18 มกราคม 2024
1 K

อัง-วิพุธ อัศวเวทวุฒิ วัย 27 ปี หรือที่ถูกจดจำในแวดวงดีไซเนอร์ว่า Viput A. ออกมาต้อนรับเราพร้อมกับรอยยิ้ม จนอดคิดถึงคาแรกเตอร์หนุ่มผมส้มของเขาไม่ได้

ออฟฟิศของอังขนาดกะทัดรัด ตกแต่งด้วยสีสันจัดจ้าน เต็มไปด้วยผลงานมากมายวางเรียงรายทั้งเล็กใหญ่ มีโต๊ะกลางถูกจับจองด้วยทีมงานเพียงหยิบมือที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี และอบอวลไปด้วยพลังงานของคนรุ่นใหม่อย่างที่เจ้าของบริษัทตั้งใจ

หากไม่เคยได้ยินชื่อเขา เราเชื่อว่าผลงานของเขาคงผ่านตามาบ้าง

อังเป็นเจ้าของนิทรรศการ ‘Dear, Another Bloom’ ที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เล่าเรื่องการเดินทางย้อนเวลาไปทบทวนความฝันวัยเด็กและชวนคนหมดไฟให้กลับมามีหวัง รวมถึงโดดเด่นมากจนบรรดาทีมกราฟิกของเราบอกว่าเขาน่าจับตามองที่สุดในงาน Bangkok Illustration Fair 2024

เขาชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ศึกษาด้านศิลปะต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเรียนแต่ศิลปะเพียงเท่านั้น เมื่อความจริงไม่เป็นอย่างหวัง เขากลับมาวาดรูปอีกครั้งในวัย 21 ปี

อังบอกเราว่าครั้งนั้นเขาวาดรูปเล่น ๆ แต่การวาดเล่น ๆ ครั้งนั้นทำให้เขาเข้าสู่วงการคอลแล็บด้วยการร่วมงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแสนสิริ โดยไม่รู้ว่านั่นจะกลายเป็นงานที่ทำให้เขาโด่งดังจนคอลแล็บไปแล้วกว่า 70 แบรนด์ภายใน 6 ปี ตั้งแต่โชยุทาคุมิขวดเล็กจิ๋วไปจนถึงน้ำดื่ม OCIIO, Central หรือ Nike

งาน Talk of The Cloud : The Little Prince Planet ที่กำลังจะจัดขึ้นในวาระครบรอบ 80 ปีของวรรณกรรมคลาสสิก เจ้าชายน้อย โดย The Cloud คืองานล่าสุดที่เขาร่วมออกแบบด้วย 

อังหวนคิดถึงช่วงเวลาวัยเด็กของตัวเอง จนออกมาเป็นภาพวาดเจ้าชายน้อย To me, From me ที่จะวางขายในวันที่ 27 มกราคมนี้ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ปัจจุบันอังสวมหมวกเป็นครูพิเศษโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยมีบทเรียนเป็นชีวิตการทำงาน และความคิดสร้างสรรค์ไร้กรอบของศิลปินรุ่นเยาว์ต่างหากที่สอนเขา

ความเป็นเด็กของ Viput A. ดีไซเนอร์หน้ายิ้ม การเป็นครู และบทเรียนจากงานคอลแล็บนับร้อย

มีหลายคนสงสัยว่าคาแรกเตอร์ผมส้มที่เป็นเอกลักษณ์มาจากตัวคุณรึเปล่า 

เราอยากย้อมผมสีส้ม แต่ไม่ได้ตั้งใจนะ (หัวเราะ) ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือต่างประเทศ ทุกคนบอกว่าเราวาดตัวเองหมด แต่เราลองไปดูงานศิลปินอื่น ๆ เขาก็จะมีความเหมือนตัวเองอยู่ งาน พี่ก้อง (Gongkan) ก็หน้าเหมือนพี่ก้อง งาน พี่เต๋อ (SUNTUR) ก็หน้าเหมือนพี่เต๋อ อาจเป็นเพราะเราชินหน้าตัวเองมากที่สุด ชินสัดส่วนหูตาปากหน้าเรา พอวาดออกมาเลยดูคล้ายตัวเอง แต่ที่ใช้สีส้มเพราะเราชอบสีส้ม แล้วก็อยากย้อมผมสีส้ม งานเราจะเห็นผู้หญิงผมสีส้มเยอะ มันเฟรช ดูน่าสนใจดี แล้วกลุ่มคนเรดแฮร์ก็ไม่ได้มีเยอะในโลก พวกเขามีเสน่ห์มาก

ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ คุณบอกว่าไม่ว่าจะคุยเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัวก็ค่อนข้างคล้ายกัน หมายความว่าแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากชีวิตตัวเองเหรอ

ใช่ เราชื่อวิพุธ เลือกเรียนต่อด้านศิลปะเพราะชอบวาดรูป แล้วก็โพสต์รูปวาดเล่น ๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเราเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ เน้นรีเสิร์ชเป็นหลัก แล้วก็มีแบรนด์ใหญ่เข้ามาเห็น ส่วนคาแรกเตอร์หน้ายิ้มมาจากตอนที่เรียนเราไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ เครียด การวาดรูปเป็นการบำบัดของเรา วาดอยู่ในห้องธรรมดาเล็ก ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เราอยากมอบพลังบวกให้ทุกคนเอนจอยความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน เราอยากให้คนเห็นงานเราเยอะ ๆ เพื่อบอกว่าศิลปะเฟรนด์ลีและเข้าใจง่าย

ความเป็นเด็กของ Viput A. ดีไซเนอร์หน้ายิ้ม การเป็นครู และบทเรียนจากงานคอลแล็บนับร้อย

ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กเลยเหรอ

ตั้งแต่เด็กเลย เราเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่นี่ให้อิสระกับเด็กมาก ทำให้เราสบายใจกับการเรียนศิลปะ เข้าใจตั้งแต่ตอนเรียนว่าศิลปะไม่มีการเปรียบเทียบ เราเคยทั้งปั้นดิน ทอผ้า วาดสีน้ำ สีน้ำมัน แต่เราไม่ได้วาดรูปเก่งที่สุดในห้อง คอนเฟิร์มเลย แค่เราอยู่กับสิ่งนี้ได้ทั้งวัน เรียน 3 ชม. ก็เหมือนแป๊บเดียว เราเลยทำต่อมาเรื่อย ๆ โดยไม่ลำบาก 

หนังที่ชอบหรือการ์ตูนที่ดูตอนเด็กก็จะไม่ค่อย Minimal แต่ Maximun มาตลอด โตมาหน่อยก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เราชอบเสพงานที่มอง 1 ครั้งแล้วได้หลายอย่าง เช่น งานยุค Rococo, เดวิด ฮอคนีย์, แวนโก๊ะ เราพยายามใส่เต็มที่กับทุกงาน แล้วค่อยให้ลูกค้าเป็นคนลดทอนตลอด นั่นเป็นสไตล์การทำงานของเรามากว่า 3 ปีแล้ว

พ่อแม่สนับสนุนไหม

สนับสนุน ครอบครัวเรามี 4 คน คุณแม่ทำธุรกิจครอบครัว คุณพ่อเป็นเภสัชกร พี่ชายเรียน Software Engineer Architecture ส่วนเราเรียนศิลปะ ไม่เคยมีใครถามเลยด้วยซ้ำว่าเราสนุกกับอะไร ปล่อยตามสบายจน ม.6 ตอนนั้นคิดว่าคงเรียนเลขไม่ได้ เราถึงขั้นโทรหามหาวิทยาลัยที่เราติดทุกที่ว่ามีเรียนเลขหรือเรียนวิทย์ไหม บางมหาวิทยาลัยที่มีเรียนเลขเสริมนิดหนึ่งเราคัดทิ้งเลย (หัวเราะ) เป็นความตั้งใจแน่วแน่ว่าต้องเรียนศิลปะเท่านั้นถึงจะอยู่ได้นาน

ตอนนี้กลับไปเป็นครูพิเศษที่โรงเรียนรุ่งอรุณ สอนวิชา Communication Design ยิ่งมีโอกาสไปต่างประเทศ ยิ่งได้เห็นอะไรเยอะขึ้น ยิ่งอยากเอามาทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนบ้าง เราให้เด็กสำรวจตัวเองเต็มที่ได้เลย อยากเต้น อยากทำวิดีโอ อยากเขียนหนังสือ หรืออยากทำอะไรก็ได้ถ้าสื่อสารได้ดี

ในมุมมองของครูพิเศษ เด็กรุ่นนี้มีความคิดเห็นต่อศิลปะยังไง

ด้วยความเป็นเด็กมัธยม ความสนใจยังไม่ชัด เขากำลังฝึกหัด กำลังหยิบจับ แต่เขาไม่ต้องชอบก็ได้ เด็กยุคนี้แทบไม่ใช้กระดาษกับดินสอแล้ว มีแค่ไอแพด แต่เราพยายามหาโจทย์ที่ได้ใช้มือ ถึงตอนนี้งานเรา 90% มาจากคอมพิวเตอร์ แต่เราให้ความสำคัญกับการสเกตช์มือมาก 

ถ้าเด็กมัธยมยังหาตัวเองไม่เจอ จะเป็นครูที่ทำให้เขาหาตัวเองเจอโดยไม่ตัดสินได้ยังไง

เราว่าง่าย เพราะเราโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครตัดสินเราเลย เราคงสอนเขาเหมือนที่ครูเราสอนว่า ทำเลย ถ้าไม่ทำก็ไม่มีทางชนะ แค่ผลักดันให้เขากล้าทำกล้าคิด แล้วก็อยู่ในระบบที่ควรจะเป็น 

แต่เด็กรุ่นนี้มีความคิดเร็วไปหน่อย ไม่ค่อยมีกระบวนการการคิด มุ่งไปที่ปลายทางอย่างเดียว เราอยากให้เขารู้ว่าวิธีการคืออะไรแล้วไปปรับใช้เอาเอง ขั้นตอนไหนที่รู้สึกว่าเก่าเกินไปก็ตัดออกได้ 

เราพูดเหมือนสอนหนังสือเลย (หัวเราะ) แต่สอนมา 3 ปีแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมากจากช่วงก่อน ๆ ที่ชอบไปอีเวนต์ มีเวลาเยอะ เดี๋ยวนี้เราเบาลง นิ่งขึ้น ลดทอนงานที่ต้องเอาตัวออกไปโชว์แล้วได้เงินกลับมา แล้วมีความมั่นใจมากขึ้นในการทำสิ่งที่ชอบและมีประโยชน์ต่อคนใดคนหนึ่ง แค่นี้งานเราก็สำเร็จไปแล้ว

ถ้าเริ่มเข้าวงการจากการวาดรูปเล่น ๆ ตอนไหนที่เริ่มเล่น ๆ ไม่ได้แล้ว

ตอนมีคนจ้าง (หัวเราะ) ลูกค้าเจ้าแรกของเราคือแสนสิริ

ความเป็นเด็กของ Viput A. ดีไซเนอร์หน้ายิ้ม การเป็นครู และบทเรียนจากงานคอลแล็บนับร้อย

แสดงว่ารูปแรก ๆ ของคุณไวรัลมาก เขาถึงเจอคุณ

เราเริ่มจากวาดรูปเล่น ๆ ก็จริง แต่มีพี่ที่มหาวิทยาลัยชวนไปออกแบบ CI กับคาแรกเตอร์แบรนด์ชาพยอม แล้วแสนสิริก็ทักมาให้ทำแคมเปญวาเลนไทน์ ‘Love is all around’ เราดีใจมากที่ได้ทำ แล้วหลังจากวันนั้นก็ทำมาตลอด 4 ปีในการเรียนมหาวิทยาลัย

เราไม่ได้ทำชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ดีที่สุด ถ้าไปคุยกับอาจารย์เขาอาจจะบอกว่าวิพุธแม่งแย่ ไม่ตั้งใจเรียนเลย ซึ่งจริง เพราะเราชอบทำงานนอกมาก (หัวเราะ)

