17 ตุลาคม 2024
1 K

ภายในห้องสี่เหลี่ยมโล่งโปร่ง เดรสสีเหลืองตัวยาวบนหุ่นเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาเรา เพราะมันคล้ายชุดที่ อนงค์ เพิ่งใส่ไปปิกนิกกับ ชัด และ คุณพระวิชัย เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน

ราวแขวนผ้าที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ อัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าที่น่าจะเป็นของอนงค์เช่นเดียวกัน นี่เป็นของที่ เก๋-วิริยา พงศ์ขจร เตรียมไว้ให้เราประกอบการเจอกันครั้งนี้

เก๋ หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ ‘Verasalon’ คือ Costume Designer ออกแบบเสื้อผ้าให้ตัวละครมากว่า 80 เรื่อง ผลงานล่าสุดของเธอคือละครเรื่อง หนึ่งในร้อย (My Cherie Amour) ซึ่งออกอากาศอยู่ทางช่อง 3 HD มี อนงค์ (รับบทโดย ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์) และ คุณพระวิชัย (รับบทโดย ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร) เป็นตัวเอก

คำชมเชยหนึ่งที่ถูกพูดถึงพร้อมกับละครเรื่องนี้ คือความสนุกสุดเหวี่ยงในการออกแบบเสื้อผ้าตัวละคร ซึ่ง Verasalon อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้น เธอสรรสร้างตัวละครอนงค์ให้เป็นแฟชั่นนิสต้าในยุค 50 ส่วนคุณพระวิชัยเป็นชายหนุ่มสุดเนี้ยบ และตัวละครอื่น ๆ ที่โดดเด่นในแบบของตัวเอง

“ละครเรื่องนี้มีฉากหลังเป็นโลกแห่งความฝันและความรัก ผู้จัดไม่ได้อยากเน้นความเป็นจริงมากนัก หน้าที่ของเราคือทําอย่างไรก็ได้ให้ญาญ่าสวยที่สุด เพราะสิ่งที่คนอยากเห็น คือคุณอนงค์ที่สวยในทุกชุด รวมถึงตัวละครอื่น ๆ ด้วย”

เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ตัวละครสวมใส่อาจไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญที่ชี้ได้ว่าละครเรื่องนั้นดีหรือไม่ (ยกเว้นว่าเนื้อหาละครพูดถึงเรื่องนี้เป็นหลัก) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะภายนอกของตัวละครนับเป็นวิธีสื่อสารหนึ่งที่จะทำให้คนดูเข้าใจพวกเขา และเนื้อหาในเรื่องอาจส่งอิทธิพลทำให้คนอยากแต่งตัวตาม กลายเป็นเทรนด์อย่างหนึ่ง

คอสตูมจากฝีมือเก๋ก็เคยสร้างเทรนด์คนใส่ตาม ไม่ว่าจะสารพัดชุดเดรสของ หม่อมเจ้าหญิงวรรณรสา อรุณรัศมิ์ ใน สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายปวรรุจ หรือแต่งตัวเป็นสาวโบฮีเมียนตาม มาตาลดา จากเรื่อง มาตาลดา

เบื้องหลังการรังสรรค์สารพัดชุดสวยของ Verasalon จะเป็นอย่างไร เก๋เตรียมเปิดประตูตู้เสื้อผ้ารอเราแล้ว

เด็กสาวช่างจินตนาการ

‘นิยาย’ คือสิ่งที่เก๋โปรดปรานตั้งแต่เป็นเด็กหญิงจนถึงเติบใหญ่ เธออ่านนิยายแทบทุกประเภท แต่ชอบนิยายย้อนยุคมากที่สุด เป็นเหตุผลให้เธอเลือกทำงานกับเสื้อผ้าของละครย้อนยุคมากที่สุดเช่นกัน 

“อ่านแล้วมันฟินไปกับความรักของพระเอกนางเอก เพราะแทบจะหาความรักแบบนั้นในสมัยนี้ได้ยากแล้วนะ” เธอว่า 

ระหว่างที่พลิกหน้ากระดาษนิยาย เธอจะค่อย ๆ แปลงตัวอักษรให้กลายเป็นภาพตัวละคร ภาพสถานที่ในเรื่อง

“เราชอบจินตนาการเวลาอ่านนิยาย ชอบนึกภาพตามว่านางเอกรูปร่างเป็นอย่างไร เขาจะแต่งตัวแบบไหน” 

เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เธอหลงใหลเสื้อผ้าและชอบการแต่งตัว เก๋ระบายความชอบนี้ผ่านการเล่นตุ๊กตากระดาษ จัดเสื้อผ้าให้ตุ๊กตาอย่างสนุกสนาน แต่ครอบครัวของเก๋ไม่ได้สนับสนุนความชอบนี้ 

เมื่อโตขึ้น เก๋เลือกเรียนต่อด้านโรงแรม แต่คู่กันแล้วไม่แคล้วกันหรอก เพราะในที่สุดโอกาสก็มาหา เมื่อมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง กิ่ง เอกกิ่ง ทำงานเป็นสไตลิสต์อยู่ที่นิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ ชวนเก๋มาทำงานด้วยเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เธอชอบ

“เราไปทันที” เก๋แทบจะไม่ต้องคิดเมื่อได้ยินคำชวนนี้ “ใจเราชอบอยู่แล้ว เราชอบแต่งตัว ชอบเสื้อผ้า ใครมาชวนคือพร้อมสุด ๆ” 

เก๋ได้เข้ามาในวงการคอสตูมดีไซเนอร์ ด้วยการเริ่มทำงานเป็นสไตลิสต์ช่วยจัดเสื้อผ้าให้นางแบบนิตยสาร ก่อนขยับมาจัดเสื้อผ้าให้พิธีกรรายการ จนลูกพี่ลูกน้องคนเดิมพาเก๋มารู้จักกับ เบิร์ท-ธวัชชัย เพชรวารา คอสตูมดีไซเนอร์ชื่อดัง 

การรู้จักครั้งนั้นก็ทำให้เบิร์ทชวนเก๋มาเป็นลูกมือจัดคอสตูมสำหรับละคร เพราะเขามีแผนวางมือไปทำงานอื่น เลยอยากได้ตัวตายตัวแทนที่จะถ่ายทอดความรู้วิชาให้ ละครเรื่องแรกที่เก๋ได้เป็นผู้ช่วยคอสตูมดีไซเนอร์ คือ กุหลาบสีดำ นำแสดงโดย หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส

แต่เจอบรรยากาศการทำงานเรื่องแรก เก๋ก็เกือบตัดสินใจไม่ไปเสียแล้ว 

“ไม่ใช่เป็นเพราะการออกแบบชุดให้ตัวละครยากนะ แต่ความยากอยู่ที่การใช้ชีวิตในกองถ่ายต่างหาก เราเลยบอกเสมอว่า ใครที่จะมาทำงานนี้คุณต้องพร้อมลุย พร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ถ้าชุดที่เตรียมไว้ไม่ตรงกับเรื่องราวในฉาก หรือนักแสดงใส่ชุดไม่ได้ คุณต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดให้ได้ เพื่อให้งานเดินหน้าต่อได้ ไม่ใช่หยุดชะงักรอเรา”

เก๋ไม่ได้ล้มเลิกและยังคงไปต่อ เธอทำงานเป็นผู้ช่วยเบิร์ทได้ประมาณ 3 เรื่อง ก็ขึ้นแท่นเป็นคอสตูมดีไซเนอร์เต็มตัว เหตุผลใหญ่ ๆ คือได้จัดเสื้อผ้าให้นางเอกในดวงใจ และสไตล์การแต่งตัวของนางเอกไม่หนีจากสไตล์ของเธอ

“นางเอกจะแต่งตัวสไตล์โบฮีเมียน คล้ายกับที่เราแต่งอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่าไม่ยาก นางเอกของเรื่องก็เป็นพี่หมิว เราโตมากับละครพี่หมิว เขาเป็นดาราในดวงใจเราเลย และเราได้โอกาสจาก พี่แดง (ธัญญา โสภณ) กับ พี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ด้วย เขาคอยสนับสนุนเรา เป็นคนถามตั้งแต่แรกเลยว่า เก๋กล้าทําไหม จะได้เลื่อนขั้นจากผู้ช่วยมาทําเต็มตัว ตอนแรกเราคิดว่ามันยากเหมือนกัน แต่ในเมื่อเขาให้โอกาสแล้วเรารู้สึกว่าต้องทำให้เต็มที่”

คอสตูมสไตล์ Verasalon

ความเป็นหนอนหนังสือทำให้วิธีทำงานของเก๋เริ่มจากการอ่านบทละคร

“บทต้องมาเป็นสิ่งแรก เราต้องอ่านบทก่อนจะได้รู้เนื้อหา และจินตนาการออกมาได้ว่าตัวละครจะแต่งตัวประมาณไหน คุยกับผู้จัดว่าเขาอยากได้อะไร ภาพตัวละครที่เขาเห็นเป็นแบบไหน จากนั้นค่อยออกแบบสไตล์การแต่งตัวของแต่ละตัวละคร”

ในการออกแบบเก๋จะยึดคาแรกเตอร์ของตัวละครเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวในละคร ขณะเดียวกันนักแสดงที่มารับหน้าที่ถ่ายทอดตัวละครนั้น ๆ เก๋นำพวกเขามาเป็นหนึ่งในสมการออกแบบด้วย

“เวลาจินตนาการเราต้องรู้ด้วยว่าใครเป็นคนใส่ เราจะได้รู้ว่ารูปร่างคนใส่ประมาณไหน เขาเหมาะหรือไม่เหมาะกับอะไร ไม่ใช่ออกแบบไปเต็มที่เลยว่าตัวละครตัวนี้ต้องชอบใส่เดรสสั้นสุด ๆ เป็นคนเซ็กซี่เต็มที่เลย แต่คนเล่นดันใส่ไม่ได้”

เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน เก๋และทีมจะออกแบบสไตล์การแต่งตัวของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องอย่างคร่าว ๆ เพื่อไปเสนอทีมงาน หากสิ่งที่เก๋คิดผ่านจะเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป คือตามหาเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ แปลงไอเดียให้กลายเป็นของจริง

“เราจะไม่ได้กำหนดชุดเป๊ะ ๆ เช่น ชุดที่ 1 เป็นเดรสสีเขียวลายดอกคู่กับกระเป๋าสีขาว ชุดที่ 2 เสื้อเชิ้ตสีแดงกับกางเกงขายาว แต่เราจะกำหนดเป็นสไตล์การแต่งตัวของตัวละคร แล้วค่อยไปตามหาของที่ตรงกัน มีบางซีนที่กำหนดเลยว่าตัวละครต้องแต่งตัวแบบไหน ซึ่งค่อนข้างยาก ถ้าเวลาไม่พอสำหรับตัดชุด ก็ต้องตามหาของให้เจอ” 

ผลงานล่าสุดที่เก๋ทำเรื่อง หนึ่งในร้อย เป็นละครยุค 50 ทำให้เราคิดว่าเสื้อผ้าของเหล่าตัวละครคงต้องตัดใหม่ทั้งหมด แต่เก๋บอกว่าใช้ทั้งของที่ขายทั่วไป ตามหาของเก่าจากร้านวินเทจ และตัดใหม่โดยเฉพาะ เธอยึดหลักว่าถ้าของชิ้นนั้นตรงกับที่เธอต้องการให้ตัวละครใส่เป็นอันใช้ได้

“ช่วงเวลาในนิยายประมาณปี 1930 แต่บทละครปรับให้เป็นยุค 50 เป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคนไม่ได้แต่งตัวมีสีสันมากนัก แต่ทางผู้จัด (แอน ทองประสม) อยากได้เสื้อผ้าเหมือนอยู่ในยุครีเจนซีของอังกฤษ เขาอยากให้หลุดจากความเป็นจริงไปเลย เหมือนละครเป็นโลกแห่งความรัก-ความฝัน หน้าที่เราเลยคือจะทํายังไงก็ได้ให้ญาญ่าสวยที่สุด เพราะสิ่งที่คนอยากเห็นก็คือคุณอนงค์ที่สวยทุกชุด”

เก๋ผ่านการทำคอสตูมมาหลายเรื่อง เธอเลยมีคลังข้อมูลการแต่งกายของแต่ละยุค เรื่องนี้เป็นโอกาสให้เธอได้งัดเอามาใช้ กลายเป็นความสุดเหวี่ยงของการออกแบบเสื้อผ้าที่ทำให้คนดูเพลิดเพลินไปกับการแต่งตัวของตัวละคร

“ชุดพระเอกบางส่วนเราจะใช้เป็นเสื้อคอปกตั้ง คอปกพับ เป็นชุดที่ผู้ชายนิยมใส่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะตัวละครส่วนใหญ่เราออกแบบให้แต่งตัวสไตล์ฝรั่ง เลยเอาความเป็นไทยมาใส่ที่ตัวคุณพระ ซึ่งเขาเป็นตัวละครที่ Old-fashioned ด้วย”

ละคร 5 เรื่องที่ชอบ

หนึ่งในร้อย

หนึ่งในร้อย เป็นเรื่องที่คิดว่าเราใส่เต็มที่สุด ๆ แล้วในชีวิต ณ ตอนนี้ ปกติเราไม่ได้ไปกองถ่ายทุกวัน จะสลับกับน้อง ๆ ในทีม เพราะทำละครหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราไปกองทุกวัน แล้วก็ดึงตัวพี่เบิร์ทมาช่วยด้วย เลยเป็นเรื่องที่คิดว่าที่สุดแล้วในชีวิตการเป็นคอสตูมดีไซเนอร์ ณ ตอนนี้”

ลิขิตรัก The Crown Princess 

ลิขิตรัก The Crown Princess นับเป็นหนึ่งเรื่องที่ยากสำหรับเราในการทำงาน เพราะไม่เคยทำคอสตูมให้ตัวละครที่เป็นราชวงศ์มาก่อน มีเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเยอะมาก เพราะต้องทำให้ถูกต้อง ไม่งั้นคนดูอาจจะตำหนิได้ คุณแอนก็ไปดึงกูรูด้านต่าง ๆ มาให้คำปรึกษาเราเยอะมาก เป็นการทำงานที่ท้าทายและสนุกเพราะได้ลองอะไรที่แปลกใหม่ ได้ไปต่างประเทศหลายประเทศ เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำเรา”

ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท

ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท เป็นครั้งแรกที่เราได้ทำงานกับช่อง 7HD เจอ ขวัญ (อุษามณี ไวทยานนท์) ด้วย เราไม่เคยทำงานกับเขามาก่อน เป็นการทำงานในพื้นที่ใหม่ ๆ เพราะถ้าเป็นละครช่อง 3 HD เราทำมาเกือบทุกค่ายแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นความแปลกใหม่”

มาดามดัน

มาดามดัน อยู่ในยุคที่เสื้อผ้ากองละครเริ่มซ้ำ ใคร ๆ ก็ยืมแต่แบรนด์นี้ เรามานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้งานของต่างออกมา จนได้มาคุยกับ มิว (นิษฐา คูหาเปรมกิจ) เขาบอกเพื่อนออกแบบเสื้อผ้าอยู่นะ เป็นงานนักศึกษา โชว์รูปให้ดู เราดูแล้วก็รู้สึกว่าสวย เลยไปโกยผลงานนักศึกษามาใช้กับเรื่องนี้ ได้ลองอะไรใหม่ ๆ หลังจากนั้นก็มีคนเริ่มใช้ชุดที่ออกแบบโดยนักศึกษามากขึ้น

พลอย (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) สนุกไปกับเราด้วย เขากล้าที่จะแต่งตัว แฮปปี้ที่ได้ใส่ของแปลก ๆ เหมือนคนชอบแต่งตัว 2 คนมาเจอกัน การทำงานเลยสนุกไปด้วย”

กลกิโมโน

“เราได้ศึกษาเรื่องกิโมโนและเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นเยอะมาก เพราะละครเรื่อง กลกิโมโน ได้ไปที่ที่ถ้าให้ไปเองคงไปไม่ได้ มันเปิดญี่ปุ่นมุมใหม่ ๆ ให้เรามาก”

งานที่ไม่มีภาพจำ

ไม่ต้องดูรายชื่อทีมงาน บางคนก็รู้ทันทีว่าเรื่องไหนเก๋เป็นคนจัดเสื้อผ้า เป็นสิ่งที่เจ้าตัวยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าลายเซ็นของเธอคืออะไร และเธอก็ตั้งใจไม่สร้างภาพจำในงานตัวเองด้วย 

“เราเคยเห็นคอสตูมบางคนที่นางเอกแต่งตัวแบบเดียวกัน ไม่ว่าเรื่องไหนก็ใส่ชุดแบบนี้ ใช้เครื่องประดับสไตล์นี้ แรก ๆ เรารู้สึกว่าเจ๋งนะ แต่พอหลาย ๆ เรื่องจากเจ๋งมันจะกลายเป็นเอ๊ะแทน เราจึงพยายามออกแบบการแต่งตัวให้ไม่ซ้ำในแต่ละเรื่อง”

หลักออกแบบชุดตัวละครที่เก๋คิดว่าเป็นจุดเด่นของตัวเอง คือไม่มีตัวละครไหนแต่งตัวด้อยกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอกหรือไม่ก็ตาม ทุกตัวละครที่ผ่านมือเก๋ต้องดูดีในแบบฉบับของตัวเอง

“เราใส่ใจทุกตัวละคร ไม่ใช่แค่ทำให้นางเอกสวย เราให้ความสำคัญกับทุกคนในฉาก บางกองอาจให้ตัวประกอบแต่งตัวมาเอง แต่เราจะบอกเลยว่าอยากให้เขาแต่งมาประมาณไหน หน้างานจริงเราต้องพิจารณาอีกทีว่าที่เขาแต่งมาได้ไหม ถ้าไม่ได้เรามีของเตรียมปรับให้ เราว่าทำแบบนี้จะทำให้องค์ประกอบโดยรวมของละครดี ไม่ใช่แค่ทำให้พระเอกนางเอกดูดี”

จากคนที่ชอบจินตนาการภาพเวลาอ่านนิยาย มันกลายเป็นความสุขของเก๋ในฐานะคอสตูมดีไซเนอร์ ซึ่งได้เห็นสิ่งที่เธอจินตนาการออกมาเป็นภาพจริง

“ความสนุกแรกในการเป็นคอสตูมดีไซเนอร์ของเรา คือทําให้สิ่งที่จินตนาการออกมาเป็นจริง สอง คือมีคนชอบสิ่งที่เราคิด แต่ก็มีความยากในการทำงานนะ บางทีเราไปทำงานในที่ที่ไม่คุ้นเคย ที่ใหม่ ๆ ต้องปรับจูนกับคนที่ทำงานด้วยกันค่อนข้างเยอะ ให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร เข้าใจการออกแบบของเรา”

งานของคอสตูมดีไซเนอร์ไม่ใช่แค่ออกแบบการแต่งกายของตัวละคร ต้องมีการสื่อสารกับทีมงาน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและโจทย์ที่ได้รับ ทักษะสื่อสารจึงเป็นสิ่งจำเป็นของคนอาชีพนี้ บางคนเลยเลือกทำงานกับค่ายหรือคนที่คุ้นเคยมากกว่าออกไปทำงานกับทีมงานใหม่ ๆ 

แต่การเป็นคอสตูมดีไซเนอร์ที่ดีในความคิดเก๋ ไม่ควรจะหยุดอยู่กับที่ ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ทั้งพื้นที่ทำงาน ทักษะ และความรู้ 

“สิ่งที่คนทำงานนี้ต้องมี หนึ่ง ต้องรู้จักความรับฟัง รับฟังสิ่งที่คนกำลังสื่อสารกับเรา ฟังว่าผู้จัดต้องการอะไร นักแสดงต้องการอะไร สอง ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คอยอัปเดตเทรนด์ อัปเดตคลังข้อมูลในหัวตลอดเวลา ห้ามหยุดอยู่กับที่เด็ดขาด 

“บางกองงบสำหรับเสื้อผ้ามีจำกัด จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องจัดเสื้อผ้าให้ได้ตามงบ ถ้ามีข้อมูลเยอะ รู้จักแบรนด์ รู้ที่ที่ให้ยืมได้ มันก็ทำงานง่ายขึ้น สมัยนี้ยืมง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ เมื่อก่อนเราต้องไปยืมเอง ต้องไปเจอหน้าเขา ใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน เวลาคืนต้องเป๊ะด้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ยืมต่อได้ในอนาคต แต่สมัยนี้ทักแชตไปยืมได้เลย”

ในฐานะคนฟังและเคยดูผลงานเก๋มาบ้าง เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้งานของเจ้าตัวเป็นเอกลักษณ์จนคนจดจำได้ ไม่ใช่การแต่งตัวละครแบบเดิมทุกเรื่อง แต่เป็นความใส่ใจในงานที่เราสัมผัสได้จากงานเสื้อผ้าที่เป็นองค์ประกอบช่วยส่งเสริมละครเรื่องนั้น ๆ อาจเรียกว่าสร้างเอกลักษณ์ที่ไม่มีภาพจำ

ตู้เสื้อผ้าของคนกองละคร 

ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่เก๋เป็นคอสตูมดีไซเนอร์ เธอยังคงสนุกและอยากอยู่ในอาชีพนี้ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับสร้างธุรกิจที่เป็นผลจากการทำงานนี้

ร้านสูตสำหรับผู้ชายของเก๋อยู่ในช่วงรีโนเวต เก๋บอกว่าเลือกทำสูตผู้ชายเพราะหายากที่สุดในบรรดาเสื้อผ้าของตัวละครชาย (เธอว่าทุกองค์ประกอบในการแต่งตัวผู้ชายนั้นหายาก แถมตัวเลือกน้อยและราคาสูง) ส่วนใหญ่ต้องตัดเพื่อให้พอดีกับตัวนักแสดง ซึ่งใช้ต้นทุนสูง 

เก๋ตัดสินใจทำร้านสูตผู้ชาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของเธอและเพื่อน ๆ ในวงการเดียวกัน บางคนได้ข่าวนี้ก็มาเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามว่ามีของอย่างอื่นให้หยิบยืมใช้ในกองละครด้วยไหม เป็นแผนอนาคตของเก๋ว่า ธุรกิจนี้อาจกลายเป็นห้องเสื้อสำหรับคอสตูมดีไซเนอร์ละครอย่างครบวงจร

บทสนทนาครั้งนี้อาจถึงตอนจบ แต่การเป็นคอสตูมดีไซเนอร์ของเก๋ยังคงดำเนินต่อไป และเพื่ออรรถรสในการอ่าน เราแนะนำว่าอ่านเสร็จแล้วลองเปิดดู หนึ่งในร้อย ต่อ คุณจะได้พิสูจน์ผลงานของ Verasalon กับตาตัวเอง

ติดตามผลงานได้ที่ Instagram : verasalon

Writer

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตขับเคลื่อนด้วยแสงแดดและหวานร้อย

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง