หลายคนคิดว่าเขาเป็นแค่นักรีวิวกล้อง

ต่อวงศ์ ซาลวาลา คือคนธรรมดาผู้เป็นครูของช่างภาพมืออาชีพค่อนประเทศ

20 ปีก่อน เขาคือโปรแกรมเมอร์ในบริษัทสร้างเว็บไซต์ที่เปลี่ยนชีวิตด้วยกล้องถ่ายรูปตัวเดียว นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘2how’ เว็บไซต์และสื่อผู้สอนเทคนิคการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล ตั้งแต่ยุคที่นวัตกรรมประเภทนี้ยังเป็นของใหม่มากในเมืองไทย 

หลายคนชอบเรียกเขาว่า พี่หาว มากกว่า ความรู้ที่เขาถ่ายทอดเป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาวงการภาพถ่ายไทย เปลี่ยนผ่านจากฟิล์มสู่ดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

20 ปีผ่านไป โลกกำลังเข้าสู่ยุค AI ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเปลี่ยนโลกอีกครั้ง เช่นเดียวกับวงการภาพถ่ายที่จะโดน Disrupt หนักไม่แพ้วงการอื่น

ต่อวงศ์อยู่แถวหน้าของการเปลี่ยนแปลง เขากระโจนเข้าไปเรียนรู้วิธีการสร้างภาพผ่าน AI อย่าง Midjourney และเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเล่าต่อ ทั้งผ่านช่องโซเชียลมีเดีย รวมถึงให้คำปรึกษากับบริษัทกล้องชั้นนำในไทย 

หลายคนชอบคิดว่า หาว 2how คือนักรีวิวกล้อง 

ความจริงเขาเป็นเหมือนครู นักกระจายความรู้แห่งยุค Digital Disruption

เขาเชื่อว่า หากเรารักจะเรียนรู้ ความรู้ความชำนาญจะยังไม่หายไปไหน 

หากไม่มั่นใจ เขามาเล่าให้ฟังว่า AI สอนอะไรเขาบ้าง

/imagine ช่างภาพผู้ไม่กลัวการเรียนรู้ AI 

ถ้านึกไม่ออกว่า Midjourney ทำงานยังไง

ให้คิดถึงห้องเรียนวิชาศิลปะที่เด็กนักเรียนต้องส่งงานวาดเขียนให้ครูตรวจ 

ต่อให้วาดสวยแค่ไหน ครูก็ไม่ให้ดาว ถ้าเราวาดไม่เหมือนของจริง

Midjourney เหมือนห้องเรียนศิลปะที่ไม่มีครูประจำวิชามาตีกรอบ ทุกคนสร้างภาพได้ตามที่คิดที่ฝัน ไม่จำกัดอยู่กับความเป็นจริง 

จำนวนนักเรียนในห้องยังมีมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ทุกคนเห็นว่าแต่ละคนสร้างภาพด้วยคำสั่งหรือ Prompt แบบไหน บางคนทดลองทำตาม ดัดแปลง เรียนรู้ ต่อยอดไปไม่มีที่สิ้นสุด

ต่อวงศ์เป็นหนึ่งในนักเรียนที่เพิ่งเข้าชั้นได้ไม่กี่เดือน ภาพแรกที่ต่อวงศ์ทดลองเจนฯ (Generate) ผ่าน Midjourney คือภาพถ่ายแก้วน้ำริมหน้าต่าง 

“ผมประทับใจช่างภาพคนหนึ่ง เป็นคนเปลี่ยนชีวิตการถ่ายภาพของเรา ชื่อว่า Leslie Thomson เขาไม่ได้เป็นช่างภาพชื่อดังอะไร แต่เขาถ่ายแก้วน้ำวางอยู่ริมหน้าต่าง ระหว่างรอลูกลงมากินอาหารเช้า ผมเปลี่ยนแนวความคิดในการถ่ายภาพจากภาพนี้ 

“ผมเลยอยากลองว่า AI ดึงความสวยงามที่เรียบง่ายออกมาได้ขนาดไหน มันทัชเราได้มั้ย”

พูดจบ เขาเปิดภาพที่ทำผ่าน Midjourney ในมือถือให้ดู มันสวยอย่างที่เขาว่าไว้ นี่คือบทเรียนแรกที่เขาได้รับ คุณจะใช้ AI ได้ดีหากมีประสบการณ์ และนำสิ่งนั้นมาเป็นวัตถุดิบสร้างงาน

“สิ่งที่หล่อหลอมตัวเรา ตอนเด็ก ๆ เคยอ่านหนังสืออะไร ไปเที่ยวที่ไหน ฟังเพลงอะไร มันสะท้อนออกมา คนที่อ่านเยอะ ดูเยอะ ก็จะได้เปรียบ” เขาเล่า

บทเรียนที่ 2 AI นั้นเก่ง ความสามารถเหลือล้นจนพยายามทำภาพให้สวยอลังการตลอดเวลา 

หากเราพยายามควบคุม ตีกรอบ กำหนดตัวแปรในการสร้างภาพ AI จะพยายามบอกเราว่ามันทำได้มากกว่านั้น 

“ผมดูฝรั่งเจนฯ ภาพรถสปอร์ต อลังการงานสร้างมาก คำสั่ง Prompt ยุ่งยากมาก ต้องบอกว่าเป็นภาพจากกล้องความไวชัตเตอร์เร็ว ๆ ผมก็ลองทำตามดู แต่ Midjourney จะขืน ๆ หน่อย เหมือนมันบอกว่า ทำไมต้องมาสั่งฉันแบบนี้ คล้ายเวลาเราคุยกับช่างภาพเก่ง ๆ ไปบอกให้ทำอะไร เขาก็ไม่อยากทำ

“AI จะพยายามแสดงออกด้วยการสร้างบางรูปที่ให้เราดูว่ามันทำได้มากกว่านั้น ไม่ตรงตามคำสั่ง ถ้าเล่น Midjourney จะรู้ ว่ามันคือภาพหมายเลข U2 หรือ U3 มันพยายามบอกว่าเก่ง แล้วจะสั่งมันยังไง ผมก็พยายามถอดคำสั่งทิ้งไปจนแทบไม่เหลืออะไร ซึ่งจะออกมาไม่สวย จำได้ว่าเป็นรูปรถ Porche 911 อยากให้มันวิ่งบนเทือกเขาอัลไพน์ ผมก็ลองสั่งอีกที ไม่ออก สั่งง่ายก็ไม่ออก สั่งยากก็ไม่ออก มานึกได้ว่าสมัยก่อนชอบซื้อนิตยสาร CAR magazine รูปมันสวย เอาอย่างนี้ ผมก็ใส่ไปว่าเอาเหมือน Magazine Photography คำเดียวมาเลย ภาพอลังการงานสร้างแบบหนังสือนิตยสาร แล้วอ้างได้ด้วยนะว่าเอานิตยสารเล่มไหน 

“ตอนนี้ภาพจาก AI สวยกว่าช่างภาพถ่าย ต้องบอกอย่างนี้เลย เราอยากได้อะไรจากมัน ขอให้สั่งให้เป็น มันก็จะสวย เช่น เราอยากถ่ายอาคารบ้านเรือน ถ้าสั่งธรรมดาก็จะออกมาแบบกลาง ๆ เหมือนไป Snap มา แต่ถ้าสั่งเป็นว่าอยากได้อะไรจากตรงนี้ รู้ Powerful Keyword เช่น เราบอกว่าเป็นภาพถ่ายแบบนิตยสาร มันไม่สนใจอะไรเลย 

“เหมือนเวลา The Cloud สั่งให้ช่างภาพมาถ่ายคนถูกสัมภาษณ์ เราไม่ต้องบอกเขาว่า ขอรูรับแสงเท่าไหร่ ใช้กล้องอะไรถ่าย ยังไงภาพก็จะออกมาดี เพราะเขาคือช่างภาพนิตยสาร นอกจากนี้สื่อยังมีบรรณาธิการภาพที่จะคอยเลือกภาพให้ 2 คนนี้รวมอยู่ใน AI แล้วก็รวมตัวเราด้วย เราก็มานั่งเลือกรูปกับมันอีกที 

“ความรู้ของ AI เหมือนมหาสมุทร แต่ตัวเราเหมือนกะละมัง เวลาสั่งงานมัน ต้องสั่งแบบกว้าง ๆ ก่อน แล้วค่อยตีกรอบลงมา อย่าไปสั่งว่าให้ทำเหมือนกะละมัง ถ้าสั่งแบบนั้นมันจะไม่ได้อะไรจากมัน จะได้แค่ตัวเรา แค่นั้นเอง” 

ต่อวงศ์เริ่มสมัคร ChatGPT และ Midjourney ช่วงวันหยุดปีใหม่ปี 2023 โดยใช้งานร่วมกัน เขาใช้วิธีถาม ChatGPT ว่า ถ้าอยากได้ภาพแบบนี้จาก Midjourney ต้องสั่ง Prompt แบบไหน จากนั้นก็เอาไปลองเจนฯ

เวลาผ่านไป 4 เดือนเขาก็เริ่มชัดเจนขึ้นว่าคิดอย่างไรกับนวัตกรรมนี้

“เราไม่ค่อยสนใจแต่แรก แต่พอได้เจนฯ ดู บวกกับไปเห็นช่างภาพคนหนึ่งใน YouTube ชื่อ Martin คนนี้เก่งมาก เขาลองใช้ AI อย่างเปิดใจ ผมว่าก็ไม่เลวร้าย เลยลอง

“ตอนแรกเรายังควบคุมได้ไม่มาก แต่พอเห็นแล้วว่ามันเอาแน่ ๆ เวลาผ่านไปทุกสัปดาห์ บางครั้งอาจจะ 2 – 3 วัน มันมีการเปลี่ยนแปลงที่ปกติจะใช้เวลาเป็น 10 ปี นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ AI เรียนรู้แต่เรามองไม่เห็นอีกมากมายมหาศาล ผมคิดว่าไม่ใช่แล้วว่ะ มันน่ากลัวมากถ้าเราไม่รู้ 

“ถ้าไม่ใช้ เราจะไม่รู้ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง และไม่รู้ว่าคนอื่นทำอะไรกับมัน อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัว แต่ถ้าเรารู้แล้วก็ไม่น่ากลัวเลย ผมเป็นช่างภาพ ก็ดีสิ ภาพไหนถ่ายเองได้ก็ถ่าย ถ่ายไม่ได้ก็ให้ AI ช่วย เลยทำให้ผมมีความสุขกับการถ่ายภาพมากขึ้น

