ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสเดินทางท่องโลกเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชีวิตกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติมานานเกือบครึ่งค่อนชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลงดำน้ำท่ามกลางฝูงฉลามนานาชนิดกลางทะเลที่บาฮามาส เฝ้าสังเกตพฤติกรรมการล่าของฝูงโลมาที่ไล่ล่าปลาซาร์ดีนในท้องทะเลที่เย็นยะเยือกบริเวณชายฝั่งแอฟริกาใต้ ลอยตัวรอคอยให้ลูกวาฬหลังค่อมที่คลอเคลียกับแม่ของมันว่ายขึ้นมาหาเพื่อมองดูเราด้วยความสงสัย หรือแม้แต่นั่งอยู่ในบังไพรที่ร้อนอบอ้าวนานนับสัปดาห์ เพื่อรอคอยจังหวะที่สัตว์สักตัวจะเดินลงมากินน้ำริมลำห้วยใจกลางป่าอันร้อนอบอ้าว

ผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่ร่ำเรียนมาโดยตรงในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวหรือ NGO ผู้จะออกมารณรงค์เรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงที่จะออกมาผลักดันสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับโลก

สิ่งที่ถ่ายทอดออกมานั้นมาจากประสบการณ์ตรงของตัวผมที่มีโอกาสและใช้ช่วงเวลาบางส่วนของชีวิตเดินทางไปสัมผัสโลกของธรรมชาติด้วยตนเอง ตามกำลัง โอกาส และทุนทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี

ผมยังจำวันแรก ๆ ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังเกาะร้างห่างไกลในวัยเด็กกับพ่อได้ พ่อคงไม่รู้หรอกว่าประสบการณ์ในวันนั้นกำหนดแนวทางและจุดมุ่งหมายของชีวิตผมในช่วงเวลาต่อมาเกือบทั้งชีวิตยังไง เพราะพ่อได้เดินทางไกลเพื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติมานานเกือบ 20 ปีล่วงมาแล้ว

หรือเพราะเราห่างจากธรรมชาติมากเกินไป จึงไม่รู้ว่าโลมาไม่ใช่ปลา สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง
ฝูงโลมา (ที่ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ลักษณะครีบหางของมันเคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่ง ต่างจากปลาที่จะโบกหางไปทางด้านซ้ายและขวาเป็นส่วนใหญ่) ในขณะไล่ล้อมฝูงปลาซาร์ดีนในบริเวณนอกชายฝั่งแอฟริกา

สิ่งที่ผมต้องการไม่ใช่เพื่อให้คนมารู้จักกับตัวผมเองซึ่งไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร แต่ผมเชื่อว่างานที่ผมทำนั้นส่วนหนึ่งก็เพื่อสื่อสารให้ผู้คนในสังคมตระหนักและรับรู้ถึงการมีอยู่ของสรรพสัตว์ในโลกใบนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าผิดหวังก็คือ 30 ปีผ่านไป ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม รวมไปถึงสื่อหลักและผู้ที่ครองพื้นที่สื่อโซเชียลในบ้านเรา นับวันยิ่งสื่อสารเรื่องราวของธรรมชาติไปในแง่มุมแปลกประหลาดขึ้นทุกที เรามักจะเห็นพาดหัวข่าว เช่น 

ตะลึง! พบฝูงพะยูนกลางทะเลตรัง แต่ภาพประกอบที่นำมาใช้เป็นภาพ West Indian Manatee จาก Crystal River ที่ฟลอริดา 

ตื่นตา! นกเงือกกลางป่าเขาใหญ่ แต่เป็นภาพนกทูแคนที่อยู่ในทวีปอเมริกากลาง 

ฮือฮา! ฝูงวาฬบรูด้ากลางอ่าวไทย แต่ภาพประกอบเป็นภาพวาฬหลังค่อมกระโดดขึ้นเหนือน้ำ 

หรือแม้แต่คลิปจากวิดีโอสั้นที่มีฉลามเสือพยายามไล่กินเต่าทะเลจนว่ายหนีเข้ามาหาเรือของคน ก็ยังมีคนมาเขียนบรรยายเสียเป็นการ์ตูนดิสนีย์ว่า ฉลามช่วยพาเต่ามาให้มนุษย์แก้เชือกที่พันคอออกให้ และผู้คนก็ล้วนชื่นชมความน่ารักของ ‘น้อน’ นั้นผ่านหน้าจอ แต่ไม่เคยมีการสนับสนุนให้ผู้คนได้ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งและสัมผัสประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติ 

หรือเพราะเราห่างจากธรรมชาติมากเกินไป จึงไม่รู้ว่าโลมาไม่ใช่ปลา สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง
ฝูง Manatee ที่อพยพเข้ามาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นในบริเวณแอ่งน้ำพุร้อน Three Sisters Springs บริเวณแม่น้ำ Crystal River ทางตอนเหนือของฟลอริดาในช่วงฤดูหนาว

โดยภาพรวม ผมเชื่อว่าสังคมเรามีความเข้าใจเรื่องสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ที่บิดเบี้ยวไปค่อนข้างมาก และสิ่งที่เป็นปัญหาหลักก็คือ สื่อที่พยายามนำเสนอในแง่มุมของสัตว์ป่าว่าน่ารักอย่างโน้นอย่างนี้ ตะมุตะมิ คิกขุ และสร้างมายาคติบางอย่างเกี่ยวกับการอนุรักษ์แบบฟูมฟายขึ้นมามากจนเกินความจำเป็น ด้วยการสร้างพระเอกและตัวร้ายที่ร้ายสุด ๆ ในทุกมุมมองในเรื่องของการอนุรักษ์ โดยไม่เปิดพื้นที่ให้คนที่มีมุมมองและความคิดที่แตกต่างเสนอเรื่องราวในมุมที่กว้างไปกว่านั้น

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เรื่องที่มีดีเจคนหนึ่งไปตกปลาในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นในสื่อโซเชียลอยู่นานนับเดือน ผมไม่ได้สนับสนุนให้คนทำผิดกฎหมาย แต่อยากให้พิจารณาในแง่มุมหนึ่งว่ากฎหมายนั้นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดการใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเสียใหม่ให้ชัดเจน

ผมไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของพื้นที่อนุรักษ์ที่จะต้องมี Core Zone ที่ต้องมีการควบคุมเด็ดขาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราคืออุทยานแห่งชาติทุกที่กลายเป็น Core Zone ที่ห้ามแตะและห้ามทำกิจกรรมกลางแจ้งไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งการพายซัพบอร์ดที่ดูแล้วไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติตรงไหนเลยด้วยซ้ำไป

ผมเดินทางมาเกือบรอบโลก แน่นอนที่สุด แทบทุกอุทยานแห่งชาติในโลกมีกฎหมายควบคุมการประมงขนาดใหญ่ แต่ไม่เคยเห็นอุทยานแห่งชาติที่ไหนที่มีประกาศห้ามตกปลาเพื่อเกมกีฬา แต่ในขณะเดียวกันก็ขายอาหารเม็ดเพื่อเปลี่ยนสภาพปลาที่เป็นปลาป่าให้กลายมาเป็นปลาเลี้ยงเพื่อให้คนมาดูปลา ยังไม่รวมกับปลาที่ถูกเพาะเลี้ยงมาแล้วก็ปล่อยกลับลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายไปเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นอีกมากมายโดยหน่วยงานทางราชการของเราเอง

พลเมืองของเราเองส่วนใหญ่ก็ยังขาดความรับผิดชอบต่อสมบัติสาธารณะ ไม่รักษากฎกติกามารยาทหลาย ๆ อย่างในการเข้าไปใช้พื้นที่ทางธรรมชาติ เช่น ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ให้อาหารสัตว์ป่าริมถนนข้างทาง ทิ้งขยะลงในพื้นที่ธรรมชาติอย่างไร้ความรับผิดชอบ รวมไปถึงการไม่เคารพกฎกติกาเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติอย่างยั่งยืน

หรือเพราะเราห่างจากธรรมชาติมากเกินไป จึงไม่รู้ว่าโลมาไม่ใช่ปลา สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง
สิงโตทะเลหรือ Sea Lion แตกต่างจากแมวน้ำหรือ Seal ตรงที่จะมีใบหูเล็ก ๆ ยื่นออกมา

อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลกอย่าง Yellowstone National Park ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดการอุทยานแห่งชาติ ยังอนุญาตให้ตกปลาโดยมีระบบการจัดการในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาต จำกัดจำนวนปลาที่ตกได้ในแต่ละวัน และสายพันธุ์ที่จะเก็บออกได้ หรือสายพันธุ์ท้องถิ่นอย่าง Cutthroat Trout ที่ต้องปล่อยกลับลงไปเมื่อตกขึ้นมาได้ ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งหมดตั้งขึ้นมาควบคู่ไปกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อควบคุมประชากรและรักษาพื้นที่ของสัตว์ป่าและปลา ด้วยการใช้รายได้จากใบอนุญาตตกปลามาจ้างเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล โดยไม่ได้หวังพึ่งพิงแต่เงินบริจาคหรืองบประมาณจากทางราชการเพียงอย่างเดียว

หรือเพราะเราห่างจากธรรมชาติมากเกินไป จึงไม่รู้ว่าโลมาไม่ใช่ปลา สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง
Bob May ไกด์ตกปลาและพรานล่าหมีชื่อดังคนหนึ่งบนเกาะ Kodiak อลาสก้า ในขณะกำลังแล่ปลาแซลมอนที่ได้ขนาดมาเพียงตัวเดียวเพื่อประกอบอาหาร บริเวณหน้าเคบินของเขาเองบนเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใกล้กับเมือง Kodiak

หรืออย่างที่ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังว่า พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งในสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นมาจากนักตกปลาเสียด้วยซ้ำ อย่างในพื้นที่ Florida Keys นั้น มีปลาอยู่ 3 ชนิด คือ Tarpon, Bonefish และ Permit ที่ทำให้เกิดอาชีพไกด์ตกปลาและพื้นที่อนุรักษ์คือ Florida Keys National Marine Sanctuary ขึ้นมาในปี 1960 

แต่พื้นที่อนุรักษ์ของบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจัดการที่ดีพอ และสุดท้ายเมื่อนึกอะไรไม่ออกก็ประกาศห้ามไว้ก่อน ราวกับว่าอุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้คนเข้าไปแตะ ทั้งที่หลักใหญ่ใจความของอุทยานแห่งชาติตั้งขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนมีโอกาสกลับเข้าไปหาธรรมชาติ และพันธกิจหลักของอุทยานก็คือการสนับสนุนให้คนได้ออกจากเมืองใหญ่ วางโทรศัพท์มือถือลง และกลับเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติจากประสบการณ์ตรงของตนเอง

สิ่งที่ผมเห็นในสังคมของบ้านเราทุกวันนี้ คือผู้คนกับธรรมชาติห่างไกลออกไปจากกันทุกที เพราะการเข้าไปใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้นถูกห้ามไปหมด ห้ามปีนหน้าผา ห้ามเดินป่า ห้ามพายเรือซัพ ห้ามตกปลา ห้ามแม้กระทั่งเจียวไข่ โดยไม่ได้มีเหตุผลที่ชัดเจนมาอธิบายให้กับประชาชน

เมื่อผู้คนไม่รู้จักและไม่อินกับธรรมชาติ ภาพที่เรามักเห็นกันก็คือ กล้องจากโทรศัพท์ที่หันหน้าเข้ามาหาตัว โดยที่มีภาพธรรมชาติเป็นฉากหลังในการเซลฟี่เพียงแค่นั้นเองซึ่งผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า กระดุมเม็ดแรกที่เรากลัดผิดพลาดไป ก็คือการมองว่าสัตว์ป่านั้นน่ารักเหมือนสัตว์เลี้ยง

หรือเพราะเราห่างจากธรรมชาติมากเกินไป จึงไม่รู้ว่าโลมาไม่ใช่ปลา สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง
ฝูงปลาในกลุ่ม Salmonids หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น Sockeye, Coho และ Dolly Warden ที่มารวมตัวกันในแอ่งน้ำเล็ก ๆ ระหว่างทาง ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นไปวางไข่ในพื้นที่อนุรักษ์ในบริเวณต้นน้ำ การควบคุมการตกปลาของสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ใช้กฎที่เข้มข้นขึ้นตามตำแหน่งของพื้นที่ เช่น ในบริเวณต้นน้ำที่เป็นแหล่งวางไข่นั้น ห้ามตกปลาและห้ามเข้าไปรบกวนการวางไข่ของปลาเด็ดขาด อีก 500 เมตรลงมาจากแนวเชือกอนุญาตให้ตกได้ด้วยอุปกรณ์ฟลายฟิชชิ่งและต้องปล่อยกลับลงน้ำทุกตัว ต่ำลงมาอีกหลายร้อยเมตรจึงจะให้ใช้อุปกรณ์ตกปลาปกติและเก็บปลาที่มีขนาดตามที่กฎหมายกำหนดได้สายพันธุ์ละกี่ตัวต่อวัน

เราไม่มีแม้คำเรียกที่ควรจะใช้เมื่อใช้คำแทนที่คำว่า ‘Wildlife’ ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระในธรรมชาติซึ่งตรงตามความหมายของคำนี้จริง ๆ

เมื่อหลายปีก่อน มีผู้แทนจากกรมที่ดูแลเกี่ยวกับสัตว์ป่าถามขึ้นมากลางที่ประชุมในการประกวดภาพสัตว์ป่ารายการหนึ่งว่า วาฬที่เป็นสัตว์ทะเลแต่ไม่ได้อยู่ในป่า จะถือว่าเป็นสัตว์ป่าหรือไม่

เป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมหัวเราะไม่ออก เพราะว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพิ่มรายชื่อ ปลาฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง วาฬบรูด้า เข้าไปนอกเหนือจากพะยูนที่เป็นสัตว์ป่าสงวนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แล้ว โดยหน่วยงานราชการต้นสังกัดของผู้แทนท่านนั้นเอง 

โลมาไม่ใช่ปลา พะยูนหางไม่กลม แมวน้ำไม่มีหู และสัตว์ป่าไม่ใช่ ‘น้อง’ นี่คือความรู้ขั้นพื้นฐานของพลเมืองในประเทศที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ปลูกฝังให้เยาวชนได้รู้จักและรักธรรมชาติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นประถม ในขณะที่ในบ้านเรานั้น พื้นที่สื่อให้ความสำคัญว่าดาราคนไหนเป็นแฟนกับคนไหน หรือดาราคนไหนเลิกกับแฟนคนไหนมากกว่าเรื่องราวของธรรมชาติ และบางครั้งก็ยังให้ข้อมูลผิด ๆ จากความไม่เข้าใจของคนที่ทำงานด้านสื่อในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

โลมาไม่ใช่ปลา พะยูนหางไม่กลม แมวน้ำไม่มีหู สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง : ความไม่รู้ขั้นพื้นฐานที่แสดงว่าคนไทยห่างไกลจากธรรมชาติ
เจ้าหน้าที่ Park Ranger ของ Brooks Lodge เป็นพนักงานของ Parks and Wildlife Service มาบรรยายสรุปให้แขกท่ี่เข้าพักในบริเวณ Brooks Lodge ทุกคน ถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับหมีสีน้ำตาล ในระหว่างที่เดินอยู่ในเทรลหรือตกปลาอยู่แล้วหมีแสดงท่าทีจะเข้ามาแย่งปลาที่ติดเบ็ด

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าพลเมืองมีโอกาสและมีประสบการณ์ตรงในการเข้าไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติบ้างตามโอกาส แล้วจะส่งผลดีอย่างไรกับส่วนรวม 

ผมเชื่อว่ากิจกรรมอะไรก็ตามในธรรมชาติทำให้เราเข้าใจธรรมชาติได้มากกว่าการเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ จากหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอน เราคงไม่ต้องออกมาพูดปาว ๆ เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าหากพื้นฐานพลเมืองในประเทศถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เป็นเด็กให้รักธรรมชาติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในบางครั้งอาจดูไม่น่าจะเป็นไปได้กับคำว่าอนุรักษ์ในสายตาใครหลายคน 

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เสียงและพลังของพลเมืองเหล่านี้คือสิ่งที่จะมากำหนดนโยบายของชาติในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งจะต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างการไปแคมป์ ไปพายเรือ หรือไปตกปลา เพื่อหาเสียงจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่รักในกิจกรรมนั้น ๆ และสุดท้ายก็ออกมาเป็นนโยบายที่ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นไปได้ในบ้านเรา อย่างเช่น การรื้อเขื่อนหมดสภาพการใช้งานที่กั้นขวางแม่น้ำบางสายออกเพื่อให้ปลาแซลมอนได้ว่ายทวนน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ หรือการประกาศเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์โดยอนุญาตให้ผู้คนและพลเมืองนั้นทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ รวมทั้งประกอบอาชีพและสร้างงานอีกมากมายขึ้นจากอุตสาหกรรมเอาต์ดอร์ภายในประเทศที่มีมูลค่าถึง 1.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ เป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในปี 2021 มีอาชีพมากมายเกิดขึ้นที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมกลางแจ้ง ทั้งในด้านการผลิตอุปกรณ์กลางแจ้ง การสร้างแคมป์และที่พักตามแหล่งธรรมชาติ รวมไปถึงอาชีพไกด์เฉพาะทางในกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขา เดินป่า พายเรือแคนู คายัก หรือไกด์ตกปลาที่มีอยู่แทบทุกหัวเมืองในสหรัฐอเมริกา

โลมาไม่ใช่ปลา พะยูนหางไม่กลม แมวน้ำไม่มีหู สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง : ความไม่รู้ขั้นพื้นฐานที่แสดงว่าคนไทยห่างไกลจากธรรมชาติ
ในช่วงฤดูกาลอพยพของฝูงแซลมอนที่จะเดินทางเข้ามาวางไข่ในบริเวณ Brooks River หมีสีน้ำตาลนับ 10 ตัวจะมารอคอยดักตะปบปลาแซลมอนที่กระโดดขึ้นมาจากลำธารน้ำด้านล่างของ Brooks Falls 

นั่นคือสิ่งที่ผมอยากยืนยันด้วยตัวเลขสำหรับคนท่ี่ชอบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น หากในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ หลายสิ่งหลายอย่างนั้นทดแทนด้วยตัวเลขไม่ได้ และหลาย ๆ อย่างในธรรมชาติและระบบนิเวศที่สูญหายไปนั้น ไม่ว่าเราจะใช้เงินสักเท่าไร ถ้าสูญหายไปแล้ว อาจแปลว่าสูญหายไปตลอดกาล

โลมาไม่ใช่ปลา พะยูนหางไม่กลม แมวน้ำไม่มีหู สัตว์ป่าไม่ใช่น้อง : ความไม่รู้ขั้นพื้นฐานที่แสดงว่าคนไทยห่างไกลจากธรรมชาติ
ปลาแซลมอนในขณะว่ายทวนน้ำเพื่อขึ้นมาวางไข่ จะต้องกระโดดผ่านชั้นน้ำตกเตี้ย ๆ ของ Brooks Falls ขึ้นมา

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม