สงบ ร่มรื่น จิตใจเบิกบาน – นั่นคือความรู้สึกหลังมาเยือนสถานที่แห่งนี้

‘Seri Art Gallery’ หรือหอศิลป์เสรี คือสถานที่ที่เราพูดถึงในประโยคข้างต้น เราเชื่อว่าใครแวะเวียนมาที่นี่ ต่างต้องมีความคิดแวบเข้ามาในหัวเหมือนกันว่า ‘จังหวัดลำปาง มีพื้นที่แบบนี้ด้วยเหรอเนี่ย’

น่าชื่มชนยินดีที่จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้มีสเปซให้ผู้คนได้ดื่มด่ำและดำดิ่งกับงานศิลปะ

หอศิลป์เสรี ตั้งอยู่ในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับ Earth & Fire Ceramics โรงงานและโชว์รูมเซรามิกที่เปิดทำการมานานถึง 31 ปี บรรยากาศโดยรอบสงบเงียบ ได้ยินเสียงธรรมชาติชัดแจ๋ว โอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวแสนร่มรื่น พร้อมบึงน้ำขนาดใหญ่ให้พักสายตา

ต้นความคิดที่ริเริ่มสร้างหอศิลป์แห่งนี้ขึ้นมา คือ เอกฤทธิ์ ประดิษฐ์สุวรรณ 

เอกฤทธิ์เป็นคนนำสมัย (มาก่อนกาล) เขาคิดเร็ว ทำเร็ว ทดลองทำมาแล้วหลายอย่าง ทั้งออกแบบบ้าน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำโรงงานเซรามิก ทำหนังสือ-นิตยสาร ทำหอศิลป์

เขาเปิดหอศิลป์ครั้งแรกในวัยเพียง 24 ชื่อว่า ‘หอศิลป์เสรี’ ตั้งตามชื่อผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เขานับถือ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ให้กำลังใจและให้การสนับสนุนเขาด้านศิลปะมาโดยตลอด อีกนัยยังหมายถึง อิสระ

หลังหอศิลป์เสรีที่กรุงเทพฯ ปิดตัวลง เอกฤทธิ์ได้ฟื้นลมหายใจนั้นขึ้นมาอีกครั้งที่เมืองลำปาง

ก่อนหน้านี้เขาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ คงต้องยกความดีให้โควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดแกลเลอรีแห่งนี้ขึ้นในอำเภอเกาะคา บนพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานเซรามิกที่เอกฤทธิ์เป็นผู้ก่อตั้ง

“ต้องขอบคุณโควิด-19 มันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตผม ช่วงเวลานั้นทำให้ผมได้นั่งเขียนรูปทุกวัน สนุกและท้าทายมาก เพราะผมตั้งเป้าว่าจะเขียนให้ได้ 1,500 รูป ตอนนั้นผมเขียนได้ 300 รูป แขวนภาพไว้หลายห้องจนไม่มีที่เก็บ เลยตัดสินใจมาสร้างหอศิลป์ที่ลำปาง ความคิดแรก ผมทำเพื่อตัวเอง

“เพื่อแขวนรูปของตัวเอง ฝุ่นจะได้ไม่เกาะ เวลาใครมาเยี่ยมก็จะพาเดินดู มันโก้ดีเว้ย มีแกลเลอรีของตัวเอง ตอนเปิดครั้งแรกก็จัดแสดงงานตัวเอง แล้วมีศิลปินมาแนะนำตัวว่าเขาอยากขอร่วมแสดงงานด้วยได้ไหม พอจัดนิทรรศการครั้งที่ 2 ก็มีศิลปินมาแสดงงานด้วย 2 – 3 คน พอมีคนมาดูงานก็ชักเหิมเกริม อยากจัดนิทรรศการครั้งที่ 3 ก็ประกาศรับศิลปิน มีศิลปินตอบรับมา 52 คนจากทั่วประเทศ”

นับเป็นความสำเร็จที่น่ายินดีอย่างยิ่งของหอศิลป์น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ไม่ถึงขวบปี ทั้งยังเป็นหอศิลป์ที่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้ศิลปินน้องใหม่และศิลปินตัวเล็ก ๆ ในท้องถิ่นได้จัดแสดงงาน

“นี่ไม่ใช่แกลเลอรีของผมแล้ว เห็นไหมว่ามันเสรีจริง ๆ” ใบหน้าเขาแต้มรอยยิ้มน้อย ๆ

กล่องสีดำขนาดยักษ์ที่ห่อหุ้มผลงานศิลปะอยู่นี้ เป็นฝีมือการออกแบบของเอกฤทธิ์ เขาออกแบบสเปซให้โปรงโล่ง กวาดสายตามองเห็นงานศิลป์ได้ทุกชิ้น และมีบันไดสำหรับเชื่อมมาสู่ชั้นลอย

“หอศิลป์ของผมเป็นหอศิลป์มาตรฐาน ใช้โครงสร้างเหล็กเบา ไม่ใช้วัสดุสิ้นเปลือง มีความยืดหยุ่นในการจัดแสดงงาน และจัดแสดงงานได้หลากหลายประเภท ผมไม่จำกัด มาเถอะ” เขาเชิญชวน

“ผมอยากให้ที่นี่เป็น Underground Gallery จุดเริ่มต้นของคนที่มีฝีมือแต่ยังไม่มีชื่อเสียง”

เอกฤทธิ์เป็นเจ้าของหอศิลป์และศิลปิน บางจังหวะเวลาเขาก็รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ เขาอยากให้คนเขามาเยี่ยมชมในพื้นที่เยอะ ๆ ยิ่งเป็นหมู่คณะเขายิ่งชอบ เอกฤทธิ์ยินดีพาทัวร์และแบ่งปันข้อมูล-องค์ความรู้ที่เขามีให้ผู้มาเยือนฟัง ซึ่งมีคณะนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์มาเยี่ยมชมที่แห่งนี้แล้วหลายหน

“ผมอยากทำให้ศิลปะเข้าถึงง่าย และอยากให้คนที่มาหอศิลป์เสรี รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ จนเขาได้ยินในหัวใจว่าความงามมันช่วยเขาได้ ความงามมันช่วยจรรโลงใจ และความงามก็ช่วยจรรโลงโลก

“ช่วงเปิดแรก ๆ มีศิลปิน มีคนรักศิลปะ ทยอยกันมา บางคนมาจับมือผมเพื่อขอบคุณ ในใจผมคิดว่าที่นี่สั่นสะเทือนพวกเขาขนาดนี้เลยเหรอ ถึงขนาดพาคณะนักเรียนมาดูตั้งหลายรอบ จนผมตกตะกอนได้ว่าสิ่งที่ผมทำอยู่คงสำคัญจริง ๆ จากตอนแรกทำเพื่อความสนุก กลายเป็นว่ามันไปกระตุ้นความรู้สึกของคนอื่นด้วย ผมขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ ตัวผมเองก็รู้สึกโชคดีที่ได้ทำสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา”

หอศิลป์เสรีอยากเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปและเผื่อแผ่เกื้อกูลผู้อื่น ในอนาคตเขาอยากให้พื้นที่นี้เป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ อาจจะมีร้านรวงดี ๆ มีหนุ่มสาวที่มีความคิดในแนวทางเดียวกันมารวมตัวกัน

แน่นอนว่าเขาอยากเห็นหอศิลป์เกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัดของไทย ไม่เพียงเพราะความงามช่วยจรรโลงจิตใจ แต่ต่อยอดไปถึงการท่องเที่ยวได้ เอกฤทธิ์บอกว่า หากเราทำหอศิลป์ให้ดีจนกลายเป็นหมุดหมายที่คนอยากมาดู นั่นจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น

เช่นเดียวกับหอศิลป์เสรีที่เขาอยากให้กลายเป็นจุดหมายหนึ่งของการมาเยือนลำปาง ภายในพื้นที่ 20 ไร่ยังมีคาเฟ่ที่สนับสนุนเมล็ดกาแฟและโกโก้จากท้องถิ่น มีเวิร์กช็อปเพนต์เซรามิก มีโชว์รูมเซรามิกที่อุดหนุนสินค้าจากช่างฝีมือลำปางกลับบ้านได้ มีที่พักขนาดกะทัดรัดให้บริการในราคาย่อมเยา

ที่สำคัญยังมี Artist in Residence ที่ให้ศิลปินมาพำนักเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ

เร็ว ๆ นี้ที่หอศิลป์เสรีจะจัดแสดงนิทรรศการครั้งที่ 4 ‘The Colorful Expressionism’ รวมศิลปินเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ชาวไทยจำนวน 5 คน ได้แก่ ผศ.ดร.สมพร แต้มประสิทธิ์, บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส, ไชยพันธุ์ ธนากรวัจน์, นพดล เนตรดี และ เอกฤทธิ์ ประดิษฐ์สุวรรณ

เปิดนิทรรศการในวันที่ 5 พฤษภาคม และจัดแสดงถึงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เอกฤทธิ์ยังเปิดคลาสสอนสีน้ำมันด้วย หากสนใจ สอบถามได้ที่ Facebook : Seri Art Gallery

Seri Art Gallery
  • 371 ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
  • Seri Art Gallery

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล