พอลองมาคิดดูตอนนี้หลังจากอยู่นิวยอร์กได้เกือบปี ตอนย้ายมาแรก ๆ ช่วงเวลาวิเศษของเรากลับไม่ใช่ตอนพระอาทิตย์ตกที่สวนสาธารณะดัมโบ ตีนสะพานบรูกลิน วิวจากเอมไพร์สเตตที่เห็นเมืองทั้งเมือง การยืนจ้อง Starry Night ที่พิพิธภัณฑ์ MoMA หรือเทพีเสรีภาพกลางแม่น้ำ 

เราละสถานะนักท่องเที่ยวกลายเป็นผู้อยู่อาศัย และช่วงเวลาที่หายใจอิ่มทุกครั้ง คือตอนนั่งเงียบ ๆ อยู่คนเดียวที่ ‘Lesbian Herstory Archives’ ตรงโต๊ะไม้กลางห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือ อัลบัมภาพถ่าย และแฟ้มเอกสาร มองแสงแดดส่องผ่านกระจกสีที่หน้าต่าง 

Lesbian Herstory Archives เป็นที่แรกในนิวยอร์กที่ทำให้เรามีอะไรทำบ้างในช่วง 4 เดือนที่รอใบอนุญาตทำงาน เรามักอธิบายว่าที่นี่เป็น ‘หอจดหมายเหตุภาคประชาชนเกี่ยวกับเลสเบียน’ แต่ถ้าจะให้ตามตัวจริง ๆ หากลองค้นในกูเกิล คำว่า Archives แปลว่า สถานที่เก็บเอกสารสำคัญ หรือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอย่างหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็คือ National Archives ซึ่งในปัจจุบันคำนี้มีหมายถึงการเก็บอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากเอกสารสำคัญหรือจดหมายเหตุได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัด เสื้อผ้า ไปจนถึงเค้กแต่งงานของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ก็เรียกว่า Archive ได้เช่นกัน

ส่วนคำว่า Lesbian Herstory มาจากความตั้งใจของกลุ่มผู้ก่อตั้งตอนปี 1974 คือการเก็บรวบรวมข้าวของและเรื่องราวเกี่ยวกับเลสเบียนเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ทางเลือก ในยุคสมัยที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักถูกเล่าด้วยเรื่องของผู้ชายเป็นหลัก แม้กระทั่งในพื้นที่ LGBTQIA+ 

ที่นี่ต้องการเป็น ‘เสียงสำหรับผู้ที่ไม่มีเสียง’ ในประวัติศาสตร์ จากห้องเล็ก ๆ ที่พวกเขาจะมารวมตัวกันหลังเลิกงานเพื่อช่วยกันรับเอกสารและสิ่งของบริจาค รวบรวม คัดแยก จัดการ เก็บ บันทึก จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นตึกหิน 3 ชั้นริมสวนสาธารณะซึ่งเก็บของนับแสนอย่าง ถือเป็น Archive ที่เก็บของเกี่ยวกับเลสเบียนที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลก นับมาถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ 50 พอดี 

ด้วยความเป็นองค์กรที่ดำเนินการด้วยอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทนให้ เราเลยเข้าไปทำได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน ด้วยความที่สมัยอยู่ไทยชอบไปนั่งเล่นไล่ดูรูปที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอยู่แล้ว บวกกับชื่นชม Lesbian Herstory Archives มาเนิ่นนาน หลังจากไปเยี่ยม 1 ครั้งถ้วน เราก็รีบส่งอีเมลไปขอช่วยดูแลภาพถ่ายของที่นั่นทันที

คนที่สัมภาษณ์และต่อมาเป็นเหมือนหัวหน้าหลักของเราชื่อ Saskia เป็นเลสเบียนชาวดัตช์ อายุกลาง 60 ผมสั้นกุด ใส่ต่างหูหินสีน้ำเงินข้างเดียว Saskia เคยทำงานเป็นผู้ชำนาญการพิเศษเรื่องจัดการข้อมูลในคลังออนไลน์ของห้องสมุดประจำนิวยอร์ก ตอนนี้เกษียณแล้ว ชอบโชว์รูปแมวที่เลี้ยงและคลิปสัตว์ตลก ๆ หลังเลิกงานจะเดินตัดสุสานกลับอะพาร์ตเมนต์ รู้นู่นนี่เยอะไปหมด พูดได้ 5 ภาษา ชอบถ่ายรูป รักอินสตาแกรม (เป็นผู้ดูแลแอคเคานต์ของ Lesbian Herstory Archives ด้วย) และมักเผลอเรียกเราว่า พา-สิ-เน แทน พา-สิ-นี ด้วยความเคยชินจากการพูดภาษาฝรั่งเศสที่เสียง EE ออกว่า เอ ซึ่งเราไม่คิดอะไรเลย แต่เธอก็มักตามมาขอโทษขอโพยทุกครั้งที่เรียกผิด 

ตอนยุค 1980 Saskia ในวัย 20 ตัวคนเดียว ซื้อตั๋วเที่ยวเดียวจากอัมสเตอร์ดัมมานิวยอร์ก และเริ่มเป็นอาสาสมัครที่นี่ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะบรรเทาความเหงาจนเคยเป็นผู้ดูแลตึกอยู่หลายปี ในยุคสมัยที่การเป็น LGBTQIA+ ไม่ได้รับการยอมรับโดยสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งอาจหมายถึงครอบครัวผู้ให้กำเนิดด้วย ในยุคนั้น Lesbian Herstory Archives สำหรับหลายคนจึงอาจหมายถึงครอบครัว เหมือนอย่างที่ Saskia เรียกติดตลกว่า ‘ครอบครัวแปร่ง ๆ ของฉัน’ 

เราเริ่มเข้าที่ Archives สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง และเริ่มมีเพื่อนในนิวยอร์กก็จากบทสนทนาบนโต๊ะทำงานตัวยาว ขณะที่ต่างคนต่างวุ่นอยู่กับหน้าที่ของตัวเองในวันนั้น ๆ

การดำเนินองค์กรหนึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยวางใจในคอมมูนิตี้รุ่นต่อรุ่นให้เข้ามาช่วยกันดูแลและสานต่อเป็นสิ่งที่ฟังเหมือนฝัน แต่ที่นี่เป็นแบบนั้นจริง ๆ ทุกคนอยากให้สิ่งนี้อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ทุกคนจึงช่วยกัน ในขณะที่ Lesbian Herstory Archives เกิดขึ้นเพื่อเก็บประวัติศาสตร์ของคอมมูนิตี้ ในทางกลับกัน การจะทำให้องค์กรยังคงความตั้งใจแรกอยู่ได้อย่างเป็นอิสระ หมายถึงคอมมูนิตี้เองก็ต้องอุ้มชู Archives ทั้งทางการเงินและลงแรงด้วย ซึ่งนี่จะทำให้ทั้ง 2 อย่างเติบโตไปด้วยกัน เพราะ Archives ก็อยู่ได้และใหญ่ขึ้น ส่วนผู้คนก็เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอมมูนิตี้มากขึ้น

อาสาสมัครที่ Lesbian Herstory Archives ไม่เคยโหรงเหรงและมีทุกเจเนอเรชัน ตั้งแต่ Silent Generation ที่ตอนนี้อายุ 80+ กันแล้ว แต่ก็ยังเดินนำทัวร์ได้เป็นชั่วโมง ๆ Baby Boomer ที่ใช้วันว่างเกษียณช่วยจัดการเรื่องตอบอีเมลหรือจัดคิวต่าง ๆ Gen X และ Y ที่เจียดเวลาว่างจากงานมาช่วย 

อย่างที่เราบอกไปเมื่อตอนที่เราพูดเรื่องการสอนภาพถ่ายในโรงเรียนมัธยมในนิวยอร์กว่า เด็กจำนวนมากสนุกกับเรื่องประวัติศาสตร์ Lesbian Herstory Archives เลยมี Gen Z ที่เป็นกลุ่มหลักเลยด้วยซ้ำ เข้ามาเป็นอาสามัครในวันที่ไม่มีเรียน หลายคนเลือกฝึกงานเพื่อเรียนรู้ลึกขึ้น การนัดไปดูหนังหรือนิทรรศการด้วยกันเป็นหมู่คณะ เดินไปบาร์ด้วยกันเมื่อประชุมดึก ปาร์ตี้ที่บ้านคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน หรือสำหรับเรา การไปเดินเล่นในสุสานกับ Saskia หลังเลิกงานก็เป็นความบันเทิงที่ทำบ่อยครั้ง

 งานที่เข้าไปทำมีหลากหลายแล้วแต่วันนั้นเกิดอะไรขึ้น และถ้าเราเริ่มทำสักพักจนรู้ว่าตัวเองสนใจอะไรเป็นพิเศษก็เสนอตัวทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นโดยเฉพาะได้ เราเริ่มจากเข้าไปทำงานส่วนภาพถ่าย ทำไปเดือนกว่าก็เริ่มพบว่าการนั่งจัดการโปสต์การ์ด การ์ด กับสติกเกอร์สนุกและเป็นคอลเลกชันที่ยังต้องการการดูแลจัดการอีกเยอะ เลยขอดูแลส่วนนี้ จนตอนนี้เราเป็นคนดูแลหลักของโปสต์การ์ด การ์ด และสติกเกอร์ ขยายไปถึงนามบัตร ที่คั่นหนังสือ ปฏิทิน รวม ๆ แล้วคือพวกของจากกระดาษกระจุกกระจิกที่บางคนเรียกว่า Ephemoras 

คนชอบถามว่าสิ่งที่เราชอบที่สุดใน Archives คืออะไร ขอตอบว่ามีมากมายเลย อย่างวันที่เรานั่งจัดการการ์ดทำมือ ในยุคก่อนที่การ์ดโอกาสต่าง ๆ มีแค่สำหรับชายหญิงเท่านั้น เลสเบียน DIY การ์ดด้วยตนเองด้วยการแปะรูปถ่ายหรือวาดมือ ตอนเตรียมเอกสารให้นักวิชาการที่จะมาศึกษาเรื่อง Audre Lorde นักเขียนหรือนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิผู้หญิงและ LGBTQIA+ ผิวดำ แล้วได้เห็นลายมือของเธอในเอกสารส่วนตัว บ่ายที่จัดของในตู้แล้วเจออัลบัมของเลสเบียนที่ย้ายมาอยู่นิวยอร์กตอนยุค 80 กับแมว 1 ตัวที่หลังตู้ หรือวันที่นั่งดูไดอารีกว่าร้อยเล่มของ Donna Allegra ศิลปินผิวดำที่เกือบถูกโยนทิ้งเพราะครอบครัวไม่รู้ว่ามันมีค่าแค่ไหน หรือการเรียนรู้เรื่องร้านหนังสือเฟมินิสต์ที่เริ่มขึ้นราวดอกเห็ดในยุค 70 

ความสนุกมีได้ทุกวันที่เข้า Archives แต่เอาเข้าจริง ของที่ประทับใจที่สุดดันมาจากของที่พบในวันแรกที่เข้าไป 

วันนั้นพัสดุบริจาคเพิ่งมาส่ง เป็นภาพถ่ายของคุณน้าที่เพิ่งเสียไปซึ่งบริจาคมาโดยหลาน ใส่ในซองกันกระแทกแพ็กมาอย่างดี เป็นภาพถ่ายเล่นจากยุค 1940 ที่เพื่อน ๆ ในหอหญิง ถ่ายเล่นกัน เป็น Mock Wedding หรือการแต่งงานหลอก ๆ ณ สวนหลังบ้านแห่งหนึ่ง คาดว่าน่าจะเป็นบ้านพักนักศึกษาหญิง ในภาพ ผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดสูตเป็นเจ้าบ่าว อีกคนใส่กระโปรงขาวเป็นเจ้าสาว เพื่อนคนหนึ่งแต่งเป็นบาทหลวง และผองเพื่อนอีก 10 กว่าคนเป็นผู้ร่วมงาน ทุกคนยิ้มแย้มมีความสุข 

เป็นภาพที่เล็กน้อยแต่มหาศาล แสดงถึงการพยายามฝันถึงฉากในชีวิตที่ไกลเกินความคาดหวังของคนธรรมดาในสังคมยุคอเมริกันดรีม ซึ่งต้องแต่งงาน มีลูก เป็นแม่บ้าน เป็นช่วงเวลาเล็ก ๆ ในพื้นที่เล็ก ๆ ที่ความยอมรับทางเพศเกิดขึ้นจริง

ใน Lesbian Herstory Archives มีการถกเถียงหนึ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของที่เราเก็บเป็นของเลสเบียน ภาพ Mock Wedding อาจเป็นแค่กลุ่มเพื่อนเล่นกันขำ ๆ ก็ได้ จดหมายที่เขียนว่ารักและอยากนอนข้างกันทุกคืนอาจหมายถึงมิตรภาพก็ได้ หรือผู้หญิง 2 คนที่อยู่ด้วยกันตลอดชีวิตอาจเป็นรูมเมตกันก็ได้ 

Deborah Edel หนึ่งในผู้ก่อตั้ง (ที่ทุกวันนี้ผมขาวทั้งหัวและใช้เครื่องช่วยฟังแล้ว ก็ยังใส่เสื้อแจ็กเก็ตหนังและเดินยิ้มแย้มอย่างแข็งแรง) เคยอธิบายว่า เราใช้การอ่านบริบท (Context) แบบเดียวกับที่นักวิชาการใช้อ่านความสัมพันธ์ระหว่างเพศในประวัติศาสตร์ ถ้าเป็นความสัมพันธ์ผู้หญิง-ผู้ชาย มีภาพถ่ายคู่ เขียนจดหมายบอกรัก หรืออยู่ด้วยกันทั้งชีวิต นักวิชาการยุคก่อนจะฟันธงอย่างรวดเร็วแม้ไม่ได้มีทะเบียนสมรสว่าเป็นความสัมพันธ์โรแมนติก ในทางกลับกัน ถ้าเป็นความสัมพันธ์เพศเดียวกัน นักวิชาการจะฟันธงไปว่าเป็นเพื่อน แม้จะมีหลักฐานมากแค่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น Lesbian Herstory Archives จึงเก็บทุกอย่างที่มีความเป็นไปได้และมีบริบทเช่นนั้น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ และเพื่อให้นักวิชาการยุคต่อมาได้มีเอกสารและสิ่งของไว้ศึกษาจากหลักฐานชั้นต้นในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ

ในยุคนี้ที่สตรีศึกษาและการศึกษาเรื่องเพศสภาพ (Gender Study) สำคัญมากขึ้นในวงวิชาการ บทบาทของผู้หญิงและ LGBTQIA+ ในประวัติศาสตร์ถูกพูดถึง และผนวกเข้าไปในประวัติศาสตร์กระแสหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับเอกสารจากยุค 70 – 80 และผู้คนในวันนั้นกลายเป็นเรื่องสำคัญและปูชนียบุคคล นักวิชาการรุ่นใหม่เลยเข้ามาใช้เอกสารและข้าวของใน Lesbian Herstory Archives กันอย่างคับคั่ง

เราว่าตอนกลุ่มผู้ก่อตั้ง Lesbian Herstory Archives ซื้อโต๊ะไม้ตัวยาวราคาไม่แพงมาเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ขณะช่วยกันขนขึ้นตึกคงทุลักทุเลแน่นอน มันถูกใช้งานโดยเลสเบียนคอมมูนิตี้รุ่นแล้วรุ่นเล่า มีเรื่องราวนับหมื่นนับพันที่แลกเปลี่ยนกันบนโต๊ะนั้น ป้าย ‘ห้ามกินน้ำและอาหารบนโต๊ะทำงาน’ แผ่นแล้วแผ่นเล่า ประชุม อ่านหนังสือ ถกเถียง ปรึกษาทั้งเรื่องรัก เรื่องงาน เรื่องการป้องกันตัวเอง ทั้งจากโรคทางเพศสัมพันธ์และคนโรคจิตบนท้องถนน มีข้าวของและเอกสารมากมายเคยวางไว้ นักวิชาการแวะเวียนมาจากหลากมหาลัย ผู้คนจากทั่วโลกแวะเวียนมา และหลายครั้งพวกเขาก็ค้นพบของเกี่ยวกับเลสเบียนจากบ้านเมืองตัวเองที่นี่ 

Lesbian Herstory Archives จึงเป็นทั้งสถานที่ เป็นบ้าน เป็นประวัติศาสตร์ เป็นคอมมูนิตี้ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้อนรับทุกคนซึ่งใฝ่ฝันอยากทำงานกับข้าวของเก่าแก่ และเป็นครอบครัวสำหรับใครก็ตามที่ต้องการ 

Website : lesbianherstoryarchives.org

Writer & Photographer

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินีอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก เธอทำงานในทีมการศึกษาที่ Alice Austen House พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับภาพถ่าย LGBTQIA+ กิจกรรมและคลาสของเธอพูดถึงเพศสภาพ อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้ตัวเองผ่านสิ่งเหล่านั้น ในเวลาว่าง ภาสินีจะทำงานที่หอจดหมายเหตุประชาชน Lesbian Herstory Archives ซึ่งเธอเป็นผู้ดูแลหลักของคอลเลกชันโปสการ์ดและสติกเกอร์