ถ้าไม่สบายใจจะเรียนก็ซิ่วหรือดรอปไปได้ไม่ใช่เหรอ

เรารู้ว่าเราชอบอะไร รู้ว่าเรียนที่นี่จนจบได้ ก็ทำให้สำเร็จ 

แต่ถ้าเป็นเราตอนนี้ไปบอกเราตอนนั้น ก็คงจะบอกว่าไม่ต้องเรียนมหาลัยก็ได้ ทุกวันนี้เวลาสอนเด็กแล้วเขาบอกว่าอยาก Gap Year เราตอบเขาว่าเอาเลย ทำเลย ดี 

ในวงการศิลปะที่ไม่ต้องใช้ทฤษฎีมาก เราว่าการไปลอง ไปล้ม ไปลุก สำคัญมากที่สุดเลย 

แล้วดีไซเนอร์ที่เชื่อในความอิสระมาก หาบาลานซ์ในการทำงานกับลูกค้าเจอได้ยังไง

เออว่ะ (หัวเราะ) แต่เราไม่ใช่คนสุดโต่งขนาดนั้น อาจจะโตมาในบ้านคนจีนที่ขายของตั้งแต่เด็กเลยรู้ว่าการทำงานต้องประนีประนอม อิสระได้ในกรอบที่ควรจะอยู่ และต้องไม่ทำให้คนอื่นลำบาก เราบอกเด็กเสมอว่าหน้าที่ของดีไซเนอร์ที่ดีคือทำยังไงก็ได้ให้งานออกมาสวย ถ้าทำงานแล้วลูกค้าไม่เอาเลย อารมณ์โกรธคงมีบ้าง แต่เราไม่มีปัญหาหรอก มันปกติมาก 

เราให้ความสำคัญกับมิตรภาพและความสัมพันธ์มากกว่า ทำงานด้วยกันให้สนุก ให้เขากลับมาทำงานกับเราอีกก็พอ

ดีไซเนอร์มีสิทธิ์ต่อรองกับลูกค้าได้ถึงขั้นไหน

เรามีสิทธิ์มาก แต่ก่อนจะต่อรองต้องคิดว่าถ้าเราเป็นลูกค้ามันเมกเซนส์ไหม ต้องเข้าใจว่าลูกค้าไม่ได้เรียนศิลปะ แค่วันนี้เขาอยากเปิดแบรนด์ เราก็ต้องพยายามอธิบาย ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ก็ปล่อยโปรเจกต์นี้ไป ไม่มีทางที่เราจะมองโลกในแง่ดีได้ตลอดเวลาหรอก มันก็มีงานที่เราต้องทำยังไงก็ได้ให้โปรเจกต์นี้จบไป 

เราบอกน้อง ๆ ในทีมเสมอว่า งานไหนไม่ชอบที่สุดให้ทำงานนั้นก่อน แล้วสลับไปทำงานให้เกียรติกับอาชีพนี้

ตอนเรายังเด็ก ยังมีคำว่าศิลปินไส้แห้ง แต่ ณ ตอนนี้ เราพิสูจน์แล้วว่าถ้าตั้งใจก็ทำได้จริง มันมีทางรอด

ถ้าตอนนี้มีคนมาพูดแบบนั้นต่อหน้าจะตอบเขาไปว่ายังไง

เขาอายุเท่าไหร่ (หัวเราะ) ถ้าเขาโตมากเราก็จะประนีประนอม เพราะเขาไม่รู้หรอก 

ถ้าสมมติเป็นเด็กรุ่นใหม่มาปรึกษาว่า แม่กลัวว่าหนูจะไม่มีงานทำ เราจะบอกเขาไปว่า ไม่ว่าคุณทำงานอะไรก็แล้วแต่ ในชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน เรียนศิลปะไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องทำงานศิลปะ เรียนบัญชีอาจจะไม่จบมาทำงานบัญชีก็ได้ ไม่มีใครรู้หรอกว่าคุณเรียนวิชาไหนถึงจะประสบความสำเร็จ ประเด็นคือคุณรู้หรือยังว่าคุณชอบสิ่งนี้หรือเปล่า มองสิ่งนี้แล้วคุณมีความสุขกับมันไหม ถ้ามีก็ทำเลย อย่าไปกังวลให้มันมาก

ถ้าเด็กคนหนึ่งฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ในยุคนี้ คิดว่ายากหรือง่ายกว่าแต่ก่อน

สำหรับเรา เรามองว่าง่าย อุตสาหกรรมนี้ยินดีต้อนรับเด็กรุ่นใหม่มาก ๆ เพราะเราทำงานครีเอทีฟ ฉะนั้น มันต้องเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มารันวงการนี้ พวกเขามีพลังดี นั่นเลยเป็นเหตุผลให้เราไปสอนหนังสือ เพราะการไปสอนหนังสือเด็กก็ช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น 

นักวาดภาพประกอบไทยมีฝีมือและโดดเด่นเรื่องความประณีตมาก ซึ่งสวนทางกับรายได้โดยสิ้นเชิง อะไรคืออุปสรรคใหญ่ที่สุด

ปัจจัย 4 ในประเทศเรายังมีไม่ครบเลย การจะให้คนมาชื่นชมศิลปะเหมือนเป็นสิทธิ์เฉพาะกลุ่ม ถ้าอยากให้อุตสาหกรรมนี้ดี ก็เข้ามาทำ แล้วอย่าทำเหมือนที่เคยโดนมาในอดีต 

ตอนเราเปิดบริษัท เราตั้งใจให้เงินเดือนดีไซเนอร์เยอะ ๆ เพราะเรารู้ว่าเขาเหนื่อยยังไง รู้ว่าเขาต้องใช้เงินทุนเยอะขนาดไหน เรามั่นใจและพูดตรงนี้ได้เลยว่า เด็กกราฟิกดีไซเนอร์ที่เคยทำงานกับเรา เขาได้ค่าตอบแทนที่ดีมาก และเราปฏิบัติต่อเขาอย่างดีไซเนอร์ ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนที่ทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้แค่นั้น

เราถามจากมุมมองของคนนอก อยากให้ช่วยแชร์ว่าจุดบอดของวงการดีไซเนอร์อื่น ๆ มีอะไรอีก

เราเองก็ยังเด็กมากในอุตสาหกรรมนี้ แต่เรามองว่าประเด็นแรกต้องแก้ที่ความเข้าใจก่อน 

คนจะเข้าใจว่าเรียนศิลปะไม่มีทุนอะไรเลย สบายจะตาย แค่มีคอมเครื่องเดียวก็ทำขึ้นมาได้แล้ว แต่ไม่ใช่ เราต้องเรียน ต้องลงทุน คอมก็แพง โปรแกรมก็แพง เสียหายหลายแสน สร้างงานมาแล้วต้องทิ้งก็มี อยากให้คนเข้าใจว่าต้องให้เกียรติผลงานของดีไซเนอร์ ต้องเชื่อดีไซเนอร์ 

อยากจะบอกคนนอกอุตสาหกรรมที่บังเอิญเข้ามาอ่านบทความนี้ว่า ก่อนที่คุณจะจ้างใคร คุณลองไปดูผลงานเก่า ๆ เขาก่อนว่านี่เป็นงานที่คุณชอบหรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่สไตล์คุณแต่ราคาถูก อย่าทำ แต่ถ้าไปเจองานที่เป็นสไตล์คุณก็ต้องเชื่อดีไซเนอร์ เพราะคุณเลือกมาแล้ว มันต้องซิงค์กันตั้งแต่แรก 

งานที่ทำร่วมกับลูกค้า มีตัวคุณอยู่ในนั้นกี่เปอร์เซ็นต์

50 – 50 แล้วกัน เราก็ทำทั้ง 50% นั้นให้เป็นตัวเองที่สุด ที่เหลือก็ค่อยไปประนีประนอมกัน Communication is a Key จริง ๆ ลูกค้าพูดจาน่ารัก งานก็สวยชิบเป๋ง คุณปฏิบัติต่อเขายังไงเขาก็ปฏิบัติต่อคุณกลับอย่างนั้นแหละ

โจทย์แบบไหนที่ชอบที่สุด

ชอบโจทย์ที่มีโจทย์ ไม่ชอบอิสระ (หัวเราะ) 

ตอนที่เราไปพูดที่กัวลาลัมเปอร์ เราพูดเลยว่า “I’m not the artist. I’m a designer” เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นศิลปะจริง ๆ ที่นั่งแล้วคิดออกว่ามีเรื่องอะไรอยากสื่อสาร ชีวิตเราโคตรจะธรรมดาเลย ไม่มีอะไรตื่นเต้น พูดตรง ๆ ว่าไม่ลำบาก ยากจะคิดอะไรขึ้นมาจากเรื่องราวของตัวเอง 

บางทีเราเห็นภาพคาแรกเตอร์ดีไซน์ โจทย์เราคือทำยังไงก็ได้ให้เขามีชีวิต สื่อสารได้ ไม่ใช่ภาพกราฟิก โดยไม่ต้องเจอเราก็ได้ เจอแค่ภาพก็จบเลย แต่เดี๋ยวนี้ก็ปรับแล้วนะ เริ่มมีเสียงจากแฟน ๆ บอกว่าเขาเสพงานเราได้แค่งานคอลแล็บ เขาอยากรู้จักเรามากขึ้น หลัง ๆ เลยแสดงความธรรมดาของชีวิตตัวเองบ้าง 

ผลงานที่ Viput A. ทำร่วมกับ Nike
ผลงานที่ Viput A. ทำงานร่วมกับ Central Embassy

คุณเป็นดีไซเนอร์มากี่ปีแล้ว

ถ้าเริ่มได้เงินจากการทำงานจริง ๆ คือตั้งแต่ ม.3 ออกแบบโลโก้ให้ครูที่โรงเรียน ออกแบบโลโก้ให้น้าให้ป้า รวม ๆ ก็ใกล้ 10 ปีแล้วนะ แต่เป็น 10 ปีที่ค่อนข้างตามสเตป ไม่ได้หวือหวา ไม่ได้อยากเป็นสตาร์ เรารับมือไม่ได้หรอก ชอบทำอะไรเป็นทีมมากกว่าไปคนเดียว 

ในแต่ละสเตปที่บอกว่าไม่หวือหวา จุดไหนของชีวิตที่หวือหวาที่สุด

ตอนนี้เหรอ (นิ่งคิด) คงเป็นการได้ไปทำงานต่างประเทศ ปีที่แล้วเราเดินทางค่อนข้างเยอะในฐานะศิลปินไทย ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน พอไปแล้วเรากลายเป็นใครก็ไม่รู้ นี่คือสิ่งที่หวือหวาสำหรับเรามาก เหมือนเราได้ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ไม่มีชื่อเสียง ตอนนี้ได้ทำอะไรที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าการวาดรูปแล้วคอลแล็บไปเรื่อย ๆ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าในอนาคตจะเป็นยังไง 

ซึ่งไม่ผิดใช่ไหมที่เราจะไม่รู้อะไรเลย

ไม่ผิดเลย ตอนเด็ก ๆ คุณรู้ไหมล่ะว่าโตมาจะทำอะไร ไม่รู้หรอก เราก็แค่ปล่อยไปตามทาง ไม่ถึงขั้นกดดันตัวเอง คำว่าทะเยอทะยานของเราอาจจะต่างจากคนอื่น เรารักทุกโอกาสที่ทุกคนมอบให้และทำให้ดีที่สุด สำหรับเรา นี่คือทะเยอทะยานแล้ว และอย่าลืมมองกลับไปข้างหลังว่าคนอื่น ๆ ไม่เดือดร้อนใช่ไหม 

แล้วถ้าดูแลคนรอบข้างได้แล้ว สำคัญมากที่เราจะต้องดูแลตัวเอง เราใช้ร่างกาย ใช้สมอง ใช้หัวใจ ก็ต้องให้รางวัลตัวเองบ้าง

เป็นทั้งครูพิเศษ เจ้าของบริษัทดีไซน์ นักวาดภาพประกอบ ชอบอะไรมากที่สุด

ชอบทุกอันเลย แต่ชอบการทำแบรนดิ้งมากที่สุด สนุกทุกครั้งที่ได้รับบรีฟ แล้วก็จะได้ไอเดียจากน้อง ๆ รุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเจ๋งมาก เก่งกว่ากูอีก ระบบบริษัทเราคือพยายามใช้ฟรีแลนซ์ 100% 

เพราะอะไร

เราว่าคนเราไม่ต้องเก่งหลายอย่าง เก่งอย่างหนึ่งให้สุด ๆ ไปเลย แล้วก็ทำหลาย ๆ ที่ จะได้เรียนรู้เยอะ ๆ ส่วนเราก็ต้องยืดหยุ่นในการเลือกดีไซเนอร์ด้วย เพราะเราก็ไม่เคยเป็นพนักงานประจำเหมือนกัน 

นักวาดภาพประกอบที่งาน 90% อยู่บนคอมพิวเตอร์ คิดยังไงกับการเข้ามาของ AI 

คำถามนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าโจทย์สอบเข้ามหาวิทยาลัยบางที่ของปีนี้เป็นข้อนี้เลย 

เรามองว่า AI คือเครื่องมือใหม่ที่เราจะต้องทดลอง เพราะเราบอก AI ไม่ได้ว่าหยุดเดี๋ยวนี้ กูไม่มีงานแล้ว แต่เราต้องยอมรับและใช้ให้เป็น หมายความว่าเราต้องเป็นคนใช้ AI ไม่ใช่ AI ใช้เราจนเรากลายเป็นใครก็ไม่รู้ 

เหมือนที่สมัยก่อนมีแป้นพิมพ์ มีคอมพิวเตอร์ ถ้าเราไม่พิมพ์มันก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่ใส่คีย์เวิร์ด AI ก็ไม่เกิด ฉะนั้น ลองทำดู ลองยอมรับมันเข้ามาในชีวิต การทำงานศิลปะหรืองานออกแบบคือเรากำลังทำอะไรที่ครีเอทีฟ เราเองก็ต้องเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ด้วย ไม่ใช่มองว่าสิ่งนี้แบนอย่างเดียว ไม่ดีอย่างเดียว ไม่ใช่มาตัดสินกันว่าคุณไม่ได้วาดเอง แล้วทำไมการเปลี่ยนจากกระดาษเป็นคอมถึงไม่มีปัญหา ถ้าเราเปิดใจกันมากขึ้น Generation Gap ในวงการศิลปะคงเขยิบเข้ามาใกล้ขึ้นได้

ขอพูดอีกเรื่องหนึ่งคือความเป็นออริจินัล พี่ ๆ เพื่อน ๆ ในวงการกลัวเรื่องการถูกบอกว่างานคล้ายคนนู้นคนนี้ เราไม่ค่อยเห็นด้วย 

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Steal Like an Artist หรือให้เราขโมยแบบศิลปิน หมายความว่ามันไม่มีอะไรออริจินัลหรอกคุณ แต่เราเคารพงานที่เราเอามาเป็นแบบไหม เรามีวัตถุประสงค์ที่ดี เราทำด้วยมือของเราเอง การเอาเรื่องนี้มาโจมตีกันไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย

Viput A. อยากไปถึงจุดไหนในวงการ

เราอยากไปถึงจุดที่ศิลปะเฟรนด์ลี นี่คือเป็นเป้าหมาย ไม่อยากให้มีคำว่า มึงติสต์เกิน กูไม่เข้าใจ กูจะไปงานนี้ได้เหรอวะ อยากไปถึงวันที่ทุกคนไม่มีอะไรทำแล้วเลือกไปเดินเล่นที่แกลเลอรีเหมือนต่างประเทศที่ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราหวังว่าวันหนึ่งเมืองไทยจะเป็นอย่างนั้น และเราก็เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ในยุคที่เรายังมีชีวิตอยู่

ความเป็นเด็กของ Viput A. ดีไซเนอร์หน้ายิ้ม การเป็นครู และบทเรียนจากงานคอลแล็บนับร้อย

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์