“…อารมณ์ฉันก็มี แต่ถ้าไม่มีถุงยาง ก็อดโว้ย…”

หลังจากที่คลิปโปรโมตซีรีส์เรื่องใหม่ของช่อง GMM ONE ปรากฏขึ้นบนโลกออนไลน์ พร้อมกับคำพูดสุดซี้ดของสาวน้อยในชุดนักเรียน เสียงของผู้ชมชาวไทยก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ ทันที

เพราะหลายคนแทบไม่เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นจริงในห้องเรียน

แต่หารู้ไม่ว่า ชีวิตวัยรุ่นไทยมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ

เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน เต็มไปด้วยการค้นหา เรียนรู้ ลองผิดลองถูก และตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งความสนุก ความคะนอง ความรัก ความเกลียด หรือแม้แต่ความฝัน จนเกินกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนจะจินตนาการได้ 

และวัตถุดิบที่เต็มไปด้วยความเรียลเหล่านี้เองที่นำมาผสมผสานจนกลายเป็น Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์ที่สั่นสะเทือนวงการโทรทัศน์ไทย และกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ทำให้ทุกคนต้องหันมาถกเถียงและพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ของวัยรุ่นซึ่งเคยถูกมองข้ามมาตลอด และเนื่องในโอกาสที่ซีรีส์เรื่องนี้มีอายุครบ 10 ปี ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับซีซัน 2 – 3 มาร่วมทบทวนความทรงจำตั้งแต่จุดตั้งต้นของซีรีส์ จนถึงวันนี้ที่โลกของวัยรุ่นยังคงว้าวุ่นและยุ่งเหยิงไม่ต่างจากเดิม

แม้เมืองไทยจะมีละครวัยรุ่นมาแล้วหลายเรื่อง แต่คงไม่มีเรื่องไหนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับ Hormones วัยว้าวุ่น

จุดเริ่มต้นของซีรีส์เกิดจากวันที่ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน เด็กหอ และ ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ของ GTH ให้มาดูแลบริษัทในเครือที่ชื่อ ‘นาดาว บางกอก’ ซึ่งมีภารกิจหลักคือการพัฒนาและดูแลศิลปินในสังกัด

ระหว่างนั้น ย้งก็ได้รับโอกาสให้ทำงานโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ด้วยการผลิตซีรีส์รีเมกจากเกาหลีใต้เรื่อง Coffee Prince เพื่อออกอากาศทาง TrueVisions ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

หากแต่จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 เพราะบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ต่างพร้อมใจกันลงสนามทีวีดาวเทียม และเริ่มต้นผลิตกล่องรับสัญญาณออกมาแข่งกัน โดย GMM Grammy บริษัทแม่ของนาดาว บางกอก ได้ทำกล่อง GMMZ ขึ้นมา และมีช่อง GMM ONE เป็นจุดขาย ด้วยเหตุนี้ ทางผู้บริหารของ GMM Grammy จึงสอบถามมาทางย้งว่า ไม่สนใจที่จะทำรายการให้ทางบริษัทบ้างเหรอ

ย้งเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาศักยภาพของน้อง ๆ ในนาดาว บางกอก หากสร้างซีรีส์เรื่องหนึ่งที่รวบรวมดาราในสังกัดเข้าไว้ด้วยกัน ก็จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ฉายแสง

โดยหัวข้อหนึ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษก็คือ ‘ชีวิตวัยรุ่น’ เพราะนอกจากเป็นเรื่องราวใกล้ตัวของนักแสดงแล้ว ก่อนหน้านั้นเขาเคยทำภาพยนตร์เรื่อง ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น แล้วรู้สึกว่ายังมีประเด็นเกี่ยวกับวัยรุ่นอีกมากที่น่าหยิบยกมานำเสนอ ทว่าด้วยข้อจำกัดของภาพยนตร์ที่ต้องทำให้เหมาะกับผู้ชมทุกวัย จึงถ่ายทอดเรื่องราวบางมุมได้ไม่เต็มที่ แต่พอเป็นทีวีดาวเทียม ก็อาจจะพาเนื้อหาของรายการไปได้ไกลกว่า ลึกกว่า และตรงประเด็นมากกว่า 

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มชวนรุ่นน้องจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย โจ้-กวินเจตน์ ตันติธนาทรัพย์ กุ๊ก-ธนีดา หาญทวีวัฒนา ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ดิว-ธนพล เชาวน์วานิชย์ และวรรณ-วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ ซึ่งพอมีแววจะเขียนบทได้มารวมตัวกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมุมมองทัศนคติและประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

อย่างปิงนั้น เดิมทีเคยเป็นผู้กำกับหนังวัยรุ่นมาก่อนชื่อเรื่อง เพื่อนไม่เก่า ย้งจึงเห็นว่าน่าจะมีความเข้าใจและช่วยเติมเต็มให้ซีรีส์มีความหลากหลายได้ จึงชักชวนให้มาร่วมตั้งต้นโปรเจกต์ด้วยกัน 

“ทีมเขียนบทกว่าจะลงตัวก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อย อย่างตอนแรกมีเรา พี่โจ้ พี่กุ๊ก แล้วพี่อีกคนชื่อ พี่เก่ง แต่ตอนหลังพี่เก่งขอบาย เพราะการเขียนบทกินเวลาเยอะ เราเลยแนะนำเพื่อน คือวรรณแววกับดิว ให้มาคุยกับพี่ย้ง แต่ถึงจะอยู่รุ่นเดียวกัน เราก็ไม่เคยทำงานด้วยกันนะ เราแค่รู้ว่าเขาพอทำได้ เพราะพี่ย้งมักแนะนำเสมอว่า เวลาหาทีมให้หาคนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ เพราะเรื่องที่ทำเป็นเรื่องคน ต้องใจกว้างและอยากเข้าใจคนอื่น สิ่งนี้จะช่วยให้เขียนตัวละครที่แสบ ๆ ได้สนุกแล้วคนไม่เกลียด”

เวลานั้นย้งสนใจซีรีส์วัยรุ่นอังกฤษอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ Skins ซึ่งมีรูปแบบการเล่าคือ ตัวละครทั้งหมดรวมอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน โดยแต่ละตัวมีเส้นเรื่องของตัวเองแยกกันไปในแต่ละตอน เลยคิดว่าอาจจะนำสไตล์การเล่าแบบนี้มาประยุกต์ใช้ได้

“ตอนแรกที่พี่ย้งเล่าให้ฟังก็ไม่เข้าใจหรอก แต่ตอนที่เอา DVD ซีรีส์มาดู มันเก็ตเลย คือเราต่างเป็นตัวประกอบของอีกตัวหนึ่งใน Episode หนึ่ง และพอถึง Episode หนึ่งเราอาจจะกลายเป็นพระเอก และมีเส้นเรื่องของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเราชอบวิธีการเหล่านั้นมากก็เลยหยิบยืมมา แต่แค่โครงสร้างเท่านั้นนะ ส่วนเนื้อหา ตัวละคร การผูกเรื่องใด ๆ เราสร้างใหม่หมดโดยยึดบริบทของเด็กไทย

