การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ ภายใต้หัวข้อ ‘The Cloud Golden Week : Happy Young Old’ เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานวัยอิสระอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป มารวมพลังเล่าเรื่องตามประเด็นที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็น มอบหมายให้ออกไปหาข้อมูลและภาพถ่ายตามที่แต่ละบุคคลสนใจ 

ประสบการณ์ที่พบเห็นจากการไปพบปะพูดคุยกับแม่ครัววัยอิสระใน ‘ชุมชนบ้านครัว’ เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นเส้นทางสู่ความช่ำชองในการทำอาหารพื้นบ้านไทยหลากหลายเมนูตามวิถี ‘ฮาลาล’ และความอิ่มเอิบใจที่เกิดขึ้นจากการทำอาหารให้อาคันตุกะที่มาเยือนได้ลิ้มชิมรส

บ้านครัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจาม ขนาบข้างลำคลองแสนแสบตั้งแต่ถนนอุรุพงษ์ ตลอดไปถึงสะพานหัวช้าง 

มุมมองด้านการพัฒนาเมือง บ้านครัวเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีเสน่ห์ดึงดูดคนเข้ามามีส่วนร่วมและสัมผัสวิถีการพัฒนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง จากจุดเริ่มต้นในการทอผ้าไหมเพื่อขายในชุมชนและการล่องเรือไปขายตามจังหวัดต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พัฒนาต่อยอดไปเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าไหมของ จิม ทอมป์สัน เป็นพันธมิตรร่วมกิจการที่สร้างชื่อเสียงให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักและไปไกลทั่วโลก แม้ว่าวันวานอันเป็นยุคทองของการทำงานร่วมกับจิม ทอมป์สัน จักผ่านพ้นไปแล้ว ผ้าไหมบ้านครัวยังคงความเป็นหนึ่งในแถวหน้าของผ้าไหมไทย โดยเฉพาะ ‘ไหมเหลืองสิรินธร’ ผ้าไหมเส้นเดียวที่บางเบาและประณีตมาก ๆ

ที่นี่เป็นชุมชนดั้งเดิมของคนไทยมุสลิมเชื้อสายจามในสมัยรัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษคนไทยมุสลิมเชื้อสายจามอพยพจากเขมร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บรรพชนของชุมชนบ้านครัวเข้าร่วมสงครามเก้าทัพในนาม ‘กองอาสาจาม’ หลังสงครามได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณป่าไผ่ทุ่งพญาไทให้เป็นที่อาศัยของกองทหารอาสาจาม มีมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (สุเหร่ากองอาสาจาม) เป็นศูนย์กลางของชุมชน ในยุคแรกเคยเรียกกันว่า ‘บ้านแขกครัว’ ต่อมาจึงกร่อนเสียงลดเหลือเพียง ‘บ้านครัว’ เท่านั้น

มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ หรือสุเหร่ากองอาสาจาม สร้างเมื่อราว พ.ศ. 2330 ตรงกับ ร.ศ. 5 นับเป็นมัสยิดแห่งแรกในฝั่งพระนคร มี พระยาราชวังสัน (แม้น) เป็นผู้สร้าง เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรม พระยาราชวังสัน (ฉิม) ผู้เป็นบุตรชายได้ดูแลที่นี่ต่อ ตามด้วยหลานชายอย่าง พระยาราชวังสัน (บัว) อีกทอดหนึ่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงทรงมีรับสั่งให้ชาวจามและมลายูขุดคลองแสนแสบใต้ต่อจากคลองมหานาค เพื่อขยายเมืองไปทางทิศตะวันออกและเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งยุทธปัจจัยในสงครามอานัมสยามยุทธ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปตีญวน เขมร และลาวพร้อมกัน เมื่อเดินทางกลับก็อพยพครอบครัวเขมรจามที่อยู่ในกำปงจามมาทั้งครอบครัว โดยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งครัวเรือนอยู่ด้วยกันกับกลุ่มแรก ในยุคแรกเคยเรียกกันว่า บ้านแขกครัว เนื่องจากมีการอพยพมาทั้งครอบครัว ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงตัดคำว่าแขกออก เหลือเพียง บ้านครัว เท่านั้น

ยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ว่าก่อนที่ The Cloud จะมอบหมายให้เป็นผู้เล่าเรื่องแม่ครัววัยอิสระของชุมชนบ้านครัว ไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอาหารมุสลิมในชุมชนบ้านครัวเลยแม้แต่น้อยนิด 

อาหารมุสลิมที่คุ้นหูและเคยทาน เท่าที่พอนึกได้คงไม่พ้นข้าวหมกไก่ สลัดแขก ไก่ย่างจีระพันธ์ (40 – 50 ปีก่อน ไก่ย่างยี่ห้อนี้ดังมาก) ส่วนเนื้อสะเต๊ะและไก่สะเต๊ะ ไม่ทาน เพราะไม่กินเนื้อ ไม่กินปลา เลยพาลไม่กินไก่สะเต๊ะที่ปิ้งบนเตาเดียวกันไปด้วย เมื่อได้เห็นรายชื่อและจานเด็ดของแม่ครัวที่ต้องไปเสวนาเพื่อนำเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง เริ่มตั้งคำถามในใจในหลายประเด็น อาหารจานเด็ดที่ได้รับข้อมูลจากทีมงาน The Cloud มีความหลากหลาย ชวนให้คิดว่า ‘วัฒนธรรมอาหารในวิถีชุมชนบ้านครัว’ เป็นอย่างไร

สาระสำคัญเท่าที่พอสรุปได้จากการพูดคุยกับ มีนา มุหมัดอารี, แม่ครัววัยอิสระ 3 ท่าน นิด-นิตยา อาดำ, เยาว์-เพยา นาคชม, ยะห์-มารียะห์ (สุมาลี) และเลิศผล และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยมุสลิมของ The Cloud (พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม อาจสรุปตามความเข้าใจของผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านนี้มากนัก ดังนี้

‘ฮาลาล’ เป็นกรอบใหญ่ในการดำเนินชีวิตของคนมุสลิม อาหารฮาลาลเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีพของคนมุสลิม เป็นข้อกำหนดว่าด้วยการอนุมัติให้ดื่ม อนุมัติให้ทำ อนุมัติให้รับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ แปรสภาพตามศาสนบัญญัติ ต้องไม่เป็นอาหารที่ห้ามบริโภคตามหลักศาสนาอิสลาม ส่วนสัตว์ที่บริโภคได้ ต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ คือเป็นสัตว์ที่ศาสนาอนุญาตให้บริโภค การเชือดเป็นไปตามหลักศาสนา และไม่มีการทรมานสัตว์ก่อนเชือด และมีข้อกำหนดทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำการเชือด อุปกรณ์ และวิธีการเชือด

ความหมายที่กล่าวโดยย่อนี้ เป็นภาพกว้างที่ทำให้เห็นหลักใหญ่ของวัฒนธรรมอาหารของคนมุสลิมทั่วโลก ทั้งสาระสำคัญที่เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร คุณลักษณะผู้ทำอาหาร (คนมุสลิมมีสุขภาพจิตใจที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ) อุปกรณ์ที่ใช้ และวิธีทำอาหาร สาระสำคัญตรงนี้ มีนาอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นศาสนบัญญัติที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก ด้านรายละเอียดของอาหารแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเมนูแบบไหน รสชาติเป็นอย่างไร มิได้มีข้อกำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคนมุสลิมในแต่ละชุมชนท้องถิ่น

‘แกงส้มเขมร’ มาจากวิถีชีวิตของจามซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมในเมืองกำปงจาม ประเทศกัมพูชา

ยะห์ สาววัยอิสระผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน นับกาลเวลาได้ 69 ปี เล่าว่าคนเขมรมาทานแกงส้มเขมรที่บ้านครัวแล้วบอกว่ามีรสชาติใกล้เคียงกับแกงส้มในประเทศกัมพูชา แต่รสชาติแกงส้มของยะห์เข้มข้นและกลมกล่อมกว่ามาก รสชาติแกงส้มเขมรตำรับบ้านครัวของยะห์เป็นอย่างไร เล่าสู่กันฟังไม่ได้ เพราะเป็นคนไม่กินเนื้อ แต่แค่เห็นองค์ประกอบและสีสันของแกงส้มเขมรบนโต๊ะก็พอดูออกว่า ‘นี่คือจานเด็ดของชุมชนบ้านครัว’ ยิ่งได้ยินทีมงานก้อนเมฆออกปากชมว่าอร่อยมาก ทั้งเน้นย้ำว่าน้องเป็นคนที่ไม่ชอบทานแกงส้ม ทานได้น้อยมาก แต่จานนี้ น้องทานแกงส้มเขมรได้มากกว่าทุกครั้งที่เคยทาน

ยะห์-มารียะห์ (สุมาลี) และเลิศผล

บรรยากาศห้องครัวชุมชนในวันนั้นคล้ายกับร้านอาหารสไตล์ Chef’s Table แม่ครัววัยอิสระอายุรวมกว่า 200 ปี ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาพูดคุยกับทีมงานอย่างเป็นกันเองและสนุกสนาน คนทำอาหารก็ทำไป คนพูดคุยก็คุยไป ทำเสร็จก็มานั่งคุยและให้อีกคนไปทำอาหารต่อ 

ระหว่างการพูดคุย สายตาคอยสังเกตอากัปกิริยาของแม่ครัววัยอิสระแต่ละท่าน สิ่งที่รับรู้ได้คือ ‘แต่ละท่านทำอาหารด้วยความสุข ต้องการให้คนได้กินอาหารที่ดีและอร่อย’ ยิ่งเห็นท่าทางของ เยาว์ (อายุแตะ 80 ใน 2 ปีข้างหน้า) ลีลาการหั่นแตงกวาทำอาจาดทานกับโรตี แลคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง แข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกัน อาหารจานเด็ดของเยาว์มีหลายอย่าง เช่น เมี่ยงส้มโอ ห่อหมก ขนมจีนน้ำพริก

เยาว์-เพยา นาคชม

นิดเป็นแม่ครัววัยอิสระนักเอนเตอร์เทน สร้างความบันเทิงแก่อาคันตุกะผู้มาเยือนครัวชุมชนแห่งนี้ การเสวนากับนิดในเพลานั้นได้ข้อคิด ได้มุมมองต่าง ๆ ที่ควรค่าแก่การหยิบยกไปพิจารณาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเอง 

แต่เดิมนิดไม่ได้ทำร้านอาหาร เป็นแม่ค้าขายเนื้อแดดเดียว-เนื้อทอด ด้วยความเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ชอบทำสิ่งใหม่ ๆ จึงคิดค้นสูตรเนื้อนมสดและใช้เป็นหลักในการทำอาหารหลายชนิด ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ‘ผัดไทยโบราณเนื้อนมสด’ เสียดายที่ไม่มีโอกาสยลโฉมผัดไทยโบราณจานนี้ แต่ถึงไม่ทานเนื้อ ก็พอดูออกว่าเมนูเด็ดจานนี้น่าทานหรือไม่ องค์ประกอบและสีสันของอาหารเป็นตัวบอก

นิด-นิตยา อาดำ

ความเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่ง คำว่า ‘The Master’ มิได้วัดกันที่ความเชี่ยวชาญช่ำชองในวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง กรณีเรื่องที่ได้ยินจากการสนทนาพูดคุยกับนิด

“มีลูกค้าสั่งข้าวไข่เจียวทานซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เปลี่ยนเมนูเลย หากมองผ่านเรื่องเล็ก ๆ เช่นนี้ ทุกสิ่งก็เป็นไปเหมือนเดิม ตรงข้ามกับความใส่ใจและเข้าไปพูดคุยสอบถาม จนได้ข้อเท็จจริงว่าลูกค้าทานมังสวิรัติ เลยทำเต้าหู้ผัดกะเพราไข่เจียวให้ลูกค้า ลูกค้าพึงพอใจ คนทำอาหารก็มีความสุข” 

คงไม่ต้องสรุปอะไรเกินไปกว่าคำว่า ‘การตลาดเยี่ยมยุทธ์’ และน่าจะไม่ผิดไปจากความจริงมากนัก หากชี้ชัดไปอีกขั้นหนึ่งว่า นี่คือกุญแจสู่ความเหนือชั้นในกิจการนั้น ๆ (Key Success Factor to be The Master)

การก้าวมาถึงจุดนี้ แม่ครัววัยอิสระของชุมชนบ้านครัวทั้ง 3 ท่านมีเส้นทางคล้ายคลึงกัน คือ ‘ไม่มีใครสอน’ เสน่ห์ปลายจวักของคนยุคก่อนต่างจากคนทำอาหารยุคใหม่เป็นอันมาก ทุกวันนี้มีโรงเรียนสอนทำอาหารเป็นจำนวนมาก คนทำอาหารต้องผ่านโรงเรียน ต้องมีเวทีสั่งสมประสบการณ์ ไต่ระดับไปยืนอยู่ในแถวหน้าของอาหารแต่ละประเภท ผิดจากโลกเมื่อวันวาน การทำอาหารเริ่มต้นจากในบ้าน เริ่มต้นด้วยการเป็นลูกมือในครัว อาศัยการสังเกตและลงมือทำทีละขั้น นับหนึ่งจากการเตรียมอุปกรณ์ขึ้นไปตามลำดับขั้นจนถึงการทำอาหาร 

นิดบอกว่า “แม่ไม่ให้ถาม ไม่สอน เพื่อให้ทำได้เอง” ทั้งสรุปเป็นประเด็นให้ไปคิดต่อ “ลูกคิดกับลูกสอน ไม่เหมือนกัน”

ยะห์ เจ้าตำรับแกงส้มเขมร (แกงส้มเนื้อ) สูตร 200 ปี บอกว่า “เกิดมาก็เห็นแล้ว เห็นจากพ่อแม่ ที่ทำเป็นเพราะแม่ใช้ให้ทำ” ส่วนเยาว์ ตอบมันดี “อยู่ในครัวนานกว่า 60 ปี ไม่เคยเรียน ไม่มีใครสอน ไม่เคยถาม สังเกตแบบครูพักลักจำ” ตบท้ายว่า “ทำอาหารอร่อย สอนไม่ได้ อยู่ที่สายเลือด ยายเป็นคนทำอาหารเก่ง” 

ก็คงจริงแบบแม่ครัววัยอิสระทั้ง 3 กล่าว ความเชี่ยวชาญช่ำชองในอาหารพื้นบ้านของแต่ละชุมชนท้องถิ่น มีจุดตั้งต้นจากครัวที่ทำอาหารทานกันเองและทำอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ใช่การทำขายอย่างทุกวันนี้ ความเป็นเลิศในการทำอาหารแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับความใส่ใจและความสามารถของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ

ห้องครัวชุมชนบ้านครัว เป็นอาหารไทยมุสลิมพื้นบ้านที่มีความหลากหลาย มีทั้งอาหารดั้งเดิมของไทยมุสลิมเชื้อสายจามอย่างแกงส้มเขมร การนำเนื้อหรือวัตถุดิบที่ศาสนาอิสลามอนุมัติให้บริโภคมาใช้กับอาหารประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผัดไทยโบราณเนื้อนมสด (นิด) เมี่ยงส้มโอ (เยาว์) และอาหารอื่นที่แม่ครัววัยอิสระทำขึ้นเพื่อบริการอาคันตุกะที่มาเยี่ยมเยือน มาศึกษาดูงาน มาทำเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ แม้อยู่ในกรอบใหญ่ของฮาลาล แต่มีความโน้มเอนไปทางอาหารฟิวชันอีกลักษณะหนึ่ง จึงเป็น Halal Fusion Cuisine ที่คนทั่วไปสัมผัสได้

การเข้าไปเรียนรู้ สัมผัสกับวัฒนธรรมอาหารไทยมุสลิมเชื้อสายจามของชุมชนบ้านครัว เป็นภาพประจักษ์ชัดที่ตอกย้ำความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน เสน่ห์ปลายจวักของแม่ครัว-คนทำอาหารวัยอิสระที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง กำลังจะสูญหายไปจากชุมชนท้องถิ่นไทย 

ด้านหนึ่งเป็นเพราะแม่ครัว-คนทำอาหารวัยอิสระ เริ่มไม่มีอิสระด้วยความเสื่อมถอยทางร่างกาย ต้องหยุดชะงักไปเพราะไม่อาจทำอาหารได้ ตัวอย่างที่ชุมชนบ้านครัวเผชิญอยู่คือไม่มีคนทำ ‘ขนมอาปำ’ ในเวลาเดียวกัน แม่ครัววัยอิสระทั้ง 3 ยังทำได้อีกระยะหนึ่ง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะหาใครสักคนมาสืบทอดตำนานอาหารวิถีชุมชนที่บรรพชนสร้างไว้ไม่ได้ ด้วยเหตุผลสำคัญทั้งวิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อาหารสำเร็จรูป-พร้อมปรุงที่ได้มาตรฐานฮาลาลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจและน่าหาคำตอบว่ามีผลกระทบต่ออาหารวิถีชุมชนของชุมชนบ้านครัวหรือไม่และอย่างไร

ต่อจากครัวชุมชนบ้านครัว มีนานำทีมงานเดินเลียบคลองแสนแสบ ลัดเลาะตามซอกซอยต่าง ๆ เพื่อไปลิ้มรสเนื้อ-ไก่สะเต๊ะของ เยาะห์-อัสนา รื่นพิทักษ์ ที่บ้านครัวเหนือ ผ่านบ้านเรือนโบราณซึ่งแฝงเร้นเป็นเพชรประดับชุมชนมานานแสนนาน 

กว่าที่จะได้เห็นเนื้อ-ไก่สะเต๊ะ อิสรชนวัย 65 ปีอย่างผู้เล่าเรื่องพอได้เหงื่อบ้าง โชคดีที่อากาศวันนั้นไม่ร้อนมากและใส่รองเท้าหุ้มข้อมา เลยเดินได้นานโดยไม่มีอาการเมื่อยล้าเหมือนการใส่รองเท้าแตะ เมื่อได้กระทบไหล่ตัวแม่ของเนื้อสะเต๊ะอย่างเยาะห์ พี่แกบอกเป็นระยะ ๆ ว่าแกพูดไม่เก่ง ที่ไหนได้ เล่าเรื่องสะเต๊ะเป็นฉาก ๆ เห็นขั้นตอนการทำสะเต๊ะคุณภาพระดับพรีเมียม จนน้ำลายสอ อยากหยิบไก่สะเต๊ะมาใส่ปากให้มันรู้แล้วรู้รอดไป

ในฐานะที่เป็นคนชอบหมูสะเต๊ะและลองลิ้มชิมหมูสะเต๊ะมานานกว่า 30 ปี น้อยครั้งที่จะได้กินของอร่อยถูกปาก ส่วนใหญ่เป็นการเสียบเนื้อหมูเป็นแผ่นบาง เพื่อประหยัดเนื้อและให้สุกไว ทำให้แข็งกระด้าง น้ำจิ้มและอาจาดก็ไม่เข้มข้น ต่างจากเนื้อ-ไก่ของเยาะห์ 

สะเต๊ะแต่ละไม้ใช้วิธีการแบบเสียบเฉียง มีขนาดไม่ต่างกันมากนัก เนื้อแน่น การนำไปปิ้งย่าง ทากะทิแบบจัดเต็ม ถ่านไม้โกงกางทำให้เนื้อ-ไก่สะเต๊ะแต่ละไม้แน่น เนียนนุ่ม หอมกลิ่นเครื่องเทศยิ่งขึ้นจากเตาปิ้งใหม่ สุดฟิน ไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มก็อร่อย ต้องยกนิ้วให้เลยว่าไม่เคยทานไก่สะเต๊ะที่ไหนมากกว่า 1 ไม้ แต่ที่นี่แอบหยิบแล้วหยิบอีก กลัวน้อง ๆ ทีมงานจะว่าเอา ที่ลืมไม่ได้คือหอมเจียวที่อร่อย ถูกปากมาก ๆ

น้ำจิ้มเข้มข้น ละเอียด หอมกลิ่นเครื่องปรุง อาจาดรสชาติดี น้ำอาจาดเจ้านี้ออกสีเหลืองบุษราคัม ใช้แตงกวาคุณภาพจากราชบุรี เยาะห์เน้นย้ำว่าวัตถุดิบ-เครื่องปรุงล้วนคัดสรรแต่ของดีมีคุณภาพ ภาชนะที่ใช้เป็นตะกร้าสาน ช้อนตักทำจากกะลามะพร้าว ถึงเป็น Street Food ก็เป็น Master of Street Food

ทากะทิบนเตาย่างถ่านไม้โกงกาง

หากสาธยายมากกว่านี้จะหาว่าอวยกันจนเกินเหตุ จริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องสาธยายอะไรกันมาก เยาะห์กระซิบเบา ๆ ชนิดที่ทุกคนในที่นั้นได้ยินกันหมดว่าสะเต๊ะของแกอร่อยมาก ดังจนคนในวังแห่งหนึ่งต้องมาซื้อไปทานบ่อย ๆ และในสมัยที่พี่แกหาบขายที่หน้าโรงหนังเอเธนส์ อดีตนายกฯ ที่เคยทำธุรกิจซื้อขายภาพยนตร์ก็มาอุดหนุนเป็นประจำ

แม้มีความต่างจากแม่ครัววัยอิสระอีก 3 ท่านตรงที่เป็นการประกอบอาชีพขายอาหารแนว Street Food สิ่งที่เหมือนกันคือเริ่มต้นมาจากการเป็นลูกมือช่วยพ่อแม่ทำอาหารโดยไม่มีการสอน สังเกต-ลงมือทำจากขั้นตอนที่ง่ายที่สุด 

เยาะห์เริ่มจากการเสี้ยมเหลาไม้ เสียบเนื้อที่ต้องใช้ความประณีตสูงมาก หาบไปขาย ปรุง และปิ้งย่าง ทำแล้วคิด คิดแล้วทำ พัฒนาฝีมือจนเป็นที่ยอมรับและมีคนมาขอซื้อสูตรในราคา 100,000 บาท แต่เยาะห์ก็ไม่ขาย เพราะติดกับความคิดที่ว่าราคานี้แพงไปหรือไม่ เวลานั้นเกิดอาการคันปาก อยากแสดงความเห็นบ้าง เลยบอกเยาะห์ไปว่าถ้าเป็นบุคคล ราคานี้ก็พอสมน้ำสมเนื้อ เพราะซื้อไป เขาก็มีผลตอบแทนกลับมา แต่ถ้าเป็นบริษัทหรือห้างร้านใหญ่… หยุดหันมาสบตากับทีมงาน ก่อนตอบคล้าย ๆ ว่าต้อง 7 หลักขึ้นไป เขาซื้อไปในราคานี้ เขาทำรายได้มากกว่านี้หลายเท่า

การไปเก็บข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังใน ‘The Cloud Golden : Happy Young Old’ เป็นเวทีหนึ่งของผู้เฒ่าที่เรียกขานให้ไม่เกิดความแสลงใจว่า ‘วัยอิสระ’ ออกไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมที่แฝงเร้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนที่มีความต่างทางวัฒนธรรม แต่วัยอิสระก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน วิถีชีวิต ตลอดจนถึงพฤติกรรมการบริโภคในสังคมยุคใหม่เปลี่ยนไปมาก อาหารที่คุ้นชินค่อย ๆ สูญหายไปกับกาลเวลา สิ่งที่อยู่ในครัวกลายเป็นอาหารสำเร็จรูป-พร้อมปรุงที่ทำให้เสน่ห์ของอาหารพื้นบ้านหมดไป อาหารบรรจงปรุงโดยเชฟผู้มากฝีมืออาจถูกปากแต่ไม่ถูกจริต 

การมาพูดคุยกับแม่ครัววัยอิสระเป็นความสุขของคนวัยอิสระคนหนึ่งที่ได้มาพูดคุยกับคนวัยใกล้เคียงกัน ทานอาหารพื้น ๆ ที่ทำจากน้ำมือและจิตวิญญาณของแม่ครัววัยอิสระ คำว่า ‘แม่ครัว’ ให้ความรู้สึกแตกจากคำว่า ‘เชฟ’ มาก 

ความสุขเหนือสิ่งอื่นใด การนำประสบการณ์ช่วงสั้น ๆ ที่ได้พบเห็นในระยะเวลา 2 – 3 ชั่วโมงมานำเสนอผ่านสื่อดิจิทัลก็เป็นคุณค่าที่ดีงามและไม่อาจลืมได้ในบั้นปลายชีวิต 

เอวังด้วยประการฉะนี้

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ

Writer

ชายนำ ภาววิมล

ชายนำ ภาววิมล

บุรุษผู้ใฝ่รู้ในพุทธศาสน์เชิงประยุกต์ แลพัฒนาตนเยี่ยงพระสังฆารามโพธิสัตต์ (เฉียหลันผูซา: พระโพธิสัตต์กวนอู) เพื่อเกื้อกูลบุคคลอื่นให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีงามบนฐานปัญญา

Photographer

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

สาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา

“หยุดเวลาไว้ในภาพใบนั้น โอบกอดวันวานไว้ในกล้องตัวเก่า โลกสุขสว่างหรือซึมเศร้า งามหรือเหงา ล้วนมีค่าเท่า ๆ กัน” เกิดมาเป็นผู้บันทึก มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวมากมาย ขอบคุณทุกฉากชีวิตที่ผ่านมา แม้เพียงครั้งหนึ่งยังคิดถึงเสมอ