16 กุมภาพันธ์ 2024
9 K

เท่าที่พอจำความได้ นับตั้งแต่ปลายยุคเฟื่องฟูของธุรกิจร้านเช่าวิดีโอเทป ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีธุรกิจเกี่ยวกับหนังสืออยู่ 2 ประเภท คือร้านเช่าหนังสือการ์ตูนที่ต่อมาทยอยล้มหาย และแผงขายหนังสือพิมพ์-นิตยสาร ซึ่งยังพอหลงเหลือให้อุดหนุนสิ่งพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ เกินกว่านั้นต้องไปซื้อหากันในเมือง

แต่แล้ววันดีคืนดี กลางปีที่ผ่านมา ซอยเล็ก ๆ หน้าโรงเรียนประจำอำเภอก็มีร้านหนังสืออิสระเกิดขึ้น ราวกับปาฏิหาริย์ของนักอ่านบ้านไกล จากถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ เมืองเก่าสงขลา ถึงชานเมืองเชียงใหม่ ใช่! นี่คือ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ : สารภี เชียงใหม่’ ที่เพิ่งย้ายจากปักษ์ใต้มาแดนเหนือของ จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ หญิงสาวที่มีดอกไม้ดังความอิ่มเอมใจ ซึ่งทุกคนสัมผัสและรับรู้ได้เมื่อมาเยือน กับ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ผู้เปิดโลกมหัศจรรย์ของหนังสือภาพที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านก็เข้าท่า 

คอลัมน์ Share Location รอบนี้ เราขอพาผู้อ่านมาแง้มประตู เยี่ยมชมร้านหนังสืออิสระเจ้าเดิม เพิ่มเติมคือบริการและบรรยากาศใหม่ที่อบอุ่น แจ่มใส และเชื้อชวนให้เราอยากขลุกอยู่กับหนังสือทั้งวี่วัน พร้อมอัปเดตทิศทางน่าสนใจและไขคุณค่าของหนังสือเด็ก จากประสบการณ์ของร้านหนังสือที่ขับเคลื่อนความสุข ปลูกความคิด และถักทอมิตรภาพกับนักอ่านรุ่นจิ๋วจนถึงรุ่นใหญ่มาตลอดหลายปี

บ้านภายใน

หากใครเพิ่งเคยได้ยินชื่อของร้านหนังสือเล็กๆ เราขอเกริ่นให้ฟังสักนิดว่าที่นี่ปักหมุดอยู่ในแผนที่ร้านหนังสืออิสระมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยร้านแรกตั้งอยู่บริเวณถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ มีจี๋เป็นเจ้าของร้าน ส่วนเอ๋คือหนึ่งในบรรดาลูกค้ามากหน้าหลายตาที่แวะเวียนมาอุดหนุนและช่วยงาน ก่อนพัฒนาเป็นเพื่อนซี้ปึ้ก จนถึงขั้นกลายเป็นผู้รับไม้ต่อพาร้านไปแบ่งบานยังจังหวัดสงขลา

ด้วยปัญหาสุขภาพ จี๋อยากพักและพับร้านที่กรุงเทพฯ ขณะที่เอ๋ชักเบื่อเมืองกรุงเลยอยากกลับถิ่นที่ช่วงชีวิตหนึ่งเคยหล่อหลอมเด็กหญิงให้โตขึ้นมาเป็นบรรณาธิการ พร้อมต่อลมหายใจของร้านหนังสือที่เธอตกหลุมรัก 

กระนั้นเหตุผลที่ทั้งสองย้ายขึ้นมาเชียงใหม่ ไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับความเหนื่อยและหน่าย

“ไม่ ๆ ชอบมาก ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงร้านที่สงขลาอยู่เลย” เอ๋ปัดทันควัน แววตายังทิ้งรอยอาลัย

“เราเป็นคนเอ่ยชวนเอ๋ว่ามาอยู่เชียงใหม่เถอะ มาปลูกบ้านอยู่ดูแลกัน” จี๋อธิบายเหตุผล “แต่ประเด็นสำคัญสำหรับเรา คือการกลับบ้าน สุดท้ายพออายุถึงจุดหนึ่ง เราควรจะกลับบ้าน ‘บ้าน’ ที่หมายถึงบ้านจริง ๆ และบ้านภายใน เพื่อให้การงานกับชีวิตได้เป็นหนึ่งเดียวกัน” 

เอ๋พยักหน้าหงึกหงัก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย การเปิดขายหนังสือหน้าร้านหมดสิทธิ์ จึงทำให้เธอยิ่งตัดสินใจได้เร็วขึ้น

ในดอกไม้มีจักรวาล

“จริง ๆ เราไม่เคยรู้จักอำเภอนี้มาก่อน แต่เลือกที่นี่เพราะมีเพื่อนปลูกบ้านอยู่แถวนี้ แล้วก็ชอบชื่อสารภีเพราะชอบเรื่องสั้น สารภีเดือนกุมภา ของ สุวรรณี สุคนธา” จี๋เล่ากลั้วหัวเราะ

ความจริงอีกข้อ เธอและครอบครัวย้ายมาปักหลักอยู่เชียงใหม่ได้นานปี ก่อนต้องใจกับพื้นที่สวนลำไยในซอยร่มรื่นผืนนี้ พลันจัดแจงสร้างที่พัก ปลูกไม้ใหญ่ และบรรจงแต้มชีวิตชีวาด้วยมวลดอกไม้นานาชนิด จากแนวรั้วชมพูอ่อนหวาน รายสีสันไปรอบบ้าน โปรยยิ้มสดใสด้วยสวนกระถาง และประดับเบิกบานในร้านหนังสือ

  “พ.ศ. 2553 เราย้ายมาอยู่ที่นี่ ใช้ชีวิตอยู่กับการเขียนรูปและเขียนบทความ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไม้ เพราะเป็นสิ่งที่เรารักและฟูมฟักมาจากคุณยายตั้งแต่เด็ก สมัยทำร้านหนังสือตรงถนนพระอาทิตย์ ทุกครั้งที่มีโอกาสแวะมาเยี่ยมครอบครัวที่เชียงใหม่ เราจะหอบดอกไม้ในสวนกลับไปแต่งร้าน พอเอ๋ย้ายมา เราเลยรับหน้าที่จัดมุมดอกไม้ในร้านให้น่ารักกุ๊กกิ๊ก แต่บางทีเอ๋ก็บอกว่าชอบร้านรก ๆ ร้านหนังสือควรจะรก ๆ เขาว่า” จี๋สัพยอก

เอ๋หัวเราะร่วนพลางอธิบายว่า “เราชอบร้านที่มีหนังสือเยอะ ๆ พอคนเปิดเข้ามาแล้วรู้สึก โอ้โห! หนังสือเยอะจัง เหมือนตอนร้านอยู่สงขลา ร้านเรารกมาก ๆ” 

“เราก็ชอบหนังสือเยอะเหมือนกัน แต่ขอเอาดอกไม้ไปวางให้มีสีสันนิดหนึ่ง” จี๋พูด “ปกติเราแต่งดอกไม้ที่บ้านและโต๊ะกินข้าวทุกวัน เพราะเรามีความสุขกับมัน เราไม่ได้มองดอกไม้แค่ความงาม หากมองลึกไปถึงชีวิตและจักรวาล เราเห็นความแบ่งบาน ความร่วงโรย และธรรมชาติ บางทีไม่จำเป็นต้องหาคำตอบมากหรอก แค่ได้ชื่นชมก็ประโลมใจ และอีกอย่าง เราอยากแบ่งปันสิ่งนี้ให้ทุกคนที่แวะมา”

นักสะสมมิตรภาพ

มีหนังสืออีกหลายตั้งที่ยังไม่ได้ออกมาสัมผัสอากาศเชียงใหม่ หนังสือปริมาณแน่นตู้ล้นโต๊ะทั้งหมดถูกขนย้ายจากสงขลามาเชียงใหม่ด้วยรถบรรทุกคันใหญ่จากน้ำใจและมิตรภาพของลูกค้า

“ไม่กี่เดือนก่อนปิดร้านที่สงขลา จู่ ๆ ก็มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่เคยติดต่อกันเลย ทักมาถามวันเวลาเปิด-ปิด แล้วก็ตั้งใจบินจากเชียงใหม่มาที่ร้านกับแฟน ช่วงนั้นเราทยอยเก็บข้าวของลงกล่อง วางไว้เต็มร้าน คุยกันไปมา แฟนของน้องก็บอกว่าเขาทำธุรกิจขายชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต และเดือนหน้าต้องเอาของมาส่งที่สงขลา ขากลับเลยจะให้รถแวะมาช่วยขนของทั้งหมดไปเชียงใหม่

“ทีแรกเราฟังก็เกรงใจ จึงเสนอว่าขอจ่ายค่าน้ำมันเอง แต่เขาบอกไม่เป็นไร พอถึงเวลาเขาก็มาช่วยขนของใส่รถบรรทุกให้เที่ยวเดียวเกลี้ยงร้านเลย” เอ๋เล่าเรื่องราวปาฏิหาริย์นี้ด้วยความตื้นตันใจ 

ตลอดการเดินทางของร้านหนังสือเล็กๆ ไม่เคยเดียวดาย เพราะทำให้ทั้งคู่พบเจอมิตรภาพดี ๆ และผู้คนน่ารักมากมายที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเสมอมา ไม่เพียงเท่านั้น มิตรภาพที่เอ๋ได้รับยังมาในรูปสารพัดข้าวของเกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกของโลก โดย อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ทั้งตุ๊กตา ภาพวาด หนังสือแปลฉบับภาษาต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ทั่วร้านให้แฟน ๆ ใจฟู

เจ้าชายน้อย เป็นวรรณกรรมที่เราชอบมาก ด้วยความที่เราแปลเรื่องนี้ กลายเป็นว่าคนที่แวะเวียนมาหาก็มักซื้อข้าวของเกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย มาฝาก” สำหรับนักอ่านที่คุ้นชื่อจริงของเอ๋ เฉลยตรงนี้ว่า บนปกหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาไทย มีชื่อเธอเป็นผู้แปลรุ่นแรก ๆ ที่แปลตรงจากภาษาฝรั่งเศส

“ไม่นานมานี้มีคนทักกล่องข้อความมาขอที่อยู่ บอกว่าหนูไปเห็น เจ้าชายน้อย แล้วคิดถึง อยากส่งมาให้ เวลามีใครมาถามว่าสะสม เจ้าชายน้อย ใช่ไหม เรามักตอบไปว่าเราสะสมที่มีคนซื้อมาฝาก เพราะซื้อเองน้อยมาก” เอ๋หัวเราะ “ถึงอย่างนั้น เรามองว่าในวันที่เขาเลือกหยิบและส่งมา มันไม่ใช่แค่สิ่งของ หากหมายถึงมิตรภาพ ความคิดถึง และความรู้สึกดี ๆ ต่อกันต่างหากที่สะสมอยู่ในนั้น”

หลุมหลบภัย

สัมผัสแรกเมื่อก้าวเข้ามาภายในร้าน บรรยากาศสงบ ผ่อนคลาย ทุกมุมทำให้รู้สึกคล้ายตัวหดเล็กลงและเบาใจที่จะหย่อนตัวสักพัก กับหนังสือเล่มโปรดสักเล่ม หลบเร้นจากโลกภายนอกสักครู่หนึ่ง

จี๋ตั้งใจออกแบบบรรยากาศร้านให้เหมือนบ้าน เมื่อผลักประตูเข้ามาก็เจอกับห้องหนังสือ

“แต่ข้อจำกัดก็คือ บางคนไม่รู้สึกว่าเป็นร้านและเกรงใจ” จี๋กล่าว

“มันมองได้ 2 มุมนะ บ้างก็ชอบ เพราะสบายเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเลย แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เพิ่งเคยมาจะเกรงใจมากกว่า บางคนหันมาถามเราว่า หนูมารบกวนหรือเปล่าคะ จนบางทีถ้าอยากให้เขานั่งนาน ๆ เราจะออกไปข้างนอก ปล่อยให้เขาได้ใช้เวลาเต็มที่ แล้วค่อยแวบเข้ามาดูเป็นระยะว่าขาดเหลืออะไรตรงไหน” เอ๋เสริมต่อว่า “ร้านหนังสือไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มักเป็นเสมือนหลุมหลบภัยของบางคนนะ พอเข้าไปอยู่ท่ามกลางกองหนังสือ รู้สึกถึงความอบอุ่น ปลอดภัย เราเลยพยายามทำบรรยากาศที่นี่ให้คนเข้ามาแล้วสบายใจ มานั่งอ่าน นอนอ่าน จะซื้อไม่ซื้อไม่ว่า หรือแค่แวะมาพักผ่อนก็ได้” 

เอ๋ยิ้มหลังตอบคำถามอย่างใจดี ส่วนจี๋ขอตัวไปเตรียมชาและขนมมาให้ทาน

อ่านเพื่อคิด

หลายคนอาจติดภาพของร้านหนังสือเล็กๆ สงขลา ว่าเป็นร้านขวัญใจเด็ก ๆ จึงพลอยคิดไปว่าคงมีแต่หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ทว่าอันที่จริงแล้วที่นี่มีหนังสือสำหรับนักอ่านทุกวัย โดยเฉพาะคอวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล 

 “ร้านเรามีหนังสือวรรณกรรมของหลายสำนักพิมพ์นะ อาทิ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, แพรวเยาวชน, ผจญภัย, กํามะหยี่, อ่านอิตาลี, Library House, SandClock Books, Merry-Go-Round Publishing ฯลฯ แล้วก็มีหนังสือประเภท Non-fiction ที่อ่านไม่ยาก ไม่ใช่วิชาการหนัก ๆ เช่นของสำนักพิมพ์ bookscape ส่วนมากเราเลือกจากความสนใจของตัวเองว่า ถ้ามีเวลาเหลือเฟือในชีวิตเราจะอ่านเล่มนี้ไหม สมมติหยิบขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าต่อให้มีเวลาเหลือ ๆ ก็ไม่อ่าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่าหนังสือเล่มนั้นดีหรือไม่ดี แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของเรา เราก็จะไม่สั่งเข้ามา” 

นอกจากหนังสือวรรณกรรม หนังสือภาพก็เป็นอีกประเภทที่โดดเด่นและจัดมุมออกมาได้อย่างน่ารัก รับประกันว่าถ้าเห็นจะอยากเข้าไปนอน ไปนั่ง ทักทายตุ๊กตาเพื่อนเก่าจากโลกแห่งนิทาน นับเป็นมุมสุดโปรดปรานของเด็ก ๆ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าของร้าน

“เราชอบมุมหนังสือเด็กเพราะรู้สึกสบาย ส่วนตัวเราชอบหนังสือประเภทนี้อยู่แล้ว อีกอย่างหนังสือเด็กที่อยู่ในร้าน เราอ่านหมดทุกเล่มเพราะเนื้อหาสั้น แต่ถึงอ่านจบแล้วก็ยังต้องกลับมานั่งเปิดซ้ำ เพื่อดูรายละเอียดภาพประกอบอีกที เนื่องจากบางเล่มมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก”

เอ๋อธิบายต่อว่า ข้อสำคัญของหนังสือเด็กคือภาพประกอบ มีศัพท์เฉพาะเรียกหนังสือประเภทนี้ว่า ‘หนังสือภาพ’ (Picture Book) คือหนังสือที่เน้นนำเสนอเนื้อหาผ่านภาพประกอบหลากรูปแบบ บางเล่มอาจเป็นภาพที่ผู้เขียนต้องการเว้นช่องว่างให้คิด หรือภาพที่ซุกซ่อนรายละเอียดนอกเหนือตัวบทให้เด็ก ๆ สนุกกับการคิด ค้น และฝึกสังเกต 

“ร้านเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับหนังสือเด็ก เพราะเราคิดว่าการอ่านต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กและเด็ก ๆ ทุกคนชอบอ่านหนังสือ” จากการเฝ้าสังเกตของพฤติกรรมนักอ่านรุ่นเยาว์ที่แวะเวียนมา เอ๋พบว่าพวกเขาจะนั่งนิ่งและมีสมาธิเมื่อเริ่มพลิกหน้ากระดาษ นี่เป็นเหตุผลที่เธอตั้งใจเนรมิตมุมหนังสือเด็กแสนรื่นรมย์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กทุกคนใช้เวลากับการอ่านอย่างเต็มอิ่ม 

“ถามว่าหนังสือเด็กให้อะไรกับเด็กบ้าง เราว่าหลัก ๆ เป็นเรื่องจินตนาการนะ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหนังสือเด็กมักสอดแทรกเรื่องความกล้าหาญ กล้าคิด หรือกล้าแสดงออก พอเด็กอ่าน เขาจะซึมซับเรื่องเหล่านี้โดยที่เราไม่ต้องสอน ในทางเดียวกัน หนังสือเด็กทุกเล่มของที่นี่จะไม่มีแนวสั่งสอน ประมาณว่าสร้างให้เด็กเป็นตัวร้ายก่อน เช่น เด็กคนนี้ไม่ยอมแบ่งปันเพื่อน เด็กคนนี้ไม่ยอมทําการบ้าน หรือเด็กคนนี้ไม่เชื่อฟังคุณครู จนสุดท้ายก็พบกับเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เด็กคนนี้เปลี่ยนแปลง หนังสือแบบนี้เราจะไม่เลือกเข้าร้าน เพราะอยากให้เด็กได้คิดเองมากกว่า

“แล้วหนังสือเด็กที่ดีจริง ๆ เด็กจะอ่านเป็น 10 – 20 รอบจนพ่อแม่เบื่อเลย เพราะแต่ละครั้งเขาจะได้เห็นในสิ่งที่ครั้งก่อนอาจไม่เห็น ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็ก เขาจะไม่เห็นรายละเอียดของภาพได้มากเหมือนผู้ใหญ่ เพราะมุมมองในการรับภาพของเขาแคบกว่า และเลือกมองเป็นส่วน ๆ เขาจึงเปิดอ่านได้หลายรอบโดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องชี้ให้ดูว่า นี่ เห็นมั้ยมีหนูแอบอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวเขาก็จะเห็นเอง

“สำคัญที่สุดคือต้องไม่ชี้นำความคิดหรือพยายามตีความเชิงสอน เพราะถ้าเด็กอยู่บ้านพ่อแม่ก็สอน ไปโรงเรียนคุณครูก็สอน กลับมาเปิดหนังสือก็สอนอีก เขาจะไม่อยากอ่านหนังสือ” 

คุยกันไปมาถึงเรื่องราวของเด็กกับการอ่าน เอ๋ก็อัปเดตทิศทางความเปลี่ยนแปลงอันน่าสนใจของหนังสือเด็กยุคนี้ที่บอกเล่าประเด็นยาก ๆ อย่างเรื่องความตายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

 “ความตายเป็นเรื่องนามธรรมและค่อนข้างอธิบายยากสําหรับเด็ก ยิ่งถ้าเป็นบ้านเราจะไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้ให้เด็กฟังสักเท่าไหร่ แต่ความจริงคือเด็กมองความตายต่างจากผู้ใหญ่ และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีปู่ย่าตายายที่ผูกพัน หรือแม้แต่ความตายของสัตว์เลี้ยง ฉะนั้น เราต้องเตรียมเด็กให้พร้อมรับมือกับการพลัดพรากด้วยความเข้าใจ 

“มีหนังสือเด็กหลายเล่มที่พยายามถ่ายทอดประเด็นนี้ให้เข้าใจไม่ยาก เช่น คุณตาจ๋า ลาก่อน เป็นเรื่องราวของลูกหมีที่สูญเสียคุณตา แล้วสัตว์น้อยใหญ่ในป่าก็พากันหาสิ่งของที่คุณตาชอบมาวางให้คุณตา ตกค่ำก็ชวนกันพูดคุยถึงคุณตา สุดท้ายเพื่อน ๆ เอ่ยถามลูกหมีว่า พรุ่งนี้เขาจะทำอะไรดีในเมื่อไม่มีคุณตาแล้ว ลูกหมีบอกว่าก็ไปตกปลาสิ เพราะการตกปลาเป็นสิ่งที่เขาเคยทำกับคุณตา คือคุณตาตายไปแล้วก็ไม่เป็นไร ยังคิดถึงคุณตาได้ แล้วก็ร้องไห้ได้นะ ก็เขารักคุณตานี่ แต่ว่าสุดท้ายชีวิตก็ต้องดําเนินต่อไป”

ยอมรับว่าระหว่างที่ฟังเอ๋เล่า รู้สึกเหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง และปลื้มใจแทนคุณพ่อคุณแม่ที่พาลูก ๆ มาตักตวงความสุข เติมเต็มวัยเด็กอันอบอุ่นและปลอดภัยในร้านหนังสือแห่งนี้

สิ่งที่ดีต่อใจ

“ตอนแรกว่าจะยังไม่เปิดเพราะยังขนหนังสือออกมาจัดไม่ครบ แต่ถ้าจะต้องรอให้ครบคงไม่ได้เปิดสักที เพราะทุกวันนี้ก็ยังไม่ครบอยู่ดี เลยใช้วิธี ถ้าลูกค้าถามหาเล่มที่เรามีค่อยค้นให้” 

ปีกลายเดือนตุลาคม ร้านหนังสือเล็กๆ สารภี ก็เปิดประตูต้อนรับมิตรรักนักอ่านทั้งที่เคยคุ้น คิดถึง และเพื่อนใหม่ที่รอพบปะสังสรรค์ พร้อมเพิ่มบริการเครื่องดื่มชา กาแฟ และขนมโฮมเมดที่จี๋บรรเลงฝีมือเอง อย่างที่เธอนำมาเสิร์ฟให้ลิ้มลองในวันนี้ มีชากลีบดอกไม้กับสโคนแยมสตรอว์เบอร์รีกุหลาบ เปรี้ยวนิด หวานหน่อย เด่นหอมละมุน แถมหน้าตายังน่ารับประทานอย่าบอกใคร

“ลูกค้าส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็นกลุ่มที่รู้จักเราอยู่แล้วหรือคนที่ติดตามเพจ ส่วนคนเชียงใหม่เองก็มีแวะเวียนมาบ้าง เนื่องจากร้านเราค่อนข้างอยู่ห่างจากตัวเมือง คนที่มาจึงต้องตั้งใจมาจริง ๆ ต่างจากตอนอยู่สงขลาที่จะได้ลูกค้าทั้งนักอ่านขาประจำ ขาจร และนักท่องเที่ยว”

ถึงอย่างนั้น เอ๋บอกว่านักอ่านวัยเด็กก็ยังครองอันดับ 1 เช่นเคย ส่วนหนึ่งเธอมองว่าเพราะพ่อแม่ยุคใหม่ไม่อยากให้ลูกจมจ่อมอยู่กับหน้าจอนานเกินไป จึงหันมาหากิจกรรมการอ่าน ทว่าร้านหนังสือขนาดใหญ่ส่วนมากมักไม่ค่อยมีที่ทางสำหรับเด็ก ร้านหนังสือเล็กๆ จึงตอบโจทย์ 

“เวลาลูกค้ามา เราจะบอกตลอดว่ามานั่งอ่านก่อน ถ้าเล่มไหนลูกชอบ ครั้งหน้าค่อยมาซื้อก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้หนังสือเด็กค่อนข้างมีราคา 3 เล่มบางทีก็เกือบพัน อีกอย่างเราก็พอจะมีกลุ่มพ่อแม่ที่มีกําลังซื้อและช่วยสนับสนุนร้าน ดังนั้น บางกลุ่มที่ยังซื้อไม่ได้ก็แวะมาอ่านก่อนได้ ไม่ต้องเกรงใจ” 

ความเกรงใจเป็นเรื่องที่น่ารักและให้เกียรติกัน กระนั้นในอนาคตเอ๋ตั้งใจว่าอยากปรับห้องว่างฝั่งตรงกันข้ามให้เป็นห้องสมุดและพื้นที่อ่านหนังสือเพื่อเพิ่มความสบายใจแก่ลูกค้า

“เคยมีลูกค้าถามเราว่า ถ้าพาลูกมาทุกวัน แต่ขอซื้อหนังสือแค่อาทิตย์ละครั้งได้ไหม คือเขาเกรงใจ เลยคิดว่าเราจะสร้างห้องสมุดและห้องอ่านหนังสือแยกจากตัวร้าน เอาหนังสือเด็กที่สะสมไว้มาให้ลูกค้าอ่าน หรือใครอยากซื้อหนังสือแล้วไปหามุมอ่านเงียบ ๆ ก็จะได้นั่งนาน ๆ โดยไม่ต้องเกรงใจ”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันของการขายหนังสือออนไลน์พ่วงกลยุทธ์ลดราคาอย่างดุเดือด ส่งผลให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ยากขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับร้านหนังสือเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย กอปรกับทำเลที่ตั้งดังว่าทำให้ลูกค้าไม่คึกคักเท่าเมื่อก่อน แต่เอ๋แย้มบอกกับเราว่า ที่ร้านยังคงเดินหน้าต่อไปได้ก็ด้วยลูกค้าที่พร้อมใจสนับสนุนกันมาตลอด

“มีบางคนไปร้านหนังสือใหญ่ ๆ แล้วถ่ายรูปส่งมาถามว่าร้านเรามีเล่มนี้มั้ย ทั้งที่ร้านนั้นลดราคาและรู้ว่าร้านเราขายแบบนั้นไม่ได้ แต่เขาก็ยังอยากอุดหนุนเรา ตอนอยู่สงขลา เราชัดเจนว่ายินดีให้เด็ก ๆ เข้ามานั่งอ่านหนังสือ เลยมีลูกแม่ค้าและลูกชาวบ้านในละแวกมากันเยอะ วันหนึ่งมีคุณแม่โอนเงินมาแล้วบอกว่า วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของลูกสาวอายุ 8 ขวบ จึงอยากขอให้เราช่วยเลือกหนังสือ 8 เล่มแล้ววางไว้ที่ร้านเพื่อให้เด็ก ๆ ได้อ่าน 

