วังน่านิมิต เป็นนิทรรศการที่น่าสนใจมาก
นิทรรศการที่สะกดชื่อตามการเขียนแบบโบราณในพระนิพนธ์ ตำนานวังน่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
งานนี้นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี จัดแสดงระหว่างวันที่ 10 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561
นอกจากจะสื่อสารเรื่องราวของวังหน้าผ่านนิทรรศการแล้ว งานนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษพาผู้ที่สนใจไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของวังหน้าผ่านการเดินชมพื้นที่จริง ซึ่งคนจำนวนมากไม่ทราบมาก่อนว่าสถานที่เหล่านี้เคยส่วนหนึ่งเป็นวังหน้า
นี่คือที่มาของกิจกรรม Walk with The Cloud 08 : The Hidden Palace
The Cloud และเครื่องดื่ม 100Plus ขอเชิญผู้ที่สนใจไปร่วมเดินทำความรู้จัก ‘วังหน้า’ ด้วยกัน ในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561
วิทยากร
- คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการ ‘นิทรรศการวังน่านิมิต’
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
- ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก อดีตอุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และผู้อยู่เบื้องหลังงานภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
- ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาคารโบราณ
ความสำคัญของวังหน้า
- วังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล มีความหมาย 2 อย่าง คือ สถานที่ (ที่ประทับของบุคคลที่มีสถานะสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์) และบุคคล (ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า พระมหาอุปราช ในสมัยอยุธยา)
- วังหน้ามีพื้นที่ใหญ่มาก มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเมือง
- สถาปัตยกรรมวังหน้าเป็นของสถาบันที่เป็นรองแต่เพียงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในยุคของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4) ซึ่งมีสถานะเป็นเหมือนพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ งานสถาปัตยกรรมของวังหน้าในยุคนี้จึงแสดงฐานานุศักดิ์เหมือนในวังหลวง
- เมื่อบริบททางการเมืองการปกครองเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละรัชกาล เช่นเดียวสภาพสังคม ทำให้รูปแบบของอาคารและการใช้พื้นที่ของวังหน้าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
- วังหน้าไม่ได้มีพื้นที่เพียงแค่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เราเห็นในปัจจุบันเท่านั้น แต่เคยมีพื้นที่ครอบคลุมถึงโรงละครแห่งชาติ ครึ่งหนึ่งของท้องสนามหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมด
ความพิเศษในการเดินชมวังหน้าครั้งนี้
- วิทยากรทั้ง 4 ท่าน ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ ภูมิสถาปนิก สถาปนิก และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ จะช่วยกันเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวังหน้าในมิติต่างๆ
- นี่เป็นครั้งแรกที่วิทยากรทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนจากการบรรยายในห้องประชุม มาเป็นการเดินเล่าเรื่องร่วมกันในพื้นที่จริง
- เป็นการเดินที่เราจะได้ดูทั้งอาคารและร่อยรอยที่ยังหลงเหลืออยู่ และอาคารที่หายไปแล้ว
ตัวอย่าง 7 สถานที่สำคัญของวังหน้าที่เราจะไปทำความรู้จักกัน
- บริเวณตึก 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียนรู้เรื่องการวางผังเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ และบทบาทของวังหน้าในการปกป้องเมือง
- ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนจากตำหนักฝ่ายในในยุควังหน้ามาเป็นโรงทหารในยุครัชกาลที่ 5 และเป็นมหาวิทยาลัยในยุครัชกาลที่ 8 รวมถึงความพิเศษของการออกแบบตึกโดมแทรกกลางระหว่างอาคารโรงทหาร 2 หลังอย่างลงตัว
- ถนนพระจันทร์มุ่งหน้าสู่สนามหลวง
เรียนรู้การวางผังเมือง และทำความรู้จัก ‘พลับพลาสูง’ อาคารหลังสำคัญที่เคยอยู่กลางสนามหลวง
- พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
เรียนรู้ต้นแบบสถาปัตยกรรมวังหน้า และที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่
- พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
เรียนรู้เรื่องตึกโครงสร้างก่ออิฐถือปูนแบบไทย แต่หน้าตาเป็นแบบตะวันตก เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคที่วังหน้ารุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่ง เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นเหมือนพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ของประเทศ สถานะของวังหน้าในยุคนี้จึงคล้ายเป็นวังหลวงกลายๆ
- พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)
เรียนรู้การวางผังอาคารเป็นแบบจตุรมุข เทียบเท่ากับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง และจิตรกรรมที่ไม่เหมือนที่ใด เพราะเล่าเรื่องตำนานการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเหนือมา แต่พอทำจิตรกรรมเสร็จกลับเกิดการเปลี่ยนแปลง พระพุทธสิหิงค์จึงถูกนำไปไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์แทน นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ยังบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ช่วงต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
- พระที่นั่งคชกรรมประเวศ
เรียนรู้เรื่องพระที่นั่งที่มีลักษณะทางฐานานุศักดิ์แบบเดียวกับอาคารในวังหลวง ซึ่งเคยตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แต่ปัจจุปันถูกรื้อถอนไปแล้ว
วัน-เวลาจัดกิจกรรม
วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2561 เวลา 08.30 – 15.00 น.
จำนวนผู้เข้าร่วม
30 คน
ค่าใช้จ่าย
คนละ 500 บาท และฝาเครื่องดื่ม 100PLUS 5 ฝา (รวมค่าอาหารกลางวัน ของว่าง ของที่ระลึกจาก 100PLUS และกระเป๋าจาก The Cloud)
วิธีการสมัคร
- กรอกใบสมัครเข้าร่วมกิจกรรมที่นี่
- ปิดรับสมัคร วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2561
- ประกาศผลผู้ร่วมเดินทาง 30 คน วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2561 ทางเฟซบุ๊กเพจ The Cloud
- เราจะแจ้งรายละเอียดการโอนเงิน และการเตรียมตัวให้ผู้ร่วมเดินทางทราบทางอีเมล
- ชำระเงินค่าสมัคร 500 บาท ภายใน 12.00 น. ของวันพฤหัสที่ 21 มิถุนายน 2561
- ทีมงานจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมจากความสนใจและความหลากหลาย ใครพลาดกิจกรรมนี้ก็ไม่ต้องเสียใจ รอติดตามสรุปเรื่องราวของกิจกรรมครั้งนี้ได้ในคอลัมน์ Walk with The Cloud บนเว็บไซต์ readthecloud.co หลังจบกิจกรรมได้เลย