ผู้เขียนมีประสบการณ์พาเพื่อนหรือครูชาวต่างชาติไปเที่ยววัดโพธิ์ วัดพระแก้ว วัดอรุณฯ รวมกันราวสิบกว่าครั้ง วัดโพธิ์นี่ไปบ่อยเพราะฝรั่งชอบนวดแผนไทย คนพาไปก็เข้าไปนวดด้วยเสียเลย สบายดี แต่จะยุ่งยากใจเมื่อเพื่อนฝรั่งถามข้อมูลต่างๆ ลึกมากจนตอบไม่ถูก เพราะแต่ละคนล้วนคงแก่เรียน อยากรู้อยากเข้าใจไปเสียหมด

ไม่นานมานี้ได้ไปฟังเสวนาเรื่อง ‘วัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลกกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม’ โดยอาจารย์ ดร. เสาวณิต วิงวอน และคุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ทั้งสองท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีเกี่ยวกับวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วัดโพธิ์

เพื่อนฝรั่งได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกจะเหวอในความยากและยาว Andrea หนุ่มอิตาลีเคยถามผู้เขียนว่า ทำไมมี 2 ชื่อ ผู้เขียนเกาหัวแกรกเพราะไม่รู้ แต่วันนี้ตอบได้แล้ว พร้อมกับที่รู้ว่าไฮไลต์สำคัญ (ที่ไม่ค่อยมีคนทราบเรื่องราวเบื้องหลัง) ของวัดโพธิ์ 2 อย่างคือ จารึกวัดโพธิ์ กับตุ๊กตาศิลาจีน นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมความเข้าใจว่ารูปปั้นจีนขนาดใหญ่ที่ประดับประตูคืออับเฉาถ่วงเรือนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด

 

รู้จักวัดโพธิ์

“กษัตริย์สมัยโบราณชอบสร้างวัด อย่างวัดโพธิ์นี่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเพทราชา” อาจารย์ ดร. เสาวณิต กล่าว

อาจารย์เล่าว่าตอนแรกวัดโพธิ์ไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้ แต่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงอุปถัมภ์ทำนุบำรุง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงบูรณะจนโอ่อ่างดงาม

เสวนา

ที่เรียก ‘วัดโพธิ์’ เพราะแต่เดิมวัดนี้ชื่อ ‘วัดโพธาราม’ สันนิษฐานว่าเพราะเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่ต่อมาคติความเชื่อเรื่องการบูชาพระศรีมหาโพธิ์เสื่อมคลายลงไป ไม่ได้รับความนิยมเหมือนครั้งอดีต จึงคงเหลือแต่ชื่อเรียกสืบต่อมา จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธารามเสียใหม่เมื่อ พ.ศ. 2332 และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ’ แปลว่า ‘ที่อยู่อันงามของพระพุทธเจ้า’ (คำว่า ‘พระเชตุพน’ หมายถึง ที่อยู่ของพระพุทธเจ้า) และกลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เปลี่ยนคำสร้อยท้ายนามวัดเป็น ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม’

วัดโพธิ์

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สยามเศรษฐกิจดี มีเงินกำไรเป็นอันมากจากการค้าสำเภา จึงทรงสร้างวัดใหม่รวมถึงบูรณะวัดเก่ามากมาย เนื่องจากพ่อค้าวาณิชชาวไทยที่เดินทางไปยังจีนมีโอกาสเห็นงานศิลปะสวยงามของจีน ทั้งในราชสำนักและบ้านเศรษฐีชาวจีนที่ติดต่อค้าขายด้วย (ตัวอย่างเช่น เขามอ เป็นสิ่งหนึ่งที่พ่อค้าชาวไทยไปเห็นแล้วนำกลับมาทูลรัชกาลที่ 3) จึงเห็นว่าการสร้างและบูรณะวัดในยุครัชกาลที่ 3 มีการนำศิลปะจีนมาใช้อย่างเต็มที่ โดยใช้ช่างไทย ช่างจีน ปนกัน  และในรัชสมัยของพระองค์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นการทำ ‘จารึกวัดโพธิ์’ มรดกทรงคุณค่าของชาติ

วัดโพธิ์ วัดโพธิ์ วัดโพธิ์

 

จารึกวัดโพธิ์: มรดกความทรงจำแห่งโลก

จารึกวัดโพธิ์จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่างๆ ทั้งหมด 8 หมวดบนแผ่นหินอ่อน ประดับไว้ตามศาลาราย ผู้แต่งจารึกเหล่านั้นมีตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนาง พระ และไพร่ รวม 53 ท่าน เป็นความรู้ต่างๆ เช่น ศาสนา ภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรมประเพณี จิตรกรรม ประติมากรรม และการแพทย์

จารึกวัดโพธิ์

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติเมื่อ 27 พฤษภาคม 2554

มรดกความทรงจำ เป็นคำที่ UNESCO กำหนดขึ้น หมายถึง ข้อมูล ความรู้ ความคิด ที่เป็นภูมิปัญญาของแต่ละกลุ่มชน บันทึกไว้ในวัสดุ (เช่น กระดาษ หิน เยื่อไม้ไผ่) หากเป็นสถานที่ เช่น โบราณสถาน สถานที่เที่ยวทางธรรมชาติ UNESCO จะเรียกว่า ‘มรดกโลก

อาจารย์ ดร.เสาวณิต ระบุว่า คุณสมบัติที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็น ‘มรดกความทรงจำ’ ได้ คือต้องเป็นสิ่งเดียว ไม่มีสำเนา ถ้าสูญหายไปจะเกิดความเสียหาย และต้องแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชนนั้นๆ

ในช่วงที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างจารึกวัดโพธิ์ เป็นช่วงที่ชาติตะวันตกเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามา และนำวิทยาการใหม่ๆ มาเผยแพร่ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ในการบันทึกความรู้ของไทยไว้ มิให้สูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

จารึกวัดโพธิ์

สมัยก่อนความรู้ต่างๆ อยู่ในสำนักใครสำนักมัน อยู่ในที่มิดชิด เช่น พวกตำรายา แต่รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้รวบรวมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นของสาธารณะ ใครจะมาศึกษาก็ได้ เป็นการบันทึกความรู้โบราณให้คงอยู่ ท่านจึงเลือกให้สลักลงหิน มีเรื่องเล่าว่าทรงบังคับให้เจ้าของความรู้ต่างๆ สาบานว่าจะบอกความจริง ก่อนบันทึกลงจารึกวัดโพธิ์

พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 คือ ให้วัดโพธิ์เป็นคลังความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม วัดโพธิ์จึงเปรียบเสมือน ‘มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของคนไทย’

จารึกวัดโพธิ์

ช่วงรอยต่อรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 สภาพของเราในขณะนั้นเสี่ยงต่อการเสียบ้านเสียเมือง เรารอดมาได้เพราะพระมหากษัตริย์ของเราทรงมีโลกทัศน์กว้างไกล” อาจารย์ ดร.เสาวณิต กล่าว “ถ้าอ่านจารึกครบทุกหมวด จะเห็นทันทีว่าประเทศนี้ไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ดูแลตัวเองได้ มียา มีภาษา มีวรรณกรรม และเราบันทึกความรู้เหล่านี้ไว้เป็นเรื่องเป็นราว และการที่ทรงเลือกบันทึกที่วัดนี้ ก็เพราะอยู่ใกล้วัง ใกล้เหล่าทูตานุทูตทั้งหลาย ไม่ได้เลือกไปทำที่วัดไกลๆ เป็นการทำตัวเองให้ดูมีคุณค่าในสายตาฝรั่ง อย่างน้อยจะมาข่มกันก็ทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์”

เสวนา

 

ลั่นถันและเขามอ

หนังสือ ตุ๊กตาศิลาจีนวัดโพธิ์ กล่าวว่า จากจารึกเรื่องรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ ทำให้ทราบว่าได้สร้างรูปอสูรหรือรูปยักษ์ปูนปั้นถือกระบองขนาดใหญ่ไว้ประดับซุ้มประตูประตูละคู่ แต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะนั้นทรงรื้อลงหมด แล้วตั้งรูปลั่นถันประตูละคู่แทน ลั่นถันหรือตุ๊กตาจีนประดับซุ้มประตูเป็นรูปขุนนางฝ่ายบู๊ ซึ่งมีรูปร่างขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน และมีหน้าตาดุร้ายคล้ายยักษ์ เพราะคงเห็นว่าจะทำให้ดูต่างไปจากวัดอรุณราชวรารามและวัดพระแก้วที่มีรูปยักษ์อยู่แล้ว

ตุ๊กตาศิลาจีนวัดโพธิ์ ตุ๊กตาศิลาจีนวัดโพธิ์

‘ลั่นถัน’ ที่เห็นในวัดโพธิ์ก็คือบรรดาตุ๊กตาศิลาจีนทั้งหลาย มีทั้งขุนนางฝ่ายบุ๋นและบู๊ รูปสัตว์ และรูปประชาชนทั่วไป ส่วนเขามอคือภูเขาจำลองที่ประดับด้วยต้นไม้ ตุ๊กตาจีน เจดีย์จีน ตึกจีน

คุณจุลภัสสรกล่าวว่าความเข้าใจผิดใหญ่หลวงของคนทั่วไปรวมถึงมัคคุเทศก์จำนวนหนึ่งคือ ตุ๊กตาตัวใหญ่นั่นแหละคือ ‘อับเฉา’ ที่ใส่ใต้ท้องเรือกันโคลงเมื่อเดินทางมาจากเมืองจีน

“ขาไปเราขนของหนักไปขาย เช่น ของป่าต่างๆ แต่ขากลับของที่นำกลับเข้ามาเป็นของเบา เช่น เครื่องถ้วย แพรพรรณ จึงต้องมีหินถ่วง แต่ตุ๊กตาตัวใหญ่ไม่ใช่อับเฉานะครับ กินที่ด้วย หนักก็หนัก ใครจะยกใส่เรือ อีกทั้งถ้าตุ๊กตาล้มทีฟาดเครื่องถ้วยแตกหมด ตุ๊กตาที่เป็นอับเฉาตัวจริงคือศิลาจีนขนาดเล็กที่ประดับตามเขามอ

วัดโพธิ์ วัดโพธิ์

ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ไม่ใช่ว่าตุ๊กตาศิลาจีนที่เห็นทุกตัวจะนำมาจากเมืองจีน

พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน กล่าวไว้ว่า ศิลาที่นำมาก่อสร้างวัด ทั้งอาคาร สถาปัตยกรรม สิ่งของเครื่องใช้ และตุ๊กตาศิลาจีน นำมาจากราชบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี และชลบุรี (เกาะสีชัง อ่างศิลา) โดยใช้เงินกำไรจากการค้าสำเภา จ้างช่างจีนมาแกะสลักขึ้นในเมืองไทยนี่เอง หลักฐานนี้จึงสอดคล้องกับที่คุณจุลภัสสรบอกว่า “อับเฉาของจริงคือเฉพาะตุ๊กตาศิลาจีนตัวเล็ก ใช้วางแทรกตามกล่องบรรจุเครื่องถ้วยเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกัน”

วัดโพธิ์ วัดโพธิ์

คุณจุลภัสสรเล่าว่า ลั่นถันและเขามอเป็นของประกอบกันมาแต่ก่อน เมืองจีนหนาวมีหิมะปกคลุม ประชาชนอยาก ‘เก็บ’ บรรยากาศภูเขาไว้ในบ้าน จึงสร้างเครื่องประดับชนิดนี้ขึ้นมา มีต้นไม้กับศิลาจีนประดับ และต่อมาแนวคิดนี้แพร่หลายไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี

วัดโพธิ์

พ่อค้าชาวไทยที่ไปค้าขายไปเห็นสิ่งนี้ตามบ้านเศรษฐีจีนก็กลับมาทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่พระองค์ทรงมีสวนไทยอยู่แล้ว เลยทรงให้เพิ่มสวนจีนตามแบบที่ว่ามาเข้าไปด้วย โดยประดับด้วยก้อนหิน ขุดเกาะแก่ง และมีน้ำไหล และมีรับสั่งให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรส (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ว่า เมื่อเดินทางไปค้าขายที่ไหนก็จงหาหินสวยๆ กลับมาทำตุ๊กตาศิลาจีนด้วย

วัดโพธิ์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเรื่องซุบซิบว่าเหตุที่เจ้านายสิ้นกันหลายองค์เป็นเพราะพระองค์ทรงเอาหินจากที่ต่างๆ มามาก รัชกาลที่ 3 จึงกริ้วและรับสั่งให้ย้ายหินออกไปให้หมด แล้วคนสมัยก่อนจะเอาไปไว้ไหน ก็ไว้ที่วัดนั่นไง ดังนั้น 4 วัด (วัดโพธิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดอรุณราชวราราม และวัดราชโอรส) จึงมีเขามอและตุ๊กตาศิลาจีนอยู่ เพราะเป็นวัดใกล้วังทั้งสิ้น ส่วนวัดราชโอรส เป็นวัดของพระองค์เอง

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ฟังมาจากอาจารย์ ดร. เสาวณิต และ คุณจุลภัสสร ทำให้ผู้เขียนมีข้อมูลที่ถูกต้องไปเล่าให้เพื่อนฝรั่งฟังต่อ เพราะเคยเข้าใจผิดมาก่อน ชี้บอกเขาใหญ่เลยว่านั่นแหละอับเฉา อธิบายอย่างดีว่าอับเฉาคืออะไร ทำไมเราจึงติดต่อกับเมืองจีนในช่วงนั้น เพื่อนฝรั่งก็ โอ ไอซี กันไป

แต่นี่เป็นความรู้ใหม่ที่ต้องเขียนอีเมลกลับไปแก้ไขให้บรรดาเพื่อนฝรั่ง (ที่เคยผ่านมือผู้เขียนพาเที่ยววัดโพธิ์) แม้เขาไม่ได้จ่ายเงินจ้างเป็นทางการ แค่ไปเที่ยวกันสนุกๆ แต่เพราะเราเป็นคนไทย และนี่คือสถานที่สำคัญที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เราจึงไม่ควรให้ข้อมูลเขาแบบผิดๆ

มาฟังเสวนาและเดินชมวัดโพธิ์กลางแดดร้อนเปรี้ยงคราวนี้จึงไม่เสียเที่ยว มีเรื่องราวไปเล่าต่อได้ว่า วัดโพธิ์ไม่ได้มีดีแค่ Thai Massage กับ Reclining Buddha นะยู

Writer & Photographer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม