยากที่จะเลือกสอบเข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สถานที่อีกแห่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นเขาในวันนี้ จากเด็กชายผู้คุ้นกับอาหารรสมือแม่และย่า เมื่อเข้ามาอยู่หอพักในเมืองกรุง จึงจำต้องระลึกนึกถึงสูตรที่ลักจำมาจากในครัว และเริ่มลงมือปรุงอาหารกินเองเป็นครั้งแรก ๆ ในชีวิต

“ก่อนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ความสนใจผมก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป อาจไม่เกี่ยวข้องกับอาหารขนาดนั้น แต่พอหาอาหารรสมือแบบที่ชอบกินไม่ได้เลยต้องทำกินเอง พวกของง่าย ๆ อย่างกะเพราหรือแกงส้มนั่นแหละ แต่พอได้เริ่มทำอาหารแล้ว มันก็รู้จักที่จะลองนั่นลองนี่เรื่อย ๆ”

กฤช เหลือลมัย นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และวงการอาหารไทยควร ‘ซ้าย’ กว่านี้

เซนส์นักทดลองที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ในวันที่เขาก้าวเท้าออกเดินทางในฐานะนักโบราณคดี ‘ตลาดสด’ จึงกลายมาเป็นห้องเรียนวิชาอาหารที่นำเสนอบทเรียนอันเข้มข้น ช่วยเปิดประสบการณ์ทั้งเรื่องรสชาติและเบื้องหลังวัตถุดิบนานาชนิดให้เขาอย่างเต็มที่

“หลังเรียนจบ ผมทำงานเป็นนักโบราณคดีที่กรมศิลปากรอยู่ 1 ปี ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย เลยมีโอกาสเดินสำรวจตลาดแถบชนบทเยอะ ซึ่งตลาดทำให้เราได้เห็นความหลากหลายของวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ยิ่งทำให้ความสนใจเรื่องอาหารเอนเอียงมาทางมิติเหล่านี้มากขึ้น”

จากนั้นกฤชตัดสินใจรับบทบาทใหม่ในฐานะคนทำนิตยสาร อยู่ในกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ นานร่วม 20 ปี แม้งานเขียนในระยะนี้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารมากนัก ทว่าความสนใจเรื่องอาหารของชายคนนี้ก็ไม่เคยหายไปไหน ข้อมูลสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับอาหาร ที่ได้จากการทำงานในฐานะคนทำสื่อถูกเก็บสะสมไว้อย่างเงียบเชียบ วันหนึ่งเมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ‘กฤช เหลือลมัย’ จึงกลายเป็นนามปากกาของนักเขียนสารคดีอาหาร ผู้มีเอกลักษณ์ในผลงานชนิดหาตัวจับยากแห่งยุค

(1)

อาจเพราะงานเขียนของกฤชยืนอยู่บนหลักการอย่างนักโบราณคดี นำเสนอเฉพาะสิ่งที่มีหลักฐาน พิสูจน์ได้ นอกจากหลักฐานก็เป็นสีสันและประสบการณ์ที่เติมลงไปให้งานเขียนมีชีวิตชีวา อันเป็นแนวทางการทำงานแบบที่เขาเชื่อว่า จะช่วยเปิดประตูบานใหม่ให้วงการนักเขียนสายอาหารในเมืองไทยได้

“หลังตัดสินใจลาออกจากงานประจำ งานเขียนเรื่องอาหารได้กลายมาเป็นงานหลัก แต่พอจะเริ่มเขียนงานสายนี้ ต้องกลับมาคิดว่าจะเขียนอย่างไรให้เป็นตัวเรา เพราะนักเขียนสายอาหารในไทยมีหลายแนว อย่างในอดีต นิยมเขียนอ้างอิงจากความรู้สึก ความทรงจำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่พอผมเคยทำงานด้านโบราณคดี มีหลักการว่าจะพูดเฉพาะสิ่งที่มีหลักฐานเท่านั้น สุดท้ายงานเขียนของผมเลยมาอีกทางหนึ่ง คือเอาหลักฐานเป็นตัวตั้ง แล้วค้นต่อไปว่ามันเชื่อมโยงกับมิติอะไรอีกบ้าง”

เขาบอกกับเราเต็มเสียงว่า แนวทางการทำงานรูปแบบนี้มักทำให้ได้พบกับข้อมูลใหม่ ซึ่งบางครั้งเป็นข้อมูลที่ผิดจากความรู้-ความเชื่อชุดเดิมของสังคมอย่างสิ้นเชิง

“มีหลายเรื่องที่กลับไปตรวจสอบแล้วถึงรู้ว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด เช่น เรื่อง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นคนคิดค้นผัดไทย เรื่องนี้ไม่เคยมีหลักฐานรองรับเลย หรืออย่างเรื่องข้าวผัดอเมริกัน ที่เล่ากันว่าเกิดจากคุณหญิงคนหนึ่งคิดค้นขึ้น เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์เหมือนกัน ข้อมูลผิด ๆ พวกนี้ทำให้เห็นช่องว่างของงานเขียนเรื่องอาหารในบ้านเราพอสมควร ยิ่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ หลายเรื่องขาดการตรวจสอบจริงจัง สุดท้ายก็กลายเป็นความเชื่อผิด ๆ ส่งต่อกันมา”

กฤช เหลือลมัย นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และวงการอาหารไทยควร ‘ซ้าย’ กว่านี้

กฤชขยายความต่อว่า นอกจากจะยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเป็นหลักการใหญ่ งานเขียนของเขายังมีอีกหนึ่งใจความสำคัญ คือการนำเสนอมุมมองว่า วัฒนธรรมและความรู้เรื่องอาหารเป็นประเด็นที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยเรื่องราวหลังครัวนั้นไม่เคยมีอะไรตายตัวมาตั้งแต่ต้น

และเมื่อพูดถึงมิติความรู้เรื่องอาหาร นักเขียนผู้มีตำราอาหารเก่าแก่มากมายรายล้อมอยู่ข้างกายก็ยืนยันว่า “ความรู้เรื่องอาหารของบ้านเรามีไม่น้อย แค่คนไม่รู้” และหนึ่งในเรื่องที่ทำให้เขาใจเต้นเมื่อได้รู้ คือข้อมูลจาก ตำรับสายเยาวภา (หนังสือรวมสูตรอาหารส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท, 2478) ที่แสดงให้เห็นว่า คนในอดีตรู้และเข้าใจการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเข้าขั้นชั้นครู

ตำรับสายเยาวภา คือหลักฐานว่าคนสมัยก่อนกินผักแบบรู้เยอะมาก จาระไนผักได้ชนิดว่าคนสมัยนี้เห็นคงอ้าปากค้าง ดอกทองกวาว ดอกแคแสด ฝักหางนกยูง ยังรู้วิธีเอามากิน คิดดูสิ ความรู้ว่าอะไรกินได้หรือไม่ได้มันมีอยู่แล้วแน่ ๆ บางช่วงอาจหายจากสังคมไปบ้างตามหลักธรรมชาติ แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายความรู้เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ที่ไหนสักแห่ง”

และด้วยมุมมองที่เปิดกว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ เราจึงมีโอกาสเห็น กฤช เหลือลมัย สร้างสมการรสชาติที่น่าสนใจขึ้นผ่านงานของเขาอยู่เสมอ และในหลายครั้ง การเกิดขึ้นของเมนูดั้งเดิมในท่าทีใหม่ ก็มีเป้าหมายที่ไกลกว่าความน่าตื่นตาตื่นใจบนโต๊ะอาหาร

“ด้วยความเป็นคนชอบลอง ผมมักจะตั้งโจทย์กับวัตถุดิบที่ได้เจอว่า เอาไปทำอะไรกินได้บ้าง บางครั้งก็เป็นเมนูง่าย ๆ แต่พอลองเปลี่ยนวัตถุดิบแล้วมันน่าสนใจขึ้น เช่น ครั้งหนึ่งเคยเอาลูกตำลึงดิบมาลองผัดใส่ไข่ เป็นแสร้งว่ามะระผัดไข่ (หัวเราะ) เพราะลูกตำลึงดิบติดรสขมนิด ๆ คล้ายมะระ พอเอามาผัดใส่ไข่เลยไปกันได้ ให้สัมผัสที่อร่อยไปอีกแบบ ซึ่งการจับคู่วัตถุดิบท้องถิ่นกับวิธีปรุงง่าย ๆ ทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นเป็นมิตรกับคนเมืองมากขึ้น ในความคิดผม การรู้หรือไม่รู้จักวัตถุดิบท้องถิ่น อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนเริ่มกินมัน แต่เขาต้องรู้ว่าจะกินอย่างไรด้วย”

กฤช เหลือลมัย นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และวงการอาหารไทยควร ‘ซ้าย’ กว่านี้
กฤช เหลือลมัย นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และวงการอาหารไทยควร ‘ซ้าย’ กว่านี้

เราชวนเขาคุยต่อถึงสถานการณ์ของระบบอาหารในปัจจุบัน ซึ่งผันผวนจากวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ภาวะอาหารขาดแคลนเกิดขึ้นทั่วโลก การตระหนักรู้เรื่องอาหาร (Food Literacy) จึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาของคนในแวดวงอาหารอย่างจริงจังมาสักระยะ และเช่นกัน เราจึงได้โอกาสถามกฤชถึงชุดความรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะสำหรับคนเมือง ว่านักเขียนสารคดีด้านอาหารผู้อินกับการหยิบใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาหลายสิบปี มองว่าความรู้เหล่านั้นจะเติบโตบนข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้อย่างไรกัน

เขานิ่งคิดก่อนย้ำว่า ‘วิธีการสำคัญไม่น้อยกว่าความรู้’ และเสริมว่านอกจากบอกเล่าวิธีใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอย่างเป็นมิตรและเข้าถึงคนส่วนใหญ่ การแนะนำแหล่งเรียนรู้เรื่องอาหารท้องถิ่นที่คนเมืองเข้าถึงได้ง่าย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่น่าสนใจ

“ในต่างประเทศ การเรียนรู้เรื่องอาหารเกิดขึ้นง่ายในพื้นที่สาธารณะ เพราะกฎหมายและบริบทของเมืองเขาเอื้อ เช่น Central Park ในสหรัฐอเมริกา มีกิจกรรมสนับสนุนให้คนนิวยอร์กเรียนรู้เรื่องพืชอาหารด้วยซ้ำไป แต่สำหรับเมืองไทย เราอาจต้องมองหาแหล่งเรียนรู้ลักษณะอื่น ๆ มาแทน อย่างคนกรุงเทพฯ ถ้าอยากรู้เรื่องผักพื้นบ้านหรืออาหารท้องถิ่น ตลาดสดเล็ก ๆ ตามหมู่บ้านหรือชุมชนคือห้องเรียนที่ดีมาก พ่อค้าแม่ค้าส่วนมากเป็นคนต่างจังหวัด ที่มาตั้งแผงขายอาหารให้กับแรงงานผลัดถิ่นในเมือง เราจึงเห็นความหลากหลายของอาหารในตลาดพวกนี้สูงมาก ที่สำคัญ ผมว่าพ่อค้าแม่ค้ายินดีตอบคำถามนะ และเขารู้วิธีกินอย่างดีด้วย”

นอกจากนั้น กฤชคิดว่าในมุมมองของสังคม ควรร่วมกันสร้าง ‘เซนส์ของความไม่ยอมจำนน’ ให้แข็งแรง ความไม่ยอมจำนนในที่นี้หมายถึงการไม่อ่อนข้อต่อทางเลือกในการกิน ที่ระบบทุนนิยมจำกัดไว้ไม่กี่ชนิด ซึ่งลดความหลากหลายของอาหารลงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่ารุ่มรวยวัตถุดิบไม่แพ้ใครในโลก

สนทนากับ ‘กฤช เหลือลมัย’ นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และยืนยันว่าวงการอาหารไทยควรเป็นฝ่ายซ้ายมากกว่านี้

(2)

นอกจากผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาสังคมยังคุ้นเคยกับความเห็นของ กฤช เหลือลมัย ที่มีต่อข้อถกเถียงเรื่องอาหารซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และหลาย ๆ ครั้ง ความคิดเห็นของเขาก็ขับเคลื่อนบทสนทนาของสังคมไม่น้อย หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นเรื่องความแท้หรือไม่แท้ของอาหาร อาทิ อาหารไทยแท้มีจริงไหม เรื่อยไปถึงเรื่องผัดกะเพราต้นตำรับใส่ถั่วฝักยาวได้หรือไม่ ซึ่งทุกครั้งเขามักตอบชัดว่า จะแท้หรือไม่นั้นไม่สำคัญ เพราะนั่นไม่ใช่มาตรวัดความดีงามของอาหารแต่อย่างใด และเราทั้งหลายควรลดดีกรีความอนุรักษ์นิยมเรื่องอาหารลงบ้าง อย่างที่เขาย้ำกับเราว่า ‘วงการอาหารไทยควรเป็นฝ่ายซ้ายให้มากกว่านี้’ ฝ่ายซ้ายซึ่งอ้างอิงถึงทัศนคติที่พร้อมตั้งคำถามกับค่านิยมหรือระบบคุณค่าที่ครอบสังคมไว้ และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา

“ผมว่าอาหารน่าจะเป็นเรื่องที่อนุรักษ์นิยมที่สุดในบรรดาปัจจัย 4 (หัวเราะ) เสื้อผ้า บ้าน ยารักษาโรค เราก็ใช้แบบฝรั่งกันได้ แต่ไม่รู้ทำไมพอเป็นอาหารถึงยังมีประเด็นอนุรักษ์นิยมจุก ๆ จิก ๆ ให้ถกเถียง อย่างเรื่องอาหารไทยแท้เป็นแบบไหน สัจธรรมคือไม่มีอาหารอะไรที่แท้ขนาดนั้นหรอกครับ แม้แต่ต้มยำ ไทย ลาว เขมร ก็มีเหมือนกันหมด ซึ่งผมว่าเซนส์ความเป็นอนุรักษ์นิยมเหล่านี้เป็นผลจากบริบทสังคมด้วย เพราะถ้าเทียบกับ 100 ปีก่อน วงการอาหารไทยสมัยนั้นมีมุมมองเปิดกว้างกว่าทุกวันนี้ด้วยซ้ำไป อาจเพราะช่วงนั้นไทยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างชาติเยอะ พ่อครัวแม่ครัวกำลังตื่นเต้นกับวัตถุดิบและวิธีการปรุงใหม่ ๆ ที่นำเข้ามา”

สนทนากับ ‘กฤช เหลือลมัย’ นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และยืนยันว่าวงการอาหารไทยควรเป็นฝ่ายซ้ายมากกว่านี้

นาทีถัดมา เขาจึงยกตัวอย่างความทันสมัยที่ปรากฏในตำราอาหารเล่มคลาสสิกอย่าง ‘แม่ครัวหัวป่าก์’ มาไล่เรียงให้เราเห็นภาพกว้าง ๆ ของยุคสมัยนั้นมากขึ้น “ใครเคยอ่านตำรา แม่ครัวหัวป่าก์ จะรู้ว่า ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (ผู้แต่ง) เป็นคนหัวก้าวหน้ามาก เช่น การอธิบายขั้นตอนการปรุงว่า ‘แล้วแต่คนชอบ’ ไม่มีการบังคับว่าต้องใส่นั่นใส่นี่ ที่ร้ายไปกว่านั้น มีอยู่ตอนหนึ่งท่านพูดถึงเส้นพาสต้าไว้ว่า อร่อยและไม่เสาะท้อง ไม่เหมือนเส้นขนมจีนหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวที่กินแล้วบางครั้งท้องเสีย ฉะนั้น อยากให้กินพาสต้ากันให้ทั่วเลย (หัวเราะ) ซึ่งเราจะไม่พบมุมมองแบบนี้ในปัจจุบันเท่าไหร่”

กฤชให้เหตุผลว่า ความหวงแหนอัตลักษณ์แบบสุดโต่ง อาจมีต้นทางมาจากความรู้สึกชาตินิยมล้นเกิน บ่มเพาะขึ้นจากบรรยากาศของสังคมที่ต้องการสร้างความเป็นหนึ่ง จนละเลยความลื่นไหลของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

“อะไรที่ดูไม่ไทย ก็ต้องพยายามรีดเค้นให้เป็นไทยให้จงได้ เรื่องแบบนี้อาจเกิดจากบรรยากาศของการควบคุมในสังคมที่เราอาศัยอยู่ ผมว่ามุมมองแบบนี้ปิดกั้นโอกาสที่จะทำให้อาหารเติบโต เพราะพอใครจะลุกขึ้นมาทำอะไรแปลก ๆ ก็จะโดนมองว่าเขาไม่ทำกัน อย่างการเอาสาเกทั้งลูกไปเผาจนดำเป็นตอตะโกแบบที่ฝรั่งทำในยูทูบ จริง ๆ มีบันทึกระบุว่า คนไทยเมื่อ 100 ปีก่อนก็ทำสาเกกินกันแบบนี้ นอกจากเอาไปแกงบวด เขาก็จะเอาสาเกไปเผาจนไหม้ เนื้อจะออกมาเป็นแป้งนุ่มละมุนเลย ที่จะบอกก็คือ วิธีปรุงอาหารบนโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องใหม่ องค์ความรู้มันวนกลับไปกลับมาอยู่เสมอ”

อุปนิสัยอย่างนักทดลอง รวมกับทักษะนักเขียนและนักโบราณคดี ทำให้เราสนใจว่าหลังจากนี้ กฤช เหลือลมัย จะเดินทางไปสู่จุดไหนในเส้นทางสายอาหาร โดยเฉพาะเมื่อเขาบอกว่า หลังจากนี้จะเริ่มต้นออกเดินทางไกลอีกครั้ง เนื่องจากเขากำลังย้ายจากเมืองใหญ่ไปพำนักในต่างจังหวัดถาวร

สนทนากับ ‘กฤช เหลือลมัย’ นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และยืนยันว่าวงการอาหารไทยควรเป็นฝ่ายซ้ายมากกว่านี้

“งานเขียนก็คงยังทำอยู่ ส่วนการค้นคว้าทดลองเรื่องอาหารก็คงทำเหมือนเดิม เป็นนิสัยไปแล้ว และช่วงหลังมีคนถามว่าสนใจจะทำอาหารให้คนอื่นกินบ้างไหม การทำงานมิตินี้ก็น่าสนใจ แต่พูดถึงการทำอาหารให้คนอื่นกินมันยาก เพราะเราไม่รู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร ทำอาหารมันเหมือนสนทนากับคน มีจุดให้กังวลว่าที่เราพูดจะถูกใจเขาไหม รสชาติเป็นตัวเรามากไปหรือเปล่า ขณะเดียวกันบทสนทนาระหว่างมนุษย์ก็คือการแลกเปลี่ยน การทำอาหารให้คนอื่นกินก็คงคล้าย ๆ กัน ต่อให้เรารู้ว่าเขาชอบแบบนี้ แต่คงอดไม่ได้ที่จะทำรสชาติแปลกลิ้นให้เขาลองกินดูบ้าง ลองยั่วดูว่าคู่สนทนาจะมีปฏิกิริยายังไง อาจไม่ชอบ เบื่อไปเลย หรือเขาอาจเก็บเอาไปคิดต่อก็เป็นไปได้”

เขาเล่าถึงรสชาติล่าสุดที่ค้นพบ ซึ่งอาจกลายมาเป็นเมนูเชื่อมบทสนทนาระหว่างนักปรุงกับคนกินในอนาคตอันใกล้ให้เราฟังพร้อมรอยยิ้ม

“เร็ว ๆ นี้ผมเพิ่งลองเอาดอกแคนามาทำอาหารแบบใหม่ ดอกไม้สีขาว ๆ ที่เขาชอบปลูกประดับในเมืองกันนั่นแหละ ปกติคนอีสานจะเอาไปลวกกินกับป่น (น้ำพริกแบบอีสาน) แต่ไปเจอว่าทางเหนือเขาเอาไปทำอะไรซับซ้อนกว่านั้น คือเอาดอกแคนาไปลวก แล้วคลุกกับพริกตำ ข่าซอย กระเทียมเจียว อร่อยมาก (ลากเสียง) และเพิ่งได้ลองกินอีกอย่าง คือดอกเพกา ปกติเห็นคนกินแต่ฝัก ไม่ค่อยเห็นเอาดอกมากินเท่าไหร่ ผมเลยลองเอาดอกเพกามาลอกเกสรทิ้ง แล้วเอาไปลวก ออกมาเหมือนเห็ดเนื้อหนา ๆ ติดขมนิด ๆ คือถ้าธรรมชาติเป็นคนชอบลอง มันก็คงจะค้นเจอรสชาติอะไรทำนองนี้เรื่อยไปนั่นแหละ” เขาทิ้งท้ายคล้ายให้เรารอติดตาม

สนทนากับ ‘กฤช เหลือลมัย’ นักเขียนผู้มองอาหารอย่างนักโบราณคดี และยืนยันว่าวงการอาหารไทยควรเป็นฝ่ายซ้ายมากกว่านี้

บทสนทนาของเราทั้งคู่เดินทางมาถึงจังหวะสุดท้าย นักเขียนและพ่อครัวตรงหน้าบอกกับเราว่า จากนี้ฉากหลังของชีวิตเขาคงเปลี่ยนไป เมื่อตัดสินใจย้ายจากเมืองใหญ่สู่ท้องไร่ในชนบท แน่นอนว่า ‘คนมักมากในรส’ ตามนิยามที่เขาตั้งให้ตัวเอง ย่อมยังคงมีแววตาที่มองอาหารไม่ต่างไปจากเดิม เพิ่มเติมคือเราอาจได้เห็น กฤช เหลือลมัย ในบทบาทอื่น ๆ ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางรสชาติใหม่ ๆ ภายใต้ใจความอย่างนักโบราณคดี

Writer

อรุณวตรี รัตนธารี

อรุณวตรี รัตนธารี

นักสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ผ่านอาหาร ผู้อยากเห็นระบบอาหารของไทยใส่ใจคนทุกกลุ่ม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