อันที่จริง ผมควรจะต้องนั่งอยู่ในห้องทำงานที่เต็มไปด้วยหนังสือ กองต้นฉบับ และม้วนกระดาษปรู๊ฟของสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่ปกติ (ที่ไม่อยากให้กลายเป็นสิ่งปกติ) ผมทำได้เพียงพูดคุยผ่านหน้าจอ กับ เมย์-รัฐวรรณ พัฒนรัชตอดุล บรรณาธิการบริหาร และ ดิว-พิมพ์ชนก ศิริวรรณนาวี บรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
เริ่มแรกเครืออมรินทร์ฯ มีสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็กเอาไว้พิมพ์นิทาน และแพรวสำนักพิมพ์สำหรับพิมพ์งานวรรณกรรม คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ หัวเรือใหญ่เห็นว่า ควรมีสำนักพิมพ์ตรงกลางที่ทำหนังสือให้เยาวชนอ่าน จึงเกิดสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2537
นับถึงตอนนี้ แพรวเยาวชนพิมพ์หนังสือไปเกือบ 400 เรื่อง
หลายคนยังไม่ลืมหนังสืออย่าง The Neverending Story, โมโม่, ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก และ ในสวนลับ
วรรณกรรมเยาวชนเหล่านี้กลายเป็นหนังสือในดวงใจ และส่งผลกับชีวิตของใครต่อใครมากมาย
ขยับเข้ามาใกล้หน้าจอขึ้นอีกนิด สองบรรณาธิการสาวเตรียมจะเล่าเรื่องราวของสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนให้พวกเราฟัง ผ่านหนังสืออันเป็นที่รักของนักอ่าน 10 เล่ม
หนังสือเหล่านี้เป็นทั้งประวัติศาสตร์ของแพรวเยาวชน และลายแทงที่น่าไปตามหามาอ่าน
มาดูกันว่า คุณเคยอ่านไปแล้วกี่เล่ม
01 วรรณกรรมเยาวชนทำให้ผู้อ่านจิตใจดีขึ้น และอ่อนโยนขึ้น
เบ๊บ หมูเลี้ยงแกะ
ผู้เขียน : ดิ๊ค คิง-สมิธ (Dick King-Smith)
ผู้แปล : สาธิตา
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2537
จำนวนพิมพ์ : ฉบับปกแข็ง 3 ครั้ง 9,000 เล่ม ฉบับปกอ่อน ไม่มีข้อมูล
เบ๊บ หมูเลี้ยงแกะ คือหนังสือเปิดตัวสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนที่สะท้อนถึงคุณค่าของวรรณกรรมเยาวชนที่ว่า ทำให้ผู้อ่านมีจิตใจที่ดีขึ้นและอ่อนโยนขึ้น รวมถึงอ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เรื่องนี้พูดถึงสัตว์ที่พยายามพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง แทนที่จะต้องกลายมาเป็นอาหารของคน ไม่ต่างจากคนชายขอบมากมายที่สังคมไม่เห็นค่า
เรื่องนี้ได้รับรางวัลทั้งในฐานะของวรรณกรรมและภาพยนตร์ ซึ่งได้ชิงรางวัลออสการ์ถึง 7 สาขา เมื่อกลายมาเป็นหนังสือเล่มปฐมฤกษ์ของสำนักพิมพ์จึงได้เสียงตอบรับที่ดีมาก และพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง
02 หนังสือจากรุ่นสู่รุ่น
หนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่
ผู้เขียน : ลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ (Laura Ingalls Wilder)
ผู้แปล : สุคนธรส
พิมพ์ครั้งแรก : (กับแพรวเยาวชน) พ.ศ. 2548
จำนวนพิมพ์ : 34 ครั้ง รวม 80,000 เล่ม
หนังสือชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ จำนวน 12 เล่ม คือวรรณกรรมเยาวชนที่คลาสสิกที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก เป็นเรื่องราวของสาวน้อยลอร่าผู้ใช้ชีวิตกับครอบครัว ในกระท่อมไม้หลังน้อยกลางป่าลึกในสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายทศวรรษที่ 1870 หนังสือชุดนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น ถือเป็นหนังสือในดวงใจของเด็กหลายคน พอหลายคนโตมาจึงตามมาซื้อเก็บ และบางคนก็ตั้งใจว่าจะเก็บไว้ให้ลูกอ่านต่อ (เช่น บ.ก.ดิว)
ช่วงที่หนังสือขาดจากตลาดไปนาน แพรวเยาวชนตัดสินใจหยิบต้นฉบับสำนวนแปลของสุคนธรส ซึ่งได้รับคำชื่นชมว่าสละสลวยที่สุด กลับมาพิมพ์ซ้ำให้แฟนๆ ได้เก็บสะสม และไม่นานมานี้ แพรวเยาวชนก็ได้พิมพ์หนังสือชุด บ้านเล็กของโร้ส ของ รอเจอร์ ลี แมคไบรด์ (Roger Lea MacBride) จำนวน 8 เล่ม เล่าถึงชีวิตของรุ่นลูกของลอร่าที่ย้ายไปก่อร่างสร้างครอบครัวใหม่ในบรรยากาศฟาร์ม ให้แฟนๆ ได้ติดตามและเติบโตไปกับตัวละครอีกครั้ง
03 ยุคทองของวรรณกรรมเยาวชน
ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์
ผู้เขียน : เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน (J. R. R. Tolkien)
ผู้แปล : วัลลี ชื่นยง
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2555
จำนวนพิมพ์ : 18 ครั้ง (รวมปกแข็งและปกอ่อน) รวม 114,495 เล่ม
หนังสือมหากาพย์แฟนตาซีไตรภาคเรื่องนี้ถือเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของแพรวเยาวชน แต่ด้วยความที่เป็นนิยาย Young Adult ใช้ภาษาที่อ่านยากกว่าวรรณกรรมเยาวชนทั่วไป และมีรูปเล่มหนังสือที่ดูเรียบขรึม ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าเป็นงานแปลของแพรวเยาวชน
ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ เปิดตัวเล่มแรกแบบเป็นปรากฏการณ์ตั้งแต่ยังไม่มีภาพยนตร์ พอปล่อยเล่มสองและสาม ตามมาหลังภาพยนตร์ออกฉายแล้ว ก็เกิดกระแสที่คนรอคอย รวมไปถึงการสั่งจองหนังสือเวอร์ชันพิเศษล่วงหน้าที่ร้านนายอินทร์ ซึ่งหมดด้วยความรวดเร็ว หลังจากนั้นก็มีการพิมพ์ซ้ำให้ได้ตามเก็บมาอีกเรื่อยๆ ครั้งที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ ฉบับครบรอบ 60 ปี ที่รวมทั้งสามภาคไว้ในเล่มเดียว และฝังแหวนไว้บนหน้าปกด้วย
ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ วางขายช่วงในเวลาเดียวกับหนังสือระดับตำนานอีกเล่มอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ กระแสของหนังสือสองเล่มนี้ทำให้ทศวรรษนั้นกลายเป็นยุคทองของวรรณกรรมเยาวชนที่คึกคักไปทั้งวงการหนังสือ
04 หนังสือขวัญใจเด็กหลังห้อง
บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน
ผู้เขียน : หลุยส์ ซัคเกอร์ (Louis Sacha)
ผู้แปล : ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2554
จำนวนพิมพ์ : 7 ครั้ง รวม 15,000 เล่ม
หนังสือเล่มนี้แปลจากชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘เด็กผู้ชายในห้องน้ำหญิง’ ถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่คนจะนึกถึง เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนหลังห้อง ซึ่งคนตัดสินว่าเป็นเด็กเกเร เป็นตัวประหลาดที่ไม่มีใครอยากคบหา เนื้อหาในเรื่องนี้พาผู้อ่านเติบโตไปพร้อมๆ กับครูและเด็กหลังห้อง ว่าพวกเขาค่อยๆ ก้าวข้ามผ่านกรอบกำแพงความคิดเดิมๆ ไปได้อย่างไร และด้วยความที่นี่คือปัญหาคลาสสิกที่อยู่คู่ห้องเรียนทุกสมัย หนังสือเล่มนี้ก็เลยพิมพ์ซ้ำไม่ขาด และกลายเป็นเพื่อนผู้เข้าใจเด็กหลังห้องมาทุกยุค
05 หนังสือรางวัล
หลุม
ผู้เขียน : หลุยส์ ซัคเกอร์ (Louis Sacha)
ผู้แปล : แมกไม้
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2563
จำนวนพิมพ์ : 7 ครั้ง รวม 10,0000 เล่ม
หลักข้อหนึ่งที่แพรวเยาวชนใช้คัดเลือกต้นฉบับคือ มีรางวัลการันตี ในบรรดาหนังสือทั้งสำนักพิมพ์ หลุม คืองานที่ได้รางวัลมากที่สุดถึง 24 รางวัล จากทั่วโลก (ไม่รวมรางวัลจากการนำเนื้อหาไปทำหนังสือภาพและภาพยนตร์)
เรื่องนี้พูดถึงเด็กคนหนึ่งที่ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันข้อหาขโมยรองเท้า (เขายืนยันว่าไม่ได้ทำ) เขาได้รับโทษให้ขุดหลุมทุกวัน วันละหลุม ผู้เขียนบรรยายถึงความรู้สึกตรากตรำในการขุดของเด็ก และความสงสัยว่าขุดไปเพื่ออะไร เป็นการถ่ายทอดความคิดแบบเด็ก แม้จะเป็นเด็กที่ทำความผิด ก็ยังเป็นความคิดที่ใสมาก และสร้างความสงสัยให้กับผู้อ่านไปจนจบว่า เขาต้องขุดหลุมเหล่านี้ไปเพื่ออะไร
06 วรรณกรรมเยาวชนไทยก็ขายดี
เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก
ผู้เขียน : ลินดา โกมลารชุน
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2555
จำนวนพิมพ์ : 9 รวม 13,500 เล่ม
แพรวเยาวชนไม่ได้พิมพ์งานไทยมากนัก แต่หนังสืออย่าง เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก และ ส้มสีม่วง ก็ขายดีตีคู่กันมาอย่างยาวนาน เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก ได้รับรางวัลการันตีจากหลายสถาบัน เป็นเรื่องที่พาเราหนีความวุ่นวาย หลุดเข้าไปในโลกอีกใบที่มีแต่ความสุข ฉากในเรื่องคือประเทศหมู่เกาะเล็กๆ อย่าง วานูาตู ถ้าใครอยากรู้ว่า พิธีนาโกล หรือการโดดหอแบบโบราณ ในเรื่องนี้ของจริงเป็นอย่างไร อ่านได้ที่นี่
โดยปกติวรรณกรรมเยาวชนจะมีภาพประกอบน้อยมาก เพราะเด็กวัย 12 – 18 ปี พร้อมจะตีความจากตัวหนังสือให้เป็นภาพในหัวแล้ว และถ้าเป็นงานแปล แพรวสำนักพิมพ์ก็จะใช้ภาพตามต้นฉบับ ไม่มีการทำเพิ่ม แต่พอเป็นงานไทย ทีมงานจึงได้ทำงานร่วมกับผู้เขียนเพื่อกำหนดว่า ควรจะมีภาพอะไรประกอบในเล่มบ้าง
ความพิเศษอีกอย่างในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ก็คือ ศุภณัฐ โกมลารชุน ผู้วาดประกอบเป็นสามีของผู้เขียน วาดตามสไตล์ที่ลูกซึ่งกำลังเป็นเยาวชนยืนยันว่า แบบนี้แหละที่วัยเขาชอบ ภาพประกอบและภาพปกเล่มนี้จึงตั้งใจทำมาเพื่อตอบโจทย์เยาวชนยุคนี้อย่างแท้จริง
07 หนังสือดีที่ไม่อยากอ่านซ้ำ
เด็กชายในชุดนอนลายทาง
ผู้เขียน : จอห์น บอยน์ (John Boyne)
ผู้แปล : วารี ตัณฑุลากร
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2551
จำนวนพิมพ์ : 23 ครั้ง และ ฉบับครบรอบ 10 ปี 2 ครั้ง รวม 64,450 เล่ม
เด็กชายในชุดนอนลายทาง คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า วรรณกรรมเยาวชนรสหม่นปนน้ำตาก็มี เรื่องนี้พูดถึงชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของบรูโน่ เด็กชายชาวเยอรมันวัย 9 ขวบที่ย้ายตามพ่อไปอยู่ในบ้านหลังใหม่ ซึ่งใกล้ๆ กันนั้นมีกำแพงลวดหนามที่อีกฝั่งเต็มไปด้วยคนใส่ชุดนอนลายทาง บรูโน่ได้รู้จักและกลายเป็นเพื่อนสนิทกับชมูเอลซึ่งใช้ชีวิตอยู่หลังลวดหนาม วันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจลอดรั้วลวดหนามข้ามไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นเขาอีกเลย
ผู้ใหญ่ที่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ อาจมองว่าเรื่องนี้รุนแรงและโหดร้ายเกินกว่าเด็กจะรับได้ แต่ในมุมของเด็ก ซึ่งรับรู้เรื่องตามที่ผู้เขียนบรรยาย เขาจะรู้เพียงว่า ตัวละครตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และตัดสินใจทำบางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้น เมื่ออ่านจบก็ให้ความรู้สึกเศร้าซึมลึกเกินกว่าจะหยิบมาอ่านซ้ำได้บ่อยๆ
ปกของหนังสือเล่มนี้ยังเป็นไปตามหลักของวรรณกรรมเยาวชน นั่นคือ มีภาพเล่าเรื่องตัวละคร ฉาก หรือสิ่งของสำคัญของเรื่องแบบชัดๆ ไม่ต้องตีความเยอะ และไม่บอกใบ้ตอนจบ
08 สอนเด็กแบบฟินแลนด์
หนังสือชุดมูมิน
ผู้เขียน : ตูเว ยานซอน (Tove Jansson)
ผู้แปล : ธารพายุ
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2549
จำนวนพิมพ์ : 6 ครั้ง รวม 9,700 เล่ม
แพรวเยาวชนมีหนังสือซีรีส์ Best of The World ที่คัดสรรงานดีๆ จากทั่วโลกซึ่งคนไทยน่าจะได้อ่านมาตีพิมพ์ เล่มที่ชัดที่สุดคือ มูมิน จากฟินแลนด์ น่าสนใจว่า ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น และไม่จำกัดจินตนาการเด็ก เขาสอนเด็กผ่านวรรณกรรมเยาวชนที่คลาสสิกที่สุดในประเทศอย่างไร
มูมิน ทั้ง 9 เล่ม เป็นเรื่องราวแฟนตาซีและการผจญภัยของเพื่อน ‘โทรล’ (ไม่ใช่ฮิปโป) มูมินตัวเอกมีนิสัยขี้ตื่นเต้น สนใจทุกอย่างที่เจอ และเมื่อเจอปัญหา จะพยายามแก้ปัญหาให้เพื่อนมีความสุขที่สุด ส่วนลิตเติ้ลมาย เป็นเด็กผมแดงหน้าเหวี่ยง มีลักษณะเป็นเด็กหญิงทอมบอย ซึ่งตัวละครลักษณะนี้หาได้ยากมากในวรรณกรรมเยาวชน
ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังของ มูมิน รวมไปถึงการนำ มูมิน ไปต่อยอดเป็นอะไรมากมาย The Cloud เคยสัมภาษณ์ โซเฟีย ยานชอน (Sophia Jansson) หลานสาวของผู้เขียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญให้ มูมิน โด่งดังไปทั่วโลก อ่านได้ที่นี่
09 ยุคที่ผู้ใหญ่อ่านวรรณกรรมเยาวชนมากกว่าเยาวชน
วินนี่ เดอะ พูห์
ผู้เขียน : เอ. เอ. มิลน์ (A.A. Milne)
ผู้แปล : ธารพายุ
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2553
จำนวนพิมพ์ : ปกอ่อน 13 ครั้ง ปกแข็ง 6 ครั้ง รวม 44,100 เล่ม
วินนี่ เดอะ พูห์ เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยปรัชญา มีคนตีความออกมามากมาย อาจจะด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้หนังสือที่เขียนขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เล่มนี้ยังได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
อีกสิ่งที่ถูกพูดควบคู่ไปกับเนื้อหาก็คือ สำนวนแปลของ ธารพายุ ที่แปลกลอนในเรื่องให้เป็นกลอนภาษาไทยได้พอดีเป๊ะ รวมถึงแปลการเล่นคำภาษาอังกฤษ ด้วยการเล่นคำแบบไทยที่ต้องขอคารวะ
แพรวเยาวชนทราบดีว่า ยุคนี้นักอ่านวรรณกรรมเยาวชนกลุ่มใหญ่ที่สุดไม่ใช่เยาวชนอีกต่อไป เพราะเยาวชนหันไปอ่านนิยายรัก นิยายวาย หรือเรื่องสืบสวนสอบสวน มากขึ้น ผู้อ่านกลุ่มหลักจึงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เคยประทับใจวรรณกรรมเยาวชนเมื่อวัยเยาว์ พอโตมาก็ยังติดใจ หรือไม่ก็อยากหยิบเรื่องโปรดมาอ่านแก้คิดถึง
แพรวเยาวชนจึงหยิบวรรณกรรมยอดฮิตกลับมาพิมพ์ซ้ำอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับการออกแบบรูปเล่มให้น่าเก็บ และถูกตาต้องใจผู้ใหญ่ แต่ก็ยังสื่อสารกับเด็กได้ คือยังเป็นภาพเหล่าตัวละครในเรื่อง ส่วนอาร์ตไดเรกชันจะไม่ไปทางเด็กจ๋า แต่ว่าไปทางเรียบๆ เหนือกาลเวลา น่าเก็บสะสม
10 นำงานคลาสสิกกลับมาพิมพ์ใหม่ตามคำเรียกร้อง
ต้นส้มแสนรัก
ผู้เขียน : โจเซ่ เมอโร เดอ วาสคอนเซลอส (Jose Vasconcelos)
ผู้แปล : มัทนี เกษกมล
พิมพ์ครั้งแรก : (กับแพรวเยาวชน) พ.ศ. 2563
จำนวนพิมพ์ : 4 ครั้ง รวม 11,800 เล่ม
บ.ก. ดิว เล่าว่า การหยิบงานเก่าแต่เก๋ากลับมาพิมพ์ใหม่ในซีรีส์ All Time Favorite เป็นการนำวรรณกรรมเยาวชนสมัยรุ่นพ่อแม่เรามาพิมพ์ใหม่ให้รุ่นลูกเราอ่าน เป็นการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ ต้นส้มแสนรัก ที่เคยพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ดวงกมล เมื่อ พ.ศ. 2522 เรื่องราวของเด็กน้อยเซเซ่กับต้นส้มพูดได้ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำ จนแพรวเยาวชนต้องนำต้นฉบับสำนวนแปลของ อาจารย์มัทนี เกษกมล ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกมาพิมพ์ซ้ำ
แต่เยาวชนจำนวนมากก็ตามหาและเรียกร้องให้พิมพ์เรื่องนี้อีกครั้ง เพราะสองไอดอลชาวเกาหลีอย่าง ไอยู (IU) และ จินยอง GOT7 อ่านแล้วชอบ เลยแนะนำให้แฟนๆ ได้รู้จัก ทันทีที่แพรวเยาวชนประกาศว่าได้ลิขสิทธิ์มาพิมพ์ ก็ได้รับข้อความถามถึงจากเหล่าเยาวรุ่นแทบจะทุกวัน
ไม่ว่าเยาวชนจะเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะอะไร แต่สุดท้ายความดีงามของเรื่องราวก็ทำให้พวกเขาหลงรัก และอาจจะเป็นการเปิดประตูสู่หนังสือเล่มต่อๆ ไป แต่ที่แน่ๆ เมื่ออ่านจบแล้วก็เกิดกระแสเรียกร้องให้พิมพ์ภาคสองต่อ ทางแพรวเยาวชนก็ขอแจ้งข่าวดีไว้ตรงนี้ว่า เตรียมพบได้เร็วๆ นี้แน่นอน
สองบรรณาธิการสาวสรุปให้เราฟังว่า การทำวรรณกรรมเยาวชนให้ทั้งถูกใจผู้ใหญ่ และได้ใจเด็กแบบนี้แหละ คือการทำหนังสือแบบแพรวเยาวชน