ต่อวงศ์เล่าว่าเขาได้ถ่ายรูปในแบบที่อยากถ่าย โดยไม่ต้องกดดันว่าต้องสวย ถ้าอยากได้ภาพสวย ก็ให้ AI เจนให้ 

“3 – 4 เดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นรูปเป็นหมื่นรูป เหมือนไปดูมิวเซียมมา รูปดี ๆ ทั้งนั้น กลายเป็นว่า AI ทำให้ผมถ่ายรูปดีขึ้นมาก เร็วขึ้นด้วย”

ไม่ใช่ช่างภาพทุกคนที่จะยินดีต้อนรับ AI เพื่อนของต่อวงศ์หลายคนรับไม่ได้ คนที่ถ่ายภาพมาทั้งชีวิต พัฒนาทักษะ บุกป่าฝ่าดงไปในที่ห่างไกลเพื่อให้ได้สุดยอดภาพถ่าย วันหนึ่ง AI ทำได้ขนาดนี้ เป็นเรื่องที่ยากจะทำใจ

ช่างภาพกลุ่มที่เปิดรับ AI คือคนที่ทำงานสาย Commercial Art หลายคนมาช่วยให้ต่อวงศ์สอนให้ 

“ผู้กำกับหนังรุ่นใหญ่ ๆ ก็อยากทำ แต่คนรุ่นเขา ถ้าให้ไปศึกษา AI จะเหนื่อยมาก ถ้าให้คุยกับเด็กก็สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ผมเลยกลายเป็นตัวกลาง” หาวเล่า

ช่างภาพต่างประเทศหลายคนใช้ AI สร้างฉากหลัง แล้วถ่ายภาพวัตถุให้แสงตรงกับฉากที่มาจาก AI จากนั้นนำมาปรับในโปรแกรมแต่งภาพอีกที นี่คือวิธีที่ผสมผสานโลกเก่าและโลกใหม่อย่างลงตัว

บริษัทกล้องถ่ายรูปกำลังพัฒนากล้องที่ติดรหัสให้กับภาพทุกใบ เพื่อระบุว่าเป็นภาพจริง ไม่ใช่ AI เพื่อช่วยป้องกันช่างภาพที่ต้องถ่ายภาพที่เป็นความจริง เช่น ช่างภาพกีฬาที่ต้องถ่ายเพื่อประกอบการรายงานผล ต้องพิสูจน์ว่าภาพนี้เป็นของจริง

“ถามว่าบริษัทกล้องกลัวมั้ย ผมว่าไม่นะ มันจะทำให้คนอยากถ่ายรูปเยอะขึ้นด้วยซ้ำ” 

“ทำไม AI ถึงทำให้คนสนุกกับการถ่ายภาพมากขึ้น เพราะเอาเข้าจริง มันช่วยให้เราสร้างภาพโดยไม่ต้องออกไปถ่าย”

“เราไม่ได้ออกไปถ่ายรูปทุกวัน แต่เราอยากได้รูป สมมติเรานอนดู Netflix ฉากทะเลทรายอลังการมากเลย เราอยากได้ภาพแบบนี้ เจนฯ ได้ แต่ถามว่าอยากไปทะเลทรายมั้ย อยาก แต่อยากไปพร้อมลูก เดินเล่นถ่ายสนุก ๆ ไม่จำเป็นต้องไปแต่เช้าเพื่อจะถ่ายภาพนี้อีกแล้ว 

/imagine ช่างภาพผู้ไม่กลัวการเรียนรู้ AI บุกเบิกวิชาถ่ายภาพยุคใหม่

ปี 2004 จุดเปลี่ยนชีวิตของต่อวงศ์ เกิดขึ้นด้วยกล้องถ่ายภาพแค่ตัวเดียว 

ยุคนั้นช่างภาพมืออาชีพเชื่อในฟิล์มถ่ายรูปมากกว่าจำนวนพิกเซล กล้องดิจิทัลเป็นเทรนด์ยุคใหม่ หลายคนมองว่าความสะดวกสบาย Disrupt วงการได้ชั่วพริบตา นั่นทำให้ช่างภาพมืออาชีพหลายคนดูแคลนเทคโนโลยีนี้ว่าจะมาทำลายทักษะการถ่ายภาพดั้งเดิม คล้ายกับเรื่อง AI ในยุคนี้มาก

ความรู้ด้านการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลยุคนั้นก็ยังมีกรอบจำกัด เนื้อหารีวิวมักหนักไปทางอธิบายสเปกกล้องที่ยากจะเข้าใจ 

ช่องทางหนึ่งในการแชร์ความรู้ คือสิ่งที่เรียกว่า Webboard โซเชียลมีเดียของคนยุค Gen X บอร์ดดังที่สุดยุคนั้นคือเว็บไซต์ Pantip ห้องที่ต่อวงศ์อยู่คือห้องรัชดา แหล่งรวมจอมยุทธ์ด้านรถยนต์ รวมถึงคนชอบถ่ายรูปรถก็ไปร่วมวงพูดคุยเป็นประจำ 

ต่อวงศ์ทำงานสายไอที สร้างตัวจากการทำอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์เว็บไซต์ วันหนึ่งเขาเริ่มมองเห็นว่าอีกหน่อยทุกคนจะทำเว็บเป็น ไม่ต้องจ้างบริษัทเขาอีกต่อไป บวกกับเมื่อเห็นอุปกรณ์ดิจิทัลกำลังเข้ามา เขาเห็นโอกาสที่จะต่อยอดและพัฒนาไปสู่อาชีพใหม่

“ตอนนั้นผมถ่ายรูปไม่เป็น มาจากสายไอที เรามอง Benefit ว่ากล้องดิจิทัลทำอะไรได้ แล้วก็นำมาใช้ 

“กล้องดิจิทัลถ่ายแล้วเห็นภาพเลย ไม่ต้องรอลุ้นว่าภาพจะออกมาอย่างที่ต้องการหรือไม่ ยุคนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก ถ่ายได้สักพักเราก็เริ่มหาแนวทาง ทุกคนไม่มั่นใจว่ากล้องดิจิทัลจะทำได้เหมือนกล้องฟิล์ม จะทำยังไงให้คนรู้ว่ากล้องดิจิทัลทำได้”

ยุคนั้นผลงานภาพถ่ายที่มีชื่อเสียง คือภาพที่ช่างภาพต้องลงทุนไปฝังตัวหลายเดือนเพื่อถ่ายภาพ หมดฟิล์มเป็นร้อยม้วน เขาอยากพิสูจน์ว่าคนธรรมดาที่ลางานได้จำกัด กับกล้องดิจิทัล 1 ตัว ก็สร้างภาพที่ดีได้ 

ต่อวงศ์เล่าย้อนว่าเขาไม่ได้ทำแบบบุ่มบ่าม แต่วางแผนมาอย่างดี 

เริ่มจากการเลือกสถานที่ ยุคนั้นทิเบตกำลังมาแรงสำหรับนักเดินทาง แต่โปรแกรมเมอร์ที่อยากเปลี่ยนชีวิตเลือกไปเมืองเลห์ ประเทศอินเดีย เพราะเขารู้ว่าตัวเองถ่ายรูปไม่เก่ง ถ้าได้ไปเมืองที่สวย แปลกตา คนไม่เคยเห็น โอกาสได้ภาพที่ดีจะมีมากกว่า

ต่อวงศ์เลือกซื้อกล้องดิจิทัล Nikon ที่เป็นรุ่นเริ่มต้น ไม่ใช่รุ่นสูงสุด เขาวางแผนว่ากลับมาแล้วจะส่งภาพให้ตัวแทนจำหน่ายดู ถ้าภาพถูกนำไปใช้ คนจะรู้สึกตื่นเต้นว่ากล้องรุ่นเริ่มต้นถ่ายภาพได้สวยขนาดนี้ 

“เรารู้ว่ากล้องรุ่นเริ่มต้นขายได้เยอะกว่ารุ่นสูงสุด เพราะฉะนั้น ถ้ากล้องรุ่นนี้ดัง จะช่วยบริษัทนี้เยอะมาก” เขาเล่ากลยุทธ์

“มันไม่ถึงกับเปลี่ยนชีวิตนะ แต่เวลาผมทำอะไร ควรได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ไหน ๆ จะทำแล้ว เอาให้สุด เหมือนเราอยู่ในรายการประกวดร้องเพลง มีคนเก่ง ๆ เต็มไปหมด ถ้าจะให้กล้องส่องมาที่เรา ก็ต้องมีอะไรมากไปกว่าคนที่อยู่บนเวทีอยู่แล้ว” 

สุดท้ายเขาได้ใช้ชีวิตที่เลห์ร่วมเดือน คัด 10 รูปที่ดีที่สุดจาก 2,000 รูป ส่งไปให้ตัวแทนจำหน่ายของ Nikon สุดท้ายรูปของเขาได้จัดแสดงที่ Photo Fair เทศกาลกล้องถ่ายรูปใหญ่ที่สุดในประเทศ 

หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็ไม่เหมือนเดิม มีบริษัทกล้องแบรนด์อื่นติดต่อเข้ามาขอร่วมงาน มีงานถ่ายภาพเข้ามาไม่น้อย ความหนักใจของต่อวงศ์คือเขาถ่ายรูปไม่เก่งพอที่จะรับงานหลากหลายนัก เช่นงานถ่ายภาพแฟชั่น หรือภาพถ่ายงาน Beauty เขาต้องพยายามพัฒนาทักษะอย่างหนักเพื่อให้เลี้ยงชีพในอุตสาหกรรมนี้ได้

งานประเภทหนึ่งที่สำคัญมากกับชีวิตของต่อวงศ์ คืองานถ่ายภาพโครงการบ้านและอสังหาริมทรัพย์

ต่อวงศ์เล่าย้อนว่า พอเริ่มมีคนรู้จัก วันหนึ่งก็มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อว่า แสนสิริ ติดต่อขอให้เขาถ่ายภาพโครงการบ้านใหม่ย่านถนนราชพฤกษ์

“ตอนนั้นผมเริ่มมีเว็บ 2how ของตัวเองแล้ว เขาจ้างเราเพราะอยากโปรโมตบ้านจัดสรร และอยากให้ผมไปซื้อบ้านเขาด้วย 

“เราไปวันเปิดตัว ผมถามเขาว่าขอถ่ายบ้านได้มั้ย แค่ถ่ายเล่นซึ่งปกติเขาไม่ให้ เมื่อก่อนใครเดินถือกล้องเข้าไปโครงการบ้านจัดสรร เขาจะคิดว่าเป็นคู่แข่งมาถ่ายการตกแต่งภายในเพื่อเอาไปลอกแบบ หรือห้างสรรพสินค้าเมื่อก่อนยกกล้องไม่ได้เลยนะ ยุคนั้นกล้องราคายังไม่ถูก ยังไม่แพร่หลายเท่าวันนี้ โทรศัพท์พอถ่ายรูปได้บ้าง แต่ยังไม่ดีเท่าวันนี้”

เช่นเคย เขาส่งภาพที่ดีที่สุดไปให้โครงการ ภาพนั้นถูกใช้แทบทุกช่องทาง เรื่องที่ช็อกที่สุดคือภาพถูกใช้แปะบนบิลบอร์ด สำหรับคนธรรมดา ไม่ใช่ช่างภาพมีชื่อเสียง นี่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา

ภาพบ้านของต่อวงศ์แตกต่างจากคนอื่นตรงที่เขาถ่ายให้เห็นบรรยากาศการใช้ชีวิตภายในบ้านด้วยแสงธรรมชาติ ผิดจากภาพแนวนี้ที่มักถ่ายบ้านพร้อมรถเก๋งจากด้านนอก งานของต่อวงศ์กลายเป็นต้นแบบที่ทำให้โครงการบ้านจัดสรรอื่นทำตาม และเป็นภาพที่เราคุ้นชินจนถึงวันนี้

“ภาพที่ขึ้นบิลบอร์ด เป็นภาพโซฟา ซึ่งแปลกมากนะ เพราะมันไม่ใช่รูปบ้าน ภาพบ้านจัดสรรเมื่อก่อนต้องเป็นบ้านและมีรถจอดอยู่ แต่นี่ไม่ใช่ ผมจำรูปตัวเองได้ แล้วเขาก็เขียนคำโปรย เราเลยเข้าใจภาพแนวนี้ไม่จำเป็นต้องทางการก็ได้ ขอแค่ให้เรารู้สึก

“เรื่องแสงธรรมชาติ ไม่ได้ชอบหรอก แต่ผมไม่มีทีมงาน ไม่มีอะไรเลย สิ่งที่จะเป็นเพื่อนเราก็คือแสงธรรมชาติ ซึ่งมีเสน่ห์ในตัวมันอยู่แล้ว ตอนนั้นน้อยคนที่ถ่ายด้วยแสงธรรมชาติ พอเราถ่ายมันเลยดูแปลก แค่นั้นเอง 

“ก่อนถ่าย 1 วัน เราเอาของใส่รถตอนกลางคืน ตอนเช้ารีบขับออกไปเพื่อให้แสงมันพอดี แดดบ้านเราถ่ายได้ไม่เกิน 9 โมงเช้า ผมจะถ่ายให้เหมือนเราอยู่บ้าน เช่น เน้นถ่ายโต๊ะอาหาร สำคัญสำหรับแสงเช้า เพราะทุกคนตื่นมาก็ต้องกินข้าวเช้า เราพยายามถ่ายให้โต๊ะสวย ตื่นมาแล้วน่านั่ง แค่นั้น ตอนเย็นก็ดูว่าแสงเข้าแต่ละห้องอย่างไร ใช้เวลานาน”

รายได้จากการถ่ายบ้านเลี้ยงชีพต่อวงศ์ ภรรยา และลูกอีก 2 คนได้ไม่ยาก เขาไม่ได้คิดแพง แต่ค่าถ่ายของเขาถือว่าถูกถ้าเทียบกับการจ้างบริษัทใหญ่มาถ่าย สาเหตุส่วนหนึ่งคือเขามาตัวคนเดียว พร้อมกล้อง 1 ตัว แต่สร้างงานได้มีประสิทธิภาพ

“อสังหาริมทรัพย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินเยอะ สมมติว่าสินค้า 1 ล้านบาท จ้างบริษัทถ่ายภาพ 5 – 7 แสนได้อยู่แล้ว เขาจ่ายผมแค่แสนสองได้ เงินจำนวนนี้ 20 ปีที่แล้วเยอะสำหรับผมมาก 

“อีกข้อ คือผมส่งงานเร็ว เพราะลงทุนกับพวกคอมพิวเตอร์ค่อนข้างดี ไม่จำกัดจำนวนภาพกับลูกค้า เพราะงานเราไม่ได้ไปทับกับงานใครอยู่แล้ว ไม่ต้องรีทัชเยอะ ลูกค้าอยากได้ 200 รูป ได้ เหมือนผมส่งสต็อกภาพเลย 1 โครงการบางทีขายกันเป็นปี เขา Reuse รูปผมได้ไม่รู้กี่ร้อยรอบ 

“มีโครงการหนึ่งตรงบางนา ผมถ่ายบ้านตัวอย่าง 10 กว่าหลังได้ เพราะพอถ่ายเสร็จ คนมาซื้อ บริษัทต้องการภาพบ้านตัวอย่างใหม่ ผมก็ต้องเข้าไปถ่ายอีก ภาพซุ้มประตูที่บริษัทใหญ่ถ่ายทำได้ครั้งเดียว แต่ของผมถ่ายได้เป็น 10 หลัง มันมีตลาดแบบนี้อยู่”

ช่วงพีก ๆ ต่อวงศ์ถ่ายบ้านทุกสัปดาห์ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนเขาต้องขอหยุดเพราะเริ่มไม่มีเวลาให้กับครอบครัว

“ต้นทุนของเราน้อยมาก เพราะไม่มีทีมงานเลย ต้นทุนของเรามีแค่ต้องรับส่งลูกให้ทันเท่านั้นเอง” เขายิ้ม

/imagine ช่างภาพผู้ไม่กลัวการเรียนรู้ AI บุกเบิกวิชาถ่ายภาพยุคใหม่ เชื่อเรื่องการแบ่งปันความรู้ร่วมกัน

ชีวิตของต่อวงศ์เปลี่ยนไปด้วยกล้องตัวเดียว

ความจริง เขาไม่ได้รักกล้องตั้งแต่เกิด ครอบครัวเขาไม่มีใครเป็นช่างภาพอาชีพ 

“ผมชอบกล้อง เพราะชอบเล่าเรื่อง แต่ไม่ถนัดเขียน ไม่สนุก ต้องมีภาพประกอบ พอเราถ่ายภาพก็เหมือนได้เล่าเรื่อง ผ่านคำประกอบภาพของเรา”

พ่อของต่อวงศ์ทำงานธุรกิจขายพลอยของครอบครัว ต้องพาแขกบ้านต่างเมืองไปเลี้ยงรับรองบ่อย ๆ ไม่ค่อยอยู่บ้าน พ่อชอบซื้อหนังสือหลากหลาย เก็บใว้ให้ลูกอ่านแก้เหงา

“พ่อชอบเก็บหนังสือเก่า ๆ ช่วงปิดเทอมเราจะไปค้นมาอ่าน โดยเฉพาะนิตยสาร ต่วย’ตูน เวลาเพื่อนถามอะไรที่โรงเรียน ก็จะเล่าให้ฟัง ครูพูดอะไรก็จะโยงได้ มีพื้นที่ให้แสงเรา” เขาเล่า 

เพราะชอบเล่าเรื่อง เขาเลยขยันเล่ามาตั้งแต่สมัยเล่นเว็บบอร์ด มาสู่การสร้างเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียชื่อว่า 2how 

ที่มาเล็ก ๆ ของชื่อนี้ มาจากสมัยเล่นห้องรัชดาใน Pantip เขาชอบเขียนเยอะ ไม่เน้นสาระ จนมีคนหนึ่งเขียนว่า ไอ้นี่มันสามหาว แต่เขียนตลกแบบนี้ เรียกว่า สองหาว ก็พอ

2how คือช่องที่เล่าเรื่องกล้องและการถ่ายภาพ จุดนี้เองที่ทำให้เขาถูกเรียกว่าเป็น ‘นักรีวิวกล้อง’ เบอร์ต้น ๆ ของไทย ถ้าถามเขา หาว 2how แค่อยากเล่าในสิ่งที่เขาอยากเห็น แค่นั้นเอง

“ไม่ได้มีอะไรผิด เพียงแต่เนื้อหาเกี่ยวกับกล้องยุคนั้นไม่ใช่แบบที่เราต้องการ เลยทำเองดีกว่า ผมพอรู้เรื่องเทคโนโลยีบ้าง เอาสิ่งที่รู้มาอธิบาย ทำให้ง่าย คนเลยรู้สึกว่าการถ่ายรูปไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถ่ายแมวถ่ายหมาได้ ไม่ต้องไปถ่ายภาพที่ยิ่งใหญ่ก็ได้

“ผมจะไม่สนใจว่ากล้องรุ่นนี้สเปกอะไร แต่จะดึงมาแค่สิ่งที่อยากเล่า เรื่องนี้โอเคสำหรับผมนะ ถ่ายอาหารสวย จบ แต่กว่าจะให้ลูกค้ายอมรับตรงนี้ได้ก็ใช้เวลา เขาก็อยากได้อะไรครบ ๆ ใช่มั้ย 

“สมัยก่อนอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้เป็นแบบนี้ ต้องเชียร์หนัก ผมไม่สนใจ กล้องบางตัวผมอยากเล่าก็ไปซื้อมาใช้เอง ผมว่าแต่ละคนใช้ของไม่เหมือนกัน แล้วตลาดกล้องก็กว้างใหญ่ไพศาล สื่อกว้างใหญ่มาก คุณไม่ต้องขายให้หมื่นคนเห็น แต่คนมาซื้อคุณ 300 ก็มากกว่าที่คุณเคยขายได้แล้ว 

คุณูปการอย่างหนึ่งของช่อง 2how คือนำวิชาการถ่ายภาพยุคดิจิทัล มาให้คนดูง่าย ๆ บนโลกออนไลน์ ความรู้พื้นฐานที่ต่อวงศ์เล่า สอนช่างภาพมืออาชีพมานักต่อนัก

“ตอนแรก คนไม่รู้ว่าจะเอาความรู้พวกนี้ไปใช้ทำอะไรนะ เขาไม่รู้ว่ามันสำคัญ ได้เรียนพื้นฐานไปโดยไม่รู้ตัว 

“ถ้าเทียบกับฟุตบอล ผมจะสอนจับลูก แปลูก ส่งลูกให้แม่น จับลูกให้ได้ บังบอลเป็น แค่นี้พอแล้ว ไอ้ลูกตีลังกากลับหลังคุณไปทำเอง เพราะใน 90 นาที คุณใช้ในสิ่งที่ผมสอนเยอะกว่าลูกตีลังกากลับหลัง ซึ่งร้อยเกมอาจได้ใช้แค่ครั้งเดียว แต่แปลูกใช้ได้ตลอดชีวิต คุณส่งให้ตรง จับบอลให้นิ่ง พอแล้ว เล่นเป็นทีมได้ ติดตัวไปตลอด

“คนเราจะสอนคนอื่นสิบ ต้องรู้ร้อย แล้วย่อยให้มันง่าย ผมต้องอ่านทั้งหมด ดูว่าเรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนต้องรู้ เหมือนบอกว่าคุณต้องกินผัก จะกินแต่ขนมไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า ไม่ได้กำลังกินผัก ผมจะคิดอย่างนี้ เราต้องพยายามทำให้เรื่องยาก ๆ อย่าง Curve, Histogram, Level เข้าใจง่าย รู้ว่าต่างกันยังไง สมัยก่อนมันก็ยาก สำหรับผมด้วยนะ เหมือนฝึกตัวเราด้วย 

“สอนมา 10 ปี ถามว่าได้ผลมั้ย คิดว่าได้ ช่างภาพที่เขาได้ความรู้จากเราไป ทุกวันนี้ก็ยังกลับมาบอกว่ามันใช่ สัปดาห์ที่แล้วช่างภาพคนหนึ่งส่งข้อความมาบอกว่าเขากลับไปทบทวนสิ่งที่เราสอนใหม่ เพราะเรื่องนี้เราสอนไม่ฉาบฉวย ผมเลยยิ่งต้องพยายามมาก ๆ ต้องทำให้เขารู้สึกว่า กินผักมันไม่ได้ขมนะ AI ผมก็สอนแบบนี้เหมือนกัน” เขาเล่า

“ทุกวันนี้ กล้องถ่ายสวยขึ้น โทรศัพท์ก็ถ่ายได้ ถ้าต้องสอนคนให้ถ่ายรูปเป็น ทักษะอะไรที่เขาต้องมีมากที่สุด” เราถาม

“การถ่ายภาพให้สวยต้องสะสม ค่อย ๆ เก็บ หยอดกระปุก พอถึงจุดหนึ่ง เราจะนำประสบการณ์มาถ่ายทอดผ่านภาพได้ กล้องเป็นแค่เครื่องมือ ทุกวันนี้เราเรียนรู้การใช้เครื่องมือและมุมมอง เด็กสมัยใหม่ก็มองเห็นอะไรใหม่ ๆ นะ เราอย่าไปสอนเขา ถ่ายอันนี้สิ ๆ ไม่ได้

“เราควรสอนให้ดูเยอะ ถ่ายเยอะ มีประสบการณ์ดูงานจากคนอื่น อ่านเยอะ ฟังเพลง อะไรก็ได้ที่จะหล่อหลอมมาเป็นตัวเรา 

“จะทำยังไงให้คนเห็นคุณค่าของประสบการณ์มากกว่าสเปกกล้อง ก็ทำให้เขาดู อย่างเรื่อง AI ผมเห็นชัด เพราะมันเร็วด้วย เชื่อว่าสร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมาก ผมเคยจินตนาการอยากเห็นคนหน้าเป็นปลาหมึกเมื่อตอนเด็ก ๆ เราอยากเห็น ทุกวันนี้ได้เห็นแล้วผ่าน AI

/imagine ช่างภาพผู้รักการเรียนรู้ AI บุกเบิกเนื้อหาสอนถ่ายภาพออนไลน์ เชื่อเรื่องการแบ่งปันความรู้ร่วมกัน วางเป็น เพื่อให้โลกเติบโตอย่างงดงาม

นั่งคุยกับเขาอยู่นาน เราชวนต่อวงศ์ออกมาถ่ายภาพ และคุยกันต่อข้างนอก 

แดดโลกจริงสวยไม่เท่า AI ร้อนกว่าด้วย แต่ลมเย็นก็ชวนให้บทสนทนาไหลลื่นกว่าคุยผ่านจอ

เขาคือนักสร้างภาพ ผู้ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงสู่โลกใหม่ 

ก่อนสร้างภาพ เขาย่อมมีภาพที่อยากเห็นในใจ

ภาพที่ต่อวงศ์อยากเห็น คือภาพวงการภาพถ่ายที่เติบโตอย่างให้โอกาสคนรุ่นใหม่ โดยผู้ใหญ่ที่รู้ว่าควรสร้างประโยชน์อะไรต่อสังคม ในเวลาที่เหลืออยู่

อยู่ในวงการมา 30 ปี คุณคิดว่าตอนนี้อุตสาหกรรมกล้องเป็นอย่างไรบ้าง

มือถือ Disrupt กล้องไปตั้งนานแล้ว เมื่อก่อนกล้องขายดีมาก ในจำนวนกล้องที่ขายหลักร้อยล้านชิ้นมาจากกล้อง Compact ทั้งนั้นเลย ทุกวันนี้บริษัทพยายามทำกล้องใหญ่เพื่อให้ได้กำไรต่อหน่วยเยอะ ๆ แล้วก็ทำเลนส์ กล้องตัวหนึ่งอย่างน้อยต้องมีเลนส์ 2 – 3 ตัว แล้วเลนส์ตัวหนึ่งจะอยู่ในตลาดเป็นสิบปี

ช่วงนี้คือจุดเปลี่ยนที่บริษัทกล้องควรจะมอง สำหรับผม คนอยากได้กล้องสำหรับคนทั่วไปใช้จริง ๆ เช่น Olympus มีรุ่น PEN-F, Fujifilm มี X100, RICOH มี GR คนซื้อกันถล่มทลาย จองกันมหาศาล กล้องแบบนี้จะดึงคนที่เคยใช้สมาร์ตโฟนให้มาสนใจ

ลูกสาวผมไม่ค่อยให้ใครถ่ายรูปนานแล้ว เรากำลังจะไปเที่ยวกัน เขาบอกว่าช่วยเอากล้องไปด้วยนะ อยากได้รูปเผลอ ๆ (หัวเราะ) คือมีคนอยากได้รูปที่ไม่ใช่จากสมาร์ตโฟน แต่ก็ไม่ได้อยากเป็นมืออาชีพ หรือมืออาชีพเวลาไปเที่ยวก็ไม่ได้อยากใช้กล้องใหญ่ เขาก็ใช้กล้องฟิล์มบ้าง เป็นสันทนาการ ผมอยากให้บริษัทกล้องทำตรงนี้ออกมาเยอะ ๆ 

แล้วแบรนด์ 2how ล่ะครับ วางแผนไว้ยังไง

ผมไม่มีแบรนด์หรอก ขนาดโดเมน 2how.com ยังปล่อยทิ้งเลย ขี้เกียจรักษามันไว้ 

คนจำเรามากกว่าชื่อ 2how เขาตื่นมาก็อยากจะรู้ว่าพี่หาวทำอะไร แค่นั้นเอง ผมอยากตายไปแบบไม่มีอะไร ทุกวันนี้พยายามวางทุกอย่าง รูปที่ผมถ่าย บอกใครต่อใครว่าอยากเอาไปใช้อะไรก็ใช้เลย ไม่มีลิขสิทธิ์ ถ้าเอาไปทำโปสต์การ์ดแล้วมันเลี้ยงครอบครัวคุณได้ก็ทำเถอะ 

ตอนนี้เว็บให้น้อง 2 คนดูแล เราแทบไม่ได้ดูว่าเขาลงอะไร

มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่แล้ว

คนบางคนวางชื่อเสียงไม่เป็น ทำไมคุณทำได้

ไม่รู้จะถือทำไม บอกไม่ถูก 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราชอบเล่นอะไรใหม่ ๆ ด้วยล่ะ เลยวางได้ 

ผมทำเว็บบอร์ด 2how พอเห็น Facebook มา เว็บบอร์ดไม่จำเป็นแล้วนี่ คิดได้คืนนั้น ปิดเลย คนก็งงว่าทำไมปิด ก็ไปเล่นในเฟซบุ๊กสิ เพราะนี่คือโซเชียลมีเดีย ทุกคนเป็นสื่อแล้ว ไม่ต้องให้ 2how เป็นสื่อ เราคิดว่าดีกว่า

ถ้าเราไม่วาง เราเดินต่อไม่ได้นะ 

เมื่อวานเพิ่งคุยกับภรรยาว่าทุกวันนี้แก่ตัวต้องระวังตัวมาก เพราะความคิดของเรามาจากคนที่เติบโตมา 50 ปีแล้ว ถูกมั้ย ผมถูกเลี้ยงดูมาแบบคนยุคก่อน ไม่ได้มีความ PC (Political Correctness) เหมือนมุกในตลกคาเฟ่ แต่ก่อนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเอาสิ่งนี้มาคุยกันในเวลานี้ก็ไม่ถูกต้อง ผมต้องทบทวนทุกครั้งเวลาจะเขียนอะไรลงไปในเฟซบุ๊ก ในโซเชียลมีเดีย ต้องไม่ไปกระทบกระเทือนสิ่งที่สังคมเป็น

ตอนนี้ผมชอบผลักดันคนรุ่นใหม่ เห็นอะไรมาที่คิดว่าดีก็อยากสนับสนุนเขามากเลย เพราะเราเคยรู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสแบบนี้ ณ เวลาที่เราเติบโต เพราะฉะนั้นอะไรที่เราช่วยได้ก็ช่วย อย่างน้อยช่วยแชร์ ช่วยพูดถึงก็ยังดี แล้วเราอยากเห็นเขาเติบโตแบบของเขา ปล่อยเลย ไอ้นี่มันบ้าดีเว้ย เรารู้สึกแบบนี้ เขาจะได้เติบโตได้ 

ผู้ใหญ่บางคนคิดแบบคุณไม่ได้นะ

ถ้าดูสารคดีสัตว์โลกเยอะ ๆ ก็จะเข้าใจ จ่าฝูงที่แก่แล้ว ต้องไปตายอยู่คนเดียว เดินไปเงียบ ๆ ชีวิตเราก็ได้ใช้ไปตั้งเยอะแล้ว

ผมรู้ตัวว่า คนรุ่นผมควรที่จะล้มได้แล้ว และไม่ต้องรอให้ใครมาล้ม เราต้องย่อตัวเองลงมาให้เขาสัมผัสได้ ยิ่งเราย่อ เขายิ่งเอ็นดูเรา คนที่กล้าแข็ง ไม่ลดตัวเองลงมา ก็อย่างที่เห็น ผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมืองก็เป็นแบบนี้ ขาดความเชื่อมโยงกับเด็ก ขาดความเคารพ ถ้าอยากให้เขาเคารพ ก็ทำตัวให้น่าเคารพ ก็จบ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