การเที่ยวตามเส้นทางรถไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ออกจะสนุกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเส้นที่ผ่ากลางย่านเมืองเก่าอย่างสายสีน้ำเงิน (MRT) หรือผ่าใจกลางเมืองหลากหลายย่านแบบสายสีเขียว (BTS) หรือออกไปชานเมืองอย่างรถไฟ รฟท. แต่ที่เราว่าง่ายที่สุดที่จะออกไปเที่ยวในแบบฉบับของการเดท หรือใช้เวลากับคนพิเศษแบบเต็มวันและมีความวาไรตี้ก็คงไม่พ้นสถานที่ที่ไม่ค่อยวุ่นวายมาก หรือสถานที่ที่มีเวลาพูดคุยทำความสนิทสนมกันให้มากขึ้น และมีรถไฟสายหนึ่งที่เหมาะสมทีเดียว นั่นคือ สายสีเขียว หรือบีทีเอสที่เราคุ้นเคยกัน
ปกติแล้วเราเองชอบเที่ยวตามแนวรถไฟอยู่แล้ว และคิดว่ามันคงจะดีนะถ้าสมมติว่า (ย้ำ สมมติว่า) เราได้เดทกับใครสักคนแล้วเที่ยวไปตามทางรถไฟเพื่อมีเวลาได้พูดคุยกันมันคงสนุกไม่น้อย แต่ตอนนี้ไม่มีใครเลยลองเที่ยวคนเดียวไปก่อน เส้นาทงของการเที่ยวนั้นคงใช้คำว่าไปเรื่อย ๆ ดีกว่า ซึ่งถ้านั่งไปเรื่อย ๆ แล้วลองทำความรู้จักย่าน ๆ นั้นไปด้วยมันก็คงเหมือนการล่า RC ไปอีกแบบ
ว่าแต่จะเริ่มต้นยังไง
อันดับแรก มาทำความรู้จักกับรถไฟสายสีเขียวหรือ BTS ก่อน
ที่เรียกว่า BTS เพราะว่าในช่วงที่กรุงเทพมหานครริเริ่มโครงการ ได้ให้สัมปทานการก่อสร้างและเดินรถกับเอกชน บริษัทที่ได้เป็นผู้ดำเนินการสายนี้คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จึงมีการเรียกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส
ลักษณะเส้นทางแบ่งเฉดสีเขียวออกเป็น 2 เฉด
สายสีเขียวอ่อน หรือสายสุขุมวิท เริ่มต้นจากสถานีคูคต จังหวัดปทุมธานี มาตามถนนพหลโยธิน ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หมอชิต อนุสาวรีย์ชัย สยาม แล้วเข้าสู่ถนนสุขุมวิท ผ่านอโศก เอกมัย อ่อนนุช บางนา เข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการที่สำโรง ปากน้ำ และไปสุดสายที่สถานีเคหะฯ มีความยาว 50 กว่ากิโลเมตร และเป็นรถไฟ Metro ที่ยาวที่สุดด้วย
สายสีเขียวเข้ม หรือสายสีลม เริ่มต้นจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ผ่านสยาม เข้าศาลาแดง สะพานตากสิน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปวงเวียนใหญ่ แล้วไปสุดที่สถานีบางหว้า เป็นสายที่สั้นกว่าเขียวอ่อนมาก
ทั้งสองสายมีการเชื่อมต่อที่สถานีสยามซึ่งอยู่ใจกลางเมือง ปกติแล้วถ้าเราจะเปลี่ยนจากเขียวอ่อนไปเขียวเข้ม หรือเขียวเข้มไปเขียวอ่อนก็ต้องใช้สถานีสยามนี่แหละในการเปลี่ยนขบวนเปลี่ยนเส้นทาง แต่ถ้าโชคดีเราก็อาจจะได้เจอขบวนรถข้ามสายจากเขียวอ่อนไปเขียวเข้มได้
นอกจากนั้นแล้วเรายังมีสิ่งหนึ่งอยากให้ทุกคนสังเกต คือสีประจำสถานี ที่จะอยู่บริเวณราวสถานี ราวบันได และหลาย ๆ ส่วนประกอบ เพื่อให้คนนั่งรู้ว่าตอนนี้ขบวนรถของเราอยู่ในโซนไหนแล้ว
ขอโน้ตไว้ก่อนว่าสีประจำสถานีนั้นอยู่เฉพาะส่วนสัมปทานที่สร้างโดย BTS เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับส่วนต่อขยายที่สร้างโดย รฟม. และกรุงเทพมหานคร
สถานีสยาม เป็นศูนย์กลางของเส้นทาง ตัวสถานีใช้สีแดง จากนั้นจะแยกออกเป็นทิศ รวมถึงรหัสประจำสถานี
ทิศเหนือ ใช้สีส้มประจำสถานี ใช้รหัสตัวย่อ N เริ่มตั้งแต่ราชเทวี N1 ไปเรื่อย ๆ จนถึงคูคต 24
ทิศตะวันออก ใช้สีเขียวอ่อนประจำสถานี โดยสถานีโซนนี้จะใช้รหัสตัวย่อ E เริ่มตั้งแต่ชิดลม E1 ไปถึงเคหะฯ E23
ทิศตะวันตก ใช้สีฟ้าประจำสถานี มีเพียงสถานีเดียวเท่านั้นคือสนามกีฬาแห่งชาติ รหัส W1
ทิศใต้ ใช้สีม่วงประจำสถานี เริ่มตั้งแต่สถานีราชดำริ S1 ไปจนถึงสถานีบางหว้า S12
เอาล่ะ เมื่อมารู้จักกับรถไฟฟ้าบีทีเอสคร่าว ๆ แล้ว ก็เริ่มออกเดินทางกันเลยแล้วกัน
ก่อนอื่น ถ้าจะเที่ยวแบบขึ้นลงเยอะขนาดนี้ ถ้าซื้อตั๋วรายเที่ยวก็คงไม่มีเงินไปกินไปเที่ยวกันแล้ว เราเลยแนะนำให้ซื้อ ‘ตั๋ววัน’ เป็นบัตรโดยสารที่ใช้ได้ไม่จำกัดเที่ยวในวันที่ซื้อ จะขึ้นจะลงกี่สถานีในระบบบีทีเอสก็ตามในราคาแค่ 140 บาท เหมาะกับการเที่ยวรายทางบีทีเอสแบบจุก ๆ ทั้งใกล้ ทั้งไกล ยิ่งเข้า-ออก ระบบบ่อย ๆ เท่าไหร่ยิ่งคุ้ม ตั๋ววันจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทาง
สถานที่ที่เราจะเที่ยวได้ในเส้นทางนั้นมีเยอะมาก ถ้าหากจะจัดคอร์สให้สักคอร์ส แบบเริ่มต้นกันง่าย ๆ ไม่หอบ เราอยากให้เริ่มต้นที่สถานีหมอชิตก่อนเลย และแน่นอนว่าที่นั้นคงไม่พ้น ‘ตลาดนัดจตุจักร’
หมอชิต (N8) : ตลาดนัดจตุจักร
ตลาดนัดจตุจักร หรือ เจเจ เป็นแหล่งช้อปปิ้งที่หนึ่งที่ได้รับความนิยมของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากสถานีหมอชิตเดินตามถนนพหลโยธินมาเรื่อย ๆ ก็จะเจอทางเข้า ถ้าอยากจะเริ่มต้นที่นี่โดยไม่ต้องมาบีทีเอสก็ให้นั่ง MRT สายสีน้ำเงินมาลงที่สถานีกำแพงเพชรได้ ก็จะโผล่มาในตลาดเลย
เจเจ มีโซนขายของทั้งหมด 27 โครงการ มีตั้งแต่เสื้อผ้า งานหัตถกรรม หนังสือเก่า ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง งานศิลปะ ของแต่งบ้าน เครื่องปั้นดินเผา และเยอะแยะไปหมด ชนิดที่ว่าถ้าใช้เวลาเดินคงเต็มวัน แต่ถ้าใครที่มีหมุดหมายอยู่แล้วว่าอยากจะซื้ออะไร อยากจะเดินโซนไหนก็คงไม่ยาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักช้อปวัยรุ่นก็จะมาเลือกซื้อเสื้อผ้า
ที่ให้เริ่มต้นจตุจักรก่อน เพราะช่วงเช้าอากาศและผู้คนจะไม่สาหัสเท่าช่วงบ่าย แนะนำให้มาตั้งแต่ 9 โมงจนถึงไม่เกิน 11 โมง (2 ชั่วโมงก็ลิ้นห้อยแล้วนะ) มีเวลาเพียงพอที่จะซื้อเสื้อผ้าได้สบาย ๆ หรือจะเลือกพักเท้าด้วยของกินอร่อย ๆ ในตลาด ทั้งกาแฟสดที่มีให้เลือกหลากหลายแบบตั้งแต่ชงง่ายยันสโลว์บาร์ หรือที่กำลังเป็นที่พูดถึงก็คงไม่พ้นน้ำหวานเฮลบลูบอยโซดาที่มีทั้งน้ำแดง ซาสี่ มะลิ ครีมโซดา ดูดกินชื่นใจ
ขอโน้ตไว้ว่าตลาดนัดจตุจักรอากาศค่อนข้างร้อน ถ้าใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ มาเดินก็จะไม่ทำให้เสียพลังมากเพื่อให้ไปเที่ยวที่ต่อไปได้
จากตลาดนัดจตุจักร เราเดินทางต่อไปคาเฟ่เย็น ๆ ที่ทองหล่อได้ เส้นทางรถไฟช่วงนี้จะผ่าใจกลางเมืองในส่วนที่สำคัญ ๆ และมีสถานที่ให้เราแวะได้ (ถ้ามีเวลาหรือแพลนสำหรับทริปถัดไป) เช่น สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็มีพระราชวังพญาไทซึ่งเป็นพระราชวังในช่วง ร.5 ที่สถาปัตยกรรมสวยงามมาก สถานีพญาไท มีวังสวนผักกาดที่เป็นเรือนไทยของราชสกุลบริพัตรที่ปรับเป็นมิวเซียมที่น่าสนใจ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ มีหอศิลป์ BACC ที่แสดงงานศิลปะและนิทรรศการน่าสนใจ รวมถึงพิพิธภัณฑ์จิมป์ทอมป์สันในซอยข้าง ๆ
พอเข้าโซนสายสุขุมวิทก็มีสถานีอโศกติดกับห้าง Terminal 21 ที่ฟู้ดคอร์ต Pier21 อาหารหลากหลายและราคาถูก จนมาถึง ทองหล่อ สถานีปลายทางแรกของทริปนี้
ทองหล่อ (E6) : Voiij Coffee & Stuff
จากรถไฟฟ้าให้ออกประตู 3 จากปากซอยทองหล่อ เดินเข้าซอยไปประมาณ 1 กิโลนิด ๆ หรือถ้าไม่อยากเดินก็นั่งวิน 10 บาท คาเฟ่ Voiij Coffee & Stuff ซ่อนตัวอยู่ด้านหลังของอาคารปานจิตต์ ทาวเวอร์
ครั้งแรกที่เราค้นคาเฟ่น่าสนใจเพื่อพักเหนื่อย Voiij ทำให้เราหยุดที่จะเลื่อนนิ้วไปบนหน้าจอได้ การตกแต่งอาคารเหมือนบ้านเก่าให้ดูอบอุ่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเข้าไปนั่งพร้อมจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ กับบรรยากาศของห้องนั่งเล่นรับแขกที่อยากล้มตัวลงไปนอน มีกลิ่นอายญี่ปุ่นนิด ๆ ทำให้เราเลือกจะมาที่นี่ได้ไม่ยาก
จุดเด่นของร้านคือการจัดโทนให้รู้สึกแบบมากินกาแฟบ้านเพื่อน มุมที่เราชอบที่สุดคือห้องกระจกขนาดใหญ่ที่มีโซฟาเล็ก ๆ ในนั้น เครื่องดื่มที่นี่ก็มีหลายแบบทั้งกาแฟ โซดา ช็อกโกแลต พร้อมขนมโฮมเมดอีก 4 – 5 อย่างที่เราจะได้รับคำแนะนำจากบาริสต้าว่ามีอะไรให้กินได้บ้าง แล้วค่อยเลือกเครื่องดื่มที่เข้ากัน