“อีกครอบครัวมาจากหาดใหญ่ เขามาเห็นเด็กกำลังมุงอ่านหนังสือแผนที่เล่มใหญ่ เล่มละ 700 – 800 ก็ถามเราว่า ถ้าเขาซื้อเล่มนี้ไปแล้วเด็ก ๆ จะมีอีกเล่มให้อ่านไหม เราก็ตอบไปว่า ถ้าซื้อ เด็กก็ไม่ได้อ่าน แต่ก็จะสั่งมาเพิ่ม สุดท้ายเขาก็ซื้อแต่ขอวางไว้ที่ร้าน ไม่ได้เอากลับไป

“ยังมีลูกค้าที่ขอเราจัดชุดหนังสือให้โรงเรียน ล่าสุดช่วงวันเด็กก็มีผู้สนับสนุนเงินให้คุณครูจากเชียงดาวลงมาเลือกซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด หรือเวลาเราลงรูปหนังสือใหม่ ๆ ก็จะมีลูกค้าทักมา ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีเยอะนะที่ไม่เคยเจอหน้าหรือมาร้าน แต่ก็คุยเหมือนเป็นเพื่อนกันมานานและอุดหนุนสม่ำเสมอ”

ควบคู่พลังใจจากลูกค้าที่น่ารัก อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนร้านหนังสือเล็กๆ ให้เดินทางมาจวบขวบปีที่ 30 อย่างงดงาม คือความชอบและปรารถนาดี

“เราชอบหนังสือ และรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นเด็ก ๆ อ่านหนังสือ เวลามีคุณพ่อคุณแม่เดินทางมาจากต่างจังหวัดพาลูกมาอ่านหนังสือที่ร้าน หรือแค่แวะมาเยี่ยมเยียนทักทายกัน เราก็รู้สึกดีใจ ตรงนี้แหละที่เป็นกําไรของการทําร้านหนังสือ” เอ๋ระบายยิ้ม “แล้วเราก็เชื่อว่าการอ่านหนังสือนั้นทําให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเองคนก่อนหน้า เลยตั้งใจทำตรงนี้เพื่อให้คนได้รับรู้ว่าในหนังสือนั้นมีบางอย่างที่พร้อมจะแบ่งบานขึ้นข้างใน และเป็นสิ่งที่ดีต่อใจของเราทุกคน”

ก่อนจะส่งท้ายกันไป เราชวนเอ๋มาเปิดลิสต์หนังสือเด็กที่ดีต่อใจ รับรองว่า 5 เล่มนี้ครบครันทั้งความน่ารัก ลึกซึ้ง ร่วมสมัย ผู้ใหญ่อ่านก็สนุก และอาจทำให้คุณตกหลุมรักความมหัศจรรย์ จนอยากผันตัวเข้าสู่วงการหนังสือเด็กเหมือนกันก็เป็นได้

1. ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย
โดย Maurice Sendak

ผลงานสุดคลาสสิกที่อยู่มายาวนานกว่า 6 ทศวรรษและจับใจเด็กทุกยุคสมัย ว่าด้วยการผจญภัยของเด็กชายจอมซนในดินแดนของเหล่าปีศาจตัวร้าย ที่เนื้อหายังคงความร่วมสมัยและถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ 

“เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายเล็ก ๆ ที่เกเรจนแม่ให้เข้านอนโดยไม่กินอาหารเย็น พอเข้าไปในห้อง ทั้งห้องก็เปลี่ยนเป็นทะเลกว้างใหญ่ เขาล่องเรือไปยังดินแดนที่เต็มไปด้วยเหล่าตัวร้าย แต่เด็กชายก็ยังร้ายกว่า เพราะพวกตัวร้ายยังยกให้เขาเป็นพระราชา หลังจากปลดปล่อยพลังร้ายกาจออกไปแล้ว เขาก็คิดถึงบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านก็พบว่ามีอาหารร้อน ๆ วางรออยู่แล้ว 

“ว่ากันว่าพระจันทร์ของหนังสือเล่มนี้เป็นพระจันทร์ที่สวยที่สุดในบรรดาหนังสือเด็ก แล้วพระจันทร์ในแต่ละหน้าก็ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการตีความไปต่าง ๆ นานา หรือประโยคปิดท้าย อาหารยังร้อนอยู่เลย ตอนแรกบรรณาธิการที่ดูแลต้นฉบับอยากให้นักเขียนเปลี่ยนเป็น ‘อาหารยังอุ่น ๆ อยู่เลย’ แต่นักเขียนบอกว่าไม่ได้ เพราะเขาต้องการสื่อสารถึงอุปสรรคในชีวิต ถ้าอาหารยังร้อนก็ต้องรอให้มันอุ่นค่อยกิน อุปสรรคอื่น ๆ ในชีวิตก็เหมือนกัน อะไรที่มันยาก ต้องรู้จักแก้หรือจัดการถึงจะผ่านมันไปได้”

2. คุณตาจ๋า ลาก่อน
โดย Jelle Rijken และ Mack Van Gageldonk

ภาพ : Nanmeebooks

หนังสือภาพลายเส้นน่ารัก สีสันสดใส และรายละเอียดไม่เยอะที่อธิบายเรื่องเข้าใจยากอย่าง ‘ความตาย’ ให้เข้าใจง่าย ผ่านตัวละครสัตว์น้อยใหญ่ที่มาอำลาคุณตาของลูกหมี พร้อมเรียนรู้เรื่องการจากพราก การยอมรับ และก้าวเดินต่อไป

3. หมวกใบเล็กของเจ้าปลายักษ์
โดย Jon Klassen

เรื่องราวของเจ้าปลายักษ์ที่ทำหมวกหาย โดยมีเจ้าปลาเล็กตกเป็นผู้ต้องสงสัย เนื้อหาสั้นกระชับฉับไว ทว่าความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือภาพประกอบที่ผู้เขียนจงใจออกแบบให้เป็นอีกคำใบ้ว่า อันที่จริงการที่หมวกของเจ้าปลายักษ์หายไปเป็นฝีมือเจ้าปลาเล็กใช่หรือไม่

“เล่มนี้เป็นหนังสือที่ถ้าอ่านแต่เรื่องโดยไม่อ่านภาพประกอบ จะกลายเป็นคนละเรื่องกันเลย เพราะภาพไม่ได้เล่าตามเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นการฝึกให้เด็กสังเกตและอ่านการสื่อสารผ่านภาพ รวมถึงยังช่วยสร้างบทสนทนาและแลกเปลี่ยนกันได้อีกมากมายหลังจากอ่านจบ”

4. บาบา
โดย กฤษณะ กาญจนาภา และ วชิราวรรณ ทับเสือ

หนังสือที่พูดถึงมิตรภาพอันอบอุ่นระหว่างลูกหมี ลูกเสือ ลูกฮิปโปฯ และลูกช้าง ที่พากันเข้าไปเก็บผลไม้ในป่า ก่อนจะโดนสัตว์ประหลาดจับตัวไป เหลือเพียงลูกช้างที่หนีรอดมาได้ ถึงแม้จะกลัวสัตว์ประหลาด แต่ลูกช้างก็ตัดสินใจตามไปช่วยเพื่อน ๆ ก่อนจะพบกับความจริงว่าสัตว์ประหลาดที่มีหน้าตาดุร้าย แท้แล้วช่างแสนใจดี 

“เป็นหนังสือทำให้เราได้เห็นถึงมิตรภาพ ความกล้าหาญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการไม่กลัว แต่เป็นการกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าจะกลัวก็ตาม และการตัดสินคนที่ไม่ได้มองแค่ภายนอก”

5. แมวน้อย 100 หมื่นชาติ
โดย Yōko Sano

หนังสือเด็กสุดคลาสสิกอีกเล่มที่หยิบเรื่องความรัก ความเศร้า และความตายมาถ่ายทอดให้เข้าใจง่าย และตีความได้อย่างน่าคิด ที่สำคัญสำนวนแปลภาษาไทยโดย พรอนงค์ นิยมค้า ยังร้อยเรียงจังหวะและภาษาออกมาได้อย่างสละสลวย 

 “เป็นเรื่องที่นำเสนอประเด็นการค้นหาความรัก หาตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และการเวียนว่ายตายเกิด ผ่านลูกแมวที่มีเจ้าของมาเยอะมาก ทุกครั้งที่มันตาย ใคร ๆ ก็ร้องไห้เสียใจ แม้แต่โจรยังร้องไห้ แต่ว่าตัวมันเองไม่เคยเสียใจหรือรักใครเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง มันได้พบกับความรักที่แท้จริง รู้จักร้องไห้ รู้จักความเสียใจ เมื่อมันตายจึงไม่กลับชาติมาเกิดอีกเลย เล่มนี้เหมาะกับเด็กโตและต้องฟังนิทานมาเยอะพอสมควร เพราะเนื้อหาค่อนข้างยาวและภาพไม่ได้มีรายละเอียดมาก ฉะนั้นเด็กต้องมีสมาธิฟัง เด็กบางคนพออ่านถึงตอนจบร้องไห้โฮเลย” 

ร้านหนังสือเล็กๆ : สารภี เชียงใหม่

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย