เรารู้จัก อลิซ ออสเตน (Alice Austen) ครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้วจากสารคดีเรื่อง The Female Closet ที่พูดเรื่องศิลปินผู้หญิงเลสเบี้ยนในประวัติศาสตร์ เธอเป็นช่างภาพชาวนิวยอร์กช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อศตวรรษที่ 20

เธอเป็นช่างภาพคนแรก ๆ ที่เอากล้องออกไปถ่ายเรื่องราวบนท้องถนน กลายเป็นบทบันทึกการอพยพของผู้คนที่อพยพเข้ามาในนิวยอร์กโดยไม่มีผู้ช่วย อลิซขนอุปกรณ์น้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัมขึ้นจักรยานแล้วขี่ออกไปถ่ายรูป เธอถ่ายรูปสอนผู้หญิงปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นเรื่องสมัยใหม่มากในยุคนั้น เพราะจักรยานเป็นพาหนะที่มอบอิสรภาพให้ผู้หญิงออกไปไหนมาไหนได้ในขวบปีที่ผู้หญิงออกจากบ้านคนเดียวถือว่าไม่เหมาะสม 

และที่สำคัญที่สุดสำหรับประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของ LGBTQIA+ เธอถ่ายภาพกลุ่มเพื่อนผู้หญิงเวลาที่ทุกคนมาสังสรรค์กันที่บ้าน และมันกลายเป็นภาพที่หักล้างความเชื่อเรื่อง ‘ผู้หญิงโบราณเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้’ เสียสนิท

อลิซถ่ายตัวเองกับเพื่อนในชุดชั้นใน ปล่อยผม และสูบบุหรี่ (ซึ่งเรามารู้กันทีหลังว่า ภาพนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบนของโบสถ์) ภาพเพื่อนผู้หญิง 4 คนโอบเอวกันอย่างใกล้ชิด สาวๆ ในชุดแฟนซีกระโปรงสั้นโพสต์ท่ากันตลก ๆ และตัวเองกับเพื่อนแต่งตัวเป็นผู้ชายแล้วเอาด้ามร่มมาทำเป็นจู๋!!! 

เรามารู้ทีหลังว่าบ้านของ Alice Austen ยังคงมีอยู่ที่ Staten Island ในนิวยอร์ก และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ตอนปี 1990 ในชื่อ Alice Austen House ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เดียวในอเมริกาที่เกี่ยวกับช่างภาพเลสเบี้ยนโดยเฉพาะ 

Alice Austen House เป็นบ้านหลังเล็กๆ สไตล์ Victorian Cottage ในสวนริมน้ำ นอกจากจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้จากครอบครัว Austen แล้ว ในบ้านยังมีส่วนที่เป็นแกลเลอรี่จัดแสดงงานหมุนเวียนเกี่ยวกับช่างภาพและศิลปินผู้หญิงอีกด้วย 

และถ้ามีใครบอกเราเมื่อ 4 ปีก่อนว่าจะทำงานที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ – เราคงไม่เชื่อ แต่ความพยายามก็พามาจนได้ 

หลังจากเหยียบนิวยอร์กไม่กี่วันเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เราก็เขียนจดหมายขอฝึกงานที่ Alice Austen House ระหว่างที่รอใบอนุญาตทำงาน เราเริ่มฝึกงานจริง ๆ ในเดือนกันยายน เดินทางไป-กลับ 2 ชั่วโมง 2 วันต่ออาทิตย์ ด้วยพื้นฐานที่เราทำแพลตฟอร์ม Fotogarten ศึกษาเกี่ยวกับการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายจากไทยอยู่แล้ว เราเลยได้มีส่วนในหลายกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ตอนฝึกงาน และพอใบอนุญาตทำงานได้รับการอนุมัติ หัวหน้าก็เสนอให้เราสอนกับทางพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้เราเลยทำงานเป็น Teaching Artist น้องใหม่ของ Alice Austen House 

พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในนิวยอร์กมีส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับกิจกรรมการศึกษาอยู่แล้ว ที่แน่ ๆ คืองานกิจกรรมการศึกษาเพื่อดึงคนมาพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า Public Program เช่น รวมศิลปินมาขายหนังสือทำมือ  ภัณฑรักษ์มานำทัวร์นิทรรศการ เวิร์กชอปทำการ์ดในวันวาเลนไทน์ และหลายแห่งยังมีส่วนที่ทำกิจกรรมการศึกษาเพื่อเด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะ ทั้งในพิพิธภัณฑ์และในโรงเรียน มักเรียกว่า Education 

ตอนนี้เราทำงานแบบที่ 2 เป็นหลัก และด้วย Alice Austen House มีจุดยืนชัดเจน คอร์สที่เราเข้าไปสอนในโรงเรียนเลยชัดเจนว่า จะมาพูดเรื่องภาพถ่ายและ LGBTQIA+ ซึ่งเอาเข้าจริง ตัวงานไม่ต่างอะไรกับที่ทำตอนอยู่ไทยเลย คือการสอนที่สร้างสรรค์ ใช้กิจกรรมเป็นวิธีการเรียนรู้ โรงเรียนหนึ่ง 3 – 6 ครั้ง แต่การสอนจริงในห้องเรียนคือแตกต่างแบบได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกครั้ง

แน่นอนว่าเด็กที่โตมากับการศึกษาแตกต่างก็มีรูปแบบการคิดแตกต่างกัน เราสอนในโรงเรียนหลายแบบ ทั้งโรงเรียนที่ไกลเมืองมากๆ และถือว่าอยู่ในเขตกำลังพัฒนา ไปจนถึงโรงเรียนที่มีเงินสนับสนุนและหัวสมัยใหม่ แต่ที่ชัดเจนคือ เด็กมีความสามารถในการให้เหตุผลและมีความคิดเป็นของตัวเอง ในห้องเรียน การถกเถียงและการสร้างบทสนทนาเป็นเรื่องปกติ หลายครั้งเด็กยกประเด็นที่เราไม่เคยนึกถึงในภาพถ่ายขึ้นมาด้วยซ้ำ เพื่อน ๆ เห็นต่างกันได้ เถียงกันเป็นสิบ ๆ นาทีแล้วไม่ได้โกรธอะไรกัน และส่วนตัวเราที่เป็นครู เด็กก็จะเคารพในจุดที่เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขาได้ เพราะฉะนั้น การรู้ประวัติศาสตร์และประเด็นทางสังคมเลยสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะใช้ต่อยอดบทสนทนา

เราอดไม่ได้ที่จะเทียบกับระบบการศึกษาไทยที่เราเติบโตมาเสมอ และยิ่งสอน ยิ่งไปโรงเรียนเยอะขึ้น ก็ยิ่งเห็นชัดว่า พื้นฐานหนึ่งซึ่งต่างกันมาก ๆ ที่ทำให้เด็กที่นี่มีระบบความคิดของตัวเอง คือระบบการศึกษาที่นี่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ ถกเถียง และวิจารณ์ 

มีห้องเรียนหนึ่งที่เราเคยไปมีบอร์ดติดว่า ‘การโต้แย้งคือการให้เหตุผล’ ซึ่งเป็นมุมมองต่อการโต้แย้งในแง่บวกแบบที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน ในทุกห้องเรียน มีบอร์ดติดว่า ‘คำเริ่มต้นที่ใช้ในการวิจารณ์งานเพื่อน…’ หรือ ‘วิธีคิดก่อนการถกเถียง…’ เด็กเลยคุ้นเคยกับการให้และรับการวิจารณ์ตั้งแต่เด็ก พวกเขาจึงมองคำว่า “ศิลปะไม่มีถูกผิด” ต่างจากบริบทในประเทศไทยที่มักเห็นว่าคำนี้ถูกใช้เพื่อบอกว่า ‘ทุกงานเป็นงานที่ดี’ แต่ที่นี่เข้าใจคำนี้ในแง่ว่า เราทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ และทุกคนก็มองว่ามันดี/ไม่ดี ชอบ/ไม่ชอบ ผ่านการวิจารณ์ได้เช่นกัน

ในแง่การสอนภาพถ่าย เราเลยจะไม่สอนเด็กว่า อย่าทำแบบนี้นะ อย่าทำแบบนั้นนะ ทำแบบนี้นะ ดีที่สุด แต่เราจะสอนวิธีใช้กล้องและเคล็ดลับพื้นฐาน อย่างถ้าลืมเปิดแฟลช ภาพจะมืด ถ้ามือไหวตอนถ่าย ภาพจะเบลอ แต่ถ้านี่เป็นภาพแบบที่เราอยากได้ ทำเลย! ตามด้วยประวัติศาสตร์ ด้วยการเน้นเล่าเรื่องช่างภาพที่ท้าทายทำสิ่งใหม่ ๆ ในยุคต่าง ๆ จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ และเด็กมักจะมีข้อคิดเห็นต่องานภาพถ่ายที่เราเอามาโชว์ในสไลด์ จนกลายเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนไปเลย 

การพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญและสนุกมาก เพราะคือการโชว์ว่า โลกนี้มีช่างภาพที่ทำอะไรลึกซึ้งและน่าสนใจอะไรมาแล้วบ้าง โดยเฉพาะปัจจุบันที่ช่างภาพผู้หญิง LGBTQIA+ และช่างภาพที่ไม่ใช่คนขาวในประวัติศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น ประวัติศาสตร์ยิ่งสำคัญเพราะห้องเรียนที่เราเข้าไปมีส่วนมาก ๆ เลยคือ GSA Class ย่อมาจาก Gender and Sexuality Alliance เป็นชมรมหลังเลิกเรียน LGBTQIA+

การที่เราพูดถึงช่างภาพ LGBTQIA+ ในประวัติศาสตร์ คือการบอกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวเลย มีสิ่งนี้อยู่มากมายมากว่าร้อยปีที่ผ่านมา เรามองเห็นตัวเองในช่างภาพเหล่านั้นได้ และเรียนรู้จากพวกเธอ-พวกเขาได้ ซึ่ง GSA Class ไม่ได้มีแค่เรา แต่นิวยอร์กมีองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาและระบบสนับสนุนเด็ก LGBTQIA+ จำนวนมาก เช่น องค์กรที่เข้าไปฉายหนัง LGBTQIA+ สำหรับเด็กในโรงเรียน องค์กรที่ให้ความรู้เด็กเรื่องสิทธิในร่างกายของตัวเอง องค์กรสนับสนุนเด็ก LGBTQIA+ ที่อยากเติบโตไปทำงานการเมือง กลุ่มละครสำหรับเด็ก LGBTQIA+ ที่จะทำให้การสนับสนุน LGBTQIA+ ไม่ใช่แค่การบอกว่ายอมรับ แต่มีพื้นที่และเสียงในสังคม

ในคลาสที่สอน เราจะแจกกล้องใช้แล้วทิ้งให้เด็กคนละ 1 ตัว แล้วเก็บคืนใน 1 – 2 อาทิตย์ ล้างภาพ แล้วให้เด็กใช้ภาพที่ตัวเองถ่ายมาทำเป็นหนังสือทำมือคนละ 1 เล่ม เพื่อพูดถึงเรื่องเพศสภาพหรือชีวิตของตัวเอง แล้วแต่ประเด็นที่เราออกแบบในคลาสนั้นๆ

ในแต่ละคาบ เราอาจมีโจทย์ให้เด็กทำในคาบหรือกลับบ้านไปทำ เช่น 

กลับบ้านไปสัมภาษณ์คนที่สนใจว่าเขาเติบโตมาในวัฒนธรรมแบบไหน และถ่ายรูปแทนตัวของคนนั้นมา 3 รูป โดยที่อย่างน้อย 1 ใน 3 รูปนั้นห้ามเห็นตัวคนที่เราสัมภาษณ์ แต่ต้องเห็นสิ่งอื่นที่แทนตัวเขา เขียนความทรงจำที่ประทับใจที่สุดและท้าทายความรู้สึกที่สุดที่ผ่านมา หรือใช้หนังสือพิมพ์ตัดแปะเพื่อเล่าเรื่องของตัวเอง (จริง ๆ แบบฝึกหัดนี้เราได้มาจาก ปิ่น มีขำ ที่ใช้สอนกันมาตั้งแต่อยู่ไทย เราก็ได้พกไปใช้ที่นิวยอร์กด้วย) 

คลาสภาพถ่ายที่เราทำเลยไม่ได้แตะแค่เรื่องกล้องและศิลปะเท่านั้น แต่ชวนให้เกิดการเรียนรู้เรื่องสังคม วัฒนธรรม ตัวเอง และใช้ศิลปะหลายแบบ ทั้งการเขียน การตัดแปะ การเรียบเรียงเป็นหนังสือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นั้น เราว่าการสอนศิลปะจากเนื้อหาและให้ทดลองทำหลายศาสตร์-หลายแบบ โดยไม่มีตัวแบ่งว่า ถ้าจะทำงานประเภทนี้ ต้องเป็นสไตล์แบบนี้เท่านั้น ทำให้เด็กไม่มีกรอบจากภาพจำในการสร้างงาน และทำงานโดยไม่พึ่ง Reference มากเท่ากับการโฟกัสสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ

ในที่นี้ เราไม่ได้บอกว่าไม่ปวดหัวและทุกอย่างสวยงาม – ปวดหัวมากกก และเด็กก็เหมือนห้องเรียนทั่วไปที่หลากหลายไปหมด ทั้งเด็กดี เด็กพูดเก่งเป็นพิเศษ เด็กเงียบฉี่ เด็กซ่า และวัยรุ่นก็ยังมีความวุ่นวายงงงวยอยู่เหมือนกันทั้งโลก บางทีถามซ้ำเยอะไปก็แว้ดมาอีกแล้วก็มาทำดีด้วยทีหลัง (เพราะฉันหน้าจ๋อยสุด ภาษาที่ 2 ค่ะ ขออภัยน้อง) มาสอนคาบแรก เด็กได้กลิ่นความกลัวก็โดนเด็กเกเรใส่ (ทำเป็นเกเรคาบแรกไปงั้น เอาจริงตื่นเต้นตั้งใจสุดตอนได้กล้อง) 

แต่สิ่งที่เราอยากจะบอกคือ ไม่ว่านิสัยของเด็กจะเป็นยังไง มันเป็นหน้าที่ของการศึกษาและผู้สอนอย่างเราที่จะไกด์ระบบความคิด วิธีทำความเข้าใจตัวเอง และเปิดประตูสู่โลกให้เด็ก ทำให้เด็กเห็นว่ามีผู้คนที่เปลี่ยนวงการไปจนถึงโลกได้ในอดีต และเราก็มีความสามารถที่จะออกไปเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวได้เช่นกัน ทั้งที่ไม่ยุติธรรมและทั้งที่แนวคิดคับแคบ มันเป็นเรื่องของเด็กที่จะเอาไปทำอะไรต่อไหม และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เด็กรู้ว่า ข้างนอกนั่นมีความเป็นไปได้อยู่มากมาย เราเลยจะหยุดไม่ได้ เราจะต้องเข้าใจว่าโลกไปถึงไหนกันแล้ว ความเป็นไปได้ไปถึงไหนกันแล้ว เพราะฉะนั้น การเป็นผู้สอนจึงหมายถึงการเป็นผู้เรียนตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน

สุดท้าย ก็ต้องขอพูดตามตรงว่า งานสอนเป็นงานที่ไม่ชิลล์และเงินน้อย เรากับเพื่อนร่วมงานสอนภาพถ่ายคุยกันตลอดว่า ถ้าโตจากอาชีพนี้แล้วจะไปไหนต่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานสอนเป็นสิ่งที่ดีต่อหัวใจ ตอนคาบสุดท้ายที่เด็กเดินมาบอกว่า “จะไม่มาแล้วจริงๆ หรอ” “เธอเป็นครูที่ดีนะ” หรือเดินมาขอกอดดื้อๆ ก็ทำเอาน้ำตารื้นตลอด 

เราดีใจที่เด็กเห็นค่าความตั้งใจของเรา เพราะเราก็ตั้งใจทำด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นสำคัญ เป้าหมายของเรามันเล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงดูจะส่งผลได้ยาวนานมาก คือเราอยากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับภาพถ่าย อาจมีเด็ก 1 ใน 50 คนที่ออกไปเปลี่ยนวงการ ก็เป็นสัดส่วนที่กรี๊ด แต่ 50 คนเดินออกไปแล้วพกความสัมพันธ์ที่ดีกับภาพถ่ายและศิลปะไปด้วย นั่นคือจุดมุ่งหมาย 

เราลงแรงเต็มที่เพื่อให้เกิดสิ่งนั้น เพราะโรงเรียนคือพื้นที่แรกที่เด็ก ๆ จะได้ทำความรู้จักกับภาพถ่ายและศิลปะ เราเลยสอนด้วยความรู้สึกว่า ไม่อยากให้ใครเป็นเหมือนเราหรือเพื่อนเราในวัยเด็กที่ดูภาพถ่ายหรือศิลปะแล้วไม่เข้าใจ หรือทำได้ไม่ดี งั้นเลิกทำดีกว่า แต่ภาพถ่ายและศิลปะควรเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์ที่ยังคงสนุกที่จะดูหรือทำเสมอสิ 

และนั่นคือความรู้สึกที่ทำให้เรายังอยากแหกขี้ตาตื่นเช้าเดินทาง 2 ชั่วโมงไปทำงานในทุกวัน

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินีอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก เธอทำงานในทีมการศึกษาที่ Alice Austen House พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับภาพถ่าย LGBTQIA+ กิจกรรมและคลาสของเธอพูดถึงเพศสภาพ อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้ตัวเองผ่านสิ่งเหล่านั้น ในเวลาว่าง ภาสินีจะทำงานที่หอจดหมายเหตุประชาชน Lesbian Herstory Archives ซึ่งเธอเป็นผู้ดูแลหลักของคอลเลกชันโปสการ์ดและสติกเกอร์