ชื่อของร้าน Voiij เกิดจากคำว่า Voyage เจ้าของร้านคือคุณจูเนียร์เล่าให้ฟังว่า ชอบเที่ยวต่างประเทศ ตอนแรกจะตั้งชื่อว่า Voyage แต่มีคนใช้ไปหมดแล้ว เลยไปเจอว่าถ้าดูคำว่า Voyage ในพจนานุกรมจะมีวิธีการอ่านออกเสียงห้อยท้ายเอาไว้ว่า Voiij ก็ลงตัวที่ชื่อนี้
เพราะอากาศที่ร้อน เราเลยสั่งยูซุโซดากับเค้กเลม่อนมากิน ฟังเพลงเบา ๆ สบาย ๆ ดูสไตล์การตกแต่งร้านแล้วเอาไปคิดต่อว่าจะต้องซื้ออะไรมาตกแต่งแบบไหนบ้าง ดูเหมือนว่าคาเฟ่นี้จะไม่ใช่แค่คาเฟ่ที่ตกแต่งสวย ๆ มีเครื่องดื่มดี ๆ แต่ผ่านการคิดมาแล้วว่าคนที่มาจิบกาแฟที่นี่ต้องได้รับการพักผ่อนทั้งกายและใจเหมือนอยู่ในบ้านหลังนึงที่อบอุ่น
และเหมือนจะมีพลังที่ดึงดูดให้เรานั่งจนไม่อยากขยับไปไหนเลย
ถ้ามีบ้าน เราก็คงแต่งแบบนี้แหละ
พักได้ระยะหนึ่งก็ต้องเดินทางต่อไปสถานที่ถัดไปซึ่งน่าจะเป็นไฮไลต์ด้วย ปลายทางของเราคือสถานีปากน้ำ จากทองหล่อให้เดินทางต่อไปอีก เราอยากบอกทุกคนว่าสายสีเขียวอ่อนมีระยะทางที่ยาวมาก เลยมีขบวนรถไฟตัดเสริมแทรกเข้ามาในแต่ละเที่ยว เช่น บางขบวนจะวิ่งแค่หมอชิต บางขบวนจะวิ่งแค่สำโรง หรือบางขบวนไปแค่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิธีดูง่าย ๆ ตรงหัวขบวนจะมีหน้าจอตัวอักษรวิ่งอยู่เหนือหน้าต่าง มันจะคอยบอกว่าขบวนนั้นจะไปปลายทางที่ไหน ซึ่งถ้าเราเดินทางไปโซนสมุทรปราการ จะมีขบวนตัดเสริมสำโรง ถ้ารถไฟขบวนนั้นวิ่งมาและป้ายไฟวิ่งสีเหลืองเขียนว่า ‘เคหะฯ’ ก็ขึ้นขบวนนั้นได้เลย
ปากน้ำ : หอชมเมืองสมุทรปราการ
จากทองหล่อ รถไฟวิ่งไปตามถนนสุขุมวิท ผ่านบางนา เข้าเขตสมุทรปราการที่สำโรง วิวบนรถไฟช่วงนี้ค่อนข้างน่าดูเพราะยังไม่มีตึกสูงมากนัก เราจะมองเห็นโรงกลั่นน้ำมันบางจากอยู่ไกล ๆ เห็นบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ต่ำกว่าระดับทางรถไฟ เห็นสะพานภูมิพล และถ้าวันไหนฟ้าเปิดมาก ๆ จะมองเห็นเขาเขียวชลบุรีจากหน้าต่างรถไฟฟ้าด้วย
เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาปรากฏกายที่หน้าต่างรถไฟ เราจะผ่านสถานีโรงเรียนนายเรือ ให้เตรียมตัวลงได้เลย สถานีปากน้ำเป็นสถานีถัดไป
สถานีปากน้ำ ตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ จะว่าไปแล้วทางรถไฟสายสีเขียวส่วนนี้ทับเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย ที่เริ่มต้นจากสถานีหัวลำโพงไปจนถึงสถานีปากน้ำด้วย ถนนสุขุมวิทช่วงตั้งแต่ช้างเอราวัณถึงปากน้ำก็สร้างทับแนวเส้นทางรถไฟสายปากน้ำด้วยเช่นกัน จากสถานีปากน้ำเราเดินไปริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อดูวิวตากลมเย็น ๆ ก่อนไปที่หอคอยชมเมืองได้ ฝั่งตรงข้ามคือพระสมุทรเจดีย์ มองไปทางขวาคือแนวตึกสูงย่านพระราม 3 สาทร สุขุมวิท ที่มองเห็นได้จากเมืองสมุทรปราการ เรือสินค้าเดินสมุทรขนาดใหญ่แล่นเคลื่อนผ่านไปเป็นระยะ ๆ บรรยากาศในช่วงบ่ายค่อนข้างดีทีเดียว ชมวิวสักพักก็นั่งมอเตอร์ไซค์ไปที่หอชมเมืองสมุทรปราการได้เลย
ยอมรับว่าเห็นมานาน แต่ก็ไม่เปิดสักที ในที่สุดก็เปิดจนได้ ที่นี่สร้างให้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ แหล่งการเรียนรู้ และที่ชมวิว ด้านหน้ามีรถจักรไอน้ำสีดำกับรถรางสีเหลืองแดงจอดอยู่ ถึงแม้ว่ารถจักรคันนี้จะเป็นรถจักรไอน้ำของสายแม่กลอง แต่ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ถึงการเป็นเมืองปลายทางรถไฟสายแรกของสยามได้
หอชมเมืองสมุทรปราการสามารถดูวิวได้ 360 องศาบนชั้นที่ 23 ส่วนด้านล่างเป็นส่วนจัดแสดงและมีผู้นำชมคล้าย ๆ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งต้องลงทะเบียนและต่อคิวก่อนรับชม แต่ถ้าใครอยากพุ่งตัวมาชมแค่วิว เพียงกดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้น 23
ออกมาจากลิฟต์พบกับกระจกที่รายล้อมและเห็นวิวกันแบบ 360 องศา ถ้าวันฟ้าเปิดจะเห็นทัศนียภาพไกลถึงชลบุรี
แล้วเราเห็นอะไรจากบนนี้บ้าง
เริ่มทีละทิศก่อนเลย ถ้าเราอยู่ฝั่งแม่น้ำคือทิศตะวันตก จะมองเห็นแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทอดผ่านสมุทรปราการและกรุงเทพฯ บางส่วน เห็นความเขียวของฝั่งตรงข้ามเมือง ดูเรือลำใหญ่ (ที่ลำเหลือนิดเดียวจากหอคอย) พระสมุทรเจดีย์
ทิศใต้ เห็นปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างมาก มองไปลิบ ๆ จะเห็นเรือเดินทะเลอยู่ปากอ่าว รวมถึงเกาะสีชังไกล ๆ
ทิศตะวันออก เห็นเมืองทางฝั่งบางปู มีแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวยาวเป็นสาย มองไปไกล ๆ จะเห็นเขาเขียว จ.ชลบุรี หรือถ้าซูมจากกล้องก็จะเห็นท่าเรือแหลมฉบังด้วย หากใครตาดีก็จะเห็นเครื่องบินเทคออฟจากสนามบินสุวรรณภูมิอีกต่างหาก
ทิศเหนือ มองเห็นกรุงเทพฯ แนวแม่น้ำโค้งไปมา คุ้งบางกะเจ้า ทางรถไฟฟ้าบนถนนสุขุมวิท และฉากหลังเป็นตึกสูงย่านสุขุมวิท สาทร พระราม 3 อยู่ไกลลิบ ๆ
บนนี้เราใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ การมองดูเมืองผ่านมุมสูงโดยรอบ ๆ ไม่มีอาคารสูงที่ใกล้เคียงทำให้มุมมองของเมืองนั้นมันยิ่งสวยงามเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะเมืองที่มีส่วนผสมของทั้งบ้านเรือน อาคาร แม่น้ำ ต้นไม้ ปากอ่าว หรือแม้แต่ภูเขาที่มองเห็นได้ชัดเจน
เซนต์หลุยส์ (S4) – สะพานตากสิน (S6) : ดูตึก – ล่องเจ้าพระยา
