ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในความงาม หลงรักในความคิดอันลุ่มลึก การเข้าพักในโรงแรม ‘รายา เฮอริเทจ (Raya Heritage)’ ที่ริมแม่น้ำปิง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

เพราะมันอาจทำให้คุณต้องรีบลุกขึ้นจากเตียงนอนมาดูแม่น้ำปิงที่ทอดตัวไหลเอื่อย ๆ อยู่ตรงด้านหน้า ตั้งแต่แสงแรกยามเช้าที่ส่องเข้ามากระทบต้องพื้นตรงนอกชาน จนกระทั่งดึกดื่น คุณก็ยังอาจไม่ได้หลับนอน ด้วยกำลังเพลิดเพลินไปกับทุกสิ่งอย่างที่ได้สัมผัส ได้เห็น ได้ละเลียดพิจารณามัน 

บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ แห่งบูรณ์ดีไซน์ (BOON Design) สถาปนิกผู้ออกแบบโรงแรมแห่งนี้ร่วมกับทีมออกแบบของรายา เฮอริเทจ คุณบุญเลิศบอกผมว่าเขาไม่ได้ออกแบบอาคารหรือสิ่งของ แต่เขาออกแบบประสบการณ์ให้กับผู้คนที่เข้ามาใช้งานในโรงแรม ความคิดซึ่งขัดเกลามาอย่างประณีตของเขา แสดงไว้ให้เห็นในที่ว่าง เสา ต้นไม้ ใต้ชายคา บนทางเดิน จนกระทั่งสิ่งเล็ก ๆ อย่างกระเบื้องแต่ละแผ่นที่ใช้ปูภายในห้องน้ำ 

ขณะที่คุณบุญเลิศเล่าให้ผมฟัง น้ำเสียงของเขายังคงพลุ่งพล่านและตื้นตัน คล้ายศิลปินที่เพิ่งจะวางเครื่องมือลง หลังจากได้รังสรรค์งานศิลปะชิ้นยิ่งใหญ่เสร็จเดี๋ยวนี้เอง 

พื้นที่ราว 4 ไร่บนเวิ้งงามติดริมแม่น้ำปิง อาจพอเหมาะพอเจาะกับโรงแรมขนาด 38 ห้อง แต่โจทย์ท้าทายของที่นี่ คือรูปของที่ดินที่ยาวเลียบไปตามริมแม่น้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาพื้นที่สีเขียวไว้ให้มากที่สุด ทางเลือกเดียวคือการออกแบบให้ห้องพักทั้งหมดเข้าไปอยู่ภายในอาคาร 3 ชั้น และเวลาเดียวกัน แรงต่อสู้อีกข้างคือการเอาชนะความสูง เพื่อไม่ให้เกิดภาพแข็งทื่ออย่างอาคารพาณิชย์ 

ความคิดอันแข็งแรงที่ต้องการแสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่น ผสมผสานกับความชาญฉลาดที่สั่งสมจากประสบการณ์ เขาจึงทำหลังคาให้ลาดต่ำแบบเดียวกันกับเรือนพื้นถิ่นล้านนา เข้ามาคลุมบนห้องที่อยู่บนชั้น 2 และชั้น 3 และใช้ต้นไม้สูงปลูกเป็นดงสลับ เพื่อทำลายเส้นตั้งของตัวอาคาร 

บนทางเดินร่วมที่แจกไปตามห้องต่าง ๆ บนชั้น 2 นั้นน่าทึ่งที่สุด เพราะพื้นทางเดินขนาดใหญ่ปูด้วยอิฐแดง ขณะเดียวกันก็ปลูกต้นไม้ไว้บนพื้นทางเดินและบนหลังคา เสมือนพื้นดินของชั้นล่าง ขณะที่ผมเดินอยู่บนชั้น 2 กลับถูกคุณบุญเลิศหลอกจนหลงเข้าใจไปว่าตัวเองกำลังเดินอยู่บนระดับเดียวกับพื้นดิน 

ห้องชั้นล่างสุดเป็น Pool Villa เขาใช้สีครามในการคุมบรรยากาศที่แสดงความลุ่มลึก และย้อมผ้าม่านที่ยาวลงมาจรดพื้นด้วยการจุ่มสีคราม ไล่ให้เกิดความชุ่มชื้นคล้ายได้ดำดิ่งลงไปใต้สายน้ำ

ชั้น 2 และชั้น 3 มีชานภายใต้หลังคาคลุมที่ลาดต่ำ ให้ความรู้สึกเหมือนอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาบ้านพื้นถิ่น ชานและชายคาที่ยื่นออกมามาก ๆ ยังช่วยบดบังสายตาจากห้องชั้นบนที่มองลงมาเห็นห้องชั้นล่างได้ทั้งหมด ซึ่งบริเวณชั้น 2 เขาใช้สีดำในการตกแต่ง เช่น ผ้าทอสีขาวดำของปกาเกอะญอ

ขณะที่ชั้น 3 ใช้สีขาวธรรมชาติ ไม่ว่าจะผ้าทอ เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนของตกแต่งที่ถักทอจากหวายหรือจากไม้ไผ่ขัดสีขาว ประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับห้องน้ำ ซึ่งเป็นโครงไม้ไผ่กรุด้วยกระดาษสา ผ่านกรรมวิธีเคลือบจนเหนียวและทนทานต่อการฉีกขาด รวมถึงราวตากผ้าเช็ดตัวที่ใช้ไม้พันด้วยหวาย เขาถึงกับลงไปสอนชาวบ้านถึงวิธีการพัน เพื่อให้บรรจบในองศาที่รับกันได้พอดี 

ทางเดินปูอิฐขนานไปกับริมแม่น้ำตั้งแต่ล็อบบี้ แล้วแจกจ่ายไปตามห้องต่าง ๆ ที่ชั้นล่าง ปูด้วยอิฐตั้งสันขึ้นและปูแนวดิ่ง (Linear) ไม่ปูขวาง เพื่อให้เกิดเส้นสายที่มองคล้ายการไหลของสายน้ำ 

สำหรับงานโรงแรม จุดไคลแมกซ์วัดความปรมัตถ์ของคนเป็นสถาปนิก คือการประชันกันที่บริเวณล็อบบี้ คล้ายกับงานจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ที่ช่างเขียนฟาดฟันกันในฉากมารผจญ คุณบุญเลิศบอกว่าที่นี่เขาต้องการพาทุกคนกลับไปสู่อดีต ไปสู่อารยธรรมเริ่มต้น และไปฟังเสียงกระซิบของสายน้ำ 

ก่อนที่จะก้าวเท้าเข้าถึงตัวล็อบบี้ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังจากนั้นทั้งหมดถูกพรางด้วยมู่ลี่ผืนยาวที่แขวนแล่นลงมาจากใต้หลังคาจนแทบจรดพื้น พอเดินผ่านมู่ลี่ออกไป ผมต้องร้องว้าวทันที เมื่อได้เห็นภาพที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า ตั้งแต่ต้นเหียง ต้นสะเดาอินเดียที่ยืนตระหง่านอยู่ข้างหน้า ด้านซ้ายและขวามีเสาปูนสูงหลายต้น มองคล้ายเสาภายในโบสถ์ตั้งเรียงรายอยู่ทั้ง 2 ฟาก สะกดให้เกิดความสงบลงชนิดไม่รู้ตัว เขาบอกว่าตามช่องเสาเหล่านี้ช่างดูคล้ายฉากละครที่เปิด ๆ ปิด ๆ ยามที่มีคนเดินผ่านไปมา

ตรงกึ่งกลางล็อบบี้ เป็นการแสดงศิลปะของผืนน้ำภายในกระบะสี่เหลี่ยมสีดำกว้างยาวราว 2 เมตร แผ่นน้ำในกระบะสะท้อนแผงภาพเงาของท้องฟ้าและต้นไม้ และทำหน้าที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำปิงที่ทอดตัวอยู่ตรงหน้า คุณบุญเลิศบัญญัติศัพท์เฉพาะให้กับงานศิลปะขนาดใหญ่นี้ว่า ‘วงเล็บของสายน้ำ’

ด้านขวามือของล็อบบี้เป็นร้านอาหารคุข้าว เขาบรรจงยกโรงข้าวโบราณมาตั้งไว้ที่นี่ เสาไม้ดิบ ๆ หลายต้นกลางห้องที่ไร้การตกแต่งใด ๆ บอกให้รู้ว่าผมกำลังยืนอยู่ภายในโกดังข้าวจริง ๆ คุข้าวขนาดคนเข้าไปนอนได้หลายใบแขวนห้อยลงมาจากบนเพดาน กระเบื้องปูพื้นสีสนิมที่ดูหยาบ ช่วยดึงความเป็นภายนอกเข้ามายังภายใน และที่ต้องเดินไปดูให้ได้ คือสิ่งที่ลอยอยู่เหนือเคาน์เตอร์บาร์ เป็นตะแกรงไม้วางเครื่องใช้ไม้สอยอย่างในเรือนชาวบ้าน โดยทุกชิ้นผ่านการเจาะจงเลือกเฟ้นด้วยมือของเขาเอง

ผมถามคุณบุญเลิศว่า ในความเห็นของเขา หากไม่ใช่คนที่ใช้วิธีตีความในเชิงสถาปัตยกรรมเช่นเขา ควรจะดูและเข้าใจมันอย่างไร เขาบอกว่าเป็นเรื่องประสบการณ์ของแต่ละคน ไม่มีใครยัดเยียดให้ได้ เช่น ถ้าใครไปยืนมองจากตรงล็อบบี้ อาจรู้สึกว่าบรรดาต้นไม้ทั้งหลายที่ยืนตระหง่านมันเหนือกว่าเรามาก เขาจะไม่พยายามทำอะไรที่เกินดีเพื่อให้สวย แต่มันต้องสวยและดี

อย่างเสาสูง ๆ คล้ายเสาโบสถ์ก็มีขนาดเท่าที่มันจะจำเป็นต่อการค้ำยันโครงสร้าง เขาไม่พอกให้ใหญ่เพื่อดูสวยแต่ไร้ประโยชน์ใช้สอย เขาสรุปตัวเองว่า “ผมเป็นพวกประโยชน์นิยม”

หรือเวลาอยู่ภายในห้องพัก หลังคาที่กดลงมาอาจทำให้รู้สึกเองได้ว่ามีความส่วนตัว ทั้งที่อยู่ภายนอก โดยไม่ต้องมีใครบอก แต่ถ้าพูดในอีกภาษาหนึ่ง อาจพูดว่ามันเป็นการแลกกันของนอกกับใน ของมิติกับมิติ และของอากาศกับอากาศ 

หรือห้องน้ำที่เป็นพื้นที่เดียวกันกับห้องนอน หากคุณเป็นคู่รักกัน มันจะโรแมนติกไหมที่มองจากห้องน้ำทะลุไปถึงชาน ถ้าอยากส่วนตัว ก็มีบานเลื่อนปิดได้ ห้องน้ำเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าทำได้ดีมากจนรู้สึกพอใจในแง่นี้ มัน White Wash ไปหมด 

  พอคุณบุญเลิศพูดถึงคำว่า White Wash ผมจึงถึงบางอ้อว่าคำศัพท์อะไรนะที่ผมอยากใช้แต่นึกไม่ออก ตอนที่เข้าไปอยู่ในห้องอาบน้ำที่กรุด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาวลายกระดองเต่า เกิดความรู้สึกสะอาด สุขสงบขึ้นมาเฉย ๆ จนแทบไม่อยากโผล่หน้าออกมายังโลกภายนอกอีกเลย

ผมมองดูผนังแล้วอดไม่ได้ที่จะลูบเจ้ากระเบื้องเคลือบลายกระดองเต่าสีขาว คล้ายหลงเข้าไปในร้านขายถ้วยชาม เจอะเจอเข้ากับของชิ้นงาม ๆ ที่วางประดับประดาอยู่เต็มไปทั้งชั้น 

3 Things You Should Do

at Raya Heritage

01

ดูล็อบบี้ที่เป็นมหากาพย์ความคิดของคนออกแบบ

02

ดูร้านอาหารคุข้าวที่แสดงวัฒนธรรมข้าว และพหุวัฒนธรรมที่มากับขบวนม้าต่างวัวต่าง

03

ดูห้องพักที่นักออกแบบลงรายละเอียดไว้ทุกตารางอณู 

Raya Heritage

Writer

สมพงษ์ งามแสงรัตน์

สมพงษ์ งามแสงรัตน์

สเก็ตเชอร์ และคนเขียนหนังสือ ภายหลังเมื่อลองมาเป็นไบค์เกอร์ดูด้วย ค้นพบว่าการเขียนหนังสือในหัวขณะขี่มอเตอร์ไซค์ไปด้วย สนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย