หนึ่งในซีรีส์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนโซเชียลมีเดียทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในช่วงนี้ที่ซีรีส์เพิ่งจะจบไปหมาด ๆ แต่เห็นเต็มหน้าฟีดตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มออนแอร์อีพีแรกจนถึงอีพีสุดท้าย คือ Shōgun ของช่อง FX มินิซีรีส์ 10 อีพีที่ดัดแปลงจากนิยายอิงประวัติศาสตร์และบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในญี่ปุ่นยุคเซ็นโงคุช่วงปลาย หรือช่วงก่อนเข้าสู่สมัยเอโดะ

เรื่องราวของ Shōgun เกี่ยวกับการมาของ จอห์น แบล็คธอร์น นักเดินทางชาวอังกฤษที่ตามหาเกาะญี่ปุ่นเพื่อทำการค้าและกอบโกยเงิน แต่ต้องมาติดแหง็กอยู่ที่นี่ และกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวแปร ศูนย์กลางเรื่องราว ตัวแทนคนดู กับผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดในเกมหักเหลี่ยมระหว่างอุปราช 4 คนกับ โยชิอิ โทรานางะ หลังจากญี่ปุ่นสิ้นผู้ปกครองหรือไทโก

ทันทีที่มีการประกาศว่า ‘Shōgun is coming’ และมีภาพนิ่งกับตัวอย่างให้ได้เห็นหน้าค่าตากัน สำหรับซีรีส์ที่ได้ฉายาว่า ‘The Next Game of Thrones’ เรื่องนี้ ใครล่ะจะไม่สนใจ 

ฮิโรยูกิ ซานาดะ AKA ชิเหน๋ AKA ฌอน บีน เอเชีย แสดงนำ (ตัวละครนี้ยังชวนให้นึกถึง เน็ด สตาร์ค ก่อนทั้งหัวและชะตาจะขาดด้วยเช่นกัน) ยุคโชกุน ซามูไร ฉากโหดที่ถึงพริกถึงขิง วัฒนธรรมเจแปนที่มีความละเมียดละไม ศักดิ์ศรี ความเข้มข้น และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไหนจะคำสัญญาว่าจะเล่นใหญ่ ลงทุน ประณีต และเคารพความเป็นญี่ปุ่นแม้จะสร้างโดยโปรดักชันสหรัฐอเมริกา กับบรรยากาศท่ี่ชวนให้นึกถึงเกมชิงบัลลังก์หักเหลี่ยม (เคย) เข้มข้นอย่าง Game of Thrones ของช่อง HBO

สิ่งยิ่งใหญ่ไม่แพ้ฉากหน้าที่ได้ดูกันไป คือเส้นทางและอุปสรรค เรื่องราวประวัติศาสตร์จริงที่อยู่เบื้องหลัง และการคราฟต์งานจากฝั่งทีมงานผู้สร้างกว่าจะมาเป็นซีรีส์ Shōgun และบทความนี้จะพาไปมองดูฉากหลังและเส้นทางเหล่านั้น 

ต้นกำเนิดซีรีส์

เจมส์ คลาเวลล์ คือชื่อของนักเขียนนิยายชาวอังกฤษ ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นทหารเรือแล้วถูกจับเป็นเชลยศึกที่ญี่ปุ่น ถูกคุมขังคุกที่สิงคโปร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งหลังจากที่สงครามจบลง ไกจิน (คำเรียกคนต่างชาติในภาษาญี่ปุ่น) คนนี้ไม่ยอมให้สิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญผ่านพ้นไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะประสบการณ์เหล่านั้นไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ซะทีเดียว เขามองเห็นเสน่ห์ ความน่าทึ่ง และประวัติศาสตร์ข้างหลังของชาวตะวันออกชาตินี้ นั่นทำให้เจมส์ลงมือเขียนนิยายชุดเอเชีย หรือ Asian Saga เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นแล้วหารายได้จากมัน ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมี Shōgun รวมอยู่ด้วย 

Shōgun ไม่ใช่ผลงานแรกของ เจมส์ คลาเวลล์ แต่เป็น King Rat ในปี 1962 ที่ถอดมาจากความทรงจำในตอนเป็นนักโทษของตัวเอง ตามมาด้วยผลงานอีกเล่ม ก่อนที่ในปี 1975 หรือ 10 กว่าปีหลังจากตีพิมพ์เล่มแรก จะเขียนหนึ่งในผลงานสร้างชื่อให้เขาได้มากที่สุดอย่าง Shōgun

ซีรีส์ Shōgun ของ FX ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานชื่อดังของเจมส์ถูกนำไปดัดแปลง หลังจากที่หนังสือขายดีกว่า 6 ล้านเล่ม และยังได้รับคำชมว่าเขาสร้างโลกในนิยายและถ่ายทอดวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ภายในปี 1980 ก็ได้มีการนำหนังสือไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ชื่อเดียวของช่อง NBC มีความยาว 5 อีพี 

ซีรีส์เรื่องนี้ เจมส์ คลาเวลล์ ซึ่งเป็นผู้แต่งควบคุมการผลิตเอง ผลคือนอกจากกระแสตอบรับดี เรตติงกระฉูด และกระตุ้นความสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้กับอเมริกันชนได้เป็นอย่างดี ยังคว้ารางวัลใหญ่ของสายทีวีอย่างซีรีส์ยอดเยี่ยม Emmy Awards และซีรีส์ยอดเยี่ยมกับนำหญิงและนำชายยอดเยี่ยมจากเวที Golden Globe Awards อีกด้วย

ต่อมาประมาณปี 2012 – 2013 ค่าย FOX ซึ่งเป็นค่ายแม่ของช่อง FX (และยังไม่ถูกซื้อโดย Disney) ประกาศว่าจะนำ Shōgun มาดัดแปลงเป็นซีรีส์ ซึ่งมีโจทย์และความท้าทาย คือจะทำยังไงให้ไม่ซ้ำกับเรื่องที่เคยมีมาก่อน เช่น The Last Samurai (2003) ที่ ทอม ครูซ แสดงนำ (ฮิโรยูกิ ซานาดะ ก็อยู่ในหนังเรื่องนี้เช่นกัน) หนังที่อิงมาจากคนละเหตุการณ์แต่คล้าย ๆ กันในมุมชาวตะวันตกผิวขาวอาศัยร่วมกับคนญี่ปุ่น หรือไม่ต้องเทียบกับเรื่องอื่นไกล ซีรีส์เรื่องนี้จะต้องทำยังไงไม่ให้ซ้ำกับ Shōgun ฉบับปี 1980 ที่ดัดแปลงมาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน

บทดราฟต์แรกของซีรีส์โฟกัสไปที่ตัวละคร จอห์น แบล็คธอร์น ที่เป็นชาวต่างชาติพลัดถิ่นมากกว่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าไปคล้ายกับของปี 1980 หรือยุคที่สหรัฐฯ ดัดแปลงเรื่องไหนก็มักจะ Americanize หรือใส่ความ ‘เป็นของอเมริกัน โดยอเมริกัน เพื่ออเมริกัน’ เข้าไป ด้วยการเล่าผ่านมุมมองคนขาวชาวตะวันตกอย่าง จอห์น แบล็คธอร์น และไม่มีซับไตเติลระหว่างพูดภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้คนดูเข้าใจอารมณ์ของการเป็นไกจินที่ฟังญี่ปุ่นไม่รู้เรื่องจริง (คนดูเองก็ไม่รู้เรื่องเช่นกัน จะว่าไปก็ได้อารมณ์เรียล ๆ ของความ Lost in Translation ไปอีกแบบ)

เวลาผ่านไป โลกก็เปลี่ยน การ Americanize หรือดัดแปลงฟอกให้ตัวละครผิวขาวที่เรียกกันว่า ‘Whitewash’ เริ่มถูกต่อต้านอยู่เรื่อย ๆ ผู้คนให้ค่ากับการดัดแปลงที่เที่ยงตรงต่อวัฒนธรรม สีผิว และความหลากหลายมากขึ้น จีน่า บัลเลียน ผู้บริหาร FX ในตอนนั้นจึงปรับตัวตามด้วยการให้บทเล่าในฝั่งญี่ปุ่นมากขึ้น แคสต์นักแสดงญี่ปุ่นตามหนังสือ และมีซับไตเติลขึ้นขณะตัวละครพูด ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความกล้าอย่างมากเลยทีเดียวสำหรับช่องที่ผลิตซีรีส์อเมริกันเป็นหลัก โดยผลงานมากกว่า 70% พูดภาษาอื่น

การสร้างซีรีส์ Shōgun ในยุคนี้ ไม่ใช่เมื่อ 10 ปีที่แล้วจึงเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว 

จากปี 2013 เป็นต้นมา มีซีรีส์หลายเรื่องที่สร้างชื่อให้กับช่อง FX ไม่ว่าจะเป็น American Horror Story, สปินออฟคนละจักรวาลอย่าง American Crime Story, Fargo และ Sons of Anarchy ทำให้ช่อง FX มีโจทย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมว่า ในเมื่อมีหลากหลายแนวแล้ว (สยองขวัญ กฎหมาย ตลกร้าย แก๊งสเตอร์) อะไรคือซีรีส์ระดับ Epic หรือเล่นใหญ่ของช่องนี้

และ 5 ปีถัดมา ในปี 2018 ก็ได้อนุมัติให้สร้าง 10 อีพีของ Shōgun โดยขีดเส้นใต้ว่า จะต้องดัดแปลงในแบบที่ควรจะเป็น

หนังสือต้นฉบับที่ชื่อ Shōgun ยาวพันกว่าหน้า จัสติน มาร์ค คือผู้รับหน้าที่เขียนบทและเป็น Screenwriter ที่น่าจับตามองในตอนนั้นต้องอ่านมันทั้งหมด (ต่อมาเขาเป็นคนเขียนบทดัดแปลง The Jungle Book ให้เป็นฉบับ Live Action และเป็นคนเขียนบทร่วมใน Top Gun: Maverick) ความท้าทายไม่ใช่แค่ความยาว แต่เป็นเรื่องความเข้าใจในเนื้อหา วัฒนธรรม ศัพท์แสงต่าง ๆ และการถ่ายทอดอย่างถ่องแท้ ซื่อตรงกับต้นฉบับและความเป็นญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็เป็นคนผิวขาวผู้กำลังพยายามสวมชุดญี่ปุ่นไม่ต่างไปจาก จอห์น แบล็คธอร์น 

ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร แต่ เรเชล คนโดะ ภรรยาของจัสตินมีเชื้อสายอเมริกัน-ญี่ปุ่น เธอหยิบหนังสือไปอ่านแทน หลังจากใช้เวลาวันละ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เธอก็อ่านจบและเข้าใจแก่นแท้ว่าการดัดแปลงหนังสือเป็นซีรีส์ Shōgun ต้องมาจากพื้นฐานความเข้าใจว่านี่คือคนละวัฒนธรรม คนละประเทศโดยสิ้นเชิง และในฐานะคนที่จะต้องปั้นมันขึ้นมาจากตัวอักษร จะต้องทำสิ่งที่ฮิต ๆ กันในยุคนี้ อย่าง Unlearn & Relearn

ต่อมา เรเชล คนโดะ จึงกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมเพราะอินในความ 2 สัญชาติเหมือนตัวละครในซีรีส์ สิ่งที่ทั้ง 2 คนมีและเป็นสัญญาณที่ดี คือสามีภรรยาคู่นี้มีแพสชัน ความสนใจ และความหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับสตอรีนี้ ทั้ง 2 คนได้ปรึกษาโปรดิวเซอร์อย่าง มาโกะ คามิตสึนะ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ผิดที่ผิดทางพอสมควร 2 คนนี้จึงยอมรื้อหลาย ๆ อย่างออกแล้วแก้ใหม่ ละเอียดทั้งในรายประโยคและรายฉาก

แน่นอนว่าการทำแบบนี้และการไม่คุ้นชินกับหลาย ๆ อย่างของวัฒนธรรมญี่ปุ่นทำให้ใช้เวลาเขียนบทอยู่เนิ่นนาน ส่วนการมาของไวรัสโคโรนาทำให้โปรดักชันต้องหยุดชะงักไปนานถึงปีครึ่ง ช่อง FX จึงต้องทำบางอย่างเพื่อรักษาลิขสิทธิ์ ถึงขั้นที่ ฮิโรยูกิ ซานาดะ ต้องไปถ่ายทำที่ลอนดอนเพียงวันเดียว ในฉากนั่งอยู่บนหลังม้าเฉย ๆ โดยมีไฟลุกอยู่ข้างหน้า เพื่อยืดเวลาในการถือลิขสิทธิ์ออกไปโดยเฉพาะ 

การประวิงเวลาครั้งนี้และช่วงโควิดทำให้สองสามีภรรยาเขียนบทจนเสร็จสิ้น จากนั้นก็นำไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด แล้วให้ เคียวโกะ โมริวากิ คนเขียนบทชาวญี่ปุ่นเพิ่มรายละเอียดให้อีกที ต่อมา เอริโกะ มิยากาวะ ที่เป็นโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นอีกเช่นกันก็ช่วยแปลบทกลับเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทั้ง 2 คนใช้เวลานานนับเดือนนการตรวจสอบและปรับแก้บทอีกครั้ง จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ 

และแล้วก็พร้อมถ่ายทำ ถึงจะพบอุปสรรคระหว่างทาง และในตอนแรกที่ตั้งใจว่าจะใช้เวลาถ่ายทั้งหมด 6 เดือน แต่ไป ๆ มา ๆ เพิ่มเป็นอีกเดือน อีกเดือน เรื่อย ๆ จนทุกคนเหนื่อยล้า และยืดเวลาถ่ายทำจนกลายเป็น 10 เดือนในที่สุด แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็นซีรีส์เรื่องนี้จนได้ ด้วยความร่วมมือจาก มิเชลล่า คลาเวลล์ ลูกสาวของเจมส์ผู้มาเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย และการกำกับของผู้กำกับหลายคน โดยเฉพาะ เฟรเดอริก อี.โอ. โทเย จาก Watchmen และ The Boys ที่กำกับเนื้อหาส่วนใหญ่ และ 2 ในนั้นคืออีพี 9 – 10 

ถึงเบื้องหน้าจะเห็นว่า Shōgun มีโลเคชันอยู่ที่ญี่ปุ่น แต่โลเคชันหลักจริง ๆ คือ British Columbia ประเทศแคนาดา ในการถ่ายทำมีนักแสดงหลัก 10 – 15 คน ทีมงานอีกกว่า 300 ชีวิต และยังขนทั้งคอสตูม เครื่องประกอบ เฟอร์นิเจอร์ อาวุธ ชุดเกราะโบราณ กับต้นสนเป็นร้อยมาปลูกที่นี่อีกด้วย (ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าแค่เมล็ดหรือต้นสนต้นเล็ก ๆ นะครับ)

หลังจาก Shōgun ออนแอร์ทาง FX และถูกส่งต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกด้วยการลงใน Disney+ หรือ Disney+ Hotstar ที่เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิง ทางทีมผู้สร้างและช่องยังต้องการมั่นใจว่าทุกคนจะอินกับซีรีส์เรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง จึงใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดบนเว็บไซต์ fxnetworks.com มีตั้งแต่ไทม์ไลน์ฉบับเข้าใจง่าย ผังความสัมพันธ์ตัวละคร ข้อมูลตัวละคร ข้อมูลโลเคชัน พอดแคสต์ Episode Guide ที่เข้าไปอ่านได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดูแต่ละอีพีจบ ก็จะเพิ่มอรรถรสและความอินญี่ปุ่นมากขึ้น กับคลิปเจาะลึกเบื้องหลังและแอนิเมชันเล่าความเป็นไป เปิดโลก และประวัติศาสตร์ก่อนมาเป็นซีรีส์เรื่องนี้ที่ชื่อ The World of Shōgun: History & Backstory ทั้งบนเว็บไซต์นี้และช่องยูทูบของ FX (ประมาณว่า เอาสิ ยังไงก็ไม่งงแน่นอน)

ความเอาใจใส่ในรายละเอียด

“ผมทำสิ่งนี้มาตลอดชีวิต ผมเห็นทุกความผิดพลาด และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นกับซีรีส์เรื่องนี้” ลอร์ดชิเหน๋ หรือ ฮิโรยูกิ ซานาดะ ไม่ใช่แค่นักแสดงนำ แต่การคร่ำหวอดอยู่กับผลงานอเมริกัน ญี่ปุ่น และอเมริกัน-ญี่ปุ่นมานาน นักแสดงคนนี้เลยถูกชวนให้มามีส่วนหล่อหลอม Shōgun จนหน้าตา ‘เที่ยงตรง’ และสมจริงในทุกดีเทลเช่นนี้ 

และไม่ว่าจะเป็นวันที่เขาต้องถ่ายทำหรือไม่ ฮิโรยูกิจะมีเก้าอี้ไว้นั่งตรวจตราความถูกต้องในกองถ่าย (บางวันเขาถ่ายทำแล้วมานั่งคุมและเดินไปเดินมา ทั้ง ๆ ที่ใส่ชุดเกราะก็มี) ตั้งแต่การแสดง การออกเสียง คอสตูมตัวละคร ละเอียดไปจนถึงฉากหลัง แต่หากย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก เขามีส่วนตั้งแต่กระบวนการแรก ๆ อย่างการแคสต์นักแสดง และช่วยดูสตอรีกับมิติตัวละครด้วยเช่นกันครับ

การทำเช่นนี้ แน่นอนว่าฮิโรยูกิรู้สึกกดดันพอสมควรว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมั้ย แต่เขากังวลกว่าหากออกมาไม่สมจริงเหมือนเรื่องที่เขาเคยเห็นว่าผลิตโดยชาวต่างชาติ และไม่แม้แต่จะมีผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

ฮิโรยูกิมีแพสชันในการทำภารกิจนี้เพราะมันคือฝันที่เป็นจริง เขาถึงขนาดไปกองถ่ายก่อนโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ เพราะความรู้สึกที่ตัวเองอยู่กึ่งกลางระหว่างตะวันตกและตะวันออกมาโดยตลอด และเขาต้องการที่จะทำลายกำแพงนี้ลง แล้วสร้างสะพานให้ซีรีส์เชื่อมกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์ จากนั้นก็เชื่อมคนดูของทั้ง 2 วัฒนธรรมหรือมากกว่านั้นได้อย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกัน 

หรืออาจกล่าวได้ว่า ภารกิจของฮิโรยูกิคือการลบ Culture Gap แล้วให้คนจากมุมไหนก็ได้ของโลกรู้สึกเชื่อมโยงกับดราม่า เหตุการณ์ และเรื่องราวที่ซีรีส์ต้องการนำเสนอ ซึ่งถึงแม้จะเหมือนเหนื่อยเป็น 2 เท่า แต่เขาแฮปปี้กับการทำแบบนี้ เพราะเมื่อย้อนกลับไป คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ากว่าที่เขาในฐานะนักแสดงอย่างเดียวพูดอะไรไม่ได้

แน่นอนว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่ดูแลด้านนี้ ซีรีส์ Shōgun ได้เกณฑ์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนง ทั้งด้านการแต่งหน้า คอสตูม (ที่ทำขึ้นด้วยมือทุกชุด) พร็อป ฉาก และวิกผม หรือจริง ๆ เรียกได้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นญี่ปุ่นในทุกแผนก มีแม้กระทั่งค่ายฝึกและคลาสเรียนสำหรับนักแสดงและตัวประกอบเพื่อความสมจริงในฉากแอคชัน แต่ถึงแม้จะมีผู้ดูแลการเคลื่อนไหวของนักแสดงเพื่อให้ถ่ายทอดให้ออกมาเป็นแบบญี่ปุ่น ๆ ฮิโรยูกิก็ยังช่วยดูอีกแรงในฐานะนักแสดงที่มีประสบการณ์ เพื่อให้การแสดงออกมาโฟลว์และเหมาะกับทั้งยุคนั้น เหมาะกับตัวละคร และเหมาะกับสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย 

ซึ่งผลลัพธ์ของความทุ่มเทก็ผลิดอกออกผลเป็นปรากฏการณ์ ‘โชกุนฟีเวอร์’ ที่ไม่เพียงทำให้คนหลงใหลวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่ม และยังนำไปเทียบกับซีรีส์ชิงบัลลังก์ที่หลายคน (เคย) ชอบที่สุดตั้งแต่ดูซีรีส์เรื่องไหน ๆ มา (ภายหลังหนึ่งในผู้กำกับออกมาบอกว่า เหมือน Succession ไม่ก็ House of Cards มากกว่า) แต่ในฝั่งญี่ปุ่นเองก็ชื่นชมและชื่นชอบซีรีส์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน รวมไปถึง ฮิเดโอะ โคจิมะ ผู้สร้างเกมฝีมือดีที่ออกมาชื่นชมอย่างออกหน้าออกตาว่า นี่คือ ‘Game of Thrones ในญี่ปุ่นศตวรรษที่ 17’ 

“จริง ๆ ผมกังวลนิดหน่อยเหมือนกันครับว่าชาวญี่ปุ่นจะมีรีแอคชันยังไง เพราะพวกเขารู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง แต่ผมเซอร์ไพรส์ที่รีวิวและการตอบรับจากผู้ชมออกมายอดเยี่ยม ซึ่งนั่นแหละคือสิ่งที่ผมต้องการ” ฮิโรยูกิ ซานาดะ กล่าว 

อิงประวัติศาสตร์จริง

เรื่องราวในซีรีส์ Shōgun เกิดขึ้นในยุคเซ็นโงคุปี 1600 หรือถ้าให้เทียบกับภูมิภาคอื่น ตรงกับสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ของอังกฤษ และตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งราชวงศ์สุโขทัยของไทย 