เวลาบ่ายแก่ ๆ เราเดินทางย้อนข้ามไปอีกสายเพื่อไปอีกจุดโรแมนติกและชิลล์ ๆ นั่นคือแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสาทร เราต้องนั่งรถไฟจากปากน้ำยาวไปที่สยาม (CEN) เพื่อเปลี่ยนขบวนเป็นสายสีลม (เขียวเข้ม) ไปที่สถานีสะพานตากสิน
แต่ด้วยความที่เส้นนี้ผ่านย่านธุรกิจที่มีตึกและทัศนียภาพสวย เราเลยขอเลือกลงที่สถานีเซนต์หลุยส์ (S4) สถานีน้องใหม่ล่าสุดเพื่อถ่ายรูปรถไฟฟ้ากับตึกสวย ๆ ก่อน
สถานีเซนต์หลุยส์ เดิมชื่อสถานีศึกษาวิทยา เป็นสถานีในอนาคตที่เป็นสถานีทิพย์คู่กับสถานีเสนาร่วมที่ยังไม่ได้สร้าง เนื่องจากพื้นที่ระหว่างสถานีช่องนนทรีและสุรศักดิ์ มีชุมชนและผู้ใช้บริการค่อนข้างเยอะ รวมถึงโรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน สถานีศึกษาวิทยาเลยถูกปลุกผีขึ้นมา ก่อสร้างระหว่างที่มีรถวิ่งไปด้วยและเปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์หลุยส์ให้สอดคล้องกับพื้นที่โดยรอบที่คนรู้จักมากกว่าศึกษาวิทยาที่เป็นชื่อซอย
ขอบคุณรถไฟฟ้าบีทีเอสมากที่ให้ผู้โดยสารเดินไปถ่ายรูปเล่นปลายชานชาลาได้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้โดยสารต้องไม่อยู่ในพื้นที่ต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
ปลายชานชาลาฝั่งสถานีช่องนนทรี มองเห็นตึกมหานครที่เป็นกระจกสีเข้มตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินจัด มองไปไกล ๆ เห็นทางรถไฟตีโค้งซ้ายและมีสะพานสีขาวที่คร่อมแยกสาทร-นราธิวาส เอาไว้ เมื่อรถไฟขบวนแล้วขบวนเล่าวิ่งผ่านมา ก็จะเห็นภาพของรถไฟโค้งไปกับทางและฉากหลังเป็นตึกสูงของถนนสาทรเหนือและสาทรใต้
ถ่ายรูปหนำใจแล้วก็เดินทางต่อไปอีก 2 สถานีถึงสะพานตากสิน
สถานีสะพานตากสิน เป็นสถานีที่ประหลาด มีทางรถไฟเพียง 1 ทาง และ 1 ชานชาลาเท่านั้น เพราะตัวสถานีสร้างอยู่ตรงซอกของสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขบวนรถไฟจะต้องมีการรอหลีกที่นี่เพื่อเข้าสถานีได้ทีละขบวน
ตอนแรกสถานีนี้จะเป็นเพียงสถานีชั่วคราวและจะรื้อเมื่อข้ามไปฝั่งธนบุรีแล้ว แต่ด้วยความคับคั่งของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้คนย่านบางรักและคนที่ต่อเรือเจ้าพระยา ทำให้สถานีต้องอยู่ต่อ โดยจะมีการปรับปรุงสถานีให้กลายเป็นทางคู่ มีชานชาลาเพิ่มอีก 1 ชานให้เหมือนกับสถานีทั่วไป และเบี่ยงเลนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินไปข้าง ๆ เพื่อให้มีช่องว่างพอที่จะวางชานชาลาตรงกลางซอกนั้นได้
เช่นเดียวกันที่ปลายชานชาลา มุมนี้เหมือนมุมมหาชนที่คนจะชอบถ่ายรูปรถไฟอีกขบวนที่กำลังจะเข้าสถานี บางขบวนก็จะหยุดเป็นเป้านิ่งให้เราถ่ายรูปได้แล้วฉากหลังเป็นตึกสูง เป็นเอกลักษณ์ของสถานีสะพานตากสินเลยล่ะ
เมื่อเราลงจากสถานีไปก็จะเชื่อมต่อกับท่าเรือสาทรที่ให้เลือกได้ว่าจะนั่งเรือฟรีไปไอคอนสยาม ไปเอเชียทีค หรือจะนั่งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือ Mines Ferry ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางราชวงศ์ สะพานพุทธ วัดอรุณ หรือวังหลังก็ได้ การชมวิวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราชอบ และพาเราไปที่เที่ยวใหม่ ๆ ที่อยู่ย่านใจกลางเมืองเก่ากรุงเทพฯ ได้เหมือนกัน ไว้รอบหน้าเราจะพาเที่ยวอีกรูทหนึ่งที่สายเมืองเก่าจะประทับใจไม่รู้ลืม
สยาม (CEN) : Siam Walking Street
กว่าจะเที่ยวครบพระอาทิตย์ก็คล้อยลับฟ้า แสงเย็นสวยงามอย่าบอกใคร ที่สุดท้ายที่ไปจบทริปได้นอกจากริมแม่น้ำ เพียงแค่นั่งเรือย้อนกลับมาท่าสาทรอีกครั้ง แล้วจับรถไฟไปสยาม
สยามแสควร์ แหล่งรวมวัยรุ่น แฟชั่น และกิจกรรม ยิ่งช่วงนี้มีถนนคนเดินสยามที่มีของน่ารัก ๆ ขาย ก็ยังมีกิจกรรมเต็มถนนในสยามร้อน ทั้งการแสดงดนตรีจากน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษา คัฟเวอร์แดนซ์ หรือถ้าบางทีจังหวะดีก็จะมี K-Pop Random Dance ให้เราไปแจมกันได้อีกด้วย
นอกจากบนถนนแล้ว ในส่วนห้างหรือส่วนตึกต่าง ๆ ในสยามก็มีที่ให้เดทกันได้อีก
ใครอยากจะชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน ก็ให้ไปที่ตึก SIAMSCAPE ชั้น 10 ออกไปรูฟท็อปดูแสงสุดท้ายของวันค่อย ๆ คล้อยลับตา
ใครอยากไปถ่ายรูปกับเพื่อนหรือคนรู้ใจก็ไปที่ Lido Connect มีตู้ถ่ายรูปเยอะแยะ นึกถึงสมัยเราเด็ก ๆ ที่ต้องถ่ายรูปตู้สติกเกอร์เป็นกิจกรรมวัยรุ่นยุค 90 – 00
หรือใครอยากจะดินเนอร์กันที่นี่ก็มีร้านอาหารให้เลือกเยอะไปหมด น่าจะเป็นการจบทริปที่ดีสำหรับการเที่ยวตามแนวรถไฟฟ้าใน 1 วันก็ได้
ลองออกแบบการเดินทางของคุณเอง แล้วมาเล่าให้อ่านกันบ้างนะ
ภาพ : วันวิสข์ เนียมปาน และ รัฐศิลป์ ภวันตพงศ์
เกร็ดท้ายขบวน
- จะเลือกตลาดนัดจตุจักรเป็นรายการสุดท้ายก็ได้ แต่ต้องดูเวลาดี ๆ ว่าปิดกี่โมง และส่วนใหญ่ช่วงเย็นร้านก็จะปิดเยอะแล้ว
- ทองหล่อ เอกมัย ย่านนี้คาเฟ่ค่อนข้างเยอะ ลองดูมาก่อนคร่าว ๆ ว่าอยากไปที่ไหนก็จะช่วยวางแผนการเดินทางได้ดี
- ถ้าใครอยากเลือกที่จะจบทริปที่บางปู ก็ให้นั่งรถไฟไปลงสถานีเคหะฯ สุดสายปลายเขียวอ่อน แล้วนั่งแท็กซี่ต่อไปอีกไม่ไกลมาก บางช่วงจะมีนกนางนวลเต็มสะพาน ดูพระอาทิตย์ตกดิน กินข้าวที่ร้านอาหาร โรแมนติกสุด ๆ