หลังจากที่พวกเราชาวกรุงรอคอยการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงกันมานาน ตั้งแต่เริ่มรู้จักโครงการครั้งแรกหลายสิบปีก่อนที่จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ถ้ามองดูการเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อยๆ ก็นับนิ้วได้เกือบ 10 ปี จนโครงการที่เรียกว่าอภิมหาโปรเจกต์เกือบเสร็จสมบูรณ์ พร้อมให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการกันจริงๆ แล้ว หลังจากรอมานานแสนนาน นานจนเราจำได้ว่าเรียนจบใหม่ๆ แล้วตอนนี้คือ 30 กว่าแล้ว เฮ้อ ได้ใช้สักทีนะน้องนะ

โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง คือการปรับให้รถไฟชานเมืองของ รฟท. ที่มีรอบค่อนข้างน้อย ใช้รถระบบดีเซล เป็นรถร้อน เปลี่ยนรูปแบบให้เป็นรถไฟปรับอากาศ เดินรถด้วยระบบไฟฟ้า รอบขบวนถี่ขึ้น มีทางวิ่งแยกเฉพาะ ไม่มีถนนตัดผ่าน ไม่ต้องเอาไม้กั้นลงหรือหยุดรอให้รถยนต์ผ่านไปก่อน แบบที่รถไฟชานเมืองดั้งเดิมต้องเผชิญ 

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

นอกจากรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน คือสถานีรถไฟกลาง ภายใต้ชื่อว่า ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ที่ทำหน้าที่เป็นสถานี Terminal ของรถไฟสายสีแดง รถไฟทางไกลระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต เหมือนกับว่าการเปิดสถานีกลางบางซื่อและสายสีแดงในครั้งนี้เป็นการ ‘ย้ายบ้าน’ ของรถไฟจากสถานีเก่าแก่ใจกลางเมืองอย่าง สถานีกรุงเทพ หรือที่เรารู้จักกันว่าหัวลำโพง ให้มาบ้านใหม่ที่ไฉไลกว่า กว้างขวางกว่า และรองรับรถไฟได้มากกว่าเดิม

เพื่อเตรียมความพร้อมกับการใช้งาน (สักที) ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นี้ เรามาทำความรู้จักกับรถไฟสายสีแดงให้มากกันขึ้นกว่าเดิมในฐานะ ‘เพื่อนใหม่’ กันดีกว่า

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

เส้นสายรายสถานี

เส้นทางเดินรถของสายสีแดงนั้นแบ่งออกเป็น 2 เส้นทางหลัก (ตอนนี้) 

‘สายเหนือ’ (North Line) มีโค้ดสีแดงเข้ม เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ ในชานชาลาที่ 3 และ 4 ลากเส้นไปตามทางรถไฟสายเหนือ ขนานถนนวิภาวดีไปแล้วเบี่ยงตัวออกเมื่อเลยสนามบินไปสุดทางที่รังสิต มีสถานีรายทางอยู่ทั้งหมด 10 ที่ อันได้แก่ สถานีจตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก (ม.รังสิต) และสถานีรังสิต 

‘สายตะวันตก’ (West Line) มีโค้ดสีแดงอ่อน เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อเช่นกัน ในชานชาลาที่ 9 และ 10 วกออกไปทางทิศตะวันตกตามแนวทางรถไฟสายใต้ของ รฟท. ผ่านบางซ่อน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่พระนครเหนือ และไปสุดทางที่ตลิ่งชัน มีสถานีน้อยกว่าสายเหนือสิริรวมแค่ 4 สถานี อันได้แก่สถานีกลางบางซื่อ บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
เส้นทางรถไฟสายสีแดงที่เปิดในปัจจุบัน

เนื่องจากจุดมุ่งหมายของสายนี้ คือการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองกับรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด ทำให้สถานีของรถไฟสายสีแดงจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกมีเป็นส่วนใหญ่ของเส้นทางคือ มีเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดงเท่านั้นที่จอดในสถานี ซึ่งเจ้าสายสีแดงก็จะส่งพวกคุณทุกคนที่ชานชาลาอย่างนุ่มนวล ก้าวขาขึ้นลงรถไฟด้วยชานชาลาสูงเสมอระดับพื้นรถที่ง่ายกับทุกคน

ส่วนสถานีอีกแบบจะจอดทั้งสายสีแดงและรถไฟทางไกล โดยมีชานชาลาแยกจากกัน สายสีแดงก็จอดชานชาลาหนึ่ง รถไฟปู๊นๆ ก็จอดอีกชานชาลาหนึ่ง ซึ่งในบรรดา 13 สถานีที่เปิดในรอบนี้ มีด้วยกันทั้งสิ้น 5 สถานีที่มีรูปแบบเช่นนี้ นั่นคือสถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีรังสิต สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน โดยจะมีแค่สถานีดอนเมืองกับรังสิตเท่านั้นที่แยกชั้นของชานชาลาอย่างชัดเจน ให้รถไฟฟ้าอยู่ชั้นหนึ่ง และรถไฟทางไกลอยู่อีกชั้นหนึ่ง ต่างกับอีก 3 สถานีที่เหลือที่ชานชาลารถไฟสองประเภทอยู่ในระดับเดียวกัน

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
สถานีแบบที่มีรถไฟสายสีแดงจอดอย่างเดียว และรถไฟทางไกลวิ่งผ่านตรงกลาง
รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
สถานีที่มีทั้งรถไฟสายสีแดงและรถไฟทางไกลจอด ชั้นชานชาลารถไฟสายสีแดง 
รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
สถานีที่มีทั้งรถไฟสายสีแดงและรถไฟทางไกลจอด ชั้นชานชาลารถไฟทางไกล

นอกจากนั้นแล้ว สายสีแดงเขาก็ไม่ได้วิ่งเดี่ยวๆ เพราะเขาก็มีเพื่อนเป็นรถไฟฟ้าสายอื่นที่เข้ามาเชื่อมต่อเหมือนกัน ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกัน 3 สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อ เพื่อเปลี่ยนสายย้ายระบบไปสถานที่ต่างๆ ที่รถไฟฟ้าสายนั้นลากผ่าน

เริ่มกันที่ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน (หลักสอง-บางซื่อ-ท่าพระ) อันนี้สะดวกมาก เพราะทั้งสองสถานีคร่อมกันอยู่ พี่ MRT อยู่ข้างใต้ชนิดที่ว่า ถ้าเดินผ่านทางเชื่อมก็โผล่มาเจอ Paid Area ของสายสีแดงเลย 

ต่อมาคือ ‘สถานีหลักสี่’ ที่เชื่อมกับโมโนเรลสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี) ตอนนี้อยู่ระหว่างการสร้าง ซึ่งสองสถานีนี้จะอยู่ห่างกันคนละฟากถนนวิภาวดีรังสิตด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ก็ไม่ต้องห่วง มีสะพานเชื่อมหากันเดินง่ายและสะดวก

สุดท้ายคือ ‘สถานีบางซ่อน’ ที่เชื่อมกับ MRT สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) มีทางเดินเชื่อมหากันง่ายและสะดวกมากๆ 

นอกจากการเชื่อมโยงของรถไฟสองระบบแล้วนั้น ที่ ‘สถานีดอนเมือง’ก็ยังเชื่อมกับท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยสกายวอร์กที่ยาวข้ามถนนวิภาวดีรังสิตเข้าไปในลานจอดรถของ Terminal 2 ซึ่งในอนาคตนั้นตรงข้ามกับสถานีรถไฟก็จะเป็น Terminal 3 อีกด้วย

ไม่ใช่แค่รถไฟกับสนามบิน ในส่วนของรถเมล์ก็ยังเชื่อมต่อได้กับทุกสถานี รวมถึงสถานีที่ไม่เคยมีรถเมล์เข้าไป ก็จะมีการจัดเส้นทางเดินรถประจำทางใหม่ทั้งรถเมล์ ขสมก. รถเมล์เอกชน หรือแม้แต่รถประจำทางท้องถิ่น

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

แม้ว่าตอนนี้สายสีแดงจะเปิดเพียงแค่ 2 สาย จริงๆ มันยังไม่สมบูรณ์ เส้นทางของมันจะเป็นเครื่องหมายบวก (+) ขนาดใหญ่ที่คร่อมทับกรุงเทพฯ ไว้ โดยมีจุดตัดที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งตอนนี้ยังขาดส่วนทิศใต้จากบางซื่อไปหัวลำโพง และส่วนตะวันออกจากบางซื่อไปหัวหมาก ก็จะอยู่ในโครงการต่อขยาย ซึ่งมีแผนจะสร้างต่อในช่วงไม่กี่ปีนี้ หลังจากเปิดให้บริการในช่วงแรก 

ส่วนต่อขยายทิศเหนือนี่ก็สำคัญ มันต่อจากสถานีรังสิตไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ทางด้านทิศตะวันตกก็ยืดต่อจากตลิ่งชันออกไปศาลายา และมีอีกสายไปที่ศิริราช รวมถึง Missing Link ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมาก ก็จะเป็นโปรเจกต์ถัดมา เมื่อสมบูรณ์แล้วก็จะทำให้การเดินทางจากปริมณฑลเข้ามาใจกลางเมืองง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
แผนที่โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงทั้งสีแดงเข้ม (เหนือ-ใต้) และแดงอ่อน (ตะวันตก-ตะวันออก) แบบเต็มสมบูรณ์ครบตลอดโครงการ

หนูแดง ไฟแรงเฟร่อ

‘หนูแดง’ คือชื่อเรียกขานของบรรดาคนชอบรถไฟ อาจเป็นเพราะว่าหน้าตาของเจ้านั้นน่ารักตะมุตะมิ มีส่วนโค้งเว้า ใบหน้าดูออดอ้อนคล้ายหนอนชาเขียวชิเมะโจได๊ แต่เผอิญนางเป็นสีแดง และเป็นน้องสุดท้องในบรรดารถไฟฟ้าทั้งหมด ก็เลยได้สมญานามว่าหนูแดงไปเสียเลย 

หนูแดงเป็นขบวนรถไฟสีขาวคาดสีแดงสด หน้ารถมีสีดำดูทั้งอ่อนโยนและขึงขังในคราวเดียวกัน เป็นขบวนรถไฟที่ใช้สำหรับเส้นทางสายสีแดง เดินทางมาไกลจากบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น ภายใต้โรงงานผลิตฮิตาชิที่เคยผลิตรถไฟให้พี่ไทยใช้กันมาแล้วหลายรุ่น ไม่ว่าจะรถจักรฮิตาชิรุ่นเก่า ฮิตาชิรุ่นใหม่ที่ใช้งานอยู่ แม้กระทั่ง ดีเซลรางฮิตาชิ ที่โลดแล่นอยู่ภาคอีสาน และล่าสุดนี้น้องใหม่ไฉไลไฟแรงเฟร่อก็มาประจำการเป็นเจเนอเรชันที่ 4

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

ขบวนรถไฟสายสีแดงมี 2 แบบ คือ รถความยาว 6 ตู้ (6 Cars Set) และรถความยาว 4 ตู้ (4 Cars Set) ซึ่งทั้งสองแบบนี้ใช้งานต่างกันในแต่ละสาย โดยรถแบบ 6 ตู้ จะวิ่งในเส้นทางสายเหนือ (North Line) จากบางซื่อถึงรังสิต ส่วนแบบ 4 ตู้จะวิ่งในเส้นทางสายตะวันตก (West Line) จากบางซื่อไปตลิ่งชัน ซึ่งทีมงานหนูแดงทั้งหมดนั้นมีด้วยกันทั้งสิ้น 25 ขบวน โดยขบวนรถแบบ 6 ตู้ มี 15 ชุด และขบวนรถแบบ 4 ตู้ มีด้วยกัน 10 ชุด

เจ้าหนูแดงขับเคลื่อนโดยใช้ไฟฟ้าแรงสูงเป็นพลังงาน มันรับไฟฟ้าจากสายไฟที่ห้อยอยู่เหนือหลังคารถไฟไปตลอดทาง ด้วยแรงดันไฟ 25,000 โวลต์ (25kV) เหมือนกับ Airport Rail Link ซึ่งแตกต่างจากรถไฟฟ้าในเมืองแบบรับไฟจากรางที่สามเฉกเช่น BTS MRT ที่มีแรงดันไฟฟ้าแค่ 750 โวลต์ โดยรถไฟที่รับไฟจากสายส่งเหนือหัวนั้น ข้อดีคือจะมีแรงไฟฟ้าสูง เหมาะกับรถไฟที่ใช้ความเร็วมากๆ และไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าย่อยเยอะ เพราะแรงดันส่งไปได้ไกล 

เจ้าหนูแดงนั้นสามารถทะยานความเร็วไปได้ถึง 160 กม./ชม. ได้สบายๆ แต่ในการให้บริการนั้นจะลดความเร็วลงมาที่สูงสุด 100 – 140 กม./ชม. ตามแต่ช่วงทาง ถ้าในเมืองสถานีถี่หน่อย ก็ประคองได้ราวๆ 100 – 120 แต่ถ้านอกเมืองสถานีห่างก็อัดได้ 140 เลย

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ
รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

มาต่อกันที่ห้องโดยสาร มีคนบอกว่านิฮงมาก ญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น แหงล่ะก็นางเกิดที่ญี่ปุ่นนี่

ที่นั่งข้างในเป็นเหมือนกับรถไฟฟ้าทั่วไปที่หันหลังให้กับหน้าต่างอารมณ์รถสองแถว เก้าอี้สีแดงแรงฤทธิ์ มีราวจับ ตัวล็อกวีลแชร์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ และมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกับรถไฟฟ้าที่ไทยมี นั่นคือ ‘หิ้งวางของเหนือที่นั่ง’ ติดตั้งไว้สำหรับผู้ที่มีสัมภาระเยอะ เพื่อเพิ่มที่ว่างในการยืน และไม่ให้สัมภาระเกะกะบนพื้นด้วยเวลาที่มีคนใช้บริการมาก 

อีกเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกชอบมากๆ ในตัวเจ้าหนูแดง คือขนาดหน้าต่างที่ใหญ่มาก เป็นส่วนดีที่ทำให้บรรยากาศของการเดินทางนั้นไม่อึดอัด รู้สึกโปร่ง โล่งสบาย และไม่ต้องกลัวร้อนด้วย เพราะฟิล์มกรองแสงที่ติดมานั้นลดทอนความร้อนจากแสงแดดประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และสบายตาที่จะมองออกไปข้างนอกอีกด้วย

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

ความถี่ของขบวนรถไฟ (Headway) ก็อยู่ราวๆ 10 – 15 นาทีต่อขบวนตามแต่สถานการณ์ ถ้าบีบสุดๆ ก็จะอยู่ราวๆ 6 นาทีต่อขบวน นั่นหมายความว่า ถ้าเราตกรถไฟไปแล้วขบวนหนึ่งก็ไม่ต้องรอนาน 

ถ้าว่ากันในเรื่องของเวลาการเดินทาง สำหรับเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที ส่วนบางซื่อ-ตลิ่งชัน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งน้อยกว่าเวลารถไฟชานเมืองดั้งเดิมที่วิ่งซะอีก ของเดิมนั้นจากบางซื่อไปรังสิตด้วยรถไฟชานเมืองสายเหนือและสายอีสาน จะใช้เวลา 40 นาที ซึ่งสายสีแดงทำเวลาได้น้อยกว่าเดิม 15 นาที ส่วนของสายตะวันตกก็ไม่น้อยหน้า รถไฟชานเมืองสายใต้จากบางซื่อไปตลิ่งชัน เดิมใช้วลาประมาณ 20 – 23 นาที แต่เจ้าสายสีแดงใช้เวลาลดลงไปถึง 8 นาที 

ลองคิดดูนะว่าระยะทางสั้นๆ แค่นี้ยังลดเวลาการเดินทางไปได้หลายนาที แล้วถ้าเส้นสายมันไปไกลขึ้นถึงอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครปฐม ตามแผนโครงการทั้งหมด จะลดเวลาการเดินทางจากเมืองรอบนอกนั้นในหน่วยชั่วโมงกว่าเหลือลงเท่าไหร่ และจะยิ่งทำให้การเดินทางด้วยรถไฟจากชานเมืองเข้ามาถึงในเมืองสะดวกและรวดเร็วขึ้นจริงๆ

ขอฝากความหวังไว้ที่เธอ หนูแดงไฟแรงเฟร่อ!!

รู้จัก ‘หนูแดง’ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการวิ่งรอบกรุงเทพฯ

จับมือไว้แล้ว (ปรับตัว )ไปด้วยกัน

เรื่องแรกก็คงเป็นการได้ใช้รถไฟที่มีรอบถี่มากขึ้นในเส้นทางเดิม จากที่นานๆ จะมีรถไฟผ่านมาสักทีให้เราได้นั่ง หรือต้องรอรถไฟปู๊นๆ ผ่านมา เราก็เดินขึ้นสถานีสายสีแดง แล้วเดินทางด้วยรถไฟที่มีให้บริการทั้งวัน (ช่วงเวลาหลังเปิดเต็มรูปแบบจะให้บริการ 6.00 – 24.00 น.) แถมยังใช้เวลาในการเดินทางน้อยลงด้วย ไม่ต้องรอที่สถานีเป็นชั่วโมงเพื่อให้ตรงกับรอบรถ

สำรวจระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เปิดใช้งานใหม่ ทำให้การเดินทางเข้าออกเมืองหลวงง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับทุกคน
การเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟทางไกล บนทางเดียวกัน

เรื่องที่สอง เมื่อย้ายบ้านก็ต้องปรับตัวใหม่ การย้ายสถานีหลักจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาที่สถานีกลางบางซื่อก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน แม้ว่าในช่วงแรกเมื่อเปิดสายสีแดงนั้น รถไฟทางไกลจะยังไม่เริ่มย้ายมาก็ตาม ในช่วง Soft Opening วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นี้ สถานีกลางบางซื่อจะขอเปิดบ้านให้กับน้องหนูแดงประเดิมก่อน ส่วนรถไฟปู๊นๆ ยังใช้บ้านเดิมที่หัวลำโพงอยู่ ยังวิ่งบนเส้นทางเดิม บนพื้น ไม่ลอยฟ้า ยังพบยังเจอรถราตามท้องถนนที่ต้องรอหลังไม้กั้นติ๊งๆ อยู่

แต่พอปลายปีปั๊บ เปิดใช้งานเต็มรูปแบบ เจ้ารถไฟปู๊นๆ ก็จะขยับขยายย้ายตัวเองแล้ว โดยรถไฟประเภทรถด่วน รถเร็ว รถนอน อะไรพวกนี้ จะมาใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นต้นทาง รวมถึงการโยกย้ายขึ้นไปวิ่งบนทางยกระดับ ตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อจนถึงดอนเมืองอีกด้วย 

จากที่เราคุ้นว่ารถไฟปู๊นๆ จะวิ่งบนพื้นดินปุเลงไปก็จะเป็นรถไฟวิ่งลอยฟ้าแทน อันนี้ดีมากๆ เพราะนอกจากจะไม่ต้องเจอกับไม้กั้นถนนให้เสียเวลา มันยังทำเวลาได้ดีขึ้นแบบซิ่งๆ เลย ด้วยเพราะถูกกำหนดให้จอดเพียงแค่สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ทำให้เวลาในการเดินทางลดลงไปพอสมควร แถมจะตรงเวลามากขึ้น เพราะไม่มีปัจจัยภายนอกมาทำให้ต้องชะลอความเร็วโดยไม่จำเป็น

สำรวจระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เปิดใช้งานใหม่ ทำให้การเดินทางเข้าออกเมืองหลวงง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับทุกคน

แต่สำหรับคนที่เคยขึ้นรถไฟไปต่างจังหวัดที่สถานีบางเขนและหลักสี่ อาจจะต้องปรับตัวกันนิดหนึ่ง เพราะรถไฟเหล่านั้นจะไม่จอดสองสถานีนี้แล้ว คุณต้องไปขึ้นที่บางซื่อหรือว่าดอนเมืองแทน โดยการนั่งรถไฟสายสีแดงต่อไปสถานีนั้นๆ

ส่วนหัวลำโพงของเราจะเป็นอย่างไร เขาไม่ได้ปิดตัวแต่อย่างใด ยังมีรถไฟชานเมืองคนคนทำงานในช่วงเช้าและเย็นวิ่งทะลุเข้าไปถึงสถานีเดิมอยู่ รวมถึงรถไฟสายตะวันออกบางขบวน สิริแล้วทั้งสิ้น 22 ขบวน นั่นหมายความว่า ข่าวลือที่บอกว่าหัวลำโพงปิดตัวให้ลืมไปได้เลย เพราะเขาจะไม่ปิดอย่างแน่นอน แค่ลดสถานะจากบ้านใหญ่กลายเป็นบ้านเล็กแค่นั้น

สำรวจระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เปิดใช้งานใหม่ ทำให้การเดินทางเข้าออกเมืองหลวงง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับทุกคน

เรื่องที่สามคงเป็นการปรับตัวที่น่าจะใหญ่ที่สุด ก็คงเป็นการต้องเช็กว่ารถไฟที่เราจะขึ้นนั้นออกจากสถานีไหนนั่นแหละ คล้ายๆ กับการย้ายสนามบินจากดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ ก็ต้องเช็กดีๆ ว่าไฟลต์ของเราออกจากสนามบินไหน รถไฟในอนาคตก็เช่นกัน 

มาถึงตรงนี้ก็คงรู้จักกับเจ้าหนูแดงมากขึ้นแล้วใช่ไหม งั้นเรามานับถอยหลังรอการเดินทางกับเพื่อนใหม่ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ กันดีกว่า ช่วงระหว่างก่อนที่น้องจะให้เราได้ใช้บริการกัน น้องก็ผ่านการซ้อมวิ่งกันอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะตัวน้องหนูแดงเอง หรือแม้กระทั่งพี่ๆ พนักงานขับหนูแดง หรือพี่ๆ พนักงานสถานีและควบคุมการเดินรถ ที่ซุ่มซ้อมกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนได้นั่งรถไฟฟ้าชานเมืองสายที่ทุกคนตั้งตารอคอยมาสิบปี 

ถ้าหากเราเห็นน้องซ้อมวิ่งผ่านไปผ่านมา ลองเงี่ยหูฟัง เราอาจจะได้ยินน้องบอกกับเราผ่านลมมาว่า 

 “どうぞ  よろしく おねがいします。” (ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ)

สำรวจระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เปิดใช้งานใหม่ ทำให้การเดินทางเข้าออกเมืองหลวงง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับทุกคน
สำรวจระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เปิดใช้งานใหม่ ทำให้การเดินทางเข้าออกเมืองหลวงง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับทุกคน

ภาพ : ปุณวัฒน์ อิ้วชาวนา, นราธิป แสงน้อย

เกร็ดท้ายขบวน 

  1. ช่วง Soft Opening มีรถไฟให้บริการ 6.00 – 19.30 น. ของทุกวัน และนั่งฟรีด้วยกันถึง 3 เดือน โดยกำหนดเที่ยวรถไฟเอาไว้ให้ช่วงเวลาเร่งด่วน (7.00 – 9.00 และ 17.00 – 19.30) มีรถให้บริการทุก 15 นาที นอกช่วงเวลานั้นมีให้บริการทุก 30 นาที อันเป็นผลมาจากนโยบายลดการเดินทางในช่วงโควิด-19
  2. ตู้จำหน่ายตั๋วของสายสีแดง แบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบหนึ่งขายอย่างเดียว ส่วนอีกแบบหนึ่งเติมเงินอย่างเดียว และสามารถเติมเงินผ่านบัตรเครดิตผ่านตู้ได้เป็นระบบแรกของไทย

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