ยุคเซ็นโงคุมีผู้ปกครองดัง ๆ 3 คน คือ โอดะ โนบุนากะ, โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และคนสุดท้ายอย่าง โทกุงาวะ อิเอยาสุ ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวละคร โยชิอิ โทรานางะ ในซีรีส์เรื่องนี้ ในขณะที่ตัวละคร จอห์น แบล็คธอร์น สร้างมาจากบุคคลที่มีอยู่จริงอีกคน อย่าง วิลเลียม อดัมส์ นักสำรวจชาวอังกฤษคนแรกในเรือลำเดียวชื่อ De Liefde ที่เดินทางถึงญี่ปุ่นสำเร็จจากทั้งหมด 5 ลำที่ออกเดินทางมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน และเช่นเดียวกับมิตรภาพที่เกิดในตอนท้ายของซีรีส์ ในความเป็นจริง วิลเลียม อดัมส์ เป็นทั้งคนให้คำปรึกษากับอิเอยาสุ และยังเป็นผู้ริเริ่มการสร้างเรือแบบตะวันตกในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

แต่ วิลเลียม อดัมส์ ไม่ใช่ฝรั่งคนแรกที่เดินทางมาถึงญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ในปี 1543 มีชาวโปรตุเกสเดินทางมาถึงก่อนแล้วในฐานะยุโรปชาติแรก และทำการค้าขายกับเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่นี่จนทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ การมาของ วิลเลียม อดัมส์ ที่เป็นโปรเตสแตนต์ดูจะเป็นภัยต่อชาวคริสเตียน และ วิลเลียม อดัมส์ ซึ่งดูเหมือนโชคดีที่รอดตายจากการเดินเรือ ต้องมาพัวพันกับความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง หนำซ้ำยังถูกกักตัวไว้มากกว่าทศวรรษ ไม่ได้ใช้เรือที่เดินทางมาเดินทางกลับบ้านอีก

เป็นจังหวะดีท่ี่จะแทรกอธิบายว่า ถึงแม้เราจะได้ยินตัวละครในซีรีส์พูดกันด้วยภาษาอังกฤษ แต่จริง ๆ แล้วในหนังสือและความเป็นจริงเป็นการพูดกันภาษาโปรตุเกสตลอดเวลา แต่ที่ซีรีส์เลือกใช้เป็นภาษาอังกฤษก็เพื่อถ่ายทอดให้เข้าถึงคนจำนวนมาก (ถ้าพูดโปรตุเกสกับญี่ปุ่นก็จะเข้าถึงคนยากขึ้นไปอีก คิดซะว่าเรากินวุ้นแปลภาษาของโดราเอมอน แล้วฟังโปรตุเกสเป็นอังกฤษได้แล้วกันนะครับ)

ชาวโปรตุเกสและคณะเยสุอิตหรือกลุ่มนักบวชคริสต์คาทอลิกชาวโปรตุเกส หนึ่งในนั้นคือ คุณพ่อโจอา ร็อดดริเก้ (ในซีรีส์ใช้ชื่อว่า มาร์ติน อัลวิโต) ต้องการกำจัด วิลเลียม อดัมส์ อีกทั้งชาวโปรตุเกสยังเปลี่ยนความคิดให้ชาวญี่ปุ่นมองคนต่างชาตินอกจากชาติตัวเองว่าเป็นพวกโจรสลัดบ้าง คนเถื่อนบ้าง แต่ด้วยบุญบารมีของอิเอยาสุ และความต้องการใช้ประโยชน์จากนายอันจิน (ต้นหนเรือในภาษาญี่ปุ่น) อิเอยาสุเข้าไปแทรกแซงแล้วหยุดการประหารชีวิตของ วิลเลียม อดัมส์ สำเร็จ อีกทั้งยังส่งคนไปยึดเรือ De Liefde มาจากเอโดะ (หรือโตเกียวในปัจจุบัน) เพราะมองว่า ‘อำนาจจากต่างแดน’ เป็นหนึ่งในอำนาจสำคัญในการควบคุมประเทศ และยังสนใจสิ่งที่อยู่บนเรือลำนั้น อย่างลูกปืนใหญ่ 5,000 ลูก ปืนคาบชุด 500 กระบอก และดินปืนหนัก 5,000 ปอนด์ด้วยเช่นกัน

อิเอยาสุประทับใจในตัว วิลเลียม อดัมส์ ตรงความหลักแหลมและความรู้ที่เขามี จึงเก็บชายคนนี้ไว้ใกล้ตัว (ในซีรีส์จ้อจี้ตรงที่จอห์นไม่ฉลาดขนาดนั้น แถมโทรานางะยังเก็บไว้ด้วยเหตุผลที่จอห์น ‘ตลกดี’ อีก) ระหว่างทาง วิลเลียม อดัมส์ ได้พบกับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงคนอื่น ๆ แต่เขาไม่เคยพบกับ โฮโซกาวะ กราเซีย หรือ โฮโซกาวะ ทามะ ที่เป็นต้นแบบของมาเรีย หรือ ท่านหญิงโทดะ มาริโกะ ในซีรีส์ แต่ถึงอย่างไร แต่ถึงอย่างนั้นชะตากรรมของท่านหญิงกราเซียก็คล้าย ๆ กับในซีรีส์ ในช่วงที่มีการจับบุตรและภรรยาไดเมียวเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้สนับสนุนฝั่งศัตรูของอิเอยาสุ กราเซียไม่ยอมเสียเกียรติจากการถูกคุมขัง จึงเลือกฆ่าตัวตายทางอ้อมด้วยการให้คนรับใช้สังหารเธอ (ที่ต้องให้คนอื่นทำเพราะจะผิดหลักศาสนาและถือว่าเป็นบาปมหันต์)

หลังจากการมาของ วิลเลียม อดัมส์ คือช่วงเวลาที่อิเอยาสุทำสงครามกับ อิชิดะ มิตสึนาริ กับเดอะแก๊งพันธมิตร (ต้นแบบของตัวละครอิชิโดะ) ผู้เคยใกล้ชิดกับ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และเป็นศัตรูคู่แค้นตลอดกาลของอิเอยาสุ ศึกครั้งนี้เรียกว่า ‘ยุทธการที่เซกิงาฮาระ’ ขึ้นชื่อว่าเป็นสงครามซามูไรครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็นทัพตะวันตกของอิชิดะ และทัพตะวันออกของอิเอยาสุ ซึ่งอิเอยาสุหว่านล้อมให้แกนนำอีกฝั่งอย่าง โคบายาคาวะ ฮิเดอากิ มาเป็นพวกได้ ผลลัพธ์ครั้งนี้มหาศาล และเมื่อบวกกับฝีมือการทำสงคราม ก็ลงเอยด้วยชัยชนะของฝั่งอิเอยาสุกับความตายของอิชิดะ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดในย่อหน้านี้ไม่ได้อยู่ในซีรีส์ แต่ถ้ามีให้เห็นก็น่าจะใช้ทุนสร้างมหาศาลน่าดูเลยครับ

ส่วนจุดเริ่มต้นของสงครามครั้งนี้ที่เป็นต้นแบบและจุดเริ่มต้นของซีรีส์ Shōgun ก็มีความคล้ายกันเช่นกัน แตกต่างกันพอสมควรตรงที่ตัวละครไทโกมีต้นแบบคือผู้ปกครองคนก่อนอย่าง โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ที่ครั้งหนึ่งเคยทำสงครามกับ โทคุงาวะ อิเอยาสุ มาก่อน แต่เมื่อกินกันไม่ลง เอาชนะกันไม่ได้ ทั้งคู่จึงยอมสงบศึก (แบบไม่สนิทใจเท่าไหร่) และก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรม ก็แต่งตั้งไดเมียว 5 คนเพื่อสำเร็จราชการแทนบุตรชายที่ยังเป็นเด็กเล็ก จนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจากการที่ อิชิดะ มิตสึนาริ ไม่ไว้ใจอิเอยาสุ

หลังจากจบศึกครั้งนี้ปี 1603 โทคุงาวะ อิเอยาสุ ขึ้นมาเป็นโชกุน เป็นการเริ่มยุคใหม่ของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า ‘ยุคเอโดะ’ และมีการก่อตั้งรัฐบาลเอโดะขึ้น การเป็นโชกุนของอิเอยาสุทำให้ญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นด้วยอำนาจเด็ดขาดที่ได้จากการอ้างสิทธิ์สายเลือดโบราณของตระกูลมินาโมโตะหรือตระกูลจักรพรรดิ เซวะ เก็นจิ ที่ปกครองญี่ปุ่นในช่วงปี 809 – 823 อีกทั้งยังมีการแบ่งและมอบอำนาจให้กับไดเมียวอย่างเป็นสัดเป็นส่วน ค่อนข้างเด็ดขาด จึงไม่มีไดเมียวมาวางแผนต่อต้านน่าปวดหัวอย่างที่เห็นในซีรีส์เรื่องนี้ และสั่นคลอนการปกครองในรูปแบบที่ตั้งใจไว้ไม่ได้

โทคุงาวะ อิเอยาสุ กลายเป็นหนึ่งในโชกุนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และการขึ้นปกครองครั้งนี้ทำให้ตระกูลโทคุงาวะมีอำนาจไปอีก 200 กว่าปี ความสัมพันธ์ระหว่างอิเอยาสุกับเพื่อนต่างสีผิว สีผม และภาษา อย่างวิลเลียม อดัมส์ มีส่วนอย่างมากต่อความเป็นไปของประเทศญี่ปุ่น การสั่งให้วิลเลียมต่อเรือต้นแบบ นำไปสู่การออกเรือทำการค้าและผูกมิตรกับชาวฮอลันดา (ฮอลแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และชาวอังกฤษ ตามมาด้วยการขับไล่ชาวโปรตุเกสและสเปนที่เป็นอริกับฮอลันดา รวมถึงไล่แบนศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในญี่ปุ่น (วิลเลียม อดัมส์ กดไลก์ให้กับสิ่งนี้) 

ยุคของอิเอยาสุถือเป็นยุคเริ่มต้นของความรุ่งเรืองทางการค้าและสัมพันธไมตรี ส่วน วิลเลียม อดัมส์ภายหลังได้รับอนุญาตให้กลับไปอังกฤษหลังจากทิ้งลูกและภรรยามาสำรวจจนอยู่ต่างแดนนานขนาดนี้ แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจอยู่ที่นั่นต่อ ในชื่อญี่ปุ่น คือ มิอุระ อันจิน พร้อมแต่งงาน สร้างครอบครัวใหม่ และต่อมากลายเป็นชาวตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดคนหนึ่ง จากคนนอกสู่คนใน และจากคนในสู่คนบน ด้วยการเป็นซามูไรฝรั่งคนแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยตำแหน่งฮาตาโมโตะ ผู้ทำงานอย่างใกล้ชิดโดยตรงร่วมกับโชกุนโทคุงาวะ อิเอยาสุ 

อาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า Shōgun ดีขนาดนั้น เฉย ๆ หรือถึงขั้น Ovarrated (อวยกันเกินไป ไม่ได้ดีขึ้นนั้น) รึเปล่า แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้มาถึงตรงนี้น่าจะเห็นตรงกันคือ Shōgun เป็นซีรีส์ที่สร้างมาจากความตั้งใจ และประกอบสร้างด้วยความใส่ใจ ประณีต เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่เสน่ห์ความเป็นญี่ปุ่นแท้ ความลึกซึ้งที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง วัฒนธรรมที่มีทั้งแง่มุมสวยงามและดุเดือดอันตราย โดยเฉพาะการอิงทั้งเหตุการณ์และบุคคลในประวัติศาสตร์ที่กระตุ้นให้คนสนใจประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากขึ้น รวมถึงวิธีการถ่ายทอดทั้งบทและเบื้องหลังด้านโปรดักชัน ไหนจะเรตติงถล่มทลาย และการเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอบอกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้รวมถึงนิยายต้นฉบับ ทำ ‘สำเร็จ’ และมีคุณค่าเกินกว่าความบันเทิง

ดู Shōgun ทั้ง 10 อีพีได้ทาง Disney+ Hotstar ครับ ส่วนคำถามสำคัญที่ว่าจะมีซีซัน 2 มั้ย จัสติน มาร์ค คนเขียนบทก็ได้ออกมาดับฝันกลาย ๆ ว่าทั้งหมดนี้จบบริบูรณ์แล้ว ทั้งทางความรู้สึก จุดที่ซีรีส์เลือกจบ และเนื้อหาที่ดัดแปลงจนหมดตัวอักษรของหน้าสุดท้าย แต่เฮียชิเหน๋ก็ได้ทำให้แฟน ๆ ซีรีส์มีความหวังอยู่บ้างว่า 

“ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปครับ แต่ที่รู้ ๆ เรามีโมเดลคือประวัติศาสตร์จริง และแน่นอน เรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนี้”

แหล่งข้อมูล
  • variety.com
  • www.fxnetworks.com
  • collider.com
  • www.esquire.com
  • www.smithsonianmag.com 
  • screenrant.com 
  • consequence.net

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