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

“แต่ยอมรับว่าวันแรกไม่รู้จะเขียนบทยังไง เหมือนเป็นการคุ้ยมั่ว ลองทุกอย่าง อย่างกระบวนการสร้างคาแรกเตอร์ พี่ย้งบอกว่า ถ้าอยากรู้อะไร ต้องการอะไร เพื่อเอาอินไซต์หัวใจของวัยรุ่นออกมา ถามน้อง ๆ นักแสดงได้หมดเลยนะ เราก็เลยเรียกมาคุย คนหนึ่งคุยยาว 3 – 6 ชั่วโมง”

แม้จะเป็นวิธีการที่มั่ว แต่กลับเป็นสารตั้งต้นที่ดีมาก เพราะข้อมูลที่ออกมานั้นสดใหม่ หลากหลาย และต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยรับทราบมาก่อน 

อย่าง ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร เดิมทีเขาเป็นเด็กที่เกเรมาก่อน เคยมีเรื่องชกต่อยอยู่ตลอด จนวันหนึ่งก็เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อเขาได้บวชในวัดป่า แล้วระหว่างที่กำลังเจริญสมาธิในป่าก็เผลอไปเหยียบเศษหินแล้วรู้สึกเจ็บ จึงหวนนึกถึงวันที่เคยต่อยตีว่าเจ็บเหมือนกัน จึงเลิกพฤติกรรมเดิม ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่อมาทีมเขียนบทก็นำเรื่องนี้มาพัฒนาเป็นตัวละคร ‘ไผ่’ ที่ต่อแสดงนั่นเอง

“ตอนนั้นพวกเราอายุ 27 – 28 มันผ่านวัยรุ่นมาหลายปีแล้ว เวลาคิดต้องใช้วิธีย้อนรำลึก แต่สำหรับเด็กพวกนี้มันบริสุทธิ์มาก บาดแผลยังสดอยู่ เพราะเพิ่งเกิดในชีวิตเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเวลาเล่าออกมา ทุกคนจะเล่าอย่างอินสุด ๆ ที่สำคัญ เด็กแต่ละคนมีประเด็นไม่เหมือนกัน อย่างธงหนึ่งที่ตั้งไว้ในใจและต้องหาคำตอบให้เจอคือ ‘มึงโตมายังไงถึงเป็นคนแบบนี้ได้’ สิ่งนี้ช่วยชีวิตหลายตัวละคร เพราะพอเราลงมาสำรวจ มาสร้างแบ็กกราวนด์ของแต่ละคน ก็ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าทำไมเขาถึงเป็นเด็กแบบนี้”

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด
10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

นอกจากข้อมูลจากนักแสดงแล้ว อีกองค์ประกอบที่ทีมเขียนบทนำมาใช้ คือประเด็นทางสังคมและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน อย่างเช่นสมัยนั้นจะมีคลิปตบกันในห้องน้ำ ซึ่งพวกเขาตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงต้องถ่ายคลิปเก็บไว้ด้วย ต้องการเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือไม่ จึงไปสัมภาษณ์เด็กผู้หญิงตามโรงเรียนต่าง ๆ กระทั่งเข้าใจว่า หลายครั้งมีที่มาจากความขัดแย้งเรื่องความรัก ความหึงหวง จึงนำมาต่อยอดและเขียนเป็นฉากหนึ่งในซีรีส์ หรือประเด็นเรื่องผู้หญิงที่มีแนวคิดฟรีเซ็กซ์ ก็มีต้นทางมาจากบุคคลหนึ่งที่พวกเขารู้จัก จึงเชิญมาพูดคุย แล้วนำข้อมูลไปตกผลึกจนกลายเป็นตัวละคร ‘สไปรท์’

“เรื่องนี้นำมาจากรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเรานับถือทัศนคติของเขานะ เนื่องจากถ้าย้อนกลับไป 10 ปีก่อน มันเป็นเรื่องใหม่มาก เพราะเวลาพูดเรื่องเซ็กซ์ในสังคมไทย ก็จะถูกมองว่าผู้ชายได้ผู้หญิงตลอด แต่หากเรามีเด็กผู้หญิงสักคนที่เขาไม่ได้มองว่าตัวเองเสีย เขาก็ได้เหมือนกัน คงน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งตอนพูดคุย มีประเด็นหนึ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือ ทำไมเขาถึงคิดไม่เหมือนคนอื่น เขาบอกว่า ฉันชอบ ฉันสนุก ซึ่งความซื่อสัตย์และจริงใจกับตัวเองแบบนี้ สะท้อนว่าฉันไม่เห็นต้องเชื่อทุกอย่างที่ผู้ใหญ่บอกเลยก็ได้ 

“แต่เรื่องทั้งหมดของสไปรท์ไม่ได้มาจากพี่คนนี้เท่านั้น เรามีสัมภาษณ์เด็กมัธยมจริง ๆ ด้วย เพื่อคุยว่าที่โรงเรียนมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งปรากฏว่าเซ็กซ์ในห้องน้ำเป็นเรื่องปกติมาก แม้แต่โรงเรียนชายล้วน ในห้องประชุมก็มี คือมันเกิดขึ้นหลายที่ เพียงแต่ยุคนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่รุนแรงเท่าวันนี้”

การที่ไม่พยายามตีความวัยรุ่นด้วยสายตาของตัวเอง แต่เลือกจะค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก ทำให้ทีมเขียนบทได้วัตถุดิบที่น่าสนใจกลับมาเต็มคลัง

โดยระหว่างทางก็พยายามจัดระเบียบว่าประเด็นนี้นำมาต่อยอดหรือพัฒนาเป็นตัวละครใดได้บ้าง ซึ่งบางคาแรกเตอร์ที่เคยเล็งไว้ว่าอยากทำ อาทิ เด็กที่บ้าของแบรนด์เนม แต่พอถึงเวลาจริงกลับต้องคัดออก เนื่องจากพอมาเริ่มลงมือเขียนเส้นเรื่องแล้วกลับไม่สนุกเท่าที่ควร จนสุดท้ายก็ลงตัวที่ 9 ตัวละครหลักในโรงเรียนนาดาวบางกอก ซึ่งแต่ละตัวมีทัศนคติและพฤติกรรมฉีกแนวกันไปเลย

ตั้งแต่ ‘วิน’ หนุ่มสุดป๊อปผู้ชอบท้าทายและเล่นสนุกกับความสัมพันธ์รอบตัว รับบทโดย พีช-พชร จิราธิวัฒน์ ‘ของขวัญ’ สาวน้อยผู้แสนเพอร์เฟกต์ แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับความไม่สมบูรณ์แบบ รับบทโดย แพทตี้-อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา ‘หมอก’ เด็กหนุ่มเงียบขรึม โลกส่วนตัวสูง เขามักจะบันทึกเรื่องราวมากมายไว้ในภาพถ่าย รับบทโดย ไมเคิล-ศิรชัช เจียรถาวร ‘ต้า’ เด็กหนุ่มที่มีกีตาร์เป็นความฝัน และใช้ความรักเป็นแรงผลักดัน รับบทโดย กันต์ ชุณหวัตร ‘เต้ย’ สาวน้อยผู้ถูกกล่าวหาว่าแรดเงียบ รับบทโดย ปันปัน-สุทัตตา อุดมศิลป์

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

‘ภู’ เด็กหนุ่มผู้เลือกรักด้วยหัวใจ โดยไม่สนว่าเพศไหน รับบทโดย มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกําพล ‘ดาว’ สาวช่างฝัน นักเขียนดังบนโลกออนไลน์ แต่โลกในจินตนาการอันงดงามของเธอต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลจากการเสียตัวครั้งแรก รับบทโดย ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล ‘ไผ่’ หนุ่มเลือดร้อนนักต่อยตี คู่กรณีมีเป็นร้อย แต่อ่อนด้อยเรื่องการวางตัวกับผู้หญิง รับบทโดย ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร และ ‘สไปรท์’ สาวมั่น ผู้ไม่เคยมองว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องเสียหาย เธอจึงมีความสุขและสนุกไปกับเซ็กซ์อย่างเต็มที่และเปิดเผย รับบทโดย เก้า-สุภัสสรา ธนชาต

นอกจากนี้ยังมีตัวละครรายล้อมเพื่อทำให้เรื่องราวมีมิติมากขึ้น เช่น ‘ธีร์’ ตัวละครที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับภู รับบทโดย ตั้ว-เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์ ‘ก้อย’ เพื่อนสนิทของดาว รับบทโดย เบลล์-เขมิศรา พลเดช ‘ป๊อป’ เจ้าของรายการ VR Source ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการกระจายข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน รับบทโดย ท็อป-ณภัทร โชคจินดาชัย รวมถึง ‘เภา’ น้องชายสุดแสบของภู ซึ่งแสดงโดย ต้นหน ตันติเวชกุล

“นักแสดงวัยรุ่นทุกคนอยู่นาดาวหมดเลย ยกเว้นแค่เก้ากับตั้วเท่านั้นที่มาใหม่ เพราะตอนนั้นไม่มีนักแสดงในสังกัดคนไหนที่มีบุคลิกตรงกับสไปรท์เลย เราก็เลยเขียนบทไปก่อนแล้วหาคนมาสวม ซึ่งตอนแรกบทนี้มีอีกคนที่เกือบ ๆ จะผ่านเข้ารอบ ลองเวิร์กช็อปแล้วด้วย แต่เคมียังไม่เข้ากันเท่าไหร่ พี่ย้งเขาเลยลองหาคนใหม่ จนมาลงตัวที่สุภัสสรา”

สำหรับวิธีเขียนบทนั้น แต่ละคนจะแบ่งความรับผิดชอบตัวละครตามความสนใจและใกล้เคียงกับตัวเอง เช่น ปิงดูแลตัวละครผู้ชายที่มีความซับซ้อน อย่างวินกับไผ่ ส่วนโจ้ดูแลต้า ซึ่งเป็นผู้ชายเหมือนกัน แต่จริงใจและตรงไปตรงมากกว่า ขณะที่ดิวดูแล ภู-ธีร์ ซึ่งเป็นตัวละครที่เป็น LGBTQ+ รวมถึงดาวด้วย ส่วนกุ๊กถือตัวละครผู้หญิงอย่างของขวัญและสไปรท์ สุดท้ายคือวรรณเขียนเรื่องของหมอกและเต้ย

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

เมื่อเขียนเสร็จเรียบร้อย ทุกคนก็จะนำบททั้งหมดมารวมกัน ปรับแก้ วางแผนสร้างตัวละครอื่น ๆ เช่น ครูและผู้ปกครองเพิ่มเติม เพื่อเสริมให้ประเด็นต่าง ๆ แข็งแรงยิ่งขึ้น ตลอดจนนำเรื่องทั้งหมดมาขมวดเรียงร้อยจนกลายเป็นโครงเรื่องที่สมบูรณ์ 

“ตอนขมวดนี่ยากสุด อย่างครึ่งแรกที่เป็นเรื่องของแต่ละคน ทุกคนจะรู้สึกกันมาก เพราะอินไซต์มันถูกหมดเลย แต่พอเป็นครึ่งหลังที่ตัวละครมารวมกัน เราต้องคุยกันเยอะว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน อีกส่วนที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรไม่ให้หนังเรื่องนี้สั่งสอนมากเกินไป ดังนั้น เวลาเขียนบท เราต้องถอดหัวโขนของตัวเองให้ได้ เพราะบางครั้งพอเขียนไปเรื่อย ๆ มันชอบโผล่ออกมา ซึ่งทีมเขียนบทคนอื่นก็คอยช่วยกันแตะเบรกว่า อันนี้เกินไปนะ ทำให้บางครั้งเราใช้เวลาคุยกันนาน เพราะต้องโอเคทั้งโต๊ะ ถ้าใครติด ห้ามผ่าน บางทีคุยกันข้ามคืนก็มี

“อย่างตัวละครหนึ่งที่ทีมเขียนบทคิดอยู่นานว่าจะหาทางออกอย่างไรดีคือ สไปรท์ เพราะตอนจบ เราก็ไม่อยากลงทัณฑ์ตัวละคร เนื่องจากไม่ได้รู้สึกว่าตัวละครผิด แต่เวลาเป็นหนังมันต้องมีต้น-กลาง-จบ แล้วผลสุดท้ายตัวละครต้องได้รับบทเรียนอะไรบ้าง พวกเราเลยเขียนว่า หลังจากสไปรท์จบเรื่องไผ่ไป ก็มีผู้ชายอีกคนเข้ามาหา เพราะมองว่าเธอง่าย แล้วเธอก็พูดกับแม่ว่า ‘หนูรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า’ ตอนนั้นเราคิดว่าตัวละครได้เรียนรู้แล้ว แต่พอมองย้อนกลับไป เหมือนเรากำลังโจมตีว่าสิ่งที่สไปรท์ทำมันผิด ซึ่งอาจจะแคบไปหน่อย แต่ด้วยประสบการณ์ในวันนั้น ทำให้เราทำได้แค่นี้”

แต่ถึงการทำงานจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายเพียงใด แต่ย้งกับทีมเขียนบททั้ง 5 คน ก็มุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่ จนกระทั่งบทเสร็จลุล่วง โดยใช้ระยะเวลาถึง 1 ปีเต็ม

ย้งตั้งชื่อซีรีส์เรื่องใหม่ว่า Hormones วัยว้าวุ่น ด้วยเห็นว่าวัยรุ่นเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีผลต่ออารมณ์ วิธีคิด และการตัดสินใจอย่างมาก เพราะฉะนั้น ฮอร์โมนจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยอธิบายความแตกต่างและแรงผลักดันที่ทำให้วัยรุ่นแต่ละคนทำสิ่งต่าง ๆ ออกไป

นั่นเองที่กลายเป็นจุดตั้งต้นของปรากฏการณ์ที่จะพลิกมุมมองของสังคมที่มีต่อวัยรุ่นไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

แม้ Hormones วัยว้าวุ่น จะผ่านการคิดอย่างละเอียดที่โต๊ะเขียนบท แต่การแปลงจากตัวหนังสือให้กลายเป็นภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนสำคัญที่ต้องให้เครดิตคงหนีไม่พ้น ย้ง ผู้กำกับซีรีส์นั่นเอง

ย้งสนใจเรื่องวัยรุ่นมานานแล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาสัมผัสได้ คือปัญหาของวัยรุ่นหลัก ๆ มาจากการที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่พยายามทำความเข้าใจ ชอบตัดสินด้วยกรอบของตัวเองว่าเด็กทำแต่เรื่องไร้สาระ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นไม่ได้ทำอะไรผิดหรือพลั้งพลาดเลย แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการที่ผู้ใหญ่จะเปิดใจรับฟัง เพื่อจะได้หาทางออกจากปัญหานี้ร่วมกัน เขาจึงอยากให้ซีรีส์นี้เป็นหนึ่งในตัวแทนที่ยืนเคียงข้างวัยรุ่น รวมทั้งช่วยสานความเข้าใจระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ให้มากขึ้น

เพราะต้องยอมรับว่าเนื้อหาของละครวัยรุ่นหลาย ๆ เรื่องในเวลานั้นไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตจริงของวัยรุ่นเท่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดของการออกอากาศ ตั้งแต่สรรพนามที่ใช้เรียกกันระหว่างเพื่อน รวมถึงไปฉากสุ่มเสี่ยง ที่สังคมไทยในยุคนั้นมองว่าอาจเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่วัยรุ่น 

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

เพื่อให้เนื้อหาเหล่านี้ถ่ายทอดบนหน้าจอได้ ย้งจึงพยายามใช้เทคนิคและชั้นเชิงการเล่าเรื่องแบบหนังมาผสมผสานในซีรีส์ โดยยึดหลักการสำคัญว่า ไม่ว่าจะเลือกฉากอะไรมานำเสนอ สุดท้ายก็ต้องตอบทุกคำถามของสังคมให้ได้ด้วย

“เราว่าพี่ย้งเขาขีดเส้นของตัวเองอยู่ เช่น ไม่โป๊ ไม่เปลือย เพราะเราไม่ได้ทำหนังโป๊ แต่ถ้าจำเป็นต้องเห็น จำเป็นต้องเล่า ก็ต้องอธิบายให้ได้ อย่างฉากหนึ่งที่เป็นประเด็นมาก ๆ คือดาวกังวลว่าตัวเองจะท้องหรือเปล่า แล้วก็ไม่รู้ว่าประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่ มันถึงมีฉากที่ถอดกางเกงในออกมาแล้วเห็นว่าผ้าอนามัยมีเลือด ซึ่งคนฮือฮากันมากว่าต้องขนาดนี้เลยเหรอ เพราะสมัยนั้นการถ่ายผ้าอนามัยเป็นเรื่องอุจาด แต่พี่ย้งก็มีธงในใจที่ชัดเจนมากว่า ถ้าไม่ถ่ายแล้วจะรู้ได้อย่างไร นี่คือความโล่ง ความสบายใจของตัวละคร เราจึงต้องถ่าย แต่จะไม่ใช่การจงใจขยี้”

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

Hormones วัยว้าวุ่น เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 22.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM ONE โดย EP. 0 เป็นการแนะนำนักแสดงและผู้กำกับ รวมถึงเล่าเบื้องหลังการถ่ายทำ ก่อนที่จะเปิดซีรีส์เต็มตัวในสัปดาห์ถัดไป ภายใต้ชื่อตอน Dopamine : ฮอร์โมนหนึ่งมิตรชิดใกล้ ซึ่งเป็นตอนที่มีวินเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด
10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

แม้จะออกอากาศเฉพาะในกล่อง GMMZ แต่ปรากฏว่ากระแสกลับแรงเกินคาด ถึงขั้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์ จนเกิดเสียงเรียกร้องให้นำซีรีส์มาเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ ด้วย สุดท้ายย้งจึงเสนอไปยังผู้บริหารของสถานีให้ออกอากาศคู่ขนานทาง YouTube เพราะถึงแม้คนอาจจะติดกล่องน้อยลง แต่ก็เป็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ของ GMM ONE ในช่องทางออนไลน์ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย 

ผลปรากฏว่าทันทีที่ Hormones วัยว้าวุ่น ออกอากาศทาง YouTube ก็จุดกระแสฟีเวอร์ในหมู่วัยรุ่นทั่วประเทศ ยืนยันได้จากยอดรับชมแต่ละตอนที่แตะระดับ 10 ล้านครั้ง มากกว่าที่ทีมเขียนบทประเมินไว้ช่วงแรกถึง 100 เท่าตัว เกิดกระแสพูดคุยทั้งใน Facebook และเว็บไซต์ Pantip

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

แต่ที่สำคัญสุด คือไม่ได้มีเพียงวัยรุ่นเท่านั้นที่รับชม แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และนักวิชาการ ซึ่งต่างหยิบประเด็นในซีรีส์มาถกเถียง พูดคุยในวงกว้าง

“มันมีกระแสทั้งบวกและลบ ซึ่งเป็นธรรมดาที่พอดังมากก็จะถูกเพ่งเล็งมากขึ้นด้วย เช่น เราเคยถูก กสทช. เรียกไปครั้งหนึ่ง เพราะตอนนั้นมีคนไปร้องเรียน ซึ่งคนฟ้องเขาลงทุนมาก ถึงขนาดไปตัดซีนแรง ๆ ในซีรีส์มารวมกันเป็น 1 คลิปแล้วส่งให้ กสทช. ซึ่งพวกเราตกใจกันมากว่าเกิดอะไรขึ้น พอเข้าไปพบเขาก็เปิดคลิปให้ดู ซึ่งเราก็ชี้แจงไปว่าเป็นแบบนี้นะ แล้วก็จบลงโดยไม่ได้มีเรื่องราวอะไร

“อีกครั้งหนึ่ง เราได้รับเชิญจากโรงเรียนทางเลือกให้ไปประชุมผู้ปกครอง เพราะทางผู้ปกครองเขาเห็นว่าซีรีส์นี้เด็กดูกันเยอะ จึงอยากให้โรงเรียนช่วยแก้ปัญหาหน่อย แต่ทางโรงเรียนดูแล้ว รู้สึกว่าเข้าใจได้ จึงอยากให้ผู้ปกครองกับคนเขียนบทได้มาคุยกัน เลยเกิดภาพพี่กุ๊ก วรรณ ดิว และเราไปโรงเรียน แล้วก็มีผู้ปกครอง 30 – 40 คนล้อมอยู่ แต่เขาไม่ได้มาด่านะ เขาถามว่าทำไมถึงเลือกทำเรื่องแบบนี้ มันเกิดขึ้นจริงเหรอ ซึ่งเราเล่าก็สิ่งที่สำรวจมา และพอประชุมเสร็จ ปรากฏว่าเขาเข้าใจเราจริง ๆ มันเหมือนเราได้พวกเพิ่ม เขาบอกว่า โอเค เดี๋ยวพี่จะกลับบ้านไปลองดู เผื่อจะได้ดูไปพร้อมกับลูก ซึ่งปีนั้นถือเป็นปีที่มีวงเสวนาเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นเกิดขึ้นเยอะมาก”

จากความสำเร็จของ Hormones วัยว้าวุ่น ทำให้ย้งตัดสินใจที่จะทำซีซัน 2 ออกมา แต่ในครั้งนี้เขาเลือกที่จะผันตัวไปรับตำแหน่งโปรดิวเซอร์ พร้อมกับผลักดันให้ปิงขึ้นมารับตำแหน่งผู้กำกับแทน

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

แม้ปิงจะรับตำแหน่งผู้กำกับมาแบบไม่คาดคิด แต่เมื่อได้โอกาสแล้ว เขาก็อยากจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด โดยความยากของซีซัน 2 คือถึงจะมีการทิ้งปมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้บ้าง แต่ประเด็นส่วนใหญ่ถูกคลี่คลายและเฉลยไปหมดแล้วตั้งแต่ซีซันแรก

“ทีมเขียนบทยังเป็นทีมเก่า แต่จะมี พี่เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล เพิ่มอีกคน ซึ่งความยากของซีซันนี้คือ พี่ย้งเขาปล่อยให้เรานำทีมมากขึ้น ให้เราเป็นคนเลือกว่าจะเอาเรื่องไหน ประเด็นไหนจากทีม โดยเขาดูแลอยู่ห่าง ๆ เช่น เข้ามาประชุมเพื่อไกด์บ้าง โดยความท้าทายอย่างหนึ่งก็คือ ตอนเขียนซีซันแรก เราไม่ได้คิดว่าจะต้องมีภาคต่อ เลยไม่รู้จะพัฒนาตัวละครอย่างไร เพราะอย่างสไปรท์ก็เรียนรู้ไปหมดแล้ว หรือไผ่ก็เลิกต่อยตี หันไปเข้าวัด ทีนี้จะทำยังไงต่อ คิดอยู่นานจนได้ข้อสรุปให้สไปรท์มาเจอคนปลอมเป็นตัวเองดีไหม ส่วนไผ่นั้นเราก็หยิบเรื่องความรักขึ้นมาเป็นเหตุผลให้เขาหวนกลับไปใช้กำลังอีกครั้ง”

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด
10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

โดยการทำงานในฤดูกาลนี้ยังคงยึดหลักการเดิม คือการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มวัยรุ่น สำรวจประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการทำแท้ง ยาเสพติด การปลอมตัวตน การล่วงละเมิดทางเพศระหว่างครูกับลูกศิษย์ ไปจนถึงการต่อยอดประเด็นที่น่าสนใจจากซีซันก่อน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างดาวกับก้อย ซึ่งทีมงานมองว่าพัฒนาจนเกินเพื่อนได้ จนนำมาสู่ประเด็นเรื่อง LGBTQ+ อีกคู่หนึ่ง

ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้นักแสดงมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในฐานะของคนที่ต้องสวมบทบาทนั้น เพื่อจะนำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นเรื่องราวของตัวละครต่อไป

“เวลาจะเขียนสถานการณ์อะไร แล้วไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนดี เราก็จะถามนักแสดงว่า หากเป็นเขา จะทำยังไง ซึ่งหลายคนก็ให้คำแนะนำที่ดีมาก อย่าง ฝน ซึ่งบอกว่าตอนจบซีซัน 1 ดาวต้องมีปัญหากับแม่หนักขึ้นแน่ เพราะโดนแม่บังคับมาก ๆ ซึ่งตอนที่เขียนบทเราก็คุยกับน้องไว้ประมาณหนึ่ง แต่พอลงไปทำงานจริง และฝนได้อ่านบทแล้ว ก็มี Input อะไรออกมาอีกหลายอย่างเลย ซึ่งคำแนะนำนี้ก็มีส่วนช่วยคลี่คลายตัวละครดาวให้ชัดเจนมากขึ้น”

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด
10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

หากแต่ความซับซ้อนไม่ได้หมดเพียงแค่นี้ เพราะนอกจากตัวละครชุดเดิมแล้ว นาดาว บางกอก ยังได้จัดทำโครงการ Hormones The Next Gen รับสมัครวัยว้าวุ่นจากทั่วประเทศ เพื่อมาเป็นนักแสดงเลือดใหม่ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายจะได้ร่วมแสดงใน Hormones วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 ส่งผลให้ทีมเขียนบทต้องคิดประเด็นรองรับตัวละครที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วย

“ตอนนั้นที่ทำ Hormones The Next Gen เรามีเวลาเขียนบทแค่ 8 เดือนเอง พี่ย้งจึงบอกให้เขียนไปก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องหานักแสดงใหม่ไปพร้อมกัน แต่ก็ยังบอกชัดเจนไม่ได้ว่าต้องการสักกี่คน จนมาเดือนท้าย ๆ ถึงเคาะได้ว่า น่าจะมีสัก 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คนกับผู้หญิง 3 คน

“อย่างตัวแรก เราคิดว่าเมื่อสไปรท์ต้องเจอตัวปลอมอยู่แล้ว ก็ให้มีสไปรท์ปลอมอีกตัวไปเลยแล้วกัน แล้วก็มีตัวละครที่วินไปเจอตอนอยู่เมืองนอก ให้เป็นตัวแสบ ๆ ซ่า ๆ แล้วให้กลับมาโรงเรียนภายหลัง ต่อมาก็น่าจะเป็นตัวละครที่เป็นความสัมพันธ์ใหม่ของภูกับธีร์ แล้วเราก็มองว่าต้าน่าจะมูฟออนจากเต้ย ไปมีแฟนใหม่เป็นรุ่นน้อง 1 คน และสุดท้ายก็คือคนที่เป็นนักร้องนำวง See Scape”

ในรอบ 12 คนสุดท้าย ย้งให้ปิงกับทีมเขียนบทมาช่วยเขียนบทง่าย ๆ เพื่อให้น้อง ๆ แต่ละคนทดลองเล่นดู ตลอดจนเปิดโอกาสให้ปิงมีส่วนคัดเลือกนักแสดงในฐานะที่ต้องกำกับเด็กกลุ่มนี้ต่อไป ซึ่งสุดท้ายผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ประกอบด้วย ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร รับบทเป็น ‘ออย’ หรือสไปรท์ตัวปลอม แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ รับบท ‘ขนมปัง’ น้องสาวของป๊อป รักใหม่ของต้า ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง รับบทเป็น ‘เจน’ เด็กสาวปริศนาจากเมืองนอก แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์ รับบทเป็น ‘นน’ ตัวละครที่จะมาเป็นรักสามเส้าของภูกับธีร์ และสุดท้ายคือ เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ รับบทเป็น ‘ซัน’ นักร้องนำคนใหม่ของวงโรงเรียนชื่อดัง

10 ปี ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ซีรีส์ที่บอกให้ทุกคนรู้ว่า วัยรุ่นมีอะไรมากกว่าที่คิด

“ตอนที่คัดเลือก ไม่มีใครมองว่าฟรังจะเป็นออยได้เลย เพราะฟรังมันสดใสมาก เป็นเด็กแบบเน็ตไอดอลเลย แต่เราจำได้ว่าวันที่นั่งสัมภาษณ์ เรารู้สึกว่าฟรังมีบุคลิกที่แปลก ๆ คือถึงจะดูสดใส แต่ก็มีความโก๊ะบางอย่าง เหมือนเขามีอะไรอยู่ในหัวแต่ไม่ได้พูดออกมาหมด ขณะที่แพรวาจะเป็นเด็กอีกแบบเลย คือสดใส เปิดเผย ซึ่งตอนนั้นก็มีคนบอกว่าให้สลับบทกัน เอาฟรังมาเป็นขนมปัง เอาแพรวามาเล่นเป็นออย ซึ่งเราไม่เห็นเลย เพราะเราว่าฟรังเล่นเป็นขนมปังอาจจะได้ แต่แพรวาเล่นเป็นออยไม่ได้แน่นอน”

หลังจากบทลงตัว คราวนี้ก็มาถึงงานหิน อย่างการกำกับ ซึ่งปิงบอกว่ายากและท้าทายมาก  

“พอมองย้อนกลับไป มันหนักมากสำหรับคนที่อายุ 28 – 29 เพราะเหมือนเราต้องทำหนังความยาว 13 ชั่วโมงเลย แล้วที่สำคัญคือคนเขียนบทไม่ต้องรับผิดชอบหน้ากอง จึงจินตนาการความยิ่งใหญ่ ความสนุกต่าง ๆ ได้เต็มที่ แต่พอเอาบทมาทำเป็นภาพอาจจะให้ความรู้สึกไม่เท่ากับเขียน เช่น เศร้าจนเหมือนโลกจะพังทลาย เราจะเล่าเป็นภาพยังไง ก็ต้องหาวิธีเล่าให้ได้

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3
กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

“อย่างฉากขนมปังถวายตัวก็เหมือนกัน เป็นซีนใหญ่ของซีซัน จำได้ว่าตอนถ่ายทำมันซีเรียสมาก เครียดมากว่าต้องถ่ายเบอร์ไหนดีถึงจะรู้สึก แล้วมันต้องดูรุนแรง น่ากลัว เพื่อให้คนดูต้องร้องออกมาว่า ‘อย่านะ…ขนมปัง’ คืออยากจะห้ามเด็กคนนี้ มันก็เลยต้องหากันหลายเบอร์ ถ่ายภาพมาหลายแบบเผื่อไว้ เพื่อจะได้ช็อตดีที่สุดที่จะทำให้คนรู้สึกให้ได้ โดยที่เรายังต้องตอบคำถามต่าง ๆ ได้ด้วย”

Hormones วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 เริ่มออกอากาศในวันเสาร์ที่ ​​12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยเปลี่ยนจากการออกอากาศทางทีวีดาวเทียมมาเป็น GMM Channel ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึง 2 เดือน ทำให้ค่อนข้างเปิดกว้าง และให้อิสระแก่ทีมงานอย่างเต็มที่

ในฤดูกาลนี้ Hormones วัยว้าวุ่น ยังคงฉายภาพชีวิตของวัยรุ่นแบบตรงไปตรงมา พร้อมกับสอดแทรกประเด็นสังคมอย่างเต็มที่ จนหลายคนก็ยังรู้สึกว่าซีรีส์เรื่องนี้ยังคงความแรงไม่เปลี่ยนแปลง

“เราไม่เคยตั้งธงเรื่องความแรง เพียงแต่เราอยากเห็นวัยรุ่นไปถึงจุดไหน อย่างที่บอกว่า Hormones มันพูดเรื่องการทำผิดพลาด การตัดสินใจผิด ๆ ของวัยรุ่น เพราะฉะนั้นมันจึงเลี่ยงไม่ได้ในการที่พาเขาไปหาสิ่งผิด เพื่อให้ในอนาคตเกิดการเรียนรู้ แต่ต้องยอมรับว่า หลายคนอาจรู้สึกว่าครึ่งแรกมีแต่เรื่องเซ็กซ์ เพราะตอนที่มาเรียง Episode เราคิดไม่ถึง เพราะเราเรียงตามประเด็นของตัวละครอย่างเดียวเลย มันเลยกลายเป็นว่า มีเรื่องดาว-ก้อย เรื่องภู-ธีร์ เรื่องเต้ยโดนครูจะข่มขืน เรื่องไผ่เมาแล้วมีอะไรกับผู้หญิง ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าเราจะคิดแค่ By Episode ไม่ได้ แต่ต้องมองภาพรวมด้วย”

แต่แม้หลายเรื่องจะไม่เป็นตามที่คาดไว้ หากมองในแง่ผลสัมฤทธิ์ ก็ต้องยอมรับว่า Hormones วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 ยังคงสานต่อภารกิจในการสร้างความเข้าใจระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ได้เหมือนเดิม

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

หลังทำซีซัน 2 เสร็จเรียบร้อย ปิงคิดจะหยุดทำซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น

แต่บุคคลที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปก็คือ รุ่นพี่ของเขา อย่าง แจน-ภุชงค์ ตันติสังวรากูร หนึ่งในโปรดิวเซอร์ ที่มาช่วยดูแลเรื่องการตัดต่อและการโปรโมต

“ตอนทำซีซัน 2 มันเหนื่อยมาก เลยคุยในทีมเขียนบทว่าจะไม่ทำแล้ว แต่ในใจก็ยังรู้สึกคับแค้นว่าสิ่งที่เราเรียนรู้มาในซีซัน 2 เรายังไม่ได้แก้ตัวเลย เรายังพลาดในหลาย ๆ จุด ซึ่งระหว่างที่กำลังชั่งใจ พวกเราก็ไป Outing ของ GTH แล้วระหว่างที่เด็ก ๆ แต่ละคนเล่นน้ำกันอยู่ โดยไม่รู้ตัวว่าจะมีซีซันต่อไปหรือเปล่า พี่แจนคงรู้ว่าเรายังไม่ตัดสินใจ เลยเดินมาตบบ่าแล้วพูดว่า ‘มึงดูเด็กพวกนั้นดิ ถ้ามึงไม่ทำต่อ มันจะเป็นยังไง’ ซึ่งแกมีเจตนาดีนะ 

“สิ่งนี้ทำให้เรากลับมาคิดว่าเราเป็นคนเลือกเด็กพวกนี้เข้ามาเอง แล้วมันยังไม่ทันมีคาแรกเตอร์ของตัวเองเลย ก็เลยตกลงว่า เอาวะปีสุดท้ายแล้ว ทำปีเดียว และห้ามมีใครบอกให้ทำซีซัน 4 นะ โดยเราตั้งใจจะแก้โจทย์ในใจ 2 เรื่องหลัก ๆ คือทำยังไงให้เด็กเหล่านี้มีตัวละครที่ดีของตัวเอง แล้วก็แก้มือเรื่องโปรดักชัน กับการเล่าเรื่องในบทที่ตัวเองพลาดไป”

เมื่อตัดสินใจจะลุยกันต่อ ปิงจึงชักชวนทีมเขียนบทชุดเก่ามาร่วมงานอีกครั้ง แต่ด้วยภารกิจที่รัดตัว ทำให้สุดท้ายเหลือสมาชิกที่ยังสะดวกแค่กุ๊กกับวรรณ เขาจึงเสริมทัพด้วย 2 คนรุ่นใหม่ คือ บอส-นฤเบศ กูโน กับ เสือ-พิชย จรัสบุญประชา ซึ่งในซีซันก่อนเคยดึงมาช่วยกำกับ

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

โดยโจทย์หลักของปิงกับทีมเขียนบท คือประเด็นใดที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อน ก็จะมาทำในซีซันนี้ ซึ่งหลังจากตกผลึกกันก็เหลือหัวข้อการเลือกประธานนักเรียน กับกีฬาสี 

“เราเคยมีซีนที่วินสมัครเป็นประธานนักเรียนนิดหน่อย ส่วนกีฬาสี ยอมรับว่าไม่อิน ไม่เคยเข้าใจเพราะตอนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ มีกีฬาสีแค่ครั้งเดียวแล้วก็เลิกจัดไป แต่พอทุกคนพูดแล้วเห็นตรงกัน เลยคิดว่ามีกีฬาสีก็ได้ ซึ่งเมื่อเรามาทำรีเสิร์ช จึงเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่ของวัยรุ่น เพราะที่ผ่านมา เขาไม่เคยกำเงินหมื่นเงินแสนมาก่อน แล้วการรับผิดชอบสแตนด์หรือเสื้อผ้า มันเป็นเรื่องใหม่ของเขา จากนั้นเราก็ใส่รายละเอียดลงไป เพื่อให้เห็นว่าทำไมต้องซีเรียสขนาดนี้ อ๋อ..เพราะมันไปรับปากคนนั้นคนนี้ไว้

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

“อีกเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึก คือตัวละครใน 2 ซีซันแรก ทำไมมีแต่เด็กเกเรไปหมดเลย แต่ตอนอยู่โรงเรียนเราก็ไม่ได้เป็นเด็กที่เกเร แต่ก็ไม่ได้ติ๋มซะทีเดียว เราอยากเล่าเรื่องเด็กแบบนี้ ซึ่งพอมีคณะกรรมการนักเรียนเป็นตัวละครหลัก ก็อยากให้มีเด็กที่ไม่อินกับระบบโรงเรียนด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเด็กแสบ ๆ ก็ยังมีอยู่ แต่ว่าไม่ได้สุดขอบเหมือนของเดิม”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เคยตกหล่น เช่น ระหว่างเขียนบทซีซัน 2 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้ส่งข้อมูลมาว่าปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่ติดเชื้อ HIV ตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่แสดงอาการ และยังใช้ชีวิตในสังคมได้ ซึ่งทีมเขียนบทรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่ตอนนั้นใช้ไม่ทัน จึงรื้อฟื้นกลับมา จนกลายเป็นตัวละครชื่อ ‘พละ’

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

โดยในซีซันที่ 3 นี้ ตัวละครเก่าที่ยังมีบทบาทคือ ดาว ก้อย นน ขนมปัง ออย เจน และเภา แล้วก็เสริมตัวละครใหม่ ๆ เข้ามา เช่น ‘บอส’ ซึ่งรับบทโดย พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร ‘เฟิสต์’ รับบทโดย ปีโป้-ณัชพัณณ์ ปรมะเจริญโรจน์ ‘พละ’ รับบทโดย สกาย-วงศ์รวี นทีธร ‘ส้มส้ม’ รับบทโดย แพรว-นฤภรกมล ฉายแสง ‘มะลิ’ รับบทโดย คลอดีน-อทิตยา เครก และ ‘โรบอต’ รับบทโดย โรเล็กซ์-จิรายุส ขาวใบไม้ ซึ่งทั้งหมดเลือกมาจากเด็กที่เข้าร่วมโครงการ Hormones The Next Gen นั่นเอง 

“ความจริง พี สาริษฐ์ ต้องมาตั้งแต่ซีซัน 2 แล้ว แต่บุคลิกของเขาไม่เข้ากับรูที่เราวางไว้ เลยเก็บไว้สำหรับซีซันหน้า ซึ่งพอมีซีซัน 3 เราก็เขียนบทให้เขาเต็ม ๆ เลย โดยวางเป็นเด็กที่มีความอยากเปลี่ยนประเทศ เป็นตัวละครที่มีความเข้มข้นในตัวเองสูงมาก

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

“ส่วนอีกตัวที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นคือ ออย ซึ่งเราสร้างขึ้นมาเป็นตัวร้ายในซีซัน 2 แต่พอมาเป็นซีซันนี้ก็อยากจะทำให้เห็นว่า ถึงเป็นตัวร้ายแต่ก็มีหัวใจนะ ซึ่งปมหนึ่งที่เราใส่ไว้ตั้งแต่ซีซันก่อน คือออยเป็นเด็กที่มีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างจากคนอื่นในโรงเรียนมาก คนอื่นบ้านจะสวยไปหมดเลย เหมือนบ้านตัวอย่าง แต่เด็กคนนี้เป็นคนเดียวที่บ้านอยู่ห้องแถว ซึ่งชีวิตจริงเราก็อยู่ห้องแถวเหมือนกัน เรารู้สึกอยากเล่าชีวิตเด็กแบบนี้บ้าง แต่จะพาเรื่องไปทางไหนดี นอกจากเรื่องปลอมตัวตนแล้ว ก็มาเจอเรื่องแกล้งป่วย ซึ่งพอทำรีเสิร์ชจึงพบว่ามีคนทำแบบนี้จริง ๆ แล้วหนักกว่าออยอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออยเป็นจึงไม่ได้เกินจริงเลย แม้หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันสุดโต่งไปก็ตาม”

การทำงานครั้งนี้ยังคงท้าทายไม่แพ้ที่ผ่านมา เพราะด้วยเนื้อหาที่มากถึง 13 ตอน ทำให้มีฉากที่ต้องถ่ายเป็นจำนวนมาก ปิงจึงตัดสินใจดึงเสือกับบอสมาช่วยเป็นผู้กำกับร่วม เพื่อแบ่งเบาภาระงาน รวมถึงต้องการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เหมือนที่เขาได้รับโอกาสมาแล้วจากย้ง ซึ่งทุกวันนี้แต่ละคนก็เติบโตเป็นผู้กำกับซีรีส์ดาวรุ่งของเมืองไทย 

Hormones 3 The Final Season ออกอากาศครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558 ทางช่อง one31 พร้อมกับจุดกระแสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องผู้มีเชื้อ HIV ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งกลายเป็นไวรัลที่โด่งดังไปทั่วสังคมไทย พร้อมกันนั้น GTH ยังได้ทำคลิปที่ชื่อ พละ ผมมีเชื้อ HIV ครับ เพื่อเป็นการบอกให้สังคมได้เรียนรู้ว่า ต่อให้เราจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

หากแต่สำหรับปิงแล้ว Hormones ซีซันนี้ คือสิ่งที่เขารู้สึกพอใจมากที่สุด เพราะนอกจากจะคลี่คลายโจทย์ในใจได้สำเร็จ ยังได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ อีกด้วย

“เรารู้สึกว่าซีซัน 3 เป็นการทำงานในเชิงความรู้สึกมากขึ้น เราได้คิดมากขึ้น เพราะตอนทำซีซัน 2 เหมือนเราไปหล่นตรงกลาง เราใช้ภาพไม่เก่ง ใช้เสียง ทำให้สิ่งที่ถ่ายทอดออกไป มันไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนั้นเราได้เรียนรู้ว่าขนาดภาพแบบนี้ก็มีผล การวางสกอร์แบบนี้ก็มีผล เรื่องแสง เรื่องเสียง เรื่องฉาก ทุกอย่างมีผลหมดเลย เหมือนเราได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า Cinematic มากขึ้น ที่สำคัญคือการทำให้คนดูรักตัวละครซึ่งไม่มีใครรู้จักมาก่อน เพราะตอนซีซัน 2 เราก็ยังรู้สึกว่าเป็นมรดกของพี่ย้งอยู่ ก็เลยทำให้ซีซัน 3 เป็นซีซันที่ชอบมาก ๆ”

นี่จึงถือเป็นการปิดฉากตำนานซีรีส์วัยรุ่นที่อยู่คู่ผู้ชมมาตลอด 3 ปีได้สมบูรณ์แบบที่สุด

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3
กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

“ถ้าย้อนกลับมาดู Hormones ในวันนี้ เราว่ามันอาจหน่อมแน้มเกินไปก็ได้ เพราะหลาย ๆ เรื่องก็เปิดกว้างขึ้น สิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหา ทั้งเรื่องเซ็กซ์ LGBTQ+ ก็เปิดกว้างหมดแล้ว แม้แต่บรรดา Content Creator ทั้งหลายก็ไปไกลกว่าสิ่งที่ Hormones เคยเล่าไปมากแล้ว อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงตลอด แม้แต่เด็ก Hormones รุ่น First Gen กับ Next Gen ก็ไม่เหมือนกัน ทุกยุคสมัยจะมีปัญหาวัยรุ่นใหม่ ๆ โผล่ขึ้นเรื่อย ๆ ปีละเรื่อง”

นี่คือสิ่งที่ปิงตกผลึกได้เมื่อมองย้อนกลับไปถึงซีรีส์ที่เขามีส่วนร่วมตั้งแต่วันแรก ๆ จนถึงวันสุดท้าย 

แต่อีกมุมหนึ่งก็คงปฏิเสธได้ยากว่า ถ้าไม่มี Hormones วัยว้าวุ่น บางทีหลาย ๆ เรื่องในสังคมไทยก็อาจจะยังถูกซุกไว้ใต้พรมและเป็นปัญหาเรื่อยมา เพราะแม้สังคมไทยจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่หากใครทำสิ่งที่แตกต่าง ก็มักถูกมองว่าแปลก ไม่เข้าพวก

“หลายคนที่เดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า พี่รู้ไหม ผมโตมากับการดู Hormones แล้วซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เขารู้สึกเหมือนมีเพื่อนจริง ๆ เพราะสมัยก่อน สังคมไม่ได้หลากหลายเท่านี้ แต่พอมี Hormones ก็ทำให้เขากล้าจะเป็นตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าฉันเป็นแบบนี้ก็ได้นี่หว่า หรือผู้ใหญ่ก็เริ่มยอมรับเด็กได้มากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่พาตัวเองไปทำอะไรเสี่ยง ๆ อยู่แล้ว และเขาควรแนะนำหรืออยู่ร่วมกับวัยรุ่นอย่างไร มันเหมือนเป็นการช่วยขยับมาตรฐานบางอย่างของสังคม”

ฝันอย่างหนึ่งที่ปิงอยากให้เกิดขึ้น คือการที่ผู้ใหญ่รักวัยรุ่นให้มากขึ้น เพราะครั้งหนึ่งเราก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับเด็กพวกนี้ ที่มีทั้งความดื้อ ความรั้น และเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยให้น้อยลง จนนำไปสู่สังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง

นอกจากประเด็นทางสังคมแล้ว Hormones วัยว้าวุ่น ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เมืองไทยนั้นมีศักยภาพเพียงพอในการสร้างงานคุณภาพ เป็น Soft Power ที่ไม่แพ้ที่ใดในโลก

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

ยืนยันได้จากการที่ต่างประเทศ ทั้ง​​ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ต่างติดต่อขอซื้อซีรีส์ไปฉายต่อ รวมถึงมีสำนักพิมพ์เมืองนอกบางแห่งเสนอขอซื้อบทเพื่อนำไปต่อยอดเป็นนวนิยายด้วย

สิ่งหนึ่งที่ปิงย้ำเสมอ คือความสำเร็จของ Hormones วัยว้าวุ่น เป็นเพราะถูกเวลาและถูกทีม 

ถูกเวลา ก็คือเวลานั้นสังคมไทยยังไม่เคยหยิบประเด็นเหล่านี้มานำเสนออย่างจริงจังเลย

ส่วนถูกทีม ก็คือการที่ได้ทีมงานคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมอุทิศตัวในการเขียนบท ค้นคว้า พูดคุยกับผู้คนมากมาย แม้จะได้ค่าจ้างไม่เยอะ แต่ทุกคนก็ทำเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมา

“ตอนนี้ทีมงานอายุ 30 ปลายกันหมดแล้ว คงไม่มีใครพร้อมจะลงแรงเหนื่อยขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับสวัสดิการคนทำงานด้วยนะ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเราขยับตัวเองจากผู้กำกับมาเป็นโปรดิวเซอร์ เราเห็นภาพรวมของวงการมากขึ้น วงการบ้านเรามันถูลู่ถูกังทำกันแบบมวยวัด เราอยากทำของดีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ แต่เราใช้ต้นทุนแบบไทย สมมติ เราทำ 1.5 ล้านบาทต่อตอน เขาทำ 1.5 ล้านเหรียญฯ ต่อตอน ซึ่งเราเพิ่งมาเข้าใจว่าทำไมวันนั้นกูเหนื่อยมาก เพราะเราควรจะได้ค่าตัวมากกว่านั้น 20 เท่า แต่สำหรับวงการในวันนั้น มันถือว่าแฟร์แล้ว

กว่าจะเป็น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ในความทรงจำของ ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทและผู้กำกับ ซีซัน 2 - 3

“เรื่องนี้ก็ต้องขอบคุณพี่ย้งที่เข้าใจ เขารู้ว่าค่าตัวคนเขียนบทไม่ได้เงินเยอะขนาดนั้น ทุกคนทำด้วยใจมาก ๆ แล้วเขาเห็นว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักแสดงเยอะมาก นักแสดงได้งาน ได้เป็นพรีเซนเตอร์ อะไรเต็มไปหมด แต่คนที่เป็น Creator ในการสร้างน้องขึ้นมามันเหนื่อยมาก เขาถึงไปคุยกับนักแสดงว่า ขอเจียดเงินส่วนหนึ่งที่ได้รับ กลับมาให้แรงงานในทีมที่มีบทบาทสำคัญให้โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งปรากฏว่าน้องทุกคนตอบตกลงหมดเลย ซึ่งทำให้พวกเราประทับใจมาก เพราะเขาเห็นคุณค่าของคนทำงานเบื้องหลังจริง ๆ และทำให้ทุกวันนี้เวลาเจอกับเด็กพวกนี้ เราก็รู้สึกผูกพันกันอยู่”

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Hormones วัยว้าวุ่น ซีรีส์ที่ตีแผ่ชีวิตของวัยรุ่น ทั้งความรัก ความหลงใหล ความคึกคะนอง เซ็กซ์ ความผิดพลาด ออกมาถึงเลือดถึงเนื้ออย่างที่ไม่มีใครทำมาก่อน ที่จะยังคงเป็นปรากฏการณ์ของวงการบันเทิงไทยเรื่อยไปไม่เปลี่ยนแปลง

ข้อมูลประกอบการเขียน
  • บทสัมภาษณ์คุณเกรียงไกร วชิรธรรมพร วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
  • นิตยสาร HAMBURGER ปีที่ 11 ฉบับที่ 178 เดือนเมษายน พ.ศ. 2556
  • นิตยสารดาวคณะ ฉบับที่ 15 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556
  • นิตยสาร a day BULLETIN ฉบับที่ 262 วันที่ 26 มิถุนายน – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556
  • รายการ เปิดหน้าคุย สถานีโทรทัศน์ช่อง Nation Channel

ขอบคุณสถานที่ ร้าน Hario Cafe สุขุมวิท 33 ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์