ลมทะเลพัดแรง หอบเอาไอน้ำเค็มเข้ามาบนฝั่งพร้อมกับความร้อนระอุของเปลวแดด หากเงี่ยหูฟังให้ดี จะได้ยินเสียงใบมะพร้าวและคลื่นผสมผสานกัน สมุยคือสวรรค์ของบรรดานักท่องเที่ยวทั่วโลก รีสอร์ตและชายหาดขาวใสสะอาดตาเป็นหมุดหมายของนักเดินทางผู้แสวงหาสวรรค์บนพื้นดิน

แต่ครั้งนี้ คอลัมน์ของเราจะพาไปคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารที่มีจุดประสงค์ในการสร้าง ‘สวรรค์บนพื้นดิน’ อีกแห่งบนเกาะสวรรค์แห่งนี้ แต่เป็นสวรรค์ทางด้านจิตวิญญาณนะ

เราจะมาคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบ ‘วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์’ แห่งเฉวง เพราะผู้คนไม่ได้ต้องการความสุขทางกายเพียงอย่างเดียว พระศาสนจักรคาทอลิกจึงส่งเสริมการเข้าร่วมพิธีกรรมในทุกโอกาสของชีวิต แม้กระทั่งในวันสบาย ๆ ระหว่างการพักผ่อนในอีกซีกโลกก็ตาม โบสถ์สีขาวที่ดูล้ำสมัย ไม่คล้ายกับโบสถ์ทรงโกธิกยอดแหลม ๆ ที่คนทั่วไปคุ้นชิน กับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นระดับนานาชาติจากอิตาลี ก็ชวนให้การสนทนานี้ออกรสมากจริง ๆ

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง
ภาพ : จุติ กลีบบัว

ความเป็นมาของวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์

ผมอยู่กับ จุติ กลีบบัว สถาปนิกจากสำนักคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเจ้าของบริษัท จุติ อาร์คิเท็คส์ จำกัด ผู้ออกแบบโบสถ์รูปทรงแปลกตาดูคล้ายกับดอกบัวสีขาวขนาดใหญ่ ก่อนอื่นอยากทราบแรงบันดาลใจในการออกแบบ ‘โบสถ์’ แห่งนี้ก่อน

“ผมเป็นคาทอลิกที่มีรากเหง้าจากชุมชนตลาดน้อย (วัดกาลหว่าร์) จึงคุ้นเคยกับพิธีกรรมของคริสต์ศาสนามาตั้งแต่เด็กครับ และสมัยนั้นก็รู้สึกประทับใจทุกครั้งที่เดินเข้าไปในอาคารที่มีพื้นที่ภายในเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่รองรับผู้คนได้เป็นจำนวนมาก เหมือนเป็นฮอลล์ใหญ่ที่ทุกคนเข้าไปร่วมขอบคุณพระเจ้าพร้อมกัน ยิ่งเป็นอาคารที่เปิดโล่งมาก แต่ใช้เสาค้ำยันน้อย ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ พอโตขึ้นมาเป็นสถาปนิก จึงมีความฝันอยากออกแบบอาคารสาธารณะที่ทุกคนร่วมกันใช้งาน มีสเปซขนาดใหญ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างพวกพิพิธภัณฑ์ ศาสนสถาน หอศิลป์ ก็เป็นความฝันของผมเหมือนกัน”

คุณจุติให้คำตอบ ก่อนที่บทสนทนาอันยาวนานระหว่างเราจะเริ่มต้นขึ้น

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
คุณจุติ กลีบบัว กับรางวัลเยอรมัน ดีไซน์ อวอร์ด

ได้ยินว่า ที่เกาะสมุยก็มีโบสถ์คาทอลิกอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องสร้างอีกหลังล่ะครับ

พื้นที่เกาะสมุยขึ้นกับสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีครับ ผู้ใหญ่ท่านเล็งเห็นว่าเกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจากนานาชาติมาพักผ่อน บางส่วนต้องการประกอบพิธีแต่งงานที่นี่ แต่โบสถ์ที่มีอยู่ในชุมชนคาทอลิกดั้งเดิมนั้นอยู่ห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยว เดินทางยากลำบาก ทั้งยังมีขนาดเล็กเกินไป จึงมีโครงการจะสร้างใหม่ไม่ไกลจากสนามบินและหาดเฉวงมากนัก เพื่อจะได้ใช้ประกอบพิธีแต่งงาน เพราะบางครั้งนักท่องเที่ยวอยากจัดงานแต่งงาน เชิญบาทหลวงไปยังสถานที่ที่ไม่เหมาะสมเพราะเขาขาดความเข้าใจ เช่น เชิญไปประกอบพิธีในห้องประชุมของโรงแรม ซึ่งบาทหลวงประกอบพิธีกรรมให้ไม่ได้ จึงมีโครงการสร้างโบสถ์นี้ขึ้น พระศาสนจักรคาทอลิกก็จะได้ดูแลอบรมเรื่องชีวิตการแต่งงานแบบคาทอลิกไปด้วย เป็นการอภิบาลในเชิงรุก โครงการนี้จึงเริ่มขึ้นโดยมีแนวคิดจะให้เป็นโบสถ์แบบ Iconic คือมีรูปทรงที่สวยสะดุดตา เหมาะกับจัดงานแต่งงาน

นอกจากนั้น เราจะสังเกตได้ว่าสมุยมีศาสนสถานของศาสนาต่าง ๆ มากมาย ทั้งโบสถ์คาทอลิก โบสถ์รัสเซียออร์โธดอกซ์ มัสยิด วัดพุทธ นั่นแปลว่าแม้ผู้คนจะอยู่ในระหว่างการท่องเที่ยวพักผ่อน แต่เขาก็ไม่ได้ลืมการพัฒนาชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณไปด้วย โบสถ์แม่พระองค์อุปถัมภ์จึงช่วยเติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยวทางด้านชีวิตจิตใจไปพร้อมกัน

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ

แนวคิดของการออกแบบตัวโบสถ์แบบนี้มาจากไหน

โจทย์ของวัดนี้มาจากชื่อครับ คือ ‘แม่พระองค์อุปถัมภ์’ ซึ่งเป็นชื่อแม่พระที่บาทหลวงคณะซาเลเซียนที่ดูแลภาคใต้ของไทยใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะ เราก็ไปกางไบเบิลดูว่าควรจะใช้ตอนไหนในคริสต์ประวัติมาสร้าง ‘แนวคิดหลัก’ ของโบสถ์แห่งนี้ ผมจึงเลือกเอาตอนที่อัครเทวดากาเบรียลรับโองการพระเป็นเจ้า ลงมาแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ว่าพระนางจะตั้งครรภ์พระเยซูคริสต์ 

ดังนั้น คอนเซปต์หลักจึงเป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมพิธีกรรมรู้สึกเหมือนกลับไปยังครรภ์มารดา โดยใช้แถววงโค้งขนาดใหญ่ที่โอบรับกันและกันคล้ายกับการพนมมือ ซึ่งในเหตุการณ์ ‘การแจ้งข่าวประสูติ (Annunciation)’ นั้น มีคนกำลังพนมมือ 2 คน คือแม่พระและเทวดากาเบรียล วงโค้งนั้นมาบรรจบตัดกันตรงกลางโบสถ์ หมายถึงพระจิตเจ้าที่เสด็จลงมาประทับอยู่กับพระแม่ 

จึงเกิดความหมายอย่างน้อย 3 ประการในโบสถ์แห่งนี้คือ หนึ่ง พระจิตเจ้า หมายถึงสติปัญญาหรือ Wisdom สอง แม่พระ หมายถึงความศรัทธาหรือ Faith และสาม เทวดากาเบรียล หมายถึงผู้ส่งสาร โดยภาพรวมแล้วจึงหมายถึง โบสถ์เป็นสถานที่ที่พระเป็นเจ้าทรงใช้ส่งสารของพระองค์ลงมายังบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งเกิดผลเป็น ‘สติปัญญา’

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
ภายในของโบสถ์ เน้นวงโค้งบรรจบกันคล้ายการพนมมือ ใช้สีขาวแบบเปลือกหอยทะเล ตัดกับเฟอร์นิเจอร์ไม้โอ๊กสีน้ำตาลอ่อน เน้นความสะดวกสบายและความผ่อนคลาย ด้านหลังกางเขนเป็นกระจกใส ในเวลากลางวันจะสังเกตเห็นแสงเงาของต้นไม้ภายนอกอาคาร
วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
ด้านหลังกางเขนเป็นกระจกใส เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในฐานะสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้า

แล้วตัวอาคารโบสถ์แม่พระแห่งนี้สื่อความหมายอย่างไรบ้างครับ

ผมเลือกใช้แนวคิดสมัยใหม่ที่ต้องการลดทอนความฟุ่มเฟือยหรูหราอลังการแบบโบสถ์โบราณออกไปให้หมด ผมเชื่อว่าความอลังการที่สื่อแทนพลานุภาพของพระเป็นเจ้านั้นแสดงออกทางธรรมชาติรอบตัวเราอยู่แล้ว ต่อให้มนุษย์สร้างผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็เทียบเคียงกับธรรมชาติไม่ได้ ดังนั้นรูปพระต่าง ๆ จึงอยู่ในสไตล์มินิมอล ใช้แค่ผงหินบดผสมเรซินขาว ไม่ทาสีใด ๆ

ในโบสถ์แห่งนี้เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ดึงความงามของเกาะสมุยออกมาใช้ เช่น ตัวโบสถ์ทาสีขาวทั้งหมดเหมือนเปลือกหอยทะเล ด้านหลังของไม้กางเขน เราเจาะช่องกระจกใสไว้ให้มองออกไปเห็นใบไม้กำลังปลิวตามลม และที่สำคัญคือการเปิดช่องกระจกจำนวนมากทั่วทั้งโบสถ์ เพื่อให้เห็นเงาเมฆกำลังค่อย ๆ เคลื่อนทาบลงบนผนังภายในอาคาร

ผมใช้แนวเสาระเบียงโค้งทำเป็นระเบียงด้านข้างของโบสถ์ เป็นการหยิบยืมเอาฟังก์ชันของระเบียงพาไลแบบอุโบสถในพุทธศาสนาทางภาคใต้ ซึ่งมีประโยชน์มากในการกันฝนและกันแดด เป็นสถาปัตยกรรมเมืองร้อนอย่างแท้จริง ทั้งยังช่วยเสริมพื้นที่เวลาคนมาร่วมมิสซามาก ๆ จนห้องโถงใหญ่รับไม่ไหวก็ตั้งเก้าอี้เสริมได้

ส่วนหลังคาของระเบียงข้างนั้น ถ้าสังเกตให้ดีเราใช้แผงบังแดด หรือ Sun Screen เป็นเหมือนไม้ระแนงถี่ ๆ ให้อารมณ์แบบเงาของทางมะพร้าวเวลาต้องลม สมุยเดิมเป็นสวนมะพร้าวอยู่แล้ว ตอนเด็ก ๆ ที่ผมมาเที่ยวที่นี่ สิ่งแรกที่ผมประทับใจเลย คือแดดที่ลอดทางมะพร้าวลงมาเป็นเงาตกกระทบตามท้องร่องหรือพื้นดิน ให้บรรยากาศแบบทะเลเมืองใต้มาก ๆ

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
แผนผังของวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ มีการเลือกใช้แนวระเบียงพาไลข้าง 
แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมอุโบสถภาคใต้ของไทย
วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
รูปแม่พระองค์อุปถัมภ์สีขาวเน้นความเรียบง่าย กับเงาของ Sun Screen ที่ลอดลงมา
เป็นการเลียนแบบเงาของทางมะพร้าวในสวนของเกาะสมุย

แปลว่าเทรนด์ของการออกแบบโบสถ์แห่งนี้มีแนวคิดต่างไปจากแบบโบราณมากทีเดียว

ใช่ครับ ปัจจุบันเราเน้นความสำคัญของอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วย แม้ว่า ‘คาทอลิก’ จะแปลว่า สากล แต่ก็ให้ความเคารพกับตัวตนของผู้คนในประเทศต่าง ๆ และความผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ในฐานะสถาปนิก การหยิบงานไทย ๆ มาใช้ตรง ๆ เช่น ลายกนกปิดทองประดับกระจกหรือช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ เป็นการแสดงออกแบบตรงไปตรงมาเกินไป ผมอยากให้อัตลักษณ์ท้องถิ่นเดินไปพร้อมกับความทันสมัย หยิบยืมเฉพาะกลิ่นอายหรือเส้นสายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเปิดทางให้งานร่วมสมัยพัฒนาต่อไปได้แบบไม่ติดกรอบอนุรักษนิยมเกินไป

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
ระเบียงข้างที่ใช้แนวเสาโค้งให้ความรู้สึกเหมือนครรภ์มารดา สอดรับกับกางเขนที่เกิดจากการเจาะช่องโปร่ง พื้นที่บริเวณนี้ใช้ตั้งเก้าอี้เสริมได้ในกรณีที่โบสถ์เต็ม

หลังจากที่โบสถ์แห่งนี้สร้างเสร็จแล้ว ผลตอบรับจากชุมชนคาทอลิกที่นี่เป็นอย่างไรบ้างครับ มีปัญหาอะไรบ้าง

ผลตอบรับจากชุมชนออกมาดีมากครับ แต่อาจจะมีปัญหาบางอย่าง เช่น ฟังก์ชันของสถาปัตยกรรมไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง อย่างเรื่องของห้องศีลล้างบาป (บัพติศมา) ซึ่งในชุมชนเล็ก ๆ ของเกาะสมุย ไม่ได้มีคริสตชนใหม่มาล้างบาปบ่อยขนาดนั้น ชาวบ้านเขาก็ปรับให้เป็นห้องสำหรับเด็กอ่อนหรือ Crying Room ซึ่งผมว่าโอเคนะ ในต่างประเทศจะมีห้องสำหรับแม่ลูกอ่อนใช้เลี้ยงลูก เสียงจากเด็กทารกก็จะไม่รบกวนพิธีกรรม แต่ไม่เป็นการกีดกันเด็ก ๆ ออกจากศาสนสถานด้วย 

ส่วนปัญหาอื่น ๆ ก็มีบ้าง เช่น การที่อยู่ใกล้ทะเลมาก ไอเค็มจากทะเลก่อให้เกิดปัญหาความชื้นและคราบไคลแบบเมืองร้อน จำเป็นต้องบำรุงรักษากันในระยะยาว

วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง โบสถ์สวยบนเกาะสมุยที่มุ่งสร้างสวรรค์ทางจิตวิญญาณไว้บนเกาะ
ห้องบัพติศมาซึ่งเจาะช่องเป็นรูปกางเขนโปร่ง มองออกไปจะเห็นรูปแม่พระ เป็นการเน้นย้ำความหมายว่า แม่พระเป็นผู้มีส่วนร่วมกับแผนการไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ของพระเป็นเจ้า สอดรับกับความหมายของบัพติศมาว่าเป็นการเกิดใหม่ทางฝ่ายจิตวิญญาณ

คุณคิดว่าในอนาคต รูปทรงทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์คาทอลิกจะเดินหน้าไปอย่างไร 

จากการที่ผมส่งผลงานการออกแบบวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์แห่งนี้ไปร่วมประกวดกับองค์กรสถาปนิกหลาย ๆ แห่ง (และได้รับรางวัลดีเด่นหลายชิ้นด้วย) ผมจึงมีโอกาสได้ร่วมรับฟังแนวโน้มของการออกแบบศาสนสถานสมัยใหม่ พบว่าในทุก ๆ ศาสนามีแนวคิดร่วมกันในการละลายเขตแดนและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้น้อยลง วัด โบสถ์ หรือมัสยิดในโลกสมัยใหม่ เปิดพื้นที่ทางนามธรรมมากกว่ารูปธรรม บางแห่งไม่มีขอบเขต ไม่มีกำแพง กลายเป็นเหมือนลานสาธารณะที่เปิดให้ใครก็ได้เข้าไปใช้ภาวนา เหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า “ที่ใดที่มีผู้คนร่วมกันภาวนา 2 คนขึ้นไป พระเจ้าทรงประทับอยู่” แสดงว่าโบสถ์อาจจะไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่เชิงรูปธรรม แต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ใช้วัสดุที่โปร่งเบา เห็นพื้นที่ภายใน ไม่ลึกลับซับซ้อน แต่รักษาความสงบด้วยวัสดุที่เก็บเสียงและการปรับอุณหภูมิ ให้ผู้มาร่วมพิธีรู้สึกสบายกายและใจมากที่สุด และใช้บังตาในพื้นที่ที่จำเป็น

เขตศักดิ์สิทธิ์อาจยังเก็บไว้แต่ชี้ให้เห็นได้ง่ายด้วยสัญลักษณ์ประเภทต่าง ๆ วัดหรือโบสถ์ในโลกสมัยใหม่จะไม่เป็นสมบัติของตระกูลใดหรือสายการปกครองใด ๆ ตามที่เคยเป็นมาก่อนในสมัยกลาง แต่เป็นสมบัติร่วมกันของชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น เราพยายามข้ามขอบเขตชุมชนออกไปสู่ความกว้างของนานาชาติ ซึ่งในกรณีของเกาะสมุยเอง ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากลอยู่แล้ว

คุยกับผู้รังสรรค์โบสถ์ในวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง บนเกาะสมุย ด้วยแนวคิดท้องถิ่น สมัยใหม่ และศรัทธาเข้าไว้ด้วยกัน จนได้รางวัลจากอิตาลี
แผง Sun Screen ที่ระเบียงข้าง เน้นสีขาวเพื่อสร้างมิติด้วยแสงเงาเฉดสีต่าง ๆ
เลียนแบบบรรยากาศของสวนมะพร้าวบนเกาะสมุย

ผมคิดไว้ว่าถ้ามีโอกาสเหมาะ ๆ อาจจะหาเวลาผ่อนคลายงานที่ทำด้วยการลงไปพักผ่อนที่สมุย แล้วหาโอกาสร่วมพิธีมิสซาที่โบสถ์แม่พระองค์อุปถัมภ์สักครั้ง จะได้ลองสังเกตเงาเมฆค่อย ๆ เคลื่อนทาบลงบนอาคารสีเปลือกหอยและเงาทางมะพร้าวที่คุณจุติเลือกสรรมาเป็นจุดเด่นของเกาะสมุย สวรรค์อีกแห่งที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างสรรค์ขึ้น

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช