หากใครได้ติดตาม Bangkok Design Week ปีก่อน ๆ และได้เห็นแผนที่ของงานปีนี้ ก็คงได้เห็นแล้วว่ามีย่านใหม่ ๆ ที่ไม่เคยจัดงานอะไรกับเขาเลยผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ชนิดว่าแม้ว่างทุกวันก็อาจจะไปเยือนไม่ครบ

สำหรับเรา ‘บำรุงเมือง’ เป็นหนึ่งในย่านใหม่ที่น่าเลือกไป

หลังจากที่ Urban Ally (มิตรเมือง) ศูนย์ออกแบบและวิจัยเรื่องเมือง จัดงานดีไซน์วีกครั้งแรกที่ย่านพระนครไปเมื่อปีที่แล้ว พวกเขากลับมาใหม่ในปีนี้กับย่านบำรุงเมือง ใช้ชื่อธีมฮิป ๆ ว่า ‘มิตรบำรุงเมือง’ ด้วยเป้าหมายว่าทำงานกับพื้นที่ที่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ (Underused) แต่มีศักยภาพสูง

“บำรุงเมืองเป็น 1 ใน 3 ถนนสายแรก ซึ่งชื่อก็พูดถึงการเป็นเมืองที่ดี” แม่งานพูดกับเรา

จุดหลักในบำรุงเมืองมี 3 จุด คือหอประติมากรรมต้นแบบ ม.ศิลปากร ลานคนเมือง และประปาแม้นศรี อย่างหลังสุดคือแลนด์มาร์กที่เราสนใจเป็นพิเศษ

ประปาแม้นศรี : ประปาแรกในพระนคร ที่พักคนไร้บ้าน สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใน BKKDW2023

ด้วยความเป็นหอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทย

ด้วยความเป็นพื้นที่ที่คนไร้บ้านเคยเข้ามาใช้พักพิง

ด้วยความเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ในเมือง ท่ามกลางชุมชนที่อยู่เบียดเสียด

เราคิดว่าเรื่องราวของประปาแม้นศรีน่านำไปคิดต่อ และตั้งคำถามถึง Public Space รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้คนทุกเพศทุกวัยด้วยประการทั้งปวง

ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อาจารย์ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง และรองผู้อำนวยการศูนย์มิตรเมือง Urban Ally คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะมาพูดคุยถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ กับเรา

รู้จักประปาแม้นศรี

‘ประปาแม้นศรี’ ไม่ได้มีประวัติโดยตรงบันทึกไว้มากนัก

หากจะเล่าถึงที่นี่คงต้องย้อนไปถึงที่มาที่ไปของการประปาแห่งประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคแห่ง Urbanization ที่ผู้คนมากมายตบเท้าเข้ามาทำงานในเมือง

พีรียาเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสยุโรป ได้เห็นคุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ผู้คนมีน้ำประปาใช้ จึงดำริให้ประเทศไทยพัฒนาระบบขึ้นมาบ้าง เริ่มให้วิศวกรต่างชาติวางระบบท่อ เริ่มจากคลองขุดที่ส่งน้ำมาจากปทุมธานี ไหลมาถึงโรงกรองน้ำที่สามเสน แล้วจึงนำมาพักที่หอเก็บน้ำประปาแม้นศรี 2 หอนี้ เพื่อแจกจ่ายน้ำให้คนทั้งพระนครต่อไป ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เป็นยุคที่การประปากรุงเทพฯ เริ่มต้นอย่างแท้จริง

ประปาแม้นศรี : ประปาแรกในพระนคร ที่พักคนไร้บ้าน สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใน BKKDW2023

“ถือเป็นถังน้ำประปาใหญ่แห่งแรกในพระนคร และเป็นที่ตั้งของการประปานครหลวง” พีรียาพานั่งลงที่แคร่ข้างหอเก็บน้ำ แล้วอธิบายให้เราฟัง

หอเก็บน้ำนี้เป็นโบราณสถานไปแล้ว หากเราเดินขึ้นบันไดวนไป (ใช้คำว่าปีนดีกว่า) ก็จะพบกับสเปซมืด ๆ มีช่องหน้าต่างที่มองไปเห็นวิวรอบ ๆ ได้ และแทงก์เก็บน้ำข้างบน แม้จะอายุเกือบ 100 ปีได้แล้ว แต่โครงสร้างหอก็ยังแข็งแรงมาก ๆ ด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างสมัยนั้น

นอกจากหอทั้งสองนี้ อาคารในบริเวณนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย อย่างอาคารที่ใช้เก็บปั๊มน้ำ หรืออาคารที่เป็นโดมรูปตัว L ที่มีการก่อสร้างแบบยุโรปยุคอุตสาหกรรม ก็มีการนำเหล็กมาใช้ที่ประตู หน้าต่าง ทั้งยังมีอาคารออฟฟิศสร้างใหม่ในยุคโมเดิร์น ราว ๆ พ.ศ. 2500 ซึ่งเชื่อมโยงกับอาคารอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงอย่างธนาคารมหานครและธนาคารนครหลวงไทย

ประปาแม้นศรี : ประปาแรกในพระนคร ที่พักคนไร้บ้าน สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใน BKKDW2023
ประปาแม้นศรี : ประปาแรกในพระนคร ที่พักคนไร้บ้าน สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใน BKKDW2023

“ที่นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งแรก ๆ ที่พูดถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม คือการมีน้ำสะอาดให้คนใช้” เธอกล่าว “บ้านอาจารย์อยู่แถวแม้นศรี ตอนเด็ก ๆ เคยมาทันที่ออฟฟิศยังเปิดอยู่ ก็ได้เข้ามาเล่นอยู่ตอนนั้น แล้วเขาก็ปิดไปเกือบ 20 ปีแล้ว”

เรานึกภาพตามอาจารย์เล่า เช้านี้เรานัดกับอาจารย์ที่หอเก็บน้ำ แต่เมื่อมาถึงเรากลับพบว่าประตูปิดอยู่ พร้อมเขียนป้ายใหญ่เบ้อเริ่มติดอยู่ในเชิงห้ามเข้า เมื่อถามคุณลุงชาวบ้านแถวนั้น ก็ได้คำตอบว่า “เขาเลิกใช้ที่นี่ไปนานแล้วนะครับ” เป็นคำตอบ จนต้องรอให้อาจารย์และทีมที่จัดงานมาเปิดประตูให้

พื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ เคยมีฟังก์ชันที่สำคัญต่อกรุงเทพฯ ขนาดนั้น เราจะปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจริงเหรอ – นี่คือประเด็นสำคัญ

ประปาแม้นศรี : ประปาแรกในพระนคร ที่พักคนไร้บ้าน สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใน BKKDW2023

ทิ้งร้าง เก็บรักษา หรือปรับปรุง

จะว่าพื้นที่ประปาแม้นศรีโดยรวมร้างมาตลอด 20 ปีก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะระหว่างที่เป็นพื้นที่รอการบูรณะ ก็มีการใช้งานชั่วคราวอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นที่พักคนไร้บ้าน ที่พักพิงสุนัขจรจัดช่วงน้ำท่วม รวมถึงเคยใช้เป็นศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยของ กทม. ตอนที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก ๆ ด้วย

“ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับสถานการณ์จำเป็น ฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ในเมือง” พีรียาเอ่ย

แม้ว่าจะไม่ใหญ่เท่าที่นี่ แต่โครงสร้างหอเก็บน้ำแบบนี้ยังมีอีกหลายที่ทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ จะมีก็แต่ที่ ‘ท่าฉลอม’ ที่เราเคยเขียนถึงเอาไว้ในคอลัมน์ Public Space เมื่อปีที่แล้ว ที่นั่น เหล่าสถาปนิกชุมชนแห่งสถาบันอาศรมศิลป์ได้รีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าเป็นห้องสมุด บอกเล่าเรื่องราวของการประมงให้ลูกหลานและผู้มาเยือนรู้จัก และใช้พื้นที่โดยรอบหอเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย

หากพูดถึงต่างประเทศ นอกจากตัวหอเก็บน้ำจะเป็นเหมือนแลนด์มาร์กของเมืองแล้ว ก็มีเคสที่เอาไปใช้เป็นบ้านของคนชนชั้นกลาง เป็นโรงแรม เป็นร้านอาหาร บ้างก็เป็นห้องสมุดเหมือนที่ท่าฉลอม

“มีหลายอย่าง บางคนก็สอดสเปซไปตามคาน แล้วกั้นเป็นห้องไปเลย หรือไม่ก็ทำให้ลอยออกมา”

ประปาแม้นศรี : ประปาแรกในพระนคร ที่พักคนไร้บ้าน สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใน BKKDW2023

สำหรับที่ประปาแม้นศรี เราเองก็เคยเห็นธีสิสปริญญาโทของผู้สนใจเมืองเก่าคนหนึ่ง ที่นำตัวหอเก็บน้ำไปทำเป็นเหมือน Community Space ให้คนทุกเพศทุกวัย จึงถามความเห็นอาจารย์พีรียาบ้าง ว่าสำหรับเธอแล้ว หอเก็บน้ำควรปรับเป็นสเปซแบบนั้นไหม

“โดยส่วนตัว ไม่ได้คิดว่าเราขาดแคลนพื้นที่มากขนาดนั้นนะ โครงสร้างตรงนี้มีประวัติศาสตร์ของมันอยู่” อาจารย์ตอบ “ถ้าตอนนี้ยังไม่มีอะไรต้องเร่งรีบชัดเจนที่ต้องใช้โครงสร้างนี้จริง ๆ อาจารย์คิดว่าเก็บอย่างที่มันเป็น แล้วเล่าเรื่องราวว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นอะไรดีกว่า”

พีรียาเห็นว่า สิ่งที่ควรนำไป ‘ทำอะไรสักอย่าง’ คืออาคารสำนักงานโดยรอบและสเปซที่ว่างที่มี ซึ่งสำหรับทีมผู้จัดงานทั้งหลาย งานดีไซน์วีกครั้งนี้นี่แหละจะเป็นใบเบิกทางสู่หนทางใหม่ ๆ ของประปาแม้นศรี

ความเป็นไปได้ไม่มีสิ้นสุด

ธีมของประปาแม้นศรีคือ Living Room หรือพื้นที่นั่งเล่นของเมือง

“เราว่ามันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมืองเก่า แล้วแถวนี้ค่อนข้างอยู่กันอย่างแออัด หนาแน่น เป็นพื้นที่ตึกแถวที่ไม่ได้มี Open Space นัก เราอยากให้ที่นี่เป็น Third Place ของคน ให้เขาเข้ามานั่งคุย นั่งทำอะไรก็ได้” พีรียาให้เหตุผล เมื่อเราถามว่าทำไมต้องเลือกธีมนี้

จากเดิมที่ใช้การได้แค่ประตูเซอร์วิส ในครั้งนี้ทีมก็จัดการหาช่างมาซ่อมประตูใหญ่ด้วย เพื่อให้เข้าจากถนนบำรุงเมืองได้

ด้วยความเป็นห้องนั่งเล่น นิทรรศการที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นมู้ดสบาย ๆ เช่น ส่วนจัดแสดงรูปถ่ายแทงก์น้ำทั่วประเทศ ซึ่งมีรูปทรง-วัสดุแตกต่างกันไป และทำหน้าที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์กของเมือง

Urban Ally หยิบพื้นที่ประปาแม้นศรี หอเก็บน้ำแรกในไทยที่ถนนบำรุงเมือง มาเป็น Public Space ใหม่ของย่าน

มีงานที่เรียกว่า ‘A Place, A Situation, Negotiation of Flow’ ของกลุ่ม SP/N ที่นำฟิล์มยืดมากั้นตามส่วนต่าง ๆ ของงาน เพื่อสื่อสารถึง Flow ของผู้คนที่เข้ามาในพื้นที่ซึ่งปกติไม่มีคนอยู่ โดยพวกเขามองว่าสิ่งนี้น่าสนใจในเชิงเมือง

มีงานออกแบบเสียงของ Hear & Found ที่ได้เก็บเรื่องราวเสียงในย่านมานำเสนอ ทั้งเสียงธรรมชาติในสวนสราญรมย์ เสียงวิถีชิวิต อาชีพของคนในย่าน อย่างคนตีทอง คนทำบาตรพระ ให้คนภายนอกได้รู้จักย่านผ่านการฟังเสียง

ทั้งยังมีงานเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวของกลุ่ม A R C A N E มีงาน Typography ในเมืองเก่าของกลุ่มอักษรสนาม มี Pop-up Cafe รวมถึงกิจกรรมสนุก ๆ ชื่อ ‘Chair to Chair’ ที่ให้คนนำเก้าอี้จากบ้านมาทำให้ที่นี่กลายเป็นห้องนั่งเล่นจริง ๆ

“อาจารย์จะเอาเก้าอี้ของคุณปู่ทวดกับหลานมาวางด้วยกัน สองคนนี้ไม่เคยเจอกันนะ คุณปู่เสียไปก่อน” ฟังดูน่าสนุก

Urban Ally หยิบพื้นที่ประปาแม้นศรี หอเก็บน้ำแรกในไทยที่ถนนบำรุงเมือง มาเป็น Public Space ใหม่ของย่าน

อาจารย์คาดหวังอะไรเมื่องานดีไซน์วีกจบลงบ้าง – เราถาม

“อยากให้คนมาแล้วตั้งคำถามว่า พื้นที่นี้จะเป็นอะไรได้บ้าง” อาจารย์ค่อย ๆ ตอบ “ไม่ใช่แค่ที่นี่นะ เจ้าของพื้นที่ร้างว่างเปล่าหลาย ๆ ที่ ถ้าเขามาเห็นก็อาจจะนำไปต่อยอดได้ เปิดชั่วคราวได้ไหม ให้คนเข้าไปใช้ได้ไหม อยากให้คนเห็นความเป็นไปได้ของที่รกร้าง” 

พีรียาพูดต่ออีกว่า ในเมืองของเรามีสเปซว่าง ๆ แทรกอยู่เยอะมาก อาจจะนำนิทรรศการศิลปะเข้าไปในชุมชนได้ หรือแม้แต่บางทีแค่พื้นที่หน้าตึก ศาลเจ้า วัด ก็นำมาใช้เป็น Social Space ของชุมชนโดยรอบได้เช่นกัน

แล้วสำหรับอาจารย์ คิดว่าที่นี่ควรเป็นอะไรดี – เราถามต่อ

“อาจจะทำเป็น Weekday Home แบบเมืองนอก ให้คนมาเช่าอยู่ในเมืองช่วงวันธรรมดา แล้วเสาร์อาทิตย์เขาก็กลับไปอยู่ต่างจังหวัด

“หรือเป็น Creative Space สำหรับคนรุ่นใหม่ มีพื้นที่ทดลอง พื้นที่สร้างเครือข่ายคนทำงาน อาจจะเป็นคลินิกทางการออกแบบก็ได้ เหมือนที่เราเคยทำที่อารีย์ เปิดให้ชุมชนชาวบ้านที่อยากทำธุรกิจหรือรีแบรนด์เล็ก ๆ เข้ามาปรึกษาดีไซเนอร์ได้ คงจะดีถ้ามีพื้นที่แบบนี้กระจายไปอยู่ตามชุมชน”

ซึ่งในส่วนนี้ พีรียาได้เสริมถึงโปรเจกต์ Creator in Residence ของ Urban Ally ร่วมกับ Double B Hostel และ Once Again Hostel ซึ่งให้นักออกแบบเข้าไปพักและเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบ นี่ก็เป็นอีกโปรเจกต์ที่แนวคิดคล้ายคลินิกที่เธอว่า

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าที่นี่ไม่ควรเป็นพื้นที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หากต้องมีความหลากหลาย และมองปัญหาของคนโดยรอบเป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งอาจสำรวจเจอว่าชุมชนต้องการที่จอดรถก็เป็นได้

ในปีนี้ Urban Ally ตั้งใจจะเชื่อมต่อกับชุมชนให้มากขึ้น และทำงานที่จะทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในระยะยาว หวังว่าอนาคตเราจะได้เห็นพื้นที่ประปาแม้นศรีกลายเป็นพื้นที่สาธารณะถาวร ซึ่งคนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ในสักวัน

Urban Ally หยิบพื้นที่ประปาแม้นศรี หอเก็บน้ำแรกในไทยที่ถนนบำรุงเมือง มาเป็น Public Space ใหม่ของย่าน

งาน Bangkok Design Week ย่านพระนครในธีม ‘มิตรบำรุงเมือง’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ติดตามรายละเอียดได้ทาง Urban Ally และ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2023

ภาพ : foto_momo

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO