2 กุมภาพันธ์ 2023
14 K

การประกาศยุติบทบาทการเป็นบริษัทพัฒนาและดูแลศิลปินของ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 หลังจากดำเนินธุรกิจอย่างโดดเด่น สร้างผลงานและศิลปินผู้เป็นที่รักมาประดับวงการบันเทิงไทยมากมายตลอด 12 ปี ทิ้งคำถามให้หลายคนสงสัยว่า ทีมงานนาดาวบางกอกจะไปทำอะไรกันต่อ

วันนี้ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ในบทบาท Chief Executive Officer จับมือกับผู้บริหารอีก 3 คน ทั้ง แท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินดา Chief Commercial Officer, ปรุง-ทัชระ ล่องประเสริฐ Artist Strategy Director (SONRAY MUSIC Co., Ltd.) และ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร Managing Director (5×6 House Co., Ltd.) มาแถลงข่าวเปิดตัวบริษัทใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 บริษัทย่อย ภายใต้บริษัทแม่ที่ชื่อว่า ‘TADA Entertainment (ทาดา เอ็นเทอร์เทนเมนท์)

TADA Entertainment บริษัทบันเทิงไทยที่ตั้งใจสร้างศิลปินไอดอลให้เป็นความสุข-แรงบันดาลใจของทุกคน

ชื่อ ‘ทาดา’ พ้องเสียงกับ ‘ธาดา’ ที่แปลว่าผู้สร้าง 

และเป็นเสียงประกอบเวลาที่ใครมีอะไรภูมิใจนำเสนอ

เราเคยคุยกับย้งเมื่อครั้งยังเป็นนาดาวบางกอก แล้วประทับใจกับความเป็นบริษัทที่พัฒนาศิลปินให้เป็น ‘คนมีคุณภาพ’ แบบที่คิดว่าให้วันหนึ่งศิลปินอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีนาดาวบางกอก และวันนั้นเขาก็ตั้งใจอยากหาคนมารับช่วงต่อในการบริหาร แต่ติดว่าต้องหาคนที่เชื่อและคิดเหมือนกัน เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าผู้บริหารคนใหม่จะดูแลศิลปินเหล่านี้ได้อย่างที่เขาตั้งใจ

ในบทบาทการเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรรอบที่ 2 ของย้ง เขาจึงอยากสร้างทั้งผู้บริหารธุรกิจบันเทิงรุ่นใหม่และศิลปินไอดอลคุณภาพสูง มาประดับวงการบันเทิงไทยแบบที่เขาภูมิใจนำเสนอ

แต่ก่อนจะคุยเรื่องการเปิดประตูบานนี้ เราเชื่อว่าทุกคนคงอยากรู้สาเหตุที่แท้จริงของการปิดประตูบ้านนาดาวบางกอกจากปากของย้ง ซึ่งเขายังไม่เคยพูดเรื่องนี้กับสื่อไหน เขายินดีจะพูดวันนี้ เพราะเขาบอกว่าฝุ่นหายตลบและทุกอย่างตกตะกอนแล้ว จึงมั่นใจว่าจะตอบคำถามนี้ได้ตรงกับใจจริง ๆ

เขาเล่าว่าก่อนยุติบทบาทของนาดาวบางกอก ทีมผู้บริหารใช้เวลาพิจารณา วางแผน และเตรียมตัวมาร่วม 3 ปี และยืนยันว่าไม่ได้มีใครในบริษัทหมดแพสชัน

“การปิดนาดาวฯ คือการไปต่อ ไม่ใช่การสิ้นสุด เพราะนาดาวฯ คือหมู่มวลคนซึ่งรักจะทำสิ่งที่สนใจเหมือนกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่พอถึงเวลาที่ต่างคนต่างมีเป้าหมายใหม่ น้อง ๆ นักแสดงเติบโตในวงการบันเทิงได้ดี หลายคนเรียนจบแล้ว บางคนก็แข็งแรงจนเปิดบริษัทเองได้ บางคนมีแนวคิดในการบริหารศิลปินหรือนักแสดงในแบบของตัวเอง เราก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเป็นนาดาวบางกอกต่อไป เราแยกกันไปสนุกกับทางที่ตัวเองสนใจดีกว่า ซึ่งก็หมายถึงการต้องยุติธุรกิจเดิม เพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่”

การเลือกปิดประตูบานเก่าอันโด่งดังและมั่นคงเพื่อเปิดประตูบานใหม่นี้ ย้งบอกว่าไม่มีอะไรที่เขาเสียดายเลย 

“มีแต่กลัวจะเสียดายเวลาและโอกาสของทุกคน ถ้าเราไม่ได้ให้อิสระพวกเขาไปเติบโตงอกงามในผืนดินของตัวเอง” ย้งบอก

สำหรับย้งและพนักงานบางส่วน เป้าหมายใหม่ของพวกเขาคือการสร้างศิลปินไอดอลชาวไทยประดับวงการบันเทิงไทยที่พวกเขารัก เพื่อเป็นความสุขและแรงบันดาลใจให้กับผู้คน 

“มันน่าสนุกดี” ย้งบอกเหตุผลที่คิดจะทำงานนี้

“ตอนเปิดออดิชัน เราได้เจอน้อง ๆ หลายคนที่มีความฝันอยากเป็นศิลปิน แต่เขาไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์หรือเก่งมาแล้ว พวกเขาเป็นเด็กที่ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น มีความฝันและมีความพยายาม ผมว่ามันน่าสนุกที่เราจะได้เริ่มต้นกับคนที่มีความฝัน แล้วเราก็ฝึกหัดไปด้วยกัน เพื่อไปสู่ปลายทางซึ่งเขาเป็นศิลปินที่มีมาตรฐานที่ดีได้”

TADA Entertainment บริษัทบันเทิงไทยที่ตั้งใจสร้างศิลปินไอดอลให้เป็นความสุข-แรงบันดาลใจของทุกคน

ยุคนี้เป็นยุคของคนที่พยายามและตั้งใจ

SONRAY MUSIC (ซันเรย์ มิวสิค) ลูกชายที่สดใสเหมือนแสงแดด และ ILY LAB (ไอลี่ แล็บ) กลุ่มเด็กสาวที่เรียบง่ายและงดงาม เป็นบริษัทลูกของ TADA Entertainment สำหรับสร้างและพัฒนากลุ่มศิลปินไอดอล 

SONRAY MUSIC ผลิตศิลปินไอดอลชาย และ ILY LAB ผลิตศิลปินไอดอลหญิง ย้งเล่าว่าจากประสบการณ์ การดูแลศิลปินชายและหญิงมีรายละเอียดแตกต่างกัน จึงอยากแยกการบริหารออกเป็น 2 บริษัท แต่ศิลปินจาก 2 ค่ายก็จะได้ทำงานร่วมกันในบางโอกาส

สำหรับใครที่ไม่ใช่แฟนไอดอล เราขอชวนมาแวะฟังนิยามคำว่าศิลปินไอดอลจากย้งกันสักนิด

“ศิลปินไอดอลเป็นศิลปินที่มีการฝึกหัดและพัฒนาให้มาเป็นศิลปิน บอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปสมัยก่อนอาจอาศัยหน้าตาดี ความสามารถกลาง ๆ ได้ แต่ยุคนี้ผู้บริโภคต้องการศิลปินที่นอกจากภาพลักษณ์และบุคลิกดีแล้ว เขายังต้องมีความสามารถสูง ทั้งด้านการร้องเพลง การแสดง และการเต้นด้วย”

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ย้งผู้ติดตามและชื่นชอบศิลปินไอดอลต่างชาติ มองไอดอลเหล่านั้นด้วยสายตานักปั้นดาวแล้วฟันธงว่า มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีเสน่ห์ความเป็นไอดอลอยู่ในตัว 

“วัยรุ่นไทยมีจุดเด่นอย่างความสนุกสดใส ไม่ซีเรียสกับชีวิตมากเกินไป แต่ถ้าเขาจะเอาจริงกับอะไร เขาก็ตั้งใจและจริงจังกับมันได้ ความทะเล้น ความกวนที่มากับความมุ่งมั่นนี่แหละเป็นบุคลิกที่ผมอยากทำงานด้วย อยากเห็นพวกเขาค่อย ๆ เก่ง ค่อย ๆ เติบโต จนเป็นศิลปินที่ชนะใจแฟนเพลงหรือคนดูได้” 

TADA Entertainment บริษัทบันเทิงไทยที่ตั้งใจสร้างศิลปินไอดอลให้เป็นความสุข-แรงบันดาลใจของทุกคน
TADA Entertainment บริษัทบันเทิงไทยที่ตั้งใจสร้างศิลปินไอดอลให้เป็นความสุข-แรงบันดาลใจของทุกคน

ความฝันของหนุ่มสาวกับหน้าที่การสร้างความสุขและแรงบันดาลใจ

ศิลปินไอดอลกลุ่มแรกที่ TADA Entertainment จะเปิดตัว เป็นกลุ่มศิลปินหญิงนามว่า ‘MXFRUIT (มิกซ์ฟรุต)’ ภายใต้สังกัด ILY LAB (ซึ่งย่อมาจาก I Love You)

ย้งไม่คิดแบบ Fail Fast, Fail Cheap และเราก็เห็นด้วยว่า ความฝันของเด็กสาวไม่ควรถูกเอามาใช้เป็นการทดลองทางธุรกิจ ศิลปินไอดอลหญิงกลุ่มนี้จึงเป็นเด็กที่เทรนมาแล้วเกือบ 2 ปี และพวกเธอกำลังจะได้เดบิวต์ในเดือนมีนาคมนี้

ย้งเล่าว่าเขาชวนสมาชิกทั้ง 5 ที่ตอนแรกต่างคนต่างมามารวมเป็น Girl Group และทำวงด้วยกัน เพื่อใช้พื้นที่นี้ค้นหาแนวทางของตัวเองในวัยที่เพิ่งเริ่มต้น และผนึกกันเป็นทีมที่แข็งแรงมากพอจะพากันไปสู่ความสำเร็จ 

“จริง ๆ ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองและมีความสามารถในการเป็นศิลปินเดี่ยว แต่โชคดีที่เด็ก 5 คนนี้มีความแตกต่างที่อยู่ด้วยกันแล้วลงตัว และยอมที่จะเปิดตัวร่วมกัน วันหนึ่งถ้าพวกเขามีประสบการณ์และความสามารถมากพอ มีอะไรที่อยากเล่าจากตัวเอง หรือมีแนวทางของตัวเองแล้ว อาจจะได้ทำเพลงแบบโซโล่ก็ได้” ย้งวางแผนแบบเล่นเกมยาวเอาไว้

ศิลปินไอดอลอีกกลุ่มที่พวกเขาปลุกปั้นอยู่เป็นกลุ่มศิลปินไอดอลชาย ชื่อ 789 TRAINEE ภายใต้สังกัด SONRAY MUSIC

ด้วยจุดแข็งการเป็นคนทำคอนเทนต์ของย้ง และประสบการณ์ในบริษัท SM Entertainment ของปรุง กลุ่มศิลปินฝึกหัดชายที่เปิดตัวบนโลกออนไลน์มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 จึงเป็นสีสันใหม่ในวงการที่น่าจับตามอง ศิลปินหนุ่มฝึกหัด 24 คนกำลังจะมีโปรเจกต์รายการ 789 SURVIVAL เป็นเรียลิตี้โชว์ ออกอากาศทางช่อง ONE31 พวกเขาจะได้ทำบททดสอบต่าง ๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่น ความตั้งใจพัฒนาตัวเองและทีม เพื่อเดบิวต์เป็นวงบอยกรุ๊ปวงต่อไป ซึ่งจำนวนคนในวงนั้นยังไม่แน่นอน อาจจะเป็น 7 8 หรือ 9 คนก็ได้ ย้งบอกไว้อย่างนั้น

สิ่งที่ย้งหมายมั่นปั้นมือในตัวศิลปินไอดอลก็คือ อยากให้พวกเขาสร้างความสุขให้แฟน ๆ และอยากให้เก่งพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้แฟน ๆ ได้

“ผมหมายมั่นปั้นมือที่ 2 อย่างนี้ เพราะเชื่อว่ายุคนี้มีคนไม่น้อยที่มีศิลปินเป็นกำลังและแรงบันดาลใจ ไม่รู้จะเรียกว่ายกระดับวงการบันเทิงไทยไหม แต่น่าจะทำให้คนไทยมีความสุข และในมุมคนทำงาน ผมคิดว่าผลลัพธ์จากความพยายามที่สังคมจะได้เห็น อาจไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ให้ทำงานดี ๆ เหมือนที่เราเคยได้แรงบันดาลใจจากคนรุ่นพี่ที่ทำงานดี ๆ ออกมาก่อนหน้านี้ก็ได้ ผมอยากทำศิลปินให้วงการบันเทิงไทย ให้คนไทยดู แล้วถ้าวันหนึ่งจะไประดับสากล เราก็จะไปแบบเป็นศิลปิน T-POP ของไทย”

TADA Entertainment บริษัทบันเทิงไทยที่ตั้งใจสร้างศิลปินไอดอลให้เป็นความสุข-แรงบันดาลใจของทุกคน
จับเข่าคุยแนวคิดของ TADA Entertainment บริษัทที่อยากสร้างทั้งศิลปินไอดอลคุณภาพและผู้บริหารธุรกิจบันเทิงรุ่นใหม่

โครงสร้างบริษัทย่อยที่เป็นอิสระ และมีบริษัทแม่ดูแลแบบไม่กำกับ

นอกจาก SONRAY MUSIC และ ILY LAB ซึ่งเป็นธุรกิจที่ย้งโฟกัสอยู่แล้ว TADA Entertainment ยังมีบริษัทโปรดักชันชื่อ 5×6 House ทำงานด้านคอนเทนต์อย่างที่พวกเขาถนัด ดูแลโดย ปิง เกรียงไกร 

3 บริษัทย่อยนี้บริหารในแบบของตัวเอง โดยมีบริษัทแม่เป็นหน่วยกลางดูแลเรื่องส่วนรวมต่าง ๆ เช่น การตลาด กฎหมาย บัญชี เป็นต้น 

ย้งบอกว่า “นี่อาจจะเป็นช่วงท้าย ๆ ในชีวิตการทำงานของผมแล้ว การมีบริษัทยิบย่อยคือการให้คนอื่นได้ขึ้นมาลองบริหารบริษัทนั้นในมุมมองของเขาเอง เขากำหนดทิศทางที่อยากเป็นได้เอง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เรามีอิสระมากขึ้นหลังจากมาเปิดบริษัทใหม่”

5×6 House เป็นบริษัทโปรดักชันเฮาส์ที่ย้งบอกว่าให้อิสระปิงออกแบบได้เต็มที่ ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นงานที่เข้ากับศิลปินไอดอล หรือเป็นงานที่เน้นสร้างนักแสดงจากศิลปินในค่าย ซึ่งทำให้ปิงสร้างสรรค์และบริหารบริษัทของตัวเองได้เต็มที่ยิ่งขึ้น

ย้งบอกอีกว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นบริษัทภายใต้ TADA Entertainment เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย หากมีคนสนใจอยากมาร่วมทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน “ถ้าใครทำดี ความสำเร็จก็จะเป็นของเขา โดยมีพวกผมเป็นเบื้องหลัง ซัพพอร์ตและให้ความช่วยเหลือ แนะนำในพาร์ตหลังบ้าน” 

จับเข่าคุยแนวคิดของ TADA Entertainment บริษัทที่อยากสร้างทั้งศิลปินไอดอลคุณภาพและผู้บริหารธุรกิจบันเทิงรุ่นใหม่
จับเข่าคุยแนวคิดของ TADA Entertainment บริษัทที่อยากสร้างทั้งศิลปินไอดอลคุณภาพและผู้บริหารธุรกิจบันเทิงรุ่นใหม่

สุดท้าย ผู้บริหารที่โดดเด่นคนหนึ่งในยุคสมัยของเรายังยืนยันว่า เขาอยากเป็นคนทำงานมากกว่าเป็นผู้บริหารมืออาชีพ เขายังรอวันที่จะได้สร้างศิลปินไอดอลและผู้บริหารรุ่นใหม่ให้แข็งแรงพอที่เขาจะปล่อยมือจากงานบริหารและหันไปจับกล้อง จับงานกำกับที่รักได้อีกครั้ง

“ผมโชคดีที่ได้ใช้ชีวิตในงานที่ผมรัก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ การให้อิสระกับทุกคนในการบริหารงานและชีวิตของตัวเอง

“การปิดนาดาวบางกอกทำให้เรียนรู้ว่า อย่าไปยึดติดกับทั้งความทุกข์และความสุข เพราะในช่วง 2 – 3 ปีที่ต้องตัดสินใจและเตรียมการปิดนาดาวฯ เป็นช่วงเวลาที่กังวลมาก เป็นห่วงอะไรเต็มไปหมด แต่พอตัดสินใจได้แล้ว ใกล้เวลาที่จะปิดแล้วจริง ๆ กลับรู้สึกว่ามันไม่ได้ยากขนาดนั้น การไม่มีนาดาวฯ ไม่ได้ทำโลกแตกสลาย ไม่ได้จะทำให้เด็กนักแสดงไปต่อไม่ได้ หรือแม้กระทั่งน้อง ๆ พนักงานเขาก็จะเดินต่อไปได้ด้วยตัวเองกันทั้งนั้น”

จับเข่าคุยแนวคิดของ TADA Entertainment บริษัทที่อยากสร้างทั้งศิลปินไอดอลคุณภาพและผู้บริหารธุรกิจบันเทิงรุ่นใหม่

เขาเล่าด้วยว่าแม้แต่งานฉลองเพื่อร่ำลาอย่างการไป Outing นาดาวฯ ที่ย้งต้องพลาดเพราะติดโควิด สุดท้ายก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าฟูมฟายอย่างที่เขารู้สึกในตอนแรก เพราะมิตรภาพที่ชาวนาดาวฯ ยังมีให้กันและกันก็เห็นได้ชัดว่ามันยังอยู่ 

“เท่านั้นก็พอแล้วมั้ง” ย้งกล่าวปิดท้ายก่อนขอพุ่งตัวไปดูน้องซ้อมและมีประชุมต่อ

Lessons Learned

  • อย่ายึดติดกับความสำเร็จหรือไม่สำเร็จที่เคยเป็นมาก่อน เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยน ยิ่งถ้าเราเคยล้มมาก่อนแล้วลุกขึ้นมาได้ ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว
  • สร้างงานแล้ว อย่าลืมสร้างคนทำงานด้วย เพราะการจะทำให้ธุรกิจที่เราฝันอยู่เป็นไปได้อย่างยั่งยืน วันหนึ่งจำเป็นต้องมีคนรับช่วงต่อ
  • เลือกทำสิ่งที่อยากทำให้ดีจนกลายเป็นธุรกิจได้ เป็นหนทางแห่งความสุขที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมไปกับงาน

ภาพ : TADA Entertainment

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล