อีกไม่กี่วัน ‘อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเปิดให้ชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตและคนทั่วไปเข้าใช้งานอย่างเป็นทางการ
ความพิเศษของอุทยานฯ แห่งนี้ คือแนวคิดชาญฉลาดที่ซ่อนอยู่ในทุกองค์ประกอบ


อาคารทรงแปลกตารูปตัว H ลาดเอียงไล่ระดับเหมือนเนินดินขนาดยักษ์ โดดเด่นเตะตา ออกแบบอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยหลากหลายนวัตกรรมประหยัดพลังงาน ด้านบนคือ Green Roof Urban Farm ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หลังคาเขียวนี้ นอกจากจะเพาะปลูกพืชพรรณออร์แกนิก สำหรับใช้ในโรงอาหารมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีระบบจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่หมุนเวียนน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ได้ไม่รู้จบ
ไม่เฉพาะความเก๋ล้ำ แต่อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ยังเก็บรักษาปณิธานและจิตวิญญาณดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่อยู่คู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ก่อตั้ง
The Cloud จึงอยากชวนทุกคนไปเยี่ยมชมพื้นที่สาธารณะใหม่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่แห่งนี้ พร้อมพูดคุยกับแรงขับเคลื่อนหลักอย่างอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถึงการทำงานร่วมกัน ระหว่างทีมออกแบบผังแม่บท CIDAR (Center of Innovative Design and Research) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ นำโดยอาจารย์ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และอาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแห่ง LANDPROCESS ในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเก๋ล้ำที่โอบกอดธรรมชาติและผู้คนไว้อย่างยั่งยืน
01
มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน
“จุดเริ่มต้นของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรือ Puey Park for People and Sustainability มาจากวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนของธรรมศาสตร์ จึงมีการปรับปรุงผังแม่บทเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวซึ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่วนบริการประชาชน เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนทุกคน” อาจารย์ปริญญาเริ่มเล่า
อาจารย์ป๋วยคืออดีตอธิบการบดีผู้สร้างคุณูปการหลายประการให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยเฉพาะการขยายวิทยาเขตจากท่าพระจันทร์ไปยังศูนย์รังสิต ท่านมีความประสงค์ที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

“ไม่เฉพาะความร่มรื่นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่อาจารย์ป๋วยยังเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ คำนึงถึงเรื่องพื้นที่สีเขียวและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ของคนในยุคปัจจุบันและคนรุ่นหลัง
“ดังนั้นการสร้างอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนการสานต่อเจตนารมย์ของอาจารย์ป๋วย ในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยคุณภาพชีวิต หรือการกินดีอยู่ดีที่ท่านเคยแสดงทัศนะไว้เมื่อ 46 ปีก่อน”

เมื่อมองไปยังบริเวณด้านหน้าอุทยานฯ จะพบอนุสาวรีย์ของอาจารย์ป๋วย และอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่อย่างเรียบง่ายโดย มานพ สุวรรณปิณฑะ ตั้งใจถ่ายทอดภาพถ่ายประวัติศาสตร์ ณ ประเทศอังกฤษของท่านทั้งสอง ออกมาเป็นประติมากรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณูปการของท่านทั้งสองที่มีต่อสังคมไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
02
ภูเขาแห่งความเท่าเทียม
อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวไร้รอยต่อ ระหว่างอาคารรูปตัว H ซึ่งสื่อความหมายโดยนัยยะถึงคำว่า Humanity อันหมายถึงความเท่าเทียมเสมอกันของพลเมืองไทยทุกคน เพราะอาคารแห่งนี้เปิดเป็นสาธารณะประโยชน์ให้คนทั่วไปเข้าใช้ได้เช่นกัน ไม่เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยอาคารสร้างอยู่ใต้หลังคาที่เป็น ‘พูนดิน’ สอดคล้องกับความหมายชื่ออาจารย์ป๋วย สื่อถึงการบำรุง หล่อเลี้ยง เสริมกำลัง ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเป็นแค่การนำดินมากองถมกัน แต่ต้องมีพืชพรรณงอกงามอยู่บนผืนดินอุดมสมบูรณ์ด้วย และนั่นคือที่มาของคอนเซปต์ ‘ภูเขา’ ที่ร่มรื่นไปด้วยพืชพรรณ เป็นปอดสีเขียวผลิตออกซิเจนให้กับพื้นที่โดยรอบ

ภูเขาขนาดย่อมแห่งนี้ ถือเป็น Green Roof Urban Farm ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย Urban Farm คือการทำเกษตรกรรม ที่เมื่อได้ผลผลิตก็ใช้ปรุงอาหารอยู่ภายในย่าน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผลผลิตไปยังพื้นที่อื่น


“แปลงเกษตรออร์แกนิกบนหลังคาเขียวขนาด 7,000 ตร.ม. จะเปิดให้นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยและผู้มีรายได้น้อย ได้มาทดลองปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อนำผลผลิตไปรับประทานเอง หรือจะขายเป็นรายได้เสริมให้กับโรงอาหารของมหาวิทยาลัยก็ได้
“ผักที่นี่ต้องเป็นออร์แกนิกเท่านั้น เพราะเรามีเป้าหมายในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้รูปแบบเกษตรกรรมของประเทศไทยเป็นแบบไร้สารเคมีอย่างยั่งยืนในอนาคต” อาจารย์ปริญญาเล่า

เราคิดว่า นี่คือการอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนระหว่างอาคารสมัยใหม่กับพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นทางออกเรื่องการใช้พื้นที่อย่างชาญฉลาด ชวนให้คิดว่าคงดีไม่น้อย ถ้าในอนาคตเรามีพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายแบบนี้อีกเยอะๆ แทนที่จะเลือกโค่นต้นไม้เพื่อสร้างแต่ตึกคอนกรีตเพียงอย่างเดียว
03
ประหยัดพลังงานด้วยแสงอาทิตย์
เมื่อเดินเข้ามาภายในอาคาร สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีคือ ‘แสง’ จากบานหน้าต่างนับร้อยตลอดแนวผนังสูง “ทีมสถาปนิกตั้งใจออกแบบ เพื่อเปิดช่องแสงให้แสงสว่างธรรมดาเข้าสู่อาคารได้มาก เพื่อลดการเปิดใช้ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในอาคาร เป็นแบบประหยัดพลังงานทั้งหมด”

คอนเซปต์ในการออกแบบ Green Roof Urban Farm ของอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี คือ ‘นาขั้นบันได’ ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง อาจารย์กชกรอธิบายว่า “เมื่อพื้นผิวคอนกรีตของอาคารถูกปกคลุมด้วยต้นไม้และพืชพรรณ การดูดซับความร้อนต่ำจะลง ทำให้อาคารร่มเย็น เมื่ออุณหภูมิภายในอาคารลดต่ำลง การใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศก็ลดลงไปด้วย”

เพราะคอนเซปต์คือภูเขา วัสดุหลักที่ใช้จึงเป็นอิฐที่ให้ความรู้สึกเป็นใกล้ธรรมชาติ และอาคารหลังนี้ถูกออกแบบให้สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในปีหน้า

มองไปยังอาคารอื่นๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพบแผงโซลาเซลล์ติดตั้งอยู่บนหลังคาของแทบทุกอาคาร อาจารย์ปริญญาเล่าว่าทุกวันนี้สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ถึง 9 เมกะวัตต์เลยทีเดียว และในอนาคตอาจเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น พลังงานน้ำหรือพลังงานลม

พื้นที่ภายในอาคารสุดเท่หลังนี้ ประกอบไปด้วยคอนเสิร์ตฮอลล์ 2 ห้อง น้องนิทรรศการ 2 ห้อง ห้อง Archeive ที่รวบรวมฐานข้อมูลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้องสมุดสาธารณะ Co-Working Space โรงอาหารออร์แกนิก และห้องประชุมที่เปิดให้นักศึกษาสามารถเข้าใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเสรี เพราะตั้งใจให้เป็น Academic Community และ Social Learning Space

04
การหมุนเวียนของสายน้ำ
อาจารย์กชกรอธิบายต่อว่า “นาขั้นบันไดที่ประกอบไปด้วยพืชพรรณหลากชนิด จะช่วยลดแรงปะทะและการไหลบ่าของน้ำฝนจากหลังคาอาคารให้ช้าลง หลังคาเขียวนี้สามารถชะลอความเร็วของน้ำได้เกือบ 20 เท่า ลดความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมขัง เพิ่มปริมาณการรองรับน้ำฝน โดยน้ำฝนจะถูกเก็บกักไว้ตามนาขั้นบันไดแต่ละแปลงก่อน จึงค่อยๆ ไหลรินลงมาช้าๆ สู่สระน้ำทั้ง 4 รอบอาคาร”

อาจารย์ปริญญาบอกว่า แม้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 1,700 ไร่ แต่ไม่เคยใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว น้ำที่ใช้เป็นน้ำจากลำคลองที่ไหลผ่านมหาวิทยาลัย และน้ำฝนที่เก็บกักไว้
ตอนนี้มีสระเก็บน้ำฝนเพิ่มอีก 4 สระ โดยน้ำในสระจะถูกสูบขึ้นมาใช้รดน้ำต้นไม้พืชพรรณที่เพาะปลูกไว้ รวมถึงใช้ในระบบชะล้างสำหรับห้องน้ำในอาคารอุทยานฯ และในอนาคตทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแผนปลูกพืชน้ำกินได้ในสระทั้ง 4 ด้วย

สิ่งที่แทรกอยู่ตามนาขั้นบันไดบนหลังคาเขียวคือ Amphitheatre ทรงไข่ ใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเอนกประสงค์ หรือนั่งพักผ่อนหย่อนใจในวันอากาศดีอย่างเช่นวันนี้ ทางเดินลาดชันสลับบันไดระยะสั้นๆ ทำให้สามารถเดินขึ้นมาชื่นชมความสวยงามของพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าแห่งนี้ได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยเลย

หันกลับไปมองอดีต พื้นที่ตรงนี้เคยเป็น ‘ทุ่งรังสิต’ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน และยังเป็นพื้นที่รับน้ำของกรุงเทพฯ เมื่อเป็นเช่นนั้นระบบจัดการน้ำของอุทยานฯ จึงเชื่อมโยงกับเรื่องน้ำทั้งหมดของผังแม่บทเรื่องการระบายน้ำของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับตัวมหาวิทยาลัยและเมือง โดยให้ระบบคูและทางระบายน้ำของมหาวิทยาลัยเชื่อมกับสวน

เมื่อมีน้ำมา สวนแห่งนี้จะรองรับน้ำ ซึมน้ำ และบำบัดน้ำ ด้วยพืชชนิดต่างๆ ก่อนปล่อยน้ำสู่ระบบคลองเดิม นอกจากนี้ถ้าเกิดน้ำท่วม ธรรมศาสตร์ต้องสามารถพลิกตัวเองไปเป็นศูนย์บำบัดหรือศูนย์ช่วยเหลืออย่างที่เคยเกิดขึ้น สวนนี้ก็จะไม่ใช่แค่ที่ช่วยรับน้ำ แต่จะกลายเป็นศูนย์พักพิงที่ผู้ประสบภัยมาใช้ประโยชน์กางเต็นท์นอนได้ มีหลังคาอาคารทรงเนินดินเป็นส่วนพื้นที่แห้งพ้นน้ำด้วย
05
เพื่อวันนี้และวันข้างหน้า
เพราะรู้ว่าเมื่อเวลาผ่าน ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลง อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีจึงถูกออกแบบด้วยการมองไปข้างหน้าอย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต เช่น ถ้ามีน้ำท่วมอีกรอบหรือถ้ามีคนอยากไฮด์ปาร์่ก พื้นที่ตรงนี้จะรับบทบาทในการเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมทั้งของชาวธรรมศาสตร์และคนทั่วไปอย่างที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้
อาจารย์ปริญญาและอาจารย์กชกรกล่าวทิ้งท้ายว่า การสร้างอุทยานฯ แห่งนี้ ก็เหมือนกันการปลูกต้นไม้เฉพาะถิ่นลงในพื้นที่ที่เหมาะสม แล้วจากนั้นก็ปล่อยให้มันเติบโตไปพร้อมสภาพแวดล้อม สังคมและผู้คน

แม้จะมีกรอบแนวคิดที่แสดงความเป็นธรรมศาสตร์อันมีเอกลักษณ์ชัด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ออกแบบทุกอย่างชนิดจบบริบูรณ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ อุทยานแห่งใหม่ของชาวธรรมศาสตร์ รังสิต จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกคิดมาเพื่อวันนี้และวันข้างหน้า
“การพัฒนาชาติจะต้องคำนึงถึงการทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมประชาชนด้วย เวลาที่เราจะพิจารณาถึงเรื่องการพัฒนา จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์สำหรับสาธารณะและอันเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลภายหลังต่อไปด้วย”
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ.ศ. 2514
