ศิลปินวิปลาส ผู้มีฝีแปรงตวัดฉวัดเฉวียน เขียนภาพสีสันจัดจ้าน แต่มีชีวิตอันรันทดอดสู เคยคุ้มคลั่งถึงขนาดตัดหู และยิงตัวเองตายในที่สุด

วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) 

ก่อนหน้าที่จะไปอัมสเตอร์ดัมเมื่อซัมเมอร์ที่ผ่านมา อุ้มก็รู้คร่าว ๆ ประมาณนี้เหมือนกันค่ะ

แต่การได้ไป Van Gogh Museum ทำให้อุ้มเข้าใจและรู้จักศิลปิน หรือถ้าจะพูดให้ถูก คือได้รู้จักมนุษย์คนนี้มากขึ้นอย่างมหาศาล และทำให้อุ้มมองภาพเขียนของเขาต่างไปจากที่เคยรู้สึกโดยสิ้นเชิง

ความรู้สำคัญอย่างแรกเลย คือชื่อนามสกุลของเขา Vincent van Gogh ออกเสียงอย่างถูกต้องตามภาษาดัตช์ว่า ฟินเซนต์ ฟาน ก็อฮก (ตัว V ออกเสียง /วฟ/ ส่วนตัว G ออกเสียง /กฮ/ เหมือนคนจะขากเสลดน่ะค่ะ จริง ๆ อยากหาคำอธิบายที่ดีกว่านี้แต่นึกไม่ออก) แต่ในบทความนี้จะเรียกว่า วินเซนต์ ก็แล้วกันนะคะ เพราะดูคุ้นตามากกว่า

รูป Portrait วินเซนต์ วาดโดย John Russell

ความรู้สำคัญอย่างที่ 2 คือ วินเซนต์นั้นเป็นคนมีความรู้ความคิดในขั้นสูง เป็นหนอนหนังสือ พูดได้ถึง 4 ภาษา รักและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่มีความเป็นอยู่แร้นแค้น ที่สำคัญ ภาพเขียนทั้งหมดวาดขึ้นในขณะที่เขามีสติดี ไม่ใช่ ถ้าไม่บ้าวาดไม่ได้อย่างนี้ แบบที่เคยได้ยินหลายคนพูด และเบื้องหลังภาพเขียนสีสันจัดจ้านที่บางครั้งถูกเอามาใช้ในบริบทแสนจะป๊อปนั้น มีความเป็นจริงอันโหดร้ายหดหู่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ความรู้สำคัญอย่างสุดท้ายและยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือที่ภาพเขียนของวินเซนต์กลายมาเป็นของสูงค่าราคาแพงและเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นต่อ ๆ มาอย่างที่เรารู้กันในทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะ ‘อยู่ดีๆ’ มีใครไปค้นพบ หรือ ‘ต้องรอให้ตายก่อนแล้วงานถึงจะขายได้’ ซึ่งเป็นความจริงอันน่าเศร้าอันเกิดขึ้นกับศิลปินหลาย ๆ คน

แต่เพราะผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ โย ฟาน ก็อฮก-บองเกอร์ (Jo van Gogh-Bonger) ค่ะ

Jo van Gogh-Bonger

ก่อนที่จะเล่าว่าโยเป็นใคร ขอเล่าย้อนไปถึงประวัติของวินเซนต์เองซักหน่อยนะคะ เผื่อใครยังไม่เคยรู้รายละเอียดมาก่อน

วินเซนต์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองอัมสเตอร์ดัม ก่อนหน้าที่เขาจะเกิด 1 ปีพอดีเป๊ะ แม่ของเขาได้คลอดทารกน้อยชื่อวินเซนต์ออกมา แต่ว่าทารกนั้นตายเสียตั้งแต่แรกเกิด 1 ปีต่อมาในวันเดียวกัน (ประหลาดเนอะ) ทารกอีกคนก็ถือกำเนิดขึ้น โดยได้ชื่อเดียวกันว่า วินเซนต์ วิลเลม (Vincent Willem) ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับศิลปินที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้

แม้จะมีลูกตามมาอีกถึง 5 คน แต่แม่ของวินเซนต์ซึ่งเป็นคนฉุนเฉียวขี้หงุดหงิด ไม่เคยหายโศกเศร้าจากการตายของลูกคนแรกเลย การถูกปฏิเสธและไม่ได้รับความรักความผูกพันจากแม่นี้เองที่เป็นปมสำคัญในใจของวินเซนต์ไปจนตลอดชั่วชีวิตของเขา

ในบรรดาน้องสาวน้องชายทั้งหมด มีน้องชายคนหนึ่งซึ่งวินเซนต์รักใคร่และติดต่อสื่อสารกันมากที่สุดจนกระทั่งวันที่เขาตาย น้องคนนั้นมีชื่อว่า เธโอ (Theo) ในรูปครอบครัวคือคนที่ 3 จากซ้ายมือ

วินเซนต์สมัยเป็นเด็ก

วินเซนต์เป็นเด็กหัวดี แม่สอนให้วาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีแววว่าจะกลายเป็นจิตรกรคนสำคัญของโลกแต่อย่างใด จุดหักเหสำคัญของชีวิตที่ทำให้เขาเข้ามาใกล้ชิดกับโลกของศิลปะ เกิดขึ้นเมื่อตอนวินเซนต์อายุได้ 15 ปี และเพิ่งเข้าเรียนมัธยมได้ไม่นาน แต่จู่ ๆ ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน กลายมาเป็นวัยรุ่นหลักลอยอยู่พักใหญ่

โชคยังเข้าข้าง เพราะลุงของเขา (ชื่อ Vincent เหมือนกันอี๊ก! ทำไมชอบชื่อนี้กันจริงแฮะ ยังดีที่วินเซนต์เรียกว่า ลุงเซนต์) เป็นหุ้นส่วนของบริษัทซื้อขายงานศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่สุดในยุโรป ชื่อ Goupil & Cie แล้วลุงเซนต์เนี่ยแกไม่มีลูก เลยหมายมั่นปั้นมือว่าจะให้หลานชายคนโตมาสืบทอดกิจการ เริ่มจากการส่งไปประจำสาขาหนึ่งที่ลุงก่อตั้งไว้ในเมืองเฮก (Hague) ที่นั่นเองทำให้วินเซนต์ได้เห็นงานดี ๆ ของศิลปินคนสำคัญ ๆ มากมาย และเริ่มเขียนจดหมายหาน้องชายเธโอ

รูปวาด Goupil & Cie และจดหมายฉบับแรกของวินเซนต์ถึงเธโอ

วินเซนต์เป็นนักเรียนรู้ แม้จะจบแค่ประถม แต่เขาเรียนภาษาอื่น ๆ ด้วยตัวเองจนแตกฉาน พูดอ่านเขียนได้คล่องทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และดัตช์ซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิด นอกเหนือจากเวลางาน เขายังเข้าออกพิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นว่าเล่น เพื่อพัฒนารสนิยมของตัวเอง ให้แยกแยะได้ว่างานไหนเป็นงานที่ดีหรือเลว

ทำงานได้ไม่กี่ปี วินเซนต์ก็ได้ย้ายไปประจำสำนักงานที่ลอนดอน ที่นั่นเองที่เขาได้พบรักครั้งแรกกับลูกสาวเจ้าของบ้านพักที่ไปเช่าอยู่ จนถึงกระทั่งขอเจ้าหล่อนแต่งงาน แต่เธอกลับปฏิเสธ ด้วยว่ามีรักกับชายอื่นอยู่แล้ว

วินเซนต์อกหักอย่างรุนแรง และแสดงออกด้วยการตามไปตื๊อและรังควาญสาวเจ้ากับแม่ของสาวเสียจนถูกไล่ออกจากบ้านพัก ความผิดหวังยังลามมาถึงหน้าที่การงาน ทำให้เขามีพฤติกรรมไม่พึงปรารถนา ตั้งแต่ขึ้นเสียงเถียงเจ้านาย ไปจนกระทั่งบอกลูกค้าบางคนว่าอย่าซื้อเลยงานศิลปะห่วย ๆ พรรค์นี้

ตึงเครียดกันไปใหญ่ เพราะจะไล่หมอนี่ออกก็ลำบาก ด้วยเป็นหลานเจ้าของบริษัท แต่สุดท้ายพ่อของวินเซนต์ก็เป็นคนแนะนำให้เขาลาออก

วินเซนต์เริ่มเคว้งคว้าง งานก็ไม่มี ความรักก็ถูกปฏิเสธ เขาจึงหันหน้าหาศาสนาและเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง ด้วยหวังจะเป็นนักเทศน์แบบเดียวกับพ่อของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เพราะวินเซนต์ปฏิเสธการไปสอบบรรจุเข้าสู่ระบบ แต่ก็ยังหาทางไปเป็นมิชชันนารีจนได้ และถูกส่งไปยังเมืองทุรกันดารติดชายแดนเบลเยียม-ฝรั่งเศส

ที่นั่นเองที่เขาได้พบกับความเป็นจริงของชีวิตอันแร้นแค้นที่ชาวเหมืองถ่านหินต้องประสบ และเริ่มต้นสเกตช์ภาพที่ตัวเองได้เห็น เขาเริ่มใช้ชีวิตอดอยากยากแค้นร่วมไปกับชาวบ้าน เอาอาหารและเสื้อผ้าให้คนยากไร้ ยกบ้านให้คนป่วย จนตัวเองไม่มีจะกินและต้องออกมาหนาวสั่นอยู่ในเพิงซอมซ่อ เท่านั้นยังไม่พอ วินเซนต์ยังลงไปในเหมืองกับคนงาน ไปเห็นสภาพอันสุดเลวร้ายที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องประสบ จนตัวเขาเองเปื้อนไปด้วยผงถ่านหิน ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านคนหนึ่ง

รูปสเกตช์ชีวิตคนงานเหมืองโดยวินเซนต์

แต่นั่นกลับทำให้สำนักงานศาสนาที่ส่งเขามาไม่พอใจ เพราะตัวแทนของพระเจ้าควรต้องสะอาดหมดจด น่าเลื่อมใส และมีชีวิตที่ชาวบ้านมองขึ้นมาหา ไม่ใช่ประสานสายตาหรืออยู่ต่ำกว่าอย่างที่วินเซนต์ทำอยู่

เขาไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นมิชชันนารีที่นั่นอีก พูดง่าย ๆ คือโดนโบสถ์ไล่ออก

แม่ก็ไม่รัก งานการหรือผู้หญิงก็ไม่เอาด้วย แล้วนี่ยังมาถูกปฏิเสธจากศาสนจักรอีก! วินเซนต์ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่หอบภาพวาดของตัวเองทั้งหมดกลับไปบรัสเซิล ต้องขอบคุณพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้เห็นงานของวินเซนต์ แล้วแนะนำเขาว่าน่าจะเอาดีทางศิลปะได้

ในวัย 27 ปี วินเซนต์ ฟาน ก็อฮก จึงตัดสินใจจะเป็นศิลปิน

วินเซนต์เขียนจดหมายถึงเธโอน้องชายอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เขาย้ายไปอยู่เมืองเฮก และในจดหมายเหล่านั้นเขามักแนบภาพสเกตช์เล็ก ๆ มาด้วย เมื่อวินเซนต์ประกาศว่าเขาจะเอาดีทางวาดรูป เธโอจึงอาจเป็นคนเดียวในครอบครัว (หรือในโลก) ที่เห็นดีเห็นงาม โชคดีที่เธโอกำลังก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ Goupil & Cie และมีฐานะการเงินมั่นคง นอกจากจะให้กำลังใจแล้ว เขาจึงให้กำลังเงินสนับสนุนวินเซนต์ได้ด้วย

วินเซนต์ไม่เคยเรียนวาดรูป แล้วดูจากประวัติที่ผ่านมา จะให้ไปเป็นนักเรียนที่ไหนอีกคงไม่รอด เขาตัดสินใจศึกษาเองจากหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยเห็นสมัยทำงานที่เมืองเฮก ซึ่งใช้วิธีให้วาดตามรูปในหนังสือไปเรื่อย ๆ จนมือเริ่มคล่องและเริ่มวาดรูปของตัวเอง (การวาดรูปตามแบบยังเป็นวิธีที่วินเซนต์ใช้จนวาระท้าย ๆ ของชีวิต เห็นได้จากจดหมายที่เขาเขียนถึงเธโอจากสถานบำบัดว่ายังอยากก๊อบปี้รูปของศิลปินอีกหลายคน)

ภาพเขียนชิ้นเอกชิ้นแรกที่วินเซนต์ภูมิใจและส่งไปให้เธโอขายที่ปารีส คือภาพ The Potato Eaters ภาพนี้ค่ะ

The Potato Eaters

อุ้มเห็นภาพจริงที่ Van Gogh Museum เป็นภาพที่ทรงพลังจนเราแทบจะรู้สึกถึงไอความร้อนของมันฝรั่งทะลุออกมาจากภาพเลยล่ะค่ะ ความเหน็ดเหนื่อยกับชีวิตบนใบหน้าของคนในภาพนั้นแฝงไปด้วยความทรหดและแทบจะน่าเคารพ ทั้งที่บนโต๊ะมีอาหารจานเดียวคือมันฝรั่งต้มกับกาแฟที่รินใส่แก้ว เห็นได้ชัดว่าวินเซนต์ได้รับอิทธิพลจากศิลปินดัตช์คนสำคัญอย่าง Rembrandt ทั้งสีและแสงเงา

แน่นอนว่าภาพนี้ขายไม่ได้ เพราะมืดหม่นเกินไปสำหรับความนิยมในสมัยนั้น (และต่างกันโดยสิ้นเชิงกับภาพของวินเซนต์ที่โลกรู้จักในสมัยนี้) เธโอแนะนำว่าให้วาดรูปที่สีสันสดใสกว่านี้ เขาพูดถึง โมเนต์ โลเทร็ค หรือ ปอล โกแก็ง แต่วินเซนต์นึกภาพไม่ออก เพราะงานอิมเพรสชันนิสม์ยังไม่เป็นที่รู้จักในเนเธอร์แลนด์

ความพลิกผันอีกครั้งในชีวิตของวินเซนต์เกิดขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจไปหาเธโอที่ปารีส แล้วได้เห็นงานของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ด้วยตาตัวเอง สีสันที่แจ่มจ้าในภาพเขียนเหล่านั้นเปิดโลกใบใหม่ให้วินเซนต์ เขาเริ่มใช้สีสดใส และหมกมุ่นกับทฤษฎีสีคู่ตรงข้ามที่ตัวเองเพิ่งค้นพบ วินเซนต์บอกกับเธโอในจดหมายฉบับหนึ่งว่า

The painter of the future is a colorist such as there hasn’t been before. – จิตรกรในอนาคตจะเป็นผู้ที่ช่ำชองในการใช้สีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เขาไม่รู้เลยว่าตัวเองนั่นแลคือหนึ่งในจิตรกรแห่งอนาคตเหล่านั้น

วินเซนต์ใช้เวลา 2 ปีที่ปารีส ฝึกปรือฝีมือและทักษะใหม่ในการใช้สี นอกเหนือจากรูปทิวทัศน์ เขายังวาดภาพเหมือนไว้เป็นจำนวนมาก นายแบบคนสำคัญของเขาคือใครเหรอคะ

คือตัวเอง!

เหตุผลสำคัญที่สุดที่วินเซนต์วาดภาพเหมือนตัวเอง (Self-portrait) ไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เพราะอีโก้หรือเพราะหลงตัวเองแต่อย่างใด แต่เพราะค่าจ้างนางแบบมันแพง! เพราะฉะนั้น ศิลปินไส้แห้งทั้งหลายในสมัยนั้นจึงใช้วิธีถ้าไม่วาดภาพตัวเองก็วาดภาพศิลปินอีกคนแล้วแลกรูปกัน ถ้าเราลองดูภาพเหมือนของวินเซนต์ จะเห็นว่าไม่เหมือนกัน แต่ละภาพมีการทดลองเทคนิคการวาด การแสดงออกทางสีหน้า และเสื้อผ้าที่ต่างกันไป

วินเซนต์พยายามเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงศิลปิน แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนรู้มาก อ่านมาก และชอบทุ่มเถียง ทำให้ไม่ว่าจะไปโต๊ะไหนก็ทำเขาวงแตกไปเสียทุกที จนสุดท้ายก็เข้ากับใครไม่ได้ และรู้สึกเปลี่ยวเหงาลงเรื่อย ๆ มีเพียงคนเดียวที่ชื่นชมผลงานของวินเซนต์ และวินเซนต์เองก็นับถือในความคิดและฝีมือของเขา ศิลปินคนนั้นคือปอล โกแก็ง

ในระหว่างที่อยู่ปารีส วินเซนต์ได้เห็นงานภาพพิมพ์ไม้ (Woodblock Prints) ของญี่ปุ่น แล้วเกิดความประทับใจจนถึงขั้นหลงรัก และมีความฝันอยากไปเยือนญี่ปุ่นให้ได้สักครั้ง แต่ติดขัดเรื่องเงิน จึงไม่มีโอกาสได้ไป แต่งานของเขาช่วงถัดมาก็มีกลิ่นอายและเทคนิควิธีแบบญี่ปุ่นเข้ามาเจือปนอยู่อย่างมีนัยสำคัญ

ตูลูส-โลเทร็ค เป็นคนบอกวินเซนต์ว่ามีเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศสที่มีแสงจัดจ้าไม่ต่างไปจากญี่ปุ่น เมืองนั้นชื่อว่า อาร์ล (Arles)

View From the Wheat Fields

วินเซนต์แพ็กกระเป๋า บอกลาปารีส มุ่งหน้าสู่ชีวิตชนบทและธรรมชาติที่เขารักมากกว่า เขาตะลึงพรึงเพริดกับแสงอาทิตย์ในเมืองอาร์ลที่ทำให้ทุกอย่างดูเจิดจ้าสดใส ที่นี่เองที่งานของวินเซนต์แบบที่โลกรู้จักเริ่มปรากฏบนผืนผ้าใบ และเงินที่เธโอส่งมาให้ วินเซนต์เอาไปซื้อสีและผ้าใบคุณภาพดีที่สุด โดยแทบไม่เหลือไว้เป็นค่าอาหาร มีหลายวันติดต่อกันที่วินเซนต์ประทังชีวิตด้วยเพียงขนมปัง กาแฟ และ Absinth ในยามเย็น

Absinth เป็นเหล้าที่ได้รับความนิยมในหมู่ศิลปินที่ปารีสเพราะราคาถูก แต่ก็มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงมาก ถ้าบริโภคเยอะและยาวนานอาจส่งผลให้ผู้ดื่มเกิดอาการประสาทหลอน วินเซนต์นั้นไม่ค่อยดูแลสุขภาพและชอบทรมานตัวเองอยู่เป็นทุนเดิม ประกอบกับดื่มเหล้าแรงทุกวัน ก็เริ่มมีพฤติกรรมประหลาด อย่างเช่น ดื่มเทอร์เพนไทน์ (Turpentine หรือน้ำมันสน) ที่เอาไว้ผสมสี กับวาดรูปไปเอาแปรงเข้าปากไป ทั้งเทอร์เพนไทน์และสีน้ำมันมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายมาก โดยเฉพาะต่อระบบประสาท นั่นยิ่งทำให้เขามีอาการแปลก ๆ จนคนรอบข้างหรือตัวเขาเองสังเกตได้

The Yellow Brick House กับ The Bedroom

วินเซนต์มีความฝันอยากให้เพื่อนศิลปินคนอื่นตามมาอยู่ด้วยกัน เป็นสังคมศิลปินเล็ก ๆ ในบ้านสีเหลืองหลังน้อยที่เขาเช่าอยู่ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากมาทะเลาะกับเขาต่อ แต่เธโอเป็นห่วงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพี่ชายอย่างมาก จึงไปตกลงจ้างโกแก็งให้มาอยู่กับวินเซนต์

Sunflowers ทั้ง 3 แบบ

ด้วยความตื่นเต้น วินเซนต์รีบวาดรูปดอกทานตะวันในแจกันไว้หลายรูปเพื่อประดับห้อง เตรียมรับเพื่อนคนพิเศษที่กำลังจะมาอยู่ด้วยกัน เพราะสำหรับวินเซนต์แล้ว โกแก็งคือ Man About Town ที่ฉลาดรอบรู้ ทันสมัย ในขณะที่ตัวเขาเองเป็นเพียงยาจกบ้าน ๆ ธรรมดาคนหนึ่ง ดังปรากฏในรูปเก้าอี้ 2 รูปที่เขาวาดขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนโกแก็งกับตัวเอง

มิตรภาพของ 2 ศิลปินอารมณ์รุนแรงในช่วงแรกผ่านไปด้วยดี แม้แต่โกแก็งเองก็ยังมีแก่ใจวาดรูปวินเซนต์เพนต์ดอกทานตะวัน แต่ผ่านไปไม่นาน ความขัดแย้งก็ปรากฏ วินเซนต์กับโกแก็งทะเลาะกันเป็นกิจวัตร ครั้งสุดท้ายร้ายแรงจนวินเซนต์ต้องสูญเสียหูข้างซ้ายไป

เรื่องที่เราได้ยินและเชื่อมาตลอดจากการให้ปากคำของโกแก็ง (เพราะไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์) คือวินเซนต์ทะเลาะกับโกแก็งแล้วคลุ้มคลั่ง เดินตามเอาใบมีดโกนมาข่มขู่ จากนั้นกลับบ้านไปตัดหูตัวเอง ห่อใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ เดินเอามามอบให้โสเภณีที่ซ่องเดียวกันนั้นอีกที

แต่ไม่นานนี้มีนักวิชาการเยอรมัน 2 คน ชื่อ Hans Kaufmann กับ Rita Wildegans สืบค้นเอกสารต่าง ๆ มากมาย และเขียนหนังสือเล่มหนึ่งออกมา ชื่อว่า Van Gogh’s Ear; The Pact of Silence เพื่ออธิบายว่าโกแก็งต่างหากที่เป็นผู้ใช้ดาบฟันหูของวินเซนต์จนขาดออกมาทั้งหู แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นในขณะที่วินเซนต์นอนปางตายอยู่ที่โรงพยาบาล จากนั้นก็หนีออกจากอาร์ลไปในวันรุ่งขึ้น ทฤษฎีนี้สร้างความตกใจและแรงต่อต้านในหมู่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนยังเชื่อว่าเป็นวินเซนต์สติวิปลาสต่างหากที่ทำร้ายตัวเอง

จะเชื่อทฤษฎีไหน ลองฟังจุดที่น่าสงสัยเหล่านี้ดูก่อนก็ได้ค่ะ

– โกแก็งบอกตำรวจว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่วินเซนต์ตัดหู แต่ถามว่าหูขาดยังไง ก็ตอบได้ว่าหูนั้นถูกตัดขาดชิดกับกะโหลก ประหนึ่งมีตาทิพย์

– โกแก็งบอกว่าเขากับวินเซนต์ทะเลาะกันที่หน้าซ่องแห่งหนึ่ง แล้ววินเซนต์กลับไปตัดหูที่บ้าน เดินเอาหูกลับมาให้โสเภณี แล้วเดินกลับไปนอนหมดสติที่บ้านอีกที บาดแผลใหญ่ขนาดนั้น ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเดินกลับไปกลับมา น่าจะโดนตัดตอนทะเลาะกันมากกว่า

– โกแก็งเป็นนักฟันดาบ (Fencing) และมีอุปกรณ์ฟันดาบติดตัวมาที่อาร์ลด้วย

– หลังจากเกิดเหตุ โกแก็งซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าไม่มีเงินสักแดง ไปเช็กอินนอนค้างที่โรงแรมราคาแพงแห่งหนึ่งในเมือง อ้างว่าถ้ากลับไปบ้านกลัวจะถูกวินเซนต์ทำร้าย

– เช้าวันรุ่งขึ้น ตำรวจพบวินเซนต์นอนจมกองเลือดอยู่บนเตียง จึงออกมาประกาศกับคนที่มามุงหน้าบ้านเหลืองว่าวินเซนต์ตายแล้ว โกแก็งผู้ซึ่งมาสังเกตการณ์กับเขาด้วยไม่ได้มีอาการตกใจหรือซักถามตำรวจว่าเพื่อนเป็นอะไรตาย แต่มีสีหน้าซีดเผือดอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งมารู้ทีหลังว่าวินเซนต์ยังรอดชีวิต ถึงได้เริ่มสร้างเรื่องให้การกับตำรวจ และหนีออกจากอาร์ลโดยไม่ทันได้เก็บข้าวของจากบ้านแม้สักชิ้น ได้แต่สั่งไว้ว่า ถ้าวินเซนต์ถามหา ให้บอกว่าเขากลับไปปารีสแล้ว

– เธโอรับทราบข่าว รีบนั่งรถไฟมาจากปารีส พบวินเซนต์ตกอยู่ในอาการโคม่าเพราะเสียเลือดมากและเริ่มชักอย่างรุนแรง จนทุกคนคิดว่าไม่น่าจะรอด แต่สุดท้ายก็รอดในหลายวันถัดมา พอมีสติ วินเซนต์ถามหาโกแก็ง แต่ได้เพียงข้อมูลว่าเพื่อนไม่อยู่แล้ว ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่ากับตำรวจ วินเซนต์เองไม่เคยยอมรับว่าตนเองเป็นคนตัดหู ได้แต่เพียงพูดว่าจำเหตุการณ์ไม่ได้

ทั้งหมดนี้บวกกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับวินเซนต์ถึงความที่เป็นคนยอมทนทุกข์ทรมานแทนคนอื่น ก็มีเหตุให้น่าเชื่อได้ว่าเขายอมรับเรื่องโกหกนั้นเพื่อปกป้องไม่ให้โกแก็งต้องถูกดำเนินคดี

มีอีกเรื่องหนึ่งค่ะที่หลายคนมักจะถามและอุ้มเองก็สงสัยมาตลอดว่าวินเซนต์ตัด (หรือถูกตัด) แค่ติ่งหูอย่างที่หลาย ๆ แหล่งบอกไว้หรือตัดทั้งใบหูกันแน่ เรื่องนี้มีคนพบหลักฐานที่สยบทุกข้อสงสัย เพราะเป็นบันทึกของ Dr.Rey Felix ที่ทำการรักษาในวันนั้น

ดูจากรูปและบันทึกของหมอ จะเห็นเลยค่ะว่าหูถูกตัดชิดกับกะโหลกศีรษะอย่างที่โกแก็ง (ซึ่ง ‘ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์’) เป็นคนบอก และเหตุนี้เองที่ทำให้เสียเลือดมาก เพราะมีเส้นเลือดแดงอยู่ในบริเวณนั้น

ชะรอยความซวยซ้ำซากในชีวิตของวินเซนต์ยังไม่หมด หลังจากที่เขาออกมาจากโรงพยาบาล ผู้คนในเมืองอาร์ลก็รวมตัวกันลงชื่อมีมติให้ขับไล่เขาออกจากเมือง โดยให้เหตุผลว่าเขาเป็นบุคคลอันตราย ไม่พึงประสงค์

วินเซนต์ผู้ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากผู้คนและสังคมรอบตัว คงสิ้นหวังจากความพยายามเป็นศิลปินและความฝันในการสร้างเมืองศิลปินแห่งฝรั่งเศสตอนใต้อย่างที่วาดไว้ จึงขอให้เธโอติดต่อเอาเขาเข้ารักษาในโรงพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่ Saint-Rémy-de-Provence

1 ปีที่สถานบำบัดแห่งนั้นคือช่วงเวลายากลำบากที่สุดในชีวิตของวินเซนต์ เพราะต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางจิตใจ มี Manic Episodes ถึง 4 ครั้ง รวมทั้งสุขภาพกายก็ทรุดโทรมย่ำแย่ มีแค่การวาดรูปเท่านั้นที่ยังทำให้เขามีชีวิตต่อไปได้

และที่นี่เองที่วินเซนต์สร้างงานชิ้นสำคัญ ๆ ในชีวิต อย่าง Starry Night, Irises, หรือ Wheat Fields with Reaper at Sunrise

ภาพจำของผลงานเหล่านี้ในความคิดของคนทั่วไปคือสีสันจัดจ้าน ดูแล้วตื่นตะลึง เบิกบาน เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แต่รู้ไหมคะว่าภาพอย่าง Wheat Fields with Reaper at Sunrise หรือ Starry Night นั้นวาดผ่านหน้าต่างที่มีลูกกรงขัง จากห้องนอนที่ไม่มีสีสันหรือความสวยงามใด ๆ เลย

ห้องนอนของวินเซนต์ที่ Saint-Rémy

และขอย้ำอีกครั้งว่าความเข้าใจว่าภาพของวินเซนต์เป็นอย่างที่เห็น เพราะเขา ‘วิกลจริต’ นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะวินเซนต์ทำงานได้ก็ตอนที่สภาพจิตใจของเขาดีพอ และเส้นสายบิดเบี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่เพราะประสาทหลอน แต่เกิดจากความตั้งใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพียงแต่ปราศจากคนเข้าใจ ทำให้เขากลายเป็น ‘อะไรเอ่ยไม่เข้าพวก’ อย่างแท้จริง

ปลายอุโมงค์ดูจะมีแสงสว่างขึ้นบ้าง ปลายปีนั้นวินเซนต์ได้แสดงงานที่บรัสเซิลร่วมกับศิลปินอย่างเรอนัวร์ ตูลูส-โลเทร็ค และ เซซาน และในต้นปีต่อมา (ปี 1890) เธโอก็ขายภาพ The Red Vineyard ของวินเซนต์ได้เป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ในราคา 400 ฟรังก์

The Red Vineyard

ฟังดูเหมือนจะดี เริ่มมีคนยอมรับใช่ไหมคะ เพราะวินเซนต์ใช้เวลา 10 ปี วาดรูปมาทั้งหมด 700 กว่ารูป แต่ไม่เคยขายได้เลย หรือนี่จะเป็นขาขึ้นของชีวิตของเขา

เปล่าเลยค่ะ เพราะความหวังว่าสถานบำบัดจะช่วยเยียวยาอาการทางจิตให้เขาได้ กลายเป็นฝันสลาย ในจดหมายที่วินเซนต์เขียนถึงเธโอ เขาบอกว่าตัวเองรู้สึกแปลกแยก เพราะคนที่นั่นไม่เข้าใจการวาดภาพของเขา (คือสรุปเข้ากับใครไม่ได้เลย) วินเซนต์ตัดสินใจย้ายกลับไปปารีสตามคำชวนของเธโอ

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง คือเธโอพบรักและแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง ชื่อว่า โยฮันนา บองเกอร์ (Johanna Bonger) และมีลูกชายด้วยกัน 1 คน ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่า … (แต่นแตนแต๊น) … วินเซนต์ วิลเลม ฟาน ก็อฮก!

โยกับเบบี้วินเซนต์

วินเซนต์วาดรูปหนึ่งนำไปมอบให้เป็นของขวัญกับวินเซนต์น้อย มันเต็มไปด้วยความสวยงาม การเกิดใหม่ และความหวังในการมีชีวิต ภาพนั้นคือภาพ Almond Blossoms ดอกอัลมอนด์ที่เพิ่งผลิบาน ซึ่งมีสไตล์คล้ายภาพญี่ปุ่นอยู่มาก

Almond Blossoms

แต่ชีวิตร่วมกันของพี่ชายน้องชายที่เข้าใจกันอย่างลึกซึ้งกว่าใครในโลกกลับไม่ราบรื่นอย่างที่ทั้งสองปรารถนา เพราะวินเซนต์ไม่ใช่คนสะอาดและมีระเบียบนัก เธโอถึงจะรักพี่ชายอย่างไรก็สุดแสนจะทน ความวุ่นวายของปารีสทำให้วินเซนต์ดูอาการจะกำเริบขึ้นมาอีก สุดท้ายเธโอจึงต้องติดต่อ ด็อกเตอร์แกเชต์ ให้รับพี่ชายของเขาไปรักษาที่เมืองทางเหนือของปารีส ชื่อ Auvers-sur-Oise

Dr.Gachet

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เธโอเริ่มบ่นกับวินเซนต์ว่าเขาต้องประหยัดเรื่องการใช้จ่าย เพราะตอนนี้มีทั้งเมียและลูกให้ดูแล นั่นคงทำให้จิตใจของวินเซนต์หวั่นไหวถึงขนาดหนัก เพราะเธโอคือคนเดียวในโลกที่เข้าใจเขา และเป็นที่พึ่งทั้งทางใจและทางการเงิน หากปราศจากการสนับสนุนของเธโอ อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร แต่เขาเองก็ไม่อยากกลายเป็นภาระให้กับครอบครัวเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่ของเธโอด้วย

เธโอหารู้ไม่ว่าพี่ชายกำลังประสบกับความอ่อนแอทางจิตใจอย่างหนัก เดือนกรกฎาคม ปี 1890 เขายังคงส่งเงินเดือน 50 ฟรังก์ให้วินเซนต์ตามปกติ แต่เงินนั้นไม่ได้กลายไปเป็นอาหาร สีวาดรูป หรือผืนผ้าใบอย่างที่เคย มันกลายไปเป็นปืนสั้นที่ต่อมาไม่นาน วินเซนต์ใช้ยิงหน้าอกตัวเองระหว่างออกไปเดินในสวน

กระสุนทะลุเข้าหน้าอก แต่ไม่ทำให้เขาเสียชีวิต วินเซนต์เดินสะโหลสะเหลกลับมาที่ห้องนอนของตัวเอง และนอนจมกองเลือดอยู่บนเตียงโดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งเจ้าของบ้านเปิดเข้าไปพบเขาในตอนเย็น และรีบเรียกหมอมาดูอาการ แต่หมอผ่าเอากระสุนออกจากร่างของเขาไม่ได้ เพราะมันฝังอยู่ใต้หัวใจ

เธโอได้รับโทรเลขแล้วรีบนั่งรถไฟมาจากปารีสในวันรุ่งขึ้น เขาพบวินเซนต์นั่งสูบไปป์อยู่บนเตียง เธโอยังคิดว่าพี่ชายไม่เป็นไรแล้วด้วยซ้ำ สองพี่น้องนอนลงเคียงข้างกัน พูดคุยถึงวันวาน ถึงชีวิตที่เนเธอร์แลนด์ บ้านเกิดที่วินเซนต์ไม่เคยได้กลับไปอีก พูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในวัยเด็ก ประหนึ่งทั้งสองเป็นเด็กชายในวัยเยาว์ ทั้งคู่คุยกันยาวนานจนค่อนคืน แล้ววินเซนต์ก็หันมาบอกกับเธโอที่ประคองเขาไว้ว่า

This is just as it was at home… take me home. นี่มันเหมือนกับตอนที่เราอยู่บ้านด้วยกัน… พาพี่กลับบ้าน

ในเวลาตี 1 ของวันที่ 29 กรกฎาคม ปี 1890 ด้วยวัย 37 ปี วินเซนต์ ฟาน ก็อฮก สิ้นลมในอ้อมกอดของเธโอ น้องชายและสหายสุดที่รักของตน

Wheatfield with Crows

การจากไปของวินเซนต์มีผลกระทบทางใจอย่างรุนแรงต่อเธโอ ผู้ซึ่งป่วยเป็นโรคซิฟิลิสอยู่แล้วด้วย เพียง 6 เดือนหลังจากนั้น เธโอก็จากโลกนี้ สิ้นใจตามพี่ชายของตนไปอย่างไม่มีวันกลับ ร่างของทั้งสองถูกฝังไว้คู่กันที่เมืองโอแวร์

โยฮันนา หรือ โย กลายเป็นม่าย ทั้งที่แต่งงานกับเธโอได้ไม่ถึง 2 ปี สิ่งที่เขาเหลือทิ้งไว้ให้คือลูกชาย กับภาพเขียนของวินเซนต์นับร้อยภาพ และจดหมายที่ทั้งคู่เขียนถึงกันหลายร้อยฉบับ

แม้จะประสบกับความโศกเศร้าอย่างสุดแสน แต่โยผู้เป็นหญิงมีการศึกษา รวบรวมกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงวินเซนต์ขึ้นมาให้เป็นคนที่มีคุณภาพ เธอพาลูกย้ายจากปารีสไปอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ชื่อ Bussum และเปิดบ้านเช่าเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ

โยรู้ว่าเธโอพยายามโปรโมตผลงานของวินเซนต์มาตลอดหลายปี เธอจึงตั้งใจสานต่อความฝันนี้เพื่อสามีผู้ล่วงลับ งานหลักที่โยต้องทำเป็นอย่างแรกคือรวบรวมและจัดลำดับผลงานที่กระจายตัวอยู่ทั่วยุโรป บ้างถูกให้เพื่อจ่ายหนี้ บ้างยกให้เป็นของขวัญ แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกเอาไปทิ้งขว้าง เพราะคนเหล่านั้นเห็นว่างานของวินเซนต์น่าเกลียดเหลือทน แม้แต่แม่ของวินเซนต์เองยังเอางานของเขาที่ยังไม่ได้เข้ากรอบไปทิ้งเสียเป็นลัง ๆ

โชคดีที่เมือง Bussum นั้นเป็นแหล่งรวมศิลปินและนักเขียน โยกลายเป็นเพื่อนกับคนเหล่านั้น และพบหนทางไปสู่แวดวงศิลปะ เธอจัดนิทรรศการและขายงานของวินเซนต์อย่างมีกลยุทธ์ ทำให้งานของเขามีคนเห็นมากขึ้นไปทั่วโลก

ใบปิดนิทรรศการ ปี 1905

โยจัดนิทรรศการแสดงงานของวินเซนต์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาขึ้นเมื่อปี 1905 (15 ปีหลังจากเธโอเสียชีวิต) ที่ Stedelijk Museum ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ในงานนั้นมีภาพเขียนของวินเซนต์จัดแสดงถึง 480 ภาพ และทำให้งานของเขามีราคาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โยขายงานของวินเซนต์ไปได้ถึง 200 กว่าชิ้น เรียกว่าโยนี่เองคือคนที่ทำให้วินเซนต์กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับโลก

โยยังรู้ดีว่าการจะเข้าใจงานของวินเซนต์ได้ ต้องเข้าใจความคิดของเขาในฐานะมนุษย์ที่ลึกซึ้งคนหนึ่งด้วย เธอรวบรวมจดหมายของวินเซนต์กับเธโอ แล้วพิมพ์เป็นหนังสือออกมาในปี 1914 หนังสือเล่มนั้นทำให้โลกได้รู้จักวินเซนต์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ได้รับรู้ถึงความฝัน ความปรารถนา การต่อสู้ และมุมมองต่องานศิลปะที่เขามี

โยยังแปลจดหมายเหล่านี้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ แต่แปลไปได้เพียง 2 ใน 3 เธอก็เสียชีวิต จดหมายทั้งหมด ตั้งแต่ต้นฉบับ รูปจดหมายจริง คำแปลภาษาอังกฤษ และคำอธิบายต่าง ๆ หาอ่านได้ที่นี่ค่ะ 

วินเซนต์น้อยเติบโตขึ้นมาเป็นวิศวกร และรับรู้ถึงเรื่องราวของวินเซนต์ ศิลปินผู้อาภัพซึ่งเป็นลุงของตน เขาตัดสินใจสืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อแม่ และบริจาคงานที่อยู่ในครอบครองของเขาทั้งหมด 200 กว่าชิ้นให้กับมูลนิธิ Vincent van Gogh ที่ตนเองตั้งขึ้น รวมทั้งเจรจากับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้สร้าง Van Gogh Museum ขึ้นที่อัมสเตอร์ดัม เพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเห็นผลงานของ วินเซนต์ ฟาน ก็อฮก อย่างทั่วถึงกัน

อุ้มเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเห็นงานของวินเซนต์ที่รวบรวม เรียงร้อยเข้าด้วยกันอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้เห็นงานที่ไม่ได้โด่งดัง แต่ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการความเป็นศิลปินของวินเซนต์ รวมทั้งงานชิ้นสำคัญ ๆ อย่าง Sunflowers ที่เขาตั้งใจใส่เนื้อสี ราวกับดอกทานตะวันนั้นมีน้ำหนักจริง ๆ

ความรู้สึกสำคัญหลังออกมาจากพิพิธภัณฑ์ Van Gogh สำหรับอุ้ม คือความเศร้าจับขั้วหัวใจค่ะ นี่คือเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่ต่อสู้มาทั้งชีวิต ต่อสู้กับตัวเอง กับสังคม กับคนรอบข้าง แล้ววันหนึ่งก็ต้องพ่ายแพ้และจากโลกนี้ไป แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยยอมจำนน คือการพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเห็นออกมาเป็นภาพเขียน สำหรับอุ้ม วินเซนต์เป็นศิลปินที่แท้ และจะเป็นศิลปินของโลกนี้ตลอดไป

อย่างที่เขาเคยบอกกับเธโอไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งว่า… 

I can do nothing about it if my paintings don’t sell. The day will come, though, when people will see that they’re worth more than the cost of the paint and my subsistence, very meagre in fact, that we put into them.

Vincent to Theo, Arles, 25 October 1888

พี่คงทำอะไรไม่ได้ หากผลงานของพี่ไม่มีคนซื้อ แต่สักวันหนึ่ง คนจะเห็นว่ามันมีค่ามากกว่าเพียงแค่สีและการมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นของพี่ที่ถูกใส่ไว้ในภาพทั้งหมดนั้น

วินเซนต์ ถึง เธโอ, อาร์ล, 25 ตุลาคม ปี 1888

ขอคารวะแด่ศิลปะและชีวิตอันแสนสั้นและรันทดของเขา… วินเซนต์ ฟาน ก็อฮก

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์