ซอยวานิช 1 หรือสำเพ็งเต็มไปด้วยร้านขายของส่งสารพัด ซึ่งซบเซาลงไปด้วยพิษโรคระบาด และการซื้อของออนไลน์ ซึ่งแพร่กระจายไปบ้านแทบทุกหลังยิ่งกว่าไวรัส

ตอนนี้ย่านสำเพ็ง-เยาวราช กำลังเข้าสู่บทใหม่ จากย่านซื้อขายของราคาย่อมเยา เริ่มขยับสู่การเป็นพื้นที่ที่ศิลปวัฒนธรรมอาหารโฉมใหม่

ย่ำเท้าเข้าซอยเล็กแคบ ผ่านร้านขายรองเท้า กระเป๋า และของเล่นนานา คุณจะพบ ‘Restaurant.Potong’ ร้านอาหาร Fine Dining และบาร์หรูเท่เบื้องหลังประตูเหล็กยืด ของ เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม ร่วมกับสามี ต่อ-บุญปิติ สุนทรญาณกิจ 

จากห้างขายยาเก่าแก่ของตระกูล สู่ตึกให้เช่าสำหรับร้านขายรองเท้า วันนี้ทายาทรุ่นที่ 5 กลับมาพลิกโฉมตึกโบราณอายุ 100 กว่าปีให้กลับมาสวยสดงดงาม แถมเยียวยาท้องที่หิวโหยหรือหัวใจใฝ่หาที่จิบความเพลิดเพลินด้วยความอร่อย

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล

ห้างขายยาแห่งความทรงจำ

ปู่เทียด (ปู่ของปู่) ของเชฟแพมเป็นคนฮกเกี้ยน เดินทางมาจากหมู่เกาะจินเหมินหรือคีมอย ไต้หวัน ราว 160 ปีที่แล้ว เพื่อมาค้าขายที่เมืองไทย และจับพลัดจับผลูมาทำธุรกิจยาจีนยี่ห้อ ‘ปอคุนเอี๊ยะบ๊อ’ โดยใช้สูตรลับจากบ้านเกิด เมื่อก่อร่างสร้างตัวได้จึงสร้างตึก 5 ชั้นครึ่งสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน เป็นร้านขายและผลิตยาจีนชื่อ ‘ห้างขายยาโพทง’ โดยชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย นับเป็นบ้านหลังแรกของตระกูลนี้ในสยาม ตั้งแต่สมัยเยาวราชยังเป็นทุ่งนา นับเป็นตึกที่สูงมากในยุคนั้น 

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
ภาพ : Restaurant.Potong
‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
ภาพ : Restaurant.Potong

กิจการร้านขายยารุ่งเรืองมาก ย่านสำเพ็ง-เยาวราช ก็พลุกพล่านมากขึ้น จนต้องขยับขยายจนเปิดโรงงานขนาดใหญ่ย่านเทพารักษ์ ซึ่งภายหลังผลิตแต่ยาน้ำสำหรับสตรีเท่านั้น 

เมื่อสมาชิกมากขึ้น ครอบครัวอุทารธรรมรุ่นสามย้ายไปอยู่สุขุมวิท 33 ตึกเดิมของตระกูลใจกลางสำเพ็งจึงถูกปล่อยให้เช่าเป็นร้านขายรองเท้า โดยคุณปู่ของเชฟแพมให้เช่าเฉพาะชั้นหนึ่งและสองเท่านั้น ด้านบนปิดล็อกเก็บของเก่า อาทิ ขวดยา ภาพวาด สมุดบัญชี หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ไว้เต็มไปหมด เมื่อร้านขายรองเท้าเลิกกิจการ เชฟแพมได้มาดูอาคารจึงตัดสินใจเช่าตึกจากคุณปู่ และเปิดร้านอาหารหรูเท่ขึ้นใจกลางไชน่าทาวน์ โดยได้แรงบันดาลใจจากย่านชุมชนของนิวยอร์ก ที่ตัวเธอเองได้ไปเรียนรู้และฝึกฝนวิชาทำอาหาร 

“แพมมีฝันตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากทำร้านอาหารของตัวเองให้ได้มิชลินมานานแล้ว แต่ยังหาจังหวะชีวิตไม่เจอ คุณพ่อคุณแม่เคยชี้ให้ดูตึกนี้ตอนเด็กๆ แต่เราก็ไม่เคยเข้ามา พอได้เข้ามาเห็นก็รู้เลยว่านี่จะเป็นร้านที่เราจะภูมิใจ และทุกอย่างที่เราเรียนรู้มาจะเอามาลงที่นี่” เชฟหญิงผู้ศึกษาอาหารตะวันตกมาอย่างโชกโชนอธิบาย

“การกินอาหารก็เหมือนการเล่าเรื่อง ความทรงจำของที่นี่ไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ แต่มีมานานแล้วจริงๆ ตึกนี้มีเสน่ห์มาก อยากให้ลูกค้าที่เข้ามารู้สึกเหมือนเข้ามาในพิพิธภัณฑ์นิดๆ ผ่านทั้งตึกและอาหาร”

กว่าจะออกมาเป็น Restaurant.Potong ต้องใช้เวลา 2 ปีครึ่งกว่าทุกอย่างจะลงตัว เนื่องจากการรีโนเวตตึกเก่ายากกว่าสร้างตึกใหม่ ผ่านการตัดสินใจหลายครั้งร่วมกับสถาปนิกและวิศวกรว่าอะไรควรเก็บ อะไรต้องทิ้ง และอะไรต้องสร้างขึ้นมาใหม่ในตึกแคบยาวที่มีพื้นที่รวมราว 500 ตารางเมตร โดยหลักๆ เก็บโครงสร้างเดิมที่ยังแข็งแรงมากไว้ทั้งหมด และตกแต่งแนว Juxtaposition เก็บของเก่าไว้เคียงคู่กับของใหม่ให้สอดรับกัน ผนังมีทั้งสีเดิมที่สวยด้วยกาลเวลา และลวดลายใหม่ที่งดงาม 

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
ภาพ : Restaurant.Potong
‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล

ตึกเก่าเล่าใหม่

จากร้านรองเท้าสีเขียวสดใส เมื่อถอดแผ่นปิดออก ป้ายห้างขายยาโพทง ที่ติดไว้เมื่อ 120 ปีที่แล้วก็ได้อวดโฉมอีกครั้ง เมื่อเดินเข้ามาจากหน้าร้าน จะเห็นโปสเตอร์ร้านยากับเก้าอี้เก่าของร้านด้านหน้า ให้เว้นระยะหลบความวุ่นวายของตรอกเล็กๆ ด้านนอก 

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
ภาพ : Restaurant.Potong
‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล

ชั้นแรกนี้เพดานสูงโปร่งเคยเป็นหน้าร้านขายยา ทั้งยาสำหรับสตรี ยาสำหรับบุรุษ และยาหม่อง ส่วนด้านหลังมีห้องหลบภัยที่มีกำแพงหนาใหญ่ ปัจจุบันกลายเป็นบาร์คอมบูฉะและที่นั่ง ซึ่งใต้พื้นทำระบบใหม่ทั้งหมดจนเอี่ยมอ่อง ด้านหลังมีลิฟต์เล็กๆ ที่ทำใหม่เพื่อตึกนี้โดยเฉพาะ และห้องน้ำที่ทำใหม่ทั้งหมด สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือตู้เซฟเก่า แม่พิมพ์ตราปอคุนเอี๊ยะบ๊อ และขวดแก้วสำหรับบรรจุยา ซึ่งนำมาใช้ตกแต่งร้านและใส่สบู่ในห้องน้ำกับแอลกอฮอลล์ล้างมือ

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล

“ตอนแรกอยากวางครัวไว้ชั้นหนึ่ง แต่พอเปิดฝ้าขึ้นไปเห็นเพดานสวยมาก เราเลยตัดสินใจเก็บไว้แล้วย้ายครัวไปชั้นสาม และอนาคตที่ตรงนี้จะทำอาหาร A la carte รับคน Walk-in ได้ค่ะ” เชฟแพมเอ่ยก่อนพาขึ้นบันไดไม้ไปสู่ชั้นถัดไป 

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
ภาพ : Restaurant.Potong
‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล

ชั้นสองเป็นห้องรับประทานอาหาร ปัจจุบันตกแต่งด้วยขวดยาเก่า ภาพถ่ายเก่า แต่เดิมเป็นพื้นที่ปรุงยาและเก็บสต็อกยา พนักงานแต่ละคนจะรู้แค่ขั้นตอนของตัวเอง แต่ไม่รู้สูตรทั้งหมด ถ้าสังเกตพื้นจะเห็นช่องไม้ที่เจาะตรงกันแต่ละชั้น ในอดีตเป็นช่องไว้ตะโกนคุยกันและส่งของข้ามชั้น แต่ปัจจุบันปิดไว้แล้ว โดยภาพสเก็ตช์ที่ตกแต่งรอบๆ ร้านและอยู่บนเมนู เป็นฝีมือน้องของคุณปู่ ซึ่งเรียนจบจากอเมริกา

ชั้นสามที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว ในอดีตด้านหน้าเป็นห้องทำงานหรือออฟฟิศของคุณปู่ ซึ่งมีแท่นบูชาเทพเจ้ากวนอู มีระเบียงกว้างขวาง ปัจจุบันฟังก์ชันของห้องนี้เปลี่ยนไปหมด กลายเป็นห้องรับประทานอาหาร ซึ่งปัจจุบันยังเก็บเฟอร์นิเจอร์เดิมไว้อย่างโต๊ะทำงานและแท่นบูชา ซึ่งบนป้ายมีภาพกวนอูที่นับถือ มีอักษรจีนมงคลรอบๆ ว่า 普通大薬房

普通 สื่อถึงชื่อร้านว่า โพทง แปลว่า Simple หรือ Ordinary 大 ต้า แปลว่า ใหญ่ 薬 เย่า แปลว่า ยา 房 ฝาง แปลว่า ห้อง แปลรวมๆ ได้ว่าร้านขายยาโพทง หรือร้านขายยาธรรมดา จึงยืมความหมายเรียบง่ายมาเป็นชื่อร้านตราบจนทุกวันนี้

‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
ภาพ : Restaurant.Potong
‘โพทง’ ร้าน Fine Dining กลางสำเพ็งของเชฟแพม ทายาทที่แปลงโฉมร้านขายยาจีนของตระกูล
คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

เนื่องจากโลโก้ของตึกเป็นรูปเสือโคร่งสองตัวโอบลูกโลก สื่อถึงตัวปู่เทียดและย่าเทียดซึ่งเกิดปีเสือทั้งคู่ ผนังของชั้นสามเพนต์ใหม่เป็นรูปเสือดาวตัวเมีย 8 ตัว สื่อถึงความมงคลและการสืบทอดของทายาทเพศหญิง เพราะถ้าใช้เสือโคร่งจะดูดุดันไปหน่อย เชฟแพมเลยตีความเสือใหม่ในรูปแบบของตัวเอง 

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช
คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

ด้านหลังชั้นสามเคยมีห้องนอนเล็กๆ และห้องน้ำ ปัจจุบันปรับเป็นห้องครัว และห้องหมักดองของจำพวกซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู โคจิ มิโสะ เนื้อดรายเอจ และวัตถุดิบอื่นๆ สิ่งสนุกในห้องนี้คือลูกน้ำดับเพลิงของเก่าที่ติดไว้บนกำแพง เป็นของหายากที่พบได้ในบ้านเก่าเท่านั้น

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช
คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

ชั้นสี่เคยเป็นห้องนอนสองห้องและมีเตียงสูบฝิ่น แปลงโฉมใหม่เป็นบาร์ OPIUM และยังมีโซน Private Bar ซึ่งในอนาคตจะเปิดแยกกับร้าน Fine Dining ใครไม่กินข้าวก็มานั่งจิบเครื่องดื่มสังสรรค์ที่บาร์ได้ มีธีม Liquid Surreality ให้แขกได้ชิมและได้ทดลองอะไรใหม่ๆ วัตถุดิบทำเองสนุกๆ หลายอย่าง ทั้งโซดาและโคลา 

ภาพ : Restaurant.Potong
คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช
ภาพ : Restaurant.Potong

ชั้นห้า ซึ่งเป็นโซนดาดฟ้าเคยเป็นสวนและที่หย่อนใจ ออกกำลังกายของคุณปู่ ปรับเป็นรูฟท็อปบาร์และสวนครัวเล็กๆ โดยยังคงโครงไม้เขียนตัวอักษรว่าจินเหมิน แปลว่าประตูทอง สื่อถึงหมู่เกาะบ้านเกิดของต้นตระกูล โดยพื้นที่นี้แขกที่มารับประทานอาหารที่ร้านก็ขึ้นมาชมวิวได้ ส่วนชั้นหกเล็กๆ ที่มีแค่ครึ่งเดียวเป็นสถานที่ดูดาว กลายเป็นที่เก็บโครงสร้างเครื่องปรับอากาศและส่วนต่อเติมใหม่ให้เรียบร้อยแข็งแรง 

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช
คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

อาหารแห่งกาลเวลา

คอนเซ็ปต์หลัก โพทง คือกาลเวลา ที่อยากให้ลูกค้าสร้างความทรงจำที่นี่ ไม่ว่าจะตึกเก่าปนใหม่ ไปจนถึงมื้ออาหารที่มีกาลเวลาเป็นแม่ครัว โดยวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่นี่ทำเองแทบทั้งหมด 

นอกจากนี้ยังมีเอกลักษณ์การใช้ 5 Elements ของเชฟแพม คือความเค็มจากเกลือ ความเปรี้ยว เครื่องเทศ กลิ่นและรสชาติรวมควันจาก Maillard Reaction และเนื้อสัมผัส เช่น ความกรอบ ความนุ่ม ความหนึบ ซึ่งเชฟแพมเชื่อว่าทำให้อาหารซับซ้อนและครบรสมากขึ้น นอกจากนั้นประสบการณ์ของที่นี่ยังเปี่ยมล้นด้วย 5 ผัสสะ ทั้งฟังเรื่องเล่า เห็นความสวยงาม ชิมรสอร่อย ดมกลิ่นหอม และได้หยิบจับส่วนประกอบต่างๆ ในคอร์สอาหารดินเนอร์

“แพมเพิ่งมีลูก เลยได้ศึกษาว่าถ้าอยากให้เด็กเรียนรู้อะไร ต้องให้เขาได้ทดลองประสาทสัมผัสทั้งห้า ถ้าอยากให้เขารู้ว่าแอปเปิ้ลคืออะไร ดูแต่รูปภาพไม่ได้ ต้องเล่าให้ฟัง ให้เห็น จับ ดม และสุดท้ายคือให้กินแอปเปิ้ล เราเอาเรื่องนี้มาผสานกับร้าน” 

อาหารของร้านโพทงเป็น Progressive Thai-Chinese หยิบเอาอาหารไทยจีนของคนจีนโพ้นทะเลมาปรุงและตีความใหม่ ผสานกับความรู้สมัยใหม่ของเชฟแพม ไม่ใช่ทั้งอาหารไทยโบราณ และไม่ใช่อาหารจีนที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองจีน เนื่องจากเป็นคอนเซ็ปต์ที่แปลกและสื่อถึงตัวตนของเชฟเชื้อสายไทยจีน อาหารที่นี่มี 20 กว่าคอร์ส ตัวเมนูเป็นจดหมายของเชฟแพมต่อบรรพบุรุษที่ซ่อนชื่อรายการอาหารทั้งหมดไว้ และแต่ละเดือนมื้ออาหารจะมีสลับหมุนเวียนทีละอย่าง

ขอยกตัวอย่างอาหารมาให้ชมสักเล็กน้อย 

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

เมนูแรกคือ Corn Koji ที่ใช้ทุกส่วนของข้าวโพด ได้แรงบันดาลใจจากซุปข้าวโพดจีนที่ใส่พริกไทยขาวเยอะๆ แปลงเป็นคัสตาร์ดพริกไทยขาว มูสข้าวโพดทำจากโคจิ และเมล็ดทานตะวันกับทรัฟเฟิลวิเนการ์ แผ่นข้าวโพดด้านบนทอดด้วย Brown Butter กินแกล้มกับแผ่นข้าวโพดผสมพริกไทยขาวรูปใบไม้ รมควันเปลือกข้าวโพด ส่วนผมข้าวโพด ทำเป็นชาร้อน ใส่เง็กเต็ก ผิวมะนาว กานพลู และโป๊ยกั้ก หอมชื่นใจ

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

ต่อมาคือไก่ดำ พระเอกของร้าน ไม่ใช่แค่ตุ๋น เอามาตากแห้ง แล้วก็ย่าง และเสิร์ฟพร้อมหัวใจไก่ดำ ผงดำๆ คือมันไก่อบสมุนไพร เสิร์ฟพร้อมข้าวที่อบกับสมุนไพรยาจีน

ของหวานก็สนุกไม่แพ้กัน ไอศกรีมซีอิ๊วดำครอบด้วยน้ำตาลเป่าทรงพริกแห้ง ด้านในมีช็อกโกแลตขาว พริกซินเจียง คาราเมลช็อกโกแลตกับหม่าล่า และเครื่องพะโล้กับช็อกโกแลตนม เสิร์ฟพร้อม Smoke กลิ่นพะโล้ เป็นเมนูที่สื่อถึงถนนทรงวาด

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

“แถวทรงวาดข้างหลังนี้ก็เป็นถนนเครื่องเทศของแห้ง ซึ่งเราซื้อวัตถุดิบแถวนี้หมด แต่พวกอาหารทะเล เราทำงานกับชาวประมงเล็กๆ จากระนอง เพชรบุรี ภูเก็ต พังงา แล้วแต่ว่าวันนี้เราได้อะไรมา ส่วนผักและดอกไม้ออร์แกนิก เราได้วัตถุดิบจากเชียงราย เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ ยกเว้นซอสที่ทำเองแทบทุกอย่างเลยค่ะ”

Restaurant.Potong ตั้งใจจะเปิดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ระยะล็อกดาวน์ทำให้เพิ่งเริ่มเปิดได้เพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น โดยปัจจุบันเปิดรับลูกค้าเพียง 20 คนต่อวัน ดินเนอร์มีทั้งหมด 20 กว่าคอร์ส ซึ่งต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น และควรจองอย่างน้อย 1 เดือนล่วงหน้า ราคาคอร์สปัจจุบันตกอยู่ที่ 4,500++ บาท 

คอร์สหนึ่งใช้เวลาราว 3 – 4 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 4 โมงครึ่ง ยาวไปจนถึง 2 ทุ่ม ซึ่งลูกค้าสามารถนั่งฟังเรื่องราว พูดคุย และดื่มด่ำกับกาลเวลาและแต่ละมุมในร้านได้อย่างเต็มที่ 

“ตอนนี้เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเป็นคนไทย ซึ่งเขาจะคุยกันว่าอาหารเราเชื่อมโยงได้ เข้าใจได้ พาพ่อแม่อาม่าอากงมากินได้ จานสุดท้ายที่เป็นเมนคอร์สคือ Back to Basic มีโต๊ะกลมเสิร์ฟเป็ดย่าง เนื้อ กินกับข้าวสวยตรอก ไม่ใช่แค่เล็กๆ ตลอดแล้วกินเสร็จแล้วไม่อิ่ม ต้องไปทานข้าวต้มต่อ” เชฟแพมรับประกันความเข้าถึงง่ายของอาหารสไตล์ไทยจีนในเยาวราช

คุยกับเชฟแพมถึงเบื้องหลังการแปลงตึก 5 ชั้นของร้านขายยาโพทง ผู้ผลิตยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ เป็น โพทง ร้านอาหารแสนเท่แห่งสำเพ็ง-เยาวราช

“แถวนี้ก็เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ตึกแถวนี้มีเสน่ห์มาก คุณสมชัย (สมชัย กวางทองพาณิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช) ก็มาเยี่ยม บอกว่าดีมากเลยที่เราเก็บที่นี่ไว้ และดีที่เยาวราชมีที่แบบนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็พาลูกศิษย์มาดูตึก เพราะสถาปัตยกรรมแบบนี้ไม่เหมือนตึกอื่นๆ รอบๆ เลย ตรงทรงวาดมีแกลเลอรี่ มีร้านเอฟวี เราก็พยายามเกาะกลุ่มกัน ช่วยกัน อยากให้มีร้านเกิดมาแถวนี้เยอะๆ” 

ทายาทรุ่นที่ 5 ของร้านขายยาโพทงเอ่ยตบท้ายด้วยรอยยิ้ม คลื่นลูกหลังที่เข้ามาในไชน่าทาวน์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ปลุกย่านนี้ให้สนุกมีชีวิตชีวา

Restaurant.Potong

วันทำการ : ปิดวันอังคาร-พุธ 

เว็บไซต์ : www.restaurantpotong.com/

Facebook : Restaurant.Potong

โทรศัพท์ : 08 2979 3950 (จองโต๊ะล่วงหน้าเท่านั้น) 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